ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน : “ทนง พิทยะ” มองญี่ปุ่นสะท้อนไทย (จบ)

บันทึกภาคประชาชน : “ทนง พิทยะ” มองญี่ปุ่นสะท้อนไทย (จบ)

27 พฤศจิกายน 2021


เสาวรส รณเกียรติ รายงาน

ดร.ทนง พิทยะ

ต่อจากตอนที่1

การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยยังมีความแตกต่างจากประเทศญี่ปุ่นอีกหลายด้าน เริ่มจากผู้นำประเทศ ที่ ดร.ทนง มองว่า ลึกๆ วิสัยทัศน์ของผู้นำไทยกับผู้นำญี่ปุ่นคงไม่ต่างกันมาก

แต่ที่ต่างกันคือ สังคมญี่ปุ่นผลักดันให้ผู้นำประเทศต้องยอมรับวิสัยทัศน์ของนักธุรกิจ แต่ผู้นำไทยพยายามผลักดันให้นักธุรกิจยอมรับวิสัยทัศน์ของผู้นำ นี่คือปัญหาใหญ่

ต่อมา คือ เรื่องของพนักงาน บริษัทญี่ปุ่นดูแลพนักงานประหนึ่งเป็นคนในครอบครัว ทำให้คนรักบริษัท บริษัทญี่ปุ่นในไทยถึงเจริญทั้งที่เงินเดือนไม่สูง น้อยกว่าคนทำงานบริษัทไทยด้วย แต่มีความสุข เพราะพนักงานเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว มีการสร้างความสัมพันธ์ การดูแลร่วมกัน ไปจนถึงการดูแลคุณภาพการผลิต ปรับปรุงคุณภาพสินค้าด้วยกัน มีการให้กำลังใจตลอดเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

ขณะที่บริษัทไทยใช้ระบบตะวันตก เห็นพนักงานเป็นทาส โยนงานให้ทำ มี job description (หน้าที่รับผิดชอบตามตำแหน่งงาน) ถ้าไม่ทำจะถูกไล่ออก ส่วนประเทศตะวันตกแม้จะใช้ระบบนี้ แต่คนไม่ยอมเป็นทาส เพราะเขาเก่ง ตลาดมีขนาดใหญ่พอ ก็ลาออกไปทำงานที่อื่น แต่คนไทยถ้าลาออกไป อดตาย เลยยอมเป็นทาสต่อ

นอกจากนี้ คนไทยเชื่อแบบง่ายๆ ว่าปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน แต่กลไกตลาดมันไม่ทำงาน ตลาดเมืองไทยถูกแบ่งเป็นเซกเมนต์แยกกัน ใครมีอิทธิพลในเซกเมนต์ไหนก็คุมตลาด มีการผูกขาด การแข่งขันไม่เกิด

“การเปิดเสรี ต้องมีกติกา ง่ายๆ คือ คนในประเทศต้องดูแลให้มีการแข่งขันกัน แต่ถ้าแข่งกับต่างประเทศ ต้องดูว่าทำอย่างไรให้เขา(นักลงทุนไทย)ออกไปแข่งได้ คือ อะไรที่ผลิตและพัฒนาเพื่อคนในประเทศ ต้องให้มีการแข่งขันมากที่สุด ต้องกำจัดอิทธิพล แต่อะไรที่แข่งกับโลก ต้องสนับสนุนให้มากที่สุด ต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกให้ไปสู้กับโลก”

จุดนี้เราแบ่งไม่เป็น ตลาดในประเทศต้องพัฒนาให้สู้กัน โอทอปจึงมีความหมาย เกษตรกรเอาสินค้ามาสู้กัน เกิดเอสเอ็มอี แต่ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเอาสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าบริโภคในประเทศมาแข่งขัน ซึ่งขณะนี้มีจุดให้แข่งขันแล้ว เพราะมีการค้าออนไลน์เกิดขึ้น ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีขายออนไลน์ให้เป็น ต้องฝึกวิธีการขายออนไลน์ให้เอสเอ็มอีทุกบริษัท เอสเอ็มอีไทยเก่งมาก แต่ว่าไม่ขยับเพราะมีอุปสรรค

“ตัวอย่าง เราเคยพยายามพัฒนาเอสเอ็มอี และรู้ว่าเอสเอ็มอีมีจุดอ่อน 2-3 จุด คือการบริหารจัดการในบริษัทตัวเองให้มีประสิทธิภาพ มีการเก็บสินค้า อะไหล่ เยอะมาก เหมือนร้านโชห่วย อย่างร้านขายวัสดุก่อสร้าง จะเห็นว่ารกไปหมด แต่ร้านในญี่ปุ่นไม่รก ฉะนั้น จะช่วยเขาบริหารอย่างไร สอนอย่างไร จุดที่สองคือ เรื่องเงิน ต้นทุน จะลดต้นทุนอย่างไร จุดที่สามคือตัวเขาเอง ทำอย่างไรจะเข้าสู่ตลาดได้ เวลานี้เขาเข้าสู่ตลาดอยู่แล้ว แต่เป็นตลาดในพื้นที่รอบๆ ในร้านรกๆ เขาพอใจแค่นั้น ไม่อดตาย แต่ไม่โต พอเกิดวิกฤติขึ้นก็เจ๊ง ลุกไม่ขึ้น เป็นหนี้ เพราะไม่สามารถเติบโตได้ ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจตัวเองได้”

ดร.ทนง เล่าว่า ปัญหาที่เกิดกับเอสเอ็มอีของไทย ทำให้เคยคิดจะนำวิธีการบริหารจัดการของญี่ปุ่นมาช่วยสอนเจ้าของเอสเอ็มอี เพื่อให้เข้าใจเรื่องการบริหาร ตั้งแต่การดูแลวัสดุคงคลัง การจัดระเบียบสินค้า ระบบบัญชี การเงิน มีการทดลองสอนอยู่ 200 ราย จากนั้นก็เสนอรัฐบาลว่า ควรทำต่อเนื่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งประเทศ โดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (สสท.) พร้อมที่จะให้ญี่ปุ่นไปฝึกอบรมให้

จากนั้นก็มีการเปิดประมูล สสท. ก็เข้าไปร่วมประมูล รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ สุดท้าย สสท. ถูกเตะทิ้งทั้งที่เป็นคนเริ่มต้น เพราะราคาค่าอบรมถูกกว่าคนอื่นครึ่งหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การพัฒนาประเทศมีอุปสรรคทุกขั้นตอน เกิดได้จากทุกด้าน ทั้งจากนักธุรกิจด้วยกันที่ขัดขากันเอง เกิดจากหน่วยงานในรัฐต้องการคอร์รัปชัน ต้องการผลประโยชน์ ตั้งแต่เริ่มต้นงบประมาณ ก็แย่งกันว่าใครจะได้

ขณะที่ญี่ปุ่นจะพึ่งนักธุรกิจ จะมีการเรียกนักธุรกิจมาประชุมหารือว่า รัฐบาลจะทำอย่างนี้ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และไม่มีการคอร์รัปชันงบประมาณ มีแต่วิธีการจัดสรรงบประมาณ ว่าควรจัดสรรงบให้บริษัทต่างๆ อย่างไร แล้วพยายามเขียนทีโออาร์ โดยแบ่งเป็นบริษัทออกเป็นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก แล้วจัดงบส่วนนี้ให้บริษัทขนาดใหญ่ ส่วนนี้ให้บริษัทขนาดกลาง ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัทที่มีขนาดเดียวกัน รวมทั้งมีแรงจูงใจให้ออกไปสู้กับโลก เช่น บริษัทไหนได้งานในไทยจะได้งานเพิ่มในญี่ปุ่น ทำให้มีการขยายอาณาจักรเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกไป เพราะจะสู้กับโลก หรือแต่ก่อนญี่ปุ่นค้าขายไม่เก่ง ก็ตั้งเจโทรขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานช่วยบริษัทญี่ปุ่นค้าขายในตลาดโลก ทำให้มีเจโทรตั้งอยู่ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย ดร.ทนง เห็นว่า พยายามทำแบบเดียวกับญี่ปุ่น แต่ปัญหาคือ มีการวิ่งเต้น ซึ่งก็ยังสามารถแก้ไขได้…

แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกที่รุนแรงทำให้ธุรกิจไทยเริ่มอยู่ไม่ได้ หรือสินค้าเกษตรที่ราคาจะอิงกับตลาดโลกที่ขึ้นลงตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมได้ และยังเป็นสินค้าขั้นปฐม ซึ่งอันตราย เพราะประเทศที่ส่งออกสินค้าขั้นปฐมในโลกล้วนเป็นประเทศยากจน ทำให้ประเทศไทยที่แม้รายได้ของประเทศจะขึ้นมาสู่ระดับปานกลางแล้วแต่ยังขายสินค้าเกษตรขั้นปฐม และไม่มีการพัฒนา

“เราต้องจัดการตั้งแต่ในชุมชน สินค้าโอทอป มีการดูแลระบบจัดเก็บ ยุ้งฉาง ดูแลการตลาด ตัวอย่างลูกชาวนาคนหนึ่ง พอเจอโควิดก็กลับไปบ้าน แล้วก็เห็นพ่อแม่เก็บข้าวหอมมะลิที่สีแล้วไว้ในยุ้ง แล้วรอคนมาซื้อ มีถึง 7-8 หมื่นกิโลกรัม เด็กคนนี้ขอซื้อข้าวจากพ่อแม่ แล้วซื้อเครื่องบรรจุข้าว เอาข้าวใส่ถุง แล้วทำ TikTok ขายข้าว ตอนนี้ขายข้าวไม่เหลือ ขายออนไลน์ รวยเลย วิทยาการเหล่านี้เป็นการเข้าสู่ตลาดในประเทศและตลาดโลก”

ฉะนั้น วิสาหกิจชุมชนสร้างได้จากวิทยาการ การจัดการง่ายๆ เทียบกับโรงสีข้าวหลายแห่งที่รอพ่อค้าคนกลางมาซื้อ แล้วจะขายใครเป็น แต่เด็กคนนี้ใช้โทรศัพท์เป็น ทำ TikTok ขายข้าว

ถึงบอกว่าองค์ความรู้เหล่านี้ ถ้าใช้เป็น สร้างรายได้ได้ ประเทศไทยมีสินค้าหลายอย่างดีมาก แล้วการค้าออนไลน์ในไทยโตเร็วมาก ปีละ 40-50% ระดับรุ่นลูกเริ่มขายออนไลน์เป็น แต่เอสเอ็มอีสำคัญๆ ยังทำไม่เป็น ยังสนใจตลาดใกล้ๆ บ้าน ไม่ค่อยยอมทำ

แล้วไม่มีกระทรวงไหนที่เข้ามาช่วย กระทรวงดิจิทัลก็ไม่ทำ กระทรวงเศรษฐกิจในประเทศไทยมีจุดอ่อน คือตั้งขึ้นเพื่อทำงานเฉพาะกิจ ประสานงานกันไม่ได้ ถึงเวลาต้องให้นายกฯ สั่ง

“ในญี่ปุ่นก็เจอปัญหาแบบเดียวกันกับไทย แต่เวลาเจอปัญหา สมมติตอนญี่ปุ่นขาดพลังงาน จะตั้งรัฐมนตรีพลังงานในสำนักนายกรัฐนตรี มีอำนาจสั่งการทุกอย่าง ทำงานจนปัญหาด้านพลังงานหมดไป หรือตอนจะพัฒนาคอมพิวเตอร์แข่งกับตลาดโลก ญี่ปุ่นตั้งอธิบดีมาดูการพัฒนาคอมพิวเตอร์เพื่อแข่งกับไอบีเอ็ม อธิบดีคนนี้ก็ไปเฟ้นหาบริษัท ในที่สุดเลือกฟูจิสึมาปั้นแข่งกับไอบีเอ็ม จะทำอิเล็กทรอนิกส์ ก็ดันโซนี่ขึ้นมาสู้กับโลก คือต้องหาบริษัทในประเทศที่มีวิทยาการและพร้อมจะสู้กับโลก แล้วสนับสนุนเต็มที่ เช่น งบวิจัย”

ในด้านการเมืองนั้น ดร.ทนง มองว่า การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าท้าทาย ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่วัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ยังมีข้อจำกัดในการมองปัญหาหรือวิเคราะห์ปัญหา โดยเฉพาะการมุ่งแก้ไขมาตรา 112 เป็นการแก้ไขผิดประเด็น

“ผมมองว่า ประเด็นที่ต้องแก้ไข คือ การสร้างระบบประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ไม่ใช่ระบอบทักษิณ และไม่ใช่ระบอบทหาร หัวใจสำคัญคือยังไม่มีใครกล้าบอกว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยที่แท้จริงควรจะเป็นอย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยที่ผ่านมาไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์ของประชาชน ทำให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างผู้นิยมระบอบตะวันตกกับผู้ที่นิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งสองฝ่ายบอกต้องมีการพัฒนาประชาธิปไตย แต่วิธีการไม่ตรงกัน”

แล้ววิธีการอะไรที่รองรับได้ทั้งสองฝ่าย ดร.ทนง มองว่า ถ้าดูบทเรียนจากประเทศญี่ปุ่น ที่โชกุนโตกุกาวะออกระเบียบมาปกครองญี่ปุ่นมานานถึง 200 ปี ขณะที่จักรพรรดิญี่ปุ่นไม่มีอำนาจแต่มีบารมี แต่เมื่อรุ่นเหลนของโชกุนโตกุกาวะเริ่มหมดอำนาจ เริ่มมีปัญหา เพราะอเมริกาเอาเรือรบมาที่โยโกฮามา บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ หากใครได้ดู The Last Samurai ภาพยนตร์ที่สะท้อนเหตุการณ์ดังกล่าวที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่น จะเห็นว่า แคว้นต่างๆ ที่แข็งข้อกับโชกุนที่อ่อนแอ และหันมาสนับสนุนจักรพรรดิเมจิให้มีอำนาจ และเป็นประธานในการเจรจากับชาติตะวันตก ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ยอมทำเปิดประเทศตามข้อเสนอของชาติตะวันตก

“ใน The Last Samurai มีประโยคที่ผมประทับใจมาก จักรพรรดิเมจิบอกว่า เราจำเป็นต้องเปิดประเทศให้ชาติตะวันตกเข้ามา เพราะเราล้าหลังในแง่วิทยาการ เราจำเป็นต้องเรียนรู้วิทยาการต่างๆ มีการส่งนักศึกษาไปเรียนที่อเมริกา ยุโรป เยอรมัน และกลับมาเขียนตำราเต็มไปหมด”

คำพูดสำคัญของจักรพรรดิเมจิ คือ เราจำเป็นต้องรับวิทยาการตะวันตก แต่เราต้องไม่ลืมรากเหง้าของญี่ปุ่น นี่คือความคิดที่ญี่ปุ่นรักษาวัฒนธรรมตัวเองได้ มีการพัฒนาองค์ความรู้จากคนอื่น จากการที่สังคมเขามีระบอบเขาเอง

ประเด็นคือ คนรุ่นใหม่ต้องตีความประชาธิปไตยของไทย ไม่ใช่คิดจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน วัฒนธรรมไทยที่ดีก็มี กติกาที่ดีก็มี ก็สร้างกติกาต่อยอดจากสิ่งที่ดี เรามีสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนเป็นประชาธิปไตยที่มาจากชาติตะวันตก แล้วเกิดขัดแย้งกัน ทำอย่างไรทั้งสองค่ายอยู่ร่วมกันได้ คนไทยต้องสร้างอุดมการณ์การอยู่ด้วยกัน ถ้าประชาชนทำ ก็หยุดความขัดแย้งได้ ตอนนี้คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า อุดมการณ์ไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นปัญหาระบบการศึกษา ระบบการคิด

แต่โลกจะเปลี่ยนได้ ต้องมีผู้นำที่เก่งมากทุกประเทศ ไม่ใช่เรื่องระบอบประชาธิปไตย รัสเซียอยู่ได้เพราะวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเก่งมาก ประเทศจีนอยู่ได้เพราะประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เติ้งเสี่ยวผิง ส่วนไทยมีแต่การผลัดกันเอาผลประโยชน์ แต่อยู่ได้เพราะผลประโยชน์มากพอ ทำให้ยังไม่ถึงขั้นทะเลาะกัน เกิดสงคราม แต่ไม่มีผู้นำที่จะให้ประชาชนสร้างอุดมการณ์ที่ตรงกันได้

ที่น่าสนใจคือเด็กรุ่นใหม่ได้รับการชักจูงในทางที่ผิด ในเรื่องวิธีคิด คือเด็กมองว่าอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งใหม่ สิ่งที่เกิดความเปลี่ยนแปลง ท้าทาย เขาจะชอบ ฉะนั้น พอเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงไป กระทบคนรุ่นอื่น มันไม่ถูกต้อง ขณะที่นักการเมืองที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง มีแนวทางการสร้างอุดมการณ์ประชาชนที่ไม่มีความพอดีในการสร้างอุดมการณ์ของประเทศด้านประชาธิปไตย

คือ อุดมการณ์ของประเทศด้านประชาธิปไตยมีแค่สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก เอาเพียงแค่นี้ สิทธิเสรีภาพของประชาชน หัวใจคือ ไม่ซื้อเสียง ไม่ขายเสียง แค่นี้ยิ่งใหญ่แล้ว เพราะเป็นสิทธิพื้นฐานของคน

นักวิชาการทั้งประเทศต้องระดมและเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ในทุกชุมชน ถ้านักวิชาการของประเทศทำสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ ผมว่าประเทศไทยไปเร็วกว่านี้ เพราะคนไม่ใช่ไม่รู้เรื่อง เขาอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ แต่มันมึนงงว่า จะยึดโยงอะไรได้บ้างที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

สิ่งที่ถูกต้อง คือความพยายามเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ ว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน ไม่ให้เกิดการซื้อขายเสียง เพราะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็เกิดคอร์รัปชัน มีคอร์รัปชันเมื่อไหร่การเลือกผู้นำก็จะผิดพลาดเมื่อนั้น พอเลือกผู้นำผิดพลาด ก็ผิดพลาดข้อต่อไป นี่คือวงจรอุบาทว์ที่ต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ถึงระดับล่าง

ผมว่าตรงนี้ที่วัยรุ่นและนักวิชาการเข้าใจ เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดตั้งเป้าเรื่องสถาบัน มันไม่ใช่ ต้องให้ประชาชนเข้าใจสิทธิเสรีภาพตัวเองก่อน ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพตัวเองเป็นเมื่อไหร่ ไม่มีใครมาซื้อเสียงได้ ประเทศเปลี่ยนแล้ว

คุณเอาแต่มานั่งด่าสถาบัน ด่าไปด่ามา เกิดซีกซ้ายซีกขวา ไม่มีประโยชน์ ในที่สุดก็เกิดความระอา ถ้าประชาชนทั้งประเทศสร้างอุดมการณ์ประชาธิปไตยขึ้นมาได้ ซึ่งต้องอาศัยการอบรมถึงระดับรากหญ้า ทำไมมหาวิทยาลัยไม่คิดทำ อาจารย์เป็นหมื่นๆ คน ไปกับเยาวชน

นึกภาพเหมาเจ๋อตงปฏิวัติวัฒนธรรม โดยเอานักศึกษาไปร่วมกับชาวนา ทำโน่น ทำนี่ ไปพูดให้ชาวนาเชื่อในระบบคอมมิวนิสต์ ไม่ได้พูดเรื่องถูกหรือผิดนะ แต่วิธีนี้มันมีอิทธิพลสูงมาก ทำได้ทั่วประเทศ นักศึกษากับนักวิชาการ ทำไมเราทำไม่เป็น อาจารย์ป๋วยเคยพยายามทำ ก็ล้ม เสียดาย

มหาวิทยาลัยรวมกันอธิการทั้งหลายประชุมกัน ทำไมไม่คิดเรื่องเหล่านี้ อบรมนักศึกษาให้ไปคุยกับประชาชน เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนคืออะไร ทำแบบนี้รัฐบาลค้านไม่ได้ เพราะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผมว่าถ้ามีสัก 2 แสนคน ก็เข้าถึงประชาชนได้หมด มันถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบประเทศไทยได้ ประเทศไทยทำได้

ดร.ทนง บอกว่า ทั้ง 3 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง แค่ดูว่าปัญหาคืออะไร จะแก้อย่างไร ซึ่งวิธีการไม่ยาก เพียงแต่ไม่มีใครอยากจะทำ อย่างการเอานักศึกษาไปอบรมประชาชนเรื่องประชาธิปไตย อธิการบดีทุกสถาบันรวมตัวกันออกเป็นนโยบายได้ ง่ายมาก ให้นักศึกษาทั้งประเทศลงไปให้ความรู้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้ง 1 เดือน หรือจะไปตั้งแต่ตอนนี้ก็ได้ ส่วนรัฐแก้ปัญหาการไปเลือกตั้ง เช่น ประชาชนต้องเดินทาง 20 กิโลเมตรไปเลือกตั้ง รัฐก็จัดรถรับส่ง หรือให้ค่ารถ แทนที่จะให้นักการเมืองไปแจกเงิน หรือประชาชนไม่รู้ว่าควรจะเลือกใคร ก็ต้องเปิดทางให้ผู้สมัครเข้าถึงชุมชน ไปแสดงวิสัยทัศน์ได้

“ฉะนั้น หัวใจคือสิทธิเสรีภาพ มันสำคัญขนาดที่จะสร้างระบบการปกครองที่ดีสำหรับประเทศไทยได้ เป็นการแก้ปัญหาตรงจุด”