ThaiPublica > เกาะกระแส > เวที “อยู่รอด และยั่งยืนหลังโควิด” (ตอนที่ 1) โควิด-19 เปลี่ยนชีวิต “งานใหม่ ชีวิตใหม่ ในโลกใหม่”

เวที “อยู่รอด และยั่งยืนหลังโควิด” (ตอนที่ 1) โควิด-19 เปลี่ยนชีวิต “งานใหม่ ชีวิตใหม่ ในโลกใหม่”

14 มกราคม 2022


12 มกราคม 2565 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “อยู่รอด และยั่งยืน หลังโควิด” สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทย และเป็นแนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างฐานราก สร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนอยู่อย่างยั่งยืน รับมือกับโลกที่ซับซ้อนตามบริบทของพื้นที่ จากตัวอย่างการพัฒนาที่ “รอด”

โควิด-19 เปลี่ยนชีวิต “งานใหม่ ชีวิตใหม่ ในโลกใหม่”

เริ่มที่เสวนาแรกในหัวข้อ “งานใหม่ ชีวิตใหม่ ในโลกใหม่ จากแรงงานปรับตัวด้วยแนวคิดใหม่ วิธีใหม่ นำองค์ความรู้ทักษะคนเมืองและเทคโนโลยีมาปรับใช้” ว่าด้วยตัวอย่างของคนที่ได้รับผลกระทบจากสาขาต่างๆ ที่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในวิกฤตโควิด-19

“ฉัตรมงคล จรัสสุริยพงศ์” อดีตพนักงานโรงแรมที่ผันตัวไปสร้างแบรนด์แซนด์วิชโบราณ กล่าวว่า “เดิมทำงานเป็นพนักงานโรงแรมซึ่งอยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ และเคยคิดว่า ‘ท่องเที่ยว’ คืองานที่มั่นคง แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ในช่วงสามเดือนแรก เรายังใช้ชีวิตประมาท คิดว่าเป็นโรคใหม่ เดี๋ยวมันก็ไป เหมือนโรคอื่นๆที่เคยเป็นมา แต่พอผ่านไป 6-7 เดือน สถานการณ์ยังไม่ได้ดีขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากการโดนลดเงินเดือนและให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง เราก็เปลี่ยนความคิด เนื่องจากรายจ่ายเราเหมือนเดิมแต่รายได้ลดลง ก็หาทางลดรายจ่าย หารายได้เพิ่ม จากขับรถยนต์มาเป็นมอเตอร์ไซด์ ลดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง แต่ก็ยังไม่พอ ก็ต้องหารายได้เพิ่ม จนกระทั่งมีความคิดว่าต้องหาอะไรทำ ด้วยภรรยาขายแซนด์วิชโบราณ ก็ลองทำดู แรกๆก็ลำบาก ไม่มีประสบการณ์ แต่เราเรียนรู้ไปเรื่อยๆ

ฉัตรมงคล จรัสสุริยพงศ์

“เราเคยคิดว่าทำโรงแรมแล้วมั่นคง ใช้ชีวิตไปวันๆ แต่พอวิกฤติ เราเริ่มทำแซนด์วิชโบราณ โดยอาศัยทักษะการบริการเข้ามาเสริม เลยต้องตั้งใจทำมากขึ้น ฝึกทักษะเพิ่ม เพราะทำมากได้มาก ไม่เหมือนเป็นพนักงานเงินเดือน สถานการณ์นี้สอนให้คนลงมือทำและต้องไม่ทำอาชีพเดียว ต้องมีอาชีพเสริม เมื่อก่อนอยากเป็นเจ้าของกิจการ ได้แต่คิด แต่ไม่ได้ลงมือทำ วันนี้โควิด ทำให้เราคิดและลงมือทำ” ฉัตรมงคลกล่าว

พระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่ฉัตรมงคลนำมาปรับใช้คือการปรับปรุงตัวตลอดเวลาภายใต้ความเพียรและอดทน ทั้งความคิดและพฤติกรรม รวมถึงต้องอดทนต่อสิ่งที่เจอ ไม่ว่าจะมีโรคร้ายหรือสถานการณ์ใดเข้ามา จะทำให้สามารถปรับตัวและอยู่รอดได้

“นุสรา งบพิมาย” อดีตผู้อำนวยการฝ่ายขาย โรงแรมแห่งหนึ่ง ที่ต้องผันตัวมาขายงานศิลป์จากกางเกงยีน กล่าวว่า “ตกงานในสถานการณ์โควิด-19 นั่งร้องไห้เป็นเดือน ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อน แล้วหันมาดูของใช้เสื้อผ้าและกระเป๋า จึงมาเปิดท้ายขายของทุกอย่างหมดเท่าที่จะขายได้ และคิดว่าน่าจะต้องทำอะไรที่ตัวเองชอบ เป็นคนชอบกางเกงยีนส์ ก็เอามาทำกระเป๋าขาย และได้รับการตอบรับจากเพื่อน จากนั้นก็ทำเป็นเซทขาย มีหมวก มีหน้ากาก หมอนอิง พรมเช็ดเท้า ผ้ากันเปื้อน ฯลฯ จนขายดีขึ้น มีจักรอุตสาหกรรม ไปเรียนจักรอุตสาหกรรมจากศูนย์พัฒนาอาชีพ เรียนฟรี แต่เราก็อดทนไปเรื่อยๆ จากพนักงานทำงานในห้องแอร์ต้องไปเข็นรถ บอกเลยว่าวันแรกที่ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ‘อาย’ ระหว่างขายก็มีลูกค้าที่เราเคยติดต่อมาเจอ ลูกค้าก็ช่วยอุดหนุน กำลังใจก็มา ความอายความเขินช่วยทำมาหากินอะไรไม่ได้เลย เราต้องกล้า” อดีต ผอ.ฝ่ายขายในโรงแรมเล่า

นุสรา งบพิมาย

นุสราพัฒนาสินค้า ใช้ชื่อแบรนด์ Simply Buff โดยคำว่าบัฟมาจากคำว่า Buffalo หรือควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่นุสราชื่นชอบเป็นการส่วนตัวเพราะเป็นสัตว์ที่อดทน เลยนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์เพราะแสดงถึงความอดทนของตัวเอง

นุสรามองว่า ตอนนี้ วันนี้เราได้ทำงานที่เราชอบ พอทำอาชีพอิสระถือเป็นเจ้านายตัวเอง ถ้าขยันก็ได้มาก ขี้เกียจก็ได้น้อย สำคัญคือการนำทักษะงานโรงแรมมาประยุกต์ใช้กับแบรนด์ คือทำอย่างไรให้สินค้าออกสู่สาธารณะและทำให้คนกลับมาใช้ซ้ำเหมือนงานโรงแรม ซึ่งวันนี้สามารถอยู่ได้แล้ว

ปรับตัวสู่พ่อค้า-แม่ค้าขายออนไลน์

ขณะที่ “พิทักษ์ เอมวงษ์” อดีตนักดนตรีกลางคืนที่ขาดรายได้จากวิกฤติโควิด-19 เล่าว่าไม่คิดว่าจะประสบวิกฤติ ผับ ร้านอาหารต่างๆปิด ไม่มีงานทำ มีเงินติดกระเป๋า 1,000 บาท กลับบ้านไปปรึกษาแม่ ด้วยที่บ้าน แม่ทำน้ำส้มขายอยู่แล้ว นี่คือจุดเปลี่ยนจากโควิด เปลี่ยนอาชีพผันตัวมาขายน้ำส้ม จากสูตรของคุณแม่ จนกลายเป็นอาชีพหลัก ขายน้ำส้มออนไลน์แทนการเป็นนักดนตรี

“แม่ปลูกฝังมาแต่เด็ก ผมเลยไม่อายที่จะทำมาหากิน เวลาเล่นดนตรีที่ไหนก็เอาลังน้ำส้มใส่ท้ายรถไปขายขวดละ 25 บาท มันเป็นรายได้คู่กัน ตั้งแต่ทำดนตรี แต่ผมไม่เคยคำนึงว่ามันเป็นเงินเหมือนกัน” พิทักษ์กล่าว

พิทักษ์ เอมวงษ์

พร้อมเล่าต่อว่า “ก็ต้องเรียนรู้ใหม่ แม่พาไปเลือกส้มเบอร์นั้น เบอร์นี้ เลือกหลายสายพันธุ์มาผสมกัน การล้างส้ม ทำไมต้องขัดผิวส้ม การคั้น เพื่อให้ได้คุณภาพ ตอนแรกทำแจกตามงานบุญ จนลูกค้าติดใจ พัฒนาจนมาขาย ตอนนี้รายได้ก็กลับมาเป็นปกติ แต่อาชีพดนตรีก็ยังทำอยู่ แต่บางลงไปแล้ว ผมว่าใครที่ทำหลายอาชีพก็จะได้เปรียบมาก จากที่คิดว่ามีหนึ่งอาชีพก็แน่นอนแล้ว แต่วันหนึ่ง ไม่ใช่แล้ว ก็ต้องมีอาชีพเสริม”

พิทักษ์ มองว่าในวิกฤติโควิด-19 ยังมีข้อดีคือได้เริ่มต้นใหม่ และทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ยิ่งเจอเหตุการณ์ไวรัสระบาดยิ่งนึกถึงแนวทางของรัชกาลที่ 9 ว่าต้องอยู่ในรากฐานของความเป็นจริง มีน้อยใช้น้อย มีมากก็ให้กำไรชีวิตตัวเองและพอเพียง

ส่วน “ปาลิตา วัฒกวณิชย์” อาชีพขายอาหารเมนูพื้นบ้านโบราณบอกว่า “วิกฤติโควิด-19 สอนอะไรหลายอย่างในชีวิต เราไม่รู้เรื่อง เรายิ่งต้องพยายามศึกษาที่ไหนมีให้เรียนอะไร เรียนหมด ต้องปรับตัว อาทิ ต้องศึกษาอายุการเก็บรักษาอาหาร(Shelf life) ของเรามีอายุเท่าไหร่ ทำการทดลองทุกขั้นตอน เราต้องศึกษาเพิ่มเรื่อยๆ หรือการใช้เทคโนโลยี่ เราต้องพยายามมากกว่าเด็ก เราอายุมากเราต้องพยามมากขึ้นมากๆ อาหารต้องสะอาด สด เรียนรู้เทรนด์อาหารว่าเมนูโบราณสามารถประยุกต์ให้ร่วมสมัยได้ไหม ให้ลูกค้าไปครีเอทในการทำอาหารได้”

ปาลิตา วัฒกวณิชย์

“วิกฤติโควิด-19 สอนให้มีความพยายามและอดทน…อยู่แบบพอเพียง อะไรสามารถหยิบจับทำได้ก็ทำ ประหยัดอย่างเต็มที่ เพราะรายได้เราไม่คงที่ แต่ค่าใช้จ่ายคงที่ เราก็ซาบซึ้งในพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ในสายอาหารเราอยากเป็นเกษตรอินทรีย์ อย่างน้อยเราปลูกเองกินเองที่เหลือแบ่งปันและทำบุญ เหลือจากนั้นค่อยเอาไปขาย”

ถัดมาเป็นเวทีเสวนาหัวหัวข้อ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” โดยคณะนักวิจัยของโครงการฯ โดยเนื้อหาในเวทีนี้เป็นการกล่าวถึงงานวิจัยจากการลงพื้นที่ทำโฟกัสกรุ๊ปและชี้ให้เห็นถึงเมกะเทรนด์ และ Future of Work

เรียนรู้ ยอมรับ ปรับตัว และยืดหยุ่น

รศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เริ่มจากฉายภาพให้เห็นว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม โดยโลกที่เปลี่ยนแปลงไปแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • ความรู้ที่เปลี่ยนไป
  • ความสามารถที่เปลี่ยนไป
  • เครื่องมือที่เปลี่ยนไป

รศ.ดร.สมประวิณ กล่าวต่อว่า วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวแร่งให้ปัจจัยข้างต้นเกิดความเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ฉะนั้นโลกหลังโควิด-19 อาจจะไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากขึ้น ขณะเดียวกันในงานวิจัยของโครงการฯ ทำให้เห็นว่าโลกจะเปลี่ยนไปหลายประการ แต่ในการทำงานของคนไทยจะต้องปรับตัวเรื่องการทำงานด้วยเทคโนโลยี ยกตัวอย่างการรับข้อมูลข่าวสารจากกระดาษเป็นออนไลน์ ขณะเดียวกันประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตจะมีความหลากหลาย ส่วนใหญ่จะมีกำลังซื้อมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น สินค้าและบริการต้องหลากหลาย ตลอดจนปัจจัยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

“ผมเดินไปที่แผงหนังสือถามว่าขายได้ไหม เขาบอกเศรษฐกิจไม่ดี แต่มันไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว มันเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมระยะยาว ต่อให้เศรษฐกิจกลับมาดี เขาก็ยังขายไม่ได้ ความไม่แน่นอนสูง เราต้องอยู่กับความไม่แน่นอนต่อไป”

“สิ่งที่ต้องทำคือเรียนรู้ ยอมรับ ปรับตัวและต้องยืดหยุ่นให้มาก เพราะความไม่แน่นอนมีมาก เมื่อเรียนรู้ ยอมรับ ปรับตัวแล้ว ทำให้เราสามารถไปได้ ท้ายที่สุดคือจากแนวพระราชดำริหรือแนวทางการทรงงาน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาตนเอง คือการเติบโตและพัฒนาตัวเองจากพื้นฐานที่มั่นคงเป็นที่ตั้ง ถัดมาคือการพัฒนาจากข้างใน 2 หลักนี้สำคัญมาก การมีพื้นฐานที่มั่นคง การมีความรู้ การยกระดับความสามารถของเรา ไม่ใช่ตามกระแส โดยใช้แก่นแท้ของตัวตนของเรา ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือกล่าวง่ายๆว่าการที่เรามีของ ทำให้เราสามารถอยู่รอดต่อไปได้”

รศ. ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

3 ปัญหาเศรษฐกิจไทย

ด้าน ดร.ณชา อนันต์โชติกุล จากธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในทางเดียวกันว่า เมื่อปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยผนวกกับโควิด-19 จึงกลายเป็นพายุสำหรับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ดร.ณชา ขยายความถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย 3 ด้าน คือ หนึ่ง เศรษฐกิจไทยเติบโตไม่สมดุล พึ่งพาปัจจัยภายนอกสูง เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและส่งออก โดยวิกฤติโควิด-19 มาเปิดแผลว่าพอเศรษฐกิจไทยชะงักเมื่อทำไม่ได้เหมือนเดิม สอง ตลาดแรงงานยังกระจุกตัวในโลกเก่า โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ตามโลกใหม่ไม่ทันมากนัก เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันหรือทักษะแรงงานไม่สูง ทำให้แรงงานปรับตัวไม่ทัน สาม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนที่รวยกว่ามีความสามารถในการเข้าถึงก็มีความพร้อมในการปรับตัวมากกว่า คนที่มีโอกาสน้อยกว่าก็ประสบปัญหามากกว่า

พร้อมย้ำว่า “แต่การปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่งั้นก็มีการปรับตัวมานานแล้วโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีหลากหลายด้านมาก ที่ผ่านมา เราเห็นว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มีตัวอย่างหลายประเทศที่ผลักดันจนก้าวพ้นหล่มทางเศรษฐกิจหลายๆด้านไม่ว่าจีน เกาหลี สิงคโปร์”

ดร.ณชากล่าวต่อว่า “จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการตระหนักรู้ ยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริง และการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นจริงๆ จะอยู่อย่างเดิมต่อไปไม่ได้ ต้องทำความเข้าใจว่าสาเหตุ ต้นเหตุคืออะไร ทั้งระดับประเทศคือต้องรู้ให้ลึก ระดับภาค ระดับแรงงานรายอาชีพ ทำอย่างไรให้นโยบายภาครัฐ จะสร้างโครงสร้าง แรงจูงใจให้คนหรือภาคธุรกิจ ปรับตัวไปในทางที่จะเห็นเศรษฐกิจของประเทศเราไปในระยะข้างหน้า รวมถึงทำอย่างไรให้ปลดล็อกศักยภาพของไทยที่มีเต็มเปี่ยม ทำอย่างไรให้เปิดโอกาสทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ให้คนไทยปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้ จากเสื้อที่โครงการทำ “คิดรู้” “เปลี่ยนรู้” “ทำรู้” ย้ำเตือนงานวิจัยที่ทำ “คิดรู้” คือยอมรับกับปัญหาที่เราเผชิญ มองให้เห็นว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไรทั้งในระดับโลก ประเทศ ภูมิภาค บุคคล จุดอ่อนจุดแข็งอยู่ที่ไหนเพื่อเอามาใช้ให้ได้ “เปลี่ยนรู้” ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน กล้าที่จะเปลี่ยน “ทำรู้” ต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง”

ดร.ณชา อนันต์โชติกุล ธนาคารแห่งประเทศไทย

เทคโนโลยีเปลี่ยนงานในอนาคต

ในงานวิจัยฯ เราพบว่า แรงงานในประเทศไทยประมาณ 30 ล้านคน กว่า 1 ใน 3 มีความเสี่ยงทดแทนด้วยเทคโนโลยี ทั้งเครื่องยนต์เครื่องจักร และหุ่นยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มงานบริการ ในการระบาดระลอกที่ 1 พบว่าปัญหาระยะสั้นคือโดนพักงาน และมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น เมื่อคนโดนปลดออกจากแรงงาน ทำให้ขาดระบบประกันสังคมที่เคยได้รับ สิ่งสำคัญคือเราไม่มีระบบที่เอื้ออำนวยเรื่องนี้” รศ. ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์จาก Universidad Carlos III de Madrid กล่าวถึงหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานบางส่วนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

“ทักษะจากมหา’ลัยอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะงานมันเปลี่ยน แล้วนโยบายรัฐจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนงานไม่ใช่สิ่งไม่ดี ทำอย่างไรให้การออมและระบบบำนาญเชื่อมต่อกัน และทำอย่างไรให้การเปลี่ยนง่ายไม่ใช่แค่กลุ่มเด็ก มีนโยบายอะไรที่ทำให้คนทุกกลุ่มกล้าเปลี่ยนงาน และทำให้ต้นทุนในการเปลี่ยนงานไม่เป็นปัญหา นโยบายหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์แรงงานมีปัญหาข้องใจ คือกฎหมายแรงงานในประเทศไทยยังมีการระบุอายุขั้นสูงสุด เราจะเห็นว่าไม่รับคนอายุเกิน 35 ปี หากไทยมีคนสูงอายุมากขึ้น กฎหมายจะเปลี่ยนได้ไหมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนหลายกลุ่ม” รศ. ดร.เนื้อแพรกล่าว

รศ.ดร.เนื้อแพร ยังกล่าวถึง Future of Work ว่า จากคำๆ นี้สามารถแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่ได้ยินและรู้ว่างานในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป และปรับตัวทันกับโลก อีกกลุ่มคือแรงงานที่รับรู้ Future of Work แต่คิดว่ายังไกลตัว และทำให้ปรับตัวไม่ทัน เห็นได้ชัดในเรื่องเทคโนโลยี ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ ขณะเดียวกันถ้าไม่ปรับตัวและยอมรับการมาของเทคโนโลยีจะไม่รับรู้ว่างานบางชนิดจะต้องหายไปในอนาคต

รศ. ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์จาก Universidad Carlos III de Madrid

ความสามารถในการปรับตัวของแรงงานไทย

ส่วน รศ. ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าในชุดโครงการวิจัยฯ ได้มีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ตัวอย่างในช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก เพื่อดูเรื่องความสามารถในการกลับมายืนบนขาของตัวเอง หรือมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวมากน้อยแค่ไหน

จากการเก็บข้อมูลพบว่ากลุ่มคนที่ปรับตัวที่เปลี่ยนอาชีพมี 25% ของกลุ่มตัวอย่าง อีก 75% ต้องการทำอาชีพเดิมทำแบบเดิมเป็นหลัก โดยสัดส่วน 25% มี 18 % ทำอาชีพเดิมแต่เปลี่ยนเป็นอาชีพใหม่ และ 8 % เปลี่ยนอาชีพใหม่เลย นี่คือคนระดับกลาง ล่างที่มีการปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าหากมีการสำรวจใหม่ ข้อมูลนี้อาจจะเปลี่ยนไปน่าจะมีการปรับตัวมากขึ้น

รศ. ดร.ภูเบศร์ กล่าวต่อว่าจากการสำรวจได้ตั้งคำถามจากการเก็บข้อมูลว่าระดับการรับมือต่อสถานการณ์มีมากน้อยแค่ไหน แต่ละระดับจะแตกต่างกัน ดังนั้นในแง่ทางนโยบายต้องลงไปดูว่ากลุ่มที่รับมือไม่ไหว เพราะอะไร เขาต้องการความช่วยเหลืออะไรในการทำ/เปลี่ยนอาชีพใหม่

“ประชาชนคนที่อยู่ในเมืองได้รับผลกระทบมากกว่าคนที่อยู่นอกเมือง เพราะเวลางานหาย มันหายไปที่เมือง นึกอะไรไม่ออกนั่งร้องไห้ก่อน เราเจอเคสจำนวนเยอะมากที่งงเป็นเวลานาน ตอนเราไปคุยอยู่ในช่วงโควิดระลอกแรก เขายังไม่รู้จะทำอย่างไร คนกลุ่มนี้พองานหาย ไม่มีเงินใช้เลย วิธีการปรับตัวเขา เขาเลือกงานน้อยลง ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งนอกและในระบบ หนี้ธนาคารเจรจาได้ แต่หนี้วัตถุดิบสำคัญมาก หากเจรจาไม่ได้ ไม่มีของขาย” รศ.ดร.ภูเบศร์กล่าว

รศ. ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ. ดร.ภูเบศร์ มองว่าในประเด็นของการรีสกิลหรือเพิ่มทักษะให้แรงงาน แต่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในการรีสกิล เพราะการจะกระโดดจากสกิลระดับ 1 ไปถึงระดับ 10 ทันทีถือว่าเป็นไปได้ยาก ตัวอย่างเช่น จู่ๆ ช่างทาสี จะผันตัวเองไปค้าขายออนไลน์หรือสตีมเมอร์เกมก็ทำได้ยากมาก แต่ถ้าค่อยๆ ปรับจากช่างทาสีเป็นช่างแอร์จะมีความเป็นไปได้มากกว่า

“สิ่งเหล่านี้ถูกกำหนดด้วยทุนเดิมคือรายได้และการศึกษา หน่วยงานที่ทำประเด็นเรื่องการ re-skill ต้องพิจารณาถึงความกว้างในการอัพสกิลที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ”

ในด้านครัวเรือน รศ. ดร.ภูเบศร์ กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ค่าใช้จ่ายที่ถูกตัดอันดับแรกคือ ‘ลูก’ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ทำให้พ่อแม่ต้องเปลี่ยนโรงเรียนไปในราคาที่ถูกลง หรือระดับอาชีวะหรือมหาวิทยาลัยต้องบอกให้หยุด ต้องให้คนปี 1 หยุดเรียน เพื่อให้คนปี 4 เรียนให้จบ หรือแม้แต่ขนมจีนน้ำยาที่ราคาแพงขึ้นก็เพราะสมุนไพรอย่างกระชายถูกนำไปใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 ทั้งหมดเป็นหนึ่งในแรงกระเพื่อมที่จะรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นในอนาคต

พร้อมกล่าวต่อว่าข้อมูลอีกชุดจากการทำโฟกัสกรุ๊ปจากผู้ที่ได้รับผลกระทบคือความพอเพียง มีการพูดหลายครั้งว่าเราไม่ควรประมาท เราต้องใช้ชีวิตให้พอเพียง เชื่อมโยงมาถึงประเด็นที่คนหนุ่มสาวเก็บข้าวของกลับบ้าน หนีโรคโควิด เป็นการ Reverse brain drain ที่ได้รับความรู้ เทคโนโลยี่จากในเมือง พอกลับบ้านแล้วเกิดโอกาส หลายคนพูดให้เห็นถึงโอกาสว่าการกลับบ้านเกิด สามารถสร้างธุรกิจได้ จากเครือข่ายของพ่อแม่ที่รู้จักคนในหมู่บ้าน หรือทุนที่เขามีในต่างจังหวัด หากเรื่องนี้จะขยายให้มันใหญ่โต จะต้องทำอย่างไร เขาต้องการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ เป็นโอกาสดีที่น่าจะฉวยและขยายผลให้คนที่เคยทิ้งทุนตัวเองที่มี พอโควิดมา เขากลับไปที่บ้าน สามารถทำทุนเหล่านี้ได้ ไม่ต้องกลับเข้าเมืองอีก ผมคิดว่าไม่ใช่แค่ตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก แต่เป็นการกระจายทำให้เศรษฐกิจกระจายไปและภาครัฐต้องปรับโครงสร้างให้เกิดการกระจายอำนาจในอีกทิศทาง แทนที่จะรอรัฐธรรมนูญ หรือปรับโครงสร้างภาครัฐ หากได้รับการเสริมแรงที่ดี ที่น่าจะฉวยไว้

พึ่งพาตนเองบนเศรษฐกิจฐานราก

รศ. ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร กล่าวถึงการปรับตัวในด้านการท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาคว่า หัวใจสำคัญคือภาคเอกชนพยายามใช้แนวคิดเศรษฐกิจฐานราก และพึ่งพาบริบทการท่องเที่ยวชุมชนและการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก

รศ. ดร.กุลทิพย์ ยกตัวอย่าง ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดทะเลอันดามันว่าชาวประมงได้พยายามนำหัวปลามาทำเป็นอุตสาหกรรมการบดและส่งออก หรือแม้แต่เทรนด์ ‘กัญชง’ ที่กำลังมาแรงก็ทำให้ร้านกาแฟ-ชาปรับตัวโดยเพิ่มชากัญชงเข้ามาเป็นหนึ่งในเมนูสำคัญ หรือภาคอีสานก็พยายามใช้แหล่งน้ำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ใช้ในชุมชน และการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงครอบคลุม 7 จังหวัดในภาคอีสาน ส่วนภาคเหนือก็พึ่งพาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ไข่ไก่ นม และกาแฟ โดยกาแฟที่เห็นได้ชัดคือกาแฟจากน่านที่ต้องจองคิวต่อรอบ สุดท้ายภาคตะวันออก อย่างพัทยา และในพื้นที่อีอีซีที่เป็นเมืองพึ่งพาการท่องเที่ยวโดยสมบูรณ์ก็พยายามพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ผู้ประกอบการขายของออนไลน์ได้

ทั้งหมดนี้คือความพยายามปรับตัวของเอกชน และธุรกิจในพื้นที่เพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างทวีคูณในอนาคต