ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ThaiPublica Note > ThaiPublica Note : Laughtivism: ขำเขย่าอำนาจ

ThaiPublica Note : Laughtivism: ขำเขย่าอำนาจ

20 กันยายน 2021


  • การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นไปด้วยความขึงขัง จริงจัง หรือรุนแรงเสมอไป ทุกวันนี้มีแนวทางใหม่ที่เรียกว่า laughtivism ซึ่งเป็นการนำเสียงหัวเราะมาเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
  • เสียงหัวเราะมีพลังที่สามารถสั่นคลอนอำนาจได้ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่รับมือได้ยากสำหรับผู้มีอำนาจที่ตกเป็นเป้าของเสียงหัวเราะ เพราะหากไม่รับมือ เสียงหัวเราะที่มีต่อตนจะดังขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ารับมือจริงจังก็จะทำให้ตนดูขบขันไป
  • เสียงหัวเราะในฐานะเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองสามารถเปิดพื้นที่ใหม่ให้สิ่งที่ไม่เคยมีพื้นที่หรือถูกกดขี่เอาไว้ได้

  • เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล โดยทั่วไปเราก็คงนึกถึงภาพของการชุมนุมทางการเมืองที่มีความขึงขัง ดุดัน หรือกระทั่งรุนแรง และถ้าจะพูดถึงการชุมนุมแบบสันติที่ปราศจากความรุนแรง เราก็อาจจะนึกถึงอะไรอย่างการทำอารยะขัดขืน ซึ่งเป็นการจงใจฝ่ายฝืนกฎหมายข้อต่างๆ เพื่อให้คนเห็นถึงความไม่เป็นธรรมของกฎหมายข้อนั้นๆ

    แต่ในความเป็นจริง การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป ปัจจุบันมีคำคำหนึ่งที่ผุดขึ้นมาเป็นอีกแนวทางเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง คำคำนั้นก็คือ laughtivism

    คำว่า laughtivism นี้เกิดจากการผสมคำสองคำเข้าด้วยกัน คือ laughter (เสียงหัวเราะ) กับ activism (การเคลื่อนไหวทางการเมือง) ดังนั้น ถ้าแปลอย่างง่ายๆ laughtivism ก็หมายถึง การใช้เสียงหัวเราะมาเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

    ฟังดูแปลกประหลาด และขัดกับภาพของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เราเคยคุ้นชินกันมา แต่การจะเข้าใจได้ว่าเสียงหัวเราะเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างไร เราคงต้องเข้าใจลักษณะ 2 ประการของเสียงหัวเราะที่ทำงานอยู่ในสังคม… ในชีวิตประจำวันของเรา

    ถ้าเราแบ่งประเภทของเสียงหัวเราะโดยพิจารณาในเชิงที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ การหัวเราะจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ 1. การหัวเราะเพื่อกดขี่ และ 2. การหัวเราะเพื่อปลดปล่อย

    การหัวเราะเพื่อกดขี่ อาจเรียกได้อีกอย่างเป็นการหัวเราะเพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจ โดยอำนาจที่ว่านี้ ได้แก่ กฎ ระเบียบ ขนบประเพณี หรืออะไรอื่นใดที่ทำหน้าที่เป็นมาตรฐานควบคุมความเป็นไปของสังคม เสียงหัวเราะประเภทนี้จะดังขึ้นเมื่อเมื่อคนทำอะไรผิดไปจากมาตรฐานนั้น โดยอาจเป็นเพียงการหัวเราะด้วยความขบขัน หรือกระทั่งเยาะเย้ยเหยียดหยาม ซึ่งนี่เกิดขึ้นได้ในทุกระดับ ไม่ว่าจะในระดับมาตรฐานที่ยึดถือร่วมกันเป็นการส่วนตัว เฉพาะกลุ่ม หรือกระทั่งในสังคมไปจนถึงระดับรัฐ ยกตัวอย่างให้กว้างและง่ายคือ การหัวเราะเมื่อพบคนที่ทำอะไรแปลกๆ เพราะนัยหนึ่งของความแปลกก็คือการผิดแผกไปจากมาตรฐานต่างๆ อันน่าจะเป็นที่ยึดถือร่วมกัน

    ส่วนการหัวเราะเพื่อปลดปล่อย ก็เรียกได้อีกอย่างว่าคือการหัวเราะเพื่อบ่อนทำลายอำนาจ เสียงหัวเราะประเภทนี้ก็ดังขึ้นได้เพราะอำนาจใดๆ ในสังคมเช่นกัน ทว่าไม่ใช่การนำมาตรฐานอันเป็นอำนาจนั้นมาเป็นบรรทัดฐานในการหัวเราะใส่คนที่ทำตัวผิดแผกแปลกไป แต่เพราะอำนาจนั้นมันช่างน่าขันเสียนี่กระไร ไม่ว่าจะเพราะล้าหลัง ไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือกระทั่งไม่ทันโลกอันเต็มไปด้วยนานาอารยประเทศ

    จุดร่วมที่สำคัญของการหัวเราะทั้งสองแบบก็คือ ล้วนเป็นการหัวเราะที่แสดงถึงการไม่ยอมรับและปฏิเสธ โดยในขณะที่การหัวเราะเพื่อกดขี่เป็นการแสดงออกว่าไม่ยอมรับและปฏิเสธผู้ที่มีความผิดแผกไปจากมาตรฐาน การหัวเราะเพื่อปลดปล่อยกลับคือการแสดงออกว่าไม่ยอมรับและปฏิเสธซึ่งมาตรฐานอันมีอำนาจควบคุมอยู่นั้น และในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานแบบใหม่ขึ้นมาด้วย

    การหัวเราะเพื่อปลดปล่อยนี่เองที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวตามแนวทางของ laughtivism

    มีความเป็นไปได้ว่า เผด็จการ หรือผู้ที่ต้องการควบคุมทุกอย่างไว้ใต้อำนาจนั้นกลัวเสียงหัวเราะนัก อาจจะกลัวยิ่งกว่าการลุกขึ้นมาฮึดฮัดถึงขั้นจับอาวุธสู้เสียอีก

    ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะเสียงหัวเราะเพื่อการปลดปล่อยนั้นเป็นสิ่งที่รับมือยากที่สุด ลองนึกภาพว่าหากเราอยู่ในประเทศเผด็จการประเทศหนึ่ง ที่แม้แต่การออกไปชุมนุมมือเปล่ายังถูกปราบปรามอย่างรุนแรง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเลยเปลี่ยนวิธีเป็นเอาถังแปะรูปหน้าผู้นำประเทศไปวางไว้ในที่สาธารณะพร้อมไม้อันหนึ่ง ที่พอคนเดินผ่านไปผ่านมาก็สามารถหยอดเหรียญแล้วหยิบไม้นั่นขึ้นมาตีถัง (แต่บังเอิญจังที่ไปโดนรูปหน้าผู้นำเผด็จการที่แปะไว้) ทำอย่างนี้คนแล้วคนเล่า ที่แล้วที่เล่า จนในที่สุดเจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็มาเพื่อยุติเหตุการณ์ แต่ว่าพวกเขาจะทำอะไรได้ นอกจากเอาถังนั่นขึ้นรถไป

    เหตุการณ์ที่เหมือนจะสมมติดังกล่าว แท้แล้วเคยเกิดขึ้นจริงในประเทศเซอร์เบีย และเกิดขึ้นก่อนจะมีคำว่า laughtivism เสียอีก โดยในตอนนั้น กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า Otpor! (Отпор! ความหมายในภาษาอังกฤษก็คือ Resistance! หรือแปลเป็นไทยได้ว่า การต่อต้าน!) ใช้กลยุทธ์แบบนั้นในการต่อต้านประธานาธิบดีสลอบอดัน มีลอเชวิช (Slobodan Milošević) และตอนที่ทำนั้น สุดท้ายมีคนมาต่อคิวเพื่อหยอดเหรียญตีถังกันมากมาย

    ซารัจยะ โปโปวิช (Srdja Popovic) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Otpor และเป็นหนึ่งในผู้ก่อการวางถังข้างต้น ได้กล่าวถึงข้อดีของการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้อารมณ์ขันมาสร้างเสียงหัวว่ามีดังนี้

    1. อารมณ์ขันช่วยทำลายความกลัว โปโปวิชบอกว่าความกลัวก็เหมือนอากาศที่เผด็จการใช้หายใจ ถ้าความกลัวหายไป เผด็จการย่อมไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ และอะไรจะทำลายความกลัวได้ไวเท่าอารมณ์ขันอีก

    2. อารมณ์ขันทำให้การเคลื่อนไหวดูดี ซึ่งพอดูดีแล้วคนก็จะอยากมาเข้าร่วม และนั่นหมายถึงการเติบโตของการเคลื่อนไหว

    3. อารมณ์ขันและการล้อเลียนจะทำให้ฝ่ายอำนาจซึ่งเป็นคู่ต่อสู้ของผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะถ้าไม่ลงมือปราบปรามอะไร คนก็จะเริ่มทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าลงมือไป ก็จะกลายเป็นตัวตลกในสายตาคน (ซึ่งในยุคนี้ก็อาจเป็นสายตาโลกได้เลย)

    โปโปวิชเล่าถึงเรื่องถังใบนั้นว่า เรื่องตลกที่สุดตอนตำรวจมาถึงก็คือ พวกเขาจะจับกุมนักเคลื่อนไหวก็ไม่ได้เพราะมีแต่ถัง จะไปจับคนที่มาตีถังก็ดูไม่สมเหตุสมผล สุดท้ายพวกเขาก็ได้แต่จับกุมถัง และภาพตำรวจจับกุมถังก็แพร่เป็นที่ขบขันไปทั่ว

    อำนาจที่ใช้แล้วน่าขันย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของผู้ใช้อำนาจนั้นเอง

    เรื่องราวของ Otpor อาจเป็นอะไรที่ไกลตัว แต่ถ้าดูในบ้านเรา เมื่อไม่นานมานี้ก็เพิ่งเกิดกรณีที่อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะสั่นคลอนอำนาจจนกลายเป็นกระแสใหญ่โตทั้งในด้านการต่อต้านและยอมรับ

    เหตุการณ์ดังกล่าวคือการไลฟ์ทางเฟซบุ๊กของ “2 พส” พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ โดยพระมหาสมปองนั้นถือว่าเป็นพระนักเทศน์สายฮาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในขณะที่พระมหาไพรวัลย์ก็เป็นภิกษุรูปหนึ่งที่แสดงความเห็นทางการเมืองผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นประจำ และจุดร่วมของพระภิกษุทั้งสองคือนอกจากมีอารมณ์ขันแล้วยังตามทันยุคสมัย มีความสามารถในการใช้ภาษาแบบที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจเพราะรู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ปรากฏใช้ในโลกออนไลน์ ทำให้การไลฟ์ครั้งนั้นของ 2 พส มีผู้ชมนับแสน และเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของทั้ง 2 พส และผู้ที่มาชม

    ไลฟ์ของ 2 พส ได้ปลดปล่อยการฟังเทศน์ฟังธรรมออกจากขนบเดิมๆ ที่ต้องมีลักษณะสงบเรียบร้อยดุจบ้านเมืองที่ปราศจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้เห็นการเทศน์ธรรมเช่นนี้ช่วยให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น เข้าถึงได้กระทั่งคนรุ่นใหม่ๆ ที่มักตกเป็นจำเลยว่าไม่สนใจศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ และไลฟ์ของ 2 พส ครั้งนั้นเข้าถึงคนต่างศาสนาด้วยซ้ำ

    ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นการสั่นคลอนอำนาจเดิมที่ครอบคลุมมาตรฐานของการเทศน์ธรรม ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของการร้องเรียน 2 พส เรียก 2 พส ไปชี้แจงทำความเข้าใจ หรือกระทั่งเสียงเตือนด้วยความห่วงใยจากพระผู้ใหญ่ถึงอนาคตในวงการคณะสงฆ์ของพระสงฆ์ทั้ง 2 รูป

    เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า เสียงหัวเราะสามารถเป็นพลังที่ใช้ในการสั่นคลอนมาตรฐานเดิมที่เป็นอำนาจครอบงำสังคม ไปพร้อมกับการเปิดที่ทางให้กับมาตรฐานใหม่ๆ ได้มีพื้นที่ขึ้นมาได้

    ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้อารมณ์ขันเพื่อสั่นคลอนอำนาจใดๆ คงไม่สำเร็จได้ด้วยเสียงหัวเราะเพียงแอะเดียว ครั้งเดียว หรือเรื่องเดียวแน่นอน

    และที่สำคัญ การใช้เสียงหัวเราะมาเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะสำเร็จได้ ก็อาจต้องอาศัยผู้นำที่มีความสามารถในการเข้าใจและรับฟังเสียง(หัวเราะ)ของประชาชนด้วย