ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนาม-มาเลเซีย-อินเดียเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ส่งสินค้า

ASEAN Roundup เวียดนาม-มาเลเซีย-อินเดียเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ส่งสินค้า

28 พฤศจิกายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 21-27 พฤศจิกายน 2564

  • เวียดนาม-มาเลเซีย-อินเดียเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ส่งสินค้า
  • เวียดนามตั้งเป้าผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่ง 36 กิกะวัตต์ ปี 2045
  • ยอดเข้าซื้อสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซเวียดนามสูงกว่าไทย มาเลเซีย
  • สิงคโปร์เปิด VTLs กับ 6 ประเทศรวมไทย
  • ฟิลิปปินส์เปิดรับต่างชาติฉีดวัคซีนครบ 1 ธ.ค.
  • MRC อนุมัติ แผนยุทธศาสตร์ไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนฉบับปี 2021
  • เวียดนาม-มาเลเซีย-อินเดียเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ส่งสินค้า

    ที่มาภาพ: https://www.fibre2fashion.com/news/textile-news/vietnam-malaysia-india-container-shipping-route-to-open-on-nov-25-277568-newsdetails.htm

    Vietnam Maritime Corporation (VIMC) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนว่า เส้นทางขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ที่ เชื่อมเวียดนาม มาเลเซีย และอินเดียจะเปิดดำเนินการในวันที่ 25 พฤศจิกายน

    ตัวแทนของ VIMC กล่าวว่า เส้นทางนี้คาดว่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อการขนส่งสินค้า และสร้างเสถียรภาพในการให้บริการขนส่ง และสนับสนุนบริษัทในประเทศ

    เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม เรือขนส่งสินค้าเวียดนามลำแรกได้ผ่านช่องแคบมะละกาเพื่อนำสินค้าไปยังมาเลเซียและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในประเทศ

    เส้นทางไฮฟอง – ท่าเรือแคลง – กัลกัตตา – ท่าเรือแคลง – SP-ITC จะเชื่อมโยงเมืองโฮจิมินห์และท่าเรือของไฮฟองกับเกตเวย์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ช่วยประหยัดเวลาในการขนส่งได้กว่า 10 วัน

    (Port Klang เป็นท่าเรือสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่กึ่งกลางชายฝั่งทางตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ส่วน SP-ITC International Container Terminal คือท่าเทียบเรือบรรทุกตู้สินค้าของเวียดนามเปิดดำเนินการในปี 2559)

    ในปีหน้า VIMC จะยังคงลงทุนในกองเรือตู้คอนเทนเนอร์พิเศษ มีความจุสูงและทันสมัย แสวงหาโอกาสความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ ปรับปรุงรูปแบบการจัดการให้เป็นกลุ่มขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ระดับประเทศ

    การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าของเวียดนามมีต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางน้ำ การจัดส่งใช้เวลานาน ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อ

    เวียดนามตั้งเป้าผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่ง 36 กิกะวัตต์ ปี 2045

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/industries/offshore-wind-power-capacity-to-reach-36-gw-by-2045-4391897.html

    กำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งของเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 36 กิกะวัตต์ ภายในปี 2045 ตาม ร่างแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานฉบับที่ 8 โดยจะเพิ่มขึ้น4 กิกะวัตต์ ภายในปี 2030 เพิ่มขึ้น 10 กิกะวัตต์ ภายในปี 2035 และเพิ่มขึ้น 23 กิกะวัตต์ ภายในปี 2040

    พลังงานลมนอกชายฝั่งจะคิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2030 และ 10.8% ในปี 2045 ฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งหลักๆ จะอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ

    ในร่างแผนก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งเป็น 2-3 กิกะวัตต์ หรือ 1.5-2% ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2030

    ในการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับร่างล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Mathias Hollander ผู้จัดการอาวุโสของ Global Wind Energy Council (GWEC) กล่าวว่า เวียดนามจะมีกำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่ง 5-10 กิกะวัตต์ ภายในปี 2030 ซึ่งการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งของเวียดนามมีประสิทธิภาพมากกว่า 50% ซึ่งใกล้เคียงไฟฟ้าพลังน้ำ

    ตามการคำนวณของ GWEC เวียดนามจะต้องลงทุน 10-12 พันล้านดอลลาร์สำหรับกำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่ง 4-5 กิกะวัตต์ แรก แต่ลมเป็นแหล่งที่ไม่มีวันหมด ดังนั้นเวียดนามไม่ต้องให้วัตถุดิบต่อเนื่องเหมือน โรงงานถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ

    ในขณะเดียวกัน ต้นทุนต่อหน่วยสำหรับไฟฟ้า 1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่ผลิตโดยฟาร์มพลังงานลมนอกชายฝั่งอยู่ที่ประมาณ 83 ดอลลาร์ ลดลงจาก 255 ดอลลาร์ในปี 2010 และคาดว่าจะลดลงอีกเป็น 58 ดอลลาร์ภายในปี 2025

    ด้วยแนวชายฝั่งที่ 3,260 กิโลเมตร ระดับน้ำทะเลต่ำ และความเร็วลมสูง (7-10 เมตรต่อวินาทีที่ความสูง 100 เมตร) เวียดนามจึงเป็นแหล่งลงทุนดึงดูดพลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ยอดเข้าเว็บซื้อสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซเวียดนามสูงกว่าไทย มาเลเซีย

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-s-e-commerce-traffic-higher-than-thailand-malaysia-4394979.html
    ยอดการเข้าซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือ อี-คอมเมิร์ซของเวียดนามเพิ่มขึ้นสูงกว่าไทยถึง 2 เท่าของไทยและสูงกว่ามาเลเซีย 3 เท่าในไตรมาสที่ 3 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการซื้อของออนไลน์ที่สูงขึ้นท่ามกลางการระบาดใหญ่

    การบริโภคดิจิทัลได้กลายเป็นนิสัยใหม่ ขณะที่จำนวนผู้ขายออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยเวียดนามกลายเป็น “ดาวเด่น” ในตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากรายงานภาวะตลาดไตรมาส3 โดย iPrice Group

    รายงาน e-Conomy Southeast Asia 2021 โดย Google, Temasek และ Bain & Co. คาดว่า เวียดนามจะแซงหน้าประเทศไทยภายในปี 2025 และก้าวสู่เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่า 57 พันล้านดอลลาร์ รองจากอินโดนีเซียที่คาดว่าจะมีมูลค่า 146 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างชาติยังคงครองตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามในแง่ของการเข้าเว็บไซต์

    Shopee ของสิงคโปร์มีสัดส่วนการเข้าเว็บไซต์ 57% ของการเข้าเว็บไซต์โดยรวมในไตรมาสสาม ตามด้วย Lazada ซึ่งเป็นบริษัทของสิงคโปร์เช่นกันด้วยสัดส่วน 16% ขณะที่ Tiki สตาร์ทอัพสัญชาติเวียดนามติดอันดับ 3 ด้วยยอดเข้าเว็บ 13%

    รายงาน iPrice ยังชี้ว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามมีปฏิสัมพันธ์บนหน้าโซเชียลมีเดียของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซบ่อยกว่าคนไทยแต่น้อยกว่าชาวมาเลเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ Facebook ในการโปรโมตแบรนด์ในเวียดนาม

    สิงคโปร์เปิด VTLs กับ 6 ประเทศรวมไทย

    ที่มาภาพ:https://www.straitstimes.com/singapore/health/singapore-eases-border-restrictions-for-travellers-from-countries-such-as-poland
    สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ (CAAS) ประกาศเมื่อวันศุกร์ (26 พ.ย.)ว่า สิงคโปร์จะเปิด ช่องทางการเดินทางที่ได้รับวัคซีน vaccinated travel lanes (VTLs) กับอีก 6 ประเทศ ในเดือนหน้า

    ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยสามารถเข้าสิงคโปร์ได้ภายใต้ VTL โดยไม่ต้องกักตัว ส่วนผู้เดินทางจากกัมพูชา ฟิจิ มัลดีฟส์ ศรีลังกา และตุรกี สามารถเข้าสิงคโปร์ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม

    การขยายรายชื่อประเทศครั้งล่าสุด ส่งผลให้จำนวนประเทศที่สิงคโปร์เปิดช่องทาง VTL เป็น 27 ประเทศ ก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 27 ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนประมาณ 60%ของจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงสนามบินชางงีทั้งหมดในแต่ละวัน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ระบุ

    การเพิ่มรายชื่อประเทศล่าสุดนี้จะช่วยขยายเครือข่ายของชางงีให้กว้างขึ้น และช่วยให้สิงคโปร์กลับคืนและเสริมสร้างสถานะของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศที่มีการเชื่อมต่อทั่วโลก

    นอกจากการเพิ่มรายชื่อประเทศแล้ว โควตาผู้เดินทางด้วย VTL ต่อวันจะเพิ่มขึ้นจาก 10,000 เป็น 15,000 คน

    นายเอส อิสวารัน รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม กล่าวกับสื่อผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันศุกร์ว่า โควตา VTL ของสิงคโปร์มีจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เดินทางเข้าทั้งหมดจากประเทศเหล่านี้ก่อนเกิดโควิด-19

    นายอิสราวันกล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็น การขยายโครงการ VTL และจะเชื่อมโยงสิงคโปร์กับโลกอีกครั้งในขณะที่ยังคงจัดการความเสี่ยงด้านสาธารณสุข

    “แม้เราจะเปิดพรมแดนอีกครั้งเพื่อรักษาตำแหน่งของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจและการบินระดับโลก เราจะติดตามสถานการณ์ด้านสาธารณสุขทั่วโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อมีความกังวลรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น และกำหนดมาตรการป้องกันเพิ่มเติมตามความจำเป็น” นายอิสราวันกล่าว

    “นี่เป็นส่วนสำคัญในแนวทางที่ระมัดระวังและปรับให้เหมาะสมในการเปิดพรมแดนของเราอีกครั้ง และยกระดับการป้องกันของเราเมื่อได้รับการรับรองจากการประเมินความเสี่ยงด้านสาธารณสุขล่าสุด”

    นอกจากนี้ นายอิสราวันยังเรียกร้องให้ชาวสิงคโปร์และผู้ที่พำนักในสิงคโปร์ทุกคนติดตามสถานการณ์ในประเทศที่กำลังไปเยือนอย่างใกล้ชิด และต้อง “ได้รับข้อมูลที่ทันเหตุการณ์อย่างดี” เกี่ยวกับมาตรการด้านสาธารณสุขและชายแดน ตลอดจนวางแผน “ล่วงหน้าอย่างดี” สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน

    ภายใต้โครงการ VTL ผู้เดินทางที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนในเที่ยวบิน VTL ที่กำหนดสามารถเข้าประเทศสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว เพียงแต่ต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด -19 เท่านั้น

    “การขยายโครงการ VTL ไปยังประเทศเหล่านี้จะยังคงฟื้นฟูการเดินทางแบบไม่ต้องกักตัวแบบสองทางระหว่างสิงคโปร์และประเทศ VTL ซึ่งตอนนี้ได้เปิดพรมแดนให้เราแล้ว” สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ระบุ

    ฟิลิปปินส์เปิดรับต่างชาติฉีดวัคซีนครบ 1 ธ.ค.

    ที่มาภาพ: https://www.manilatimes.net/2021/05/08/news/national/inbound-travelers-must-quarantine-for-14-days/871299/
    คาร์โล โนกราเลส รักษาการโฆษกประธานาธิบดีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประกาศเมื่อวันศุกร์(26 พ.ย.)ในการแถลงข่าวว่า พลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนของประเทศที่ไม่ต้องขอวีซ่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศฟิลิปปินส์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม

    ในการแถลงข่าว โนกราเลส กล่าวว่า แนวทางใหม่ซึ่งได้รับการอนุมัติโดย Inter-Agency Task Force for the Management of Emerging Infectious Diseases (IATF-EID) จะมีผลจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม แต่อาจขยายได้ขึ้นอยู่กับการประเมินและการติดตามผล

    ภายใต้มติของ IATF ผู้ถือหนังสือเดินทางที่มีอายุใช้งานอย่างน้อย 6 เดือน ณ เวลาที่เดินทางมาถึง และตั๋วขากลับหรือขาออกไปยังประเทศต้นทางหรือประเทศปลายทาง จะได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ฟิลิปปินส์ได้

    โนกราเลสกล่าวว่า ก่อนเดินทางมาถึงฟิลิปปินส์ ชาวต่างชาติควรอยู่เฉพาะในประเทศ ดินแดน หรือเขตปกครองที่ “การระบาดไม่รุนแรงหรือจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว” เท่านั้นเป็นเวลา 14 วัน

    โนกราเลส กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนเช่น ใบรับรองการฉีดวัคซีนและการป้องกันโรคระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก, ผู้ใบรับรองการฉีดวัคซีนในฟิลิปปินส์(VaxCertPH) หรือ ใบรับรองดิจิทัลระดับประเทศหรือระดับรัฐของรัฐบาลต่างประเทศที่ยอมรับ VaxCertPH ภายใต้ข้อตกลงระหว่างกัน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นอย่างอื่นจาก IATF

    โนกราเลส กล่าวว่า ผู้โดยสารต้องตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR และมีผลลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทางและไม่จำเป็นต้องกักตัวตามสถานที่ที่กำหนดอีกต่อไป และต้องตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้งเมื่อเดินทางมาถึง

    ผู้โดยสารที่เปลี่ยนเครื่องจากประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศสีเขียวจะไม่ถือว่าเคยพำนักที่นั่นหากอยู่ในสนามบินตลอดเวลาและไม่ได้ผ่านการตรวจคนเข้าเมืองให้เข้าประเทศ

    สำหรับกระบวนการการตรวจหาเชื้อและการกักตัวของเด็กจะต้องเป็นไปตามกระบวนการการตรวจหาเชื้อและการกักตัวของพ่อแม่/ผู้ปกครองที่เดินทางไปกับเด็ก

    ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการตรวจหาเชื้อก่อนการเดินทางจะต้องปฏิบัติตามกระบวนการการสำหรับบุคคลที่ไม่ได้รับวัคซีนที่มาจากประเทศในกลุ่มสีเขียว โดยจะต้องเข้ารับการกักตัวตามสถานที่ที่กำหนดจนกว่าจะมีการทดสอบ RT-PCR และมีผลเป็นลบในวันที่ 5 ของการกักตัวในฟิลิปปินส์และติดตามตนเองจนถึงวันที่ 14 ของการพำนักอยู่ในฟิลิปปินส์

    MRC อนุมัติ แผนยุทธศาสตร์ไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนฉบับปี 2021

    เวทีคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 28 ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/mrcmekong/photos/pcb.4745097558845673/4745094622179300/

    เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน คณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Council) ได้อนุมัติ แผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนประจำปี 2021 (Sustainable Hydropower Development Strategy:SHDS 2021) สำหรับลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่สำคัญของยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำ(Basin Development Strategy )ฉบับก่อนและแผนยุทธศาสตร์แม่น้ำโขง 2016-2020 (MRC Strategic Plan 2016–2020) เพื่อจัดการกับอนาคตที่ยั่งยืนของการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำและสิ่งแวดล้อมจากกัมพูชา สปป. ลาว ไทย และเวียดนาม ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์และกฎเกณฑ์รวมทั้งขั้นตอนอื่นขององค์กร ในการประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 28ครั้งที่ 28 ที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในกรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์กับประเทศอื่นๆ

    พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะมนตรีคณะกรรมาธิการ MRC ประจำปี 2021 ให้ความเห็นเกี่ยวกับการอนุมัติยุทธศาสตร์ของคณะมนตรีฯ ว่า SHDS ฉบับปรับปรุงเป็นแนวทางหนึ่งที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาลุ่มน้ำไปสู่ผลลัพธ์ที่สามารถจัดการกับความต้องการในระยะยาว ได้

    “ยุทธศาสตร์นี้แสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนลุ่มน้ำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมาะสม ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ ซึ่งจัดการกับการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างการปกป้องสิ่งแวดล้อม น้ำ อาหาร และการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ”

    พลเอกประวิตร กล่าวว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำรวมถึงเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมีผลกระทบอย่างมากต่อระบบแม่น้ำโขงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การอนุมัติของสภากรรมาธิการ MRC จะกำหนดแนวทางสำหรับการดำเนินการ ของยุทธศาสตร์ ตามที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ MRC ปี 2021-2025 เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังจะเปิดโอกาสให้ MRC ได้ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในเรื่องข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูลที่ดีขึ้น ตลอดจนการประสานงานในการดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ

    แผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืนประจำปี 2021 นับว่าเป็นที่สุดของความพยายามที่เริ่มครั้งแรกในปี 2017 กระบวนการที่เริ่มขึ้นได้รวมถึงการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำช่วงต่างๆ เริ่มขึ้นในปี 2018 และการมีส่วนร่วมของนักพัฒนา ภาควิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม

    ในการประชุมผ่านระบบออนไลน์ คณะกรรมาธิการยังได้ต้อนรับ ดร.อนุลัก กิตติคุน จากลาว ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารแม่น้ำโขงคนที่ 3 ของสำนักเลขาธิการ MRC ซึ่งจะรับตำแหน่งในปี 2022–2024 การแต่งตั้งของ ดร.กิตติคุณ ตามมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการร่วม MRC ผ่านกระบวนการสรรหาที่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ดร.กิตติคุน จะเข้ารับตำแหน่งในกลางเดือนมกราคม 2022

    ดร.กิตติคุน รับตำแหน่งต่อจาก ดร. อัน พิชญ์ หัตดา จากกัมพูชา ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแม่น้ำโขงคนที่ 2 ของสำนักเลขาธิการ MRC ครบวาระในช่วงต้นเดือนมกราคม 2022

    ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยังได้อนุมัติกฎขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ได้ปรับปรุงสำหรับคณะกรรมาธิการและคณะกรรมการร่วม รวมทั้งได้รับรายงานเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของ MRC และการดำเนินการตามแผนงานปี 2021-2022 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอด MRC และการประชุมนานาชาติครั้งที่ 4 ซึ่งกำหนดไว้เบื้องต้นในเดือนเมษายน 2023 ดยรัฐบาล สปป. ลาวเป็นเจ้าภาพ

    สภาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นับเป็นระดับสูงสุดขององค์กร โดยมีสมาชิกประกอบด้วยรัฐมนตรีทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จากกัมพูชา สปป. ลาว ไทย และเวียดนาม ผู้แทนของคู่เจรจา จีนและเมียนมา และพันธมิตรอื่นๆ เข้าร่วมในการประชุมประจำปีด้วย