ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “นายกฯแถลงไม่ล็อกดาวน์ แต่ปิดแคมป์คนงาน-คุมเคลื่อนย้าย” และ “มูดีส์ ชี้ ไทยคุมระบาดไร้ประสิทธิภาพ”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “นายกฯแถลงไม่ล็อกดาวน์ แต่ปิดแคมป์คนงาน-คุมเคลื่อนย้าย” และ “มูดีส์ ชี้ ไทยคุมระบาดไร้ประสิทธิภาพ”

27 มิถุนายน 2021


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 19-25 มิ.ย. 2564

  • นายกฯ แถลง ไม่ล็อกดาวน์ แต่ปิดแคมป์คนงาน-ควบคุมการเคลื่อนย้าย
  • 2 ไม่พอ-ขอ 3 นพ.ยง ชี้ ซิโนแวค 3 เข็มแกร่ง ‘น้องๆ’ ไฟเซอร์ กันโควิดเดลตา
  • มูดีส์ ชี้ ไทยคุมระบาดไร้ประสิทธิภาพ
  • อนุทิน เผย ไฟเซอร์เลื่อนส่งไตรมาส 4—“เราไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน”
  • องค์การเภสัชฯร่างสัญญาฯ ซื้อโมเดอร์นา ยังไม่เคาะราคา-มาไตรมาส 4

  • นายกฯ แถลง ไม่ล็อกดาวน์ แต่ปิดแคมป์คนงาน-ควบคุมการเคลื่อนย้าย

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    “คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่ เราใช้คำว่าควบคุมกิจการ พื้นที่ คลัสเตอร์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ… เป็นการควบคุมโรคเป็นพื้นที่เป็นกลุ่ม ถ้าพูดว่าล็อกดาวน์มันน่าตกใจไปหมด พูดว่าล็อกดาวน์คือทุกคนอยู่บ้าน มันก็มีปัญหาอีก”

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

    25 มิ.ย. 2564 พล.อ. ประุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวหลังจากที่ตลอดทั้งสัปดาห์นี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าวันละ 3,000 รายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้เสียชีวิตต่อวันทำสถิติสูงสุดที่ 51 รายเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่แพทย์แสดงกังวลถึงการขาดแคลนเตียงรองรับผู้ป่วย จนเริ่มมีการเสนอให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ 7 วัน

    นายกฯ แถลงว่าที่ประชุมเห็นควรให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นแหล่งที่พบการระบาดรุนแรงทุกแห่งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน โดยได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปสำรวจและให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานและการห้ามออกนอกพื้นที่ ทั้งแรงงานคนไทยและแรงงานต่างด้าว

    สำหรับโครงการก่อสร้างของรัฐให้ชะลอไว้ก่อน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายเวลาการก่อสร้างในสัญญากับผู้รับเหมา ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อในกลุ่มคนงานก่อสร้าง

    นอกจากนี้นายกฯ ยังยืนยันว่า มาตรการดังกล่าวนี้ไม่ใช่การล็อกดาวน์

    “คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่ เราใช้คำว่าควบคุมกิจการ พื้นที่ คลัสเตอร์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ…เป็นการควบคุมโรคเป็นพื้นที่เป็นกลุ่ม ถ้าพูดว่าล็อกดาวน์มันน่าตกใจไปหมด พูดว่าล็อกดาวน์คือทุกคนอยู่บ้าน มันก็มีปัญหาอีก” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

    อย่างไรก็ดี นายกฯ ระบุว่าที่ประชุมยังไม่มีการหารือกันเรื่องเตียงรองรับผู้ป่วย

    ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — โควิด-19: นายกฯ เลือกไม่ล็อกดาวน์กทม. แต่สั่งปิดแคมป์คนงาน 1 เดือน จำกัดการเคลื่อนย้าย
    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ — นายกฯ สั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง 1 เดือน
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ WorkpointTODAY — อธิบดีกรมการแพทย์ ยอมรับพื้นที่ กทม.เตียงรองรับผู้ป่วยโควิดเต็มทุกกลุ่มสี ขณะ ศบค.รายงานยอดติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 3,174 ราย มีผู้ป่วยหนักถึง 1,526 ราย

    2 ไม่พอ-ขอ 3 นพ.ยง ชี้ ซิโนแวค 3 เข็มแกร่ง ‘น้องๆ’ ไฟเซอร์ กันโควิดเดลตา

    ศ. นพ.ยง ภู่วรรณ
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

    “ถ้าเราต้องการให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น จะต้องให้แอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งวัคซีนจีน ไม่ว่า ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เมื่อฉีด 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจจะยังต่ำอยู่ แต่ถ้าเรากระตุ้นเข็ม 3 เข้าไป เราเชื่อว่าเข็ม 3 จะทำให้ภูมิต้านทานสูงเป็นน้องๆ ของไฟเซอร์ เพราะหลักการของการให้วัคซีน เมื่อมีเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมภูมิต้านทานจะขึ้นสูง 10 เท่า หรือกว่า 10 เท่า ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา”

    ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ
    หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
    คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    วันที่ 22 มิ.ย. 2564 ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความคืบหน้าการระบาดของสายพันธุ์ เดลตา (อินเดีย) ในประเทศไทย

    นพ.ยง ระบุถึงถึงโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่กำเนิดจากอินเดีย และตอนนี้เริ่มพบในประเทศไทย ว่าจะเริ่มระบาดหนักในไทยในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า จนในที่สุดกลบการระบาดของสายพันธุ์แอลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) และด้วยการแพร่ระบาดที่ง่ายกว่าสายพันธุ์แอลฟา 1.4 เท่า ในที่สุดสายพันธุ์เดลตาจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดไปทั่วโลก แต่แน่นอนว่าจากนั้นจะมีสายพันธุ์อื่นๆ อีก เพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา

    ในด้านของวัคซีนนั้น เมื่อวัคซีนที่ใช้อยู่พัฒนาจากสายพันธุ์อู่ฮั่นซึ่งเป็นสายพันธุ์แรกในโลก ก็เป็นธรรมดาที่เมื่อเจอกับสายพันธุ์อื่นๆ แล้วจะด้อยประสิทธิภาพลง

    “ถ้าเราต้องการให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น จะต้องให้แอสตร้าฯ เข็ม 2 เร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งวัคซีนจีน ไม่ว่า ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม เมื่อฉีด 2 เข็มแล้ว ภูมิต้านทานอาจจะยังต่ำอยู่ แต่ถ้าเรากระตุ้นเข็ม 3 เข้าไป เราเชื่อว่าเข็ม 3 จะทำให้ภูมิต้านทานสูงเป็นน้องๆ ของไฟเซอร์ เพราะหลักการของการให้วัคซีน เมื่อมีเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสมภูมิต้านทานจะขึ้นสูง 10 เท่า หรือกว่า 10 เท่า ซึ่งจะเพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์เดลตา”

    นพ.ยงกล่าวด้วยว่า หลักการของการให้วัคซีน เทียบเคียงกรณีไวรัสตับอักเสบบี คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ต้องให้ 3 เข็ม เพราะเข็มแรกๆ เป็นการให้ครั้งแรกเพื่อป้องกันโรคในระดับแรกก่อน ส่วนเข็ม 3 ต้องทิ้งช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งทั่วไปเข็ม 3 จะกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้มากกว่า 10 เท่า
    .
    ขณะนี้เรากำลังเริ่มศึกษาอยู่ว่า การตัดสินใจให้เข็ม 3 ที่ 3 เดือนหรือ 6 เดือน แต่เราเชื่อว่าภูมิต้านทานจะสูงขึ้นเกิน 10 เท่า แม้จะได้วัคซีนตัวเดิม หรือเปลี่ยนเป็นแอสตร้าเซเนก้าก็ได้ แต่สิ่งสำคัญต้องอยู่ที่ความปลอดภัย จึงต้องศึกษาก่อนว่าการให้ตัวเดิม เปลี่ยนยี่ห้อ หรือข้ามไปวัคซีน mRNA ซึ่งข้อมูลจะออกมาเร็วๆ นี้ ประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งจะทันกรณีไวรัสเดลต้าเพิ่มขึ้น

    อ่านเพิ่มเติม
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ ข่าวเวิร์คพอยท์ 23
    เว็บไซต์ไทยรัฐไลน์ — แค่ 2 เข็มไม่พอ 2 วัคซีนจีน แนะให้ฉีดถึง 3 “หมอยง” ศึกษาเว้น 3 หรือ 6 เดือน
    เว็บไซต์ KAPOOK.COM — หมอยง เผย อาจฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้ระดับน้อง ๆ ไฟเซอร์ คนงง แล้วทำไมไม่สั่งไฟเซอร์ไปเลย

    มูดีส์ ชี้ ไทยคุมระบาดไร้ประสิทธิภาพ

    สตีฟ โคเครน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของบริษัทมูดีส์ แอนาไลติกส์ กล่าวสัมภาษณ์กับรายการ “Squawk Box Asia” ของสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า หลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ต่างก็เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไรก็ดี มีอีกหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีโครงการฉีดวัคซีนที่แข็งแกร่งเพียงพอ

    โคเครนกล่าวเตือนว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชีย จำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ เพื่อเตรียมเศรษฐกิจให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

    “ประเทศต่างๆ ในเอเชียจำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ เพราะเมื่อเฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประเทศเอเชียจะได้อยู่ในสถานะที่มีความพร้อม และสามารถจัดการกับภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้”

    อ่านเพิ่มเติม
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ กรุงเทพธุรกิจ — “มูดี้ส์” มองไทยคุมระบาดไวรัสไร้ประสิทธิภาพ ฉีดวัคซีนล่าช้า และเตือนประเทศเอเชีย เร่งคุมโควิด-19 เตรียมรับมือเฟดขึ้นดอกเบี้ย

    อนุทิน เผย ไฟเซอร์เลื่อนส่งไตรมาส 4 — “เราไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน”

    “ตอนแรกบอกไตรมาส 3 แต่พอตกลงกันไปแล้วบอกว่าไตรมาส 4 วัคซีนเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ถามว่าเราทำอะไรได้ เราไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน

    อนุทิน ชาญวีรกูล
    รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
    อ่านเพิ่มเติม: บันทึก “อนุทิน ชาญวีรกูล” กับวิกฤติโควิด-19

    วันที่ 23 มิ.ย. 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการปรับแผนกลยุทธ์ฉีดวัคซีนโควิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการแพทย์ ต้องให้อาจารย์แพทย์และกรรมการวิชาการด้านวัคซีนพิจารณา ผลออกมาอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม เท่าที่ทราบคือมีการทำการทดลองกันอยู่ ทั้งการฉีด 3 เข็ม การฉีดสลับยี่ห้อ ถ้าผลออกมา คณะวิชาการมีการตัดสินใจอย่างไร เราก็เชื่อเขาอยู่แล้ว

    ส่วนความคืบหน้าในการนำเข้าวัคซีนของไฟเซอร์ อนุทินบอกว่า ตอนแรกบอกไตรมาส 3 แต่พอตกลงกันไปแล้วบอกว่าไตรมาส 4 วัคซีนเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ถามว่าเราทำอะไรได้ เราไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน แต่ละโรงงานก็มีข้อผูกมัดสัญญากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ประเทศไทยก็ไม่ขาดวัคซีน มีวัคซีนส่งทุกสัปดาห์และจัดสรรออกไป ประสิทธิภาพการฉีดสูงมาก บางวันได้ 3-4 แสนเข็ม ยิ่งคนฉีดมากเท่าไร แม้คนไม่ได้ฉีดก็ลดอัตราความเสี่ยงการติดเชื้อมาระดับหนึ่ง เพราะคนรับวัคซีนไปแล้วต่อให้ติดเชื้อแต่อาการไม่หนัก การแพร่เชื้อก็เบาลงไป ต้องพยายามมองในองค์รวมมากขึ้น

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — อนุทิน เผยไฟเซอร์ เลื่อนจัดส่งเป็นไตรมาส 4 ลั่นเราไม่ใช่เจ้าของโรงงาน-ทำอะไรไม่ได้
    เว็บไซต์ไทยพับลิก้า — บันทึก “อนุทิน ชาญวีรกูล” กับวิกฤติโควิด-19

    องค์การเภสัชฯ ร่างสัญญาฯ ซื้อโมเดอร์นา ยังไม่เคาะราคา-มาไตรมาส 4

    วันที่ 23 มิ.ย. 2564 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ชี้แจงถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา โดยระบุว่า ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมอยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญา ระหว่างองค์การฯ กับบริษัทซิลลิกฯ ให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศใกล้เสร็จแล้ว หลังจากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะส่งร่างสัญญาซื้อขายดังกล่าวให้อัยการสูงสุดพิจารณา คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาซื้อขาย (supply agreement) กับบริษัทซิลลิกฯ ได้ในต้นเดือนสิงหาคม 2564

    องค์การฯ ได้มีการชี้แจงแนวทางการดำเนินการดังกล่าวให้กับทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า องค์การจะได้รับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาจากบริษัทซิลลิกฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตทะเบียนวัคซีนในประเทศไทย จำนวน 5 ล้านโดส โดยทางบริษัทซิลลิกฯ จะทยอยจัดส่งให้องค์การฯ ในไตรมาสที่ 4/2564 ถึงเดือนมกราคม 2565

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ข่าวสดไลน์ — องค์การเภสัชกรรม เผยกำลังร่างสัญญาซื้อ “โมเดอร์นา” ทยอยมาไตรมาส 4 ยังไม่เคาะราคา