ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Climate Change ต้นเหตุภัยพิบัติ ปี 2018 โลกสูญเสีย 215 พันล้านดอลลาร์ กว่า 60 ล้านคนรับผลกระทบ

Climate Change ต้นเหตุภัยพิบัติ ปี 2018 โลกสูญเสีย 215 พันล้านดอลลาร์ กว่า 60 ล้านคนรับผลกระทบ

13 กุมภาพันธ์ 2019


ที่มาภาพ: https:// www.theatlantic.com/photo/2018/09/photos-from-the-deadly-earthquake-and-tsunami-in-indonesia/571765/

ในหลายปีก่อนนักวิทยาศาสตร์อาจจะลังเลที่จะระบุว่า สภาพอากาศที่เลวร้ายหลายๆ กรณีเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change แต่ปัจจุบันนอกจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายอย่างซึ่งมีผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตมนุษย์และทรัพย์สิน เช่น ภาวะแห้งแล้งในที่ราบทางตอนเหนือของสหรัฐฯ และทางตะวันออกของแอฟริกา น้ำท่วมในอเมริกาใต้ น้ำท่วมในจีน ในอินเดีย คลื่นความร้อนในหลายประเทศ เครื่องมือ เทคโนโลยี รวมทั้งทักษะของนักวิทยาศาสตร์เอง ต่างยืนยันผลซึ่งแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีผลต่อเหตุการณ์ทางอากาศทุกอย่าง

โดยจะเห็นได้ชัดจากรายงานสภาพภูมิอากาศของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ที่ได้เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 1990 และรายงานพิเศษล่าสุด Global Warming of 1.5°C ที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2018 จัดทำโดยคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ชุดของ IPCC และอ้างอิงงานด้านวิทยาศาสตร์ถึงมากกว่า 6,000 ชิ้น

นอกจากนี้รายงาน Explaining Extreme Events in 2017 from a Climate Perspective ที่จัดทำโดย Bulletin of the American Meteorological Society ก็อ้างอิงงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ 120 คนใน 10 ประเทศ ซึ่ง 70% ของเหตุการณ์ทางอากาศที่ได้ศึกษานั้น ยืนยันสิ่งที่ IPCC ได้ประเมินไว้ตั้งแต่ปี 1990

รายงาน Explaining Extreme Events in 2017 from a Climate Perspective ระบุถึงสภาพอากาศที่เลวร้ายในปี 2017 ว่า ได้แก่ ฝนที่ตกน้อยมากเป็นประวัติการณ์ทั่วยุโรปตะวันตกในปี 2016 หรือเกาหลีใต้ที่ประสบกับอากาศที่ร้อนที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2017

ในปี 2018 สภาพอากาศเลวร้ายเกิดขึ้นหลายครั้ง หลายรูปแบบมีทั้งพายุฤดูหนาวที่รุนแรง ไฟป่าที่ลุกลามขยายวงกว้าง ไปจนถึงพายุเฮอร์ริเคนที่มีฤทธิ์ทำลายล้างสูง

ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปี 2015 มีจำนวนมาก แต่ภัยหลักๆ ได้แก่ การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่รุนแรงในอินโดนีเซีย ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นเป็นระลอก น้ำท่วมที่อินเดีย ไฟป่า

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018 ฝนที่ตกหนักทางตอนใต้ญี่ปุ่น ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มอย่างหนัก
ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com/detail/breakingnews/30349586

นักวิจัยเห็นว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มีผลต่อการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิของโลก ซึ่งมีผลต่อแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วอุณหภูมิที่สูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการไหลเวียนของชั้นบรรยากาศ (atmosphere dynamics) ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดปรากฏการณ์หลากหลาย เช่น พายุ พายุทอร์นาโด คลื่นแรงโน้มถ่วง พายุหมุนเขตร้อน พายุหมุนนอกเขตร้อน กระแสลมกรด (jet stream) ให้ความเป็นไปได้ที่สภาพอากาศเลวร้ายจะเกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งอันตรายมากขึ้น

คนกว่า 60 ล้านทั่วโลกรับผลกระทบ

สำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UN Office for Disaster Risk Reduction: UNISDR) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยอุบัติการณ์ภัยภิบัติ (Centre for Research on the Epidemiology of Disasters: CRED) โดยอ้างอิงข้อมูลของ EM-DAT (International Disaster Database) รายงานว่า แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในปี 2018 ได้คร่าชีวิตผู้คนไป 10,733 คน ขณะที่สภาพอากาศเลวร้ายเป็นประเด็นหลักของภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อ 61.7 ล้านคน

มามิ มิซูโตริ ผู้แทนพิเศษ เลขาธิการสำนักงานเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ กล่าวว่า ไม่มีพื้นที่ไหนของโลกรอดพ้นจากผลกระทบของสภาพอากาศที่เลวร้ายไปได้ โดยนำ้ท่วม ภัยแห้ง พายุและไฟป่ามีผลกระทบต่อ 57.3 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าหากต้องการที่จะลดความเสียหายจากภัยพิบัติแล้ว ต้องปรับปรุงแนวทางในการจัดการกับความเสี่ยงของภัยพิบัติ

“เวลาน้อยลงทุกวันในการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส เราต้องกระตือรือร้นมากขึ้นและพร้อมๆ กันในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะหมายถึงว่าจะลดความเสียหายที่จะเกิดจากภัยพิบัติกับเมือง หลีกเลี่ยงการสร้างความเสี่ยงใหม่ด้วยการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น วางแผนกฎกติกาที่เข้มงวดขึ้นและกฎการตรวจสอบอาคาร คุ้มครองระบบนิเวศ ลดความยากจนและใช้มาตรการที่เข้มแข็งเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น”

ปี 2018 ไม่มีเหตุการณ์ใหญ่ การเสียชีวิตจากภัยธรรมชาติใหญ่จึงลดลง เป็นผลจากคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นรวมทั้งการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น ต่างจากช่วงปี 2000-2007 ที่มีภัยพิบัติใหญ่ เช่น คลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ปี 2004 และพายุไซโคลนนาร์กิส ปี 2008

การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ตั้งแต่แผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และการปะทุของภูเขาไฟ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3.4 ล้านคนในปีที่แล้ว เป็นภัยพิบัติที่คร่าชีวิตคนมากกว่าภัยพิบัติประเภทอื่น ส่วนน้ำท่วมทำให้คนเสียชีวิต 35.4 ล้านคน พายุทำให้คนเสียชีวิต 12.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากไฟป่าในยุโรปและตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา ผู้เสียชีวิตจากภัยแล้งมีจำนวน 9.3 ล้านคน

ที่มาภาพ:https:// twitter.com/unisdr?ref_src=twsrc%5Egoogle%7Ctwcamp%5Eserp%7Ctwgr%5Eauthor
ที่มาภาพ:https:// twitter.com/unisdr?ref_src=twsrc%5Egoogle%7Ctwcamp%5Eserp%7Ctwgr%5Eauthor

ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติให้คำมั่นว่า จะลดความเสียหายและจะนำกรอบกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558-2573 (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015-2030) ไปปฏิบัติ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและจำนวนภัยพิบัติที่จะส่งผลกระทบต่อคน และลดการความเสียหายทางเศรษฐกิจและความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐาน

เศรษฐกิจโลกเสียหาย 215 พันล้านดอลลาร์

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกถึง 215 พันล้านดอลลาร์ หลังจากที่มีผลให้เกิดพายุไซโคลนหลายลูก น้ำท่วมหนักหลายแห่ง และไฟป่านับร้อยวง และยังก่อให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบความผันผวนของภาวะอากาศเลวร้ายจาก Climate Change จากรายงาน Weather, Climate & Catastrophe Insight 2018 ของบริษัทที่ปรึกษา Aon

เมื่อรวมผลกระทบจากแผ่นดินไหวแล้วความเสียหายของเศรษฐกิจปี 2018 จากภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพอากาศสูงขึ้นเป็น 235 พันล้านดอลลาร์ จาก 394 เหตุการณ์ ส่งผลให้ยอดความเสียหายรวมของปี 2017-2018 สูงถึง 653 พันล้านดอลลาร์

ในความเสียหาย 225 พันล้านดอลลาร์นั้น มีประกันชดเชยความเสียหายจากภาคเอกชนและภาครัฐ 90 พันล้านดอลลาร์ หมายความว่ายังมีช่องว่างส่วนที่ไม่มีประกันอีกมากในสัดส่วนถึง 60% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2005

ที่มาภาพ: Weather, Climate & Catastrophe Insight 2018 report https://www.aon.com/global-weather-catastrophe-natural-disasters-costs-climate-change-annual-report/index.html

ปี 2018 ไม่มีภัยพิบัติใหญ่ แต่ก็มีความเสียหาย 42 พันล้านดอลลาร์รรวมเข้าไป ทำให้ยอดความเสียหายเฉลี่ยของปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจประกันภัยต่อยังสามารถรับความเสียหายได้ ด้วยเงินทุน 595 พันล้านดอลลาร์ และเน้นไปที่การบริหารความเสียหายของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วยการส่งเสริมให้มีการทำประกันมากขึ้น

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อภัยพิบัติคือ พายุไซโคลนและพายุที่พัดขึ้นฝั่ง เช่น พายุเฮอร์ริเคนไมเคิลและพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ในสหรัฐฯ พายุไต้ฝุ่นเจบิและจ่ามีในญี่ปุ่น พายุไต้ฝุ่นมังคุดที่กระหน่ำฟิลิปปินส์ ฮ่องกง จีน ซึ่งแต่ละลูกสร้างความเสียหาย 4 พันล้านดอลลาร์

ในบรรดาความเสียหายจากภัยพิบัติที่มีประกันคุ้มครองนี้ 64% เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ไฟป่าที่แคลิฟอร์เนีย แต่ภัยพิบัติที่ทำให้คนเสียชีวิตกว่า 10,000 คนมาจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในเอเชียถึง 7 เหตุการณ์จากทั้งหมด 10 เหตุการณ์ทั่วโลก

ที่มาภาพ: Weather, Climate & Catastrophe Insight 2018 report https://www.aon.com/global-weather-catastrophe-natural-disasters-costs-climate-change-annual-report/index.html

ทางด้าน Munich RE บริษัทรับประกันภัยต่อ ระบุในรายงานประจำปีว่า พายุที่รุนแรง ไฟป่า และภัยแล้ง ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจรวม 160 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 แต่ครึ่งหนึ่งของความเสียหายนี้ได้มีการทำประกันไว้แล้ว กระนั้น ภาระของบริษัทประกันภัยก็สูงขึ้นมากจากความเสียหายเฉลี่ยระยะยาว

1 ใน 3 ของความเสียหายหรือราว 80 พันล้านดอลลาร์ มาจาก 4 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ โดยที่ 3 ในบรรดา 4 เหตุการณ์นั้นสร้างความเสียหายอย่างสูงให้กับโลก รวมทั้งไฟป่าที่แคลิฟอร์เนีย

รายงานของ Munich Re ระบุว่า จำนวนผู้ได้รับผลกระทบในปี 2018 ลดลง แต่สัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมกลับเพิ่มขึ้นจาก 14% เป็น 35%

ที่สำคัญมีความชัดเจนว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากการกระทำของมนุษย์ มีส่วนอย่างมากต่อความเสียหายในปี 2018 อีกทั้งมีคนจำนวน 10,400 เสียชีวิต เมื่อเทียบกับ 53,000 ในรอบ 30 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่ามาตรการในการคุ้มครองชีวิตเริ่มได้ผล

ภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของปี 2018 คือ คลื่นสึนามิที่มีความสูงถึง 7 เมตรในอินโดนีเซียที่เมืองปาลู วันที่ 28 กันยายน ที่เกิดขึ้นหลังจากแผ่นดินไหว มีอาคารจำนวนมากเสียหายและมีผู้เสียชีวิต 2,100 คน และต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม เกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าฝั่งอีกครั้งที่สุมาตราและชวา รวมทั้งยังมีคลื่นสูงกว่า 1 เมตร จากพื้นน้ำใต้ทะเลยุบตัว จากการปะทุของภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว และเนื่องจากระบบเตือนภัยจะทำงานก็ต่อเมื่อมีแผ่นดินไหวเท่านั้น จึงส่งผลให้ผู้คนไม่ทันเตรียมตัวและเสียชีวิตไป 400 คน

ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สอง เป็นภัยที่สร้างความเสียหายมากสุดในสหรัฐฯ เพราะเผาเมืองทั้งเมือง คือ พาราไดซ์ในเซียร์รา เนวาดา ประกอบกับความแห้งแล้งและลมแรงทำให้การดับไฟทำได้ลำบาก ส่งผลให้ต้องอพยพคนราว 27,000 คนออกนอกพื้นที่ในวันที่ 8 พฤศจิกายน กระนั้นก็ยังมีผู้เสียชีวิต 86 คน เหตุการณ์ไฟป่าในตอนเหนือของแคลิฟอร์เนียมีความเสียหายรวม 16.5 พันล้านดอลลาร์ แต่มีประกันคุ้มครอง 12.5 พันล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน ไฟป่าวูลลีย์เกิดขึ้นในลอสแอนเจลิส ทำลายบ้านเรือนไป 1,600 หลัง รวมมูลค่าความเสียหาย 5.2 พันล้านดอลลาร์ แต่มีประกันคุ้มครอง 4 พันล้านดอลลาร์ รวมแล้วความเสียหายจากไฟป่าในสหรัฐฯ สร้างความเสียหายรวม 24 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีประกัน 18 พันล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ: https:// www.munichre.com/en/media-relations/publications/press-releases/2019/2019-01-08-press-release/index.html

เอินส์ เราช์ หัวหน้าฝ่ายสภาพอากาศและธรณีวิทยา ของ Munich Re กล่าวว่า ความเสียหายจากไฟป่าในแคลิฟอร์เนียเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 2-3 ปีนี้ นอกจากนี้ยังพบว่า ความร้อนสูงขึ้น หน้าร้อนที่แห้งแล้ง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักการเกิดไฟป่า นักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผสมกับการกระทำของมนุษย์ มาตรการป้องกันไฟและความเสียหายจึงมีความสำคัญ

ภัยแล้งต่อเนื่องที่มีผลต่อภาคเกษตรและสัตว์ป่า เป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายสูงสุดในยุโรปรวม 3.9 พันล้านดอลลาร์มีประกันคุ้มครองน้อยมาก นอกจากนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำที่ลดลงจนเรือวิ่งไม่ได้ก็มีผลกระทบต่อการขนส่งและเศรษฐกิจ

พายุเฮอร์ริเคนในสหรัฐฯ สร้างความเสียหายถึง 1 ใน 5 ของความเสียหายรวมทั่วโลก หลังจากที่พายุที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรซีกโลกเหนือสูงกว่าระดับเฉลี่ยระยะยาว ดังจะเห็นได้จากพายุไต้ฝุ่นที่ญี่ปุ่นและพายุเฮอร์ริเคนในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนสูงขึ้น โดยรวมความเสียหายจากพายุไซโคลนทั่วโลกปี 2018 มีจำนวน 56 พันล้านดอลลาร์ แม้ครึ่งหนึ่งจะมีประกันแต่ก็สูงกว่าระดับเฉลี่ยที่เคยมีมา ทั้งนี้ พายุเฮอร์ริเคนไมเคิลสร้างความเสียหาย 16 พันล้านดอลลาร์ มีประกันคุ้มครอง 10 พันล้านดอลลาร์ ส่วนพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์สร้าวความเสียหาย 14 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำท่วมหลังเกิดพายุ

ทางด้านญี่ปุ่นประสบกับภัยพิบัติทั้งจากพายุและแผ่นดินไหว โดยพายุพัดขึ้นฝั่งถึง 5 ลูก และแผ่นดินไหว 2 ครั้ง พายุที่พัดขึ้นฝั่งยังทำให้ฝนตกหนัก พายุที่สร้างความเสียหายสูงสุดคือพายุเจบิ ในมูลค่า 12.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนความเสียหายที่มีประกันมีมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์ นับว่าเป็นพายุที่สร้างความเสียหายสูงสุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ฝนที่ตกหนักในเดือนกรกฎาคมทำให้น้ำท่วมในฮิโรชิมา มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดินถล่มรวม 11 แห่ง ส่วนในทางตะวันตกเฉียงใต้ เฉพาะความเสียจากน้ำท่วมอย่างเดียวมีมูลค่า 9.5 พันล้านดอลลาร์ โดยมีประกันคุ้มครอง 2.4 พันล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ: https:// www.washingtonpost.com/news/capital-weather-gang/wp/2018/07/10/japan-reeling-from-worst-flood-in-decades-weve-never-experienced-this-kind-of-rain-before

ส่วนแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายให้ญี่ปุ่น 9 พันล้านดอลลาร์โดยรวม และมีประกันคุ้มครอง 2 พันล้านดอลลาร์ สาเหตุที่ความเสียหายไม่มากเพราะมาตรฐานการสร้างอาคารที่เข้มงวด

ฟิลิปปินส์เสียหายจากพายุมังคุดที่มีความเร็วสูงถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้จะมีการอพยพคนออกจากพื้นที่แต่ก็ยังมีผู้เสียชีวิต 100 คน มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก แต่ยังน้อยกว่าช่วงที่เกิดพายุไหหลำที่มีผู้บาดเจ็บกว่า 6,000 คน เนื่องจากมีระบบเตือนภัยที่ดีขึ้นและมีมาตรการอพยพคนทำให้หลีกเลี่ยงผลกระทบได้มาก

ในยุโรปประสบกับหน้าร้อนที่ร้อนมากและกินเวลานาน ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ตามมาด้วยหน้าหนาวที่ยาว ขณะที่ฤดูใบไม้ผลิกลับมีอุณหภูมิเหมือนหน้าร้อน หลายประเทศไม่มีฝนตกหลายเดือน ทำให้ธัญพืชต้องเก็บเกี่ยวก่อนเวลาปกติ และคอกปศุสัตว์มีสัตว์น้อยลง ในบางพื้นที่พืชผลเสียหายบางส่วน บางที่เสียหายทั้งหมด แม่น้ำหลายสายแห้ง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น เพราะการขนส่งยากขึ้นในช่วงหน้าหนาว หลายบริษัทได้รับกระทบเพราะไม่ได้ทำประกันป้องกันความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่ผันผวนไว้ ภัยแล้งสร้างความเสียหายถึง 3.9 พันล้านดอลลาร์ แต่มีประกันเพียง 280 ล้านดอลลาร์

ทอร์สเต็น เจวอร์เรก กรรมการของ Munich Re กล่าวว่า ปี 2018 เป็นปีที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติมีการทำประกันความเสียหายไว้สูง รวมทั้งปรากฏการณ์พายุไซโคลนที่ผิดปกติในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และไฟป่าช่วงหน้าหนาวในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งไฟป่าขนาดใหญ่เกิดขึ้นถี่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น กฎการตรวจสอบอาคารและการใช้ที่ดินจึงมีความสำคัญในการป้องกันความเสียหาย

ทางด้านรายงานCounting the Cost: a year of climate breakdown ของ Christian Aid ให้ข้อมูล 10 เหตุการณ์ที่เลวร้ายและสร้างความเสียหายรุนแรงของปี 2018 ว่า มีตั้งแต่ภัยแล้งในออสเตรเลีย ไปจนถึงคลื่นความร้อนในยุโรป ตลอดจนน้ำท่วมในอินเดีย ไฟป่า พายุไต้ฝุ่น ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น แต่ละภัยสร้างความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์

บางภัยพิบัติ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอากาศ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ฝนที่ตกน้อยลง ซึ่งทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายในช่วงหน้าร้อน หรืออุณหภูมิผิวน้ำที่อุ่นจนมีผลให้เกิดพายุที่มีกำลังแรง แต่เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ความเสียหายที่เกิดจาก climate change ในประเทศกำลังพัฒนา มียังผลต่อกลุ่มคนหรือชุมชนที่เปราะบางมากกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่วัดเป็นตัวเงินเสียอีก โดยภัยแล้งที่กำลังลุกลาม อากาศที่เปลี่ยนแปลง การกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเล สร้างความเสียหายและผลกระทบต่อประชากรโลกจำนวนนับล้านคน เช่น น้ำท่วมในรัฐเกรละ อินเดีย รุนแรงสุดในรอบ 80 ปีมีคนเสียชีวิต 500 คน และอีกล้านคนไร้บ้าน

ภัยแล้งในเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ ทำให้รัฐต้องลดปริมาณการจ่ายน้ำลง 75% ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตด้วยการได้รับน้ำเพียง 25 ลิตรต่อวัน ตามจุดต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้า

ที่มาภาพ: https:// www.sansaranepal.com/day-zero-cape-towns-water-crisis-highlights-citys-rich-poor-divide/people-queue-to-collect-water-as-fears-over-the-citys-water-crisis-grow-in-cape-town/

รายงานยังระบุว่า ในภัยพิบัติที่รุนแรงนั้น มี 4 เหตุการณ์สร้างความเสียหายมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงพายุเฮอร์ริเคนไมเคิลและพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ ที่กระหน่ำพื้นที่สหรัฐฯ อเมริกากลางบางส่วน และทะเลแคริบเบียน โดยพายุเฮอร์ริเคนไมเคิลสร้างความเสียหาย 15 พันล้านดอลลาร์ และพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์สร้างความเสียหาย 17 พันล้านดอลลาร์

ภัยพิบัติน้ำท่วมที่ญี่ปุ่นที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 230 คนแล้วยังมีความเสียหายทางเศรษฐกิจอีก 7 พันล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากอากาศที่ร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์กับพายุไต้ฝุ่นเจบิ ไฟป่าที่แคลิฟอร์เนียสร้างความเสียหาย 13 พันล้านดอลลาร์ ภัยแล้งในอาร์เจนตินา มีผลต่อถั่วเหลืองและข้าวโพดในมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์ และส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอย

ความเสียหายจากภัยพิบัตินี้บางเหตุการณ์ประเมินจากความเสียหายที่ได้ทำประกันไว้แล้ว และยังไม่รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลิตภาพ และความเสียหายที่ไม่ได้ทำประกัน

ดร.แคท เครเมอร์ จาก Christian Aid กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีการพูดถึง climate change ว่าเป็นเรื่องอนาคต แต่รายงานนี้แสดงให้เห็นว่า climate change ได้มีผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์แล้ว และผลความเสียหายนั้นคือ คนได้รับผลกระทบก่อนและมากสุด ประวัติศาสตร์จะสะท้อนว่าเราจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร แต่ก็ยังมีโอกาสที่ลดความเดือดร้อน เราต้องตอบสนองต่อสัญญานเตือนภัยที่ภัยพิบัติกำลังเลวร้ายมากขึ้น ด้วยการก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ไร้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไวด์

สหรัฐฯ เจออากาศเลวร้ายปีที่สอง
สหรัฐฯ นอกจากจะประสบกับปีที่ร้อนที่สุดในปี 2018 แล้ว ยังเป็นปีที่ได้ความเสียหายมากสุดจากภัยพิบัติที่เกิดจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในปีก่อนมีมูลค่า 91 พันล้านดอลลาร์ แม้ต่ำกว่าปี 2017 ที่มีมูลค่าความเสียหายถึง 317 พันล้านดอลลาร์ แต่สะท้อนว่าภัยพิบัติเกิดถี่ขึ้นและมีความรุนแรงขึ้น ทั้งพายุเฮอร์ริเคน น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟป่า

รายงานขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ระบุว่า ปี 2018 เป็นปีแรกที่ความเสียหายจากไฟป่าสูงเกินความเสียหายจากพายุเฮอร์ริเคน

ปี 2018 ยังเป็นปีที่สองที่สภาพอากาศที่เลวร้ายเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เพราะมีทั้งอากาศที่หนาวเย็นสุดขั้ว อากาศร้อนสูงเป็นประวัติการณ์ และพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรง โดยภัยพิบัติร้ายแรงแรก คือ พายุในเดือนมีนาคมที่ทำให้น้ำท่วมบริเวณขายฝั่ง สอง คือ อากาศที่หนาวจัดในเดือนเมษายนซึ่งมีผลให้หิมะตกหนักหนาถึง 3 ฟุตและเป็นเดือนเมษายนที่หนาวจัดเป็นอันดับสองในสถิติ สาม อากาศร้อนจัดและไฟป่าในเดือนกรกฎาคม ที่แคลิฟอร์เนีย จนทำสถิติสูงสุดใหม่ สี่ พายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ ที่ส่งผลให้ฝนตกหนักจนสร้างสถิติใหม่ที่วัดได้ 35.93 นิ้วที่เอลิซาเบททาวน์ และ ห้า พายุเฮอร์ริเคนไมเคิลที่พัดขึ้นฝั่งในเดือนตุลาคมด้วยความเร็ว 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

NOAA ระบุว่า สหรัฐฯ มีความเสียหายเชิงเศรษฐกิจจากภัยพิบัตินี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะพายุเฮอร์ริเคนและไฟป่าได้ปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนับตั้งแต่ปี 1980 สหรัฐฯ ประสบกับภัยพิบัติทางอากาศที่มีความเสียหายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ถึง 241 เหตุการณ์ โดยเหตุภัยพิบัติที่มีความเสียหาย 1 พันล้านดอลลาร์มีทั้งสิ้น 14 เหตุการณ์ในปี 2018 ลดลงจาก 16 เหตุการณ์ในปี 2017

ที่มาภาพ:จาก https:// www.noaa.gov/news/2018-was-4th-hottest-year-on-record-for-globe

ความเสียหายรวมมีมูลค่า 91 พันล้านดอลลาร์ โดยที่มูลค่าความเสียหายก้อนใหญ่ 73 พันล้านดอลลาร์มาจากพายุเฮอร์ริเคนไมเคิล พายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ และไฟป่า

แม้จำนวนภัยพิบัติในปี 2018 ลดลงแต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นี่คือสัญญานเตือนภัยว่า จำนวนภัยพิบัติที่มีความเสียหายในระดับพันล้านดอลลาร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากภาวะโลกร้อน นอกเหนือจากปัจจัยอื่น เช่น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น กฎควบคุมการสร้างอาคารที่ไม่ชัดเจน อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลหรือแม่น้ำ

เรียบเรียงจาก unisdr, physicsworld, cfr, AON, christianaid, washingtonpost, NOAA