ThaiPublica > คอลัมน์ > ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน ๑๕ : ยิ่งรู้ที่มาที่ไปของค่า AQI ยิ่งงง

ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน ๑๕ : ยิ่งรู้ที่มาที่ไปของค่า AQI ยิ่งงง

19 มีนาคม 2022


รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ
ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างที่ได้แสดงไว้แล้วในบทความชุดนี้ ตอนที่๑๔ ว่า ที่ค่าวัด PM2.5/24hr.(มีหน่วยเป็น มคก./ลบ.ม.)เท่ากันค่า AQI อาจไม่เท่ากันก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะค่ามาตรฐาน PM2.5/24hr.ของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน เช่น สมมุติว่าค่า PM2.5/24hr.วัดได้เท่ากับ 75 มคก./ลบ.ม.ในขณะที่มาตรฐานของจีนก็บังเอิญกำหนดให้เท่ากับ 75 มคก./ลบ.ม.ด้วย ค่า AQI ของจีนในกรณีนี้จะเท่ากับ 100 พอดี แต่หากเทียบกับไทยซึ่งมาตรฐานกำหนดให้เท่ากับ 50 มคก./ลบ.ม. ค่า AQI ของไทยจะเท่ากับ 162 ซึ่งสูงกว่าของจีน และสื่อความหมายไปในทำนองว่าสถานการณ์ของไทยเริ่มอันตรายแล้ว รัฐต้องเริ่มเฝ้าระวังได้แล้วว่าเหตุการณ์จะดีขึ้นหรือเลวลงไหม และจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร ในขณะที่ของจีนค่า AQI ยังคงบอกว่าค่าที่คำนวณได้มันเท่ากับ 100 จึงยังไม่อันตรายนักและยังไม่ต้องทำอะไรก็ได้ทั้งที่ค่าวัด PM2.5/24hr.ของทั้งสองประเทศมันเท่ากัน

สรุปในเบื้องต้นนี้ได้ว่าค่ามาตรฐาน PM2.5/24hr.สามารถเป็นตัวกำหนดให้ AQI ที่คำนวณออกมาได้นั้นมีค่าสูงหรือต่ำก็ได้ กล่าวคือด้วยค่าวัด PM2.5/24hr.(มีหน่วยเป็น มคก./ลบ.ม.)เดียวกันถ้าค่ามาตรฐานเข้มงวด(หรือเป็นตัวเลขค่าต่ำๆ)ค่า AQI ก็จะสูง ถ้าค่ามาตรฐานอะลุ้มอะล่วย(ตัวเลขมีค่าสูงๆ)ค่า AQI ก็จะต่ำ นี้จึงเป็นสาเหตุให้หลายคนออกมาเรียกร้องให้ทางการไทยออกมาตรฐานของไทยเสียใหม่ ให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่า AQI สูงขึ้น อันเป็นการเตือนให้ผู้คนระมัดระวังหรือหาทางแก้ไขให้เร็วขึ้นและมากขึ้น

ทีนี้มาลองดูกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าวัด PM2.5/24hr.กับค่า AQI แบบง่ายๆ ซึ่งต้องออกตัวไว้ให้ชัดเจน ณ ที่นี้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราสมมุติขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าหากค่า PM2.5/24hr.สูงขึ้นค่า AQI ย่อมสูงขึ้นด้วย โดยมีความสัมพันธ์กันเป็นเส้นตรงดังในรูปที่ 1 อันแสดงเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงค่า AQI ที่ควรจะเกิดขึ้นสำหรับค่า PM2.5/24hr.ต่างๆ ของ 4 ประเทศที่ยกมาเป็นตัวอย่างให้ดู นั่นคือที่ค่า PM2.5/24hr. หนึ่งๆ ค่า AQI ของอเมริกาจะสูงที่สุดเพราะมีมาตรฐาน PM2.5/24hr.เข้มงวดที่สุด ถัดมาก็เป็นของสิงคโปร์ ไทย และจีนตามลำดับ ทั้งนี้ควรสังเกตด้วยว่า ถ้าค่าวัด PM2.5/24hr.ของประเทศใดได้เท่ากับค่ามาตรฐานของประเทศนั้นค่า AQI จะออกมาเท่ากับ 100 พอดี ทั้งนี้มาตรฐานของอเมริกา สิงคโปร์ ไทย และจีนเท่ากับ 35, 37, 50 และ 75 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ

รูปที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5/24hr. กับค่า AQI ที่สมมุติขึ้นมาให้เข้าใจง่ายๆ

จากนั้นเราจะพาท่านไปดูกราฟที่แสดงความสัมพันธ์ของจริงระหว่างค่า PM2.5/24hr.กับค่า AQI ที่ 4 ประเทศดังกล่าวนั้นได้ใช้จริงในการประกาศค่า AQI ให้ประชาชนทราบและเฝ้าระวัง (ดูรูปที่ 2) กราฟนี้มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ ใครที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์และคำนวณหาค่า AQI ไม่เป็น ก็สามารถเอาค่า PM2.5/24hr.ที่วัดได้หรือหามาได้ มาเทียบกับค่า AQI ในกราฟ ก็จะสามารถบอกได้ว่าค่า AQI ในกรณีนั้นๆของประเทศนั้นๆเท่ากับเท่าใด

ปัญหาคือแต่ละประเทศต่างมีกราฟนี้เป็นของตัวเอง ค่า AQI ที่อ่านได้และประกาศออกมาจึงต่างกัน หากเรามองไปที่กราฟของอเมริกา(สีแดง)ที่ค่ามาตรฐานของเขาเท่ากับ 35 มคก./ลบ.ม. ดังนั้น ณ ค่า PM2.5/24hr. เท่ากับค่าความเข้มข้นนี้ค่า AQI ก็ได้เท่ากับ 100 ตรงตามทฤษฎี และถ้าค่า PM2.5/24hr.สูงกว่าค่ามาตรฐาน ค่า AQI ก็จะสูงกว่าค่า 100 ซึ่งก็ตรงตามทฤษฏีอยู่อีก แต่เมื่อมองต่อไปกลับปรากฏว่าเมื่อ PM2.5/24hr.สูงขึ้นไปอีกหน่อยถึงตัวเลขประมาณ 60 มคก./ลบ.ม. เส้นกราฟมันกลับชันน้อยลง ค่า AQI ที่อ่านได้จึงต่ำลงกว่าค่าที่เรานึกคิดเอาว่ามันควรจะเป็น ซึ่งนั่นเป็นเครื่องหมายหรือสัญญาณว่าอันตรายมันไม่ได้มากขึ้นเป็นเส้นตรงอย่างที่เรานึกวาดภาพไว้ในรูปที่ 1 แต่พอขยับไปอีกหน่อยหรือที่ค่า PM2.5/24hr.ประมาณ 150 มคก./ลบ.ม.เส้นกราฟกลับชันขึ้นมาอีก แสดงว่าความเสี่ยงหรืออันตรายต่อสุขภาพ(ถ้าดูจาก AQI)คราวนี้กลับย้อนมาสูงขึ้นมากกว่าช่วงที่ผ่านมาบอกตามตรงเราเองก็ยังงงและคิดตามไม่ทันความคิดของนักระบาดวิทยาของอเมริกาผู้คิดสูตรการคำนวณ AQI แบบเด้งขึ้นเด้งลงแบบนี้มาเป็นประเทศแรก และเป็นบรรทัดฐานให้ประเทศอื่นๆรวมทั้งไทยทำตาม แต่ทุกคนก็ทำตามแบบสไตล์ประเทศใครประเทศมัน ซึ่งไม่คงเส้นคงวาเป็นสากลแบบที่มันควรจะเป็น ดังแสดงไว้ในรูปที่ 2 นี้ !!!

รูปที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างค่า PM2.5/24hr. กับค่า AQI ที่ใช้งานจริงในประเทศตัวอย่าง 4 แห่ง

ถัดมาดูของประเทศไทย(เส้นสีเขียว) นี่ก็ตรงกับกราฟในรูปที่ 1 คือ ตอนแรกเส้นกราฟของไทยชันน้อยกว่าของอเมริกา อันสื่อความหมายว่าการเพิ่มของค่า PM2.5/24hr.ของไทยในช่วงความเข้มข้นต่ำๆนี้สะท้อนอันตรายที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่าของอเมริกา แต่แล้วจู่ๆที่ค่า PM2.5/24hr.ประมาณ 70-80 กราฟของไทยกลับมาชันกว่าของอเมริกา อันสื่อไปในทางตรงข้าม คือ การเพิ่มของค่า PM2.5/24hr.ในช่วงนี้หากดูที่ค่า AQI ของไทย จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นมากกว่าของอเมริกา และแซงหน้าอเมริกาไปมากเมื่อค่า PM2.5/24hr.ขึ้นไปสูงถึงกว่า 100 มคก./ลบ.ม. (ดูตอนที่ 14 ประกอบ )

มีของจีน(เส้นประสีดำ)นี่แหละที่ดูจะมีเหตุผลมากที่สุด คือความชันของกราฟค่อนข้างคงที่ ไต่ระดับไปตามที่ควรจะเป็นมากที่สุด ไม่มีการเด้งขึ้นหุบลงของกราฟมากนักแบบอีกสองประเทศข้างต้น ส่วนของสิงคโปร์(เส้นประสีฟ้า)อยู่ระหว่างกลางๆของสองกลุ่มข้างต้น ส่วนจะบอกว่าของใครมีเหตุผลกว่าของใคร ตอนนี้ยังพิสูจน์กันได้ไม่ชัดแจ้ง อย่างน้อยก็ในวงนักวิทยาศาสตร์ไทยด้วยกัน และมีข้อสังเกตเพิ่มด้วยว่าของสิงคโปร์นี้แปลกและแตกต่างจากชาวบ้านเขา คือ ที่ค่า PM2.5/24hr.เท่ากับค่า 37 มคก./ลบ.ม.หรือที่ค่ามาตรฐาน ค่า AQI กลับไม่เท่ากับ 100 (งง!!!)

สรุปสุดท้ายได้สั้นๆว่า กราฟนี้ หรือความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5/24hr.กับค่า AQI ซึ่งเป็นค่าที่ทางการของทุกประเทศใช้ในการสื่อสารกับประชาชนถึงอันตรายต่อสุขภาพนี้ มีความไม่คงเส้นคงวาในระดับนานาชาติอยู่มาก การเอาไปใช้ประโยชน์จึงมีขีดจำกัดอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะหากต้องการจะเปรียบเทียบคุณภาพอากาศของแต่ละประเทศโดยอิงที่ค่า AQI ของแต่ละประเทศนี้ โดยความเห็นส่วนตัวเราสามคนจึงมีแนวโน้มที่จะคิดว่าเรา อันหมายถึงทุกประเทศ ควรพิจารณายกเลิกการใช้ค่า AQI ของ PM2.5/24hr.นี้ แล้วหันไปคิดค้นหาตัวชี้วัดอื่นมาแทน เช่น ค่าดัชนีสุขภาพอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศ หรือ AQHI (Air Quality Health Index) ซึ่งเราจะได้อธิบายให้ฟังเล็กน้อยในย่อหน้าถัดไป

นอกจากความสับสนของค่า AQI-PM2.5/24hr.ที่กล่าวมาแล้ว การประกาศเตือนประชาชนถึงอันตรายต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เลวลงในพื้นที่หนึ่งๆด้วยค่า AQI ของสารมลพิษเพียง “ตัวใดตัวหนึ่ง” เช่น PM2.5 หรือ PM10 หรือ O3 หรือ CO ที่บังเอิญมีค่า AQI ของมันสูงกว่าค่า AQI ของสารมลพิษตัวอื่นๆ เป็นค่า AQI ของวันนั้นหรือช่วงนั้นของพื้นที่นั้น ก็ไม่น่าจะสะท้อนถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ครบสมบูรณ์ เพราะคนเราทุกคนไม่สามารถที่จะเลือกหายใจเอาเฉพาะสารมลพิษอากาศชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่จะต้องสูดหายใจเอาสารมลพิษอากาศทุกชนิดที่มีอยู่ในบรรยากาศขณะนั้นเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นค่า AQI ไม่ว่าจะอิงจาก PM2.5/24hr.หรือ PM10/24hr. หรือ O3/8hr. หรือ CO/8hr.จึงไม่ได้บ่งบอกปริมาณสารมลพิษทั้งหมดที่ถูกสูดเข้าไปในร่างกาย

อีกทั้งถึงแม้จะนำค่า AQI ของสารมลพิษอากาศต่างๆมารวมกันเพื่อแสดงถึงผลกระทบรวมจากสารมลพิษทุกตัว นี้ก็ยังมีความคลาดเคลื่อนสูงเนื่องจากสารมลพิษอากาศแต่ละตัวมีความรุนแรงต่อสุขภาพแตกต่างกัน การคำนวณหรือการกำหนดค่า AQHI ในอนาคตจึงได้ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้น โดยอาศัยหลักการที่ว่าสารมลพิษอากาศชนิดใดมีความรุนแรงของผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าก็จะมีน้ำหนักในการคำนวณมากกว่า ซึ่งผู้สนใจอาจหารายละเอียดของ AQHI นี้เพิ่มเติมได้ในบทความดราม่า PM2.5 ตอนที่ ๖

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความสับสนและความคลางแคลงในค่า AQI-PM2.5/24hr.ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เรามีข่าวดีมาบอก คือ กรมควบคุมมลพิษ(คพ.)และกรมอนามัยได้ร่วมมือกับนักระบาดวิทยาของไทยแล้วเพื่อที่จะมาศึกษาและกำหนดวิธีการการคำนวณค่า AQHI อันเป็นของไทย ออกมาให้พวกเราได้ใช้กันในไม่ช้า

โดยที่เราหวังว่าจะไม่นานเกินรอด้วย