ThaiPublica > เกาะกระแส > คู่มือสำหรับองค์กรธุรกิจ เพื่อคาดการณ์ “ความเสี่ยงทางการเมือง” ในศตวรรษที่ 21

คู่มือสำหรับองค์กรธุรกิจ เพื่อคาดการณ์ “ความเสี่ยงทางการเมือง” ในศตวรรษที่ 21

8 พฤษภาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ: https://www.hoover.org/events/political-risk-conversation-condoleezza-rice-and-amy-zegart

เมื่อปี 2013 บริษัทสวนสนุก SeaWorld Entertainment ของสหรัฐอเมริกา ขายหุ้นเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ โดยระดมเงินมาได้ 700 ล้านดอลลาร์ ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์ หนังสือพิมพ์New York Times เคยเขียนไว้ว่า “สำหรับคนอเมริกันแล้ว SeaWorld คือธุรกิจที่สร้างความสนุกสนานให้แก่ครอบครัว ท่ามกลางพวกนกเพนกวินและปลาวาฬเพชฌฆาต”

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เรื่องราวของ SeaWorld กลายเป็นฝันร้าย จุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ในปี 2010 เมื่อปลาวาฬเพชฌฆาตฆ่าครูฝึกในช่วงการแสดง ต่อมาในปี 2013 มีภาพยนตร์สารคดีต้นทุนต่ำเรื่อง Blackfish ออกฉาย ที่เป็นเรื่องราวการปฏิบัติของ SeaWorld ที่มีต่อปลาวาฬเพชฌฆาต ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นอันตรายทั้งต่อตัวปลาวาฬเองและครูฝึก ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนในวงการต่างๆ จนในที่สุด บริษัทชั้นนำต้องยุติการเป็นสปอนเซอร์ให้กับสวนสนุก นักร้องและวงดนตรีต่างก็ถอนตัวจากการแสดงที่สวนสนุก

โฉมหน้าใหม่ภูมิรัฐศาสตร์

ในหนังสือชื่อ Political Risk (2018) ผู้เขียนคือ Condoleezza Rice อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และ Amy B. Zegart มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า เหตุการที่เกิดขึ้นกับ SeaWorld ถือเป็นตัวอย่าง “ความเสี่ยงทางการเมือง” ในศตวรรษที่ 21 ที่ความเสี่ยงไม่ได้เกิดจากนโยบายรัฐบาล หรือจากกฎหมายที่ออกมาควบคุมธุรกิจ แต่เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรต่างๆ หรือแม้แต่พลเมืองที่มีบัญชี Facebook หรือ Twitter ก็สามารถสร้างความเสี่ยงต่อองค์กรธุรกิจทั้งหลาย

ทุกวันนี้ แม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างแดนที่อยู่ห่างไกลออกไป ก็สามารถส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วต่อประเทศต่างๆ และธุรกิจทั่วโลก สงครามกลางเมืองในซีเรียทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพจำนวนมาก และการก่อการร้ายในยุโรป ส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของฝรั่งเศสซบเซา ภาพผู้โดยสารของสายการบิน United ที่ถูกลากตัวลงจากเครื่องบินที่สนามบินชิคาโกถูกนำไปเผยแพร่อย่างรวดเร็วทั่วเมืองจีน เพราะผู้โดยสารเป็นคนเอเชีย

ความเสี่ยงทางการเมืองในปัจจุบันจึงแตกต่างจากอดีต ในศตวรรษที่ 21 ความเสี่ยงไม่ได้มาจากการดำเนินการของรัฐเท่านั้น แต่กิจกรรมและการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจ ธุรกิจที่ต้องการจะรักษาความได้เปรียบ จำเป็นต้องมีวิธีการบริหารจัดการกับความเสี่ยง ที่เกิดจากบุคคลและองค์กรที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดี ไปจนถึงองค์กรอย่างสหภาพยุโรป

หนังสือ Political Risk กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สภาพภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การเปิดประเทศของจีน ที่มีพลเมือง 1.4 พันล้านคน ส่งผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ตลาดเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แบบไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ในแต่ละปี กลุ่มประเทศ BRICs เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เติบโตมากกว่า 8% และจีนอาจเป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่โตที่สุดในปี 2019

แม้แต่ประเทศที่เคยถูกเรียกว่า “โลกที่ 3” ก็เต็มไปด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจ คนชั้นกลางและนักธุรกิจในประเทศเหล่านี้ต่างก็มีความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ทั้งความต้องการสินค้าและการลงทุน พวกสตาร์ทอัปจากซิลิคอนวัลเลย์ก็พยายามที่จะออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น หนังสือ Political Risk อ้างคำพูด Marc Andreessen ผู้ก่อตั้งกองทุน Venture Capital Fund ว่า

“ในอดีต บริษัทต่างๆ ใช้เวลานานมากกว่าจะขยายธุรกิจไปทั่วโลก แต่โลกทุกวันนี้ การขยายตลาดธุรกิจเกิดขึ้นก่อน ทำให้ความคิดและการวางแผนต้องเดินตามหลัง บริษัทอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึง 180 ประเทศ ก่อนที่จะมีพนักงาน 180 คน”

กลุ่มบุคคลที่จะสร้างความเสี่ยง

ที่มาภาพ: amazon.com

โลกในยุคปัจจุบัน การเมืองกับเศรษฐกิจมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อธุรกิจคิดในเรื่องความเสี่ยง มักจะมองกรณีที่ผู้นำเผด็จการยึดทรัพย์สินต่างชาติ ความเสี่ยงนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1950-1970 แต่ทุกวันนี้ เหตุการณ์แบบนี้แทบจะหายไปหมดแล้ว เพราะความเข้มแข็งของกฎหมายระหว่างประเทศ และการบูรณาการระหว่างเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว กับประเทศกำลังพัฒนา

หนังสือ Political Risk กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 กลุ่มคนที่จะมีบทบาทสร้างความเสี่ยงทางการเมืองต่อธุรกิจ มีหลายประเภท เช่น

    (1) บุคคลเป็นรายๆ ที่เป็นนักเล่น Facebook คนทำภาพยนตร์สารคดี หรือนักเคลื่อนไหว
    (2) องค์กรท้องถิ่น เช่น พรรคการเมือง สมาคมต่างๆ และหน่วยงานท้องถิ่น
    (3) ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ
    (4) กลุ่มหรือขบวนการข้ามชาติ เช่น นักเคลื่อนไหว ผู้ก่อการร้าย พวกแฮ็กเกอร์ พวกอาชญากร และ
    (5) องค์กรสถาบันข้ามชาติ เช่น สหภาพยุโรป หรือสหประชาชาติ

ในบรรดากลุ่มต่างๆ ที่จะสร้างความเสี่ยงทางการเมืองต่อธุรกิจ กลุ่มพวกไซเบอร์ถือเป็นกลุ่มใหม่ ในปี 2015 บริษัทความปลอดภัยไซเบอร์แห่งหนึ่ง ได้ตรวจพบว่า ในระยะเวลา 2 ปี พวกอาชญากรไซเบอร์ที่มีชื่อเรียกว่า Carbanak ได้โจรกรรมเงินจากธนาคาร 100 แห่ง ใน 30 ประเทศ ไปเป็นเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นการปล้นทางไซเบอร์ที่ร้ายแรงสุด

ขณะเดียวกัน พวกนักกิจกรรมแฮ็กเกอร์ ที่เรียกกันว่า “Hacktivist” ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มคนพวกนี้ทำการโจมตีทางไซเบอร์ต่อองค์กรต่างๆ เพราะไม่พอใจต่อมาตรการที่ปิดกั้นการเคลื่อนไหวของข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตอย่างเสรี กลุ่มคนพวกนี้มีชื่อเรียก เช่น Anonymous หรือ LulzSec แต่มีบางคนก็เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “พวกแก้แค้นทางอินเทอร์เน็ต”

ในโลกไซเบอร์ การเป็นสมาชิกในกลุ่มแฮ็กเกอร์ต่างๆ มีลักษณะลับๆ และเปลี่ยนไปตลอดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับกลุ่ม หรือว่าจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งหรือไม่ ก็ไม่ชัดเจน แต่ความสามารถของพวกนักกิจกรรมแฮ็กเกอร์ ที่จะกระทำการแบบมีเป้าหมายทางการเมือง กลายเป็นปัญหาท้าทายใหม่ต่อรัฐบาลและธุรกิจต่างๆ

ความเสี่ยงสำคัญ 10 อย่าง

ธุรกิจส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ภาวะตลาดแรงงาน อัตราการเติบโต อัตราการว่างงาน หรือรายได้ต่อคนในประเทศต่างๆ แม้ฝ่ายบริหารของธุรกิจจะคาดคิดในเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง แต่ก็ขาดวิธีการที่เป็นระบบในการรับมือกับปัญหานี้ หนังสือ Political Risk กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเมืองที่สำคัญในยุคปัจจุบัน มีอยู่ 10 อย่างด้วยกัน ดังนี้

เหตุการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความเสี่ยงทางการเมืองที่เกิดจากเหตุกาณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างเช่น สงคราม การเปลี่ยนแปลงด้านดุลอำนาจระหว่างประเทศ การแทรกแซงทางทหาร และการคว่ำบาตรของนานาชาติ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ดุลอำนาจระหว่างประเทศเปลี่ยนไป จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

ความขัดแย้งภายในประเทศ ความไม่สงบ ความรุนแรงทางเชื้อชาติ หรือความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น นับเป็นความเสี่ยงทางการเมืองต่อธุรกิจ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่จะพัฒนากลายเป็นขบวนการการแยกตัวอิสระ เช่น ปี 2017 มีการลงประชามติที่รัฐคาตาโลเนียจะแยกตัวจากสเปน ความขัดแย้งภายในประเทศที่อาจนำไปสู่สงครามกลางเมือง การปฏิวัติ รัฐประหาร และทำให้คนจำนวนมากอพยพไปประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจชงักงั

กฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบาย ธุรกิจจะต้องมองความเสี่ยงจากกฎหมายและนโยบายรัฐในแบบไม้บรรทัด ในปลายข้ามหนึ่ง คือการเปลี่ยนแปลงแบบปกติ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล หรือการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม ตรงกลางไม้บรรทัดคือ นโยบายที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่บ่อย เช่น การปรับสัดส่วนกรรมสิทธิ์ต่างชาติในธุรกิจ ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของไม้บรรทัดคือ การเปลี่ยนนโยบายที่สำคัญจากสภาพเดิม เช่น ปี 2002 จีนบอกว่าหน่วยงานรัฐจะต้องซื้อซอฟต์แวร์ของจีนเท่านั้น

การละเมิดสัญญา การยึดกิจการ และการล้มละลาย ในหลายกรณี ความเสี่ยงทางการเมืองเกิดจากรัฐบาลละเมิดสัญญา การเจรจาเพื่อทำสัญญาใหม่ หรือการยึดกิจการ รวมทั้งการล้มละลายในการชำระเงินกู้ นับจากปี 1995 เป็นต้นมา ประเทศที่เคยผิดนัดการชำระหนี้ ได้แก่ รัสเซีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา ปารากวัย เกรนาดา แคเมอรูน เอกวาดอร์ และกรีซ

คอร์รัปชัน แม้คอร์รัปชันจะเกิดขึ้นกับทุกประเทศ แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีการคอร์รัปชันสูงเพราะสาเหตุ 2 อย่าง คือ พื้นที่เศรษฐกิจและการเมืองเกี่ยวพันกัน ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจการใช้ดุลพินิจที่จะให้คุณให้โทษต่อธุรกิจ ประการต่อมา ประเทศเหล่านี้ยังขาดองค์กรที่เข้มแข็ง ทำให้หลักนิติธรรมไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบ คอร์รัปชันทำให้ธุรกิจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศ เวลาเดียวกัน ธุรกิจก็เสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีอาญา และถูกปรับจากกฎหมาย Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ของสหรัฐฯ และ Bribery Act 2010 ของสหราชอาณาจักร ปี 2016 บริษัทต่างๆ เสียเงินค่าปรับตามกฎหมาย FCPA ของสหรัฐฯ สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์

การใช้กฎหมายนอกอาณาเขต กฎหมายคอร์รัปชันของสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายของประเทศมหาอำนาจ ที่มีต่อการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น สหรัฐฯ ยังมีกฎหมายที่มีการบังคับใช้นอกอาณาเขตคือ USA Patriot Act Section 311 กฎหมายฉบับนี้ออกมาหลังจากเหตุการณ์ 9/11 โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่จะคว่ำบาตรประเทศและสถาบันการเงินต่างประเทศ หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน

การควบคุมทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มโอเปกคือตัวอย่างความพยายามของประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมัน ที่ต้องการจะควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ แต่ความเสี่ยงในปัจจุบัน คือกรณีที่จีนครอบครองการผลิต 90% ของแร่ธาตุที่หายาก 17 ชนิด แร่ธาตุเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น แบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ และขีปนาวุธ

กิจกรรมทางสังคม การเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรมทางสังคม ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภค อย่างเช่น กรณีสวนสนุก SeaWorld การแพร่หลายของโซเชียลมีเดีย โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต ทำให้คนแต่ละคน หรือองค์กรเล็กๆ มีอำนาจอยู่ในมือ ที่สามารถส่งผลสะเทือนสูง ทำให้รัฐบาลและธุรกิจต้องยอมรับความจริงว่า อาจจะมีเหตุการณ์ที่มีการเผยแพร่อย่างรวดเร็วในโลกอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า

การก่อการร้าย กลายเป็นเรื่องที่สร้างความวิตกด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรป Michel Sapin รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส บอกว่า การก่อการร้ายส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ แบบเดียวกับความขัดแย้งในภูมิภาค การโจมตีของพวกก่อการร้ายยังส่งผลระยะยาวต่อธุรกิจ หลังจากเหตุการณ์ 9/11 ผ่านมาแล้ว 6 ปี Boeing จึงเริ่มจะมีคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น

ภัยจากไซเบอร์ เป็นความเสี่ยงสำคัญในยุคใหม่ ที่มาภาพ : i-his.com

ภัยทางไซเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า 97% ของบริษัท Fortune 500 ถูกแฮ็กไปแล้ว ตามปกติ บริษัทต่างๆ ไม่รู้ว่าถูกแฮ็กจนกว่าเวลาจะผ่านไประยะหนึ่ง โดยเฉลี่ยประมาณ 205 วัน นับจากวันที่ถูกแฮ็กจนถึงวันที่ตรวจจับได้ Center for Strategic and International Studies (CSIS) คาดการณ์ว่า ในปี 2014 ความเสียหายทั่วโลกจากอาชญากรรมทางไซเบอร์สูงถึง 575 พันล้านดอลลาร์ เท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจของสวีเดน

Political Risk กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ไม่มีใครเคยคิดมาก่อนว่า จะเกิดเหตุการณ์แบบ Brexit รัสเซียผนวกดินแดนไครเมีย หรือโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่การบริหารความเสี่ยงทางการเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการคาดเดาอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องอาศัยกรอบความคิดที่เป็นระบบ

เอกสารประกอบ
Political Risk: How Business and Organization Can Anticipate Global Insecurity, Condoleezza Rice and Amy Zegart, Hachette Book Group, Inc. 2018.