ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ขบวนการทุจริตซื้อคิวฉีดวัคซีน 7,000 คน จ่าย400-1,200 บาท/คน ใช้ช่องโหว่ ‘จิตอาสา’

ขบวนการทุจริตซื้อคิวฉีดวัคซีน 7,000 คน จ่าย400-1,200 บาท/คน ใช้ช่องโหว่ ‘จิตอาสา’

1 สิงหาคม 2021


พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

1 สิงหาคม 2564 ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อ เปิดโปงขบวนการทุจริตลงทะเบียนฉีดวัคซีน 7,000 ราย ซื้อค่าฉีด 400 – 1,200 บาทต่อราย ตั้งแต่ 18 – 31 ก.ค. พบเป็นจิตอาสารู้ระบบภายใน ใช้ช่องโหว่ลักลอบ ‘ลงทะเบียน’ หลัง 22.00 น. – ยกเลิกนัดผิดปกติถึงวันที่ 8 ส.ค.

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ กล่าวว่า ในสถานการณ์ทั่วไป ศูนย์ฯ มีจำนวนผู้รับบริการ 10,000 – 30,000 คนต่อวัน แบ่งประเภทได้เป็น (1) ผู้มาฉีดประเภทจองคิวล่วงหน้า (Advance Booking) ผ่านการจองคิวของค่ายโทรศัพท์มือถือและการนัดล่วงหน้าขององค์กรขนาดใหญ่ (2) บริการแบบ walk-in สำหรับผู้สูงอายุ 75 ปีขึ้นไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 แต่หลังจากพบการทุจริตภายในสถานี ทำให้มีผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันคนต่อวัน

“เราจับพิรุธได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. แต่ตอนนั้นหลักฐานยังไม่ชัดและมีคนแจ้งมาประปราย เวลาทำงานจะมีการดูข้อมูลย้อนหลัง แล้วเก็บข้อมูลประจำวัน ทำให้เราทราบการนัดล่วงหน้า วันที่ 18 ก.ค.เราสังเกตความผิดปกติ 2 อย่าง หนึ่ง เราพบจำนวนการนัดล่วงหน้านอกเหนือจากที่เจ้าหน้าที่อัพโหลดวันละ 2,000 เคส สอง การอัพโหลดเกิดขึ้นในเวลาที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานแล้ว (หลัง 4-5 โมงเย็น) เพราะเป็นช่วงของการเปิดวอร์คอิน

พญ.มิ่งขวัญ ให้ข้อมูลว่า การทุจริตเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 – 31 ก.ค.64 โดยช่วงวันที่ 18-28 ก.ค.พบว่ามีการนัดผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 10 – 50 ราย แต่วันที่ 28 – 31 ก.ค. มีการนัดเพิ่มขึ้นหลักพัน โดยข้อมูลเหล่านี้ถูกสั่งเข้าระบบเวลา 22.00 น. ขณะที่เวลาที่เจ้าหน้าที่ปกติต้องอัพโหลดข้อมูลก่อนเวลา 18.00 น. ดังนั้นการทุจริตที่เกิดขึ้นไม่ใช่การแฮคเข้าสู่ระบบ

สาเหตุการทุจริตมาจาก เจ้าหน้าที่จุดลงทะเบียน จากปกติมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันโรคผิวหนัง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอทีจากกรมการแพทย์ เพียง 6 จุดเท่านั้นที่สามารถแก้ไขข้อมูลผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ แต่เมื่อจำนวนผู้มาฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในช่วงที่เปิดบริการวอร์คอิน ศูนย์ฯ จึงเปิดให้จิตอาสามากกว่า 200 จุดสามารถเข้าถึงการเพิ่มและแก้ไขข้อมูลของผู้รับบริการทั้งหมด ส่วนเหตุผลที่สามารถลงทะเบียนช่วงเวลาหลัง 22.00 น.ได้ เพราะว่าศูนย์ฯ จะเปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ในโหมด sleep เพื่อให้คอมพิวเตอร์พร้อมใช้งานทันทีในวันรุ่งขึ้น

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวต่อว่า เมื่อตรวจสอบการเพิ่มข้อมูลของจิตอาสาแล้วพบว่ามี 19 ล็อกอินยูสเซอร์ (login user) ที่มีความผิดปกติ ในจำนวนนี้มี 8 ล็อกอินยูสเซอร์ใส่ข้อมูลเพิ่ม 1-2 คน ซึ่งคาดว่าจิตอาสาจะใส่ข้อมูลญาติพี่น้องและคนใกล้ชิด อีก 11 ล็อกอินยูสเซอร์ ใส่ข้อมูลเพิ่มวันละ 400 – 500 คน

ทั้งนี้ พญ.มิ่งขวัญ เสริมว่า จิตอาสาที่เป็นผู้ต้องสงสัยเป็นเอาท์ซอร์ส (Outsource) ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE แต่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำเครือข่ายนั้นๆ

“เราวางแผนว่าวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการนัดล่วงหน้าผิดปกติ 1,000 – 2,000 คน ซึ่งเราทราบชื่อและเลขบัตรประชาชนของทุกคน หลังจากนั้นพอถึงคิวฉีดวัคซีนประมาณ 9 โมง มีคนมาแล้ว 600 คนจาก 2,000 คนที่ได้รับนัด เราก็ให้เขาไปนั่งรอ แล้วยกเลิกนัด เพื่อบีบให้คนเหล่านี้แสดงตัวขอความช่วยเหลือ ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ ทำให้เขาถูกเด้งไปจุดลงทะเบียน เราก็ได้เตรียมเจ้าหน้าที่สอบสวน”

“ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ เราหารือกับตำรวจไว้ แอบหลังเสาเหมือนในหนัง เพราะถ้าเห็นตำรวจก่อนเขาก็จะหนีไป แต่ก็มีหลบหนีไปได้ ส่วนที่เรากันไว้ได้ประมาณ 300 คน ระหว่างนั้นก็มีการส่งซิกกันบ้าง คนที่ยังมาไม่ถึงมีการส่งซิกว่าอย่ามาแล้ว”

จากการสอบสวน พบว่ามีการซื้อคิว ทั้งจ่ายเงินทั้งแบบเงินสดและการโอนเงินในอัตราเฉลี่ย 400-1,200 บาทต่อคิวและมียอดการทุจริตทั้งสิ้นประมาณ 7,000 คน  ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้รับข้อมูลรายชื่อและเลขที่บัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวแล้วจึงได้ให้นิติกรกรมการแพทย์เป็นผู้แทนในการดำเนินการแจ้งความต่อตำรวจ สน.นพวงศ์ ในฐานะผู้เสียหายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอดจนจิตอาสาทั้ง 19 คน และได้ขอความร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อสอบสวนหาหลักฐานเชิงลึกและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

พญ.มิ่งขวัญ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขและป้องกันการทุจริตในอนาคต ดังนี้

  1. ได้ยกเลิกนัดล่วงหน้าที่ผิดปกติซึ่งตรวจพบระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม ทั้งหมด
  2. ยกเลิก login-users เดิมทั้งหมดและให้สิทธิในการเพิ่มเติม/แก้ไขข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ IT ภายในของกรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนังเท่านั้น
  3. ปิดระบบทำการทั้งหมดในช่วงกลางคืนเพื่อป้องกันการ vpn เข้ามาทำการนอกเวลางาน
  4. ตรวจสอบข้อมูลความผิดปกติของการนัดล่วงหน้าและการนำเข้าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยยกเลิกการนัดผิดปกติเพิ่มเติมถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2564

“เรื่องนี้มันกระทบสิทธิพี่น้องประชาชนไทยคนอื่นๆ ที่จองคิวด้วยความยากลำบาก มันกระทบชื่อเสียงคนเกี่ยวข้อง คาดว่าอีกไม่นานถ้าตำรวจมีความคืบหน้าคงได้ชี้แจงอีกรอบ หวังว่าคงจะได้จับตัวใหญ่สักที บางคนถามว่าทำไมไม่จับเลย เราก็กลัวว่าไปชี้โพรงทำให้ไม่สามารถจับตัวใหญ่ได้”พญ.มิ่งขวัญ