ThaiPublica > เกาะกระแส > ITD เสวนา “ปรับสมดุลตลาดแรงงานยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” (ตอน 1): มูลนิธิคีนันฯแนะส่งเสริมอาชีวะศึกษา สร้างคนพร้อมทำงาน

ITD เสวนา “ปรับสมดุลตลาดแรงงานยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” (ตอน 1): มูลนิธิคีนันฯแนะส่งเสริมอาชีวะศึกษา สร้างคนพร้อมทำงาน

2 สิงหาคม 2021


เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิกา จัดการสัมมนา เรื่อง “ปรับสมดุลตลาดแรงงานไทยยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Webex ให้กับบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาควิชาการ รวมถึงผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแรงงานในโลกยุคหลังโควิด-19 และรับฟังความคิดเห็น มุมมอง ข้อเสนอแนะในประเด็นด้านการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทยเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการการพัฒนาตลาดแรงงานให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ดร.ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการแห่งมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย บรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาคนไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยชี้ให้เห็นถึงบริบทสถานการณ์เศรษฐกิจไทยภายใต้โควิด-19 ที่กระทบต่อแรงงานอย่างหนัก และยิ่งตอกย้ำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น

ดร.ปิยะบุตรกล่าวต่อว่า ในปี 2563 แรงงานไทยประมาณ 25% เผชิญกับความเสี่ยงจากการหลุดจากตลาดแรงงาน แต่มีการคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 สัดส่วนแรงงานที่ไม่สามารถอยู่ในตลาดได้จะเพิ่มไปจนถึง 50% ของแรงงานทั้งหมด เนื่องจากปัจจัยเรื่องสภาวะที่คาดการณ์ไม่ได้ (Unprecedented Change) 5 ด้าน ดังนี้

Rise of Digital คือการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้แรงงานบางกลุ่มไม่สามารถปรับตัวทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เห็นได้ชัดในระบบการเงิน-ธนาคาร ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เช่น อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง (Internet Banking) พร้อมเพย์ (Promptpay) ฯลฯ ตลอดจนการทำธุรกรรมกับลูกค้านิติบุคคลก็เป็นในรูปแบบ E-Trade หรือลูกค้าบุคคลธรรมดาก็จะเป็นธุรกรรมแบบ on demand Economy (ตามความต้องการเฉพาะบุคคล) ยิ่งทำให้แรงงานหรือพนักงานในธุรกิจประเภทนี้ถูกลดความสำคัญลง

นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Internet of Thing หรือ IoT ซึ่งทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ โดยดร.ปิยะบุตร ขยายความนิยามที่เกิดขึ้นมาใหม่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คำแรกคือ “Sharing Economy” ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรที่ตัวเองมีมาสร้างรายได้ เช่น Airbnb, Grab ฯลฯ ถัดมาคือ “GIG Economy” เป็นการทำงานเพื่อรายได้เสริม โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงรายได้จากช่องทางเดียว ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้คนต้องทำงานอยู่ในที่พักของตัวเอง ยิ่งทำให้คนทำงานมองหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่

ดร.ปิยะบุตรให้ข้อมูลว่า ผลสำรวจในยุโรปบอกว่าคนประมาณ 10% อยากกลับไปทำงานแค่วันเดียว อีก 50% อยาก 3-5 วัน

“โควิดทำให้คนทำงานอยู่บ้าน แต่หารู้ไม่ว่า Work from Home (WFH) กำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้เกิด GIG Economy ดิจิทัลเปลี่ยนความคิดว่าอยู่บ้านสบายดี ทำอย่างไรถึงจะหารายได้โดยไม่ต้องกลับไปทำงานออฟฟิศ WFH ทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานของคนมีความสามารถดิจิทัล มันจะเกิดอะไรขึ้นกับอาชีพใหม่ คนนที่มีความรู้ความสามารถดิจิทัลสามารถทำมาหากินได้ อาชีพพวกนี้ไม่มีจำกัดว่าอายุเท่าไร อยู่ที่อายุความสามารถ อย่าง Data Analysis ก็ไม่ต้องทำงานที่ออฟฟิศ ส่งข้อมูลมาเดี๋ยวเขาจะส่งงานกลับไปที่บริษัท”


ดร.ปิยะบุตร มองว่า ปัจจัยที่เกิดขึ้นจะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ชอบวัฒนธรรมการถูกกำกับ ชอบความเสรี ชอบเป็นตัวของตัวเอง ขณะเดียวกันเอกชน-ธุรกิจก็จะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้ตรงความต้องการของคนยุคดิจิทัล ได้แก่ (1) ความยืดหยุ่นในการทำงาน (2) ลดกฎเกณฑ์การทำงาน และ (3) มีเสรีภาพในการทำงานมากขึ้น

Rise of Start up: Youth Dream เป็นอีกสภาวะที่สืบเนื่องจากเทคโนโลยี เพราะทำให้เด็กรุ่นใหม่สามารถทำสิ่งที่ตัวเองฝันโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ โดยดร.ปิยะบุตร มองว่าในเด็กที่จบการศึกษาในช่วงโควิด-19 จะหางานได้ยาก-ไม่มีใครรับเข้าทำงาน ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จะใช้โอกาสรวมตัวกัน 2-3 คน คิดโปรเจคสตาร์ทอัพ และหลังจากโควิด-19 สตาร์ทอัพจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ถือเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในภาพใหญ่

Rise of Entrepreneurs in the Rural and Agricultural Areas หรือการเติบโตของผู้ประกอบการในพื้นที่ชนบท ต่างจังหวัด หรือผู้ประกอบการที่พัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเอง นี่เป็นภาวะที่คนหนีออกจากเมือง

ดร.ปิยะบุตร กล่าวว่า ในสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ประเทศไทยเคยมีระบบที่พักพิงให้คนตกงาน และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวคนกลุ่มนี้ก็จะกลับเข้ามาหางานในเมืองเหมือนเดิม แต่ในยุควิกฤตโควิด-19 มีแรงงาน 4-7 ล้านคนที่ไม่ได้ทำงาน แต่ไม่ใช่เพราะไม่มีงานให้ทำ แต่ปัจจัยคือเลือกที่จะ ‘ไม่ทำงาน’

“หลายสิ่งหลายอย่างที่เขาเห็นว่ามีโอกาส เหมือนที่บอกว่าคนจำนวนมากไม่กลับ หนึ่ง กลับไม่ได้เพราะอาชีพมันเปลี่ยนในยุคดิจิทัล สอง เขาไม่อยากกลับ คนเหล่านี้เขาเป็นผู้ประกอบการ อายุไม่ถึง 50 ยังมีความคิดมีเรี่ยวแรงที่ทำอะไรต่อไปได้”

“ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ช่วงที่คนไม่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ โฮมสเตย์ในชนบทเลยเป็นจุดดึงดูดให้คนเดินทางเพิ่มขึ้น 40% มันเป็นแรงดึงดูดให้เขาเดินทางไปเที่ยวเตร่ได้  ผมมองว่าโควิดทำให้คนทำงานที่อยู่บ้านเริ่มมีเงินเก็บ ไม่มีค่าใช้จ่ายมาก ประหยัดได้เยอะ ถึงจุดหนึ่งเงินเหล่านี้จะทะลักไปสู่การท่องเที่ยว ผมเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาอย่างแรง คนกลับไปชนบทและเห็นโอกาสที่จะทำการท่องเที่ยวชนบท เป็นโอกาสที่สร้างผลิตภัณฑ์ชนบท”

The Rise of Value Chain and Supply Chain ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจัยการผลิตนี้มาจากการเข้ามาของบล็อกเชน (Blockchain) ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์ให้ทันความต้องการของผู้บริโภค 

สุดท้ายคือ The Rise of New Urbanized Lifestyle คือการพัฒนาในทุกมิติให้ ‘Smart’ ตั้งแต่ Smart City (เมืองอัจฉริยา), Smart Home และ Smart Transportation (ระบบขนส่งอัจฉริยะ) เป็นการผสมผสานไลฟ์สไตล์ของเมืองแบบใหม่ให้เกิดความสะดวกสบายผ่านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานบ้าน รถไฟฟ้า ไปจนถึงโดรน

แต่สภาวะ 5 Rise ที่เกิดขึ้นจะทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน (Labour Shortage)

“เราผลิตคนไม่ทันและผลิตไม่ได้ อย่าง EEC ต้องการแรงงาน 475,000 คน วันนี้ยังไม่รู้จะหาที่ไหนเลย ที่ขาดแคลนมากคือสายงานดิจิทัล โลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ เวลานักลงทุนต่างประเทศมองอีอีซี เขาถามง่ายๆ ว่าคุณมีคนหรือเปล่า นี่แค่อีอีซี แต่ถ้าทั้งประเทศ เราขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน”

ดร.ปิยะบุตร กล่าวต่อว่า ในอดีตเคยมีคำกล่าวว่าพื้นที่ชนบทเป็นเหมือน Social Safety Net กล่าวคือเป็นพื้นที่รองรับและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันพื้นที่ชนบทกลับมีแรงงานตกงาน 4-7 ล้านคน นี่เป็นอีกคามท้าทายของสังคมไทย

“มูลนิธิคีนันฯ ศึกษาว่าในปี 2565 เรามีแรงงาน 11.6% ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 20.7 ล้านคน และจะเป็น 26.9 ล้านคน หรือ 14.4% ในปี 2573 แต่สิ่งที่น่ากลัวคือประชากรวัยทำงานจะลดลงเหลืออายุ 24-59 ปี ทำให้แรงงานเหลือจริงๆ แค่ 24 ล้านคนในปี 2573”

ท้ายที่สุด ดร.ปิยะบุตรกล่าวถึงข้อเสนอว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานระยะยาวจะต้องส่งเสริมการศึกษารูปแบบ TVET (Technical Vocational Education and Training) ซึ่งเป็นการศึกษาอบรมให้กับกลุ่มอาชีวะศึกษาให้พร้อมทำงานในภาคอุตสาหกรรมและความต้องการตลาด โดยใช้หลักสูตร STEM (Science Technology Engineering and Mathematics Education) และโค้ดดิ้ง (Coding) เป็นพื้นฐานสำคัญ

“ในต่างประเทศมีการทำ TVET โดยให้ภาครัฐรับผิดชอบทฤษฎี ส่วนภาคเอกชนทำเรื่องทักษะ ส่วนที่เกาหลีปี 2013-2017 ใช้โมเดล Dual Education สร้างโรงเรียนผู้ฝึก โดยเอาคนในโรงงานหรือภาคบริการมาฝึกเพื่อจะไปเป็นผู้สอน เป็นเทรนเนอร์ มีการฝึกทุกสี่ปี และให้ไปสอนภาคการศึกษา แต่ในไทยเคยผลักดัน TVET เป็นสิบปี แต่ไม่มีการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม เราอ่อนแอมาก”

อ่านต่อตอนจบ พัฒนาระบบสร้างทักษะให้แรงงานในภาคธุรกิจ

ดูเพิ่มเติม…