ThaiPublica > คนในข่าว > “สุเมธ ตันติเวชกุล” ทางรอดยุคโควิด-19 เมื่อแรงงาน 5 ล้านกลับบ้าน ทำอย่างไรให้เขา “มีกิน”

“สุเมธ ตันติเวชกุล” ทางรอดยุคโควิด-19 เมื่อแรงงาน 5 ล้านกลับบ้าน ทำอย่างไรให้เขา “มีกิน”

16 กันยายน 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สุเมธ ตันติวชเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์,ที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) ได้ร่วมพูดคุย “เราจะรอดจาก COVID-19 ไปด้วยกัน” ผ่านคลับเฮาส์ จัดโดยกลุ่มพากันรอด เริ่มจากการนำหลักคิดพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้ ประกอบด้วยธรรมะ 3 ประการ คือ ประการแรก ให้ประมาณตนก่อน ก่อนจะทำอะไรต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประการที่สอง ให้ใช้เหตุผล ที่ต้องมาจากสติและปัญญา ถ้าไม่ใช้เหตุผลจากสติและปัญญา กิเลสจะนำทางเราแทน และประการที่สาม อย่าประมาท ข้อนี้ถือว่าเป็นภูมิคุ้มกัน

เริ่มจากทำอะไรให้ประมาณตนก่อน คือทำอะไรอย่าให้เกินตัว ทำอะไรต้องพอประมาณแก่ตน ข้อสังเกตคือ เราเคยสำรวจตัวเองไหม ทำอะไรอย่าให้เกินตัว เรารู้เกณฑ์ตัวเองไหม เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน พละกำลังไม่เท่ากัน ฐานะแตกต่างกัน ฉะนั้นจังหวะแรกคือประเมินตัวเองก่อน ถ้าบริหารองค์กร ก็ประเมินองค์กรตัวเองก่อน จะบริหารประเทศ ก็ประเมินประเทศก่อนว่าทุนรอนอยู่ตรงไหน มีเท่าไหร่ ให้รู้โจทย์ก่อน ประเมินทุนทั้งหมด พอรู้ทุนแล้ว ก็มีโจทย์ ประเมินแล้ว รู้ทุนแล้ว นักอุตสาหกรรมก็เตรียมลงทุน เกษตรกรก็เตรียมปลูกพืชผล

จากนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านบอกให้เอาเหตุผลเป็นเครื่องนำทางนะ เพราะถ้าไม่ใช้เหตุผลแล้ว กิเลสมันจะเข้าแทนทันที อย่างตอนคอนโดมิเนียมขายดี ก็สร้างกันเยอะแยะจนล้นตลาดเป็นแสนยูนิต เราชอบทำอะไรตามกระแส แต่ไม่ได้ศึกษาก่อนว่าตลาดเป็นอย่างไร ประเทศเราเหมาะสมจะทำกิจกรรมอะไร เพราะฉะนั้น ให้ใช้เหตุผลเป็นเครื่องนำทาง

“อย่างการทำการเกษตร ทำน่ะดี ใครมีที่ทางเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว อย่าละทิ้งนะครับ แต่ขอเตือนคนที่อยากเป็นเกษตรกร ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มายกร่องปลูกผักปลูกหญ้าได้ ถ้าใช้เศรษฐกิจพอเพียง ต้องประเมินก่อนเลยว่า ดินในที่ของเราเป็นประเภทไหน มีดินแล้ว ปัจจัยที่สองคือน้ำ ในแปลงมีน้ำเท่าไหร่ ถ้าขุดสระแล้ว สระขนาดนี้มีน้ำปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าขุดสระลึกมากแล้วจะใช้น้ำทั้งบ่อได้ ต้องประเมินให้ดี เพราะถ้าใช้น้ำหมด ตลิ่งจะพังได้ ต้องรักษาระดับน้ำไว้ยันตลิ่ง ซึ่งต้องมีความรู้พอสมควร”

“ผมเองไม่ได้รู้ด้านนี้ เพราะจบรัฐศาสตร์การทูต แต่ได้เรียนรู้จากพระเจ้าอยู่หัว บ่อลึกเท่าไหร่ น้ำมากเท่าไหร่ เราใช้ได้แค่ส่วนเดียว ต้องมีเซฟตี้ เพื่อรักษาบ่อไว้”

เมื่อรู้ปริมาณน้ำแล้ว ก็ต้องมาดูว่าจะปลูกพืชอะไร พืชแต่ละอย่างกินน้ำไม่เท่ากัน จะปลูกข้าวก็ต้องรู้ว่าข้าวกินน้ำมากกว่าพืชอื่น 10 เท่า จะมีน้ำพอไหม ถ้าพอก็ปลูกเลย แต่ถ้าเป็นน้ำในสระไม่พอปลูกข้าว ก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นแทน รวมทั้งจะผลิตเพื่อขายหรือเปล่า หรือผลิตเพื่อกิน ถ้าผลิตเพื่อขายก็ต้องดูต้นทุน ดูตลาดว่าต้องการอะไร

“พระองค์ท่านสอนวิธีคิด แม้กระทั่งการเกษตรก็ต้องมีวิธีคิดเป็นระบบอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้แล้วอยู่รอดตลอด คือขบวนการสังเคราะห์ด้วยสติ ปัญญา จะเป็นวงจรที่ต้องหมุนอยู่ตลอดเวลา มนุษย์มันยิ่งใหญ่ตรงนี้”

สำหรับคนที่ทำงานเอกชน กลุ่มมนุษย์เงินเดือน ก็ผ่านกระบวนการธรรมะ 3 ประการนี้เหมือนกัน คือ มนุษย์เงินเดือนก็อยากได้เงินเดือน ก็ต้องประเมินว่า งานที่ทำไปด้วยการลงทุนคือเอาแรงงานไปแลกนั้น ต้องประเมินว่า เงินเดือนที่ได้กลับมาคุ้มไหม ต้องประเมินความรับผิดชอบว่ามีมากน้อยแค่ไหน ต้องวางแผนกำกับการใช้เงิน และต้องมองอนาคตด้วยว่า งานที่ทำจะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นอย่างที่คิดหรือไม่ ได้เงินเดือนเพิ่มไหม ถ้าไม่มีทางเป็นไปได้ ก็ต้องวางแผนไปทำอย่างอื่น ตัวอย่าง หมอหลายคนไปทำเรื่องเครื่องมือแพทย์ที่ได้จากนวัตกรรมใหม่ๆ ดีกว่า ร่ำรวยกว่า แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่ามีพื้นฐานความรู้หรือไม่ สรุปคือต้องประเมินตลอดเวลา

ปลูกผักปลอดสารเคมีความสุขพอเพียงของ “จุรีพร อยู่พัฒน์” ที่มาภาพ : https://thaipublica.org/2021/06/scg-learn-to-manage-water-pr/

  • “ใต้แล้ง” จุดเปลี่ยนบ้านถ้ำใหญ่ เรียนรู้จัดการน้ำ พลิกชีวิตสู่ “เลิกแล้ง เลิกจน”อย่างยั่งยืน
  • สำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้นความเสี่ยงสูงมาก การแพร่ระบาดของโรคโควิดทำให้ชัดเจนขึ้นว่า ขณะนี้มีคนต้องออกจากธุรกิจกลับบ้านถึง 5 ล้านคน เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า ทำไมตลอดระยะเวลา 40 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงพยายามสร้างบ่อน้ำ สร้างดิน สร้างผลผลิต ฝังอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เพราะพอมนุษย์เงินเดือนกลับไปบ้าน ความทุกข์มันทุเลาลงไปเลย ด้วยคำสั้นๆ คือ “มีกิน” กลับบ้านแล้วมีกิน เทียบกับข่าวต่างประเทศ บางประเทศ คนของเขากำเงินอยู่ มีเครดิตการ์ด มีอีแบงกิง แต่ชั้นวางของว่างเปล่า ไม่มีอะไรกิน

    แต่บ้านเรา กลับบ้านมีกิน ความทุกข์มันทุเลาหายไปครึ่ง บ้านเมืองเราจึงได้เปรียบตรงนี้ แต่เราไม่ค่อยใส่ใจ เราทำลายปัจจัยการผลิตจนหมด น้ำเน่า อากาศเสีย ดินเสีย ผักหญ้ากินไม่สนิทใจเพราะกลัวสารเคมี

    สำหรับธรรมะที่ 3 คือ ให้มีภูมิคุ้นกัน เพราะไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น อย่างช่วงนี้โรคโควิดระบาด แต่เมื่อ 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา มีใครเคยคิดไหมว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครนึกว่าอยู่ดีๆ โรคนี้จะเกิดขึ้น โรคที่สามารถหยุดเครื่องบินได้ทั้งท้องฟ้า หยุดรถไฟ หยุดรถ หยุดชีวิตเราหมดเลย ทุกคนต้องตั้งการ์ดจนถึงเวลานี้ ฉะนั้นต้องเตรียมการณ์ไว้ก่อน หากมีอะไรเกิดขึ้น ความพร้อมและมีสติ เหมือนเรื่องพระมหาชนก พอพายุมา พระมหาชนกประเมินสถานการณ์ก่อนเลย ประเมินเสร็จก็พบว่าเรือล่มแน่ ก็เอาน้ำมันมาทาตัวเพราะรู้ว่าต้องแช่น้ำอยู่นาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเล่า พระองค์ท่านเล่าหลายเรื่องแบบสอดคล้องแล้วอธิบายโยงกันหมดเลย

    ฉะนั้นทุกคนต้องมีภูมิคุ้มกันอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีอะไรมากระทบจะได้เบาแรงขึ้น อย่างน้ำท่วม ถ้าป้องกันไว้ก่อน หาทางระบายน้ำที่ดี เหตุการณ์ก็จะทุเลาลงไป

    ดร.สุเมธกล่าวว่า นอกจากธรรมะ 3 ประการแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงแถมเงื่อนไขอีก 2 ข้อ คือรอบคอบรอบรู้ และระมัดระวัง ในคำจำกัดความเศรษฐกิจพอเพียง 13 บรรทัด พระองค์ท่านเตือนเรื่องความเปลี่ยนแปลงถึง 3 ครั้ง พระองค์ท่านให้ระวังความเปลี่ยนแปลงว่า เร็วมาก จนไม่ทันได้ตั้งตัวกัน และจะเปลี่ยนทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง การค้า มันจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นต้องเตรียมพร้อมในการเผชิญ ต้องรอบรู้รอบคอบ ตาม globalization (โลกาภิวัตน์) ให้ทัน ไม่ใช่ให้ตาม globalization แต่ต้องให้ทัน บางครั้งถ้ามันไม่ดีกับเรา ก็ต้องหนี เป็นต้น

    “สุดท้าย แน่นอนที่สุด พระองค์ท่านให้ซื่อสัตย์สุจริต อย่าโกง อย่าคอร์รัปชัน วันนี้ยอมรับไหมว่าคอร์รัปชันทำให้เราบอบช้ำมาก ทั้งบ้านเมือง สังคม เศรษฐกิจ ไม่ดีเท่าที่ควร ทุกเมื่อเชื่อวันเราได้ยินแต่เรื่องราวเหล่านี้ทุกวงการ น่าเศร้านะครับ เท่าที่ผมเรียนจากพระองค์ท่าน 35 ปี ไม่เคยเห็นพระองค์ท่านจะกริ้ว หรือทรงมีพระอารมณ์เท่าวันที่ท่านออกมาแช่ง “ใครทุจริตแม้นิดเดียว ขอให้มีอันเป็นไป” คงจะจำกันได้ และทรงรู้พระองค์ ทรงรับสั่งว่าพูดอย่างนี้หยาบคาย แต่ก็ต้องพูด”

    ดร.สุเมธกล่าวว่า การที่โจทย์ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ทุนไม่เท่ากัน เกิดมาไม่เหมือนกัน การกลับสู่บ้านเกิด กลับไปสู่ดิน ของมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ต้องมีความขยัน ต้องใช้เวลา และความอดทนพอสมควร เพราะมันเหนื่อย แต่ความสุขจะค่อยๆ เกิด

    “ทราบว่า มีเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่ง 15 คน ทำงานบริษัทได้ไม่นาน ได้ออกมารวมตัวกัน บอกว่าเบื่อแล้วชีวิตมนุษย์เงินเดือน เดี๋ยวบริษัทล้มไปก็ตกงาน กลุ่มนี้เขารวบรวมเงินกันได้ก้อนหนึ่งไปซื้อที่แปลงหนึ่งที่มหาสารคาม เพื่อกลับไปสู่ดิน ผมอยากเจอกลุ่มนี้มาก เพื่อจะได้ไปคอยแนะนำ”

    ดร.สุเมธเชื่อว่า สำหรับประเทศไทย การเกษตรต้องเป็นหลัก และอยากฝากไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ควรสร้างโครงการสตาร์ตอัปให้กับคนที่เรียนจบสาขาเกษตร แทนที่จะออกไปเป็นลูกจ้างอย่างเดียว ซึ่งเวลานี้สาขาเกษตรที่เคยมีคนเรียนลดน้อยลง แต่ก่อนเกิดโรคโควิด พบว่ายอดคนมาเรียนเกษตรเพิ่ม 30%

    ตัวอย่างที่ญี่ปุ่น เขาอยากได้ครู อาจารย์ กลับบ้านต่างจังหวัด เขาจัดสินเชื่อระยะยาวให้ ไม่คิดดอกเบี้ย ไปซื้อแทร็กเตอร์ ซื้อเครื่องมือทางการเกษตร รวมทั้งยังกลับเข้าเมืองไปสอนหนังสือได้อาทิตย์ละ 2-3 วัน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อมีอาจารย์มาอยู่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านมีปัญหาอะไรก็จะไปถาม เพราะมีที่พึ่ง นี่คือวิธีการดึงคนกลับบ้านที่น่าจะนำมาใช้ในไทย ให้สินเชื่อกับอาจารย์ที่อยากกลับบ้าน และปัจจุบันเครื่องมือสำหรับการทำเกษตรราคาเริ่มถูก เช่น โดรนสำหรับกระจายเมล็ดพันธุ์ โซลาร์ปั๊มที่ราคาไม่แพง ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ พระอาทิตย์ขึ้นก็ปั๊มน้ำเข้าถังเก็บน้ำก่อนนำไปรดต้นไม้ เป็นต้น

    หรือกรณีโครงการของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงเริ่มโครงการเอาวิชาการด้านเกษตรเข้าไปอยู่ในค่ายทหาร โดยให้ทหารเกณฑ์ นอกจากฝึกทหารแล้ว ใครชอบปลูกผัก ก็ไปเรียนปลูกผัก ใครชอบเลี้ยงปลา ก็เรียนเรื่องปลา ที่จะสอนหมดตั้งแต่วิธีการผสมพันธ์ปลา ใครสนใจสัตว์ปีก เลี้ยงไก่ ก็ไปเรียน ทำให้เวลานี้ค่ายทหารทุกค่าย ค่ายตำรวจด้วย กลายเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ แหล่งผลิตพืชผักขนาดใหญ่ ซึ่งพอโรคโควิดระบาด ทุกเช้าทหารจะแพ็กผักขนไว้ในรถยีเอ็มซี วิ่งตระเวนตามหมู่บ้าน และพอทหารเกณฑ์เหล่านี้ปลดประจำการ ทางโครงการจะมอบชุดการเกษตรให้คนละ 10 ชุด มีทั้งเมล็ดพันธุ์ และอื่นๆ สามารถกลับบ้านไปทำการเกษตร ชุดเกษตรที่ให้ไปสามารถชักชวนเพื่อนมาทำด้วยอีก 10 คน เป็นการฝังแหล่งอาหารไว้ตามหมู่บ้าน เป็นความมั่นคงทางอาหาร (food security)

    อ่างเก็บน้ำห้วยทา ที่มาภาพ : https://thaipublica.org/2020/07/scg-108-project-against-drought-bannoontoomtaworn/

  • แล้งนี้จัดการได้ที่ “บ้านโนนตูมถาวร” ศรีสะเกษ สู่การจัดการน้ำครบวงจร กับตำนานทุเรียนภูเขาไฟ
  • สำหรับความกังวลปัญหาเรื่องน้ำจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ดร.สุเมธกล่าวว่า กังวลไปก็เท่านั้น ควรเปลี่ยนน้ำให้เป็นทุน ต้องปฏิบัติให้ได้ดีกว่า

    เวลานี้ เมื่อฝนตกจะกลัวน้ำท่วม มีการระบายน้ำออกสู่ทะเล แทนที่จะคิดเก็บน้ำ ชาวบ้านเองอาศัยน้ำในเขื่อนเป็นหลัก ราชการก็ปล่อยน้ำจากเขื่อนออกมา ประเด็นคือ ปล่อยเท่าไหร่จะพอ

    ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านสอนให้ช่วยตัวเองก่อน ในที่ดินของแต่ละรายให้มีสระ เหมือนมี saving account (บัญชีออมทรัพย์) มีน้ำของตัวเอง อย่างบ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี ที่ดินทุกแปลงจะขุดสระไว้หมด จนเวลานี้ปริมาณน้ำในสระรวมกันแล้วมากกว่าน้ำในเขื่อนอีก ทำให้ทุกคนไม่เดือดร้อน น้ำท่วมก็ปล่อยท่วมไป พอน้ำลด ก็มีน้ำตกค้างอยู่ในสระ เทียบพื้นที่ที่ไม่มีสระ น้ำจะถูกไล่ลงทะเลหมด แล้วก็นั่งรองบน้ำท่วม เสร็จแล้วก็มีงบน้ำแล้งมา ฉะนั้น ควรมีสระเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ รอจนเดือนพฤษภาคม มิถุนายน ปีหน้า ฝนมา น้ำก็จะกลับมาใหม่ แต่เราไม่มีวงจรแบบนี้ และคาดเดาไม่ได้ว่าฝนจะตกตอนไหน ตกที่ไหน แต่ถ้ามีความพร้อม มีสระ ตกที่ไหนก็เก็บสำรองไว้ พอใช้ถึงฤดูฝนปีหน้า

    “สมัยหนึ่งมีการสร้างคอนโดมิเนียมกันเยอะ มีการขุดดินขาย ทำให้ในกรุงเทพฯ มีบ่อลูกรังมากมาย วันหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับผมว่า ให้นำเงินมูลนิธิชัยพัฒนาไปซื้อบ่อลูกรังพวกนี้ให้หมด ถามว่าซื้อมาทำไมพระเจ้าค่ะ ท่านรับสั่งว่า เวลาน้ำมาจะได้เก็บไว้ให้หมด แต่ว่าซื้อไม่ลง เพราะขนาดขุดจนไม่มีดินแล้ว เห็นก้นบ่อลึกมาก แต่ราคาซื้อไม่ไหว สุดจะสู้ราคา โครงการนี้เลยไม่สำเร็จ ได้มาที่เดียวบริเวณคลอง 5 คลอง 6 จำนวน 3 พันไร่ เป็นสระน้ำใหญ่ ช่วยให้แถวปทุมธานี เวลาแล้งขึ้นมา ภาคเกษตรได้น้ำสระนี้ช่วยได้จนถึงฤดูฝนหน้า ถ้าเราสร้างสระแบบนี้ไว้เป็นจุดๆ กระจายไปทั่ว ก็จะทุเลาความทุกข์ได้”

  • ไทยขาดน้ำจริงหรือ “ดร.สุเมธ” ชี้ ฝน 100 หยด เก็บได้ 3 หยด อย่างไรก็ไม่พอ
  • สุเมธ ตันติเวชกุล เปิดสถานีสาสบหก “แทงก์น้ำของชุมชน” ตัวอย่างการจัดการน้ำที่ยั่งยืน
  • เอสซีจี จับมือเครือข่าย ชู “เลิกแล้ง เลิกจน” โมเดล ชุมชนมีน้ำกิน-ใช้ รายได้เพิ่ม อาชีพมั่นคง
  • “ปราโมทย์ ไม้กลัด” ตอบโจทย์น้ำแล้ง น้ำท่วมและโครงการ 3.5 แสนล้าน…”รัฐบาลหลงทาง”
    • เอาน้ำมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

      ในการสนทนาตอนหนึ่ง ดร.สุเมธที่ให้ความสำคัญกับน้ำ มีการพูดถึงการใช้น้ำเป็นทุน โดยอธิบาย หลักการของการใช้น้ำเป็นทุน ว่า ปัจจุบันการพิมพ์ธนบัตร จะมีค่าได้ต่อเมื่อมีของรองรับ คือ มีทองคำมารองรับ ฉะนั้นพิมพ์ธนบัตรออกมาจำนวนเท่าไหร่ต้องมีทองคำรองรับ

      “ทีนี้ระยะหลังทองคำมันไม่พอ ธนบัตรก็พิมพ์ออกมาเยอะแยะ สหรัฐฯ ก็พิมพ์ออกมามาก นักเศรษฐศาสตร์ก็เลยคิดใหม่ ย้อนมาที่ฐานความจริง ต่อไปนี้ไม่ต้องเอาทองคำมารองรับ แต่ให้เอาความสมบูรณ์ของทรัพยากรแต่ละประเทศมารองรับ ใครมีทรัพยากรที่สมบูรณ์เท่าไหร่ก็ทำให้ของสมมตินั้นมีคุณค่าขึ้นมาเท่านั้น บวกกับขีดความสามารถในการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ขึ้นกับระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ฉะนั้น เวลานี้ แนวคิดนี้ตรงกับที่หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งการเกษตรไทย กล่าวไว้ว่า เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

      พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่ง “น้ำคือชีวิต” จะทำเกษตรต้องประเมินก่อนว่า ที่ดินในแปลงมีน้ำปริมาณเท่าไหร่ เพราะถ้ามีดิน แต่ไม่มีน้ำก็ทำอะไรไม่ได้ โจทย์หลักต้องดูน้ำก่อนว่ามีเท่าไหร่ มีแค่นี้จะทำอะไรได้ เพราะแต่ละกิจกรรมกินน้ำไม่เหมือนกัน เลี้ยงสัตว์ก็แบบหนึ่ง ปลูกผักก็อีกแบบหนึ่ง ปลูกข้าวใช้น้ำมากที่สุด 10 เท่าเทียบกับพืชอื่น ประเมินให้สอดคล้องกับทุนที่มีอยู่ ถ้าบริหารอย่างนี้ ก็เท่ากับบริหารทุน แต่แทนที่จะคิดถึงทุนที่เป็นเงิน ก็เอาปัจจัยจริงๆ นี่แหละมาคำนวณ ถ้ามีทุนดินเท่านี้ ทุนน้ำเท่านี้ ควรจะผลิตอะไร เช่น อยากปลูกทุเรียน เพราะรายได้เยอะ แต่กว่าจะได้ผล 5 ปี ระหว่าง 5 ปีวางแผนหรือไม่ว่าจะทำอะไร ระหว่าง 5 ปีมีอะไรมาแทรกก่อนไหม เพื่อเก็บกินระหว่างรอผลทุเรียน เป็นต้น