โฆษกรัฐบาล เผยผลประชุม ศบศ.ครั้งที่ 4 นายกฯมั่นใจตัวเลขเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี ขณะที่ TMB Analytics ชี้สัญญาณเริ่มแผ่วลง แนะจัดแพคเกจกระตุ้นการใช้จ่าย เน้นกลุ่ม ขรก.,รสก. และพนักงานเอกชน รวมกว่า 15 ล้านคน
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุมวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการประชุมว่า ห้วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาสำคัญ เพราะเป็นรอยต่อการดูแลมาตรการเพื่อรักษาสุขภาพของคนในชาติที่เป็นไปด้วยดี และถึงเวลาต้องดำเนินการเพื่อฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่างประเทศที่ยังน่าห่วงกังวล รัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมเพื่อให้เดินต่อไปได้ แต่ด้วยข้อจำกัดในการดูแล จึงขอความร่วมมือของทุกภาคส่วน หากมีกำลังในการสนับสนุนดูแลกันได้ ก็จะช่วยให้ภาพรวมของประเทศกลับสู่สภาวะที่ดี
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รายงานภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด และสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีตัวเลขที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิ ตัวเลขการใช้จ่ายที่สูงขึ้น การส่งออกติดลบลดลง ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น และรายได้เกษตรกรสูงขึ้นใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนมีอัตราการท่องเที่ยวในประเทศสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะกระจุกตัวบริเวณจังหวัดที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ และมีดัชนีการเคลื่อนย้ายที่สูงขึ้นทุกตัว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทำความเข้าใจกับเอกชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐบาลได้ดำเนินไปแล้ว ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างไร และขอรับความร่วมมือจากภาคธุรกิจให้ร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางการดำเนินงานต่อไปของรัฐบาล
ที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินมาตรการของรัฐบาลผ่านโครงการต่าง ๆ ได้แก่ ข้อเสนอแนะมาตรการเศรษฐกิจรายสาขา โดยคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง ของธนาคารแห่งประเทศไทย การจัดงาน Job Expo Thailand 2020 แพลตฟอร์มเรามีงานทำของกระทรวงแรงงาน มาตรการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว กรณีพิเศษ (Smart Visa) มาตรการคนละครึ่งของกระทรวงการคลัง มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน/ การเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) มาตรการ Elite card ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในที่ประชุม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนพิจารณาการทำงานร่วมกัน และร่วมหาแนวทางที่เป็นประโยชน์ อาทิ การพักชำระหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ขอให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย พิจารณาร่วมกัน ซึ่งอาจมีการร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน ก่อนการเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างเป็นประโยชน์ที่สุด รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมทำงานกันอย่างหนักดังที่ได้เห็นผลในตัวเลขการพัฒนาต่าง ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลอย่างมีนัยยะต่อการฟื้นฟูประเทศ
ทั้งนี้ ในส่วนการเสนอเรื่องเพื่อให้ที่ประชุมพิจารณามาตรการเพิ่มเติม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เสนอมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีกำลังซื้อสูง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอการปรับปรุงมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน และมาตรการกระตุ้นการเดินทางผ่านการทำงาน (Workation Thailand) นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการทำงานให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และผ่านการจัดการที่เป็นระบบ มีการบูรณาการทำงานของทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้หยุดแนวทางในการทำงานเพียงเท่านี้ แต่พยายามคิดหาวิธี ที่จะส่งเสริม เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินตามมาตรการต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น อาทิ การตรวจคัดกรองโรคที่ได้ผลชัดเจนเร็วขึ้น และแม่นยำมากขึ้น
ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ “TMB Analytics” เผยการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณแผ่วลง จากที่มีทิศทางปรับดีขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ ล่าสุดในเดือนสิงหาคมการใช้จ่ายสินค้าหมวดไม่คงทนและหมวดบริการแผ่วลงจากกำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอ มีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มีโอกาสที่แรงส่งของการฟื้นตัวจะอ่อนแรงลงไปอีก จึงเสนอแนะรัฐบาลให้จัดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่อเนื่อง โดยเน้นที่กลุ่มคนที่มีรายได้และได้รับผลกระทบจากไวรัส โควิด-19 ค่อนข้างน้อย อาทิ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เอกชน จำนวน 15.5 ล้านคน ซึ่งยังมีอำนาจซื้ออยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่าจะช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาจเป็นในรูปแบบมาตรการที่นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ เป็นเงินสดคืนให้เป็นร้อยละของยอดใช้จ่าย (Cash Back)