ThaiPublica > เกาะกระแส > TIJ เปิดผลสำรวจคดี ‘อดีตผู้กำกับโจ้’ ความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมลดลง กฎหมายคดียาเสพติดล้มเหลว

TIJ เปิดผลสำรวจคดี ‘อดีตผู้กำกับโจ้’ ความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมลดลง กฎหมายคดียาเสพติดล้มเหลว

18 กันยายน 2021


เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดผลสำรวจ “การใช้อำนาจของตำรวจ เพื่อค้นหาความจริงคดี ‘อดีต ผกก.โจ้’ ” พร้อมถอดบทเรียนกระบวนการสืบสวนสอบสวนและกระบวนการยุติธรรมไทย โดยวิทยากร 3 ท่านได้แก่ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายวันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และอ.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

แบบสำรวจชี้ คนไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงของ ‘อดีตผู้กำกับโจ้’

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทางออนไลน์ในประเด็น “การใช้อำนาจของตำรวจเพื่อค้นหาความจริงคดี ‘อดีต ผกก.โจ้’ ” โดยเริ่มการสำรวจตั้งแต่วันที่ 2-5 กันยายน 2564 มีผู้ตอบแบบสำรวจ 5,291 คน

ผลการสำรวจความคิดเห็นและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ระบุว่า 86% ของผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 5,291 คน ไม่เห็นด้วยกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเพื่อรีดความจริง ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามถึง 13.23% ให้ความเห็นว่าการใช้ความรุนแรงในคดีร้ายแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และอีก 2.66% ตอบว่าการใช้ความรุนแรงในคดีทั่วไปเป็นเรื่องที่ยอมรับได้เช่นกัน

ข่าวของอดีตผู้กำกับโจ้ทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมลดลงจากเดิม ซึ่งเป็นความเชื่อมั่นในระดับที่น่ากังวลอยู่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือจากค่าคะแนนเต็ม 5 ได้ลดลงจาก 2.01 เหลือเพียง 1.29 คะแนน และเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นหลัง “อดีต ผกก.โจ้” เข้ามอบตัว พร้อมแถลงรายละเอียดของเหตุการณ์ กลับพบว่า ความเชื่อมั่น “ลดลงอีก” เหลือ เฉลี่ย 1.20 คะแนน

ส่วนที่น่าสนใจคือ ผู้ตอบแบบสอบถาม 91% เห็นว่าควรให้องค์กรอื่นเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจของตำรวจในการค้นหาความจริง เช่น อัยการ ทนาย และควรมีช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีได้ ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 40 ยังไม่เชื่อว่ากระบวนการในปัจจุบันที่ตำรวจมีอำนาจสอบสวนและทำสำนวนคดีนั้นดีเพียงพอ

ผู้ตอบแบบสอบถาม 94% เห็นว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไขโดยรวดเร็ว โดยต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการสอบสวนคดีอาญาให้ดีขึ้นในทุกมิติ เรียงลำดับความสำคัญ 3 เรื่องแรกในทัศนะของผู้ตอบแบบสำรวจ ได้แก่

  1. ควรปรับปรุงกลไกการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจในการค้นหาความจริงในชั้นสอบสวน
  2. ควรส่งเสริมให้บทบาทของพนักงานสอบสวนเป็นวิชาชีพเฉพาะและเป็นอิสระจากสายบังคับบัญชาปกติ
  3. ควรสร้างกระบวนการที่ให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลงานตำรวจ

อำนาจพิเศษควบคุมตัว 3 วันก่อนสอบสวนส่งศาล

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลโพลของ TIJ ชี้ให้เห็นว่ามีคนบางกลุ่มทั้งจากผลโพลและจากความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามคดียาเสพติดของอดีตผู้กำกับโจ้ ประกอบกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแสวงหาหลักฐานต่างๆ โดยไม่คำนึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสะท้อนว่าคนบางกลุ่มในสังคมไทยไม่เข้าใจสิทธิมนุษยชนและหลักการแสวงหาหลักฐานจากพยานบุคคล โดยมองว่าเจ้าหน้าที่สามารถทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการซ้อม การทรมานและใช้ความรุนแรง

“ตำรวจหรือฝ่ายรัฐยังมีทัศนคติว่าสามารถทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกัน ปราบปรามรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่ไม่ได้มีเซ้นส์ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ผศ.ดร.ปารีณากล่าว

ผศ.ดร.ปารีณาชี้ให้เห็นว่า แนวคิดว่าตำรวจสามารถทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเรียกว่า ‘Crime Control Model’ เป็นทฤษฎีบนฐานความคิดว่าประชาชนเชื่อใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าว่าจะไม่ทำร้ายประชาชน และมองว่าเมื่อไรก็ตามที่ให้อำนาจเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่จะมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสังคมมากขึ้น ดังนั้นสังคมอยู่ได้เพราะความเชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่เป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปารีณากล่าวถึงแนวความคิด ‘Due Process Control’ ซึ่งขัดแย้งกับ Crime Control Model เนื่องจาก Due Process Control มองว่าเจ้าหน้าที่เป็นมนุษย์ ย่อมมีอคติ ความประมาทและความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ จึงมีกระบวนการควบคุมแนวทางปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างกระบวนการถ่วงดุลอำนาจของรัฐ โดยเพิ่มสิทธิผู้ต้องหาหรือประชาชน ไม่ว่าสิทธิในการมีทนาย สิทธิไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง หรือสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาล

ด้วยเหตุนี้ ระบบกฎหมายจึงมีมาตรการนำคนที่เป็นอันตรายต่อสังคมเข้าไปอยู่ในกระบวนการ ตัวอย่างเช่นคดีอดีตผู้กำกับโจ้ที่สาธารณชนมารับรู้ภายหลังว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา โดยหลักกฎหมายกำหนดให้เมื่อจับตัวแล้วต้องพาตัวไปศาลให้ศาลตรวจสอบ

แต่ผศ.ดร.ปารีณาให้ข้อมูลถึงกฎหมายไทยซึ่งระบุว่า เมื่อจับตัวได้แล้วจะต้องนำตัวไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยทันที หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนจะมีเวลา 48 ชั่วโมงก่อนไปศาล แต่เวลาเจ้าหน้าที่อ่านกฎหมายที่เขียนว่า “48 ชั่วโมงนับจากเวลาไปที่ทำการสอบสวน” ดังนั้นจึงเกิดการตีความว่าหลังถูกจับแล้วไม่จำเป็นต้องไปที่สอบสวนทันที ทำให้ช่วงเวลา 48 ชั่วโมงยังไม่ถูกนับ ขณะเดียวกันกฎหมายไทยฉบับหนึ่งก็กำหนดให้พาตัวไปทันที แต่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้งานในทางปฏิบัติ

“อาจเรียกว่าเป็นวิธีปฏิบัติของบุคคล หรือเป็นความเข้าใจโดยแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาก็ได้ คดีบางประเภทเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเอาตัวไปได้นานกว่านี้ เปิดโอกาสให้ใช้กระบวนการไม่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น” ผศ.ดร.ปารีณากล่าว

ผศ.ดร.ปารีณากล่าวถึงกฎหมายว่าด้วยคดียาเสพติดในประเทศไทยว่า ตัวกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสูง โดยเฉพาะหลังการจับกุมสามารถควบคุมตัวได้ 3 วันก่อนไปที่ทำการพนักงานสอบสวน และเป็นช่วงเวลาก่อนถูกตรวจสอบโดยศาล

“หมายความว่า 3 วันนี้อาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ นี่เป็นบทเดิมที่มีอยู่ในป.วิอาญา แต่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2545 หลังจากใช้รัฐธรรมนูญปี 40 แต่เราจะเห็นข้อความนี้อยู่ในการดำเนินคดียาเสพติด นอกจากนั้นพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจถึง 7 วันในการควบคุมตัวก่อนศาลตรวจสอบ”

นี่เป็นช่องโหว่ของกฎหมายไทยที่เปิดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำตัวไป ‘ทำอะไรก็ได้’ กับผู้ต้องหาโดยไร้กระบวนการตรวจสอบ

ผศ.ดร.ปารีณากล่าวต่อว่า เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีไปอัยการ สำนวนคดีจะถูกปั้นหรือทำสำนวนคดีว่าจะตั้งข้อหาอะไร ดำเนินคดีอย่างไร ดุลยพินิจของพนักงานอัยการจะถูกตีกรอบโดยหลักฐานที่รวบรวมในสำนวน บางครั้งพยานหลักฐานก็ไม่พอที่อัยการจะฟ้อง ดังนั้นอัยการก็มีอำนาจสั่งสอบสวนเพิ่มเติมในทางกฎหมาย ทว่าความเป็นจริงเมื่อพนักงานอัยการสั่งสอบสวนประเด็นใดเพิ่มเติม พยานหลักฐานอาจจะสูญหายไม่ทันต่อการพิจารณา

ดังนั้น อัยการจะตัดสินใจได้ 2 ทางเลือก ได้แก่ สั่งฟ้องไปก่อนและสั่งไม่ฟ้อง กรณีที่สั่งไม่ฟ้องทั้งที่มีพยานหลักฐานมาก่อนแล้วจะทำให้มีข้อสงสัยใจว่าเหตุใดถึงไม่ฟ้อง แต่ถ้าส่งฟ้อง อัยการจะถูกตั้งคำถามว่าไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐาน แม้ว่าในชั้นศาลของไทย ศาลสามารถไม่รับฟังพยานพลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบได้ แต่ประเด็นนี้มักไม่ค่อยถูกยกเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลเท่าไรนัก

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กฎหมายยาเสพติด มุ่งจับแค่ผู้เสพและมดเดินยา

ด้านนายวันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เสริมประเด็นกฎหมายยาเสพติดว่า “กฎหมายยาเสพติดเป็นปัญหามากที่สุดในประเทศไทย รวมไปถึงนโยบายด้านยาเสพติดที่เป็นปัญหา เพราะไปรณรงค์ให้เลิกยาเสพติดตั้งแต่ประมาณ 40 ปี ประเทศไทยทำตามแบบอเมริกาที่มองว่ายาเสพติดเป็นเรื่องร้ายแรง โดยไม่แยกประเภทของยาเสพติด ใครที่ไปยุ่งคือพวกทำร้ายชาติ จนสังคมถูกครอบงำด้วยนโยบายการรณรงค์ กระทั่งนักการเมืองก็ถูกครอบงำด้วยยาเสพติดว่าผู้เกี่ยวข้องไม่ใช่มนุษย์ เป็นอสูรร้าย เป็นปีศาจ”

แนวคิดที่มีต่อยาเสพติดทำให้กฎหมายไทยให้อำนาจพิเศษกับเจ้าหน้าที่ เช่น จับได้โดยไม่ต้องตรวจปัสสาวะ เรียกตรวจค้นได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหมายศาล หรือจับกุมแล้วไม่ต้องไปโรงพัก สามารถควบคุมตัวได้ 3 วันก่อน รวมไปถึงนโยบายปราบปราบขั้นรุนแรงที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นการไม่แยกชนิดยาเสพติด และไม่แยกรายเล็กรายใหญ่ แต่ใช้วิธีปราบโดยทันที

“ยาเสพติดแยกออกเป็น 3 ประเภท (1) hard drug เฮโรอีน ฝิ่น โคเคน มอฟีน (2) พวกกระตุ้นประสาท (stimulants) ยาบ้า และ (3) ยากล่อมประสาทเช่นกัญชา ที่ต้องปราบคืออย่างแรก และพอเราไม่แยกรายใหญ่รายเล็ก เราตามจับทั้งหมด เพราะแค่เสพก็จับเข้าคุกโดยไม่ดูข้อเท้จจริงทางสังคมว่ามีคนจิตอ่อน ผู้ประสบปัญหา พวกอยากลอง ถูกยั่วยุ ถูกชักชวนก็จะไปลอง” นายวันชัยอธิบาย

นายวันชัยกล่าวถึงผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายที่ผิดพลาดคือ ประเทศไทยมีนักโทษล้นคุก จากสถิติกรมราชทัณฑ์ วันที่ 1 กันยายน 2564 มีผู้ต้องขังรวม 240,807 คน แต่มีผู้ต้องขังยาเสพติด 199,257 คน คิดเป็น 82.75% และผู้ต้องขังคดียาเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพียง ‘ผู้เสพ’ รายเล็กเท่านั้น อีกทั้งกว่า 35% จอวคดีอาญาทั้งประเทศเป็นคดียาเสพติด

“เมื่อประมาณปี 2556 ผมถูกกรรมาธิการตำรวจเรียกไปที่สภา บอกว่ามีคนมาร้องเรียนว่าสำนักงานผู้ร้ายข้ามแดนไม่ส่งผู้ต้องหาคดียาเสพติดเข้ามา ผมถามว่าท่านก็เป็นตำรวจ เวลาจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องมีหมายจับ ผมถามว่าผู้ผลิตยาเสพติดในพม่าที่จะให้ผมส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีหมายจับหรือยัง เขามองหน้ากันเลิ่กลั่ก ไม่มีครับ ไม่เคยมีหมายจับและไม่เคยตั้งข้อหา แล้วจะให้ผมไปจับใคร เพราะเรามุ่งเน้นจับรายเล็กรายน้อยที่อยู่ในประเทศเพราะจับง่าย และกฎหมายให้อำนาจมาก”

นายวันชัยกล่าวต่อว่า ช่วงหนึ่งประเทศไทยต้องออกกฎหมายฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพติดยาเสพติด โดยเอาผู้เสพออกจากคุก และเข้ากระบวนการบำบัด เมื่อพ้นจากคุกก็กลายเป็นผู้ด้อยโอกาส และไร้โอกาสทางสังคม

“นโยบายและกฎหมายยาเสพติดไทยเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์และสร้างอาชญากร ไม่มีวิธีการไหนจะสร้างอาชญากรได้ดีกว่าในคุก เอาคนติดยาและขายยาแค่ 4-5 เม็ดไปเข้าคุก พอออกมาไม่มีอนาคตก็เป็นผู้ร้ายในสังคม เหมือนระบบขายตรง มีการสร้างเครือข่าย พอใครเข้ามาเกี่ยวข้องต้องไปขายยาต่อ”

“เราไปใช้กฎหมายที่รุนแรงกับรายเล็กรายย่อย หรือที่เรียกว่ามดยา ผู้เดินยา ถ้าเดินไปในคุกนักโทษยาเสพติด จะได้ยินเสียงแพะเยอะ ง่ายมากแค่ยัดยา พวกนี้เป็นกลุ่มไม่มีปากมีเสียงมากที่สุด นอกจากนั้นการเอาคนไปขังเอง 3 วัน ถ้าไม่มีวีดีโอเรื่องก็เงียบ”

นายวันชัย รุจนวงศ์ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม

วิธีแก้ปัญหายาเสพติดไทยล้มเหลว

นายวันชัยกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศแถบยุโรป เช่น ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ โดยรัฐจะแยกระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้เสพ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ขณะที่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายเล็กถือเป็นปัญหาสังคมที่ต้องแก้ด้วยปัญหาสังคม รัฐจะมองว่ารายเล็กส่วนใหญ้ยังสามารถทำงานได้ จึงให้ไปลงทะเบียนและเข้ากระบวนการรักษากับจิตแพทย์บำบัด เมื่อถึงเวลาคลินิกนิรนามจะให้ยาไปใช้เฉพาะจุดที่จัดไว้ให้ และห้ามนำออกไปใช้ภายนอก เพื่อให้ไม่ไปขายยาหรือมีส่วนร่วมในวงจรยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น

“สวีเดนเป็นประเทศที่มีคนตายจากการเสพยาเกินขนาดมากที่สุด แต่มีนักโทษน้อยมาก เพราะเขารู้ว่าการจับกุมเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ เราไปเอาแบบมาจากอเมริกาที่มีนักโทษมากที่สุดในโลก มีปัญหายาเสพติดเกือบทุกถนนในเมือง” นายวันชัยกล่าวเสริม

“ทางแก้ในไทยคือต้องเปลี่ยนวิธีการ ไม่ทำแบบเดิม ข้อมูลก็เห็นแล้วว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ 40 ปี จากอดีตที่จับได้หลักแสน ปัจจุบันจับได้ปีละ 10 ถึง 20 ล้านเม็ด อาชญากรเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมล้มเหลวจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่คดีอื่นๆ มีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นวิธีที่ผิดวิธีมาตลอด แต่เราไม่กล้าแก้ปัญหา”

ส่วนกรณีอดีตผู้กำกับโจ้ที่ประเด็นเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง นายวันชัยอธิบายว่า ในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีคนหน่วยงานอื่นเข้ามาสอบสวน เพราะถ้าสอบสวนกันเองจะเกิดคำถามเรื่องความโปร่งใสและความเป็นธรรมตามมา

อ.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าตามหลักกฎหมายจะให้ความสำคัญกับการควบคุมอาชญากรรมเพื่อให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่การใช้อำนาจควบคุมเป็นการใช้ความรุนแรงในรูปแบบหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคุมขังและเข้าถึงข้อมูลได้ แม้ว่ารัฐจะทำเพื่อวัตถุประสงค์ที่ดี แต่อำนาจที่รัฐใช้อย่างคือการแทรกแซงเสรีภาพของประชาชน แต่ยังทำได้เพราะทำในนามผลประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่รัฐมีอำนาจหรือมีกฎหมายบอกให้ใช้อำนาจได้

“รัฐมี Due Process มีกฎหมายว่าใช้ความรุนแรงเพื่อเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ ความรุนแรงที่เป็นไปได้จริงๆ จะไปสิ้นสุดที่คำสั่งศาล ศาลบอกว่าให้เกิดการลงโทษจำคุก ก่อนหน้านั้นเป็นการแทรกแซงสิทธิที่จำเป็นในการแสวงหาข้อเท็จจริงเท่านั้น”

อ.ฐิติรัตน์กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ประชาชนยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐแทรกแซงสิทธิเสรีภาพได้ เพราะความไว้วางใจของคนในสังคม ซึ่งเชื่อใจว่าถ้าเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงจะนำมาซึ่งการป้องกันอาชญากรรมที่ร้ายแรงในสังคม แต่สุดท้ายการใช้อำนาจต้องทำเป็นเพื่อปกป้องคนทั้งสังคม ไม่ใช่เพื่อแสวงหาความจริงเพียงอย่างเดียว

อ.ฐิติรัตน์อธิบายว่า Due Process เป็นแนวคิดเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของรัฐ แต่ถ้าไม่มีกระบวนการดังกล่าว ผลที่ตามมาคือการคอร์รัปชั่นและเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่ถูกลงโทษ เข้าข่ายพ้นผิดลอยนวล และไม่มีความโปร่งใส และเมื่อรัฐไม่ได้รับความไว้วางใจและผูกขาดการใช้ความรุนแรงจะนำไปสู่สภาวะความวุ่นวาย (Chaotic)

อ.ฐิติรัตน์กล่าวต่อว่า “ตัวอย่างคดีนี้ทำให้เห็นว่าพอมีความโปร่งใสบางอย่าง กรณีนี้คือกล้องวงจรปิด เราเห็นปัญหาต่างๆ ที่ซุกใต้พรมชัดเจนขึ้น ปัญหาเหล่านี้นำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจของคนในสังคม (distrust)”

อ.ฐิติรัตน์มองว่า การแก้ปัญหานี้ต้องเริ่มจากการห้ามการทรมาน ห้ามการบังคับสูญหายและห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีมิชอบ แต่ลำพังการห้ามเฉยๆ อาจไม่นำไปสู่การแก้ไขในทางปฏิบัติ ดังนั้นจะต้องสร้าง ‘กลไกตรวจสอบ’ กล่าวคือมีบันทึกกระบวนการทำงาน เช่นใช้กล้องบันทึกวีดีโอระหว่างสอบสวน ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

“ไม่ใช่ว่าตรวจสอบอย่างเดียวแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ถ้าคนทำงานอยู่ในสภาวะอึดอัดและไม่สามารถทำตามหลักการ เขาก็ไม่สามารถทำงานได้อยู่ดี ดังนั้นต้องมีทางเลือก เครื่องมือในการสืบสวนสอบสวนวิธีอื่นๆ วิทยาศาสตร์และงานวิจัยบอกว่าการเค้นข้อมูล (ลักษณะอดีตผู้กำกับโจ้) ไม่ทำให้ได้ข้อมูลที่จริง อาจจะได้ข้อมูลเกินจริงหรือบิดเบี้ยวด้วยซ้ำ นำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย”

“เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น อัยการและศาลต้องเข้ามาตรวจสอบ เป็นภาระการพิสูจน์ของภาครัฐที่อธิบายให้ได้ว่าช้อกล่าวหานั้นไม่จริง ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนแสวงหาเอาเอง ทางแก้คือทำให้คนมั่นใจว่าเราสามารถอยู่ในสังคมที่เป็นระบบระเบียบได้ ถ้าการจัดการอาชญากรรมมีประสิทธิภาพ ความเชื่อว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่พอรับได้ก็จะน้อยลง”

นอกจากนี้ อ.ฐิติรัตน์มองว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อสร้างแรงกดดันให้องค์กรอื่นๆ ให้ตรวจสอบมากขึ้น อีกทั้งรัฐต้องให้ข้อมูลกับประชาชนว่าตนมีสิทธิอะไร และเจ้าหน้าที่ควรตอบให้ได้ว่าใช้อำนาจเหล่านั้นตามกฎหมายอะไร

สร้างแนวคิดให้กฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนและจ้าหน้าที่รัฐ

“หลายประเทศบังคับว่าถ้ามีการสอบสวนต้องบันทึกเทปในการสอบสวน เพื่อแสดงความโปร่งใสว่าดำเนินการตามสิทธิต่างๆ เพราะถ้าไม่บันทึกอาจจะพิจารณาไม่รับเป็นพยานหลักฐาน” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวเสริม และเสริมว่า

“มีคำถามว่าตำรวจจะหาพยานหลักฐานจากไหน ในเมื่อผู้ต้องหาคือแหล่งเก็บพยานหลักฐานได้ดีที่สุด แต่ปัจจุบันมีวิธีการมากมาย ทั้งนิติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคนิคการสอบสวน แต่คนเหล่านี้ขาดการอบรมเทคนิคใหม่ๆ เพราะอยู่กับการทำงานเดิมๆ การพัฒนาองค์ความรู้เทคนิคทักษะคือสิ่งจำเป็น”

ผศ.ดร.ปารีณาให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีประเด็นรางวัลนำจับหรือที่เรียกว่าสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในคดียาเสพติด เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐลดการคอร์รัปชั่นและสร้างแรงจูงใจให้ทำคดีได้ แต่กลับเป็นดาบสองคมเพราะผู้ต้องหาถูกยัดคดีและถูกสอบสวนด้วยวิธีการโดยมิชอบ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีตัวชี้วัดการทำงานตามจำนวนคดีที่จับได้

ผศ.ดร.ปารีณากล่าวถึงประเด็นการตรวจสอบว่า ประเทศไทยต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด รวมทั้งสื่อและภาคสังคมเนื่องจากทุกกลไกเชื่อมโยงกัน และกระบวนการออกกฎหมายต้องเริ่มจากมุมมองว่า ‘กฎหมายจะเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาสังคม’ หรือเป็น ‘เครื่องมือของรัฐในการแก้ปัญหาสังคมเพื่อประชาชน’ และเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งจากประชาชนด้วยกันเองและเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้นกฎหมายทุกฉบับควรเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่รัฐเป็นศูนย์กลางหรือเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเหมือนกรณีที่ผ่านมา

ท้ายที่สุด ผศ.ดร.ปารีณา สรุปว่า ทั้งหมดนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ สังคมต้องมองว่าแนวคิดการคุ้มครองสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ควรให้ความสำคัญแค่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมถึงสังคมและสื่อ