ThaiPublica > คนในข่าว > “สาธิต รังคสิริ” เส้นทางชีวิตจากมือวางระบบภาษีสู่จำคุกตลอดชีวิตคดีโกง VAT 3,000 ล้าน

“สาธิต รังคสิริ” เส้นทางชีวิตจากมือวางระบบภาษีสู่จำคุกตลอดชีวิตคดีโกง VAT 3,000 ล้าน

20 สิงหาคม 2021


นายสาธิต รังคสิริ

“สาธิต รังคสิริ” อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้รัฐเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท

คดีอดีตอธิบดีและผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร ร่วมกันทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท ใช้เวลากว่า 8 ปีกว่าจะมีการสอบสวน ฟ้องศาลและมีคำตัดสิน เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร จำเลยที่ 1 และ นายสิริพงศ์ ริยะการธีรโชติ (ชื่อเดิมนายศุภกิจ ริยะการ) อดีตข้าราชการ ซี 9 สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 (เขตบางรัก) จำเลยที่ 2 ร่วมกันคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทส่งออกเหล็กและเครือข่ายรวม 25 แห่ง อันเป็นเท็จ ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้สนับสนุน ถูกศาลสั่งจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมทั้งศาลได้สั่งให้จำเลยทั้ง 3 รายร่วมกันจ่ายค่าเสียหายให้กับกรมสรรพากร เป็นวงเงินกว่า 3,097 ล้านบาท พร้อมกับสั่งริบทองคำ 77 แท่ง น้ำหนักรวม 7,000 กิโลกรัม ส่งมอบให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สิน ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ศาลสั่งฟ้อง โดยมีรายงานข่าวจากศาลว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ยื่นคำข้อขอประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป

  • กรณีคืน VAT 2,600 ล้านบาท ป่วนทั้งกรมฯ เปิดคำสั่งบิ๊กสรรพากร-กรมศุลยัน X-ray ตู้ส่งออกเศษเหล็กมูลค่าต่ำเกินจริง
  • ป.ป.ช. แจงอายัดทองคำ “สาธิต” ในคดีโกง VAT จริง แต่มียอดแค่ 179 ล้าน – ถูกไต่สวนร่ำรวยผิดปกติด้วย
  • ป.ป.ช. ชี้มูลคดีโกงVAT 4 พันล้าน “สาธิต รังคสิริ” อดีตอธิบดีกรมสรรพากรรับทองแท่งกว่า 170 ล้าน – “ศุภกิจ ริยะการ” อดีตสรรพากรพื้นที่กทม. 22 โดนด้วย
  • ที่ผ่านมากรมสรรพากรเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีผู้บริหารระดับสูงถูกไล่ออกจากราชการกันไปหลายคน บางคนก็ถูกดำเนินคดี ติดคุกติดตะรางกันไป ส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานเอื้อประโยชน์ ใช้ดุลพินิจตีความ ช่วยผู้เสียภาษีหลบเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งแตกต่างจากคดีนี้มีการใช้อำนาจหน้าที่พิจารณาอนุมัติลงนามในกระดาษใบเดียว เงินออกจากท้องพระคลังทันที

    หากย้อนกลับไปดูเส้นทางชีวิตของนายสาธิต รังคสิริ พื้นเพเป็นคนจังหวัดแพร่ ครอบครัวค่อนข้างมีฐานะดี และมีพี่ชายที่เคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

    นายสาธิตเดินทางเข้ามาเรียนศึกษาต่อในกรุงเทพฯ จนจบมัธยมตอนปลายที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะเศรษฐศาสตร์ รุ่นที่ 38 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนได้รับปริญญาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย Atlanta

    กลับจากเมืองนอก นายสาธิตเข้ารับราชการที่กองนโยบายและแผนภาษี กรมสรรพากร โดยมี ร.อ. สุชาติ เชาว์วิศิษฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้อำนวยการกองฯ และนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าส่วน ด้วยการเป็นนักเรียนนอกจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านการเจรจาภาษีซ้อนกับต่างประเทศ

    ปี 2554 รับรางวัลชนะเลิศจากสหประชาชาติ (United Nations Public Service Awards) ประเภทเสริมสร้างการบริหารจัดการองค์ความรู้ภาครัฐ

    ต่อมา ในช่วงปี 2531-2534 รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพากรครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนจากระบบภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม นายสาธิตถูกดึงตัวเข้ามาอยู่ในคณะทำงานศึกษาระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นกลุ่มแรกๆ มีส่วนร่วมกันในการกำหนดนโยบาย ยกร่างกฎหมาย และวางแผนขับเคลื่อนงานภาษีด้านต่างๆ และผลักดันจนกระทั่งร่างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จนถึงปัจจุบัน

    นายสาธิตจัดเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโครงสร้างภาษีของกรมสรรพากรทั้งระบบ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งในแง่มุมของเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย

    หลังจากภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลบังคับใช้ นายสาธิตก็ได้รับมอบหมายจากกรมสรรรพากร ออกเดินสายชี้แจงผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ให้เข้าใจถึงระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม การเดินสายบรรยายไปบรรยายมา กลายเป็นอาชีพที่ 2 ของนายสาธิต

    ในปี 2536 นายสาธิตร่วมหุ้นกับเพื่อน เปิดบริษัท บางกอก เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ทำธุรกิจจัดอบรมสัมมนา รับเป็นที่ปรึกษากฎหมาย และวางแผนภาษีให้กับบริษัทต่างๆ รวมทั้งยังเขียนหนังสือ 108 กลวิธีในการหลบเลี่ยงภาษี ขายดิบขายดีจนหมดเกลี้ยงแผง นอกจากจะทำให้นายสาธิตมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังสร้างชื่อเสียงให้กับนายสาธิต จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษีชั้นแนวหน้าของเมืองไทย นายสาธิตได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้มาเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษี และได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องโครงสร้างภาษีให้กับนักการเมือง นักธุรกิจฟังในหลักสูตรพิเศษต่างๆ อย่างเช่น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ., วิทยาลัยตลาดทุนหลายรุ่น

    อาชีพการงานของนายสาธิตเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จากรองอธิบดีกรมสรรพากรย้ายขึ้นมาเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังในปี 2552 นั่งอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน ในสมัยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) วันที่ 1 ตุลาคม 2552 (ตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดี) ก่อนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา นายสาธิตได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553

    ภายหลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ในช่วงสมัยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือเป็นช่วงขาลงของนายสาธิต ในช่วงปี 2556 มีหนังสือร้องเรียนมาถึงกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหานายสาธิตมีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ โดยมีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กมากผิดปกติ

    นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตปลัดกระทรวงการคลังในขณะนั้น จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวมีมูล แต่กลับไม่มีชื่อนายสาธิตเข้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการทุจริตเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตรงนี้เองกลายเป็นจุดพลิกผันของนายสาธิต เมื่อผลสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลังส่งไปถึงนางสาวสุภา ปิยะจิตติ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน

    นางสาวสุภาได้ทำการขยายผลการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 18 คน มีบางคนให้การซัดทอดพาดพิงมาถึงนายสาธิต จนนำไปสู่การสอบขยายผล ตรวจพบทองคำแท่งและทรัพย์สินอื่นๆ ของนายสาธิต รวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท โดยที่นายสาธิตไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช. คณะอนุกรรมการไต่สวนจึงสรุปสำนวนคดีเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และสั่งอายัดทรัพย์สินของนายสาธิตและพวก

    ต่อมาในช่วงเดือนมกราคม 2559 กระทรวงการคลังก็มีคำสั่งลงโทษไล่นายสาธิตออกจากราชการ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559

    จริงๆ เรื่องโกงภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสมัย ร.อ. สุชาติ เชาว์วิศิษฐ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ได้ตรวจสอบสอบพบว่ามีการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มกันอย่างกว้างขวาง ทั้งกรณีส่งออกตู้คอนเทนเนอร์เปล่า เพื่อนำหลักฐานใบขนสินค้าขาออกมาใช้ประกอบการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม, มีการตรวจพบผู้ประกอบการหลายรายซื้อ-ขายใบกำกับภาษีใช้ในการหักลดหย่อนและขอคืนภาษี และพิมพ์ใบกำกับภาษีปลอม จนกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาในช่วงปี 2537-2538 กรมสรรพากรร่วมกับตำรวจเศรษฐกิจ เข้าจับกุมกระบวนการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องเกือบทุกสัปดาห์ แต่ไม่พบว่ามีข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

    จนมีการเปลี่ยนนโยบายคืนภาษีใหม่ จากเดิม “คืนไปก่อน ตรวจทีหลัง” เปลี่ยนเป็น “ตรวจก่อนคืน” และเน้นคืนภาษีเป็นเครดิตแทนเงินสดเป็นหลัก จากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไปนานกว่า 16 ปี

    จนกระทั่งนายสาธิตย้ายกลับมานั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร มีข้าราชการสรรพากรบางคนเห็นช่องโหว่จากบทเรียนเรื่องโกงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผ่านมา แม้กรมสรรพากรจะวางระเบียบการคืนภาษีไว้อย่างรัดกุมก็ตาม ปรากฏว่ายังมีช่องทางให้ผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรใช้อำนาจสั่งการ หรือบังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำเรื่องเสนอความเห็นขึ้นมา ขอยุติกระบวนการตรวจสอบกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็ก 25 บริษัท ทั้งๆ ที่มีการขอคืนภาษีมากผิดปกติ ขณะที่ผู้บังคับบัญชาก็มีการละเว้น ไม่สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานประกอบการ, การซื้อ-ขายสินค้าวัตถุดิบ, สต็อกสินค้า ทั้งๆ ที่ระเบียบของกรมสรรพากรได้กำหนดไว้ อีกทั้งยังพิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีให้กับกลุ่มบริษัทดังกล่าวไปหลายครั้ง ทำให้กระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาล สุดท้ายก็หนีวิบากกรรมไม่พ้น ถูกศาลสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

    คดีนี้ถือเป็นอีกบทเรียน ข้าราชการและนักการเมืองย้ำ หากใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางที่ผิด รับใต้โต๊ะ เงินทอนทั้งหลาย วันหนึ่งก็จะเป็นบทเรียนอีกหน้าที่ถูกบันทึกไว้….