ThaiPublica > เกาะกระแส > กลยุทธ์ที่ทำให้เกาหลีใต้ กลายเป็นยักษ์ใหญ่การส่งออกสินค้าวัฒนธรรม เช่น หนัง Squid Game

กลยุทธ์ที่ทำให้เกาหลีใต้ กลายเป็นยักษ์ใหญ่การส่งออกสินค้าวัฒนธรรม เช่น หนัง Squid Game

18 ตุลาคม 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ Squid Game ของเกาหลีใต้ ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Squid_Game#/media/File:Squid_Game.jpg

ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ Squid Game ของเกาหลีใต้ กลายเป็นรายการยอดนิยมของ Netflix ในหลายประเทศทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของคนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เข้าร่วมการแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายในเกมเด็กเล่น คนที่ชนะจะได้รับรางวัลเงินสดเป็นล้านๆ ส่วนคนที่แพ้จะถูกสังหาร ภาพยนตร์นี้ผลิตออกมาแล้ว 9 ตอน พล็อตเรื่องเป็นเหตุการณ์แบบเลวร้ายที่เกิดขึ้นในอนาคต (dystopia) สะท้อนสังคมที่มั่งคั่ง แต่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่รุนแรง

Netflix บริษัทให้บริการถ่ายทอดสดภาพยนตร์ทั่วโลก เปิดเผยว่า Squid Game เป็นภาพยนตร์ชุดที่ได้รับความนิยมมากสุดของ Netflix หลังจากเปิดฉายครั้งแรกเมื่อ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ชมจากทั่วโลก 111 ล้านคน การสื่อสารของคนดูที่ชื่นชมกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ Squid Game ติดอันดับภาพยนตร์ยอดนิยมใน 80 ประเทศ Netflix ยังประกาศว่า ในปี 2021 จะลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตภาพยนตร์ชุด ที่ทำในเกาหลีใต้

อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้

ความสำเร็จของ Squid Game ถือเป็นความต่อเนื่องจากความสำเร็จของภาพยนตร์ Parasite ที่ได้รับรางวัลออสก้า ในฐานะภาพยนตร์ดีที่สุดของปี 2020 Parasite กลายเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องแรก ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว นอกจากนี้ ความสำเร็จของวงดนตรี K-Pop Band BTS ทำให้เกาหลีใต้กำลังกลาย “แบบอย่าง” ของประเทศที่แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ทว่าสามารถมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อโลก

ในอนาคตข้างหน้า อิทธิพลทางวัฒนธรรม ที่วงการรัฐศาสตร์เรียกว่า “อำนาจที่นุ่มนวล” (soft power) อาจจะยกฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของเกาหลีใต้ ให้สูงยิ่งขึ้น

หนังสือชื่อ The Soft Power of Korean Wave (2021) บอกว่า เกาหลีใต้มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่เข้มแข็งมากประเทศหนึ่ง ที่สามารถท้ายการครองตลาดของภาพยนตร์จากฮอลลีวู๊ด เมื่อพิจารณาจากยอดรายได้คนดู และการมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศที่มากกว่า 50% อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ใหญ่เป็นอันดับ 5 รองมาจากสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

นับจากปลายทศวรรษ 1990 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ เริ่มสร้างพื้นฐานทางตลาดของคนดูภาพยนตร์ขึ้นมา เพราะคนรุ่นใหม่ที่เป็นคนชั้นกลางของเกาหลีใต้ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น คนรุ่นใหม่พวกนี้ต้องการดูภาพยนตร์ ที่ตรงกับรสนิยมพวกเขา มีความช่ำชองในการสร้าง และให้ความบันเทิงสนุกสนาน หลังจากนั้น ภาพยนตร์เกาหลีใต้ก็ขยายตัวออกไปครองตลาดในเอเชีย และกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่ประสบความสำเร็จมากสุดของโลก

ที่มาภาพ : mazon.com

ปัจจัยสร้างความสำเร็จ

The Soft Power of Korean Wave กล่าวว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ มีบทบาทสำคัญต่อความรุ่งเรืองของสิ่งที่เรียกว่า “คลื่น(วัฒนธรรม)เกาหลี” (Korean Wave) และกลายเป็นส่วนสำคัญของการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมของประเทศนี้ อุตสาหกรรมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อที่จะแข่งขันในกระแสโลกาภิวัฒน์ ไม่ใช่เอาไว้ไปต่อต้านกระแสนี้ เพราะโดยทั่วไป กระแสโลกาภิวัฒน์มักจะหมายถึงการต่อต้านรุกรานทางวัฒนธรรมของต่างชาติ

หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ทบทวนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อหาทางลดการพึ่งพาอุตสาหกรรม เพราะด้านหนึ่ง เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ขาดทรัพยากรธรรมชาติ และอีกด้านหนึ่งคือการท้าทายที่มาจากประเทศคู่แข่งอย่างจีน เกาหลีใต้จึงหันมาพุ่งเป้าการส่งออกสินค้าวัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้จากต่างประเทศ และการยกระดับความก้าวหน้าของประเทศ รัฐบาลจึงหันมาใช้กลยุทธการพัฒนา ด้วยการส่งออกสินค้าวัฒนธรรม ดิจิทัลเทคโนโลยี และการส่งออกภาคบริการ ที่ประกอบด้วยภาพยนตร์ ดนตรี และเกมออนไลน์

บทความของ foreignaffairs.com ชื่อ The Cultural Invasion กล่าวว่า ทุกวันนี้ แม้คนหลายล้านคนทั่วโลกอาจกำลังบริโภควัฒนธรรมเกาหลีใต้ แต่คงจะมีคนไม่มากที่รู้ว่าทำไมเกาหลีใต้จึงประสบความสำเร็จในการสร้างตัวเอง ขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของโลกด้าน “อำนาจที่นุ่มนวล” สินค้าวัฒนธรรมที่เรียกรวมๆ ว่า “คลื่น(วัฒนธรรม)เกาหลี” หรือในภาษาเกาหลีเรียกว่า Hallyu ประสบความสำเร็จทั่วโลก อย่างที่ไม่เคยมีปรากฎมาก่อน

การเติบโตของสินค้าวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ไม่ได้มาจากผลงานการสร้างสรรค์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นผลมาจากความมานะพยายาม ที่ยาวนานของรัฐบาลเกาหลีใต้ ในอันที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เฉพาะด้าน กลยุทธ์ดังกล่าวยังได้สร้างผลตอบแทนคืนแก่เกาหลีใต้ ในสิ่งที่เป็น “อำนาจแข็งแกร่ง” (hard power) ในรูปของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการมีอิทธิพลของเกาหลีใต้ต่อโลกเรามากขึ้น

ดาวรุ่งที่เกิดขึ้นในยามยากลำบาก

ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ เกิดขึ้นมาจากสถานการณ์ ในยามที่ประเทศประสบความยากลำบาก ประธานาธิบดีคิม แด-จุง (Kim Dae-jung) ขึ้นมามีอำนาจในปี 1998 ในช่วงเวลาที่เกาหลีใต้ยังอยู่ในสภาพซวนเซและทรงตัวไม่อยู่ จากวิกฤติทางการเงินเอเชียปี 1997 รัฐบาลตั้งเป้าให้สินค้าวัฒนธรรมสำหรับคนหมู่มาก (popular culture) เป็นแหล่งสำคัญของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ภายใต้ “แผนพัฒนาสนับสนุนอุตสาหกรรมคลื่นเกาหลี” (Hallyu Industry Support Development Plan) รัฐบาลคิม แด-จุงกำหนดเป็นเป้าหมายว่า ภายใน 2 ปี อุตสาหกรรมวัฒนธรรมจะมีมูลค่า 290 พันล้านดอลลาร์ มากกว่ามูลค่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีมูลค่าปีหนึ่ง 280 พันล้านดอลลาร์ รัฐบาลยังเพิ่มงบประมาณให้แก่อุตสาหกรรมวัฒนธรรม จาก 14 ล้านดอลลาร์ในปี 1998 เป็น 84 ล้านดอลลาร์ในปี 2001

บทความ foreignaffairs.com กล่าวว่า ในการส่งเสริมการเพิ่มการผลิตสินค้าวัฒนธรรม รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ใช้ “โมเดลการเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับภาคเอกชน” โมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การต่อเรือ รถยนต์ และอุตสาหกรรมส่งออกอื่นๆ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้พัฒนาแผนธุรกิจ สำหรับตลาดต่างประเทศ ให้กับการส่งออกละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และเพลง รวมทั้งการให้เงินกู้แก่ผู้ประกอบการ และการฝึกฝนแก่ศิลปิน

ที่มาภาพ : blog.supertext.ch

ละครโทรทัศน์ปี 2002 ชื่อ Winter Sonata กลายเป็นภาพยนตร์ชุดเรื่องแรก ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในหลายประเทศ โดยเป็นดอกผลที่มาจากนโยบายการริเริ่มดังกล่าว อีกส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ไปทำความตกลงกับสถานีโทรทัศน์ในต่างประเทศ ในการออกอากาศ จนทำให้สถานีโทรทัศน์ทั่วโลก สนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้ Winter Sonata ขายสิทธิการออกอากาศในญี่ปุ่นได้เป็นเงิน 3.5 ล้านดอลลาร์ ช่วงปี 2003-2004 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 75% ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

การดำเนินนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ของรัฐบาลต่อๆมา ทำให้เกิดดอกผลทางเศรษฐกิจมหาศาลแก่เกาหลีใต้ ในปี 2019 เกาหลีใต้ส่งออกสินค้าวัฒนธรรม ที่ประกอบด้วยเกมคอมพิวเตอร์ ทัวร์การแสดงดนตรี และเครื่องสำอาง เป็นมูลค่า 12,300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากมูลค่าแค่ 189 ล้านดอลลาร์ในปี 1998

มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2017 คนเกาหลีใต้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม มีถึง 644,847 คน หรือ 3% ของแรงงานทั้งหมด แค่วงดนตรี BTS เองก็เป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ สถาบันวิจัย Hyundai Research Institute คาดการณ์ว่า วงดนตรี BTS สร้างธุรกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด เป็นมูลค่าถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ในปี 2017 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเกาหลีใต้ 800,000 คน หรือ 7% ของทั้งหมด เดินทางเข้ามาเพราะสนใจในวงดนตรี BTS

บทความของ foreignaffairs.com ยังกล่าวอีกว่า นอกจากประโยชน์ที่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว อุตสาหกรรมวัฒนธรรมยังเปลี่ยนแปลงสังคมเกาหลีใต้ คนหนุ่มสาวต้องการที่จะมีอาชีพด้านงานศิลปินและการสร้างสรรค์ มากกว่าการทำงานเป็นพนักงานในองค์กรใหญ่ แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร เป็นปัจจัยช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ จากอุตสาหกรรมหนัก มาสู่การให้ความสำคัญกับผลิตทรัพย์สินทางปัญญา

การก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และการที่เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มี “อำนาจนุ่มนวล” สร้างปัญหาท้าทายแก่ผู้นำเกาหลีใต้ ประเทศที่เคยเป็นผู้นำในด้านนี้มาก่อน เช่น สหรัฐฯและญี่ปุ่นได้ใช้ฐานะภาพทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก มาสนับสนุนค่านิยมเช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาเศรษฐกิจ

ความสำเร็จด้านวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ เป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องการเลียนแบบ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เกาหลีใต้ต้องตัดสินใจว่า ตัวเองต้องการเพียงแค่การส่งออกสินค้าความบันเทิงเท่านั้น หรือต้องการส่งออกค่านิยมสากลอีกด้วย

เอกสารประกอบ
The Korean Invasion, Sue Mi Terry, October 14, 2021, foreignaffairs.com
The Soft Power of the Korean Wave, Edited by Youna Kim, Routledge, 2021.