ThaiPublica > เกาะกระแส > “TIJ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หาโมเดลสอบสวน…กรณีศึกษาคดีอาชญากรรมของนอร์เวย์

“TIJ-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หาโมเดลสอบสวน…กรณีศึกษาคดีอาชญากรรมของนอร์เวย์

10 เมษายน 2018


ดร. อิวาร์ ฟาร์ซิ่ง ผู้กำกับการหน่วยสืบสวนสอบสวน

“จากการสอบปากคำ สู่วิธีการสืบสวนสอบสวนโดยการสัมภาษณ์” TIJ จับมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสอบสวนในคดีอาญา

ถ้าคนสองคนพูดไม่ตรงกัน แปลว่าคนใดคนหนึ่งต้องโกหกหรือไม่ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้วิธีการใดพิสูจน์ข้อเท็จจริง สอบปากคำ สอบถามพยานข้างเคียง หรือใช้เครื่องจับเท็จ แต่ละองค์กรอาจมีคำตอบที่ต่างกันไป และในความเป็นจริง การที่คนสองคนพูดไม่เหมือนกัน อาจจะไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวความเท็จหรือบิดเบือนความจริง แต่เป็นเพราะต่างคนต่างให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงจากฝั่งตนเอง หรือสิ่งที่สมองมนุษย์จำได้

นักวิทยาศาสตร์ทำการทดสอบหลายครั้งจนพบว่า สมองของเรามีวิธีทำงานที่ต่างไปจากที่เราเคยคิด เนื่องจากข้อมูลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมีมหาศาล สมองต้องพยายามแปลความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนำไปจัดเก็บ การจัดเก็บข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ยังมีสูญหาย นับประสาอะไรกับข้อมูลในสมองของคนเรา นอกจากนี้ สมองของเรายังโฟกัสได้เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ความยุ่งเหยิงวุ่นวายในชีวิตประจำวันทำให้เราพยายามปรับตัวเองให้ทำหลายๆ สิ่งพร้อมกันในเวลาเดียวกัน (multitasking) ผลก็คือ สิ่งที่เรา “เชื่อว่า” เห็น จำได้อย่างมั่นใจ อาจไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ผลการทดลองดังกล่าวสะท้อนว่า แนวคิดเกี่ยวกับการแสวงหาความจริงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ จึงควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเที่ยงตรงมากขึ้น

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชิญศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ มหาวิทยาลัยออสโล จัดประชุมหารือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสอบสวนในคดีอาญา “จากการสอบปากคำ สู่การสืบสวนสอบสวนโดยวิธีการสัมภาษณ์” โดย ดร.อิวาร์ ฟาร์ซิง นายตำรวจนักสืบผู้ช่ำชองคดีอาชญากรรมของนอร์เวย์

ดร.อิวาร์ กล่าวว่า ตำรวจก็เหมือนมนุษย์ทั่วไปที่แปลความหมายจากสิ่งที่เราเห็น ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีที่คนพูดไม่ตรงกัน ก็จะปักธงหาว่าใครพูดเท็จ วิธีการสอบสวนจึงเป็นวิธีจับโกหกด้วยเทคนิคต่างๆ ซึ่งเป็นที่ปฏิบัติแพร่หลายทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 ถ่ายทอดสืบต่อกันมาในกลุ่มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการหลอกล่อ ตั้งคำถามนำ เน้นย้ำคำถามเดิมๆ สอบสวนเป็นเวลานาน จนถึงการบังคับขู่เข็ญทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะได้มาซึ่งคำสารภาพ ซึ่งเมื่อผู้ต้องสงสัยถูกกดดันหนักเข้า ก็อาจยอมรับสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้ทำเพื่อให้พ้นจากสภาพการกดดันนั้น และด้วยการตั้งสมมติฐานแบบนี้ อาจทำให้เจ้าหน้าที่ละเลยพยานหลักฐานอื่นที่อาจหาได้เพิ่มไม่ว่าจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการสอบพยาน กรณีศึกษาตัวอย่าง ไมเคิล เด็กชายวัยรุ่นที่ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมน้องสาววัย 12 ปี ถูกบีบคั้นหนักระหว่างการสอบปากคำจนทนไม่ไหว รับสารภาพในสิ่งที่ไม่ได้ทำ ในที่สุดแม้จะพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นผู้อื่นลงมือกระทำ แต่ชีวิตของทั้งไมเคิลและบิดามารดาก็ถูกทำลายอย่างไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้

เพราะฉะนั้น หลักสิทธิมนุษยชนที่องค์กรตำรวจควรยึดถือเป็นหลักปฏิบัติคือ ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ (the rights to be presumed innocent) ประเด็นสิทธิมนุษยชนจึงกลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญในการสอบปากคำผู้ต้องสงสัย เพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพที่มีประสิทธิภาพเพียงพอและสามารถนำไปใช้ได้ในชั้นศาล ที่สำคัญ วิธีการที่จะได้มาซึ่งข้อมูลจะต้องไม่เกิดจากการบังคับ ขู่เข็ญ ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ (mind torturing) เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ได้มาคือคำสารภาพที่ไม่เต็มใจ เป็นข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดน้ำหนักและความเที่ยงตรง ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนพึงได้มาจากการสอบปากคำ

เมื่อ 15 ปีก่อน ทางนอร์เวย์ได้ริเริ่มโครงการฝึกอบรมการใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงสืบสวนสอบสวน (investigative interviewing methods) ผสมผสานการใช้จิตวิทยาขั้นสูง และเมื่อพบประสิทธิผลเป็นที่น่าพึงพอใจ ก็ได้เริ่มนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ บราซิล จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยหนึ่งในวิธีสอบสวนโดยการสัมภาษณ์นั้นเรียกว่า โมเดล CREATIVE คือ

  • Communication
  • Rule of Law
  • Ethics and Empathy
  • Active Awareness
  • Trust through Openness
  • Information
  • Verified by Research

โมเดลข้างต้นได้พัฒนาแนวคิดมาจากโมเดลของอังกฤษที่ชื่อว่า ‘PEACE’ ย่อมาจาก Planning and Preparation, Engage and Explain, Account, Closure and Evaluation โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. Planning and Preparation การเตรียมพร้อมสภาพร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดี อย่าลืมว่า ในที่เกิดเหตุ เรายังต้องปิดพื้นที่ไม่ให้ผู้อื่นเข้าไป เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนบิดเบือนของหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จิตใจและสมองของผู้ต้องหาก็ควรจะได้รับการปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้ความทรงจำของเขาถูกปนเปื้อนจากแนวคิดของผู้อื่น

2. Engage and Explain เริ่มบันทึกการสัมภาษณ์ โดยสร้างความเชื่อใจให้กับผู้ถูกสัมภาษณ์ โดยใช้เหตุผลและคาดว่าจะได้ลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน

3. Account มีการสัมภาษณ์เชิงลึกมากขึ้น ตรวจสอบข้อมูลที่ได้มาโดยไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหารู้สึกเหมือนโดนจับผิด

4. Closure สรุปข้อมูลที่ได้มาด้วยวิธีการเชิงบวก (positive closure)

5. Evaluation ประมวลผลการสัมภาษณ์ทุกครั้ง โดยประเมินประโยชน์ของข้อมูลที่ได้มา ประสิทธิภาพของการสืบสวน และประเมินการทำงานของพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของ PEACE โมเดล เป็นไปเพื่อลดความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) และคำสารภาพและข้อมูลที่ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างจากเทคนิคแบบเดิมๆ ที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้กระทำผิดสารภาพ การสัมภาษณ์จะทำให้ผู้สอบสวนเปิดใจรับฟังมากขึ้น และรับฟังโดยปราศจากอคติ ที่สำคัญ เป็นการนำเสนอเทคนิคและวิธีการสืบสวนสอบสวนในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นการใช้คำถามปลายเปิด การรับฟังแบบตั้งใจเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์

จากประสบการณ์ของตำรวจนอร์เวย์ เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงสืบสวนสอบสวนเป็นวิธีการที่ผู้ต้องสงสัยยินยอมที่จะให้ปากคำ แม้ว่าต้องใช้เวลาในการอธิบายถึงวัตถุประสงค์ ขั้นตอน และสิทธิที่มี เพราะทางผู้สัมภาษณ์ให้ความเคารพเกียรติและศักดิ์ศรีผู้ให้ปากคำโดยไม่ได้มีท่าทีของการตัดสินผิด-ถูกในชั้นสืบสวนสอบสวน และผู้ให้ปากคำสามารถให้ทนายมีส่วนร่วมสังเกตการณ์และให้คำปรึกษาในการสัมภาษณ์ได้

สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอคือ ต้องพิจารณาสิ่งที่อาจเกิดขึ้นตรงข้ามกับคำให้การ ตั้งข้อสังเกตหลายๆ อย่าง หาคำอธิบายและหนทางเป็นไปได้ที่หลากหลาย (competing stories) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้มองข้ามปัจจัยใดไป หาพยานและหลักฐานที่เชื่อถือได้มาเพื่อประกอบการพิจารณา แล้วจึงตัดสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นออกทีละข้อ ที่สำคัญคือต้องมีการ cross check ซึ่งนับว่าเป็นเทคนิคพื้นฐานที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง โดยต้องมีการหาหลักฐานประกอบอย่างละเอียด ทั้งที่อาจเป็นส่วนสนับสนุนตามคำให้การหรือแม้แต่ส่วนที่อาจมาหักล้าง จากนั้นนำคำอธิบายเหล่านั้นมาทดสอบ ด้วยความช่วยเหลือจากการสัมภาษณ์ผู้ต้องสงสัยอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จริงเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจทำสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่มักเป็นเพียงการทำตามสัญชาตญาณ จึงควรนำมาสร้างให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ

ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้เริ่มนำแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาเป็นแนวทางปฏิบัติในการสืบสวนสอบสวน ซึ่งทางสำนักงานตำรวจนอร์เวย์ก็ยินดีอย่างยิ่งในการที่จะประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อนำแนวคิดและโมเดลที่ได้ปฏิบัติและเห็นผลเป็นอย่างดีมาช่วยเสริม และปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและตอบโจทย์ของสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคงไม่สามารถเปลี่ยนได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่การริเริ่มและกระทำสิ่งใหม่ๆ ก้าวที่สำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดคือก้าวแรก

ในวันนี้ที่รัฐบาลไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตำรวจไทย นับเป็นจังหวะที่ดีที่จะปรับปรุงและพัฒนาในทุกมิติของตำรวจ ในการพลิกโฉมตำรวจไทยให้ก้าวไปสู่จุดที่เป็นตัวอย่าง best practice เพื่อนำพาสังคมไทยสู่สังคมที่ปลอดภัย มีการเข้าถึงกฎหมายอย่างเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน อันจะนำมาซึ่งสังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ หากองค์กรตำรวจไทยสามารถนำวิธีการสอบสวนดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับระบบในประเทศได้ จะไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อระบบการสอบสวนและปกป้องสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกล่าวหา แต่ยังช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ถึงระบบยุติธรรมที่โปร่งใส และนำมาสู่ความชอบธรรมของภาครัฐในท้ายที่สุดด้วย