ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกจะร้อนระอุเพราะทรัมป์?

โลกจะร้อนระอุเพราะทรัมป์?

7 มิถุนายน 2017


อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มาภาพ : http://static1.businessinsider.com/image/593085b0b74af41b008b5df4-480/donald-trump.jpg

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจาก “ความตกลงปารีส” ซึ่งเป็นความตกลงประวัติศาสตร์ที่ประเทศต่างๆ รวมถึง 195 ประเทศร่วมลงนามเมื่อ 2 ปีก่อน

เป้าหมายของความตกลงปารีสเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการเผาผลาญถ่านหินและเชื้อเพลิงเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ภาวะโลกร้อนอาจนำไปสู่ภัยธรรมชาติมากมาย เช่น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนหลายพื้นที่อาจจมทะเล นอกจากนั้น ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพลมฟ้าอากาศ เกิดพายุ และความแห้งแล้ง จนนำไปสู่การขาดแคลนอาหารและโรคระบาดอีกด้วย

แต่นั่นแหละครับ ประธานาธิบดีทรัมป์ “ไม่แคร์”!!

เหตุผลของทรัมป์

ทรัมป์ได้แถลงเหตุผลที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียง 2 ประเทศ ที่ไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงนี้ คือ นิการากัว กับซีเรีย) ไว้ดังนี้

หนึ่ง ถึงแม้ว่าทุกประเทศในโลกจะปฏิบัติตามความตกลงปารีส ผลสุดท้ายกลับจะสามารถลดระดับอุณหภูมิในปี ค.ศ. 2100 ลงได้เพียง 0.2 องศาเซลเซียส ซึ่งน้อยนิดมากและแทบไม่มีความหมายอะไร โดยทรัมป์อ้างผลวิจัยของ Massachusetts Institute of Technology (MIT)

ความจริงอีกด้าน: นักวิจัย MIT บอกว่า ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่น้อย และความตกลงปารีสเป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้ทุกประเทศในโลกให้ความสำคัญกับนโยบายลดโลกร้อน ซึ่งย่อมนำไปสู่การพัฒนานโยบายในเรื่องนี้จนทำให้ตัวเลขความสำเร็จเพิ่มขึ้นได้

สอง ทรัมป์บอกว่า ข้อตกลงปารีสส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยจะทำให้สูญเสียมูลค่า GDP 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสูญเสียงาน 6.5 ล้านตำแหน่ง

ความจริงอีกด้าน: งานวิจัยที่ทรัมป์อ้างถึง ได้รับทุนสนับสนุนจากกลุ่มทุนที่ต่อต้านมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นการคำนวณความเสียหายต่อเนื่อง 20 ปี และเป็นการประเมินตัวเลขที่แย่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนที่ว่าจะสูญเสียงาน 6.5 ล้านตำแหน่ง ก็ไม่ได้พูดถึงปริมาณงานที่จะเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่เกิดขึ้นใหม่

สาม ทรัมป์มองว่า ความตกลงปารีสมีเนื้อหา “ลงโทษ” สหรัฐฯ เพราะตามข้อตกลง สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าภายในปี ค.ศ. 2020 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 17% (และจะลด 26-28% ภายในปี ค.ศ. 2025) รวมทั้งพร้อมจ่ายเงินอีก 3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เข้า “กองทุนต้านโลกร้อน” เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการต่อสู้และปรับตัวกับภาวะโลกร้อน โดยรัฐบาลโอบามาได้จ่ายก้อนแรกไปแล้ว 1 พันล้าน ในขณะที่ทรัมป์บอกว่า ตามความตกลงปารีส “จีนและอินเดียจะทำอะไรก็ได้” เพราะจีนและอินเดียยังขอเวลาปรับตัวอีก 13 ปี

ความจริงอีกด้าน: ตามความตกลงปารีส รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นว่าจะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง 60-65% (ต่อหน่วยของ GDP) ภายในปี ค.ศ. 2030 ส่วนรัฐบาลอินเดียให้คำมั่นว่า จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 33-35% (ต่อหน่วยผลผลิตทางเศรษฐกิจ) ภายในปี ค.ศ. 2030

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าช่วง 13 ปีจากวันนี้ถึง ค.ศ. 2030 ทั้งสองประเทศจะทำอะไรก็ได้ เพราะทั้งสองประเทศก็ต้องพยายามลดปริมาณก๊าซลงเรื่อยๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี ค.ศ. 2030

ส่วนคำมั่นของสหรัฐฯ รวมทั้งการบริจาคเงินเข้ากองทุนโลกร้อน เป็นความตั้งใจของรัฐบาลโอบามา ซึ่งยอมรับว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา และยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวประชากรมากที่สุดในปัจจุบัน นั่นคือ สหรัฐฯ มีประชากรเพียง 4% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นปริมาณ 13% ของโลก ขณะที่จีนแม้จะปล่อยก๊าซเป็นปริมาณมากที่สุดในโลกจริง แต่มีประชากรมากกว่าสหรัฐฯ หลายเท่า

เหตุผลที่แท้จริงของทรัมป์คืออะไร?

ในกลุ่มที่ปรึกษาของทรัมป์เอง มีส่วนหนึ่งที่แม้จะเห็นด้วยกับทรัมป์ว่าความตกลงปารีสสร้างภาระให้สหรัฐฯ มากเกินไป แต่ก็ไม่สนับสนุนให้ทรัมป์ถอนตัวจากความตกลงปารีส เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพราะความตกลงปารีสมีเนื้อหาที่ยืดหยุ่นมากอยู่แล้ว ไม่ได้มีสภาพบังคับที่เคร่งครัดอะไร

ความตกลงปารีสมีลักษณะสำคัญ 2 ข้อ ข้อแรก คือ ให้ทุกประเทศในโลกให้คำมั่นว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลงในปริมาณเท่าไร แต่ละประเทศจะให้คำมั่นอย่างไรก็ได้ และคำมั่นที่ให้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ในอนาคต (ข้อมูลน่ารู้: ประเทศไทยให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี ค.ศ. 2030)

ข้อสอง คือ ให้มีกลไกบังคับให้แต่ละประเทศเก็บและรายงานข้อมูลการปฏิบัติตามนโยบายที่ให้คำมั่นไว้ โดยจะมีการจัดทำรายงานทางการทุกๆ 5 ปี เพื่อสร้างแรงกดดันให้แต่ละประเทศจริงจังกับการออกและบังคับใช้กฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่นอกเหนือจากกลไกให้รายงานผลแล้ว ความตกลงปารีสไม่ได้มีบทลงโทษใดๆ หากปฏิบัติไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้

พูดง่ายๆ ก็คือ แต่ละประเทศจะให้คำมั่นอย่างไรก็ได้ แต่ละประเทศจะเปลี่ยนคำมั่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อใดก็ได้ และก็ไม่ได้มีบทลงโทษอะไร ถึงแม้ว่าจะปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ไม่ได้ (นอกไปจากความอับอายในวงนานาชาติ ซึ่งบางประเทศก็คงไม่แคร์เหมือนกับทรัมป์) ความยืดหยุ่นเหล่านี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกือบทุกประเทศตกลงเข้าร่วมความตกลงปารีส

ดังนั้น กลุ่มที่ปรึกษาส่วนหนึ่งของทรัมป์จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องประกาศถอนตัวจากความตกลงดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐฯ สามารถขอเปลี่ยนแปลงคำมั่นได้ (หรือถึงทำไม่ได้ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร) นอกจากนั้น การร่วมเป็นภาคีความตกลงยังจะทำให้สหรัฐฯ ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาเกี่ยวกับนโยบายลดโลกร้อนในเวทีระหว่างประเทศ

แต่สุดท้าย ทรัมป์กลับเลือกที่จะประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีสที่ทั้งโลกเห็นด้วย สาเหตุหลักจริงๆ คงเพราะต้องการสร้างภาพและกระแส “ชาตินิยม” (ใครอย่าเอาความตกลงระหว่างประเทศมาก้าวก่ายนโยบายภายในของข้า!) และยืนหยัดแนวทางการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดั้งเดิมของสหรัฐฯ เอาใจฐานผู้สนับสนุนทรัมป์ ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยมและไม่เชื่อเรื่องภัยจากโลกร้อน

ผลจากการตัดสินใจของทรัมป์

ความตกลงปารีสมีข้อกำหนดห้ามรัฐภาคีถอนตัวจนกว่าจะผ่านช่วงระยะเวลา 3 ปี หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับ (ความตกลงมีผลบังคับเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016) นั่นหมายความว่า สหรัฐฯ จะยังคงเป็นภาคีความตกลงไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 อยู่ดี และเรื่องนี้ย่อมจะเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งก็จะมีขึ้นปลายปี ค.ศ. 2020 ซึ่งหากทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่จากพรรคเดโมแครตซึ่งสนับสนุนความตกลงปารีส ก็อาจจะกลับเข้าร่วมความตกลงใหม่ได้หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2021

ในทางกฎหมาย การถอนตัวจึงไม่ได้มีผลทันที (และอาจไม่มีผลเลยก็ได้ ถ้าอีกฝ่ายชนะเลือกตั้งรอบหน้า) แต่ฝ่ายที่ประณามทรัมป์ กังวลในเรื่อง “สัญญาณ” ที่การถอนตัวของทรัมป์สื่อให้กับโลกมากกว่า เพราะเท่ากับว่าสหรัฐฯ ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “ฉันไม่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อม” และไม่ต้องการจะเล่นบทบาทผู้นำในเรื่องการต่อต้านภาวะโลกร้อนในเวทีโลกอีกต่อไป

ผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นก็คือประเทศต่างๆ จะเห็นว่า ตนไม่จำเป็นต้องยึดถือตามคำมั่นในความตกลงปารีสก็ได้ เพราะขนาดสหรัฐฯ ยังไม่เอาด้วย (แย่ที่สุดก็อาจพากันถอนตัวตามสหรัฐฯ แต่ความกังวลนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะอย่างที่กล่าวมา ความตกลงปารีสมีเนื้อหาที่ยืดหยุ่นมากอยู่แล้ว)

แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนที่ (พยายาม) คิดบวก เช่น มองว่าประเทศยุโรปและจีนอาจต้องการเล่นบทเป็นผู้นำในเรื่องนี้แทนสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่ความร่วมมือในการต่อต้านโลกร้อนที่จริงจังขึ้น เพื่อหักหน้าสหรัฐฯ และส่งเสริมบทบาทผู้นำใหม่ในเวทีโลก

นอกจากนั้น แม้แต่ในสหรัฐฯ เอง แม้ว่ารัฐบาลกลางของทรัมป์จะไม่สนใจสิ่งแวดล้อม แต่มลรัฐหลายแห่งยังคงมีนโยบายที่จริงจังในเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้ามาก รวมทั้งบริษัทเอกชนจำนวนมากก็ยังประกาศเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด รวมทั้งยังเริ่มมีความพยายามจะระดมทุนจากเอกชนเพื่อจ่ายเข้ากองทุนต้านโลกร้อนแทนรัฐบาลสหรัฐฯ อีกด้วย

การที่ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีสจึงเป็นข่าวร้ายและเป็นการส่งสัญญาณที่น่าผิดหวัง แต่คงไม่ถึงกับทำให้โลกพินาศครับ