ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ThaiPublica Note > ThaiPublica Note : คอลเอาต์คนดังให้คอลเอาต์ เปลือยความผุผังถึงฐานรากของสังคม

ThaiPublica Note : คอลเอาต์คนดังให้คอลเอาต์ เปลือยความผุผังถึงฐานรากของสังคม

4 กันยายน 2021


คอลเอาต์คนดังให้คอลเอาต์ ริ้วรอยความผุผังถึงฐานรากของสังคม

  • การคอลเอาต์คนดังเป็นผลจากการที่ตัวแทนในรัฐสภาไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนพลเมืองจึงต้องหาตัวแทนนอกสภา
  • การคอลเอาต์ของใครก็ตามควรเป็นสิทธิที่เลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำ แต่ในบางสถานการณ์แล้ว ก็อาจต้องมาขบคิดกันใหม่
  • การเรียกร้องทางการเมืองไม่จำเป็นต้องมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่อาจคือความพยายามสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา

  • 1. ทำไมถึงเกิดการเรียกร้องให้คนดังออกมาคอลเอาต์ทางการเมือง

    หลายคนคงรู้สึกว่า การออกมาคอลเอาต์ทางการเมืองควรจะเป็นเรื่องส่วนตัวที่สมาชิกของสังคมในฐานะประชาชนพลเมืองเลือกได้เองว่าจะทำหรือไม่ทำ ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใดๆ การคอลเอาต์ทางการเมืองควรเป็นสิทธิ หรือก็คือสิ่งที่เลือกได้อย่างอิสระเท่าที่จะอิสระได้ว่าจะทำหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำ

    ประเทศประชาธิปไตยควรเป็นเช่นนั้น เพราะประเทศแบบนั้นย่อมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่คอยทำหน้าที่เป็นตัวแทนแห่งสิทธิและเสียงให้ประชาชนพลเมืองอยู่แล้ว การเรียกร้องทางการเมืองโดยหลักจึงดำเนินไปในรัฐสภา ไม่ใช่บนท้องถนน หรือบนโลกออนไลน์

    แต่ก็เพราะอย่างนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่า การที่การคอลเอาต์ทางการเมืองทะลักออกมานอกสภาไปท่วมถมท้องถนน ทะลักล้นโลกออนไลน์ และถาโถมเข้าใส่คนดังในหลากหลายสาขา เพราะการเมืองในสภาไม่อาจทำหน้าที่อย่างที่ควรเป็นหรือไม่ เพราะภายใต้สถานการณ์ของการคอลเอาต์ที่แพร่หลายในช่วงที่ผ่านมานี้ ลักษณะร่วมทางความคาดหวังที่สังคมมีต่อนักการเมืองในสภาและคนดังนอกสภาก็คือ การเป็นตัวแทนแห่งสิทธิและเสียง ที่จะมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ แทนตัวเอง

    ในทำนองนี้ การคอลเอาต์คนดังให้ออกมาคอลเอาต์รัฐบาลอีกที จึงมีนัยไม่ต่างจากการเมืองบนท้องถนนในรูปแบบของการชุมนุมต่างๆ คือ ตัวแทนในรัฐสภาไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทำได้ไม่ดีในตัวเอง แต่อาจคือทำดีที่สุดแล้ว แต่มีปัจจัยอย่างอื่นทำให้ไม่ดีก็ได้) จึงต้องมีการหาตัวแทนเพิ่มเติมมาทำหน้าที่ในการใช้สิทธิใช้เสียงให้ประชาชนพลเมือง

    2. คนดังต้องคอลเอาต์ทางการเมืองตามที่ประชาชนพลเมืองคอลเอาต์มาหรือไม่

    ดังกล่าวไปแล้วว่า การคอลเอาต์ทางการเมืองนั้นควรเป็นสิทธิ ซึ่งหมายความต่อไปว่า ทั้งตัวผู้คอลเอาต์และผู้ถูกคอลเอาต์ให้ไปคอลเอาต์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต่างควรเลือกได้ว่าจะคอลเอาต์เรื่องนั้นๆ หรือไม่ ดังนั้นคงตอบได้ไม่ยากเย็นว่า คนดังไม่จำเป็นต้องไปคอลเอาต์ตามที่ถูกคอลเอาต์มา

    แต่ก็ดังกล่าวไปแล้วเช่นกันว่า การมาคอลเอาต์คนดังแทนที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็หมายความว่าเหล่าผู้ทรงเกียรติในสภาไม่อาจทำหน้าที่ได้ดีเพียงพอ จนประชาชนพลเมืองต้องมาหาตัวแทนทางสิทธิ์เสียงที่นอกสภา และคนดังทั้งหลายก็นับได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพล หรือในสมัยนี้ก็คืออินฟลูเอนเซอร์ ที่ไม่ว่าในแง่สิทธิแล้วจะมีแค่ไหน แต่ทางเสียงแล้วย่อมมีมากกว่าใคร ในทางหนึ่งเรื่องนี้จึงกลับกลายเป็นการพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนพลเมืองกับคนดัง ว่าสุดท้ายแล้ว engagement ที่มีต่อกันนั้นลึกล้ำระดับไหน ในความรักใครชอบพอที่มีให้คนดังแล้ว แท้จริงอยู่แค่ในระดับ “วงการบันเทิงอะเนอะ” หรือมากกว่านั้น เพราะนี่จะกลายเป็นตัวชี้วัดว่า คนคนหนึ่งกับคนจำนวนมากที่รักใคร่คนคนหนึ่งที่ว่านั้น มีทัศนคติถึงสังคมในอุดมคติไปในทางเดียวกันหรือไม่

    ที่เป็นนั้นก็เพราะคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นอกจากมิติของประชาชนพลเมืองทั่วไปที่มองคนดังเป็นผู้มีศักยภาพจะเป็นตัวแทนด้านสิทธิและเสียง ก็มีมิติของประชาชนพลเมืองซึ่งมีความรู้สึกนิยม ชอบพอ ไปจนถึงรักใคร่คนดังคนนั้นๆ และมีจินตนาการทางตัวตนไปมากกว่าฉากหน้าที่ได้เห็นผ่านสื่อต่างๆ ทำให้กลุ่มหลังนี้จะยิ่งคาดหวังความเป็นพวกเดียวกันจากคนดังมากกว่า ว่าจะต้องมีมุมมอง ทัศนคติ อุดมคติ ตรงกับตัวเองไปด้วย โดยอย่างน้อยก็คือในเรื่องใหญ่ๆ ที่มีผลต่อความเป็นทางสังคม อันกระทบต่อตัวคนที่นิยมคนดังด้วย

    แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ดังกล่าวไปแล้วว่าการคอลเอาต์ทางการเมืองควรเป็นสิทธิที่ใครก็เลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่หน้าที่ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำ ดังนั้น ในเมื่อการคอลเอาต์ล้นจากรัฐสภามาหกใส่คนดัง ซึ่งก็บอกไปแล้วว่านัยของเรื่องนี้ตัวแทนในรัฐสภาทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ คนดังทั้งหลายก็ควรมีสิทธิในการชั่งน้ำหนักและตัดสินใจเองว่า จะไปคอลเอาต์รัฐบาลตามที่โดนประชาชนพลเมืองคอลเอาต์มาหรือไม่ จะยังคงมองการคอลเอาต์เป็นสิทธิต่อไป หรือมองเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ

    3. คอลเอาต์ไม่ได้เดี๋ยวรายได้หด เมื่อการแสดงออกกลับกลายเป็นภาระที่กระทบถึงการดำรงชีวิต

    แม้ในระดับตามหลักการแบบสุดโต่งแล้ว คันดังที่ถูกคอลเอาต์ให้ไปคอลเอาต์ทางการเมืองอีกต่อ จะมีสิทธิเต็มที่ในเลือกว่าจะไปคอลเอาต์ตามที่ถูกคอลเอาต์มาหรือไม่ แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ดังกล่าวก็เป็นภาวะเขาควาย หนีเสือปะจระเข้ ทางสองแพร่ง หรืออะไรก็ตาม ที่ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ต้องเผชิญผลกระทบรุนแรงถึงระดับที่สะเทือนต่อการดำรงชีวิต หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นก็คือการหาเลี้ยงชีพ ได้ทั้งสิ้น

    ไม่คอลเอาต์ก็โดนแบน คอลเอาต์ก็โดนแบน

    มีคนดังหลายคนที่คอลเอาต์ทางการเมืองตั้งแต่ยังไม่โดนประชาชนพลเมืองมาคอลเอาต์ให้ไปคอลเอาต์ แล้วต้องได้รับผลกระทบทางอาชีพ คือ งานหด รายได้หาย หรือถึงขั้นต้องสูญสลายไปจากวงการที่ตนสังกัดอยู่ โดยเฉพาะในวงการบันเทิงระดับประเทศ ซึ่งอะไรแบบนี้ก็ทำให้คนดังในทุกระดับต้องร้อนๆ หนาวๆ ชั่งใจแล้วชั่งใจอีกเมื่อการคอลเอาต์วนเวียนมาถึงตนเองในที่สุด

    คำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมการคอลเอาต์ทางการเมืองถึงส่งผลกระทบรุนแรงได้ถึงขนาดนั้น

    แง่หนึ่งเราอาจมองว่าเป็นการไม่รู้จักแยกแยะของสังคม แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจมองได้ว่า เรื่องที่ถูกคอลเอาต์ให้ไปคอลเอาต์นั้นเป็นเรื่องใหญ่ระดับกำหนดความเป็นไปในสังคมระยะยาวจริงๆ จนทำให้เมื่อตัวแทนในรัฐสภาทำหน้าที่ได้ไม่สมความคาดหัวง คนดังนอกรัฐสภาเลยตกอยู่ในฐานะไม่ต่างกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เมื่อไม่อาจเป็นตัวแทนให้ประชาชนพลเมืองได้ ก็จะไม่ได้รับเลือกให้มีตัวตนในฐานะคนดังของสังคมอีกต่อไป

    แต่เรื่องหนึ่งที่เราจะลืมไปไม่ได้ในกรณีนี้ก็คือ นอกจากในแง่การแบนจากผู้สนับสนุนคนดังแล้ว ในกรณีที่เป็นคนดังมีสังกัด มีช่อง อยู่ในวงการระดับประเทศ ก็ยังมีการแบนจากผู้มีอิทธิพลในวงการเองด้วย

    เรื่องแบบนี้คงไม่น่าแปลกใจอะไรถ้าเรากันคนดังออกจากการเมืองมาตลอด แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยนั้น เราก็เคยพบว่ามีเหตุการทางการเมือง ที่นอกจากเป็นการต่อต้านรัฐบาลโดยตรงแล้วยังดำเนินไปบนท้องถนนเสียด้วย แต่ก็มีคนดังออกมาสนับสนุนทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เป็นจำนวนมาก แบบที่บางคนถึงขั้นขึ้นเวทีปราศรัยด้วยซ้ำ แต่พวกเขากลับไม่ได้รับผลกระทบอันใดนักจากแฟนานุแฟนหรือกระทั่งผู้มีอิทธิพลในวงการ

    เราไม่ต้องพูดเลยก็ได้ว่าการคอลเอาต์ดังกล่าวนั้นถูกหรือไม่ถูก ควรหรือไม่ควร แต่เราก็น่าจะต้องสงสัยใช่หรือไม่ว่า ในขณะที่การคอลเอาต์ในครั้งนั้นกูจะไม่เป็นอะไร แต่ทำไม ในภาวะปัจจุบัน ถ้าจะออกมาคอลเอาต์อย่างนั้นบ้าง กลับกลายเป็นเรื่องร้ายแรงถึงขั้นสะเทือนการดำรงชีวิต (นี่ยังไม่ต้องนับว่า คนดังหลายคนที่ไม่คอลเอาต์หรือกระทั่งแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการคอลเอาต์ในครั้งนั้น ก็ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่คราวนั้นแล้ว)

    ทั้งหมดทั้งมวลแล้วน่าจะพอเห็นได้ว่า 1. การคอลเอาต์ให้คนดังไปคอลเอาต์ทางการเมือง เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ตัวแทนในรัฐสภาไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามที่ประชาชนพลเมืองคาดหวัง จนทำให้ต้องเกิดการหาคนที่น่าจะพอเป็นตัวแทนทางสิทธิและเสียงนอกสภาได้ และนี่ไม่ต่างอะไรกับการเกิดขึ้นของการเมืองบนท้องถนนในรูปการชุมนุม 2. การคอลเอาต์คนดังที่น่าจะตอบปัญหากันได้ง่ายๆ ด้วยเรื่องสิทธิ VS หน้าที่ กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบถึงชีวิตของคนดังขึ้นมาได้ นั่นก็หมายความว่า

    สิทธิเสรีภาพในบ้านนี้กำลังเผชิญภาวะวิกฤติอย่างสาหัส จนการใช้สิทธิเสรีภาพอย่างควรเป็นพื้นฐานธรรมดาทั่วไป กลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักเพราะส่งผลสะเทือนถึงสิทธิในการมีชีวิตอยู่

    และยิ่งไปกว่านั้น แม้เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการคอลเอาต์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา ย่อมนำมาซึ่งความไม่สงบได้ในหลายระดับ แต่เราต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาด้วยว่า เมื่อเกิดความไม่สงบขึ้นในสังคม สิ่งที่อยู่ลึกลงไปในความไม่สงบนั้นก็คือสภาวะที่กฎระเบียบใดๆ ที่เป็นอยู่ ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงในบางส่วนหรือกระทั่งส่วนใหญ่ในสังคม และการคอลเอาต์ การเรียกร้อง การเคลื่อนไหวทางการเมือง

    ไม่ได้เป็นไปด้วยเจตนาที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเป็นหลัก แต่ด้วยความคาดหวังที่จะสร้างบรรทัดฐานขั้นต่ำชุดใหม่ หรือบรรทัดฐานขั้นต่ำที่ไม่เคยมี ให้เกิดขึ้นในสังคม