ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน : สุเมธ ตันติเวชกุล ถอดบทเรียน 40 ปี จากสงครามกองโจรในป่ามาสู่ในเมือง (ตอนที่ 1)

บันทึกภาคประชาชน : สุเมธ ตันติเวชกุล ถอดบทเรียน 40 ปี จากสงครามกองโจรในป่ามาสู่ในเมือง (ตอนที่ 1)

13 ตุลาคม 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา และกรรมการ เอสซีจี

เมื่อพูดถึง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ส่วนใหญ่จะคุ้นตาและนึกถึงภาพการถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวง รัชกาลที่ 9 (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) โดยตามเสด็จไปในพื้นที่ชนบทหลายแห่ง รวมทั้งการเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานสนองพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9

แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า ก่อนจะมาถวายงานรัชกาลที่ 9 นั้น ดร.สุเมธ เคยทำงานร่วมกับทหารและฝ่ายความมั่นคง และเข้าไปพลิกวิธีคิด วิธีการทำงานใหม่ จนประเทศไทยรอดพ้นจากประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ พ้นจากการล่มสลายแบบที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว เวียดนาม เขมร เคยเผชิญมาก่อนหน้า

“พอทำงานอยู่หลายปี เป็นผู้ใหญ่ขึ้น เริ่มเห็นว่าการต่อสู้ของเรามาผิดทางแล้ว จากประสบการณ์ที่เวียดนาม ที่ประเทศพัง แล้วเราแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ตามแบบเวียดนาม ด้วยเอาอาวุธมาไล่ฆ่า ภาพที่เวียดนามมันกลับมา แต่มองด้วยสายตาผู้ใหญ่ขึ้น มันหมุนกลับมา ว่าแนวทางนี้มันไม่ใช่ เพราะวิธีคิดของผู้ใหญ่ในขณะนั้นคือ พวกนี้เป็นโจร คอมมิวนิสต์คือโจรก่อการร้าย ต้องปราบปราม แต่ยิ่งปราบ คนก็ยิ่งเข้าป่ามากขึ้น”

ประสบการณ์ที่ ดร.สุเมธ พูดถึง คือครั้งที่ถูกส่งไปเรียนระดับมัธยมที่เวียดนาม ในยุคที่แบ่งเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ และสหรัฐฯ ส่งกำลังทหารเข้าไปในเวียดนามใต้เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ยุคนั้น ดร.สุเมธ เห็นภาพความขัดแย้งในหมู่คนเวียดนาม ทั้งทะเลาะเบาะแว้ง ไปจนถึงไล่ยิง ไล่ฆ่ากัน

ความขัดแย้ง ความรุนแรงที่มากขึ้น ทำให้ ดร.สุเมธ ถูกย้ายไปเรียนที่ประเทศลาว ก่อนที่เวียดกงก็เข้ายึดเวียดนามใต้ ขณะที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกไป แต่จนแล้วจนรอด เหตุการณ์ที่ลาว ก็ซ้ำรอยกับเวียดนาม เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ กับรัฐบาล ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ สุดท้ายฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ครองอำนาจ

แม้เมื่อมาเรียนต่อระดับปริญญาตรี จนกระทั่งจบปริญญาเอก ที่ประเทศฝรั่งเศส ดร.สุเมธ ก็ยังหนีไม่พ้นภาพเหตุการณ์วังวนความขัดแย้งเดิมๆ ที่เป็นภาพเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้

“พอจบไฮสคูล ความใฝ่ฝันคืออยากเป็นทูต ก็ไปเรียนรัฐศาสตร์การทูต เตรียมตัวจะเป็นทูต ไปต่อตรี โท เอก ที่ประเทศฝรั่งเศส ก็เห็นความขัดแย้งอีกเหมือนกัน เห็นจนชินตา ไปที่ไหนก็เห็นแต่ความขัดแย้ง ฝรั่งเศส ก็มีซ้าย เรื่องขวา เรื่องการเมือง การช่วงชิง ยึดอำนาจกัน

ตอนนั้น ปี พ.ศ. 2511 ใกล้จะเรียนจบระดับปริญญาเอก ก็เกิดเหตุการณ์นักเรียนในกรุงปารีสลุกขึ้นประท้วง สาเหตุมาจากความไม่พอใจเรื่องระบบการเรียน มีการเผาบ้าน เผาเมือง ลงถนน เผารถ ตัดต้นไม้ ไล่ตีกัน บ้านเมืองเละตุ้มเป๊ะ เกิดทั้งที่ปารีสแล้วก็หัวเมืองใหญ่ๆ ตำรวจตอนนั้นโหดกว่าเมืองไทยตอนนี้ ไทยแค่ฉีดน้ำ ยิงกระสุนยาง แต่ปารีสยุคนั้นปราบโหด กระบองทุบหัว จิกหัว โยนขึ้นรถเหมือนหมูเหมือนหมา การประท้วงเริ่ม 5 โมงเย็น คือเด็กเลิกเรียน ไปเลิกเอาใกล้ๆ เที่ยงคืน เพราะตอนเช้าต้องเรียน เลยกลับไปนอน”

ดร.สุเมธ เล่าว่าเหตุรุนแรงในปารีสและหลายเมืองเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวันเป็นคืน เป็นอาทิตย์ จนประธานาธิบดี ชาร์ล เดอ โกล ต้องบินหนีไปเยอรมัน ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และนำไปสู่ข่าวลือว่าจะมีการปฏิวัติ แต่ภายหลัง ประธานาธิบดี ชาร์ล เดอ โกล ก็บินกลับฝรั่งเศส แล้วลงมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เริ่มจากการใช้กระบวนการทางด้านการเมือง

อย่างไรก็ตาม ดร.สุเมธ เห็นว่า จุดสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ในฝรั่งเศสคลี่คลาย คือ ประชาชนเบื่อ จากตอนเริ่มใหม่ๆ ประชาชนเชียร์ เอ็นดูลูกหลานที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตยในการศึกษา เสรีภาพ ความคิด นอกจากนี้ นักศึกษาฝรั่งเศสที่ลุกขึ้นประท้วง มาด้วยความรู้สึกร่วมของนักศึกษาแท้ๆ ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่พอเหตุรุนแรงดำเนินไปเป็นอาทิตย์ ประชาชนไม่ได้หลับได้นอน กลางวันเดินในกรุงปารีสจะแสบจมูกจากควันแก๊สน้ำตาที่ตกค้าง ผู้คนเดินไปต้องเอาผ้าอุดจมูกไป บ้านเมืองเละเทะ ประชาชนที่เคยสนับสนุนกลับมาแอนตี้นักศึกษาที่ประท้วง ประกอบกับรัฐบาลมีการแก้ปัญหาด้านการเมือง ผลสุดท้ายการประท้วงก็ยุติ

แม้นักศึกษาจะประท้วงไม่สำเร็จ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง รัฐบาลนำประเด็นปัญหาที่ประท้วงมาแก้ไข มีการปรับการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย แก้ไขกฎหมาย ตำรวจปรับเปลี่ยนวิธีควบคุมม็อบ มีการปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่ให้เปิดกว้างขึ้น จากระบบเดิมเหมือนระบบจอหงวน คือ มีการปิดกั้นเป็นขั้นๆ ทุกคนพอจบมัธยม ต้องเรียนอีก 1 ปีเพื่อแบ่งสายจะว่าจะเรียนสายวิทยาศาสตร์ สายคณิตศาสตร์ และสายปรัชญา เช่น ใครจะไปเรียนอักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็เลือกเรียนสายปรัชญา ใครจะเรียนคำนวณ วิศวกรรมศาสตร์ ก็เลือกสายคณิตศาสตร์ จะเรียนฟิสิกส์ เคมี ก็เลือกเรียนสายวิทย์ จุดนี้เป็นด่านกั้นที่ผ่านยากมาก และไม่มีระบบเก็บคะแนน ถ้าปีนี้ไม่ผ่าน ปีหน้าสอบใหม่หมด เป็นสาเหตุให้คนไทยไม่อยากไปเรียนที่ฝรั่งเศส นักเรียนฝรั่งเศสที่ออกมาประท้วงเพราะไม่ต้องการระบบนี้ อยากได้ระบบแบบอเมริกัน คือเรียนสูงขึ้นเป็นขั้นๆ ไป

“ผมวาคีย์สำคัญของการประท้วงที่ต้องยุติไป คือประชาชนเบื่อหน่าย พอประชาชนไม่เข้าร่วม ก็ไม่มีเหตุผลให้เคลื่อนไหว”

หลังจาก ดร.สุเมธ เรียนจบปริญญาเอก และกลับประเทศไทยในปี 2512 แทนที่จะได้ทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ กลับต้องไปทำงานที่สำนกงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และแทนที่จะทำงานด้านพัฒนา กลับเป็นงานความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ประสบในช่วงที่ผ่านมา โดยถูกส่งไปไปอยู่ในส่วนงานวางแผนรับสงคราม เพราะก่อนปี 2512 เริ่มมีการก่อการร้ายในประเทศแล้ว และเหมือนจำลองเหตุการณ์ที่เคยปรากฏในเวียดนาม ในลาว ในเขมร มาปรากฏในไทย มีการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ ในป่าดงมีผู้ก่อการร้าย แล้วผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นเข้ามาแทรกซึมตามหมู่บ้าน ตามทฤษฎีป่าล้อมบ้าน บ้านล้อมเมือง เมืองล้อมนคร ยุคนั้นรัฐบาลจึงตั้ง กองวางแผนเตรียมพร้อม ขึ้นในสภาพัฒน์ และอีกหน่วยงาน ชื่อ กอง 6 ขึ้นกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อรับมือกับสงคราม โดยกอง 6 จะวางแผนเรื่องทหาร เรื่องการรบ ส่วนกองวางแผนเตรียมพร้อม ในสภาพัฒน์ จะดูแลเตรียมการด้านอื่นๆ เช่น กำลังคน เสบียง เป็นต้น

“ตอนที่เข้าไปทำงานใหม่ๆ เราจะทำตามอเมริกัน มีการส่งผู้เชี่ยวชาญมา ซึ่งอเมริกันไม่มีอะไร รบอย่างเดียว เป็นคาวบอย คอยชักปืน มาถึงก็เตรียมพร้อมเพื่อเผชิญสงคราม ต้องเตรียมคน สต็อกอาหาร เพื่อทำสงครามใหญ่เป็นเป้าหมายของแผน”

“ถึงจุดนี้ประสบการณ์ชีวิตตอนเด็กเริ่มกลับมาประสบการณ์ที่เจอที่เวียดนาม ที่ลาว คือ สงครามอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ บอกเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นผู้ก่อการร้าย แต่คนพวกนี้อยู่ที่ไหน เป็นใครก็ไม่รู้ มีแต่ชาวบ้าน แยกแยะไม่ออก เป็นสงครามกองโจร มากัน 4-5 คนวางระเบิด ตูมแล้ว แต่ไม่เห็นศัตรู เพราะมันซึมไปทั่วเหมือนเชื้อโรค ถ้าไม่เอกซเรย์ ทำเอ็มอาร์ไอ ก็ไม่เห็น แต่จะไปไล่ฆ่าเขา ซึ่งฆ่าใครก็ไม่รู้”

ดร.สุเมธ ทำงานที่สภาพัฒน์ได้ประมาณ 5 ปี เริ่มได้เลื่อนขั้นเป็นข้าราชการชั้นโท อายุ 35 ปี เริ่มเป็นผู้ใหญ่ และภาพที่เวียดนาม ลาว ฝรั่งเศส หวนกลับมาจนทำให้เห็นว่า ถ้ายังใช้วิธีแบบอเมริกัน คือทำสงคราม ไล่ฆ่าผู้ก่อการร้าย สุดท้ายก็จะมีจุดจบเหมือนเวียดนาม ลาว ที่ล่มสลายกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ การแก้ไขต้องเปลี่ยนแนวทางมาเป็น “พัฒนาเพื่อความมั่นคง”

เพราะปัญหาที่ชาวบ้านเข้าป่า เพราะไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้ต้องรุกป่า ทำผิดกฎหมาย ทำให้ไม่มีอาชีพ รวมทั้งคนอาศัยตามชายแดนก็ไม่มีสัญชาติ เป็นคนผิดกฎหมาย

“คนแรกที่ผมเดินเข้าไปพบ คือ พล.อ. สิทธิ เศวตศิลา สมัยนั้นท่านเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นคีย์ของเรื่องนี้ เป็นคนแรกที่เดินเข้าไปหา บอกว่า “ท่านครับ รบอย่างนี้ แพ้” แล้วจะทำอย่างไร คุณสิทธิถาม ผมบอกว่าต้องลงไปแก้ที่พื้นที่ เขาเอาป่าล้อมบ้าน เราต้องเข้าไปแก้ในป่าเลย เราเอาเมืองไปล้อมป่าอีกที เปลี่ยนสภาพให้เขาเป็นคนเมือง คุณสิทธิแกเร็ว genius จำได้ว่าพูดกัน 10 นาทีแกเข้าใจหมด แกบอก “อั๊วเอาด้วย” แล้วโชคดี อาจารย์ธานินทร์ (นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คุณสิทธิพาผมเข้าไปพูดด้วยกัน อาจารย์ธานินทร์เอาด้วย พอนโยบายเอาด้วย ประจวบกับได้เข้าคลุกคลีกับทหาร ทหารให้บรีฟ ให้ฟัง เพราะเราพูดจากประสบการณ์จริง ไม่ใช่จากตำรา บอกผมอยู่เวียดนาม 6-7 ปี ไม่ใช่ปีเดียว

สรุปคือพูดจนทหารรับ แล้วตอนนั้นเป็นช่วงทหารที่ bright หลายคน มี พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ตอนนั้นเป็นแม่ทัพภาค 2 มี พล.อ. พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นแม่ทัพภาค 3 ยุคนั้นเป็นระดับพันเอก ยังมี พล.อ. สายหยุด เกิดผล เป็นเสนาธิการ ผม…ข้าราชการชั้นโท กระจอกเลย แต่มีความคิด ความเข้าใจร่วม และโชคดี ระดับนโยบายเอาด้วย นายกฯ กับเลขาสภาความมั่นคงฯ เอาด้วย มีคุณอานันท์ ปันยารชุน อยู่กระทรวงการต่างประเทศที่ไม่เอาแนวอเมริกัน ขณะที่อเมริกันไม่รับระบบนี้ จะไล่ฆ่าอย่างเดียว เป็น cowboy economy คือใช้อาวุธ ส่งกำลังเข้ามา เราไม่เอา

“คุณอานันท์ถึงถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะสายเหยี่ยวเห็นว่าการสงบศึกหมายความว่าแพ้ แต่สายพิราบเห็นว่าต้องไปทางนี้ เป็นต่อสู้กันระหว่างสายเหยี่ยวกับสายพิราบ สุดท้ายเราชนะ”

ดร.สุเมธ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ถือว่าเป็นความสามารถ แต่เป็นโชคช่วย เพราะชีวิตที่ผ่านมาถูกออกแบบ ถูกลิขิต ให้ไปเห็นเหตุการณ์ก่อน ทั้งในเวียดนาม ลาว และฝรั่งเศส แล้วกลับเมืองไทย เพื่อเอาเหตุการณ์กับทฤษฎีที่เรียน มาบวกกัน เลยเห็นว่าไม่ใช่แล้ว คาร์ล มากซ์ บอกว่า…

คนจนถูกกดขี่ ถูกกดดัน ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยประโยคทองของมาร์กซ์ คือ สงครามจะเกิดขึ้นระหว่างคนมีกับคนไม่มี นี่คือคีย์ เป็นสาเหตุของโรค แล้วเราเอากระสุนไปไล่ยิงคนไม่มี แล้วเขามีขึ้นมามั้ย เอาระเบิดไปปาใส่ ไม่ได้ทำให้มีขึ้นมาได้ ไม่ได้รักษาอาการของโรค

หลังจากฝ่ายนโยบายและทหารยอมรับแนวคิด “การพัฒนาเพื่อความมั่นคง” ก็มีปรับเปลี่ยนงานในกองวางแผนรับสงครามใหม่ จากเดิมที่วางแผนเพื่อทำสงคราม ก็เป็นวางแผนพัฒนา มีการเปลี่ยนบทบาททหาร จากเดิมพกปืนเพื่อเป็นอาวุธฆ่าผู้ก่อการร้าย แบบที่อเมริกันทำในเวียดนาม ลาว ก็มาเป็นพกปืนไว้ป้องกันตัว บทบาทใหม่ทำให้ภายหลังเกิด “ทหารพัฒนา” ขึ้น และมีการกำหนดเป็นบทบาทหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ว่า ทหารนอกจากรบแล้ว ต้องมีบทบาทด้านการพัฒนาด้วย

จากนั้นก็มีโครงการเข้าไปให้ประชาชน มีการจัดสรรที่ดิน แจกที่ดิน ส.ป.ก. ให้คนละ 15 ไร่ ให้สัญชาติคนตามแนวชายแดน ดร.สุเมธ กล่าวว่า…

พอประชาชนมีที่นา มีกิน มีสัญชาติ มีแผ่นดินอยู่ในมือแล้ว คนเหล่านี้ก็จะปกป้องของที่มี เทียบกับอีกฝ่ายที่เอาความหวังมา เมื่อฟ้าทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่ต้องรอเป็นใหญ่ ต้องรอยึดอำนาจก่อนแล้วถึงจะได้ บางทีก็ไม่ได้ เพราะทุกอย่างส่งรัฐหมด แต่โครงการนี้บอกไม่ต้องฝัน พรุ่งนี้มาแจกเลย

โครงการนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 11 ปี จากปี 2512-2523 มีทั้งหมด 14 โครงการกระจายไปทั่วประเทศ มีการแจกจอบเสียมแทนอาวุธ มีรถแทรกเตอร์แทนรถเกราะ มีฝนหลวงแทนเครื่องบินทิ้งระเบิด คนที่เข้าป่าจึงทยอยออกมามอบตัว สุดท้าย ภายใต้คำสั่ง 66/2523 ทำให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ออกมา กลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ถือเป็นการยุติสงครามระหว่างคนไทยกันเอง

“คำสั่ง 66/2523 ให้อภัยหมด ต่อไปนี้ไม่ใช่โจร ไม่ใช่ผู้ร้าย ตามวิธีคิดเดิมแล้ว เป็นผู้กลับใจ ถัดมาเป็นผู้รวมพัฒนา ก็เริ่มตั้งหมู่บ้านขึ้นเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ พร้อมทั้งจัดสรรที่ดินให้”

ในระหว่างที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่เพื่อดึงคนออกจากป่า ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการปราบปรามนักศึกษา จนต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ดร.สุเมธ บอกว่า…

คนละเรื่องเดียวกัน คนละสาเหตุ

“เหตุการณ์ 6 ตุลาไม่ใช่ไอเดียคอมมิวนิสต์ แต่เป็นเรื่องเผด็จการทหาร นักศึกษาไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่ทหารที่ครองอำนาจอยู่ abuse อำนาจ (ใช้อำนาจในทางที่ผิด) เด็กก็ลุกขึ้นมา ซึ่งลุกแต่ในกรุงเทพฯ ขณะที่คอมมิวนิสต์อยู่นอกเมือง อยู่ในป่า คนละเรื่อง คนละ nature แต่เขาไปรวมตัวกันทีหลัง คือพอเกิดเรื่องปั๊บ ทหารก็กดดัน พวกนี้ก็หนีเข้าป่า เพราะไม่รู้จะหนีไปไหน เดิมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่ด้วยเหตุการณ์บังคับ เขาต้องไปพึ่งอะไรสักอย่าง พอเหตุการณ์สงบ ไม่เห็นมีใครไปเป็นคอมมิวนิสต์สักคน กลับไปเป็นนายทุน จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องดี เพราะพอนักศึกษาเข้าป่าก็ทำให้เห็นว่าของจริงคืออะไร เปลี่ยนใจหมด”

ดร.สุเมธ กล่าวว่า จากเดิมที่เคยคิดว่าไทยจะกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ต่อจากเวียดนาม ลาว เขมร ตามทฤษฎี domino effect ปรากฏว่าการใช้แผนพัฒนาความมั่นคงเป็นระยะเวลา 10 ปี ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่ไม่ล่มสลาย ขณะที่ พล.อ. เปรม จากแม่ทัพภาค ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และปี 2523 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และด้วยความจงรักภักดี จึงตั้งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ขึ้น แล้วเรียก ดร.สุเมธ มาพบ บอกว่า

“จบแล้ว งานในป่าให้คนอื่นทำได้ งานสร้างหมู่บ้านเพื่อรองรับคนออกจากป่าให้ใครทำก็ได้”

…แล้วให้ ดร.สุเมธ มาถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อ

“ชีวิตของผมถูกออกแบบมาให้ลงล็อกแบบนี้ โดยไม่ได้วางแผนมาก่อน ก็ออกจากป่า เมื่อมาถวายงานก็ต้องเข้าป่าอีก หนีไม่พ้น (หัวเราะ) เพราะงานพระเจ้าอยู่หัวท่านไม่ทำซ้ำซ้อนกับหน่วยราชการ ทรงไปที่ที่หน่วยราชการไปไม่ถึง ก็เป็นพื้นที่เดิมที่เคยทำ มันต่อเชื่อมกัน ชะตาชีวิตถูกลิขิตไว้ให้มาสานต่อ ต่อยอดงานเดิมเพื่อให้ความยากจนหมดสภาพลง”

อ่านต่อตอนที่ 2