ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ThaiPublica Note > ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 1)

ThaiPublica Note: ความเทาของคนไทย (ตอนที่ 1)

27 กันยายน 2021


  • เราคุ้นเคยกับความเทาทางกฎหมายในลักษณะแบบปากว่าตาขยิบ คือมีช่องทางให้หลบเลี่ยงเรื่องผิดกฎหมายได้ไม่ว่าช่องทางนั้นจะผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ชินกับกฎหมายที่อนุญาตให้เรื่องบางเรื่องมีความผิดกฎหมายน้อยลง
  • กฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จำเป็นต้องมี ดังนั้น การกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปของโลกจึงเป็นเรื่องจำเป็น
  • การปรับเปลี่ยนกฎหมายให้มีความรุนแรงลดลงไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การล่มสลายของสังคมเสมอไป

  • แม้โดยการทำงานแล้ว กฎหมายต่างๆ จะมีลักษณะของกระบวนการที่เป็นไปเพื่อสามารถแยกขาว-แยกดำออกจากกันอย่างชัดเจนเพื่อให้ได้คำพิพากษาที่ปลายทาง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเทาทางกฎหมาย อันเป็นพื้นที่ที่ความขาวความดำตามกฎหมายอยู่ร่วมกันในบางมิติ ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีให้พบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือกระทั่งสถิตอยู่ในทุกลมหายใจ

    ความเทาทางกฎหมายที่ว่านี้ หากพิจารณาให้ดีก็คงมีอยู่ 2 แบบ คือ

    1. เทาเพราะเป็นการกระทำที่คาบเส้น มีความหมิ่นเหม่ว่าจะผิดกฎหมายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็หมิ่นเหม่ว่าจะไม่ผิด หรือกระทั่งจริงๆ แล้วผิดกฎหมาย แต่มีช่องทางมากมายให้ใช้หลบเลี่ยงจากกฎหมายไปได้ ไม่ว่าช่องทางที่ว่านั้นจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม

    2. เทาเพราะจริงๆ แล้วยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอยู่ แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็อนุญาตไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยว่า ถ้าทำ ต้องทำแค่ไหนจึงจะไม่ผิดกฎหมาย

    คนไทยดูจะคุ้นเคยกับความเทาทางกฎหมายในแบบแรก (หรือจะบอกว่าชินก็คงได้) เลยทำให้บ่อยครั้งโดนค่อนขอดเอาจากคนไทยด้วยกันเองนี่แหละว่าเป็นสังคมที่ช่างปากว่าตาขยิบ มือถือสากปากถือศีล เพราะในขณะที่ทัศนคติทางศีลธรรมซึ่งมักแยกไม่ออกจากกฎหมายนั้นเราแยกดำแยกขาวชัดเจนเด็ดขาด แต่ในทางปฏิบัติแล้วเราเทาขมุกขมัวมากเสียจนบางทีก็สงสัยว่าจริงๆ นี่เป็นสีดำแล้วหรือไม่

    ส่วนความเทาทางกฎหมายในแบบที่สองนั้นคนไทยไม่คุ้นเคย และพอความไม่คุ้นเคยนั้นได้มาผนวกกับอุดมคติทางศีลธรรมที่แยกขาวแยกดำชัดเจนและผูกพันแน่นแฟ้นกับมุมมองทางกฎหมาย ก็กลายเป็นอุปสรรคเสมอเวลามีความพยายามจะทำให้อะไรต่อมิอะไรมีความเป็นอาชญากรรมน้อยลง หรือที่เรียกว่า decriminalization ซึ่งมักกลายเป็นประเด็นเดือดให้ก่นด่าได้ในทันที เพราะคนไปสับสนว่าคือการทำให้ถูกกฎหมาย (legalization) หรือเสรี (free) ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

    หากมองด้วยแว่นของสิทธิมนุษยชน (ซึ่งควรเป็นแว่นที่สวมกันทุกคนแล้วในปัจจุบันนี้) กฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือที่มีอำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ได้ตั้งแต่การห้ามเรื่องต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงกระทั่งห้ามมีชีวิตอยู่ (ประหารชีวิต) แต่อย่างไรเสียก็เป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อให้คนในสังคมไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพกันเอง ดังนั้นจึงต้องมีรัฐ มีตำรวจ มีอะไรก็ตามที่สังคมยอมรับให้ออกและบังคับใช้กฎหมายได้

    และเหนือสิ่งอื่นใด กฎหมายควรเป็นสิ่งที่มีการทบทวนเรื่อยๆ และเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไป เพราะกฎหมายหลายฉบับก็ถือกำเนิดขึ้นในยุคที่สิทธิมนุษยชนยังไม่เจริญเติบโต ทำให้เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปก็เกิดความไม่ได้สัดส่วน ไม่มีสมดุล ระหว่างตัวสิทธิเสรีภาพเองและการลิดรอนสิทธิเสรีภาพนั้นในนามของกฎหมาย ที่สุดท้ายหากปล่อยไว้ก็อาจกลายเป็นการทำลายสังคมที่กฎหมายพยายามรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเอาไว้เสียเอง

    นอกจากนี้ การทบทวนและปรับเปลี่ยนกฎหมายให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงไปของสังคมหรือโลก ก็ยังช่วยรักษาความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมเอาไว้ด้วย

    อนึ่ง แม้จะไม่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย ก็ยังมีตัวอย่างมากมายในโลกนี้ที่ชี้ให้เห็นว่า การปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อลดความเป็นอาชญากรรมของสิ่งที่เคยผิดกฎหมายร้ายแรงลง กลับทำให้สังคมได้ประโยชน์มากขึ้น และปัญหาบางประการ ที่เคยพยายามแก้ไขด้วยการทำให้เป็นอาชญากรรมเข้มข้นแล้วไม่ประสบความสำเร็จ กลับแก้ไขได้ด้วยการทำให้ความเป็นอาชญากรรมของเรื่องนั้นๆ ลดลง

    ThaiPublica Note ขอนำเสนอเรื่องราวของการลดความเป็นอาชญากรรมในเรื่องต่างๆ ทั่วโลก ที่สุดท้ายแล้วกลับส่งผลดีมากกว่าการใช้กฎหมายมาทำให้เรื่องนั้นๆ เป็นอาชญากรรมอย่างเข้มข้น และการลดความเป็นอาชญากรรมในเรื่องต่างๆ นั้นก็ไม่ได้ทำให้สังคมเดินทางไปสู่ความล่มสลายแต่อย่างใด

    โปรดติดตาม