ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > รายงาน IPCC ตอกย้ำเมืองเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ เร่งฟื้นฟูธรรมชาติก่อนทางเลือกแคบลง

รายงาน IPCC ตอกย้ำเมืองเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ เร่งฟื้นฟูธรรมชาติก่อนทางเลือกแคบลง

5 มีนาคม 2022


ที่มาภาพ: https://express.adobe.com/page/spWgMCUxyQrId/

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Intergovernmental Panel on Climate Change:IPCC) ได้เผยแพร่รายงานสรุปส่วนที่สอง ของรายงานการประเมินหลักครั้งที่ 6 ในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์

รายงานการประเมินซึ่งออกมาทุกๆ 2-3 ปี สำรวจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ผลกระทบและความเสี่ยงในอนาคต และทางเลือกในการปรับตัวและลดการปล่อยมลพิษ

รายงานส่วนที่หนึ่ง Climate Change 2021: The Physical Science Basisได้เผยแพร่แล้วในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา และส่วนที่สามซึ่งจะออกมาในเดือนมีนาคมจะเน้นที่การบรรเทาผลกระทบหรือการลดการปล่อยมลพิษ

รายงานฉบับล่าสุด Climate Change 2022: Impacts, Adaptation and Vulnerabilityเน้นไปที่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อธรรมชาติและสังคมมนุษย์ ช่องว่างที่แตกต่างกัน และประเมินความสามารถและขีดจำกัดสำหรับระบบธรรมชาติและมนุษย์ในการปรับตัว

รายงานฉบับนี้เป็นบทสรุปสำหรับผู้กำหนดนโยบาย จากคณะทำงาน IPCC คณะที่ 2 ผ่านความเห็นชอบเมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 จากรัฐบาลสมาชิก 195 แห่งของ IPCC ผ่านระบบออนไลน์ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์และใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ โดยรายงานฉบับนี้จะแล้วเสร็จในปีนี้

รายงานมีด้วยกัน 18 บท โดยมีนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 200 คนมาร่วมกันประเมินข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อระบบธรรมชาติและของมนุษย์ สำรวจผลกระทบในอนาคตในระดับต่าง ๆ ของภาวะโลกร้อนและความเสี่ยงที่ตามมา และเสนอทางเลือกในการเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวของธรรมชาติและสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อต่อสู้กับความหิวโหย ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ และทำให้โลกน่าอยู่ ทั้งในปัจจุบันและสำหรับคนรุ่นอนาคต

คณะทำงาน IPCC คณะที่ 2 ได้ชี้องค์ประกอบใหม่หลายอย่างในรายงานฉบับล่าสุด อย่างแรกเป็นหัวข้อพิเศษเกี่ยวกับผล กระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยง และทางเลือกในการดำเนินการสำหรับเมืองและการตั้งถิ่นฐานริมทะเล ป่าเขตร้อน ภูเขา แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่แห้งแล้งและทะเลทราย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน รวมทั้งบริเวณขั้วโลก อย่างที่สองคือ แผนที่ที่จะแสดงข้อมูลและข้อค้นพบและการคาดการณ์เกี่ยวกับผลกระทบและความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากระดับโลกไปจนถึงระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจมีข้อมูลเชิงลึกมากยิ่งขึ้น

Hoesung Lee ประธาน IPCC ที่มาภาพ:https://trello.com/b/DLboT7JJ/climate-change-2022-impacts-adaptation-vulnerability-pre-launch-social-media-assets

Climate change ภัยคุกคามสวัสดิภาพมนุษย์และของโลก

เอกสารข่าว ของ IPCC ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ทำให้ธรรมชาติขาดตอนอย่างน่าวิตกในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลก แม้มีความพยายามลดความเสี่ยงก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมจัดทำรายงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change – หรือ IPCC) ฉบับล่าสุด เปิดเผยว่า ผู้คนและระบบนิเวศซึ่งรับมือได้น้อยที่สุดกำลังได้รับผลกระทบมากที่สุด

“รายงานนี้เป็นคำเตือนที่น่ากลัวมากเกี่ยวกับผลที่ตามมาของการไม่ทำอะไรเลย” Hoesung Lee ประธานของ IPCC กล่าว “มันแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยร้ายแรงและคุกคามชีวิตของเราและโลกที่แข็งแรง การกระทำของเราในวันนี้จะกำหนดวิธีที่ผู้คนปรับตัวและธรรมชาติตอบสนองต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศที่เพิ่มขึ้น”

โลกกำลังเผชิญกับอันตรายจากสภาพอากาศหลายอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงสองทศวรรษข้างหน้าด้วยภาวะโลกร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และหากความร้อนจะเกินระดับนี้ แม้เพิ่มชั่วคราว ก็ยังส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ซึ่งบางอย่างก็เรียกคืนไม่ได้ ความเสี่ยงสำหรับสังคมจะเพิ่มขึ้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

ต้องเร่งลงมือทำรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และอุทกภัยที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเกินขีดจำกัดความทนทานของพืชและสัตว์แล้ว ซึ่งส่งผลให้มีการเสียชีวิตจำนวนมากในสายพันธุ์ต่างๆ เช่น ต้นไม้และปะการัง สภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำให้เกิดผลกระทบที่ลดหลั่นกันซึ่งยากต่อการจัดการมากขึ้น เหตุการณ์ต่าง ๆ นี้ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านคนเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารและน้ำฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแอฟริกา เอเชีย อเมริกากลางและใต้ บนเกาะเล็ก ๆ และในอาร์กติก

เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ และโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก ต้องมีการเร่งดำเนินการอย่างมาก ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและลดลงให้มาก รายงานฉบับใหม่ระบุว่า ทุกวันนี้ ความคืบหน้าในการปรับตัวไม่เท่ากัน และช่องว่างเพิ่มขึ้นระหว่างการดำเนินการกับสิ่งที่จำเป็นในการจัดการกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ช่องว่างเหล่านี้ใหญ่ที่สุดในหมู่ประชากรที่มีรายได้น้อย

“รายงานนี้ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาอาศัยกันของสภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และผู้คน และวิทยาศาสตร์ด้านธรรมชาติ สังคม และเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกันอย่างแข็งแกร่งกว่าการประเมิน IPCC ก่อนหน้านี้” Hoesung Lee กล่าว “รายงานเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของการดำเนินการในทันทีและทำให้มากขึ้นอย่างมาก เพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ การดำเนินการเพียงครึ่งๆกลางๆ ไม่ใช่แนวทางที่ใช้อีกต่อไป”

ปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติสร้างอนาคตที่น่าอยู่

การปรับตัวรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงยังมีอีกหลายแนวทาง รายงานนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับศักยภาพของธรรมชาติ ไม่เพียงแต่เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนอีกด้วย

Hans-Otto Portner ประธานร่วมของคณะทำงานคณะที่ 2 กล่าวว่า “ระบบนิเวศที่แข็งแรงจะสามารถรับมือกับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้นและเป็นแหล่งที่มีความสำคัญต่อชีวิต เช่น อาหารและน้ำสะอาด การฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมและการอนุรักษ์ สิ่งมีชีวิตในผืนดิน แหล่งน้ำจืด และมหาสมุทรอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้ 30-50% สังคมจะได้ประโยชน์จากความสามารถของธรรมชาติในการดูดซับและกักเก็บคาร์บอน และเราสามารถเร่งเดินหน้าไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องการการสนับสนุนทางการเงินและการเมืองที่มากพอด้วย”

Hans-Otto Portner ประธานร่วมของคณะทำงานคณะที่ 2 ที่มาภาพ:https://trello.com/b/DLboT7JJ/climate-change-2022-impacts-adaptation-vulnerability-pre-launch-social-media-assets

นักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีปฏิสัมพันธ์กับกระแสโลก เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน การขยายตัวของเมือง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความสูญเสียและความเสียหายจากเหตุการณ์รุนแรงและโรคระบาดใหญ่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาในอนาคต

“การประเมินของเราแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการจัดการกับความท้าทายที่แตกต่างกันเหล่านี้เกี่ยวข้องกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ที่ทำงานร่วมกันเพื่อจัดลำดับความสำคัญของการลดความเสี่ยง รวมถึงความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรม ในการตัดสินใจและการลงทุน” Debra Roberts ประธานร่วมคระทำงาน IPCC คณะที่ 2 กล่าว

“ด้วยวิธีนี้ ความสนใจ ค่านิยม และมุมมองโลกที่แตกต่างกันสามารถประนีประนอมกันได้ การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมารวมไว้ด้วยกัน ตลอดจนความรู้ของชนพื้นเมืองและท้องถิ่น จะช่วยให้การแก้ปัญหาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การที่ไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการไม่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะส่งผลให้อนาคตของผู้คนและธรรมชาติด้อยกว่าที่ควรจะเป็น”

เมืองศูนย์กลางผลกระทบและความเสี่ยง แต่สำคัญต่อการแก้ปัญหา

รายงานฉบับนี้ให้รายละเอียดการประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยง และการปรับตัวในเมืองต่างๆ ที่มีประชากรมากกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ สุขภาพ ชีวิตและการดำรงชีวิตของผู้คน ตลอดจนทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งรวมถึงระบบพลังงานและการขนส่ง ได้รับผลกระทบในทางลบมากขึ้นเรื่อยๆ จากอันตรายจากคลื่นความร้อน พายุ ภัยแล้ง และน้ำท่วม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้นอย่างช้าๆ รวมถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

“ทั้งการขยายตัวของเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ซับซ้อน โดยเฉพาะต่อเมืองที่มีการวางแผนการเติบโตของเมืองไม่ดี ความยากจนและการว่างงานอยู่ในระดับสูง และการขาดบริการพื้นฐาน” Debra Roberts กล่าว

Debra Roberts ประธานร่วมคระทำงาน IPCC คณะที่ 2 ที่มาภาพ:https://trello.com/b/DLboT7JJ/climate-change-2022-impacts-adaptation-vulnerability-pre-launch-social-media-assets

“แต่เมืองต่างๆ ยังมีโอกาสที่จะดำเนินการด้านสภาพอากาศ เช่น อาคารสีเขียว แหล่งน้ำสะอาดและพลังงานหมุนเวียนที่วางใจได้ และระบบขนส่งที่ยั่งยืนที่เชื่อมโยงพื้นที่ในเมืองและชนบท ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนนำไปสู่สังคมที่ยุติธรรมและครอบคลุมยิ่งขึ้น”

การปรับตัวที่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การทำลายธรรมชาติ ทำให้ชีวิตของผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยง หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น นี้ สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผน ให้ความสนใจกับความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรม และการใช้ความรู้ของชนพื้นเมืองและท้องถิ่น

ทางเลือกแคบลง

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายระดับโลกที่ต้องมีการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ และนั่นเป็นสาเหตุที่คณะทำงานคณะที่ 2 มีส่วนร่วมในรายงานการประเมินที่หก (AR6) ของ IPCC ด้วยการให้ข้อมูลระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมเพื่อช่วยในการพัฒนาความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานระบุอย่างชัดเจนว่า การพัฒนาความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Resilient Development) เป็นความท้าทายในระดับภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน และมีข้อจำกัดมากขึ้นถ้าโลกร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในบางภูมิภาคอาจจะไม่มีความสามารถเลยหากภาวะโลกร้อนเกิน 2 องศาเซลเซียส ข้อค้นพบที่สำคัญนี้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ โดยเน้นที่ความเหลื่อมล้ำและความยุติธรรม การมีเงินทุนที่เพียงพอ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ความมุ่งมั่นทางการเมืองและการเป็นหุ้นส่วนนำไปสู่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยมลพิษที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสุขภาพของโลก ยิ่งโลกร่วมกันดำเนินการล่าช้าออกไป ก็จะยิ่งทำให้ทางเลือกที่จะรักษาอนาคตที่น่าอยู่ ปิดลงไปอีกอย่างรวดเร็ว” Hans-Otto Portner กล่าว