ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเล็งปรับนโยบายส่งออกเหล็กหนุนตลาดในประเทศ

ASEAN Roundup เวียดนามเล็งปรับนโยบายส่งออกเหล็กหนุนตลาดในประเทศ

16 พฤษภาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 9-15 พฤษภาคม 2564

  • เวียดนามเล็งปรับนโยบายส่งออกเหล็กหนุนตลาดในประเทศ
  • ฮานอยจะมีศูนย์โลจิสติกส์ที่ทันสมัย
  • กัมพูชาหารือความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอินเดีย
  • สิงคโปร์ใช้มาตรการโควิดเข้มงวดสำหรับผู้เดินทางจากเวียดนาม
  • อินโดนีเซียเผยกลยุทธ์ดึงเม็ดเงินลงทุน 900 ล้านล้านรูเปียะห์
  • กฎหมายลงทุนฉบับใหม่ของฟิลิปปินส์ให้อำนาจประธานาธิบดีมอบสิทธิภาษี
  • เวียดนามเล็งปรับนโยบายส่งออกเหล็กหนุนตลาดในประเทศ

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/947234/ministry-wants-to-support-domestic-steel-market.html

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาปรับนโยบายการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กให้เข้มงวดขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดในประเทศท่ามกลางราคาเหล็กที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

    ในการประชุมของรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ รองนายกรัฐมนตรีเล มินห์ ข่าย ขอให้กระทรวงฯ หาแนวทางแก้ไขเพื่อเพิ่มการผลิตเหล็กในประเทศและสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

    กระทรวงฯ ระบุว่าว่า ราคาเหล็กที่พุ่งสูงขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเวียดนามเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อตลาดโลกด้วย การผลิตเหล็กในประเทศขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำเข้าอย่างมาก ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    นอกจากนี้ กระทรวงฯ กำลังศึกษาอุปสรรคทางเทคนิคและมาตรฐานคุณภาพ เพื่อสร้างตลาดที่แข็งแรงพร้อมกับการใช้เครื่องมือป้องกันการค้าอย่างแข็งขัน

    ทั้งนี้ มีการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อจัดการกับการทุ่มตลาดของผลิตภัณฑ์เหล็กบางประเภทในเวียดนาม รวมทั้งจัดการกับการฟ้องร้องต่อต้านการทุ่มตลาดผลิตภัณฑ์ที่มีต้นกำเนิดจากเวียดนาม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ผลิตในประเทศให้น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน

    การติดตามตลาดได้มีการเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการปั่นตลาด หรือการฉ้อโกงทางการค้าซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของรัฐและส่งผลเสียต่อผู้บริโภค

    กระทรวงฯ กำลังศึกษานโยบายในการควบคุมการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งตลาดในประเทศมีความต้องการสูง เพื่อเสนอขออนุมัติจากรัฐบาล พร้อมกับเพิ่มแนวทางแก้ไขเพื่อขจัดอุปสรรคสำหรับโครงการลงทุนด้านการผลิตเหล็ก

    เจือง บา ตวน รองผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายภาษีสังกัดกระทรวงการคลังระบุว่า เวียดนามสามารถพิจารณาปรับภาษีการคุ้มครองแท่งเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างให้มีราคาต่ำลง

    เมื่อวันที่ 20 มีนาคม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้ตัดสินใจที่จะเรียกเก็บภาษีสำหรับแท่งเหล็กนำเข้าต่อไปอีก 3 ปี

    อย่างไรก็ตาม ตวนตั้งข้อสังเกตว่า การลดอัตราภาษีจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดในประเทศ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีแนวทางเพื่อให้แน่ใจว่าอุปสงค์และอุปทานของตลาดสมดุลและยกระดับกำลังการผลิตในประเทศ

    ดัง กอง เขย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารราคาสังกัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบรวมถึงเศษเหล็กและแท่งเหล็กตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2563 ทำให้ราคาเหล็กทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น

    ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่า ราคาวัตถุดิบในปัจจุบันเพิ่มขึ้น 37-39% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ราคาแร่พุ่งสูงกว่า 220 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในวันที่ 10 พฤษภาคมในตลาดโลก ทำลายสถิติที่ 194 ดอลลาร์ในทศวรรษที่แล้ว

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระบุว่า ราคาเหล็กที่พุ่งสูงขึ้นในตลาดภายในประเทศส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างมาก โดยเฉพาะในขณะที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของโรค ราคาเหล็กที่สูงจะมีผลให้ต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น และมีผลต่อแผนการลงทุนภาครัฐในระยะปานกลาง

    สมาคมเหล็กเวียดนามระบุว่า ตลาดเหล็กในประเทศจะมีระดับราคาใหม่ในปี 2564 และเรียกร้องให้ผู้ผลิตที่เป็นสมาชิกขยายการผลิตและจัดระบบการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดในประเทศ

    ฮานอยจะมีศูนย์โลจิสติกส์ที่ทันสมัย

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/hanoi-to-have-modern-logistics-centre/201493.vnp

    ฮานอยมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนสถานีตู้สินค้าที่มีพิธีการศุลกากรทั้งสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก (inland container depot: ICD) ลองเบียน ให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์ที่ทันสมัยครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการบริการโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น

    ตัวแทนของ Hateco ผู้ลงทุนและผู้ดำเนินการ Long Bien ICD กล่าวว่า ท่าเรือบกแห่งนี้มีพื้นที่รวม 120,000 ตารางเมตร บริการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน สามารถรับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์มากกว่า 100 คันได้พร้อมกัน มีโกดังศูนย์กระจายสินค้าและศูนย์ขนส่งด่วน

    ICD ลองเบียนเป็นสถานีตู้สินค้าที่มีพิธีการศุลกากรทั้งสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออก สินค้านำเข้าจะถูกขนส่งโดยตรงไปยัง ICD ลองเบียนและมีการสำแดงไปพร้อมกัน เพื่อช่วยให้ธุรกิจประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายลด ลดจุดติดต่อและความแออัดที่ท่าเรือ

    ดังนั้น สินค้าจะถูกนำเข้าผ่านด่านชายแดนด้วยถนนระหว่างประเทศ สถานีรถไฟระหว่างประเทศ สนามบินนานาชาติและท่าเรือ จากนั้นจะเคลื่อนไปยัง ICD ลองเบียนเพื่อดำเนินพิธีการทางศุลกากร สินค้าที่อยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้านำเข้าภายใต้กระบวนการศุลกากรที่ด่านชายแดนไม่รวมเครื่องบิน เรือยอตช์ น้ำมันเบนซิน สารตั้งต้นระเบิด และวัตถุระเบิดสำหรับอุตสาหกรรม

    กระทรวงการคลังระบุว่า ด้วยทำเลที่สะดวกสำหรับการสัญจร ICD ลองเบียนเชื่อมต่อกับระบบท่าเรือ สนามบิน และด่านชายแดนทางบกจากเหนือจรดใต้ และอยู่ห่างจากท่าเรือไฮฟอง 100 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือแหลกเหวียน 122 กิโลเมตร ห่างจากสนามบินนานาชาติโหน่ยบ่าย 26 กิโลเมตรและห่างจากชายแดนจีน 126 กิโลเมตร

    นอกจากนี้ยังเป็นประตูสู่เขตอุตสาหกรรมสำคัญในภาคเหนือ ด้วยการสัญจรที่สะดวกและง่าย มีการเชื่อมต่อกับจังหวัดและเมืองทางตอนเหนือหลายแห่ง เช่น ฮึงเอียน, หายเซือง, ไฮฟอง, บั๊กนิญ, กว๋างนิญ, และท้ายเงวียน ซึ่งจะลดแรงกดดันต่อท่าเรือและด่านชายแดน และปรับเปลี่ยน ICD ลองเบียนให้เป็นศูนย์กลางในการจัดการบริการโลจิสติกส์ทั้งหมดที่ตอบสนองตามความต้องการของธุรกิจ

    จากข้อมูลของสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์เวียดนาม (Vietnam Logistics Business Association: VLA) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์สูงถึง 14-16% เป็น 20-22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งคิดเป็นเกือบ 20.9% ของ GDP ของประเทศ

    แม้จะมีอัตราการเติบโตที่สูง แต่ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ก็มีสัดส่วนที่มากในโครงสร้างต้นทุนผลิตภัณฑ์ เล ฟาน กว่าง ประธานของ มินห์ ฝู กรุ๊ป ยกตัวอย่างว่า การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากเวียดนามไปญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่าย 16 ล้านด่อง แต่จากโฮจิมินห์ซิตี้ไปฮานอยมีค่าใช้จ่าย 80 ล้านด่อง

    โลจิสติกส์เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดความสามารถในการแข่งขันด้านการนำเข้าและส่งออกของเวียดนาม ดังนั้น หากบริการโลจิสติกส์รวมถึงคลังสินค้า การประมวลผลคำสั่งซื้อ และการขนส่ง ไม่เชื่อมโยงกัน ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

    ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์และบริการที่หลากหลายที่ ICD ลองเบียน จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ธุรกิจที่จัดจำหน่ายสินค้ามูลค่าสูง สินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดน และวัตถุดิบ เช่น แฟชั่นระดับไฮเอนด์ เครื่องสำอาง อุปกรณ์เสริม และเม็ดพลาสติก

    กัมพูชาหารือความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับอินเดีย

    นายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50856608/talks-on-possible-free-trade-agreement-with-india-start/

    กัมพูชาและอินเดียได้เริ่มการเจรจาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA แบบทวิภาคี เนื่องจากทั้งสองประเทศส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการค้า

    การหารือนี้มีขึ้นในการประชุมผ่านระบบออนไลน์ระหว่างนายพัน สอระสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา และนายเดวยานี โคบราเกด เอกอัครราชทูตอินเดียประจำกัมพูชา

    ขณะนี้การหารือ FTA อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่าง นายสอระสักกล่าว

    แถลงการณ์กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า “ทั้งสองฝ่ายหารือเรื่องความคืบหน้าเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-อินเดีย ซึ่งสมาชิกของคณะทำงานของทั้งสองประเทศร่วมกันในการสรุปร่างข้อตกลงสำหรับคณะกรรมการเจรจาการค้า” ตามแถลงการณ์ ออกโดยกระทรวงพาณิชย์

    แถลงการณ์ระบุอีกว่า ในระหว่างการประชุมทั้งสองฝ่ายย้ำว่า ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนทวิภาคี

    ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าการส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศเป็นปัจจัยหลักในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีของประเทศ

    การค้าระหว่างกัมพูชาและอินเดียมีมูลค่า 190 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

    ข้อมูลปี 2563 การส่งออกของกัมพูชาไปอินเดียมีมูลค่า 61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5% จากปี 2562 การนำเข้าจากอินเดียลดลง 33% ในปี 2563 มูลค่ารวม 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    การศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำ FTA กับอินเดียเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากกัมพูชาและเกาหลีใต้ได้ประกาศว่าการเจรจาจัดทำข้อตกลง FTA เสร็จสิ้น

    จากความสำเร็จดังกล่าวกัมพูชาได้ให้ความสำคัญกับการทำงานเกี่ยวกับ FTA กับญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศอื่นๆ อีกมาก นายสอระสักกล่าว

    การดำเนินการล่าสุดนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งไปสู่เป้าหมายของกัมพูชาในการจัดทำข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ รวมถึงอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดโลกที่ใหญ่ที่สุด นายงวน เม้ง เต็ก ผู้อำนวยการใหญ่ของหอการค้ากัมพูชากล่าว

    “เราทุกคนรู้ดีว่าอินเดียมีประชากรจำนวนมากซึ่งหมายความว่าเป็นตลาดใหญ่” นายเม้ง เต็ก กล่าวและว่า FTA กับอินเดียจะสร้างโอกาสในการส่งออกที่ดีขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์จากกัมพูชา

    กัมพูชาประสบความสำเร็จในการเจรจา FTA กับเกาหลีใต้ และคาดว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงและมีผลบังคับใช้ในปลายปีนี้ ส่วน FTA ของกัมพูชากับจีนมีผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรแล้ว

    สิงคโปร์ใช้มาตรการโควิดเข้มงวดสำหรับผู้เดินทางจากเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/health/covid-19-tighter-measures-for-travellers-from-vietnam

    สิงคโปร์ประกาศมาตรการที่เข้มงวดขึ้นสำหรับผู้ที่เดินทางจากเวียดนาม หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น

    ผู้ที่เดินทางเข้ามาในสิงคโปร์ทุกคนซึ่งมีประวัติการเดินทางไปเวียดนามในช่วง 21 วันที่ผ่านมา จะต้องกักตัวในสถานที่ที่กำหนด เป็นเวลา 21 วันตามมาตรการ Stay-Home Notice (SHN)

    ก่อนหน้านี้ ผู้ที่เดินทางเข้าสิงคโปร์ต้องกักตัว 21 วันเช่นกัน แต่ 7 วันสุดท้ายสามารถทำได้ในสถานที่พักอาศัยของตัวเอง หรือที่พักที่จัดหาเอง

    กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ประกาศเมื่อที่ 13 พฤษภาคมว่า มาตรการที่เข้มงวดขึ้นจะบังคับใช้กับผู้เดินทางที่ยังกักตัวไม่ถึง 14 วันในสถานที่ที่กำหนด โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 23.59 น. ของวันที่ 15 พฤษภาคม

    ผู้เดินทางเหล่านี้จะได้รับการติดต่อเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพิ่มเติม

    ผู้เดินทางที่กำลังอยู่ระหว่างกักกันในสถานที่พักอาศัยของตัวเอง จะต้องกักตัวให้ครบ 21 วันในสถานกักตัวปัจจุบัน เพื่อลดการสัญจรและความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

    กระทรวงสาธารณสุขระบุด้วยว่า ผู้ที่เดินทางเข้านี้ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ PCR ในวันที่ 14 ของการกักตัวและก่อนจะครบกำหนดกักตัว

    อินโดนีเซียเผยกลยุทธ์ดึงเม็ดเงินลงทุน 900 ล้านล้านรูเปียะห์

    ที่มาภาพ: https://indonesiabusiness.org/investment-minister-upbeat-lebak-to-become-new-economic-growth-zone/

    นายบาห์ลิล ลาฮาดาลีอา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน และประธานคณะกรรมการประสานการลงทุนอินโดนีเซีย (Indonesian Investment Coordinating Board: BKPM) ได้ประกาศกลยุทธ์ในการเพิ่มเป้าหมายการลงทุนเป็น 900 ล้านล้านรูเปียะห์ในปี 2564 และ 5,000 ล้านล้านรูเปียะห์ในปี 2567

    “สิ่งแรกคือเงินลงทุนราว 708 ล้านล้านรูเปียะห์ที่เราจัดสรรไว้ก่อนหน้านี้สำหรับการลงทุนที่ชะลอตัว วันนี้สามารถลงทุนไปแล้ว 517 ล้านล้านรูเปียะห์ ซึ่งจะแล้วเสร็จในไม่ช้านี้” รัฐมนตรีกล่าว

    มูลค่าการลงทุน 517 ล้านล้านรูเปียะห์ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ มีบางส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง และบางส่วนอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ

    เพื่อเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจ กระทรวงจะดำเนินการเน้นการเพิ่มมูลค่าจากอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย 5 แนวทาง

    “สิ่งแรกคือการลงทุนในภาคสุขภาพ เรารู้ว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์และวัตถุดิบในการผลิตยาของเราเกือบทั้งหมดนำเข้า”

    ภาคส่วนอื่นๆ ที่จะมีความสำคัญในการลงทุนลำดับต้นๆ ได้แก่ ภาคยานยนต์ ตามด้วยเหมืองแร่ โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน

    รัฐมนตรีย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่า รัฐบาลจะพยายามเร่งออกใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการที่ดีขึ้นแก่นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

    “ความมุ่งมั่นของ BKPM คือ เราจะไม่ชะลอการออกใบอนุญาต เนื่องจากไม่ต่างจากการระงับงานและรายได้ของรัฐที่จะเกิดขึ้น เนื่องจาก 76% ของรายได้ของประเทศมาจากจัดเก็บภาษี” เขากล่าว

    นอกจากนี้ การออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ล่าช้า ก็เหมือนกับการรั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และฉุดความคืบหน้าในการพัฒนาความง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ ease of doing business (EoDB) ในประเทศ

    ประธานาธิบดีโจโกวีตั้งเป้าอันดับ EoDB ของอินโดนีเซียไว้ที่อันดับ 40 ในปี 2567 เมื่อเทียบกับอันดับที่ 73 ในปัจจุบัน

    กฎหมายลงทุนฉบับใหม่ของฟิลิปปินส์ให้อำนาจประธานาธิบดีมอบสิทธิภาษี

    ที่มาภาพ: https://pcoo.gov.ph/photo_gallery/president-rodrigo-roa-duterte-updates-the-nation-on-the-governments-efforts-in-addressing-the-coronavirus-disease-covid-19-at-the-malago-clubhouse-in-malacanang-on-march-30-2020/

    ในเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต จะมีอำนาจในการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับการลงทุนขนาดใหญ่ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย Corporate Recovery and Tax Incentives for Enterprises (CREATE) โดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดแนวทางปฏิบัติของกฎหมายในสัปดาห์หน้า

    ร่างการใช้กฎและข้อบังคับ (IRR) ของบทบัญญัติของ CREATE เกี่ยวกับสิ่งจูงใจทางภาษี รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Fiscal Incentives Review Board: FIRB) ที่ตั้งใหม่อีกครั้ง ได้มีการโพสต์ไว้ในเว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง DOF และจะมีการลงนามในวันที่ 17 พฤษภาคม

    นายคาร์ลอส โดมิงเกซ รัฐมนตรีการค้า และนายเรมอน โลปซ เลขานุการสำนักการค้าในฐานะประธานร่วมของ FIRB ได้รับมอบหมายให้จัดทำ IRR ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 11 กรกฎาคมหรือ 90 วันหลังจาก CREATE มีผลเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีดูแตร์เตได้ลงนามใน CREATE เพื่อให้มีผลทางกฎหมายเมื่อเดือนมีนาคม

    ภายใต้กฎหมาย CREATE ประธานาธิบดี “อาจ เพื่อผลประโยชน์ของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและตามข้อเสนอแนะของ FIRB ปรับเปลี่ยนผสมผสาน ระยะเวลา หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งจูงใจทางภาษีที่มีอยู่ หรือจัดทำแพ็คเกจสนับสนุนทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับโครงการที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก หรือกิจกรรมทางอุตสาหกรรมเฉพาะที่กำหนดไว้ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อการสร้างงาน การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการดึงดูดเงินทุน หรือการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศที่สำคัญ และข้อกำหนดทางการคลังของกิจกรรมหรือโครงการ โดยขึ้นอยู่กับสิทธิภาษีสูงสุดที่ให้ได้ตามคำแนะนำของ FIRB”

    IRR ระบุว่า การสนับสนุนทางการเงินของรัฐบาลอาจรวมถึงการใช้ที่ดิน การจัดสรรน้ำ การจัดหาพลังงาน ตลอดจนการสนับสนุนงบประมาณผ่านงบประมาณแผ่นดินประจำปี และโดยเฉพาะประธานาธิบดีสามารถให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้สูงสุด 40 ปี โดยการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดยาว 8 ปี ส่วนระยะเวลาที่เหลือของการให้สิทธิประโยชนนี้ จะเปิดให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราพิเศษ 5%

    ก่อนที่ประธานาธิบดีจะตัดสินใจว่าจะมอบสิทธิประโยชน์ให้มากหรือไม่ FIRB จะต้อง “พิจารณาก่อนว่าผลประโยชน์ที่รัฐบาลจะได้รับจากการลงทุนดังกล่าวนั้นชัดเจนและน่าเชื่อถือหรือไม่ และมีค่ามากกว่าต้นทุนการให้สิทธิประโยชน์พอที่พิจารณาว่าโครงการหรือกิจกรรมนั้นเป็นโครงการที่ต้องการหรือไม่”

    ภายใต้คำแนะนำของ FIRB ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจได้ตราบเท่าที่โครงการที่เข้ามานั้นมี “แผนพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมพร้อมแนวทางธุรกิจที่ชัดเจน รวมถึงมีนวัตกรรมระดับสูง”

    คุณสมบัติดังกล่าวรวมถึงเงินลงทุนขั้นต่ำ 50,000 ล้านเปโซ หรือเทียบเท่าในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือการจ้างงานโดยตรงในท้องถิ่นขั้นต่ำอย่างน้อย 10,000 ตำแหน่งภายใน 3 ปีนับจากการออกใบรับรองการจดทะเบียน

    หลักเกณฑ์นี้จะมีการทบทวนทุก 3 ปี และเทียบเคียงกับมาตรฐานระดับโลกและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ

    ร่าง IRR ระบุว่า อย่างไรก็ตาม หากโครงการไม่สามารถบรรลุผลกระทบที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจและเป้าหมายผลการดำเนินงานที่ตกลงไว้ FIRB จะเสนอแนะต่อประธานาธิบดีให้ยกเลิกสิทธิประโยชน์จูงใจทางภาษี หรือแพ็คเกจการสนับสนุนทางการเงิน หรือระยะเวลา หรือประเภทของสิทธิประโยชน์ หลังจากการรับฟังและให้โอกาสพอที่จะปฏิบัติตามเป้าหมาย ประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ตกลงกัน

    ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจเผชิญกับ “การขาดดุลการคลังที่ไม่สามารถจัดการได้” ตามที่ประธานาธิบดีประกาศตามคำแนะนำจากคณะกรรมการประสานงานงบประมาณเพื่อการพัฒนา (DBCC) อำนาจของประธานาธิบดีในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ CREATE จะถูกระงับ

    ในเดือนเมษายน สำนักสรรพากร (BIR) ยังได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับรายได้ 4 ฉบับ ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ CREATE เกี่ยวกับอัตราภาษีเงินได้ใหม่ของบริษัท, ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, รายได้จากการดำเนินงานในช่วงแรก, อัตราภาษี และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT )

    CREATE ยังมีผลย้อนหลังลดอัตราภาษีเงินได้ประจำปีที่เรียกเก็บจากบริษัทลง 25% โดยมีผลในเดือนกรกฎาคม 2563 จากเดิม 30% ซึ่งเคยสูงที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ยังลดอัตราลงเหลือ 20% สำหรับธุรกิจขนาดเล็กขนาดเล็กและขนาดกลาง (MSMEs)