ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เอสซีจี จับมือมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ – สสน. – สยามคูโบต้า หนุนชุมชนแก้ภัยแล้งด้วยตนเอง

เอสซีจี จับมือมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ – สสน. – สยามคูโบต้า หนุนชุมชนแก้ภัยแล้งด้วยตนเอง

13 กุมภาพันธ์ 2020


โครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง”

เอสซีจี จับมือ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และสยามคูโบต้า หนุนชุมชนแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยตนเอง ด้วยความรู้คู่คุณธรรม ภายใต้โครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง”

ด้วยเล็งเห็นว่าปัญหาภัยแล้งปี2563 รุนแรงมากที่สุดในรอบ 40 ปี และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนอย่างมาก เอสซีจีจึงได้ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สสน. และสยามคูโบต้า จัดโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปีในปี 2564 ส่งเสริม 108 ชุมชนที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก แต่มีความสามัคคี เข้มแข็ง พร้อมเรียนรู้การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ให้สามารถวางแผนการจัดการน้ำด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วยตนเองตลอดกระบวนการ โดยใช้ระยะเวลา 2 ปี ภายใต้งบประมาณ 30 ล้านบาท และมีชุมชนแกนนำของอุทกพัฒน์ฯ รวมทั้งเอสซีจีร่วมเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้ชุมชนรอดพ้นวิกฤติและไม่ประสบภัยแล้งอีกต่อไป พร้อมได้รับความช่วยเหลือจากกำลังพลกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ร่วมสำรวจและพัฒนาพื้นที่ประสบภัยแล้งด้วย

องคมนตรี ศ.เกียรติคุณ เกษม วัฒนชัย กรรมการประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” องคมนตรี ศ.เกียรติคุณ เกษม วัฒนชัย กรรมการประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของโครงการว่าได้ทำมาตั้งแต่ปี 2558 ในการสนับสนุนชุมชนที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากให้บริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ด้วยการพึ่งพาตนเอง ใน 9 พื้นที่ทั่วประเทศ ช่วยให้มีน้ำสำรองกว่า 16 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนกว่า 6,700 ครัวเรือน มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร

“โลกประกอบด้วยน้ำ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลก แต่เป็นน้ำเค็มถึง 97 เปอร์เซ็นต์ มีเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์เป็นน้ำจืด ซึ่งน้ำจืดเหล่านี้มีที่มาจาก 2 แหล่ง 1. น้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งและหิมะ 2. น้ำฝน ทำให้ต้องหาทางกักเก็บ เมื่อฝนตกมาแล้ว 70% ของน้ำจะอยู่ที่ผิวดิน คือ ห้วย หนอง คลองบึง แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งอาจเกิดการแห้งเหือดได้หากฝนไม่ตกตามฤดูกาล”

อีกส่วนอยู่ในถ้ำซึ่งเวลาน้ำหลากจะมีน้ำล้นถ้ำ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำรัสให้สร้างเขื่อนหน้าถ้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง แต่เป็นจำนวนน้อยมาก น้ำอีกแหล่งคือน้ำบาดาล ซึ่งมีจำนวนจำกัด ในส่วนของน้ำฝนนั้นในปีหนึ่งสามารถกักเก็บได้เพียง 1 ใน 4 หากสามารถเก็บกักน้ำฝนไว้ได้จะการันตีได้ว่าแม้ปีหน้าแล้งจะสามารถมีน้ำใช้อยู่

ปัญหาภัยแล้งเกิดจากการบริหารจัดการไม่ดี มิใช่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ

ฝนที่ตกในประเทศไทยนั้นเกิดจาก 3 ปัจจัย ปัจจัยแรกจากลมมรสุม ซึ่งในปัจจุบันมีปัจจัยที่สองที่มีอิทธิพลต่อการเกิดฝนคือปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญาทำให้อากาศแปรปรวน บางปีแล้งบางปีฝนตกชุก อีกทั้งมี climate change เป็นปัจจัยที่สามทำให้น้ำนั้นระเหยเร็วกว่าปกติ

ชุมชนร่วมวางแผนการบริหารจัดการน้ำชุมชน

โดยการจัดการน้ำมีมาตั้งแต่อดีตแล้ว 700 ปีที่แล้ว พญามังรายได้ตราเรื่องการจัดการน้ำชุมชน เขียนไว้ในกฎหมาย มีการทำเหมืองฝาย มีกรรมการเหมือง เหมือนที่มีในปัจจบัน เพื่อป้องกันความขัดแย้งในการใช้น้ำ ซึ่งนอกจากจัดการน้ำที่ดีแล้วยังต้องมีคุณธรรมอีกด้วย จึงต้องสร้างสำนึกของการมีส่วนร่วม โดยในอดีตเมื่อสร้างฝายน้ำจะเกิดทรายอุดตันทำให้ตื้นเขิน หากไม่ลอกเหมืองฝายจะสามารถเก็บน้ำได้น้อยลง ดังนั้นกรรมการฝายน้ำจึงระดมประชาชนเพื่อลอกฝาย

แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีผลการวิจัยว่าเมื่อเกิด อบต. และ อบจ. พยายามระดมประชาชนเพื่อลอกฝายจะถูกประชาชนเรียกร้องเงินค่าจ้าง เนื่องจากประชาชนไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องส่วนรวม ซึ่งเป็นปัญหาของทุนนิยมเข้าไปทำให้ความจิตอาสาน้อยลง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาจึงพยายามสนับสนุนจิตอาสา การทำเพื่อส่วนรวม การทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อให้มีแรงงานขุดลอกฝาย หากสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมแล้วดูแลเหมืองฝายที่รัฐ เอสซีจี หรือประชาชนสร้าง จะทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้รวบรวมโครงการตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 4,000-5,000 โครงการ ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการจัดการน้ำ ดังนั้นจึงมีตัวอย่างและบทเรียนให้เรียนรู้จำนวนมากจากสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงออกแบบให้ในการดูแลเรื่องการเกษตร การจัดการดินน้ำ จนอาจสามารถเขียนเป็นตำราอุทกศาสตร์ได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ เมื่อ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เกิดปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ มีโรงเรียนจำนวนมากได้รับผลกระทบและมีผู้เสียชีวิต จึงรับสั่งให้ไปดูแลสามช่วง 1. ช่วยในระยะแรก ครัวเรือนที่มีการสูญเสีย โรงเรียนน้ำท่วมต้องหาอุปกรณ์การเรียนให้ได้ก่อนเปิดเทอม ชดเชยไร่นาที่เสียหาย 2. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 3. วางแผนในระยะยาวเพื่อไม่ให้เปิดปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมซ้ำ

ชุมชนใช้เเผนที่เพื่อสำรวจเเละวางแผนการจัดการน้ำ

ดังนั้นปัจจัยสำคัญของการอยู่รอดจากภัยแล้งอย่างยั่งยืนนั้น คือ “คนในชุมชนต้องร่วมแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยใช้ความรู้คู่คุณธรรม” ซึ่งต้องเริ่มจากการทำให้คนในชุมชนมีความรู้ รัก สามัคคี ลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง และแก้ไขปัญหาร่วมกัน ขณะเดียวกันต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดการแบ่งปันการใช้น้ำอย่างเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ หากชุมชนสามารถจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริดังกล่าวได้ด้วยตนเอง ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งน้ำแล้งและน้ำหลาก มีน้ำมาใช้ในการเพาะปลูก ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้ ขจัดความยากจนให้หมดไป

การบริหารจัดการน้ำชุมชน เเละเชื่อมต่อน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตร

ชุมชนต้องลุกแก้ปัญหาน้ำด้วยตนเอง

ด้านนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิอุทกพัฒน์ กล่าวถึงหลักการและความสำเร็จของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ว่า “ก่อนหน้านี้ 1 เดือน คณะผู้บริหารกิจการเพื่อสังคมของเอสซีจีได้ปรึกษา ดร.สุเมตรว่าจะแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างไร เนื่องจากเมื่อเกิดสภาวะวิกฤติเอสซีจีต้องการเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ทุกปีนั้น เอสซีจีมักพิจารณาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ปีนี้จึงปรับมุมมองใหม่ด้วยการมองปัญหาเป็นปัญหาระยะยาว โดยมองว่าต้องเข้าไปหาชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานะของบริษัทเพื่อกำจัดภัยแล้งให้หมดไป มูลนิธิอุทกพัฒน์เริ่มเข้าหาชุมชนมา 10-20 ปีแล้ว และได้ประสบความสำเร็จมากมาย”

นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิอุทกพัฒน์

ในการเข้าเฝ้าครั้งสุดท้ายที่ศิริราช รับสั่งว่า การแก้ไขปัญหาน้ำในระดับชุมชนได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว สมควรที่จะเผยแพร่ประสบการณ์ต่างๆ ออกไปให้ไกลที่สุด อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ พระองค์รับสั่งว่า หากทุกชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตนเองแล้วปัญหาระดับชาติจะทุเลาลง

ปัญหาที่น้ำในเขื่อนน้อยลงมากเนื่องจากประชาชนพึ่งพาน้ำจากรัฐ โดยรอน้ำจากเขื่อนมากเกินไป โดยไม่ได้พยายามที่จะพึ่งพาตนเองเลย เมื่อประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ จะทำให้มีน้ำในเขื่อนมากขึ้น แม้ในปีนี้จะมีภาวะแล้งแต่ 1,000 กว่าชุมชนที่อยู่กับโครงการนั้นไม่ประสบปัญหา ซึ่งมีวิธีการทำโครงการให้ประสบความสำเร็จนั้นยึดหลักสามประการ คือ

1. เข้าใจ เข้าใจว่าปัญหาคืออะไร น้ำท่วมเพราะอะไร น้ำจะไปในทิศทางใด น้ำไหลลงมาอย่างไร และไม่มีความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ที่ใช้ในการแก้ไข เมื่อไม่เข้าใจถึงเหตุจึงไม่เข้าใจว่าว่าต้องแก้อย่างไร ในปัจจุบันชาวบ้านมีความรู้มากขึ้นสามารถเข้าใจภูมิศาสต์และจัดการน้ำได้

2. เข้าถึง คือ การปฏิบัติ ต้องลงมือทำ เช่น บางแห่งมีแหล่งน้ำค่อนข้างสมบูรณ์หรือมีอุปกรณ์แต่ขาดการบำรุงรักษาที่ดี จึงต้องลงมือช่วยกันแก้ไข โดยต้องอ่านภูมิสังคมให้ออก จึงเข้าถึงการบริหารจัดการ

3. พัฒนา ไม่ควรยึดติดกับอดีต ต้องมีการปรับตัว พื้นที่ประเทศไทยนั้นรับน้ำ 7-8 แสนล้าน ลบ.ม. แต่สามารถเก็บน้ำได้เพียง 7.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเก็บได้เพียง 3.2 เปอร์เซ็นต์ ภาคเหนือสามารเก็บได้ 11 เปอร์เซ็นต์จากอ่างเก็บน้ำที่มีจำนวนมาก ภาคใต้จากภูมิอากาศที่ฝนตกชุกสามารถเก็บได้ 8 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้นในการทำเกษตรนั้นต้องยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงข้อแรกคือการประมาณตน จึงต้องประมาณตนก่อนว่าน้ำมีเท่าใดในการเกษตรแล้วปลูกพืชให้เหมาะสมกับจำนวนน้ำที่มี กล่าวคือ การวางแผนการผลิตต้องสอดคล้องกับทุนที่มีทั้งทุนเงินและทุนน้ำ ซึ่งมูลนิธิอุทกพัฒน์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการสอนให้รู้จักคิด สอนให้รู้จักคำนวณ สอนให้รู้จักเครื่องมือ สอนถึงความสามัคคีธรรมและการช่วยเหลือ

การหาพื้นที่สร้างแหล่งเก็บน้ำ

ในงานเปิดตัวนี้มีตัวแทนจากชุมชนที่ร่วมโครงการมาพูดถึงประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการหลายท่าน เช่น นายธีรพงษ์ กลิ่นฟุ้ง สารวัตกำนัน พื้นที่บ้านสาแพะเหนือ ตำบลบ้านสา อำเภอแจ้หิน จังหวัดลำปาง กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งที่ประสบและการแก้ปัญหาหลังร่วมโครงการว่า หมู่บ้านของตนประสบภัยแล้วเป็นอย่างมาก ประกอบอาชีพได้ลำบากเพราะภัยแล้ง ใน พ.ศ. 2558 ขาดแคลนน้ำเนื่องจากฝนทิ้งช่วงทำให้นาข้าวตายทั้งหมดไม่สามารถทำนาได้ จึงปรึกษากับกำนันและกรรมการหมู่บ้านเพื่อหาทางออกและพยายามสื่อสารกับชุมชนว่าหากไม่สู้ ภัยแล้งจะเกิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชาวบ้านเห็นด้วยอย่างมาก

“พื้นที่มีแหล่งน้ำเพียงแหล่งเดียวคือลำห้วยแก้ว แต่ไม่มีวิธีจัดการ จึงเข้าร่วมโครงการกับ SCG เป็นที่มาของโครงการฝายใต้ทราย stop log โดยฝายใต้ทรายจะขุดเป็นวัง ทั้งหมด 9 วัง แต่ละวังมีความยาว 40 เมตร มีความกว้างตามลำห้วย ทั้งนี้มีประชาชนในพื้นที่ร่วมมือกัน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม จึงเริ่มขุดวังเก่า จากนั้นจึงเสริมฝายและซ่อมแซม ทำอิฐ stop log คือการขุดลงไปใต้ลำห้วย แล้วนำดินเหนียวเข้ามาอัดแน่น แต่ในพื้นที่นั้นขาดแคลนดินเหนียว จึงใช้ปูนซีเมนต์แทนซึ่งใช้เวลาในการทำนาน โดยด้านหน้ามีที่เปิดปิดน้ำ เพื่อควบคุมการใช้น้ำ และได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ทำให้ชุมชนสามารถรอดพ้นจากภัยแล้งในปีนี้”

ชุมชนจัดการแหล่งน้ำด้วยตนเอง

ในหมู่บ้านปลูกพืชระยะสั้น มีระยะเก็บเกี่ยว 55 วัน เช่น ถั่วพุ่มเป็นพืชที่ปลูกในช่วงเวลาแล้งอันดับ 1 โดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ผักกาดเขียวปลีระยะเก็บเกี่ยว 65 วัน ผลจากการร่วมโครงการทำให้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง คนในชุมชนไม่อพยพไปทำงานในต่างถิ่น ทำให้ชุมชนมีชีวิตที่ดีขึ้น

จะเก็บน้ำ 2 ปีที่ฝนตก ให้ใช้ได้ 4 ปีที่แล้งได้อย่างไร

นายพิชาญ ทิพยวงศ์ ผู้ประสานมูลนิธิอุทกพัฒน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายน้ำชุมชน ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น อีกหนึ่งตัวแทนของชุมชนตัวอย่างกล่าวถึงปัญหาภัยแล้งที่ประสบและการแก้ปัญหาหลังร่วมโครงการเช่นกันว่า พื้นที่ของตนนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุด เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีสภาวะแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องซึ่งฝนจะตก 2 ปี และแล้ง 4 ปี ในอดีตชุมชนมี 300 คน หมู่บ้านนี้มีบ่อน้ำเพียงบ่อเดียว ซึ่งต้องแบ่งกันใช้ โดยน้ำเพื่อการอุปโภคนั้นต้องนำมาจากบ่อน้ำดื่มหน้าถ้ำ

ทั้งนี้ในอดีตชุมชนมองว่าภัยแล้งไม่สามารถจัดการด้วยตนเองได้ ต้องรอแต่ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ปัญหานี้ไม่เคยได้รับการแก้ไข ต่อมาจึงได้เรียนรู้เรื่องแหล่งน้ำชุมชนจากสถาบันสารสนเทศน์ทรัพยากรน้ำ โดย ดร.รอยล จิตรดอน ได้ให้ความรู้และตั้งคำถามว่า “จะสามารถเก็บน้ำ 2 ปีที่ฝนตกให้สามารถใช้ได้ 4 ปีที่แล้งได้อย่างไร”

ชุมชนร่วมกันขุดคลองดักน้ำหลากเพื่อกักน้ำในหน้าฝน สำรองน้ำใช้ในหน้าเเล้ง

สถาบันสารสนเทศน์ทรัพยากรน้ำจึงให้ความรู้เกี่ยวกับแผนที่ ชุมชนจึงเริ่มศึกษาจากแผนที่และโปรแกรม GIS จึงพบว่าในพื้นที่นี้ฝนนั้นตกสม่ำเสมอแต่ไม่มีการเก็บกักน้ำที่ดี จึงเริ่มทำทางน้ำและบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ อีกทั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์และ SCG ได้ให้ความช่วยเหลือจนคลองที่ขุดไว้สามารถดักทางน้ำหลากและไหลเข้าแก้มลิงเพื่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรได้ ซึ่งความสำเร็จในการจัดการน้ำทำให้การเกษตรของชุมชนพัฒนาขึ้น ไม่จำเป็นต้องเข้าไปใช้แรงงานตามเมืองต่างๆ และพัฒนาการเกษตรเป็นการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางพระราชดำริ โดยมีแหล่งน้ำประจำไร่นา และปลูกพืชหลากหลายมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีพืชพรรณธัญญาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีรายได้ ลดรายจ่าย สามารถอยู่รอดในภัยแล้งได้

“อยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรว่า อย่ารอคนอื่นมาแก้ไขปัญหา เมื่อน้ำคือชีวิต ทุกคนต้องการน้ำ เราต้องลุกขึ้นมา เรียนรู้เพื้อที่จะรอดจากภัยแล้งในปี ’63 ไปให้ได้” นายพิชาญกล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “ตลอด 41 ปีที่สยามคูโบต้าอยู่เคียงข้างเกษตรกรไทย ทำให้เราเห็นผลกระทบของภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง หากเกษตรกรไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ก็จะทำให้การเพาะปลูกยากขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตได้ สยามคูโบต้ามีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรกลการเกษตรและอะกริโซลูชันเกษตรครบวงจร หรือ KAS จึงได้สนับสนุนความรู้และการขุดแหล่งน้ำด้วยรถขุดขนาดเล็กคูโบต้า โดยมุ่งหวังว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้จะช่วยให้ชุมชนมีสระน้ำที่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและรายได้ที่มั่นคง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านเกษตรกรรมของประเทศไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน”

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด

นอกจากนี้ เอสซีจียังแบ่งปันน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วจำนวนประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ให้ชุมชนรอบโรงงานได้รับประโยชน์สำหรับทำการเกษตรในพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูก และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พร้อมตรวจสอบคุณภาพน้ำและผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้น้ำบำบัดของโรงงานตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนพื้นที่ในเหมืองทราย 8 แห่ง และพัฒนาเหมืองเก่า 7 แห่ง ให้สามารถกักเก็บน้ำได้รวม 44.3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อมอบให้เป็นแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ของชุมชน

การใช้โซลาร์เซลล์เพื่อช่วยผันน้ำเข้าแปลงเกษตร ช่วยลดค่าไฟฟ้า

เอสซีจีและเครือข่ายเชื่อมั่นว่า หากชุมชนมีความสามัคคีและลุกขึ้นมาจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการวางแผนการใช้น้ำ จะช่วยให้มีน้ำสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) โทร.086-626-6233 หรืออีเมล [email protected]