ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน : “ทนง พิทยะ” มองญี่ปุ่นสะท้อนไทย (1)

บันทึกภาคประชาชน : “ทนง พิทยะ” มองญี่ปุ่นสะท้อนไทย (1)

24 พฤศจิกายน 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

ดร.ทนง พิทยะ

ดร.ทนง พิทยะ นอกจากจะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในยุคการลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ภายใต้รัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ยังเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งเคยเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย และเป็นอาจารย์และคณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรียกได้ว่าผ่านมาทั้งงานการเมือง งานเอกชน และนักวิชาการ ครบเครื่องในบุคคลคนเดียว

นอกจากประสบการณ์ในประเทศแล้ว ดร.ทนง ยังเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศญี่ปุ่น ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ “เจโทร”, กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) หรือแต่เดิมคือ กระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI), กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น, กระทรวงต่างประเทศ และที่เป็นเกียรติสูงสุด คือ คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Grand Cordon of the Order of the Rising Sun ซึ่งเป็นเครื่องราชย์ชั้นสูงสุดของญี่ปุ่น โดยประเทศไทยนั้น นอกจาก ดร.ทนง แล้ว ยังมีนายสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดนี้

“ผมได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์จากญี่ปุ่น เป็นเกียรติ ได้แบบอายุน้อยที่สุดด้วย เขาประกาศว่าเป็น Friend of Japan คือ ตอนเกิดวิกฤติ บทบาทเรากับญี่ปุ่นชัดเจนมาก ไทยเป็นพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่น ผมทำให้ JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จ”

เมื่อย้อนกลับไป ครั้งที่ ดร.ทนงกำลังเรียนระดับมัธยม 8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ดร.ทนงสามารถสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อไปเรียนระดับปริญญาตรี และเลือกที่จะเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แทนการเรียนคณะวิศวกรรมการศาสตร์ หรือแพทย์ศาสตร์ที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น
“ผมมี ดร.ป๋วย (ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์) เป็นต้นแบบ เป็นคนที่ผมประทับใจมาตลอด เพราะเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และตอนอยู่ ม.8 ผมทำรายงานเยอะ รายงานธนาคารโลก ผมเรียนสายวิทย์ คนที่เรียนวิทย์ คำนวณมันจะช่วยได้ อำนาจการวิเคราะห์จะช่วยได้ ดีกว่าการเรียนอักษรศาสตร์ เราเรียนเพื่อสร้างอำนาจการวิเคราะห์ เลยคิดว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ สามารถช่วยประเทศได้”

ดร.ทนงจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ และระดับปริญญาเอกสาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น และก่อนโรคโควิด-19 จะระบาด ดร.ทนงได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษไปสอนเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่นนานหลายปี

ด้วยเหตุนี้ ดร.ทนงจึงมีความผูกพันกับประเทศและคนญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เห็นวัฒนธรรม ความคิด รากเหง้าของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนผ่านของประเทศ ที่ ดร.ทนงเล่าว่าอยู่ในยุคจักพรรดิเมจิ ที่ครองราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) ด้วยพระชนมายุ 15 พรรษา ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระบรมราชาภิเษกครั้งแรก ปี พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุ 15 พรรษา

ยุคนั้นทั้งสองประเทศ ต่างเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก และมีการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามชาติตะวันตก มีการให้กำเนิดรถไฟ โทรศัพท์ ฯลฯ

แต่สิ่งที่ ดร.ทนงมองคือ แม้จะมีการปฏิรูปในช่วงใกล้เคียงกัน แต่ญี่ปุ่นมีการพัฒนาด้านการค้า อุตสาหกรรม ไปถึงจุดที่หลายประเทศรวมถึงไทยตามได้ยาก

ดร.ทนงมองว่าจุดที่แตกต่างคือ คนญี่ปุ่นเน้นการพัฒนาคน ทำให้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าไปอีกขั้นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด เรียกว่า continuous improvement ต่างกับชาติตะวันตก ที่เป็น reengineering คือเปลี่ยนแบบฉับพลัน

“คอนเซปต์พื้นฐานของญี่ปุ่นมาจากการควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้า แต่คุณภาพการผลิตสินค้าจะดีได้มาจากเครื่องจักรกับคน เครื่องจักรให้ดีแค่ไหนก็มีจุดพลาด แต่ทำอย่างไรให้เครื่องจักรมีจุดพลาดน้อยที่สุด คนก็ต้องเข้ามาดูแล ว่าเครื่องจักรมีจุดอ่อนอยู่ตรงไหน เฟืองตัวไหนไม่ดี สายไฟตรงไหนติดขัด จะเอาระบบไหนมาช่วย ปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร”

ญี่ปุ่นนำเทคโนโลยีควบคุมคุณภาพสินค้ามาจากอเมริกา จะมีการ Sampling Survey ทดสอบตัวอย่าง อย่างการผลิตหลอดไฟฟ้า 1 ล้านหลอด เสียได้ไม่เกินกี่หลอด คือการควบคุมคุณภาพสินค้า ไอเดียนี้เกิดที่อเมริกา แต่พอญี่ปุ่นเอามาใช้ก็มีการประยุกต์ มีการพัฒนาไปอีกขั้น เพราะญี่ปุ่นเน้นการพัฒนาคน ระบบนี้มีการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ทำให้ญี่ปุ่นมีระบบพัฒนาคนในโรงงานการผลิต ระบบเริ่มต้น คือ 5 ส (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย) ที่คนไทยเอามาใช้ ตัวต่อไป คือ TQC (การควบคุมคุณภาพทั่วทั้งองค์กร หรือ total quality control) เป็นการร่วมกันดูแลคุณภาพสินค้าแต่ละจุด

อย่างโรงงานประกอบรถยนต์ จะมีการแบ่งกลุ่ม กลุ่มหนึ่งดูแลแบตเตอรี่ อีกกลุ่มดูสายไฟ อีกกลุ่มก็ดูอย่างอื่น แล้วจะคุยกันถึงเรื่องการพัฒนา คุยเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น มีการประชุมกันตลอด แล้วส่งข้อมูลขึ้นไปเพื่อแจ้งแนวทางการแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาจะพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ แค่สายไฟจะดูว่าทำให้ดีขึ้นอย่างไร

การพัฒนารูปแบบนี้ญี่ปุ่นเขาทำทุกจุด เช่น ไนท์คลับ บาร์ ที่ดูแลแขกญี่ปุ่น แขกญี่ปุ่นจะมาประมาณ 3 ทุ่ม เด็กจะเข้ามาทำงานประมาณทุ่มกว่าๆ พอ 2 ทุ่ม ผู้จัดการบาร์หรือมาม่าซังจะเรียกลูกน้องมาประชุมก่อน คำถามคือ เมื่อคืนมีปัญหาอะไรบ้างในการดูแลแขก แขกคนไหนโวยบ้าง วิธีแก้ แก้อย่างไร แล้วคนอื่นมีปัญหานี้จะแก้อย่างไร ประชุมเพื่อหาข้อสรุปให้ทุกคนเข้าใจ เพราะแขกแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนไม่ดูแลแขก แขกด่ามา ด่ากลับ เขาก็จะประชุมหาวิธีการดูแล การอยู่ร่วมกันกับแขกได้อย่างมีความสุข หรืออย่างแขกจะมาแต๊ะอั๋งจะทำอย่างไรเพื่อให้แขกเกรงใจ

มีการประชุมตลอด เทคนิคเหล่านี้เป็นการพัฒนา และทำให้แขกญี่ปุ่นเวลาจะไปร้านไหน ก็จะไปแต่ร้านนั้น มันมีความสุข ได้รับการดูแลอย่างที่แขกต้องการ เข้าใจว่าแขกต้องการอะไร แล้วเขาขีดกติกาให้แขกได้ ไม่ให้ล่วงเกินเด็ก และให้แขกมีความสุขด้วย

ระบบการพัฒนาคุณภาพในทุกจุดของญี่ปุ่นจึงมีการประชุมระหว่างกันตลอด บริษัทญี่ปุ่นในเมืองไทยก็จะทำแบบนี้ ทำให้บริษัทญี่ปุ่นในไทยถึงเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานดีที่สุดในโลก อย่างโตโยต้า ฮอนด้า ส่งออกสบาย เพราะเขาเอาระบบญี่ปุ่นมาใช้ในโรงงาน

ส่วนประเทศไทย ทำอย่างไร ซื้อเครื่องจักรมาปุ๊บ ให้ฝรั่งมาเทรนงาน แล้วก็ใช้ไป ถึงเวลาปรับปรุงไม่เป็น บางคนเก่ง ดัดแปลงเป็นให้ใช้ตามคุณภาพเดิมได้ แต่ปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ได้

ที่คนไทยไม่คิดจะปรับปรุง เพราะไม่มีความสนใจ คือ การจะทำเป็นต้องการความร่วมมือซึ่งกันและกัน คนที่เกี่ยวข้องในระบบการผลิตต้องประชุมกันตลอด ว่าจุดอ่อนของระบบการผลิตอยู่ตรงไหน

คนงานไทยไม่โง่ มีความสามารถ แต่ต้องการเทคโนโลยีทางการจัดการแบบญี่ปุ่น คนไทยก็คือเอเชียน แต่เราผสมผสานจนน่ากลัว เราเอาอเมริกันมา ยุโรปมา ไอ้นี่ดีกว่า ไอ้นั่นดีกว่า ของเราเป็นอย่างนั้น มันดีทุกอัน แต่ดีในสิ่งแวดล้อมไหน เราต้องเข้าใจว่า ในสิ่งแวดล้อมของส่วนรวม องค์กรเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมกัน ตามใจชุมชน

นี่คือสิ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาถึงจุดที่ตามยาก

ดร.ทนงมองว่า ความแตกต่างของคนไทยกับคนญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากการนับถือศาสนาพุทธคนละนิกาย โดยญี่ปุ่นนับถือพุทธสายมหายาน ขณะที่ไทยนับถือพุทธสายหินยาน ที่มีคำสอนแตกต่างกัน เริ่มจากความแตกต่างทางด้านสังคม

“ผมพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมญี่ปุ่นทำให้สังคมชุมชนเกิดขึ้นได้ ประเทศไทยมีสังคมชุมชนแบบของไทย มีสันติทั้งคู่ ความแตกต่างน่าจะมาจากศาสนาพุทธ ของญี่ปุ่นจะเป็นพุทธมหายาน ที่ไหลมาจากจีนสู่ญี่ปุ่น ส่วนของไทย เป็นพุทธหินยาน ที่จะสอนคนไม่เหมือนกัน”

ศาสนาพุทธไทยเป็นหินยาน มุ่งพัฒนาจิตของคนในชุมชนให้มีธรรมะ มีการรู้จักสมาธิ ภาวนา แต่ทำเพื่อตนเอง มีแต่ศีลที่ทำเพื่อชุมชนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ทะเลาะกัน นอกจากนั้น พุทธในไทยจะไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตเท่าไหร่นัก สังเกต พุทธหินยาน เข้ามาศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เหมือนกันหมด หินยานจะไม่คิดถึงการพัฒนากาย คิดถึงการพัฒนาจิต ไม่ได้ดูแลกายและจิตไปพร้อมๆ กัน

ทีนี้ไปดูพุทธมหายาน ที่จีน แล้วไปเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน มหายานก็มีความเชื่อ แต่ถ่ายทอดไปถึงการพัฒนากายและจิต เขาไม่มีพระป่า แต่มีพระเซนที่อยู่ในป่า แต่พระเซนจะพัฒนาสวนญี่ปุ่น พัฒนาธรรมชาติรอบๆ เพื่อให้คนเข้าวัดไปไหว้พระ มีสวนญี่ปุ่น พิธีชงน้ำชา การจัดดอกไม้ คาราเต้ มวยจีน พื้นฐานมาจากพระสายมหายานทั้งนั้น แล้วถ่ายทอดให้ประชาชนเอาไปใช้ นี่คือการพัฒนาสังคมของพุทธสายมหายาน

การพัฒนาสังคมของพุทธสายหินยาน ศาสนาส่วนศาสนา นอกจากนั้นชุมชนก็อยู่กับสิ่งที่ชุมชนนั้นทำ อยู่กับปัญญาชน จะสังเกตว่าปัญญาชนกับศาสนาจะแยกกัน แต่ญี่ปุ่นไม่แยก ปัญญาชนกับศาสนาเรื่องเดียวกัน ความเชื่อเดียวกัน และมองว่าจะพัฒนาจิตอย่างเดียวไม่ได้ กายต้องแข็งแรงด้วย พระเซนตื่นเช้ามาต้องวิ่ง ต้องออกกำลังก่อน ค่อยนั่งสมาธิ

ฉะนั้น เซนจึงเป็นจุดกำเนิดของซามูไร จุดกำเนิดของทุกอย่าง ศิลปะก็มาจากความเชื่อเหล่านี้ พระเองก็มองภาพธรรมชาติเป็นศิลปะ กลายเป็นสวนญี่ปุ่น เริ่มมีการตีดาบออกมาเป็นดาบซามูไร ตีอย่างไรให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ดาบไทย เหล็กน้ำพี้ ตีแล้วก็จบ แต่ญี่ปุ่นมีการสืบทอด เดี๋ยวนี้ก็ยังมีการตีดาบซามูไรโดยเฉพาะ สืบทอดมาตลอด

ไม่ใช่ญี่ปุ่นไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องศาสนาเขาก็เชื่อเรื่องเทพเจ้า พระโพธิสัตว์ แต่ปัญหาคือ เขาไหว้แล้วพระที่เป็นผู้นำศาสนาญี่ปุ่นจะสอนให้เข้าใจกับการอยู่กับธรรมชาติ ปรับปรุงชีวิตให้ดีที่สุด โดยการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

“ความคิดของสังคมเราจึงต่างกับสังคมญี่ปุ่น มีศาสนาเป็นตัวนำทั้งคู่ แต่นำคนละแบบ ของญี่ปุ่นให้อยู่กับธรรมชาติ และอยู่กับการศึกษา วิทยาการ คำว่าวิทยาการของเขาคือการพัฒนา แม้จะนำวิทยาการมาจากต่างประเทศ ก็ต้องพัฒนาต่อเนื่องให้ดีขึ้นไปอีก”

หากมองย้อนไป เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน และกลายเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เช่นเดียวกับจักรพรรดิเมจิ ก็เริ่มสร้างมหาวิทยาลัยจักรพรรดิเช่นเดียวกัน โดยจัดตั้งรวม 8 แห่งพร้อมกันในทุกภาคของประเทศญี่ปุ่น เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยโอซากา มหาวิทยาลัยนิกาตะ

นอกจากนี้ ประเทศไทยจากยุคสุโขทัย มาเป็นอยุธยา แล้วมาเป็นกรุงเทพฯ มีการตีหัวเมืองต่างๆ เพื่อสร้างอาณาจักร มีการนำวิทยาการตะวันตก อย่างปืน มาใช้ก่อนคนอื่น ทำให้เอาชนะกัมพูชา ลาว ได้ ชนะด้วยวิทยาการตะวันตก แต่ไม่มีการพัฒนา มีความพยายามที่จะหล่อปืนใหญ่เอง แต่ใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีการพัฒนาคุณภาพ

“ขณะที่ญี่ปุ่น มีการรบกัน ถูกรวบรวมแว่นแคว้นขึ้นมาให้อยู่ร่วมกัน มีวิธีการปกครองคล้ายๆ กัน สำหรับไทยผู้ที่รวบรวมอำนาจคือพระมหากษัตริย์ แต่ญี่ปุ่นจักรพรรดิไม่ใช่ผู้รวบรวมอำนาจทุกแคว้นให้มาอยู่ด้วยกัน แต่เป็นโชกุน ที่คล้ายๆ กับนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเผด็จการ โดยโชกุนโตกุกาวะเป็นผู้รวบรวมทุกแคว้นให้อยู่ได้ และออกระเบียบที่เก่งมาก ระเบียบแรก คือ ทุกแคว้นต้องส่งลูกเมียมาอยู่ที่โตเกียว และทุก 1-2 เดือนต้องมาคำนับ”

แต่จุดสำคัญที่ทำให้การปกครองของญี่ปุ่นไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง ไม่เกิดสงคราม คือ โชกุนประกาศเรื่องวรรณะ มีการแบ่งเป็น 4 วรรณะที่ยกเว้นไม่เกี่ยวกับจักรพรรดิ โดยวรรณะสูงสุด คือ ซามูไรกับชาวนา จะมีความสำคัญเท่าๆ กัน

โชกุนโตกุกาวะบอกว่า ชาวนาคือผู้เลี้ยงดูประเทศ ส่วนซามูไรคือผู้ปกป้องชาวนา เหมือนกับตำรวจ ไม่ให้ใครมาทำร้าย ฉะนั้น 2 วรรณะนี้สำคัญที่สุด คือ ความปลอดภัยกับความสามารถในการผลิต

อีก 2 วรรณะที่ต่ำกว่านั้น คือ พ่อค้า กับช่างศิลป์ สังคมญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับชาวนา แม้ชาวนาต้องแบกภาษีเท่าไหร่ แต่ซามูไรมีหน้าที่ต้องปกป้อง ระเบียบนี้อยู่มา 200 ปี สร้างสังคมโดยการผลิต มีชาวนาเป็นพื้นฐาน

ถึงได้บอกว่า การพัฒนาของสังคมมาจากการพัฒนากายและจิตเพื่อให้อยู่ร่วมกัน เราคิดว่าสังคมญี่ปุ่นเจริญเพราะต้องเผชิญกับพายุ ฯลฯ ทำให้ต้องอยู่รอด แต่จริงๆ แล้วพื้นฐานการพัฒนาเป็นเรื่องหลักการ คือ อยู่ร่วมกันในชุมชนเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ อิงธรรมชาติ

“โดยต้องอยู่รอด ต้องผลิตสินค้าเกษตรมาก่อน จากนั้นทำอย่างไรให้พัฒนาต่อไปได้ แปรรูปอาหาร การเก็บ ญี่ปุ่นถึงเก่งเรื่องการทำผักดอง ข้าวก็มีการพัฒนาเป็นสาเกพันๆ ชนิด เขาไม่ได้ห้ามให้ทำสาเก เพราะข้าวมันเหลือก็ต้องทำสาเก เก็บไว้ก็เสียหาย ราขึ้น ชาวนาถึงมีรายได้สูงมาก โดยการยกระดับราคาข้าว และเอาภาษีจากภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นมาแบ่งให้ชาวนา รัฐบาลญี่ปุ่นยอมเป็นหนี้มหาศาล เพราะเหตุนี้ เพื่อให้สังคมเขาอยู่ได้ อุตสาหกรรมกับเกษตรจึงพึ่งกันและกัน”

ทางด้านเศรษฐกิจ ดร.ทนงมองว่า ญี่ปุ่นจะมีคำว่า “มนุษยชาติโดยรวม” เป็นพื้นฐาน และทำให้ชุมชนญี่ปุ่นเติบโต เศรษฐกิจ สังคม เติบโต ขณะที่คนไทยคิดว่าทำอย่างไรถึงจะรวย สังคมไม่ใช่มนุษยชาติ แต่เป็นสังคมที่อยู่ด้วยตัวเอง มีภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ญี่ปุ่นไม่มีคำนี้ มีแต่ต้องพัฒนาร่วมกันไปเรื่อยๆ

“ถ้าดูการพัฒนาด้านวิทยาการ ในขณะที่ไทยกับญี่ปุ่นลอกแบบวิทยาการมาเหมือนกัน แต่ลอกอย่างเดียวไม่พอ ต้องพัฒนาให้ได้ อย่างญี่ปุ่น เอาทรานซิสเตอร์จากอเมริกาที่สร้างไว้สมัยส่งคนไปโลกพระจันทร์ เพราะทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็ก ปรากฏว่า ญี่ปุ่นเอาทรานซิสเตอร์มาทำวิทยุกระเป๋าหิ้วแทนที่จะเป็นวิทยุเครื่องใหญ่ๆ และทำให้ญี่ปุ่นส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าไปตีตลาดอเมริกาได้”

ถ้าดูการพัฒนาของนักธุรกิจญี่ปุ่นแล้วจะทึ่งว่าเขาต้องการแข่งกับโลกตลอด ขณะที่นักธุรกิจไทยรวยไว้ก่อน ฉะนั้น นักอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเป็นนักอุตสาหกรรมที่แท้จริง ขณะที่นักอุตสาหกรรมไทยส่วนมากเป็นนักลงทุน ไม่ใช่นักอุตสาหกรรม

คือ ซื้อเครื่องมือเครื่องจักรมา แล้วขายด้วยการผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตร อุตสาหกรรม อะไรที่เพื่อการบริโภคในประเทศต้องผูกขาดให้ได้ จะได้ขายได้”

ดร.ทนงยกตัวอย่างจังหวัดโออิตะ ที่โด่งดังจาก สินค้าหนึ่งชุมชนหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ One Village, One Product (OVOP) ต้นแบบสินค้าโอทอปของไทย โดยจังหวัดโออิตะแต่เดิมเป็นเมืองเกษตรที่ล้าหลังเกือบที่สุดในญี่ปุ่น แต่สามารถเติบโตจนจีดีพีติดทอปเทนของประเทศ และทำให้ ดร.โมริฮิโกะ ฮิรามัตสุ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะกว่า 10 สมัย และแม้จะเป็นพื้นที่การเกษตร แต่มีมหาวิทยาลัยโออิตะ ทำให้มีพื้นฐานการศึกษาดี ขณะที่ ผู้ว่าฯ ฮิรามัตสุมองว่า จะทำอย่างไรให้แต่ละชุมชนที่ผลิตสินค้าเกษตรแตกต่างกัน เช่น ปลูกผัก เห็ด ข้าว มาร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจ แล้วผู้ว่าฯ ฮิรามัตสุพบว่า ชุมชนหนึ่งมีการผลิตเหล้าสาเกที่ดีมาก แต่ผลิตขายในพื้นที่ ขณะที่กิวชิวเก่งเรื่องเซรามิก ก็มองว่าทำอย่างไรจะสร้างสินค้าใหม่ขึ้นมาเป็นไฮเอนด์ สร้างมูลค่าเพิ่ม ก็ให้โรงงานเซรามิก ออกแบบขวดสาเก มีตราโออิตะ แล้วเอามาบรรจุเหล้าสาเก ทำเสร็จไปทำตลาด ไปขายที่โตเกียว ปรากฏว่ากลายเป็นสาเกดังของประเทศ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ ความสวยของเซรามิก รสชาติก็ดี ทั้งที่สาเกรสชาติดี อร่อย ในญี่ปุ่นมีเยอะมาก แต่จะทำการตลาดของตัวเองในพื้นที่เล็กๆ แต่ผู้ว่าฯ ทำการตลาดที่โตเกียว สามารถขยายผลผลิตขึ้นมาได้มหาศาล

ผู้ว่าฯ ฮิรามัตสุยังตั้งศูนย์วิจัยเพื่อการเกษตรของโออิตะขึ้น ที่มีนักวิจัยเพียง 2 คน เพื่อทดลองการปลูกพืชในโออิตะ โดยนักวิจัย 2 คนก็มาดูว่าทำอย่างไรให้ปลูกเห็ดหอมจะมีคุณค่ามากขึ้น อย่างต้นสนที่จะฝังเชื้อเห็ดหอม ก็วิจัยว่าต้นสนควรมีอายุเท่าไหร่ วิธีการวางต้นสน ความชื้น แค่ไหนจึงจะทำให้ได้เห็ดหอมดอกใหญ่ขึ้น จนโออิตะปลูกเห็ดหอมที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น ดีที่สุดของโลกด้วย ราคาขายแพงมาก

หรือเมืองเวปปุ จังหวัดโออิตะ ที่เป็นแหล่งน้ำพุร้อน ผู้ว่าฯ ฮิรามัตสุก็ให้ครอบครัวแถบบ่อน้ำร้อนทำโรงเตี๊ยมเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาแช่น้ำพุร้อน จนกลายเป็นแหล่งฮันนีมูนของคนญี่ปุ่น และมีแค่จุดเดียวประมาณ 20 โรงแรมเล็กๆ ใช้ระบบครอบครัวบริหาร โรงแรมพวกนี้ก็เอามะนาว เอาวัว ของเกษตรกรในโออิตะ มาทำอาหาร มีร้านขายสินค้าเกษตรอยู่รอบๆ ทำให้เรียวกังเหล่านี้เป็นจุดทำการตลาดของสินค้าอาหาร รวมทั้งมีการออกนิทรรศการที่โตเกียว ขายสินค้าที่ผลิตได้จากจังหวัดโออิตะ

“ส่วนประเทศไทย เอาแนวคิดโอทอปมาใช้ แต่เอาแต่กระพี้มา ทำการตลาดโดยกระทรวงพาณิชย์ จัดงานที่เมืองทองให้ชาวนาเอาสินค้ามา มีจุดขาย จุดดีที่เกิดขึ้นคือ ชาวนาที่เอาสินค้ามาเห็นคนอื่นขายได้ แต่ตัวเองขายไม่ได้ ก็กลับไปปรับปรุงเรื่องบรรจุภัณฑ์ ความสะอาด รสชาติ ปีหน้ามาใหม่ มีการพัฒนาสินค้า กลายเป็นธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม เอสเอ็มอีใหม่ๆ นี่แค่กระพี้ยังได้อย่างนี”

แต่ปัญหาคือ ผู้ว่าฯ ไทยแต่ละคนไม่เหมือนผู้ว่าฯ โออิตะ ทำเพราะอยากเอาหน้า อยากได้แค่ตำแหน่ง เห็นใครทำดีก็ไปก๊อบปี้มา การให้ความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ใช่ไม่มีค่า แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้มีรายได้เพิ่ม อย่างปลาร้า พวกดารา หม่ำ จ๊กมก ไปซื้อมา ทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ ขายได้ราคาสูง แต่ชาวนาทำไม่เป็น

โอทอปของไทย แม้จะมีโอกาสในการสร้างตลาด แต่จุดอ่อนคือ โอกาสในการปรับปรุงสินค้า ใครจะสอน การทำสินค้าให้มีความสะอาด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครัวของโลก กระทรวงเกษตรฯ ต้องนำให้ได้ เพราะมีองค์ความรู้ แต่ไม่สามารถกระจายองค์ความรู้นี้ออกไป สร้างเครือข่ายไม่เป็น ไม่มีวิทยาการจัดการในการสร้างเครือข่าย ในการเผยแพร่องค์ความรู้ ไม่มีหน่วยทดลองระดับจังหวัด แม้เกษตรจังหวัดจะมีแปลงทดลองพืชต่างๆ แต่ก็ทำได้แค่นั้น ไม่ได้มีแปลงทดลองที่แท้จริงที่ให้นักวิทยาการเข้าไปเพื่อสร้างผลผลิตใหม่ๆ ไม่มีการวางเป้าหมายว่าแต่ละปีต้องมีผลผลิตใหม่ๆ ให้ชาวนากี่อย่าง กลายเป็นว่า เกษตรกรที่เก่งเพราะศึกษากันเอง แต่หน่วยราชการไม่มีส่วนร่วม ทีนี้เกษตรกรศึกษากันเอง ปัญหาคือ ปริมาณและคุณภาพไม่สอดคล้องกัน ไม่พอดีกับตลาด ผลิตมากไป ราคาลง เหนื่อยเปล่า ผลิตน้อยไป ราคาขึ้น ก็ได้เท่าเดิม คือไม่มีการกำกับปริมาณและคุณภาพ เพื่อสนองตลาด มันวัดตลาดไม่ออก

ปัญหาของประเทศไทยคือแยกกระทรวงเยอะ เกษตรทำหน้าที่วิจัย แต่ตลาดเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องไปด้วยกัน ตลาดกับการผลิตต้องไปด้วยกัน แต่กลายเป็นว่าพาณิชย์ดูแต่ตลาด ถ้าขายไม่ได้ก็เข้าไปช่วยเรื่องราคา ขณะที่ระบบการผลิตภาคเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่อยากยุ่ง แต่ตั้งโรงงานเมื่อไหร่ต้องขออนุญาต ซึ่งเป็นเรื่องเหลวไหล”

อ่านต่อตอนที่ 2