ThaiPublica > เกาะกระแส > ITD เสวนา “ปรับสมดุลตลาดแรงงานยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” (จบ) : พัฒนาระบบ สร้างทักษะแรงงานภาคธุรกิจ

ITD เสวนา “ปรับสมดุลตลาดแรงงานยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” (จบ) : พัฒนาระบบ สร้างทักษะแรงงานภาคธุรกิจ

2 สิงหาคม 2021


เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิกา จัดการสัมมนา เรื่อง “ปรับสมดุลตลาดแรงงานไทยยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Webex ให้กับบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาควิชาการ รวมถึงผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดแรงงานในโลกยุคหลังโควิด-19 และรับฟังความคิดเห็น มุมมอง ข้อเสนอแนะในประเด็นด้านการพัฒนาศักยภาพแรงงานของไทยเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการการพัฒนาตลาดแรงงานให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

  • ITD เปิดวงเสวนา “ปรับสมดุลตลาดแรงงานยุคหลังโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” (ตอน 1): มูลนิธิคีนันฯแนะส่งเสริมอาชีวะศึกษา สร้างคนพร้อมทำงาน
  • การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2563 ได้ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของตลาดแรงงานไทยในหลายมิติ ประการแรก ความด้อยประสิทธิภาพของนโยบายและมาตรการบริหารจัดการข้ามชาติที่ส่งผลให้เกิดการลักลอบเข้า เมืองอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งความไม่สมดุลในตลาดแรงงานด้อยทักษะที่ส่งผลให้ ผู้ประกอบการต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงมิติความมั่นคงทางสังคมและความ มั่นคงด้านสุขภาพ ประการที่ 2 ความเปราะบางของตลาดแรงงานและการจ้างงาน ภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผล ต่อเนื่องให้เกิดการเลิกจ้างและการลดชั่วโมงการทำงาน จึงมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะการว่างงาน ในอัตราที่สูงสุดในรอบประมาณ 30 ปี

    ผลการศึกษาโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และผลวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ พบว่าโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีการเปลี่ยนแปลงไป ผลิตภาพของแรงงานขยายตัวในทิศทางเดียวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่กำลังแรงงานลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดแรงงานไทยยังเผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่ทั้งในภาคผลิต ภาคบริการและภาคการเกษตร ซึ่งแรงงานต้องเร่งพัฒนาทักษะใหม่ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลง

    การเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนความร่วมมือพัฒนาตลาดแรงไทยหลังยุคโควิด-19 สู่ความยั่งยืน” มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวุฒิศักดิ์ ปฐมศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ทะเบียนข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และ นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

    โควิด-19 สะท้อน เศรษฐกิจไทยฉุดตลาดแรงงาน

    ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า จากผลการศึกษา คาดว่าช่วงระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย เศรษฐกิจไทยเสียหายประมาณ 11.44 ล้านล้านบาท ทั้งผลกระทบท่องเที่ยว นำเข้า ส่งออก และหนี้ของประชาชนที่สูงขึ้น 1.15 ล้านล้านบาทตั้งแต่ไตรมาส 1/64 

    “เศรษฐกิจที่เสียไป 11.44 ล้านล้านมันหนักมาก เราไปดูเรื่องจีดีพีอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องดูว่าเงินที่มันหายไปจากกระเป๋าชาวบ้านมันรุนแรงมาก… ตลาดแรงงานกับเศรษฐกิจเป็นปาท่องโก๋กัน ถ้าเศรษฐกิจดี ตลาดแรงงานก็ดีตามไปด้วย ตอนนี้เศรษฐกิจทรุดก็มีปัญหากับตลาดแรงงาน”

    ดร.ธนิตกล่าวถึงภาพรวมตลาดแรงงานว่า เหตุผลที่ประเทศไทยแก้ปัญหาแรงงานไม่ได้ เนื่องมาจาก ‘การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด’ เพราะมีทั้งการขาดแรงงานและว่างงานในเวลาเดียวกัน ส่วนแรงงานทักษะหายากและอยู่ไม่ได้นาน โดยปัญหาทั้งสอง 2 ส่วนนำไปสู่ (1) ประเทศไทยต้องการแรงงานระดับล่างที่ขาดแคลนมากๆ จนต้องไปเอาแรงงานต่างด้าวมา 2-3 ล้านคน (2) ประเทศไทยขาดแรงงานระดับสูง เพราะผลิตเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้

    “ตั้งแต่มี Eastern Sea Board มีการจ้างงาน 5 แสนคน แต่ EEC จะจ้างอีก 4 แสนคน ผมถึงถามว่าคุณจะไปหาคนมาจากไหน เป็นการชักเย่อกันระหว่างแรงงาน 2.0 กับธุรกิจที่จะไป 4.0 เราไม่ยอมรับความจริงว่าเรายังลงทุนใหม่กับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากๆ กระทรวงพาณิชย์ก็ยังตื่นเต้นกับการส่งออกข้าว-ยางพาราเป็นตันๆ ส่งออกวัตถุดิบอ้อย ปลากระป๋อง เราก็ยังแฮปปี้”

    ดร.ธนิตกล่าวว่า ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)การว่างงานมีจำนวนอยู่ที่เกือบ 9 แสนคน แต่นอกจากนี้ยังมีหลายนิยามที่ไม่ได้ครอบคลุมประชากรที่ว่างงานทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ราว 5 แสนคนในปี 2564 ซึ่งอาจจะไม่ถูกนับว่าว่างงาน ดังนั้นประเทศไทยจึงมีแรงงาน ‘ว่างงานแฝง’ ในช่วงวิกฤติอีกจำนวนมาก

    ดร.ธนิตกล่าวต่อว่า ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวได้ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่ภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวก็สามารถช่วยแรงงานได้ระดับหนึ่ง โดยคาดว่าในปี 2564 ภาคการส่งออกจะทำรายได้ 7.7 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยภาคการส่งออกจะเติบโตเท่ากับก่อนโควิด-19 อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินจำนวนนี้จะลงไปที่ทุนเป็นหลัก ค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 10-12% ที่สำคัญแรงงานในภาคการส่งออกไม่ได้เคลื่อนย้ายไปอุตสาหกรรมอื่นๆ

    นี่เป็นภาพสะท้อนว่าต่อให้ภาคการส่งออกเติบโตดี แต่เม็ดเงินไม่ได้ถึงมือประชาชนเท่าที่ควร

    “ท่องเที่ยว 3 ล้านล้าน แต่มันลงไปข้างล่างหมดเลย สนามบิน แท็กซี่ โรงแรม บ๋อย กินริมหาดทราย แม่ค้าแผงลอย ไปถึงหมู่เกาะ คนก็ได้ แม้ว กะเหรี่ยงได้หมด”

    ขณะเดียวกัน ดร.ธนิตมองว่า ‘วัคซีน’ เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ตลาดแรงงานกลับมาฟื้นตัวได้ เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน แต่ถ้าไม่มีวัคซีนตลาดแรงงานจะทรุด เมื่อคนไม่มีอำนาจการซื้อจะไปกระทบถึงการจ้างงาน

    ภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการการค้าและอุตสาหกรรมไทย

    ตลาดแรงงานโตแต่ปริมาณไร้คุณภาพ

    “ประมาณ 15 ปีก่อน ธนาคารโลกทำเซอร์เวย์ บอกว่ามีสถานประกอบการ 39% ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือมากถึง 39% คือ 100 แห่งมี 39 แห่งที่หาไม่ได้เลย ปัญหาเรารุนแรงกว่าคนอื่นสามเท่าในอดีต” ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

    ดร.เกียรติอนันต์กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในปัจจุบันว่า ประเทศไทยมีคนเรียนหนังสือขั้นสูงมากขึ้น แต่ความสามารถดึงเอาความรู้หรือศักยภาพมีน้อยลง ส่วนเรื่องความสามารถในการจ้างงาน โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมือง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต เมื่อเทียบระหว่างแรงงานทักษะที่มีและไม่มีทักษะจะเห็นว่ามีความห่างกันของทักษะมาก เนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจผสม 2.0 และ 3.0 ทำให้มีอุปสรรคในการเดินทางไปสู่ 4.0 เพราะปัญหาคน

    ดร.เกียรติอนันต์ยกตัวอย่างพื้นที่ EEC ซึ่งต้องการแรงงานมากถึง 4 แสนคน และเป็นแรงงานทักษะสูง แต่ความเป็นจริงคือประเทศไทยไม่ได้มีแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก และเมื่อ EEC นำแรงงานทักษะต่ำเข้ามาจึงแก้ปัญหาได้แค่จำนวน แต่ไม่สามารถแก้ศักยภาพของคนได้

    “ประเทศของเราอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกมาก พอเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เราเปลี่ยนตัวเองไปผลิตสินค้าอื่นที่มีมูลค่าไม่ได้ สุดท้ายเราเป็นหนึ่งในบรรดาสินค้าทั้งหลายที่ตั้งราคาไม่ได้ การส่งออกก็ชะลอตัว การท่องเที่ยวเป็นกำลังหลักก็จริง แต่มันเป็นการเติบโตแบบขยายไซซ์โดยไม่ได้เปลี่ยน business model พอนักท่องเที่ยวมาก็เพิ่มจำนวนห้องพัก จ้างคนเพิ่ม เราเติบโตด้วยการจ้างคนให้ใหญ่ขึ้น แต่ไม่เคยสร้าง business model ใหม่ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยช่วง 25 ปีแทบไม่เปลี่ยนเลย

    “หลังปี 40 เราก็ยังใช้วิธีเดิม ทำให้เศรษฐกิจโตโดยการทำงานหนัก เมื่อโครงสร้างทั้งภาพใหญ่ไม่เปลี่ยน ปัญหาความสามารถการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำและการกระจายความเจริญมันก็ถูกแช่เหมือนเดิม เราโตจริง แต่ตัวเลขมันหลอกความเก่ง โตแบบเดิม ไม่ยั่งยืน”

    ดร.เกียรติอนันต์กล่าวถึงงานวิจัยที่ได้ทำร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาว่า ได้เข้าไปศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ จากการตั้งคำถามช่วงปี 2558-2562 และดูดัชนีจังหวัด พบว่า ในภาคการเกษตรไม่มีจังหวัดใดที่เปลี่ยนแปลง ภาคการผลิตมีหนองคาย อุทัยธานี ที่ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยิ่งกว่านั้น ทุกภาคอุตสาหกรรมไม่มีการปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

    ดร.เกียรติอนันต์กล่าวว่า องค์กรที่จะไปรอดคือองค์กรที่ปรับโมเดลธุรกิจ ประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ใช้คนให้น้อยลง ทำต้นทุนคงที่ให้ต่ำที่สุด และทำให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ธุรกิจจะต้องมองไปข้างหน้าปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ธุรกิจต้องเข้าใจรอบด้านและมีทักษะ มีความสามารถในการแปลงตัวเองให้เก่ง 

    แต่ ดร.เกียรติอนันต์มองว่า ปัญหาที่จะขัดขวางไม่ให้ธุรกิจเติบโตคือประเทศไทยไม่มีระบบสร้างทักษะให้แรงงานในภาคธุรกิจได้ ไม่ได้มีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาใช้ให้คนเก่งขึ้น

    แรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มช่วงวิกฤติ

    นายวุฒิศักดิ์ ปฐมศาสตร์ หัวหน้าศูนย์ทะเบียนข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตำแหน่งงานที่ว่างและเปิดรับสมัคร กับจำนวนผู้สมัครงานและผู้ประกันตนกรณีว่างงานไม่สอดคล้องกัน โดยพบว่า 3 อุตสาหกรรมที่แรงงานว่างงานมากที่สุด ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการขายส่งและขายปลีก และกิจกรรมทางการเงินและประกันภัย ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานคือภาคเทคโนโลยี

    จากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานเข้าเกณฑ์เป็นผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือนพฤษภาคม 2564 มีจำนวน 303,984 ราย แบ่งเป็น ลาออก 201,689 ราย เลิกจ้าง 91,794 ราย และสิ้นสุดสัญญาจ้าง 10,501 ราย โดยพบว่าช่วงวิกฤติโควิด-19 มีกรณี ‘เลิกจ้าง’ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ

    นายวุฒิศักดิ์กล่าวต่อว่า จากวิกฤติโควิด-19 แรงงานเริ่มไปทำงานต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าช่วงเดือนมกราคม–พฤษภาคม จำนวนแรงงานที่ไปต่างประเทศจะลดลง 15,911 คน หรือ 12.42% เมื่อเทียบกับ 5 เดือนของปีก่อน แต่ทั้งหมดยังมีสัญญาณว่าแรงงานกำลังมองหาลู่ทางงานต่างประเทศ

    นายวุฒิศักดิ์ให้ข้อมูลว่า 5 อันดับประเทศที่แรงงานไทยทำงานมากที่สุด คือ (1) ไต้หวัน 57,756 คน (2) อิสราเอล 19,687 คน (3) เกาหลี 16,469 คน (4) ญี่ปุ่น 4,742 คน และ (5) สิงคโปร์ 1,222 คน

    “หลายคนก็เริ่มเห็นว่าการเป็นลูกจ้างไม่ตอบโจทย์ มีหลายคนลุกขึ้นมาเป็นสตาร์ตอัพ ทำอาชีพอิสระ หรือการมีมากกว่าหนึ่งอาชีพจะเป็นรูปแบบใหม่ของคนรุ่นใหม่ มีหลายๆ ที่เข้ามา มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และทักษะจะเป็นจุดเปลี่ยนโลก การจบปริญญาที่ไม่สอดคล้องกับการทำงานจะเปลี่ยนไป ทักษะจะเป็นตัวมีบทบาท เหมือนตอนนี้เราจะมองเรื่องคุณสมบัติ มากกว่าที่คุณจบมา”

    “สิ่งที่เขาเรียกร้องมากที่สุดที่อยากได้จากกระทรวงแรงงานคือ บุคลิกส่วนตัว หรือเรียกว่า soft skill เรื่องแบบนี้นายจ้าง-สถานประกอบการต้องการมากขึ้น เพราะฝีมือฝึกได้ ผมมองต่อว่าปัจจัยแวดล้อมจะเข้ามาเปลี่ยนตลาดแรงงาน โมเดลหลายๆ อย่างที่ภาคการศึกษาและธุรกิจเริ่มจับมือกันคือ EEC เขาก็ใช้โมเดลไทป์เอไทป์บี คือการทำหลักสูตรระยะยาว จับคู่ระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา”

    ”การเรียนรู้ตลอดชีวิตทำให้เราเห็นว่า พอวิกฤติเข้ามา ความรู้หรือเทคโนโลยีเดิมๆ มันไม่สามารถเอาตัวรอดต่อไปในอนาคต”

    แรงงานนอกระบบ กลุ่มตกสำรวจจากภาครัฐ

    นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า สถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าปี 2563 ประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคน คิดเป็น 53.8% ของแรงงานทั้งหมด โดยจำนวนนี้เป็นเพศชาย 11.2 ล้านคน เพศหญิง 9.2 ล้านคน การศึกษาระดับประถม 57.2% และกว่า 50% มีอายุ 40-59 ปี อีก 20% อายุมากกว่า 60 ปี

    “คนทำงานทุกคนคือแรงงาน ควรได้รับสิทธิและสวัสดิการทางสังคมเหมือนกัน เราอยากเป็นประเทศที่พัฒนา แต่เราไม่สามารถทำให้แรงงานพัฒนาได้ ความจริงเรามีอะไรที่ก้าวหน้าเยอะกว่าประเทศอื่น เช่น เรามีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เรามีประกันสังคมมาตรา 40 สำหรับแรงงานนอกระบบ เรามีศูนย์เด็กและผู้สูงอายุ แต่เรายังมีปัญหาอยู่”

    นางพูลทรัพย์กล่าวต่อว่า โควิด-19 ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำว่าแรงงานนอกระบบไม่มีความมั่นคงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นหาบเร่ แผงลอย ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ คนกลุ่มนี้ก็ไม่มีเงินเก็บ ขณะเดียวกันระบบประกันสังคมไทยก็ไม่ใช่รูปแบบถ้วนหน้า 

    ปัจจัยถัดมาคือประเทศไทยขาดการคิดในระยะยาว โดยเฉพาะการฟื้นฟูระยะกลางและระยะยาว ทำให้ในสถานการณ์วิกฤติแรงงานต้องช่วยเหลือตนเอง ไม่สามารถพึ่งพาภาครัฐได้

    “โควิดคนตกงานมากขึ้น แรงงานนอกระบบจะมากขึ้น ถ้าถามว่าอาชีพอะไรที่จะไปทำ ไม่ทำการค้าขายของออนไลน์ หาบเร่แผงลอย ก็ไปขับแกร็บหรือขนส่งสาธารณะ เราจะพบว่าแรงงานนอกระบบในภาคบริการและการผลิตปรับตัวยากมาก เพราะการศึกษาน้อย เขาไม่ได้อยากเป็นหาบเร่ แต่มันไม่มีทางเลือก”

    นอกจากนี้ นางพูลทรัพย์ยังขยายความว่า แรงงานนอกระบบยังมีทักษะการใช้เทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอต่อการปรับตัว นำมาสู่คำถามว่าทำอย่างไรให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงเทคโนโลยีและมีทักษะการใช้งานที่เพียงพอต่อการปรับตัว

    อีกทั้งทิศทางของธุรกิจในอนาคตที่จะเน้นไปทาง BCG แต่แรงงานนอกระบบจะได้รับการพัฒนาอย่างไรจึงจะร่วมขบวนนี้ไปได้

    นางพูลทรัพย์กล่าวถึงข้อเสนอ 7 ข้อ ดังนี้

    1. เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าแรงงานไม่ใช่ภาระ แต่คือหุ้นส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงต้องเน้นไปที่การส่งเสริม ไม่ใช่การควบคุม
    2. การรวมตัวกันของแรงงานจะนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงาน รัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของแรงงานนอกระบบ
    3. ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างแผนการพัฒนาที่ครอบคลุม เช่น พัฒนาทักษะความรู้ด้านดิจิทัล ส่งเสริมความรู้เรื่อง BCG ตลาดเขียว พลังงานทางเลือก สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สมุนไพร และเชื่อมโยงคนเก็บขยะกับการเก็บขยะในระบบ
    4. ไม่ไปซ้ำเติมด้วยกฎระเบียบ และนโยบาย เช่นเรื่องหาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ
    5. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ
    6. พัฒนาฐานการคุ้มครองทางสังคม (social protection floor) และการประกันสังคม (social insurance) โดยยึดหลักการถ้วนหน้า
    7. ส่งเสริมการเชื่อมโยงธุรกิจ สร้างข้อต่อเพื่อเป็นตัวช่วยและตัวเชื่อมระหว่างกลุ่มแรงงานนอกระบบกับภาคธุรกิจ

    “อย่าไปคิดแต่ว่าเขาจะเรียกร้องสิทธิ แต่นี่คือจุดตายของประเทศไทยที่ไม่พัฒนา เพราะเราไม่คิดว่าพลังของคนเล็กคนน้อยคือพลัง”

    ดูเพิ่มเติม…