1721955
สัปดาห์ที่ผ่านมาจัดว่าสะเทือนทั้งแผ่นดิน ผู้เขียนก็คิดอยู่นานว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ซีรีส์ไหนจะเหมาะ เลยนึกไปถึงซีรีส์อินเดียเรื่องนี้ที่ในไทยไม่ค่อยมีคนเอ่ยถึงนัก อีกทั้งที่ผ่านมาคอลัมน์นี้ก็ยังไม่เคยเขียนถึงซีรีส์อินเดียเลย และล่าสุดมีข่าวลือว่า Netflix กำลังซุ่มทำซีซัน 2 ซึ่งเดิมทีจะออนแอร์สิงหาคมนี้ แต่เพราะสถานการณ์โควิดหนักในอินเดีย ตอนนี้เลยยังเติ่งอยู่ไม่รู้ชะตากรรมว่าตกลงซีซัน 2 จะมีจริงไหม
และเรื่องที่ว่านี้คือ Ghoul (2018) มินิซีรีส์ 3 ตอนจบ ที่ผนึกกำลังกันร่วมสร้าง 3 ค่าย เริ่มจากโปรดักชั่นอินเดียอย่าง Phantom Films ที่แจ้งเกิดสุดๆ จากซีรีส์แฉโครงข่ายอำนาจมืดในอินเดียอย่าง Sacred Games ตามมาด้วย เจสัน บลัม แห่ง Blumhouse Productions ที่เคยสร้างหนังสยองสุดปังอย่าง Insidious, The Purge, Get Out และ Us ไปจนถึง Ivanhoe Pictures ค่ายหนังในอเมริกาแต่ลงทุนสร้างหนังตามแถบจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ มีผลงานโดดเด่นเป็นหนังเกาหลีที่เคยติดโผคานส์มาแล้วอย่าง The Wailing (กำกับโดย นา ฮง-จิน โปรดิวเซอร์ว่าที่หนังไทยสุดหลอน “ร่างทรง” ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลงโรงบ้านเราเมื่อใด)
แม้จะเป็นซีรีส์อินเดีย แต่ก็ไม่แปลกใจที่เจสัน บลัม โปรดิวเซอร์ใหญ่จากฮอลลีวูด จะกระโดดมาลงทุนกับซีรีส์เล็กๆ เรื่องนี้ด้วย เพราะบลัมถนัดหนังสยองปนการเมืองตลอดมา
Ghoul เป็นซีรีส์ที่วางโครงเรื่องไว้ในโลกแบบดิสโทเปีย มีระบอบปกครองแบบฟาสซิสต์ ชาตินิยมสุดโต่ง พวกเขาไล่เผาตำราองค์ความรู้ต่างๆ ที่ผิดไปจากหลักปกครอง ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมถึงไล่ล่าพวกกบฏนอกรีตนอกรอยพาไปปรับทัศนคติ…ที่จริงๆ แล้วคือการซ้อมทรมานให้ยอมรับโทษที่ถูกปรักปรำก่อนจะนำไปขังหรือฆ่าทิ้ง
นิดา (รัตติกา แอปเต้) เจ้าหน้าที่กองป้องกันชาติ ฝ่ายสอบสวนระดับสูง เธอเป็นหญิงมุสลิมจากวรรณะจัณฑาลผู้ติดลิสต์รายชื่อเยาวรุ่นที่ถูกฝึกให้เป็นทหารสอบสวนรุ่นใหม่ เพื่อรับใช้รัฐบาลที่ต้องการผู้จงรักภักดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา คลั่งชาติสุดตัว และไม่ตั้งคำถามใดใดต่อระบอบ แม้ทางการจะเคลือบแคลงในความเป็นมุสลิมและกำพืดของเธอ แต่เธอก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ คือ การฟ้องร้องพ่อของเธอเองว่าเป็นพวกชังชาติไม่จงรักภักดี แม้นิดาจะเห็นความฉ้อฉลต่างๆ กับตาตนเอง แต่เธอก็ยังคงยึดมั่นศรัทธาในระบอบนี้ เธอให้เหตุผลว่า
“ทางการไม่ได้จับคนบริสุทธิ์ กองทัพจับแต่คนที่จำเป็นต้องปรับทัศนคติ…รัฐบาลต้องการให้เราได้รับแต่สิ่งที่ดีที่สุด…สามัคคีรักชาติ…แต่ชุมชนของเราหลงผิดตลอดมา”
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนเกี่ยวกับประเด็น “รักชาติ” เอาไว้ว่า ‘อันที่จริง ข้ออ้างให้รักชาติเพื่อต่อสู้ศัตรูภายนอกนั้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายเป็นการเมืองภายในทั้งนั้น อย่างอ้อมๆ บ้าง อย่างตรงๆ บ้าง การเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับศัตรูภายนอก ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลในการบังคับควบคุมคนภายใน ทั้งยังทำให้เกิดภาพความผูกพันของไทยอย่างแน่นแฟ้นกับค่ายโลกเสรี อันเป็นทางมาของความช่วยเหลือทั้งที่เป็นวัตถุ, เงิน, ปืน, เฮลิคอปเตอร์ และที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น เสียงของไทยในเวทีโลก หรือทุนการศึกษาแก่กองทัพและข้าราชการ เป็นต้น
ในความเป็นจริง รัฐบาลไทยรู้อยู่เต็มอกว่า ที่ถูกจัดให้เป็นศัตรูของรัฐนั้น ไม่ใช่มอสโก, ปักกิ่ง หรือฮานอย แต่เป็นคนไทยด้วยกันนี่แหละ เช่น รัฐบาลมีรายชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างละเอียด แต่รัฐบาลย่อมพอใจจะโฆษณาว่า คนเหล่านี้เป็นหน้าม้าหรือสมุนของมอสโกหรือปักกิ่งมากกว่า เพราะทำให้คนเหล่านี้หมดสิทธิที่จะมีเสียงอะไรเกี่ยวกับการเมืองไทยได้เลย
อันที่จริงรัฐบาลไทยขจัดศัตรูทางการเมืองของตน ซึ่งล้วนเป็นคนในด้วยการสังหารมาตั้งแต่ 2490 แล้ว…โดยมากมักซัดทอดให้ผู้ที่รัฐสังหารว่ามีส่วนพัวพันกับคนนอก (เช่น 4 รัฐมนตรีที่ถูกสังหาร ต้องมีอะไรเกี่ยวข้องกับโจรจีนคอมมิวนิสต์ในสหพันธรัฐมลายา ไม่อย่างนั้นพวกนั้นจะขึ้นมาชิงตัวทำไม)
แต่ตกมาถึง 2518 วิธีขจัดศัตรูของรัฐอย่างที่เคยใช้ได้ผลมานั้น กลับไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อยลง เช่น ถึงจะฆ่าผู้นำชาวนา ขบวนการชาวนาก็ยังเคลื่อนไหวต่อมา ถึงจะฆ่าเลขาธิการพรรคสังคมนิยม พรรคก็ไม่แตกสลาย ยังพร้อมลงเลือกตั้ง (ซ้ำได้รับเลือกตั้งมากเกินคาดเสียด้วย)
กล่าวโดยสรุปก็คือ คนในที่รัฐมองเป็นศัตรูคือ “มวลชน” คนเล็กคนน้อยจำนวนมากที่รัฐมองไม่เห็นหน้าตาได้ถนัดนัก ซึ่งถึงถูกสังหารไปบ้าง ก็ไม่อาจทำลายขบวนการลงได้ วิธีเดียวคือสร้างความหวาดกลัวอย่างสุดขีดให้ทั้งแก่คนในขบวนการ และคนไทยทั่วไป ด้วยการสังหารหมู่ผู้คนกลางเมือง ทำร้ายศพอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน เพื่อให้คนไทยได้เห็นเป็นแบบอย่าง และไม่กล้าหือกับรัฐอย่างเป็นกลุ่มก้อนอีก… แต่การกระทำเช่นนั้นอาจสะท้อนกลับเป็นความเกลียดชังรัฐก็ได้ หลังจากความประหวั่นพรั่นพรึงได้จางลงแล้ว เพราะเป็นการสังหารหมู่คนไทยด้วยกันเองกลางเมือง’
อ้างอิงจาก: https://www.matichon.co.th/article/news_1376536
ดังคำเสี้ยมสอนของพันเอกสุนิล (มานาฟ คาล) หัวหน้าฝ่ายสอบสวนกองป้องกันชาติที่ใช้ล้างสมองบรรดาเจ้าหน้าที่ในแต่ละรุ่นในซีรีส์เรื่องนี้ว่า “การจู่โจมของผู้ก่อการร้ายเมื่อไม่นานนี้พิสูจน์ได้ว่า ศัตรู…ไม่ใช่คนนอก แต่เป็นหนึ่งในพวกเรา คนที่ถูกชักจูงให้หลงทางไปโดยง่าย ใครๆ ก็เป็นผู้ก่อการร้ายได้ เพื่อนบ้านเรา เพื่อนเรา” แล้วด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้พันเอกสุนิลดึงตัวนิดามายังศูนย์สอบสวนระดับสูง บรรจุเข้าเป็นทหารใหม่ให้ภารกิจในการสอบสวนบรรดาฆาตกรและผู้ก่อการร้ายที่ถูกคุมขังในคุกแห่งนี้ ที่ภายหลังนิดาพบว่าผู้ต้องขังทุกคนคือพวกเห็นต่างทางการเมือง
ในบทสัมภาษณ์ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช ซึ่งเขียนโดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ได้กล่าวไว้ว่า คุณอาจเป็น ‘ศัตรู’ ของรัฐไทยได้ตลอดเวลา หากคุณไม่เชื่อเรื่องเล่าหลักที่รัฐบอก เพราะศัตรูคือความจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของรัฐ ในรัฐเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทย คุณไม่มีสิทธิ์เลือกท่าทีหรือรสนิยมของรัฐได้อย่างแท้จริง และถ้ารัฐสามารถหาข้ออ้างได้ว่าคุณเป็นภัยต่อตัวตนของรัฐ คุณจะถูกกำจัด
กับรัฐบาลอำนาจนิยมปัจจุบัน ‘ลัทธิชังชาติ’ คือศัตรู มันหมายรวมถึงพรรคการเมือง ตัวบุคคล ความเชื่อ อุดมการณ์ใดๆ ที่รัฐไม่พึงใจให้เชื่อ กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช Ph.D. Candidate at Graduate School of Asian and African Areas Studies, Kyoto University บอกกับเราว่ามันคือความจำเป็นที่รัฐต้องสร้างศัตรูเสมอ ศัตรูคือความชอบธรรมในการดำรงอยู่ของรัฐ หากไร้ศัตรู รัฐก็ไม่มีเหตุผลในการดำรงอยู่เพื่อปกป้องประชาชน
ในรัฐประชาธิปไตย ศัตรูไม่ได้หมายถึงประชาชนของตนเอง มันอาจเป็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ไม่ใช่กับรัฐอำนาจนิยมแบบไทยที่เต็มไปด้วยข้อห้ามและประชาชนไม่มีสิทธิเลือกทิศทางของตนเองได้อย่างแท้จริง เราไม่ต้องการเจาะจงหรือเอ่ยชื่อว่าใครเป็นศัตรูของรัฐไทย ณ เวลานี้ เพราะมันอาจเป็นคุณก็ได้
อ้างอิงจาก: https://prachatai.com/journal/2020/01/85974

แต่แล้วความสยองขวัญสั่นประสาทก็บังเกิดขึ้น เมื่อการมาถึงของนักโทษใหม่คนสำคัญ อาลี ซาอีด (มาเฮช บาลราช) พร้อมกับเสียงกระซิบกระซาบจากบรรดาคนคุกทั้งปวงเกี่ยวกับผีกูล ที่ในเรื่องถูกอธิบายว่า “ตำนานอาหรับเล่าถึงผีกูล (Ghoul) หรือญิน (Jinn หรือ Genie) หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า…ปีศาจ (Pishacha) ใครๆ ก็เรียกกูลมาได้ ด้วยการตกลงขายวิญญาณให้กับมัน กูลจะแสดงความผิดบาปของเราให้เห็น จากนั้นก็จะใช้สิ่งนั้นทำลายล้างเรา มันดูเหมือนมนุษย์ มันจำแลงร่างเป็นคนที่มันกัดกิน”
ในส่วนนี้ของซีรีส์ Ghoul น่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะเป็นการพลิกเรื่องจากประเด็นการเมืองไปสู่ความสยดสยองแล้ว มันยังตีความได้ถึงอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นเหมือนภาพสมมติว่าหากผู้ถูกกดขี่เหล่านี้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่สามารถต่อสู้กับฝ่ายผู้กดขี่ที่มีอาวุธสงครามครบมือแล้ว เหตุการณ์จะเป็นพลิกผันไปอย่างไร แถมผีกูลตนนี้ยังถูกตีความว่า…
“มันเหมือนมนุษย์” โดยมัน “จะแสดงความผิดบาปของเราให้เห็น แล้วใช้ความผิดบาปนั้นมาทำลายล้างเรา” เสมือนสามัญสำนึกที่หากผู้กดขี่จะพอมีความเป็นมนุษย์หลงเหลืออยู่บ้าง มันจะกัดกินใจให้พวกเขารู้ผิดชอบชั่วดีว่าพึงกระทำต่อมนุษย์ด้วยกันอย่างไร
ทว่าเรื่องเหนือธรรมชาติแบบนี้ไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะ “อำนาจที่เท่าเทียมกัน” หรือ “สามัญสำนึกของผู้มีอำนาจเหนือกว่า”
ในทางตรงกันข้าม ในงานพูดคุยใน Clubhouse ที่จัดโดย CARE คิด เคลื่อน ไทย ในหัวข้อ ‘ศาล หลักนิติธรรม กับความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย’ ช่วงหนึ่งได้เชิญ ธงชัย วินิจจะกูล จากภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา มาร่วมสนทนา เขาได้กล่าวไว้ว่า
“คำกล่าวที่เรามักพูดเล่นๆ ว่าตำรวจคือกฎหมาย เอาเข้าจริงถูก (!?)…เพียงแต่ขยายหน่อยว่าไม่ใช่แค่ตำรวจ รวมทั้งทหาร รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ คนเหล่านี้เขาคือกฎหมายในธรรมเนียมปฏิบัติของไทย
ธงชัย วินิจจะกูล“คำกล่าวที่เรามักพูดเล่นๆ ว่าตำรวจคือกฎหมาย เอาเข้าจริงถูก (!?)…เพียงแต่ขยายหน่อยว่าไม่ใช่แค่ตำรวจ รวมทั้งทหาร รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ คนเหล่านี้เขาคือกฎหมายในธรรมเนียมปฏิบัติของไทย
…รัฐอังกฤษเคยมีระยะหนึ่งที่สภาพคล้ายๆ กับเราปัจจุบัน เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 ยุคสมัยนั้นมีนักปรัชญาคนหนึ่งที่แสดงความเห็นเป็นระบบและส่งผลสะเทือนมากในทางสนับสนุนรัฐแบบนั้น เพราะเห็นว่าประชาชนยังไม่มีความสามารถพอที่จะปกครอง ที่จะมีอำนาจเป็นประชาธิปไตยได้ เขาเห็นว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังมีความจำเป็น สิทธิของประชาชนมีมากไม่ดี
นักปรัชญาคนนั้นชื่อโทมัส ฮอบส์ เขียนหนังสือใช้คำเรียกรัฐที่เขาพึงปรารถนาซึ่งหมายถึงรัฐที่มีอำนาจมากๆ ว่า leviathan แปลง่ายๆ ว่าอสุรกาย รัฐเป็นอสุรกายในความหมายว่าเป็นอสุรกายที่มีชีวิตในตัวมันเอง รัฐไม่ได้รับใช้ประชาชน รัฐไม่ได้บำบัดทุกข์บำรุงสุข รัฐคือรัฐ เหตุที่รัฐต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐอย่างมากก็เพราะรัฐต้องการมีชีวิตรอด แล้วใครล่ะเป็นศัตรูของความมั่นคงของรัฐไม่ว่าอังกฤษสมัยนั้นหรือไทยสมัยนี้ ไม่ใช่ต่างชาติ ศัตรูของรัฐที่เป็น leviathan หรืออสุรกายเหล่านั้นได้แก่ประชาชนซึ่งต่อต้านเขา
ผมอยากเสนอว่า 2 ประเด็นใหญ่คือเรื่องอภิสิทธิ์ปลอดความผิดและเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องที่เราต้องจับให้มั่นและสู้มันเข้าไป เนื่องจากรัฐยกเรื่องความมั่นคงมาเป็นเหตุเล่นงานประชาชนเสมอ เพราะยิ่งประชาชนเข้มแข็งรัฐก็ยิ่งไม่มั่นคง นั่นหมายความว่าหมวดที่ 2 ลักษณะที่ 1 ในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นความมั่นคงของรัฐ อสุรกายไม่ใช่ความมั่นคงของประเทศไทย ยิ่งเขารักษาความมั่นคงประชาชนก็ยิ่งแย่ หรือพูดอีกอย่างก็คือว่า เขาต้องทำให้ประชาชนอ่อนแอรัฐจึงจะมั่นคง”
อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2021/03/92325
หมายเหตุ: เลวีอาธาน รากศัพท์มีความหมายว่า “ม้วน หรือ ขด” เป็นสัตว์ร้ายในทะเล ตามความในคัมภีร์ไบเบิล (เพลงสดุดี 74:13-14; โยบ 41; และ อิสยาห์ 27:1) ว่ามันคือจอมปีศาจแห่งริษยาในร่างของงูยักษ์เลวีอาธาน ที่เชื่อกันว่าเพียงแค่มันพลิกตัวก็จะเกิดคลื่นยักษ์หรือแผ่นดินไหว เป็นสัตว์ทะเลขนาดยักษ์ มีหลายหัว มีฟันแหลมคมเหมือนจระเข้ มีดวงตาดั่งขนตาของตะวัน บางครั้งมันก็ถูกกล่าวว่าเป็นพลังแห่งความสับสนวุ่นวาย นอกจากนี้ยังมีความหมายถึงอสุรกายขนาดยักษ์อีกด้วย
อย่างที่จั่วไว้ในย่อหน้าแรกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาจัดว่าสะเทือนทั้งแผ่นดิน ความสับสนวุ่นวายเหล่านี้ไม่รู้จะลำดับไทม์ไลน์อย่างไร เรื่องที่ไม่ควรจะเกี่ยวกันกลับสาวไปถึงกันและกันได้อย่างหน้าตาเฉย ไม่ว่าจะ
ไฮโซลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย แต่งตัวไปม็อบด้วยการใส่สูท สะพายกล้อง ส่งผลให้ซีกฝั่งรัฐบาลไม่ว่าจะ ทยา และณัฐพล ทีปสุวรรณ คู่สามีภรรยาเวทีนกหวีดที่ฝ่ายสามีเป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงกับโพสต์เดือด ส่วนสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (สภาผู้แทนราษฎร) ก็ตบเท้าด้วยการยื่นเอกสารต่างๆ ไปยังตำรวจเพื่อตรวจสอบไฮโซลูกนัท โดยต่อมาลูกนัทก็โพสต์ตอบโต้เดือดกลับไปว่า
“ปล่อยวางบ้างเถอะ ผมไม่ได้จะล้อเลียนใคร ผมแค่บังเอิญตาบอด 1 ข้าง แล้วชอบใส่สูท แล้ววันนี้จะไปถ่ายรูป เลยเอากล้องไป ขี้เกียจจะมาทะเลาะเป็น ศัตรูกับใคร เอาเป็นว่าแล้วแต่จะสบายใจนะจ๊ะ”
ที่ต่อมาชาวเนตฟากหนึ่งก็ตั้งคำถามว่าทำไมต้องแขวนกล้องไว้ที่คอ อีกฟากก็โต้ว่าถ้าไม่แขวนไว้ที่คอจะให้แขวนไว้ที่จมูกหรืออย่างไร แล้วก็มีคนไปขุดคดีเก่าของเท่ง เถิดเทิง เมื่อปี 2013 ที่มีกรณีคล้ายกันนี้ว่า
“วันที่ 9 มิถุนายน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก WORKPOINT ENTERTAINMENT เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด กรณีมีการเผยแพร่ภาพของนายพงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ หรือ “เท่ง เถิดเทิง” ศิลปินตลก นั่งบนรถลาก สวมหมวกและแว่น พร้อมถือกล้องถ่ายรูป โดยระบุว่า ภาพดังกล่าว เป็นภาพระหว่างการแสดงล้อละครเรื่องข้างหลังภาพ ออกอากาศในรายการชิงร้อยชิงล้าน ซันชายเดย์ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556
การชี้แจงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากมีกระแสในโลกออนไลน์ไม่พอใจ กรณี “เท่ง” ร่วมงานแสดงเวทีวันเกิดนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ เค รีสอร์ต และกล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า “อยากเห็นทักษิณกลับบ้าน” แม้ว่า “เท่ง” จะชี้แจงในภายหลังว่าเป็นการพูดอวยพรเจ้าภาพวันเกิดให้มีความสุข เช่นเดียวกันการไปแสดงที่ต่างๆ”
ก็ไปสู่การตั้งคำถามของสังคมว่าการใส่สูทคล้องกล้องไว้ที่คอ กลายเป็นความผิดฐานหมิ่นพระมหากษัตริย์ไปได้อย่างไร
ในเวลาไล่เลี่ยกันนักแสดงเจ้าบทบาท สินจัย เปล่งพานิช ได้โพสต์บนไอจี @noksinjai ว่า “มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร… #บ้านเกิดเมืองนอน #ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ส่งผลให้ดาราหลายคนต่างตบเท้าพร้อมแฮชแท็กเดียวกัน อาทิ นัท มีเรีย, ภูริ หิรัญพฤกษ์, เคน ธีรเดช, หน่อย บุษกร, อาร์ต พศุตม์, กัปตัน ภูธเนศ, นีโน่ เมทนี, ปั้นจั่น ปรมะ, ตุ๊ก จันจิรา, แหม่ม สุริวิภา ฯลฯ
แต่ที่เป็นประเด็นจน #เจนนิเฟอร์คิ้ม ไต่ขึ้นไต่ลงอันดับต้นๆ ของเทรนด์ทวิตเดือดมาจนถึงทุกวันนี้ คือกรณีนักร้องดีว่าคนดังอย่าง เจนนิเฟอร์ คิ้ม โดดลงมาฟาดคารมใส่ชาวเน็ต แล้วไล่บล็อกทุกฟอลโลเวอร์ที่เห็นต่างทางการเมือง จนทำให้ยอดฟอลลดฮวบ ก่อนจะมีอีกฟากแห่กันมาดันให้ยอดฟอลเธอสูงขึ้นกว่าเดิม
แล้วขณะที่คิ้มด่ากราดชาวเน็ตว่า “มีเงินจ่ายภาษีแล้วค่อยว่ากันนะคะ…เอะอะภาษีประชาชน…กูเคยจ่ายปีละ 2 ล้าน…ยังไม่เคยออกมาเรียกร้องอะไรสักคำ” ชาวเน็ตหลายคนก็งงว่า แล้วภาษี 7% เวลาซื้อของต่างๆ มันไม่ใช่เงินภาษีประชาชนหรืออย่างไร ด้านนักร้องเสียงคุณภาพอีกราย ออฟ ปองศักดิ์ จึงออกมาโพสต์ลอยๆ ว่า “นี่เคยจ่ายภาษีปีละหลายล้านแต่ได้คุณภาพชีวิตแค่นี้ ไม่มีไรดีขึ้นมาเลย ก็ไม่ไหวเหมือนกัน…” แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน บรรดาดารากว่า 30 คนก็แห่โพสต์ภาพในสไตล์คล้ายกันราวกับนัดกันมาด้วยแฮชแท็ก #พูดหยุดโกง บรรดาชาวเน็ตก็งงว่าทำไมพวกดาราพูดแต่ประเด็นเล็กน้อย ทั้งที่ปัญหาเร่งด่วนใหญ่ๆ ไม่ว่าจะปัญหาการบริหารจัดการวัคซีนไม่ได้เรื่องจนคนตายเกลื่อนวันละ 200 คน การอุ้มหายอุ้มฆ่าคนเห็นต่าง การรุกผืนป่าแหว่ง หรือการล้อมปราบผู้ชุมนุมอย่างไม่ได้มาตรฐานสากล ไม่ยักมีดาราคนไหนพูดถึง
ดาราที่ไม่ได้ร่วมแคมเปญนี้หลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นมากมาย เช่น นางแบบนักแสดงสาวมากความสามารถ นิ้ง ชัญญา “7 ปีที่ผ่านมาจนตอนนี้ก็เป็นระยะเวลานานเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนที่ไม่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ด้วยความสามารถนั้น ก็ไร้ซึ่งความสามารถในการเป็นผู้นำจริงๆ”, มุก นักร้องสาวหน้าใสจากวง OLIVE “ใครโกงคะ พูดออกมาเลยค่ะ พูด!”, นักร้องนักแสดงหุ่นล่ำ ปอ อรรณพ “พอพูดเรื่องโกงจริงๆ โดนจับว่ะ ไม่จับคนโกงนะ จับคนพูด55555 งงมาก” ฯลฯ
กระทั่งมีดาราสาวคนหนึ่งหลุดโป๊ะออกมาว่าแคมเปญ #พูดหยุดโกง เป็นผลงานของ ป.ป.ช. ชาวเน็ตจึงขุดคดีเก่าที่ ป.ป.ช. เคยบอกว่า บิ๊กป้อมไม่ผิดกรณียืมนาฬิกาหรูจากเพื่อน รวมถึงที่เคยออกมาบอกว่าการตรวจสอบทรัพย์สินบิ๊กตู่และวิษณุไม่สามารถทำได้ แบบนี้ไม่เรียกว่าโกงหรืออย่างไร สื่อต่างๆ จึงขุดที่มาที่ไปของแคมเปญนี้ก็พบว่าเป็นเงินจากกองทุนที่ ป.ป.ช. เปิดรับโครงการที่ทำไปแล้ว 3 ครั้ง รวม 82 โครงการ ด้วยวงเงินสูงถึง เกือบ 79 ล้านบาท และตัวเจ้าของโครงการ #พูดหยุดโกง เป็นดาราและผู้จัดละคร ต่าย ณัฐพล (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นัฐฐพนท์ ลียะวณิช) ชาวเน็ตก็ออกมาจวกว่าเงินจำนวนนี้หากนำไปจัดหาวัคซีนให้ทั่วถึงน่าจะดีกว่าใช้สร้างภาพให้รัฐบาลดูดี เกิดกระแสตีกลับจนดาราต่างๆ ในแคมเปญทยอยลบรูปออก จน ป.ป.ช. ต้องออกมาขอโทษ (ในแบบเหน็บชาวเน็ตกลายๆ) ว่า “วันนี้ต้องน้อมรับว่า เรื่องของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียมีอิทธิพล รวดเร็วมาก สิ่งที่คอมเมนต์มา กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคนไม่ค่อยสบายใจ แต่น้อมรับทั้งหมด ต้องนำเรื่องนี้มาประกอบ มอบข้อมูลตรงนี้ไปให้กรรมการที่ประเมินตามตัวชี้วัด อาจมีการปรับปรุงแก้ไข ดำเนินการอย่างไร ทั้งหมดถือเป็นบทเรียนความผิดพลาด”
ในช่วงคาบเกี่ยวกันขณะที่รัฐบาลเข้มงวดอย่างมากและกล่าวโทษประชาชนไม่เว้นวัน จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่ลดละ โดยไม่เคยมองปัญหาการจัดการของรัฐเอง ไม่ว่าจะการเข้าร่วม COVAX ล่าช้า, การไม่สามารถควบคุมราคาตลาดของชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK) ที่พุ่งสูงไป 300-400 บาท ขณะที่ประเทศอื่นแจกฟรีหรือขายไม่เกิน 40 บาท, การสั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส (และจะซื้ออีก 28 ล้านโดสในปีหน้า) ทั้งที่มีหลักฐานยืนยันชัดว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าตัวอื่น เพจไทยรู้สู้โควิดจากกระทรวงสาธารณสุข กลับโพสต์อินโฟกราฟฟิกบ้งๆ เช่น “ไทยฉีดวัคซีนเข้าใกล้ภูมิคุ้นกันหมู่ 50 ล้านคนตามแผน” พร้อมกับแก้ตัวเรื่องที่ต้องสั่งซิโนแวคมาเพิ่มว่า “เพราะไทยมีแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตจากสยามไบโอไซเอนซ์อยู่ และพร้อมฉีดเป็นเข็ม 2 (เลยต้องซื้อซิโนแวคเป็นเข็มแรก!?)” ฯลฯ จนถูกกระแสทัวร์ลงว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเฟกนิวส์ ทำให้ทางเพจต้องรีบลบออกอย่างรวดเร็ว
ต่อมารัฐบาลก็ดึง ดร.เสรี วงษ์มณฑา ขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหารเพื่อวางกลยุทธ์สื่อสารให้ ศบค. พร้อมปรับข้อความใหม่แต่มีเนื้อหาเช่นเดิม โพสต์กลับลงไปในเพจของ กรมประชาสัมพันธ์ แทน ด้วยรูปลักษณ์สุดเชย และมีลุงเสรีออกมาเป็นพรีเซนเตอร์หลอนหลานๆ ก็กลับยิ่งโดนจวกหนักกว่าเดิม แต่คราวนี้ภาครัฐไม่ลบ นัยว่าน่าจะได้กระแสช่วยกันแชร์ตามไลน์กลุ่มผู้สูงวัย ขณะที่ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก็แย้งผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า “หากจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องดูที่จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งควรจะอยู่ที่ 40-50 ล้านคน ขณะที่ตอนนี้เราเพิ่งฉีดเข็ม 2 ไปได้เพียง 6 ล้านคนเท่านั้น”
แต่ข่าวที่สะเทือนเลื่อนลั่นในสัปดาห์ที่ผ่านมาและยังคงร้อนเดือดมาจนบัดนี้ คือ กรณีตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องหายาเสพติดด้วยการเอาถุงดำคลุมหัวถึง 6 ใบจนถึงแก่ความตาย พร้อมด้วยคลิปหลุดเหตุการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ต้นจนจบเป็นหลักฐานมัดตัวชนิดที่ขึ้นศาลไหนก็ดิ้นไม่หลุด แต่เมื่อขุดประวัตรตำรวจนายนี้ และปฏิกิริยาจากกรมตำรวจแล้ว สื่อหลายสำนักและชาวเน็ตต่างคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นอีกคดีพลิกที่ตำรวจพ้นผิดในที่สุด
พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือโจ้เฟอร์รารี่ ที่อายุเพียง 39 ปีแต่กลับโตไวติดไฮสปีดด้วยอายุราชการเพียง 17 ปี ก็โดดขึ้นมาเป็นผู้กำกับใหญ่ประจำจังหวัดนครสวรรค์ได้เลย อีกทั้งยังพบว่าภายใน 9 ปีที่ผ่านมาเขาเป็นเจ้าของสำนวนนำรถส่งกรมศุลกากรกว่า 368 คัน ซึ่งคาดว่าอาจทำให้เขาได้รับเงินนำจับราว 450 ล้าน ทำให้เขามีคฤหาสน์สุดหรูพร้อมสระว่ายน้ำและสนามหญ้ากว้างกว่า 5 ไร่ พร้อมรถซูเปอร์คาร์ที่จอดเรียงรายในบ้านอีก 29 คัน
สื่อขุดไปถึงเรื่อง 7 ปีก่อนสมัย ผกก.โจ้ยังเป็นแค่สารวัตรโจ้ เคยคบกับดาราสาวสวย เมย์ พิชญ์นาฏ ก่อนที่เธอจะพบว่าตำรวจหนุ่มมีลูกมีเมียอยู่ก่อนแล้ว พร้อมกับการปรากฏตัวของหญิงอีกคนที่โจ้คบอยู่ในเวลาเดียวกัน ล่าสุดเมย์จึงงัดหลักฐานมาแชร์ว่าทำไมเวลานั้นถึงไม่เลือกผู้ชายคนนี้
สื่อคุ้ยไปจนถึงที่มาความร่ำรวยผิดปกติของเขา ตรงนี้เพชร กรุณพล ดาราคอลเอาต์ฟากประชาธิปไตยอธิบายว่า “รถหรูที่เมืองนอกจะถูกกว่าเมืองไทย สมมติว่าที่อเมริกาขายคันละ 3 ล้าน เข้ามาเมืองไทยขายคันละ 20 ล้าน คุณส่งลงตู้คอนเทนเนอร์มาจากอเมริกา ถอดสมองกลรถออก แล้วให้ตำรวจสักคนที่สนิทกันไปจับที่ท่าเรือ เจอรถหนีภาษี ตำรวจได้รางวัลนำจับประมาณ 20-30% แล้วก็มีค่าสายข่าวอีก ค่าเปอร์เซ็นต์จากการประมูลอีก ถามว่ารถที่ไม่มีสมองกลใครจะอยากประมูลมา เพราะฉะนั้นราคาประมูลก็จะต่ำ แล้วใครล่ะจะประมูล ก็คุณที่มีสมองกลของรถคันนั้นอยู่ในมือ คุณจะเสียแค่ 5 ล้าน เอาไปขายทอดตลาดในราคา 12-15 ล้านก็ยังขายได้”
ไปจนถึงสายสัมพันธ์กับตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกหลายคน ไม่ว่าจะ พล.ต.ท. อภิชาติ ศิริสิทธิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ผู้เป็นพ่อของแฟนสาวคนปัจจุบันของโจ้ ซึ่งล่าสุดก็ออกมาปฏิเสธแล้วให้ข่าวว่า “เป็นเพียงคนรู้จักที่มาชอบพอลูกสาว” ไปจนถึงยังพบว่าเคยร่วมหลักสูตรอบรมจิตอาสา 904 รุ่นเดียวกับ พล.ต.ต. จิรภพ ภูริเดช ที่เพิ่งขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ขุดไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อครั้ง ส.ส.โรม-รังสิมันต์ ถามหาความรับผิดชอบจากประยุทธ์-ประวิตร ที่ปล่อยให้มี “ตั๋วช้าง” แทรกแซงการแต่งตั้งตำรวจ
เมื่อถูกจับกุม สื่อสังเกตว่าตำรวจให้สิทธิพิเศษให้เพื่อนร่วมรุ่นกับโจ้เข้าเยี่ยมเป็นกำลังใจได้ หนำซ้ำตอนแถลงข่าว ชาวเน็ตก็สังเกตว่าไม่ได้คล้องกุญแจมือ มีเพียงสายรัดข้อมืออย่างหลวมๆ หลายคนจึงเทียบไปถึงการจับกุมม็อบ อย่างกรณีไผ่ ดาวดิน ที่เพียงแต่สาดสีใส่โรงพัก ตำรวจก็ล่ามตรวนคล้องกุญแจมือแน่นหนายิ่งกว่ากรณีฆ่าคนตาย หรือตอนที่ศาลไม่ให้แม้แต่พ่อแม่เข้าพบเพนกวินกับรุ้งจากฝ่ายราษฎร ทั้งที่ตอนนั้นพวกเขาป่วยแทบตายและต้องการกำลังใจเช่นกัน ความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์อยู่ตรงไหน
จากนั้นก็เกิดเป็นมีมแซะตำรวจอีกหลายโพสต์ ไปจนถึงสื่อบางสำนักก็ทำข่าวบูด อย่างตำรวจหญิงแย่งซีนแถลงข่าว, ส.ว. ออกมาหนุนตั้งองค์กรคนดีมีอัตลักษณ์ไทย, ขณะที่เด็กหญิง 18 ปีถูกยัดข้อหา 112 เพียงเพราะเธอปราศรัยเรื่องระบบการศึกษา รวมไปถึงพระรูปหนึ่งบุกมาให้กำลังพร้อมกล่าวว่า “เกิดมาเป็นลูกหลานไทย ทำหน้าที่เป็นตำรวจไทย ยังดีกว่าไอ้คนบางคนที่มันโกงชาติ โกงบ้านเมือง โกงประชาชน แล้วมันไม่ยอมรับผิด มันยังก่อกระบวนการเผาบ้านเผาเมืองอยู่ไม่จบ…ผู้เสียชีวิตเป็นพ่อค้ายาไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์” สร้างความเดือดดาลให้ชาวบ้านปากน้ำโพประกาศลั่นว่าจะไม่ใส่บาตรให้พระรูปนี้อีกต่อไป ล่าสุดพระท่านได้ระเห็จออกนอกพิษณุโลกไปจำวัดจังหวัดอื่นแล้ว
อ้างอิง
https://youtu.be/ZRJE0z1N0xc
https://youtu.be/JgFaRdEh1p4
https://youtu.be/SkKauLmhQRk
https://www.bbc.com/thai/53124319
https://www.bbc.com/thai/thailand-56121881
https://www.bbc.com/thai/thailand-58338581
ตบท้ายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ได้มีหนังสือ ให้ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล และนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก พ้นสภาพจากการเป็นจิตอาสา 904 และเรียกคืนเครื่องแต่งกาย หมวก ผ้าพันคอ และเครื่องหมาย (ปีกโลหะ ปีกผ้า) บัตรประจำตัวและประกาศนียบัตรด้วย ชาวเน็ตก็เปรียบเทียบภาพลักษณ์คนดีของ 2 คนนี้ที่ลงเอยในคุกคล้ายกัน ไปสู่กรณีทหารนักการเมืองค้าแป้งที่เคยต้องโทษคดีฆาตกรรม แต่ทุกวันนี้กลายมาเป็นรัฐมนตรี ไปจนถึงคดีซ้อมทรมานอีกหลายคดีทั้งในค่ายทหารและกรมตำรวจ ขณะที่ล่าสุดฝ่ายตำรวจฮึ่มจะเอาผิดคนปล่อยคลิปคดีผู้กำกับโจ้!?
FYI: กฎหมายสมัยรัฐประหารสนับสนุนการซ้อมทรมาน
กฎหมายไทยกำหนดหลักประกันสำคัญหลายประการเพื่อป้องกันการทรมาน รวมทั้งกำหนดให้ต้องนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมายังศาลภายในเวลา 48 ชั่วโมงหลังการจับกุม และการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวที่จะให้มีทนายความระหว่างการสอบปากคำ อย่างไรก็ดี กฎหมายและคำสั่งของรัฐบาลหลายประการกลับมีอำนาจเหนือบทคุ้มครองเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (สมัยรัชกาลที่ 6) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 (สมัย คสช. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กฎหมายและคำสั่งเหล่านี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ กล่าวคือ “สถานที่อื่นที่มิใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ” ตามคำสั่งทั้งสองฉบับ ทั้งนี้โดยไม่สามารถร้องขอให้ศาลตรวจสอบในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ไม่เกินเจ็ดวัน กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ผู้ถูกควบคุมตัวอาจถูกควบคุมตัวไว้โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ ไม่มีระเบียบปฏิบัติ และไม่มีการกำกับดูแล ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองตามหลักการสำคัญเพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกได้ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ขัดแย้งทางภาคใต้ของไทยนับแต่ปี 2549 (สมัย คมช. สุรยุทธ์ จุลานนท์) รวมทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งอนุญาตให้ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 30 วันโดยได้รับความเห็นชอบจากศาล สองวันก่อนรัฐประหาร กองทัพประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ และในเดือนเมษายน 2558 มีการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก ยกเว้นแต่พื้นที่ภาคใต้ และได้ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 แทน ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลสำหรับความผิดประการต่างๆ รวมทั้งความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และภัยคุกคามต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ซึ่งมีการประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ได้ขยายอำนาจของทหารมากขึ้นในการควบคุมตัวบุคคลตามความผิดทางอาญาหลายประเภท
…การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายของทหารเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ในช่วงเจ็ดวันของการควบคุมตัวที่ขาดการตรวจสอบและเป็นไปตามกฎหมายและคำสั่งพิเศษ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
ตัวอย่างเช่น มีการสอบปากคำผู้ถูกควบคุมตัวนอกโรงพัก และมีการใช้ความรุนแรง การข่มขู่และคุกคามเพื่อเรียกร้องเงินติดสินบน เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีในระบบยุติธรรมทางอาญา ข้อบกพร่องตามกรอบกฎหมาย นโยบายและการปฏิบัติในประเทศไทยเหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบุคคลและชุมชนทั่วประเทศ
อ้างอิง: file:///C:/Users/USER/AppData/Local/Temp/ASA3947472016THAI.pdf
https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/photos/a.417098988337393/4253589074688346/?type=3
รูป 23
วกกลับมาที่ Ghoul ซีรีส์นี้กำกับและเขียนบทโดย แพทริก แกรห์ม ชาวอังกฤษศิษย์เก่า London Film School ที่ตั้งใจจะแวะมาอินเดียแค่ไม่กี่เดือนแต่กลับต้องอยู่นานถึง 8 ปี เขาเปรียบเทียบว่า “หนังจากฝั่งซีกโลกตะวันตกจะมีแต่เรื่องซ้ำๆ ปราบผีเอย ผีสิงเอย ตัวประหลาดในแถบเขตร้อน ขณะที่ของอินเดียมีความลึกซึ้งซับซ้อน มีตำนาน คติชนวิทยา และไสยศาสตร์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากมาย ถึงอย่างนั้นผู้คนที่นี่กลับเลือกจะตามอย่างฮอลลีวูด คือทำแต่เรื่องซ้ำๆ จำพวกวิญญาณผีสาวพยาบาท หรือไม่ก็ปีศาจเข้าสิง… อย่างไรก็ตาม Ghoul หยิบแง่มุมทางการเมืองขึ้นมาเพื่อให้ความสยองเหนือธรรมชาติดูเป็นไปได้มากขึ้น แต่ผมไม่ได้ต้องการจะชี้เฉพาะถึงรัฐบาลอินเดีย เพราะระบอบฟาสซิสต์ ชาตินิยมสุดโต่งเกิดขึ้นกับที่ไหนก็ได้ แม้แต่ประเทศที่อ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย”
แกรห์มปิดท้ายอีกด้วยว่า “ความระทึกขนหัวลุกที่สุดในซีรีส์นี้ ไม่ใช่ฉากที่ผีปรากฏตัว
แต่คือฉากที่ตัวละครที่เหลืออยู่ต่างชี้หน้าสงสัยกันและกันว่า…ใครคือปีศาจ”