เสาวรส รณเกียรติ รายงาน
ประสบการณ์ความขัดแย้ง การต่อสู้ระหว่างคนในประเทศในเวียดนาม ลาว และการลุกขึ้นมาประท้วงของนักศึกษาในประเทศฝรั่งเศส แม้จะผ่านมาเกือบ 40-50 ปีแล้ว แต่ก็ทำให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ไม่รู้สึกประหลาดใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมือง ที่เริ่มจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2548 จนมีการปฏิวัติรัฐประหาร จากนั้นมีการเลือกตั้ง แล้วปฏิวัติรัฐประหาร มีการประท้วงเป็นวันเป็นเดือน มีการเผารถ เผาสถานที่ราชการ มีการขว้างระเบิด เด็กนักเรียนนักศึกษาออกมาประท้วงชู 3 นิ้ว มาจนถึงวัยรุ่นย่านดินแดงขี่มอเตอร์ไซค์ ปาระเบิด เผาป้อมตำรวจ ฯลฯ
ดร.สุเมธ กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยสงบได้ระยะหนึ่งภายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการออกมามอบตัวของผู้ที่เข้าป่า ทำให้ประเทศไทยสงบมาระยะหนึ่ง แต่จุดบอด คือ ประเทศไทยผ่านการรักษาตัว ด้วยการผ่าตัดใหญ่ ผ่านการให้คีโม แล้วควรมีการพักฟื้น การฟื้นฟู แล้วก็ต้องประพฤติตัวใหม่ด้วย เพราะชีวิตไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่คนปกติแล้ว แต่ประเทศไทยไม่รักษาต่อ คิดว่าหายแล้ว กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม ตามเสรีนิยม ทุนนิยม มีการทุจริตคอรัปชัน ที่เคยซาไปพักหนึ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็กลับขึ้นมาใหม่ การเมืองกลับไปสู่วงจรเดิม
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ที่ประเทศไทยรอดมาได้ เพราะมีการวางแผนด้วยตัวเราเอง ไม่เอาตามแบบอเมริกัน แต่ด้านการเมืองกลับไปก็อปปี้ประเทศอื่น ทำให้มีของที่ไม่ได้ถูกดีไซน์ให้ประเทศไทยใช้ มันก็อลเวง สุดท้ายก็เละเทะ กระจัดกระจาย พรรคเล็กพรรคน้อย การรวมตัวกันของพรรคการเมืองไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์ แต่เพื่อผลประโยชน์เป็นครั้งเป็นคราว วุ่นวายมาเรื่อย สุดท้ายลงเอยด้วยการปฏิวัติ เป็นยาสามัญประจำบ้าน เริ่มต้นกันใหม่
ทีนี้มันไม่ใช่เริ่มต้นใหม่ แบบ new normal แต่เป็นการเริ่มต้นวงจรเก่า แค่เปลี่ยนฉาก เปลี่ยนคน วงจรเดิมกลับมาอีก การทุจริตคอรัปชัน อะไรต่ออะไร เหมือนเดิมแล้วก็จบ แล้วก็บอกว่า เอาใหม่ นี่คือความไม่เป็นตัวตน
“การเมืองไปเอาแบบประเทศที่เจริญแล้ว ตอนนั้นให้เหลือ 2 พรรคใหญ่ มีการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ วางยาเพื่อรักษา ให้ไปจุดที่มีพรรคใหญ่ 2 พรรค ก็สำเร็จ พอมีพรรคใหญ่ 2 พรรค อ้าว…กลายเป็นเหลิงอำนาจ ซึ่งก็มีทฤษฎีในบทเรียน คือ เผด็จการรัฐสภา ใครมีเสียงข้างมากทำอะไรได้ทั้งนั้นตามใจ ไม่ได้มองเรื่องธรรมาภิบาล เอาอำนาจไป abuse หาประโยชน์ เป็นผลประโยชน์อีกแบบ เป็นผลประโยชน์เชิงเอกชน”
เพราะว่าดีไซน์อย่างไรก็แล้วแต่ มีพรรคใหญ่ 2 พรรค แต่ต่างต้องใช้เงินเพื่อนำทางการเมือง ฉะนั้นเมื่อเงินเป็นพาหะ ก็ต้องหาเงิน หาอย่างไร ก็ต้องหาในเนื้อ ก็กัดกร่อนรูปเดิมอีก เสร็จแล้วทนไม่ไหว ปฏิวัติ ยาสามัญมาอีก มาแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ป้องกันการโกง วางยาแรงเลย ก็ได้รัฐบาลมา กระพร่องกระแพร่ง ก้อนเนื้อที่มีเชื้อก็ยังอยู่ เนื้อใหม่ก็มา แต่ยังไม่สุกงอมดี เข้ามาผสมผสาน แต่การผสมมันไม่กลมกลืน เนื้องเก่าก็เน่าอยู่อย่างนั้น ไม่รู้จะขจัดไปไหน เพราะขจัดไปก็หมดตัว เนื้อใหม่มาก็ยังกินไม่ได้ ยังอ่อนอยู่ นี่คือสภาวะปัจจุบัน พอมันไม่กลืนกันระหว่างเนื้อเก่ากับเนื้อใหม่ ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกรอบ เกิด conflict ด้านการเมือง
แล้วมีข้อผิดพลาด คือ พอวางยาแล้ว เราไม่ใช้ยาให้หมด ให้ครบโดส ใช้ไปครึ่งหนึ่ง หยุดแล้ว ผ่าตัดแทนที่จะตัดใจตัดเนื้อร้ายออกไปให้หมดเลย แต่ตัดแบบทิ้งเชื้อไว้ นี่คือสภาพ นี่คือความเข้าใจของผม ผมอ่านสถานการณ์อย่างนี้ มันถึงต้องแก้ไขไม่รู้จบ พอเปลี่ยนใหม่ กลับไปใช้ยาเดิมที่เคยไม่ได้ผลมาแล้ว วนเวียนเป็นวัฏจักรแบบนี้
ถ้าย้อนกลับไปได้ หากไม่มีการปฏิวัติ ปล่อยให้การเมืองปรับตัวแก้ไขกันเอง กับการปล่อยให้มีการปฏิวัติ รูปแบบไหนจะเหมาะกับประเทศไทย และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
ดร.สุเมธ กล่าวว่า ไม่เหมาะสมทั้งสองรูปแบบ เพราะถ้าปล่อยไปให้การเมืองดำเนินไปรูปแบบเดิม จะจบอย่างไร มีบทเรียนให้เห็นได้จากหลายประเทศ เช่น ประเทศในอเมริกาใต้ ที่ผู้มีอำนาจครองเมือง แม้จะมีฉากหลังเป็นประชาธิปไตยก็ตาม ก็จบด้วยความพินาศ การเมืองคุมหมด ถ้าปฏิวัติ ใหม่ ๆ อาจจะดี พอตอนหลังก็แปรรูปไปในลักษะอย่างนั้น แล้วเราชอบอะลุ่มอล่วย ชอบออมชอม พอปฏิวัติไปได้นิดหนึ่ง ก็จะเห็นว่าไม่มีการใช้อำนาจเด็ดขาด ปฏิวัติแต่ละครั้งมีโอกาสจะเปลี่ยนอะไรได้ ก็มัวแต่เกรงใจคนโน้น คนนี้ ทำให้ปฏิวัติเสียเวลาไป ทุกช่วงที่มีเวลาอยู่ การปฏิรูป ผ่าตัดใหญ่ เจ็บตัวครั้งเดียวแล้วให้มันหายเลย กลับไม่ได้ทำอะไร น่าเสียดาย
ความจริงปฏิวัติก็มีดีในตัวของมัน เหมือนกับการผ่าตัด ไม่มีใครอยากผ่าตัดหรอก แต่ถ้าผ่าตัดโอกาสรอดมันมีสูงกว่า แต่นี่คนไข้ยอมผ่าแล้ว หมอพร้อมแล้ว แต่ไม่จรดมีดสักที ปล่อยให้มันกำเริบไปเรื่อย ๆ น่าสงสารคนไข้
ดร.สุเมธ ยังเห็นว่า การแก้ปัญหาในยุคปัจจุบัน ยากกว่าเมื่อ 40-50 ปีก่อนมาก เพราะเกมเริ่มเปลี่ยน มีเรื่องกระแสโลก เข้ามาเป็นปัจจัยเพิ่มขึ้น ต่างจากในอดีตที่ทุกอย่างมีพรมแดน มีระยะห่างจากระยะทางที่ไกล การสื่อสารลำบาก ทำให้คนในประเทศมีเวลาไตร่ตรอง คิดถึงผลกระทบต่าง ๆ แล้วหาทางออก หาทางแก้ไขได้
“แต่ปัจจุบันเกิดอะไรในโลก ฮ่องกงชู 3 นิ้ว เมืองไทยชู 3 นิ้วบ้าง ตัวสำคัญที่ไม่มีใครคิดถึง คือ ระบบดิจิทัล ไอที ต่าง ๆ อันตรายมาก เพราะทุกอย่างมี 2 คม ดิจิทัล ช่วยอำนวยความสะดวก แต่พร้อมกันนั้นก็ฆ่าเราได้ ทำไมวันนี้มีเฟคนิวส์ แล้วคนก็เชื่อ เพราะเดี๋ยวนี้คนไม่มีสมาธิ ในการใช้เวลาในการอ่านหนังสือเล่มโต ๆ มีเวลานั่งคิด เดี๋ยวนี้มันมาแวบ แวบ บางทีอ่านไม่เต็ม ไม่ครบ จับแค่บางประโยค เป็น “โซเชียลโควิด” ที่อาจจะฆ่าเราได้เด็ดขาดกว่าโรคโควิด เป็นกันทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย สหรัฐที่เราคิดว่าเจริญแล้ว ก็เละเทะ เป็นอาการโรคของโรคที่เราก็ติดเหมือนกัน แต่เราไม่รู้ตัว”
วันนี้สิ่งที่ยากคือ เกมไม่ได้อยู่เฉพาะที่บ้านเราเหมือนสมัยก่อน ถ้าเทียบกับการแก้ปัญหาเมื่อ 30-40 ปีก่อน เปลี่ยนใหม่หมด ทั้งที่เหตุการณ์เหมือนเดิม มีความขัดแย้ง ทะเลาเบาะแว้งกันเหมือนเดิม ไล่ทำลายกัน แต่ตัวเชื้อโรคมันเปลี่ยน ขณะที่ผลลัพธ์ คือ ฆ่าเราเหมือนกัน ฉะนั้นการรักษา การให้ยา ต้องไม่เหมือนกัน ต้องเลือกให้ถูก เพราะถ้าวางยาผิด ก็น็อก
ดร.สุเมธ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การแก้ปัญหา ยกแรก จะแก้โดยคนอื่น รอคนอื่นมาแก้ไขให้ เปรียบกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด คือ หน้ากากต้องไปซื้อจากจีน วัคซีนก็ต้องรอ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ถ้าต่างประเทศไม่ส่งมา ก็ตาย ขณะที่ไทยเอง เริ่มมีทางออก มีการคิดยาป้องกัน มีการคิดค้นการผลิตวัคซีนจากใบยาสูบ ที่รอผลในกลางปีหน้า
“เรามีวิธีแก้ แต่ถ้าไม่จนมุม ก็ไม่หา ต้องต้อนให้จนมุมก่อนถึงจะไขว่คว้าหาทางออก ส่วนการป้องกันไว้ก่อน ไม่เอา ทุกวันนี้แก้ยาก เพราะเราไม่ป้องกัน แต่ตามแก้ และไม่ใช้วิธีของตัวเอง ย้อนไปเหมือนเมื่อ 30-40 ปีก่อน ตอนนั้นอเมริกันจะมาแนะนำวิธีของเขา แต่เราไม่เอา เราจึงรอด เทียบกับเวียดนาม ที่อเมริกันบอกว่าจะรอดยังไง เขาก็เลยพัง อเมริกันก็พังด้วย”
ฉะนั้น ดร.สุเมธ มองว่า หากจะแก้ไข ต้องพึ่งตัวเอง ทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเอาประเทศไทยเป็นหลัก แทนที่จะร่างรัฐธรรมนูญ หรือวางระบบเศรษฐกิจ ตามแบบประเทศอื่น ก็ใช้ความกล้าที่จะคิด จะวางระบบเอง ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือพอประมาณ จะพอประมาณได้ต้องรู้จักตัวเอง รู้จักประเทศตัวเองก่อน
“เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่กลับไปปลูกผักปลูกหญ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านบอกว่า พอเพียง คือ ทำอะไรให้พอประมาณ ตีความหมายให้แตกก่อน คำว่า พอประมาณแก่ตนน่ะ รู้จักตนมั้ย และพอประมาณสำหรับคุณกับผม ก็ไม่เหมือนกัน”
ดร.สุเมธ กล่าวว่า เริ่มจากการรู้จักตน ตั้งแต่ระดับแต่ละคน ระดับประเทศ แล้วรู้ว่า พอประมาณอยู่ตรงไหน ประเทศไทยถนัดอะไร ประเทศไทยเป็น อู่ข้าวอู่น้ำ แต่ตอนนี้น้ำเน่า ที่นากลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องกู้เงิน เทคโนโลยีในโรงงานต้องซื้อ ผู้บริหารไม่เป็นก็ฝรั่ง ญี่ปุ่น ส่วนไทยใช้สมบัติเก่าลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ แถมคนอีกได้ค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน เป็นแรงงานราคาถูก ที่เดี๋ยวนี้ถูกพม่าแย่งงานไปหมด ผลิตออกมาก็ต้องพึ่งส่งออก
“ที่บอกว่าไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร แท้จริงแล้วขึ้นหมด ขึ้นกับเงิน ขึ้นกับเทคโนโลยี ขึ้นกับตลาด จนกระทั่งทุกวันนี้ อย่างการท่องเที่ยวก็พึ่งนักท่องเที่ยวจากจีน พอเขาไม่มาก็ตายหมด แล้วโรงแรมก็นั่งบ่น บ่นทำไม บ่นให้นักท่องเที่ยว 20-30 ล้านคนกลับมา แทนที่จะตั้งโจทย์ใหม่ว่า ยุคนี้เป็นยุค aging ทั่วโลกมีแต่คนแก่ ประเทศไทยด้วย หลายประเทศมีสวัสดิการให้ผู้สูงอายุมาก แต่การใช้ชีวิตในประเทศเขากระจอก เหมือนอยู่บ้านคนชรา โรงแรมในไทยก็เปลี่ยนลูกค้าใหม่เท่านั้น ประกาศเลยว่า เมืองไทยจะเป็นศูนย์คนชราโลก ระบบสาธารณสุขของไทยได้ชื่อว่า ดีที่สุด การดูแลเนี้ยบมาก เอาโรงพยาบาลกับโรงแรมมาประสานกัน เปิดเป็นศูนย์คนชรา มีหมอมาตรวจให้ทุกวันศุกร์ โรงแรมก็ไปจับมือกับเกษตรกรปลูกผักปลอดสาร ทำอาหารให้คนในศูนย์ทาน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ให้วีซ่าอยู่ไปทั้งปี เขามาอยู่ไม่ใช่แค่ไฮซีซัน หรือโลว์ซีซัน แถมดูแลหมดจนตายจะกลับประเทศอย่างไร จะเผา จะใส่กล่องไป บอกไว้จะจัดการให้”
การแก้ปัญหาประเทศ ถ้าใช้เรื่องความขัดแย้งเป็นเครื่องนำทาง ก็จะจบที่บ้านพัง ตายทั้งคู่ แต่ในระหว่างที่ความขัดแย้งดำเนินอยู่ อย่างอื่นก็ต้องดำเนินไป ปรับเปลี่ยนไป เพราะเชื่อว่าเพียงแค่ให้ทุกคนอยู่ดีกินดี ถ้าทุกคนถ้าทำมาหากินได้ จะไม่มีใครลุกขึ้นมาทะเลาะ ขัดแย้งกัน เพราะไม่มีสาเหตุแห่งความขัดแย้ง
“ความจริง พระเจ้าอยู่หัวสอนไว้หมดแล้ว และตอนนี้ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ถ้ารักษาความพอมีพอกิน รักษาความผาสุกของประชาชน ไม่ต้องร่ำรวย แต่ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศก็มีกิน พอมีกิน ความทุกข์ก็ทุเลา คนนี่สิ่งสำคัญที่สุด คือเรื่องอาหาร 70% ของชีวิตคือเรื่องอาหารการกิน ทำไมไม่เอาความสมบูรณ์เรื่องอาหารที่ไทยมี พร้อมกับวัฒนธรรมการปรุงแต่งออกมา เหมือนเกาหลีที่ประเทศไม่มีอะไรเลย แต่สร้างหนังจนอาหารเกาหลีเผยแพร่ไปทั่วโลก หรือตัวอย่างในไทยก็มี ธนินทร์ เจียรวนนท์ ที่รวยเพราะอาหาร คนมีทุนแบบนี้ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น ถ้าไทยมุ่งอุตสาหกรรมอาหาร เอาความรู้สมัยใหม่มาจับกับทุนเดิมที่มีอยู่ ฉลุยเลย”
ถามว่า หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปแบบนี้ ไม่มีแนวทางแก้ไขออกมา จะทำให้ประเทศต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
ดร.สุเมธ กล่าวว่า เคยพูดไว้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วว่า การเกิด guerrilla warfare หรือสงครามในป่า สำหรับประเทศไทย จบแล้ว ไม่มีแล้ว ถ้าจะเกิดต่อไป จะเป็น urban guerrilla คือสงครามกองโจรในเมือง ที่เห็นตอนนี้ก็เหตุการณ์ย่านดินแดง มีการปาระเบิด มีการเผา เป็นประเด็นที่พูดมา 10 ปี แล้วก็เกิดจริง ๆ แล้วเด็กพวกนี้ปกติเขาออกมาอยู่แล้ว เผอิญว่ามีคนมาประกบ อยากด่าก็จัดเวทีให้
“พูดไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า เมืองไทยถ้าไม่แก้อาการโรค 5 อย่างแล้ว ยาก เป็นคำสั้น ๆ 5 คือ “หลง โลภ โง่ โกง กัด”
ถ้าใส่ 5 คำนี้ในกูเกิลจะขึ้นมาเลยเป็นหลักฐานยืนยันว่าพูดมาเป็น 10 ปีแล้ว มันเป็นโรคประจำชาติ หลง ก็หลงไปหมด การเมืองหลงประชาธิปไตย หลงเสรี โลภ คือให้มีความเจริญอย่างไร ก็ยังถู ยังกราบไว้ ต้นไม้ ขอหวย พอโลภแล้วก็โง่ อะไรที่ไม่น่าทำก็ทำ โกง นี่ไม่ต้องอธิบายมีทุกหย่อมหญ้า กัด ก็เห็นกันทุกวันนี้ กัดตั้งแต่วงเล็ก วงใหญ่ ไม่มีใครให้กัดก็กัดกันเอง
ที่น่าเสียดายคือ ไทยมียาที่จะแก้พร้อมหมดทุกอย่างแต่ไม่ใช้ น่าเศร้า บ้านนี้เมืองนี้เป็นสวรรค์เลย ถ้าเทียบกับอัฟกานิสถาน เทียบกับประเทศตะวันออกกลาง แม้กระทั่งเพื่อนบ้าน คนไทยส่วนมากเป็นคนดี ทุกข์ร้อนขึ้นมาก็ร่วมกันบริจาค แต่มีเชื้อโรค 5 ตัวนี้มากัดกิน ถ้าเราไม่ปรับตัว นั่งรอปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้นมา มีแต่พินาศ
ดร.สุเมธ ในวัย 82 ปี ยังดูแข็งแรง มีความจำเป็นเลิศ หากไม่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายตามแต่ที่จะเชิญมา ก็จะนั่งทำงานที่มูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิฯ รวมทั้งออกพื้นที่ในโครงการ แทบไม่มีวันหยุด
“ชีวิตนี้คิดจะทำอะไรไม่เคยได้ทำตามที่คิดไว้ วางแผนอะไรแล้วไม่เคยได้ทำ ตอนนี้ปล่อยแล้ว จะทำอะไรก็ตามที่มีประโยชน์ แล้วก็ไม่หวัง เพราะถ้าหวังก็จะผิดหวัง ที่พูดไปทั้งหมด ถ้าผมผิดหวัง ผมเลิกทำงานมานานแล้ว จะเลิกพูด เพราะพูดไปก็ป่วยการ ไม่มีการแก้ไขอะไร
แต่ทีนี้ ที่คิดคือ มีหน้าที่ ก็ทำ อย่างตอนนี้ยังทำงาน มีใครมาขอความช่วยเหลือก็ช่วยไป ถามว่ามีความสุขหรือเปล่า ก็พูดยาก ใครถามสบายดีหรือเปล่า บอกได้แค่ว่า ไม่ทุกข์ แค่นี้พอแล้ว แค่ไม่ทุกข์ก็บุญหนักหนาแล้ว ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อย แต่ให้หยุดแล้วจะทำอะไร ตื่นเช้ามานั่ง มองฝาบ้าน มองผนัง หรืออย่างไร
แค่นี้แหละ ผมไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้ ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป ไม่ต้องเต็มที่ก็ได้ เต็มที่จะเหนื่อยเกินไป แค่ทำ ถ้าคนคิดอย่างนี้ได้โลกจะสวยงามกว่านี้เยอะ แต่นี่ทำยังไม่ทำเลย มานั่งตะบี้ตะบันกวนเมืองอยู่ได้ กวนตัวเองด้วย (หัวเราะ)”