ThaiPublica > คอลัมน์ > สิ่งทดแทนพนัน

สิ่งทดแทนพนัน

2 ตุลาคม 2021


ธนากร คมกฤส

ในวิชาเศรษฐศาสตร์มีเรื่องหนึ่งว่าด้วย “สินค้าที่ใช้ทดแทนกัน” (Substitute goods) ซึ่งหมายถึงสินค้าที่ใช้แทนกันด้วยวัตถุประสงค์เดียวกันและสามารถใช้แทนกันได้ ตัวอย่างที่เป็นคลาสสิคเคส เช่น ข้าวกับก๋วยเตี๋ยว หรือน้ำมันหมูกับน้ำมันพืช เป็นต้น นัยว่าเมื่อบริโภคสินค้าตัวหนึ่งแล้วจะมีผลให้บริโภคสินค้าอีกตัวหนึ่งลดลง เพราะความต้องการได้ถูกตอบสนองไปแล้ว

ในทางการพนัน มีการถกเถียงกันอยู่ว่า “หวยรัฐ” อย่างสลากกินแบ่งรัฐบาลกับ “หวยราษฎร์” อย่างหวยใต้ดิน เป็นสินค้าทดแทนกันหรือไม่ ในแง่หนึ่งสองสิ่งนี้อาจทดแทนกันได้จริง เช่น ผู้บริโภคมีการจำกัดเงินในการเล่นพนัน ไม่อยากเสียเงินถึง 80 หรือ 100 บาทเพื่อซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเลือกเสียเงินต่ำกว่านั้น เช่น 20 บาทเพื่อซื้อหวยใต้ดินแทน แล้วได้ตอบสนองความต้องการในการเสี่ยงโชคเหมือนกัน

แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง เราก็พบว่า สินค้าสองตัวนี้อาจกลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกเล่นไปพร้อม ๆ กันก็ได้ เช่น นักเสี่ยงโชคจำนวนหนึ่ง จะมีวิธีการเล่นหวยแบบ “เล่น 2 ทาง” คือ เล่นหวยใต้ดินด้วย พร้อมกับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย เพื่อหวังจะถูกทั้งรางวัลเล็กจากหวยใต้ดิน และรางวัลใหญ่จากสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงกลายเป็นว่า การพนันสองตัวนี้กลับเสริมกัน แทนที่จะเล่นตัวหนึ่งแล้วไม่เล่นอีกตัวหนึ่ง กลายเป็นเล่นทั้งสองตัว ทำให้เสียเงินเล่นพนันมากขึ้น แล้วเงินเพื่อเอาไปทำอย่างอื่นกลับน้อยลง

กรณีของหวยใต้ดินกับสลากกินแบ่งรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของ “สิ่งทดแทนการพนัน” เพราะสิ่งทดแทนการพนัน ควรจะหมายถึง สิ่งที่มาทดแทนการเล่นพนันแล้วทำให้วัตถุประสงค์ของผู้นั้นได้รับการตอบสนองไปบางส่วน และมีผลทำให้เขาไม่เล่นการพนันหรือเล่นการพนันนั้นน้อยลง ในความหมายนี้ ชัดเจนว่ามันทดแทนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนกันได้ทั้งหมด เพราะอย่างน้อยที่สุดคือมันตอบโจทย์การได้-เสียแบบการพนันไม่ได้ (เพราะมิฉะนั้นมันจะกลายเป็นการพนันเสียเอง) แต่มันอาจตอบสนองความต้องการอย่างอื่นที่คละเคล้าอยู่ในการเล่นพนันได้ เช่น ความบันเทิง การแพ้ชนะ หรือการมีรางวัลจูงใจ

ตัวอย่างหนึ่งของ “สิ่งทดแทนการพนัน” ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในบ้านเรา คือ “แฟนตาซีฟุตบอล” กับการมาทดแทน “การพนันทายผลฟุตบอล”

แฟนตาซีฟุตบอล คือ เกมที่จำลองให้ผู้ชมเป็น “ผู้จัดการทีม” โดยสามารถหยิบเอานักเตะในลีก มาจัดทีมตามใจของตน เริ่มมีการคิดค้นและเล่นกันครั้งแรกตั้งแต่ปี 1971 โดยเป็นการเล่นสนุก ๆ เฉพาะกลุ่ม ใช้วิธีง่าย ๆ ด้วยการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นการเข้าเล่นทางออนไลน์กับ “ผู้จัด” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศไทย

ภาพคร่าว ๆ ของการเล่นแฟนตาซีฟุตบอล คือ ผู้ร่วมกิจกรรมจินตนาการว่าตนเองเป็น “ผู้จัดการทีมฟุตบอล” จากนั้นก็เลือก “นักฟุตบอล” จากทีมใดก็ได้ในลีกนั้น เช่น พรีเมียร์ลีก มา 11 คน หรือ 13 คน หรือ 15 คน แล้วแต่ฝ่ายจัดการแข่งขันจะกำหนด ท่านอาจเลือกโรนัลโดจากแมนฯยู ซาร่าจากลิเวอร์พูล เดอบรอยน์จากแมนฯซิตี้ และนักเตะคนอื่น ๆ อีกจนครบจำนวน และเมื่อฟุตบอลเริ่มแข่งกัน คะแนนก็จะคำนวณจาก “ความจริง” ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันในสนามจริง หากนักฟุตบอลที่ท่านเลือกได้ลงสนาม และมีผลงานดี ยิงประตูได้ ป้องกันประตูได้ จ่ายให้เพื่อนยิงได้ ยิ่งผลงานดีหลายคน ทีมของท่านก็ยิ่งได้คะแนนมาก

ผู้จัดแข่งขันอาจให้มีการสะสมคะแนนแข่งกันเป็นรอบ ๆ เช่น สัปดาห์หนึ่งมาดูกันทีว่าใครมีคะแนนสะสมสูงสุด หรืออาจจะเดือนหนึ่ง หรือเลกหนึ่ง (แบบฟุตบอลไทยลีกที่มีเลกหนึ่งกับเลกสอง) หรืออาจจะสะสมตลอดฤดูกาลเลยก็ได้ว่าใครจะได้คะแนนจากทีมที่ตนเองจัดส่วนผสมลงสนามมากที่สุด แล้วได้รางวัลจากฝ่ายจัดการแข่งขันไป รางวัลอาจจะเป็นเงิน เป็นเสื้อทีมฟุตบอล หรืออื่น ๆ ก็ได้ สุดแท้แต่แนวคิดของฝ่ายจัดการแข่งขันแต่ละราย

สิ่งที่ดูเป็นความเหมือนกันระหว่างแฟนตาซีฟุตบอลกับการพนันทายผลฟุตบอล คือผู้เล่นได้ใช้ความรอบรู้ในเกมฟุตบอลประกอบการตัดสินใจ ได้ลุ้นว่าจะได้รางวัลหรือไม่ ได้คุยโม้โอ้อวดข่มขิงกับเพื่อน แต่ส่วนที่ต่างกันก็คือ ในเกมแฟนตาซีฟุตบอลผู้เล่นอาจไม่ต้องวางเดิมพัน จึงไม่มีการเสี่ยงจะได้หรือเสียเดิมพัน

ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 ที่ผ่านมาได้มีการทดลองนำแฟนตาซีฟุตบอลมาเป็นสิ่งทดแทนการพนัน เป็นความร่วมมือของมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กับ Fantopy ประเทศไทย โดยความสนับสนุนของ สสส. บริษัทเงินติดล้อ และแกรนด์สปอร์ตจากการถอดบทเรียนการทดลองครั้งนี้ เกิดผลลัพธ์ที่น่าเรียนรู้หลายประการ

1.ผู้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุระหว่างช่วง 20-45 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับธุรกิจพนัน แทบทั้งหมดมีพื้นฐานเป็น “football lover” เล่นฟุตบอล-ดูฟุตบอล-ชอบฟุตบอล มีทีมที่รักที่ชอบ ทั้งทีมสโมสรในประเทศและต่างประเทศ ผู้ร่วมกิจกรรมกลุ่มที่มีอายุราว 20-30 ปี มักจะมีประสบการณ์เล่นเกมทางโทรศัพท์มือถือหรืออินเตอร์เน็ตเกมมาก่อน เช่น FIFA/PES/ROV ส่วนกลุ่มอายุประมาณ 40 ปีมักไม่คุ้นกับการเล่นเกมลักษณะนี้ จำนวนหนึ่งเคยเล่นแฟนตาซีฟุตบอลมาก่อนหน้านี้ 1-3 ปี บ้างเล่นกับผู้จัดต่างประเทศ บ้างเล่นกับผู้จัดในประเทศ แต่จำนวนมากไม่เคยเล่นแฟนตาซีฟุตบอลมาก่อนเลย มาเล่นในฟุตบอลยูโร 2020 นี้เป็นครั้งแรก ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์เคยเล่นพนันทายผลฟุตบอลมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงเป็นนักเรียนนักศึกษา

2.เหตุผลที่สนใจมาร่วมเล่นแฟนตาซีฟุตบอลยูโร 2020 ก็เพราะไม่ต้องเสียเงิน มีรางวัลที่ดึงดูดใจ เช่น เสื้อฟุตบอลทีมชาติของแท้ และได้ใช้ความรอบรู้เกี่ยวกับฟุตบอลประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วพบว่า ตนต้องรู้ข้อมูลการแข่งขันที่ลึกขึ้น ไม่ใช่แค่สถิติ(การแพ้-ชนะระหว่างคู่แข่งขัน หรือรู้เฉพาะข้อมูลของทีมที่ตนเชียร์ แต่จะต้องรู้ข้อมูลและผลงานของนักเตะของหลาย ๆ ทีม ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควร มาก-น้อยขึ้นกับแต่ละบุคคล รวมถึงต้องใช้ความชำนาญในการวิเคราะห์แผนการเล่น และการคาดการณ์สถานการณ์การแข่งขันของหลาย ๆ นัดไปพร้อมกัน เหล่านี้มีผลทำให้ดูฟุตบอลสนุกมากขึ้น เพราะไม่เพียงจะสนใจผลการแข่งขันเท่านั้น แต่จะสนใจการทำผลงานของนักเตะที่ตนเลือกจัดลงในทีมด้วย

3.สำหรับความเหมือนและความแตกต่างของการเล่นแฟนตาซีฟุตบอลกับการพนันทายผลฟุตบอลนั้น แม้ทั้งสองกิจกรรมจะต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเหมือนกัน แต่เป็นการใช้ข้อมูลคนละลักษณะ ทางหนึ่งใช้ข้อมูลเพื่อเอาไปเพื่อเสี่ยงได้-เสี่ยงเสีย จึงเกิดความรู้สึกเครียด เกร็ง และจริงจังกับการดูฟุตบอล เพราะวางเดิมพันไปแล้ว แต่อีกทางหนึ่งใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มความบันเทิง ทำให้รู้สึกว่า “มีแต่ได้กับได้” (ได้ใช้ความรู้-ความรักในฟุตบอล/ได้คุยได้ขิงกับเพื่อน/ได้ลุ้นผลงานของทีมและนักเตะ/ได้รางวัล ถ้าวางแผนดี วางตัวถูก)ไม่มีความเสี่ยงที่จะเสีย ทั้งสองจึงมีตรรกะในการคิดคนละแบบกัน ใช้ทักษะเดียวกันแต่ด้วยจิตใจที่ต่างกัน

4.อีกประการหนึ่งคือความรู้สึกเมื่อได้รางวัล เมื่อได้รางวัลจากการเล่นเกมแฟนตาซีฟุตบอล จะเกิดความรู้สึก“ภูมิใจ”ในตัวเองที่เราทำคะแนนได้มากกว่าคนอื่น เป็นความภูมิใจเฉพาะตัวที่สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้อย่างไม่จำกัด แตกต่างกับการได้รางวัลจากการชนะพนัน ที่หากไปคุยให้คนอื่นฟังแล้วกลับมีภาพพจน์ไม่ดี (look bad) จึงคุยโม้โอ้อวดได้ในวงจำกัด บางรายถึงขนาดพูดว่า “ชนะพนันก็แค่สะใจที่ได้ชนะเจ้ามือ แต่ชนะแฟนตาซีฟุตบอลเกิดความภาคภูมิใจที่ชนะคนอื่น ๆ ได้หลาย ๆคน”

แฟนตาซีฟุตบอลทดแทนพนันได้จริงหรือ?

ในความเป็นจริงแล้ว “แฟนตาซีฟุตบอล” มีสถานะเป็นเครื่องมือที่แล้วแต่ใครผู้ใดจะหยิบนำไปใช้ จะเป็นฝายรณรงค์เล่นพนันหรือรณรงค์หยุดพนันก็สามารถนำไปใช้ได้ (ในบางประเทศ ธุรกิจพนันนำแฟนตาซีฟุตบอลไปใช้ชวนพนัน) สำหรับฝ่ายรณรงค์หยุดพนันนั้น พบว่า “แฟนตาซีฟุตบอลอาจไม่สามารถมาเบียดการพนันฟุตบอลหลุดออกไปพ้นขอบความคิดของผู้ร่วมกิจกรรมได้ แต่ก็ได้เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ที่ขยายใหญ่ ทั้ง “พื้นที่ภายในตัวเอง” และ “พื้นที่สาธารณะ” ทำให้ “คนรักฟุตบอล” ได้ใช้ศักยภาพเพื่อนำพาความบันเทิงที่มากกว่ามาสู่ตน โดยไม่ต้องสูญเสียสิ่งใด (นอกจากเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรู้จักบริหารจัดการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำการสิ่งใด) และก่อให้เกิด “ความเคารพชื่นชมในตัวเอง” อย่างไม่มีส่วนใดที่ต้องละอาย ทำให้คนรักฟุตบอลมีความรักในฟุตบอลมากขึ้น และอาจมากจนถึงขีดขั้นที่ไม่ต้องการจะก้าวข้ามแดนไปหาการพนันอีกต่อไป

ในส่วนของประโยชน์ต่อสาธารณะ แฟนตาซีฟุตบอลสามารถสร้างประโยชน์ต่อวงการฟุตบอลไทยได้ นอกจากจะช่วยเพิ่มจำนวนคนชมฟุตบอลในเชิงปริมาณแล้ว ยังเป็นการสร้างคุณภาพใหม่ของการชมฟุตบอล ที่เต็มไปด้วยความรู้จักในเกมฟุตบอล รู้จักนักฟุตบอลในลีกของประเทศตนเอง เป็นสะพานเชื่อมให้คนรักฟุตบอลมารวมกันเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์ ที่จะทำให้วงการฟุตบอลไทยขยายตัวได้อย่างแข็งแรง

คงเป็นเรื่องที่ต้องประลองยุทธ์กันว่า “ฝ่ายใดจะใช้เครื่องมือตัวนี้เป็นอาวุธได้ดีกว่ากัน ระหว่างฝ่ายชวนเล่นพนันกับฝ่ายชวนหยุดพนัน?” …เพราะฟุตบอลคือความรัก แต่พนันคือความโลภ โดยมีใจของแต่ละคนเป็นพื้นที่ประลองกำลังว่า ความรักที่มีต่อฟุตบอลจะมีพลังมากพอจะเอาชนะความเย้ายวนที่ธุรกิจการพนันเอามาล่อได้หรือไม่ หน้าที่ของฝ่ายรณรงค์ คือ ต้องพยายามช่วยเสริมกำลังใจ ให้ความรักชนะทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความโลภ”