ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องแต่งแนวดิสโทเปีย: โลกสมมติที่ความเป็นมนุษย์ไม่มีค่า

เรื่องแต่งแนวดิสโทเปีย: โลกสมมติที่ความเป็นมนุษย์ไม่มีค่า

25 ตุลาคม 2020


ดอม ขุนพินิจ

ทำไมต้อง ‘สังคมฉุกคิด’ กับโลกสมมติ?

บางคนอาจจะมองว่าเรื่องแต่ง (fiction) ซึ่งถ่ายทอดในรูปแบบของหนังสือและภาพยนตร์มีจุดประสงค์เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่การคิดเช่นนั้นถือเป็นข้อสรุปที่น่าเสียดาย เพราะอาจทำให้ละเลยแง่มุมน่าสนใจที่แฝงอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น ซึ่งล้วนเป็นแง่มุมที่มีค่าไม่น้อยในการชวนให้เราหันกลับมามองสังคมมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงที่พวกเราทุกคนใช้ชีวิตอยู่

เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้จะเป็นโลกสมมติ แต่ผู้ที่รังสรรค์มันขึ้นมาก็คือผู้แต่งที่เป็นสมาชิกของสังคมมนุษย์ในโลกจริง ประสบการณ์จากการใช้ชีวิตและบริบทแวดล้อมในโลกแห่งความเป็นจริงต่างมีส่วนในการหล่อหลอมความคิดของผู้แต่ง และอาจกลายเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหล่าตัวละครและเรื่องราวที่พวกเราได้รับชมผ่านวรรณกรรมและภาพยนตร์ต่างๆ

ในหลายครั้ง โลกสมมติในเรื่องแต่งเหล่านั้นจึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนของโลกจริง ไม่ว่าจะในรูปแบบของโลกในอุดมคติที่ผู้แต่งอยากเห็นมันเกิดขึ้น หรือโลกอันน่าสะพรึงกลัวที่ผู้แต่งไม่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ล้วนสะท้อนปัญหาบางประการที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นโลกสมมติที่ไร้ขีดจำกัดในการจินตนาการ ซึ่งทำให้สามารถวาดภาพความผิดปกติบิดเบี้ยวให้เห็นแจ่มชัดได้ง่ายกว่า การพิจารณาเรื่องแต่งต่างๆ ในแง่นี้จึงอาจให้มุมมองที่มีค่าได้

ในที่นี้ ผู้เขียนจึงอยากชวนมาทำความรู้จักกับเรื่องแต่งประเภทหนึ่งที่โดดเด่นในการนำเสนอภาพสังคมมนุษย์ ซึ่งเล่นกับภาพสังคมมนุษย์ทั้งในอุดมคติและในแบบที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดได้อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือเรื่องแต่งประเภทดิสโทเปีย (dystopia) หมายถึงสังคมมนุษย์ในโลกสมมติที่มีลักษณะอันไม่พึงประสงค์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง

และที่น่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับเรื่องแต่งแนวดิสโทเปีย ก็คือ แต่ละเรื่องล้วนสะท้อนความกังวลบางอย่างเกี่ยวกับสภาพสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน ด้วยการชวนให้เราในฐานะผู้อ่านต้องถามคำถามสำคัญที่ว่า เป็นไปได้มากน้อยเพียงใดกันที่โลกที่เราอยู่จะกลายเป็นสังคมอันน่าสะพรึงกลัวดังเช่นในเรื่องราวเหล่านั้น จึงกล่าวได้ว่าเรื่องแต่งประเภทดิสโทเปียนี้อาจเป็นเสมือน ‘คำเตือน’ เกี่ยวกับสังคมมนุษย์ และควรค่าแก่การศึกษาวิเคราะห์เพื่อสกัดบทเรียนและหาทางป้องกันไม่ให้มนุษยชาติเดินไปในทิศทางที่ผิดพลาดเช่นนั้น

รู้จัก ‘ดิสโทเปีย’: โลก “อุดมคติ” ที่ไม่ได้อุดมคติสำหรับมนุษย์ทุกคน

ดังที่ได้กล่าวข้างต้น โดยทั่วไป เรื่องแต่งประเภทดิสโทเปียมักนำเสนอโลกสมมติที่น่าสะพรึงกลัวในแง่ใดแง่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโลกที่มีความเสื่อมโทรมจากสิ่งแวดล้อม ความพังพินาศจากสงคราม หรือความเละเทะจากระบบเศรษฐกิจและวิถีการบริโภคที่ไร้ประสิทธิภาพ ฯลฯ แต่ประเภทของโลกดิสโทเปียที่ผู้เขียนจะนำมาแนะนำให้รู้จักในที่นี้

คือโลกสมมติที่สังคมมนุษย์อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมักมีความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนในลักษณะที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของสมาชิกในสังคมนั้น ตลอดจนไม่สามารถแก้ปัญหาจากความเสื่อมโทรมต่างๆ รวมถึงที่ได้ยกมาข้างต้นให้ดีขึ้นสำหรับมนุษย์ทุกคนได้เลย (ทั้งนี้ ก็เพราะระบอบเผด็จการไม่เคยยึดโยงกับความต้องการและประโยชน์ของประชาชนทุกคนเป็นสำคัญ)

อย่างไรก็ตาม ที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือว่า แม้ดิสโทเปียจะบอกเล่าเรื่องราวในโลกสมมติอันน่าหวาดหวั่น แต่ที่จริงแล้ว โลกแบบดิสโทเปียมักเกิดขึ้นมาจากความพยายามที่จะสร้างสังคมมนุษย์แบบยูโทเปีย (utopia) ที่มีระบบโครงสร้างและความเป็นไปในด้านต่างๆ สอดคล้องกับภาพของ “โลกอุดมคติ” ไม่มีผิดเพี้ยน

แต่ปัญหามีอยู่ว่า คำว่า ‘อุดมคติ’ สำหรับมนุษย์แต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ในบางครั้งโลกที่สมบูรณ์แบบสำหรับบางคนอาจเป็นโลกที่เลวร้ายสำหรับคนอื่นๆ คำถามคือ แล้วใครจะเป็นคนกำหนดว่าสังคมมนุษย์ควรเป็นแบบใด และคนคนนั้นจะต้องใช้วิธีใดเพื่อทำให้ได้มาซึ่งสังคมในอุดมคติที่ว่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว ในการสร้างโลกอัน “สมบูรณ์แบบ” ที่ไม่มีใครแตกแถวให้เสียระบบนั้นจำเป็นต้องใช้การบังคับขั้นเด็ดขาดแบบเผด็จการ และสิ่งนี้เองคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนความพยายามที่จะสร้าง ‘โลกยูโทเปีย’ ให้เกิดเป็น ‘โลกดิสโทเปีย’ (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะข้อนี้ของดิสโทเปียได้ที่นี่)1

โลกเผด็จการอันเลวร้ายซึ่งเกิดจากความมุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่ “สมบูรณ์แบบ” สำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนี่เองที่เป็นจุดเด่นของเรื่องแต่งประเภทดิสโทเปีย ดังที่เราเห็นได้จากวรรณกรรมและภาพยนตร์ชื่อดังหลายๆ เรื่องในวัฒนธรรมป๊อป (pop culture) ยกตัวอย่างเช่นโลกที่มีการแบ่งเขตระหว่างมนุษย์แต่ละชนชั้นอย่างในวรรณกรรมและภาพยนตร์ชุด Hunger Games ที่เป็นเหมือนสวรรค์ในอุดมคติสำหรับชนชั้นสูงซึ่งใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้ออยู่ในเมืองหลวง แต่เป็นนรกแห่งความแร้นแค้นและการกดขี่ขู่เข็ญสำหรับคนยากจนในพื้นที่ห่างไกล โลกในภาพยนตร์เรื่อง Lobster ที่เชื่อว่าการมีคู่ครองคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์สมบูรณ์แบบ ซึ่งบรรดาคนมีคู่ต่างมีชีวิตที่มีความสุข ในขณะที่คนที่ไม่มีคู่กลับถูกกำจัดทิ้งหรือถูกขับออกจากสังคม หรือวรรณกรรมและภาพยนตร์เรื่อง Never Let Me Go ที่นำเสนอสังคมมนุษย์ที่มีวิทยาการก้าวหน้าจนความเจ็บป่วยไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับมนุษย์อีกต่อไป เพราะมีมนุษย์โคลนที่มีหน้าที่สละอวัยวะในร่างกายให้เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น แต่มนุษย์โคลนเหล่านั้นก็มีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากมนุษย์ตัวจริง และการเกิดมาเพียงเพื่อเป็นคลังอวัยวะสำรองสำหรับผู้อื่นก็คงเป็นอะไรที่น่าเจ็บปวดมิใช่น้อย

เหล่านี้เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของเรื่องแต่งแนวดิสโทเปียที่มีอยู่มากมาย ในที่นี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสและเข้าใจโลกดิสโทเปียอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะขอแนะนำให้รู้จักกับเรื่องแต่งแนวดิสโทเปียระดับขึ้นหิ้ง ซึ่งถือเป็นสุดยอดแห่งดิสโทเปียคลาสสิกที่ถ่ายทอดความเลวร้ายของชีวิตภายใต้ระบบเผด็จการได้อย่างบาดลึกถึงขั้วหัวใจ และชวนให้รู้สึกเสียวไส้อยู่ไม่น้อย โดยจะยกมาทั้งหมดสามเรื่องที่เห็นว่าไม่ควรพลาด ดังต่อไปนี้

1984: โลกเผด็จการเบ็ดเสร็จภายใต้สายตาของรัฐ

หากพูดถึงเรื่องแต่งแนวดิสโทเปียคลาสสิกระดับตำนาน ชื่อของวรรณกรรมเรื่อง 1984 ประพันธ์โดยจอร์จ ออร์เวล (George Orwell) นักเขียนชาวอังกฤษ ตีพิมพ์เมื่อปี 1949 คงต้องติดโผด้วยทุกครั้ง เพราะเป็นวรรณกรรมที่บรรยายการทำงานของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จได้อย่างครบองค์ประกอบพื้นฐาน

เราได้เห็นความพยายามของรัฐในการควบคุมและครอบงำความคิดคนด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่การปฏิรูปภาษาให้มีจำนวนคำที่มีความหมายจำกัดลงเพื่อจำกัดขอบเขตความคิดของคน เนื่องจากเชื่อว่าถ้าไม่มีคำในภาษาที่มีความหมายเชิงอุดมการณ์บางอย่าง คนก็จะไม่สามารถเข้าใจหรือถ่ายทอดอุดมการณ์นั้นได้

หรือการควบคุมข่าวสารและประวัติศาสตร์ โดยตัวเอกเป็นเจ้าหน้าที่ในกองเซนเซอร์ของรัฐ ทำงานภายใต้กระทรวงแห่ง “ความจริง” ที่ต้องคอยแก้ไขและปรับเปลี่ยนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ตรงกับประสงค์ของรัฐ ณ ขณะนั้น โดยเฉพาะในแง่ของการส่งเสริมการใช้อำนาจในการปกครองต่อไป รวมถึงการบอกว่าเศรษฐกิจดี ทั้งที่คนส่วนใหญ่ของรัฐมีสภาพการใช้ชีวิตที่ย่ำแย่และขาดแคลนสิ่งอุปโภคบริโภคพื้นฐานต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีการสร้างศัตรูในจินตนาการ โดยรัฐคอยกระพือข่าวว่าประเทศกำลังทำสงครามอย่างเข้มข้นกับคนคนหนึ่ง ที่ทุกคนก็ไม่แน่ใจว่าเป็นใคร หรือมีตัวตนจริงไหม เป็นการใช้แนวคิดเรื่อง ‘ความเป็นอื่น’ (otherness) เพื่อรวมคนในชาติให้มีเอกภาพจากการเกลียด “ศัตรู” ร่วมกัน และที่สำคัญก็คือยังใช้เพื่อส่งเสริมอำนาจของรัฐในการควบคุมและจัดสรรทรัพยากรของรัฐระหว่างสงครามที่รัฐอ้างว่ากำลังดำเนินอยู่

โดยอำนาจรัฐนี้มีตัวแทนเป็น “พี่เบิ้ม” หรือ “บิ๊กบราเทอร์” (Big Brother) ที่ถูกเชิดชูเป็นประมุขผู้เป็นเสมือนฮีโร่ของบ้านเมือง มีรูปภาพขนาดใหญ่อยู่ทั่วทุกมุมของรัฐ โดยที่ทุกคนก็ไม่แน่ใจเช่นกันว่าพี่เบิ้มนี้มีคุณงามความดีอะไรจริงหรือไม่ รู้แค่ว่ารัฐปลูกฝังให้ประชาชนทุกคนต้องสรรเสริญพี่เบิ้มที่ว่านี้

และที่น่าสะพรึงกลัวที่สุด ก็คือรัฐคอยจับตาดูทุกคนอยู่ตลอดเวลา ผ่านกล้องที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งและจอทีวีในบ้านของทุกคน และยังปลูกฝังให้ประชาชนคอยสอดส่องจับตาดูกันเอง การแสดงออกว่าขัดกับประสงค์ของรัฐแม้แต่นิดเดียวอาจทำให้คนคนนั้นหายสาบสูญไปได้เลยโดยไม่มีกระบวนการทางกฎหมายเหมือนในโลกปกติ เพราะรัฐเป็นผู้กุมอำนาจทุกอย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนี้ยังมีการใช้ความกลัวในการข่มขู่คนไม่ให้คิดแตกแถว

ภาพเกี่ยวกับ 1984 มักเป็นรูปดวงตา สื่อถึงการจับตาสอดส่องประชาชนโดยรัฐอยู่ตลอดเวลา
สอดคล้องกับคำกล่าว “พี่เบิ้มกำลังจับตาดูคุณอยู่” ซึ่งปรากฏพร้อมรูปของพี่เบิ้มตามที่ต่างๆทั่วรัฐ
ส่วนคำขวัญของรัฐ “สงครามคือสันติภาพ อิสรภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือกำลัง”
แสดงถึงการบิดเบือนภาษาเพื่อควบคุมความคิดความเชื่อของคนในรัฐ

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการทำงานของเผด็จการที่เราเห็นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการเซนเซอร์และดัดแปลงเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงให้เอื้อประโยชน์ต่ออำนาจ การจับตาดูประชาชนไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางในเชิงอุดมการณ์ หรือการใช้ความกลัวและความรุนแรงปราบปรามผู้เห็นต่าง กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ล้วนเอื้อให้ผู้กุมอำนาจของรัฐได้เป็นผู้กำหนดความเป็นไปในรัฐตลอดจนการแบ่งสรรทรัพยากรที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเอง จึงไม่แปลกที่ 1984 ได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรมดิสโทเปียเล่มแรกๆ ที่หลายคนแนะนำว่าต้องอ่านให้ได้สักครั้ง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 1984 ได้ที่นี่)2

The Handmaid’s Tale: รัฐเผด็จการชายเป็นใหญ่ เมื่อผู้หญิงถูกบังคับให้เป็นเครื่องผลิตลูก

วรรณกรรมดิสโทเปียอีกเรื่องที่เรียกได้ว่าสร้างความสั่นสะเทือนระดับตำนานไม่แพ้กัน ได้แก่ The Handmaid’s Tale (1985) ของมาร์กาเรต แอตวูด (Margaret Atwood) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวแคนาดา เนื่องจากวรรณกรรมเรื่องนี้พรรณนาโลกสมมติแบบดิสโทเปียที่มีมิติพิเศษลึกซึ้งกว่าเรื่องอื่นๆ อยู่มาก ด้วยโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เพียงอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเท่านั้น แต่ยังมีวิถีปฏิบัติที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ในหลายแง่ โดยเฉพาะของเพศหญิง ซึ่งถูกปฏิบัติเยี่ยงเป็นมดลูกเดินได้ภายใต้กำกับของรัฐ

ในเรื่อง The Handmaid’s Tale นี้ เรายังคงอยู่ในโลกเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากสังคมมนุษย์ปกติเหมือนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เราจึงได้เห็นกระบวนการใช้ความรุนแรงในการยึดอำนาจ และการใช้ความเชื่อทางศาสนาเป็นข้ออ้างที่สร้างความชอบธรรมให้กับระบบโครงสร้างทางสังคมใหม่ที่ผู้ยึดอำนาจต้องการให้เป็น ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นระบบที่พวกตนเองได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งในแง่ของอำนาจในรัฐ สถานะทางสังคม และการเข้าถึงทรัพยากรในรัฐโดยเฉพาะในรูปแบบของชีวิตที่สะดวกสบายและสิทธิในการสืบพันธุ์!

ระบบโครงสร้างสังคมที่ว่านี้มีการแบ่งคนเป็นชนชั้นต่างๆ ที่มีหน้าที่ต่างกัน ตั้งแต่ชนชั้นกลางธรรมดาที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน ไปจนถึงชนชั้นนำผู้มีชีวิตสะดวกสบายในบ้านหลังใหญ่และมีบรรดาคนรับใช้คอยรองมือรองเท้าในด้านต่างๆ อย่างครบครัน โดยคนรับใช้เหล่านี้ก็ถือเป็นคนชั้นล่างของสังคม จะเห็นได้ว่าชนชั้นนำเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรทั้งหมดในรัฐ รวมถึงทรัพยากรคนจากชนชั้นล่างด้วย

ที่สำคัญกว่านั้น สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของเรื่องนี้ก็คือ ทรัพยากรที่ว่าเหล่านั้น ยังรวมไปถึงมดลูกของผู้หญิง!

เพราะด้วยภาวะที่สารพิษจากกัมมันตภาพรังสีทำให้คนส่วนใหญ่เป็นหมัน มดลูกของผู้หญิงที่ยังสืบพันธุ์ได้จึงถือเป็น “ทรัพยากรของรัฐ” ที่มีค่ายิ่ง ทำให้รัฐบังคับผู้หญิงเหล่านั้นให้เป็นเสมือนเครื่องผลิตลูก ต้องทำหน้าที่อุ้มบุญให้ชนชั้นสูง โดยระบบการทำงานคือต้องเวียนไปอยู่ตามบ้านของชนชั้นสูงที่คู่สามีภรรยาไม่สามารถมีลูกได้ ซึ่งรัฐโทษว่าเป็นความผิดปกติของฝ่ายหญิง จึงต้องมีหญิงสาวเหล่านี้มาทำหน้าที่แฮนด์เมด (แปลเป็นไทยตรงตัวได้ว่า ‘สาวรับใช้’) มีสถานะต่ำต้อยอยู่ในบ้าน โดยมีหน้าที่ตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกให้ชนชั้นสูง

คำว่า ‘แฮนด์เมด’ นี้ก็อิงจากคำที่ใช้ในคำภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม (Old Testament) ของศาสนาคริสต์ ที่พูดถึงสาวรับใช้ผู้ทำหน้าที่ตั้งครรภ์แทนนายหญิงที่มีลูกไม่ได้ แม้กระทั่งกระบวนการ ‘ทำลูก’ ก็ลอกเลียนแบบมาจากที่บรรยายไว้ในคัมภีร์ดังกล่าว คือแฮนด์เมดต้องนอนตรงหว่างขาของผู้ที่เป็นภรรยาระหว่างที่สามีทำภารกิจอยู่ตรงหว่างขาของแฮนด์เมดอีกที ทั้งนี้ก็เพื่อสื่อว่าแฮนด์เมดเป็นเพียงทางผ่านที่มีสถานะเทียบเท่ามดลูกสำรองเท่านั้น เป็นการข่มขืนและบังคับให้ตั้งครรภ์แทนผู้อื่น (forced surrogacy) ที่สั่งการโดยรัฐดีๆ นี่เอง

ฉากการ ‘ทำลูก’ ในซีรีส์ The Handmaid’s Tale (2017-ปัจจุบัน)
(ในไทยสามารถชมได้ทาง HBO GO)

แน่นอนว่าระบบเผด็จการที่มีการขืนใจคนในรัฐอย่างรุนแรงเช่นนี้ได้ ย่อมต้องมีวิธีในการบังคับควบคุมคน ซึ่งดังที่ได้เกริ่นก่อนหน้านี้ ก็ย่อมหนีไม่พ้นการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะด้วยการเนรเทศไปอยู่ในพื้นที่อันตรายซึ่งมีปริมาณสารพิษสูง การอุ้มหายที่กระทำท่ามกลางสายตาของฝูงชนที่ไม่กล้าทักท้วงเพราะกลัวตัวเองจะโดนบ้าง และการฆ่าทิ้งอย่างป่าเถื่อน ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ ทั้งการประหารชีวิตด้วยการแขวนคอพร้อมแขวนศพประจาน หรือให้คนรุมประชาทัณฑ์จนเสียชีวิตคาที่โดยไม่มีกระบวนการพิสูจน์ความผิดแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้กระทำกับผู้ใดก็ตามที่กล้าปฏิบัติตัวผิดเพี้ยนจากบทบาทหน้าที่ที่รัฐกำหนดไว้

แต่ถ้าเป็นแฮนด์เมดที่คิดจะขัดขืนก็อาจยังไม่โดนทำร้ายถึงชีวิตในทันที เพราะมดลูกที่สืบพันธุ์ได้ยังถือเป็นทรัพยากรที่มีค่า รัฐจะใช้วิธีอย่างเช่นการควักลูกตาออกหนึ่งข้างแทน! เพราะถือว่าสิ่งที่ต้องใช้ในการสืบพันธุ์คือมดลูก ไม่ใช่ดวงตา

ทั้งหมดนี้ก็มากเพียงพอจะทำให้ระบอบเผด็จการเช่นนี้ดำเนินอยู่ต่อไป กลายเป็นโลกอุดมคติสำหรับชนชั้นนำ แต่เป็นเหมือนนรกบนดินสำหรับคนอื่นที่เหลือ โดยเฉพาะหญิงสาวที่ต้องถูกข่มขืนให้ท้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่เลือกอะไรไม่ได้เลย เพราะชนชั้นนำในรัฐกุมอำนาจทุกอย่างไว้เบ็ดเสร็จแล้วนั่นเอง

หากสนใจเพิ่มเติม ผู้เขียนเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองการวิเคราะห์เรื่อง The Handmaid’s Tale ในรายการพอดแคสท์ Cafe Theorists สามารถรับฟังได้ที่นี่4

Brave New World: ที่สุดแห่งสังคมมนุษย์ในอุดมคติ จริงหรือ?

วรรณกรรมดิสโทเปียระดับขึ้นหิ้งเรื่องสุดท้ายที่จะหยิบยกมาในที่นี้ ได้แก่ Brave New World (1932) โดยอัลดัส ฮักซ์ลีย์ (Aldous Huxley) นักเขียนชาวอังกฤษ วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมากของโลกดิสโทเปียที่เกิดจากความพยายามสร้างโลกยูโทเปียหรือโลกในอุดมคติ ด้วยระบบที่ดูเผินๆ อาจจะเหมือนถูกวางไว้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ที่ทำให้ขนลุกคือความเป็นมนุษย์ของปัจเจกชนที่ถูกลดทอนให้หายไปจนหมดสิ้น ในโลกที่ดูเหมือนว่าทุกคนมีความสุข แต่หน้าที่ของมนุษย์คือการเล่นไปตามบทบาทที่รัฐกำหนดให้เท่านั้น

ผู้ประพันธ์เรื่อง Brave New World ได้วาดภาพสังคมมนุษย์ใน “อุดมคติ” ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจและชวนให้ตั้งคำถามไม่น้อย ในโลกอนาคตที่มนุษยชาติมีวิวัฒนาการไปถึงจุดที่วิทยาการต่างๆ ก้าวหน้าถึงขีดสุด หลายสิ่งที่เป็นปัญหาของมนุษย์ในปัจจุบันได้รับการแก้ไขและกำจัดให้หมดไป ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ความชรา และแม้กระทั่งปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนอย่างความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ ในโลกที่ไม่ได้แบ่งแยกเป็นประเทศต่างๆ เหมือนในปัจจุบัน มนุษย์ทั้งโลกอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายใต้การปกครองของรัฐโลก ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนโดยที่ไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองมีทุกข์แต่อย่างใด

หากมองอย่างผิวเผิน ทุกอย่างก็ดูราบรื่นดี แต่ดังที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้ การจะได้มาซึ่ง “โลกยูโทเปีย” เช่นนี้จำเป็นต้องมีการวางระบบบางอย่างอย่างรัดกุมเพื่อสร้างสังคมมนุษย์ที่เป็นระเบียบแบบแผนโดยไม่มีใครแตกแถว เพราะมนุษย์แต่ละคนย่อมมีความเป็นปัจเจกบุคคลซึ่งมีความต้องการและมุมมองที่ต่างกันออกไป โลกที่ไม่มีความขัดแย้งเลยฟังดูเป็นเรื่องเหนือจินตนาการเหลือเกิน ด้วยเหตุนี้ ใน Brave New World ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบแบบนี้ดำรงอยู่ได้จึงต้องเป็นการควบคุมความรู้สึกนึกคิดและตัวตนของมนุษย์ตั้งแต่ก่อนที่จะปฏิสนธิ!

ในโลกที่วิทยาการก้าวหน้าจนการสืบพันธุ์ไม่ใช่ภาระของปัจเจกชนอีกต่อไป รัฐมีหน้าที่ “สร้าง” ประชากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นเสมือนฟันเฟืองในระบบอย่างลงตัว ด้วยการแบ่งประชากรเป็นชนชั้นต่างๆ ที่มีหน้าที่ต่างกัน โดยมีเกณฑ์ตั้งต้นคือพันธุกรรมที่ต่างกัน ตัวอ่อนที่มี “ยีนดี” อันได้แก่สติปัญญาความเฉลียวฉลาดและรูปร่างหน้าตาที่พึงประสงค์จะถูกจัดว่าเป็นชนชั้นสูงสุด มีหน้าที่ทำงานที่ใช้ความสามารถทางสติปัญญา ขณะที่ตัวอ่อนที่ถือว่าด้อยกว่าทางพันธุกรรมจะถูกจัดเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่า ไล่เรียงกันไปรวมห้าชนชั้น โดยชนชั้นล่างๆ จะมีหน้าที่เป็นแรงงาน

ในการที่จะทำให้คนแต่ละคนชั้นยอมทำตามหน้าที่ของตัวเองโดยไม่ปริปากบ่นไปตลอดชีวิต การคัดพันธุกรรมเพื่อแบ่งชนชั้นอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการหล่อหลอมกล่อมเกลาบุคคลด้วยการปรับคุณลักษณะ (condition) ที่จะทำให้คนแต่ละชนชั้นยอมรับบทบาทของตัวเองจากเบื้องลึกของสัญชาตญาณ (ที่ไม่ใช่สัญชาตญาณตามธรรมชาติ เพราะถูกรัฐสร้างขึ้น) เด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่แยกกันอยู่ในแต่ละบ้านเหมือนในโลกปัจจุบันย่อมขัดต่อเงื่อนไขนี้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น รัฐจะไม่สามารถกล่อมเกลาบุคคลได้อย่างเต็มที่ภายใต้ระบบที่มีเอกภาพ

สังคมมนุษย์ในวรรณกรรมดิสโทเปียเองนี้จึงไม่มีคำว่าครอบครัว รวมถึงคำว่าพ่อ แม่ ลูก อีกต่อไป เด็กทุกคนเติบโตในศูนย์สร้างประชากรของรัฐ และต้องผ่านกระบวนการกล่อมเกลาตั้งแต่แรกเกิด ไม่ว่าจะด้วยการเปิดเทปข้อความกรอกหูวนไปซ้ำๆ หรือการใช้วิธีทางจิตวิทยาอย่างเช่นการเสริมแรงทางบวก (positive reinforcement) การเสริมแรงทางลบ (negative reinforcement) และการลงโทษ (punishment) อย่างเช่น ถ้าเป็นเด็กในชนชั้นแรงงาน ก็จะโดนไฟฟ้าช็อตเมื่อจับหนังสือหรือดอกไม้ เพื่อให้โตมาไม่ชอบหนังสือและไม่ชอบธรรมชาติ เพราะการอ่านออกเขียนได้จะทำให้แรงงานมีความตระหนักรู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมระหว่างชนชั้น และที่ต้องไม่ชอบธรรมชาติก็เพื่อที่จะได้ “เลือก” เป็นแรงงานอยู่ในเมือง และเป็นฟันเฟืองที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ต่อไป

ด้วยกระบวนการปรับสภาพเหล่านี้ ประชาชนแต่ละชนชั้นจึงเล่นตามบทบาทที่ถูกกำหนดไว้แต่โดยดี ไม่มีใครโวยวายเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น แม้ว่าผู้ที่อยู่ในชนชั้นล่างจะมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าชนชั้นสูงอย่างมากก็ตาม (ตัวอย่างเช่น ชนชั้นล่างจะต้องนั่งรถไฟเบียดเสียดกันเพื่อเดินทางไปทำงานในทุกๆ เช้า ขณะที่ชนชั้นสูงมีเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวเป็นพาหนะในการเดินทาง) ทั้งนี้เพราะทุกคนล้วนผ่านการหล่อหลอมกล่อมเกลาโดยรัฐมาเป็นอย่างดีแล้วนั่นเอง และเมื่อใครเกิดความหม่นหมองใดๆ ก็ตาม รัฐก็ออกแบบความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ให้ประชาชนเลือกเสพและบอกตัวเองว่ามีความสุขดีแล้วต่อไป ตั้งแต่สื่อบันเทิงที่มีลักษณะพิเศษในการหลอกประสาทสัมผัสทั้งห้า ไปจนถึงยาเสพติดที่ให้ความรู้สึกสุขสม ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายด้วยการส่งเสริมจากรัฐ

ภาพเปรียบเทียบโลกดิสโทเปียระหว่างโลกใน 1984 กับใน Brave New World
ใน 1984 รัฐเป็นผู้สั่งแบนและเซนเซอร์หนังสือ
ขณะที่ใน Brave New World ประชาชนถูกกล่อมเกลาให้ไม่สนใจหนังสือตั้งแต่แรก ที่มาภาพ : Stuart McMillen

ทั้งหมดนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า สังคมมนุษย์ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะสมบูรณ์แบบ ไม่มีใครรู้สึกเป็นทุกข์ ระบบต่างๆ หมุนเวียนไปอย่างราบรื่น แต่ต้องแลกมาด้วยเสรีภาพในการเลือกเส้นทางชีวิตและมิติความเป็นมนุษย์เชิงจิตวิญญาณในฐานะปัจเจกชนเช่นนี้ จะถือเป็นโลกในอุดมคติหรือไม่

หากสนใจมุมมองเปรียบเทียบสังคมใน Brave New World กับสังคมไทย แนะนำให้อ่านบทความนี้4

ด้วยลักษณะโดดเด่นที่แตกต่างกันของสังคมมนุษย์ในวรรณกรรมดิสโทเปียทั้งสามเรื่องดังที่ได้อธิบายข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าควรหยิบยกมาแนะนำในที่นี้ ด้วยหวังว่าจะทำให้ผู้อ่านเห็นแง่มุมของสังคมมนุษย์ในจินตนาการที่อาจใกล้ความเป็นจริงมากกว่าที่เราคิด เพื่อนำไปสู่การสกัดบทเรียนให้แก่สังคมมนุษย์ในโลกแห่งความเป็นจริงต่อไป

มองโลกสมมติ แล้วย้อนมองสังคมมนุษย์ในโลกจริง

ดังที่ได้กล่าวตั้งแต่เริ่มบทความ คงจะเป็นการน่าเสียดาย หากเราได้สัมผัสโลกดิสโทเปียที่สรรสร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้แต่งเพื่อแสดงภาพสังคมมนุษย์ในแบบที่น่ากลัวที่สุด แล้วไม่นำมาย้อนมองโลกแห่งความเป็นจริง ว่าโลกอันเลวร้ายในจินตนาการนั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใดในโลกจริง หรือแม้กระทั่งว่ามันเกิดขึ้นไปแล้วหรือยัง

เพราะหากพิจารณาหาให้ดีจะเห็นว่า รัฐที่ปกครองด้วยระบอบที่มีลักษณะเป็นเผด็จการหลายแห่งก็ใช้วิธีที่คล้ายคลึงกับในโลกดิสโทเปียเหล่านั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ นอกจากการเข้ายึดครองอำนาจโดยใช้อาวุธรุนแรงต่างๆ เรายังเห็นการเซนเซอร์ความจริงโดยรัฐเมื่อความจริงนั้นอาจไปสั่นคลอนอำนาจในการปกครองของผู้มีอำนาจ ตั้งแต่การเซนเซอร์หรือบิดเบือนสื่อ ไปจนถึงการปิดปากผู้เห็นต่างโดยใช้ความรุนแรง เราเห็นการลอบทำร้าย อุ้มหาย อุ้มฆ่าที่กระทำกับผู้ที่กล้าแสดงออกว่าเห็นต่างจากรัฐหรือกล้าทักท้วงความชอบธรรมของอำนาจรัฐ ซึ่งล้วนเกิดขึ้นโดยไม่มีกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายที่ชัดเจน ในภาวะที่อำนาจยุติธรรมอยู่ภายใต้อำนาจของเผด็จการในระบบที่มีที่มาอย่างอยุติธรรม ที่ว่ามานี้เกิดขึ้นได้ด้วยกลไกด้านการข่มปราบของรัฐ (repressive state apparatus) ตามนิยามของหลุยส์ อัลทูแซร์ ซึ่งหมายถึงอำนาจของรัฐในการใช้กำลังปราบปรามผู้ที่รัฐเห็นว่ามีการปฏิบัติตัวที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งในที่นี้ ก็คือการปฏิบัติใดๆ ก็ตามที่อาจไปสั่นคลอนการถือครองอำนาจในรัฐของชนชั้นปกครองที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ

โดยกลไกด้านการข่มปราบที่ว่านี้จะทำงานควบคู่ไปกับกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ (ideological state apparatus) ซึ่งหมายถึงการหล่อหลอมกล่อมเกลาความคิดความเชื่อของคนในสังคมผ่านสถาบันต่างๆ อย่างเช่นสถาบันการศึกษาหรือสถาบันศาสนา เกิดเป็นวาทกรรมและค่านิยมที่กลายเป็นความคิดกระแสหลักที่ชี้นำความคิดของคนในสังคม ซึ่งล้วนเอื้อต่อการครองอำนาจของชนชั้นปกครอง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยกลไกของรัฐทั้งสองแบบนี้ได้ที่นี่)5 วิธีนี้ก็เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในโลกจริงเช่นกัน การใช้โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองหรือที่เรียกกันว่าพรอพาแกนดา (propaganda) เพื่อส่งเสริมอำนาจของชนชั้นนำไม่ใช่เรื่องเหนือจินตนาการในโลกแห่งความเป็นจริงแต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุปก็คือว่า โลกแห่งความเป็นจริงอาจมีลักษณะบางอย่างที่ไม่ต่างจากโลกดิสโทเปียเท่าใดนัก เพราะมีทั้งการใช้ความรุนแรงเพื่อยึดครองและรักษาไว้ซึ่งอำนาจเหนือรัฐ ควบคู่ไปกับการใช้กลไกเชิงอุดมการณ์สร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจนั้น โดยในภาวะที่อยู่ใต้ระบอบการปกครองที่มีลักษณะเผด็จการ ด้วยที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนและการทำงานที่ไร้การตรวจสอบจากประชาชน ชนชั้นปกครองเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของระบบต่างๆ ในรัฐ ตั้งแต่ระบบการบริหารประเทศซึ่งหมายถึงอำนาจในการแบ่งสรรทรัพยากรในรัฐ ไปจนถึงระบบกฎหมายและความยุติธรรมซึ่งหมายถึงความชอบธรรมในการเสริมสร้างอำนาจและการสร้างภูมิคุ้มกันทางกฎหมายให้กับฝ่ายตน ตลอดจนการกำจัดผู้ที่ขัดต่ออำนาจของตนไปพร้อมๆ กัน (ดูเพิ่มเติมเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การใช้ระบบกฎหมายของรัฐเพื่อเอื้อต่อชนชั้นนำในไทยได้ที่นี่)

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างระบบเชิงโครงสร้างที่เอื้อให้ตนและพวกพ้องในฐานะผู้มีอำนาจสามารถเข้าถึงและตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรในรัฐได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรในรูปแบบของที่ดิน เงิน กำลังคน หรือส่วนแบ่งตลาดในระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ แปรเปลี่ยนเป็นชีวิตที่หรูหราสะดวกสบาย และการใช้อำนาจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยไม่มีระบบการตรวจสอบที่โปร่งใสเป็นธรรม ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการเอารัดเอาเปรียบประชากรส่วนใหญ่ของรัฐ ซึ่งควรเป็นผู้ได้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นอย่างเสมอภาคกัน ในรูปแบบของคุณภาพชีวิตที่ดีและความมั่นคงในชีวิตในขั้นพื้นฐาน

ที่กล่าวมานี้คือวิธีการทำงานของผู้มีอำนาจแบบเผด็จการในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับในโลกดิสโทเปีย ซึ่งชวนให้น่าฉุกคิดในความผิดปกติบิดเบี้ยว เพราะพรากโอกาสในการมีชีวิตที่ดีไปจากมวลมนุษย์จำนวนมากอย่างไร้ความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองเห็นความผิดปกติบิดเบี้ยวในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว อีกคำถามสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้จากการอ่านดิสโทเปีย ซึ่งทำให้เราเห็นแล้วว่าระหว่างโลกยูโทเปียกับโลกดิสโทเปียนั้นมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่ ก็คือว่าแล้วเราจะต้องทำอย่างไร ที่จะไปสู่สังคมที่ดีขึ้นโดยไม่กลายเป็นโลกดิสโทเปียดังเช่นในเรื่องราวเหล่านั้น

จากมุมมองของผู้เขียนบทความนี้ ผู้เขียนเห็นว่าลักษณะสำคัญประการแรกของวิธีการสร้าง “สังคมในอุดมคติ” ในโลกดิสโทเปียซึ่งกลายเป็นพื้นฐานของระบบเผด็จการ ก็คือการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองหรือวิธีการบริหารของรัฐโดยไม่มีการยึดโยงกับประชาชนคนส่วนใหญ่ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกของรัฐนั้นๆ

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการบริหารปกครองและความเป็นไปในเรื่องที่สำคัญในรัฐจะต้องมาจากฉันทามติของประชาชนส่วนใหญ่ โดยที่ต้องมีพื้นที่ในการรับฟังความต้องการและปัญหาของเสียงส่วนน้อยควบคู่กันไปด้วย

หากพิจารณาในบริบทของโลกแห่งความเป็นจริง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการปกครองของรัฐต้องมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การออกแบบในขั้นแรก การตรวจสอบได้อย่างโปร่งใสเป็นธรรมโดยประชาชนตลอดการทำงาน และการรับฟังเสียงของประชาชนในระหว่างที่ระบบดำเนินไปเพื่อตอบสนองความต้องการและเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของคน ในแง่นี้ จึงจำเป็นต้องมีการปกครองแบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจากล่างขึ้นบน (bottom up) แทนระบบที่มีการสั่งการแบบบนลงล่าง (top down) ซึ่งอำนาจกระจุกตัวอยู่ที่ศูนย์กลาง

นอกจากนี้ ข้อควรระวังที่สำคัญอีกประการซึ่งเป็นบทเรียนจากการอ่านโลกดิสโทเปีย ก็คือความพยายามในการได้มาซึ่งสังคมมนุษย์ในอุดมคติ

เพราะบางทีแล้ว คำว่า “อุดมคติ” อาจไม่มีอยู่จริง เพราะไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับคนทุกคนซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความแตกต่างหลากหลายกันอยู่ หากจะไม่ให้เป็นดังเช่นโลกดิสโทเปีย เราคงต้องเริ่มด้วยการยอมรับว่า ไม่มีใครสามารถเป็นผู้กำหนดระบบของสังคมที่จะดีที่สุดสำหรับทุกคนได้ ดังนั้นแท้จริงแล้ว คำว่า ‘สังคมในอุดมคติ’ อาจไม่ใช่ภาพสังคมแบบใดแบบหนึ่ง แต่ควรหมายถึงสังคมมนุษย์ที่มีการพัฒนาเพื่อยกระดับความมั่นคงและคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่อย่างไม่หยุดหย่อน เป็นสังคมมนุษย์ที่ก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอโดยไม่ได้มีหมุดหมายที่ตายตัว แต่ต้องคอยแก้ปัญหาจากช่องโหว่ของระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยที่อำนาจในการบริหารปกครองเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาเหล่านั้นต้องตั้งอยู่บนระบบที่ยึดโยงกับสมาชิกโดยรวมของรัฐนั้นๆ อย่างทั่วถึง

เพราะการอ่านโลกดิสโทเปียได้ทำให้เราเห็นแล้วว่า สังคมมนุษย์ที่อำนาจในการบริหารและปกครองจำกัดอยู่กับคนเพียงแค่หยิบมือและไร้ซึ่งความโปร่งใสเป็นธรรมนั้น เสี่ยงต่อการเอารัดเอาเปรียบที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต ความมั่นคงในชีวิต ตลอดจนสวัสดิภาพและความเป็นมนุษย์ของคนในสังคมนั้นมากเพียงใด

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงต้องร่วมกันเรียกร้องและขับเคลื่อนให้เกิดระบบการปกครองและการบริหารประเทศที่ยึดโยงกับประชาชน และมีประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นสำคัญ

หมายเหตุ :

1.How to recognize a dystopia – Alex Gendler (TED-Ed, พ.ย. 2016)
2.1984 : 70 ปี วรรณกรรมคลาสสิกของ “จอร์จ ออร์เวลล์” เข้ากระแสการเมืองไทย-การเมืองโลก (โดยจีน ซีตัน ทางบีบีซี, 8 มิ.ย. 2019)
3.Blessed be the fruit: มดลูกเดินได้ใน The Handmaid’s Tale (Cafe Theorists, ต.ค. 2020)
4.มองวิทยาศาสตร์และสังคมไทยผ่าน Brave New World (โดยสฤณี อาชวานันทกุล, ม.ค. 2009)
5. รัฐ อุดมการณ์ และสถาบันการศึกษา ว่าด้วยกลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ ใน ‘On Ideology’ (โดยกิตติพล สรัคคานนท์ ทาง The Matter, 5 ก.ย. 2020) https://thematter.co/thinkers/between-the-line/on-ideology-by-louis-althusser/122780
6.ธงชัย วินิจจะกูล: นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม | ปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 (ประชาไท, มี.ค. 2020)