ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

แม้สถานการณ์ 6 เดือนหลังการรัฐประหารในเมียนมายังไม่นิ่งสนิท แต่หลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 ล้วนมีนัยสำคัญ และดูไม่น่าเป็นเรื่องบังเอิญ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวจาก “จีน”
เมียนมาถูกวางบทบาทเป็นช่องทางเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่ของจีนกับมหาสมุทรอินเดีย ตามข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง”
ความเคลื่อนไหวในเดือนสิงหาคม 2564 บอกแนวโน้มว่าจีนกำลังเริ่มต้นกระบวนการกรุยทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งย่อมมีผลต่อหลายพื้นที่ของเมียนมา นับจากนี้
……

ต้นเดือนสิงหาคม 2564 หลายพื้นที่ตามแนวชายแดนเมียนมา-จีน ภาคเหนือของรัฐฉานตกอยู่ในสภาพตึงเครียด
เกิดการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างทหารของกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยเฉพาะกองทัพโกก้าง (MNDAA: Myanmar National Democratic Alliance Army) ชาวบ้านหลายร้อยคนต้องละทิ้งบ้านเรือน ไร่นา อพยพไปกางเต็นท์หลับนอนอยู่ติดกับแนวรั้วกั้นเขตแดนที่ทางการท้องถิ่นของจีนได้สร้างไว้ เพื่อหลบภัยจากการสู้รบครั้งนี้
ปลายเดือนสิงหาคม 2564 มีความเคลื่อนไหวซึ่งมีนัยสำคัญจากฝั่งจีน หลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ!!!
จีนกำลังเดินหน้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อเร่งเปิดเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ผ่านทางชายแดนรัฐฉาน ข้ามดินแดนเมียนมาไปถึงชายฝั่งทะเลที่เมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่
เมืองหลิงชาง มณฑลยูนนาน ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหลักสำหรับเส้นทางออกสู่ทะเลด้านนี้ และ “ชิงส่วยเหอ” เมืองชายแดนในเขตปกครองตนเองโกก้าง กำลังถูกเพิ่มบทบาทให้เป็นช่องทางเข้า-ออกของสินค้าที่มีความสำคัญมากขึ้น ตามข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) นอกเหนือจากด่านชายแดนหมู่เจ้-รุ่ยลี่
[อ่านเพิ่มเติม “หมู่เจ้” ประตูการค้าจีน-เมียนมา ที่ “ใหญ่” ที่สุด]
ระหว่างวันที่ 21-28 สิงหาคม 2564 ซุน กั๋วเสียง ผู้แทนพิเศษกิจการอาเซียน กระทรวงต่างประเทศจีน ได้เดินทางไปเยือนเมียนมาอย่างเงียบๆ
ข่าวการมาเยือนของซุน กั๋วเสียง ถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากที่เขาเดินทางกลับจากเมียนมาแล้ว 3 วัน ผ่านเอกสารแถลงข่าวของสถานทูตจีนในเมียนมา จากนั้นจึงค่อยถูกกระจายสู่สาธารณะโดยสำนักข่าวตะวันตก
เนื้อข่าวระบุว่า ซุน กั๋วเสียงได้พบปะกับ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีเมียนมา อู วุณณะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ พล.ท. หย่าปยิ รัฐมนตรีสำนักงานรัฐบาลสหภาพ และประธานคณะกรรมการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์
มีการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยจีนยืนยันสนับสนุนการฟื้นฟูเสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมาให้กลับคืนสู่ปกติโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังพูดคุยกันถึงความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19
ที่สำคัญ มีการย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของเมียนมา บนข้อริเริ่ม “1 แถบ 1 เส้นทาง”…
ซุน กั๋วเสียง เป็นตัวแทนของจีนที่ได้เข้าไปมีบทบาทในหลายๆ เรื่องของกระบวนการสันติภาพในเมียนมา ตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD ของอองซาน ซูจี
เขาเป็น 1 ใน 6 ตัวแทนประเทศ/องค์กร ที่ได้รับเชิญให้เป็นสักขีพยานอย่างเป็นทางการ ในการลงนามสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่รัฐบาลพรรค NLD ทำเพิ่มเติมกับพรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และกลุ่มลาหู่ (LDU) ระหว่างวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากเคยลงนามกับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ในสมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง
นอกจากนี้ ซุน กั๋วเสียง ยังเป็นตัวแทนของจีนที่เข้าไปมีบทบาทในสถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐยะไข่ นับแต่เริ่มเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2559 โดยเป็นผู้ประสานงานให้รัฐบาลบังกลาเทศเปิดเจรจากับรัฐบาลเมียนมาในประเด็นนี้…

วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ขณะที่ ซุน กั๋วเสียง อยู่ระหว่างการเยือนเมียนมา ที่จังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน ได้มีพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ ที่วิ่งออกจากท่าบก (dry port) หลินชาง ขึ้นไปสู่เฉิงตู เมืองหลักของมณฑลเสฉวน ระยะทางยาว 1,170 กิโลเมตร
[คลิปพิธีเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าจากหลินชาง-เฉิงตู https://www.facebook.com/watch/?v=544959580257658 ]สินค้าที่ส่งไปกับรถไฟขบวนนี้ ถูกนำเข้ามาจากประเทศต่างๆ ทางเรือ ผ่านมหาสมุทรอินเดีย มาขึ้นบกยังท่าเรือย่างกุ้ง ก่อนลำเลียงต่อโดยรถบรรทุกไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 และ 3 จากกรุงย่างกุ้ง ผ่านมัณฑะเลย์ ปินอูลวิน หนองเขียว จ๊อกแม ล่าเสี้ยว แสนหวี กุ๋นโหลง ข้ามชายแดนที่ด่านชิงส่วยเหอ ต่อขึ้นไปถึงเมืองหลินชาง
Yang Haodong เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเมืองหลินชาง กล่าวว่า ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ “หลินชาง-เฉิงตู” ถือเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ซึ่งมีเป้าหมายออกสู่มหาสมุทรอินเดีย เป็นการเปิดหน้าใหม่ในความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง “pauk-phaw” ของทั้ง 2 ประเทศ
ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ในพิธีเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ “หลินชาง-เฉิงตู” ระบุว่า เส้นทางสายนี้ถูกกำหนดให้เป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน โดยมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนของจีน และเจ้าก์ผิ่วยังเป็นต้นทางของท่อก๊าซและน้ำมัน เมียนมา-จีน ยาว 770 กิโลเมตร รวมถึงกำลังมีก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่วของจีนอยู่ในขณะนี้อีกด้วย
ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา บนเส้นทางเฉิงตู-เจ้าก์ผิ่ว จะมีการพัฒนารูปแบบการคมนาคมที่ผสมผสาน ระหว่างเรือ ทางรถไฟ และถนน โดยมีหลินชางเป็นเมืองหลัก
ในอนาคตเมื่อสินค้าได้ขึ้นบกที่ท่าเรือเจ้าก์ผิ่ว จะถูกส่งต่อขึ้นไปยังหลินชางผ่านช่องทางชิงส่วยเหอ จากหลินชางสินค้าจะถูกส่งต่อไปยังเมืองเฉิงตู โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 3 วัน ลดลงถึง 25 วัน จากเวลาที่เคยใช้ช่วงก่อนหน้านี้ จากนั้นสินค้าจะถูกกระจายจากเฉิงตูออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน

วันที่ 26 สิงหาคม 2564 หลังเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าเที่ยวปฐมฤกษ์ “หลิงชาง-เฉิงตู” ได้ 1 วัน มีการเปิดงานแสดงสินค้าชายแดน “ล่าเสี้ยว-หลินชาง” ผ่านทั้งทางระบบออนไลน์และออฟไลน์ งานนี้ได้จัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2564
งานแสดงสินค้าชายแดน “ล่าเสี้ยว-หลินชาง” ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยประสบความสำเร็จในการจัดครั้งแรกมาแล้วเมื่อปี 2562
……
ขบวนรถไฟขนส่งสินค้า “หลิงชาง-เฉิงตู” เป็นความคืบหน้าต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 บริษัท Railway No. 10 Engineering Group เพิ่งประสพความสำเร็จในการเจาะอุโมงค์ “ต้าโพหลิ่ง” อุโมงค์รถไฟยาว 14.66 กิโลเมตร ในตำบลหย่งผิง เขตปกครองตนเองชาติพันธุ์ไป๋ ต้าลี่ หลังต้องใช้เวลาเจาะยาวนานถึง 14 ปี เพราะตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหว
[คลิปข่าวความสำเร็จในการเจาะอุโมงค์รถไฟต้าโพหลิ่ง https://www.xinhuathai.com/vdo/218484_20210730 ]อุโมงค์ต้าโพหลิ่งอยู่บนเส้นทางรถไฟสายต้าลี่-รุ่ยลี่ ความยาว 331 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางหนึ่งของโครงข่ายทางรถไฟฝั่งตะวันตกที่เชื่อมจีนกับเมียนมา ถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า “จีน-เมียนมา” ที่นครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ได้เร่งรัดเดินหน้าวางรางรถไฟระหว่างเมืองต้าลี่ถึงเมืองหลินชาง หรือที่เรียกว่าเส้นทาง Dalin (Dali-Lincang) ระยะทาง 202 กิโลเมตร โดยในที่ประชุมกำหนดให้การรถไฟแห่งประเทศจีน สาขาคุนหมิง สร้างทางรถไฟ Dalin ให้เสร็จภายในปี 2564
ส่วนทางรถไฟช่วงจากหลินชางไปยังเมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต เต๋อหง อีก 130 กิโลเมตร ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะสร้างเสร็จเมื่อใด
การเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าจากหลินชางขึ้นไปยังเฉิงตู แสดงว่าเส้นทาง Dalin ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว…
แนวเส้นทางรถไฟในเมียนมา มีจุดเริ่มต้นจากเมืองหมู่เจ้ ตรงข้ามกับรุ่ยลี่ ผ่านเมืองแสนหวี ล่าเสี้ยว จ๊อกแม หนองเขียว ปินอูลวิน ไปจนถึงมัณฑะเลย์

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 กระทรวงการขนส่งทางราง เมียนมา ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group จากจีน ที่กรุงเนปิดอ ให้เป็นผู้สร้างทางรถไฟช่วงนี้
ทางรถไฟหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ยาว 431 กิโลเมตร ต้องสร้างสะพานข้ามหุบเหว 77 แห่ง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาอีก 77 จุด มีสถานีรับส่งสินค้าและผู้โดยสารรวม 12 แห่ง มีจุดตัดทางรถไฟ 24 จุด เมื่อสร้างเสร็จ คาดว่าการเดินทางจากหมู่เจ้ลงไปยังมัณฑะเลย์ จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2562 การรถไฟเมียนมาพื้นที่ภาคเหนือ ได้จัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการทางรถไฟสายหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนจะเริ่มลงมือก่อสร้าง การประชุมถูกจัดขึ้นตามเมืองที่เส้นทางรถไฟจะสร้างผ่าน ตั้งแต่หมู่เจ้ แสนหวี ล่าเสี้ยว จ๊อกแม หนองเขียว และมัณฑะเลย์
วันที่ 10 มกราคม 2564 ก่อนการรัฐประหารในเมียนมาไม่นาน กระทรวงคมนาคมและสื่อสาร เมียนมา เพิ่งเซ็น MOU ให้บริษัท China Railway Eryuan Engineering Group ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทางรถไฟต่อจากเมืองมัณฑะเลย์ลงไปถึงเมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ พิธีเซ็น MOU ถูกจัดขึ้นที่สถานทูตจีน ประจำเมียนมา…

หลังการเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างหลินชาง-เฉิงตู เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ในเมียนมา ได้มีการคาดหมายถึงทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป นับจากนี้
ทิศทางแรก เชื่อว่าจะมีการเร่งรัดให้เริ่มต้นการก่อสร้างทางรถไฟจากหมู่เจ้ ผ่านเมืองแสนหวี ล่าเสี้ยว มัณฑะเลย์ ไปยังปลายทางที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว โดยเร็ว
อีกทิศทางหนึ่ง เชื่อว่าต้องมีการปรับปรุงเส้นทางหรืออาจมีการสร้างทางรถไฟสายใหม่ จากเมืองหลินชาง ข้ามชายแดนที่ชิงส่วยเหอ ผ่านเมืองกุ๋นโหลง แสนหวี เพื่อไปบรรจบกับเส้นทางรถไฟที่มาจากหมู่เจ้ที่เมืองล่าเสี้ยว เพราะเป็นเส้นทางตรงที่สั้นกว่า หากเทียบกับเส้นทางรถไฟจากหลินชาง ที่ต้องเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกเพื่อผ่านหมู่เจ้ ก่อนลงไปถึงล่าเสี้ยว
อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนของการคาดหมายทั้ง 2 ทิศทางดังกล่าว ปรากฏออกมา
……
ชิงส่วยเหอเป็นเมืองชายแดนของเขตปกครองตนเองโกก้าง ภาคเหนือของรัฐฉาน อยู่ตรงข้ามกับเขตปกครองตนเองชนชาติว้าและไต กึ่งม้า ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองระดับอำเภอหนึ่งของจังหวัดหลินชาง
ชิงส่วยเหออยู่ห่างจากเมืองล่าเสี้ยวประมาณ 160 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ที่รัฐยะไข่ 983 กิโลเมตร
เมื่อปี 2556 ทางการท้องถิ่นกึ่งม้าและเขตปกครองตนเองโกก้าง ได้เห็นพ้องกันให้เปิดช่องทางชิงส่วยเหอ เป็นประตูการค้าหลักระหว่างจีนและเมียนมาอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากช่องทางหมู่เจ้-รุ่ยลี่
สินค้าหลักจากเมียนมาที่ส่งเข้าไปขายในจีนผ่านช่องทางชิงส่วยเหอ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประมง และอาหารทะเลที่จับได้จากมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่สินค้าที่ส่งผ่านช่องทางหมู่เจ้ เป็นผลผลิตทางการเกษตร ประเภทผักและผลไม้
ส่วนเมียนมานำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตรจากจีน ผ่านทั้งช่องทางหมู่เจ้และชิงส่วยเหอ

ก่อนหน้านี้ การขนส่งสินค้าจากกรุงย่างกุ้งกว่าจะมาถึงชิงส่วยเหอ ต้องใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 11 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้นหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นบนเส้นทางข้ามสะพานก๊กตวิน ในหุบเขาก๊กเทค หรือเกิดการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ หรือระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ด้วยกันเอง
ปี 2560 จีนได้มีแนวคิดที่จะใช้ชิงส่วยเหอเป็นช่องทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียแล้ว โดยในปีนั้น ทางการจีนได้เสนอต่อรัฐบาลรัฐฉานว่าจะเข้ามาพัฒนาเส้นทางจากชิงส่วยเหอไปยังเมืองกุ๋นโหลง แสนหวี จนถึงล่าเสี้ยวให้
แต่ยังไม่ทันได้มีการตอบรับจากรัฐบาลรัฐฉาน ก็เกิดสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นในภาคเหนือของรัฐฉานเสียก่อน มีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนามพันธมิตรภาคเหนือ ประกอบด้วย กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) กองทัพตะอั้ง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA)
จนถึงวันนี้ มีเพียงกองทัพอารกันเพียงกลุ่มเดียวที่ได้สงบศึกอย่างไม่เป็นทางการกับกองทัพพม่าแล้ว ส่วนอีก 3 กลุ่มที่เหลือยังคงมีปฏิบัติการสู้รบอยู่ในหลายพื้นที่
……
การเดินหน้าระเบียงเศรษฐกิจ “จีน-เมียนมา” เปิดทางออกที่สั้นที่สุดสู่มหาสมุทรอินเดียให้กับจีน ย่อมต้องเกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ตามแนวเส้นทางตั้งแต่ชายแดนรัฐฉานลงไปจนถึงชายฝั่งทะเล ยะไข่
เป็นแนวเส้นทางที่ต้องผ่านพื้นที่อิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ และกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชน (PDF) ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามและกำลังต่อสู้อยู่กับรัฐบาลทหารพม่า หลากหลายกลุ่มทีเดียว…