ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สอท.ชี้ Factory Isolation รัฐต้องจัดงบอุดหนุน ATK “คนละครึ่ง – ค่าใช้จ่ายหักภาษี 2 เท่า”

สอท.ชี้ Factory Isolation รัฐต้องจัดงบอุดหนุน ATK “คนละครึ่ง – ค่าใช้จ่ายหักภาษี 2 เท่า”

23 สิงหาคม 2021


สอท.แนะรัฐบาลจัดงบอุดหนุนชุดตรวจโควิด ฯ “คนละครึ่ง” – ค่าใช้จ่ายในการจัดทำ Factory Isolation ทั้งหมด หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน-นำเสนอรูปแบบการจัดทำ Bubble & Seal แบบประหยัดช่วย SMEs

ตามที่รัฐบาลประกาศโครงการนำร่อง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า “factory sandbox” โดยเฟสแรก ให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกในพื้นที่ 4 จังหวัด อันได้แก่ นนทบุรี , ปทุมธานี , สมุทรสาคร และชลบุรี มีคนงานตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ดำเนินโครงการ Factory Isolation โดยเตรียมพื้นที่ไม่น้อย 5% ทำ Bubble & Seal ทั้งภายในโรงงานและนอกโรงงาน รวมถึงกำหนดให้มีการตรวจคัดกรองโควิดฯ แบบ RT-PCR กับพนักงานทุกคนอย่างน้อย 1 ครั้งและใช้ชุดตรวจ ATK ตรวจหาเชื้อทุกสัปดาห์นั้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบาย Factory Sandbox ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “สอท.” ได้เรียกประชุมประชุมประธานอุตสาหกรรม 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม และประธานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ หารือระดมความคิดเห็นต่อโครงการดังกล่าว เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ พร้อมแนวทางแก้ปัญหาเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้การสนับสนุนผ่านระบบ zoom

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานเล็งเห็นความสำคัญของภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ มีมูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่ากว่า 3 ล้านคน เป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้ทำมาตรการดังกล่าวไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Factory Isolation หรือ Bubble & Seal เพราะทราบดีว่า หากปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงงานจะทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิต ไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด

  • เอกชนหนุน Factoy Sandbox “Bubble & Seal” สู้โควิด แนะรัฐดูแลโรงงานสายป่านสั้นก่อนไม่รอด
  • นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)

    “แต่ละโรงงานมีข้อจำกัด และความพร้อมไม่เท่ากัน ถ้าเป็นโรงงานผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% ของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด กลุ่มนี้เริ่มทำไปบ้างแล้ว แต่ที่น่าห่วงเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 80% มีข้อจำกัด คือ 1.เป็นโรงงานขนาดเล็กมีพื้นที่จำกัด ไม่เคยเตรียมแผนรับมือการแพร่ระบาดของโควิด ฯมาก่อน 2. งบประมาณมีจำกัด หากจะให้ลงทุนทำ Factory Isolation หรือ Bubble & Seal เท่ากับเป็นการไปเพิ่มภาระต้นทุนในกับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ท่ามกลางภาวะกำลังซื้อถดถอย ยอดขายตก ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งตลาดภายในประเทศ”

    ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ทาง สอท.ได้จัดทำข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลดังนี้ คือ

      1. จัดสรรงบประมาณมาอุดหนุนชุดตรวจโควิด ฯ แบบ ATK ให้มีราคาถูกลง คล้ายกับโครงการ “คนละครึ่ง” ยกตัวอย่าง ชุดตรวจโควิดฯ แบบ ATK ราคาชุดละ 120 บาท รัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ 60 บาท โรงงานอุตสาหกรรมจ่าย 60 บาท เป็นต้น หากทำได้จะช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ สามารถตรวจคัดกรองโควิดฯได้บ่อยครั้งขึ้น ซึ่ง ตัว ATK จะเป็นหัวใจสำคัญในการทำ Bubble & Seal คัดแยกผู้ที่ติดเชื้อออกจากคนงานปกติ และนำไปกักตัวไว้ใน Factory Isolation หรือ Home Isolaton ต่อไป

      2.ค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำ Factory Isolation รวมทั้งค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่ายารักษาโรค ค่าอาหาร ค่าจ้างแรงงาน และอื่นๆที่เกี่ยวข้อง หักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าของที่จ่ายไปจริง

    นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ฯ ระลอกที่ 1 และ ระลอกที่ 2 สอท.ได้ประกาศแผนรับมือโควิด ฯ ที่เรียกว่า “Business Continuity Plan” เป็นมาตรการที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติโควิด ฯ โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ หรือ Termo Scan ตรวจคัดกรองคนงานก่อนเข้าโรงงาน หากตรวจพบคนงานมีไข้ขึ้นสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะติดเชื้อโควิด ฯ ไม่ให้เข้าโรงงาน จากนั้นเมื่อผ่านด่านแรกมาแล้ว ก็ต้องล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือ บางโรงงานทำเป็นซุ่มฉีดแอลกอฮอล์ หากสวมรองเท้าบูทก็ต้องเดินผ่านบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อ ทางโรงงานส่วนใหญ่ดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้น ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมผ่านวิกฤตโควิด ฯระลอกที่ 1 และระลอกที่ 2 มาได้

    แต่หลังจากที่เกิดการแพรระบาดในระลอกที่ 3 โรงงานอุตสาหกรรมยังดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม แต่เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ หรือ Termo Scan ใช้ไม่ได้ผล เพราะผู้ติดเชื้อโควิด ฯ กลายพันธุ์ไม่มีอาการไข้ขึ้นสูง เมื่อผ่านการทดสอบตามระบบเดิม หรือ หลุดเข้ามา ก็เกิดการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม

    จากสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่งประกาศช่วงสัปดาห์ที่แล้ว สำรวจคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 28 กรกฎาคม 2564 พบแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมติดเชื้อโควิดฯแล้วประมาณ 42,942 ราย แบ่งเป็นคนงานไทย 23,330 ราย และคนงานต่างชาติ 19,612 ราย โดยพื้นที่ที่มีคนงานติดเชื้อโควิด ฯ มากที่สุดอยู่ในเขตสุขภาพที่ 5 ประกอบด้วย กาญจนบุรี , นครปฐม , ราชบุรี , สุพรรณบุรี , ประจวบคีรีขันธ์ , เพชรบุรี , สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร มีคนงานติดเชื้อรวม 19,122 ราย คิดเป็นสัดส่วน 2.75% จำนวนคนงานทั้งหมดในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นคนงานต่างด้าวมีจำนวน 11,283 ราย คนงานไทย 7,839 ราย อันดับ 2 เป็นเขตสุขภาพที่ 6 ประกอบด้วย สมุทรปราการ , ฉะเชิงเทรา , ปราจีนบุรี , สระแก้ว , ชลบุรี , ระยอง , จันทบุรี , ตราด มีคนงานติดเชื้อโควิด ฯ 8,677 ราย คิดเป็นสัดส่วน 0.72% ของคนงานทั้งหมดในพื้นที่ แบ่งเป็นแรงงานไทย 4,834 ราย แรงงานต่างด้าว 3,843 ราย อันดับที่ 3 เขตสุขภาพที่ 4 ประกอบด้วย นนทบุรี , ปทุมธานี , พระนครศรีอยุธยา , สระบุรี , ลพบุรี , สิงห์บุรี , อ่างทอง และนครนายก มีคนงานติดเชื้อโควิด ฯ 8,171 ราย คิดเป็นสัดส่วน 1.15% ของคนงานทั้งหมดในพื้นที่ แบ่งเป็นแรงงานไทย 5,963 ราย แรงงานต่างด้าว 2,208 ราย และสุดท้ายเป็นเขตสุขภาพที่ 12 ประกอบไปด้วย ตรัง , พัทลุง , สตูล , สงขลา , ปัตตานี , นราธิวาส และยะลา มีคนงานติดเชื้อโควิด ฯ 3,210 ราย คิดเป็นสัดส่วน 2.64% ของคนงานทั้งหมดในพื้นที่ แบ่งเป็นแรงงานไทย 2,478 ราย แรงงานต่างด้าว 732 ราย

    นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น และมีบางส่วนใช้แรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มโรงงานส่งออกอาหาร ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่กว่า 100 แห่ง ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ อย่าง โรงงานไก่มีพนักงาน 5,000 คน ติดเชื้อโควิดฯไป 3,000 คน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของจำนวนคนงานในโรงงาน ในจำนวนคนงานที่ติดเชื้อ 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ทำให้โรงงานต้องหยุดชั่วคราว เพื่อทำการ Cleaning นอกจากภาคการผลิตแล้วยังแพร่ระบาดไปยังกลุ่มขนส่งสินค้า หรือ “Logistics” พนักงานจัดส่งสินค้าติดเชื้อโควิดฯเป็นจำนวนมาก ไม่มาทำงาน ทำให้สินค้าตกค้าง หรือ กองอยู่ที่ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center : DC) หากไม่เร่งแก้ไข เกรงว่าจะกระทบกับ Supply

    “ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรม พยายามช่วยตัวเองมาโดยตลอด การจัดทำมาตรการ Factory Isolation ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกขนาดใหญ่มีสัดส่วน 20% ที่เหลือ 80% เป็น SMEs กลุ่มนี้มีส่งออกไม่มากนัก แต่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ สถานการณ์ตอนนี้ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่าย กำลังซื้อตก โรงงานขนาดกลางและเล็ก บางแห่งก็ใช้วิธีพักงาน สลับเวลากันทำงาน”

    ถามว่าการทำ Factory Isolation เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้โรงงานกลุ่มนี้มากเกินไปหรือไม่ รัฐจะช่วยเหลือ คำถามภาครัฐจะช่วยเหลือ SMEs กลุ่มนี้อย่างไร

    ยกตัวอย่าง ชุดตรวจ ATK เครื่องมือที่จะนำมาใช้ตรวจคัดกรองคนงานที่ติดเชื้อแทน Termo Scan ปัญหาคือ “ราคาแพง” วางขายกันตามร้ายขายยา ชุดละ 350-400 บาท ขณะที่ในยุโรป เช่น เยอรมันวางขายตามท้องตลาด ชุดละ 1 ยูโร ทั้ง ๆที่ค่าครองชีพของประเทศเยอรมันสูงกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว ถามว่ายุโรป หรือ เยอรมันทำได้อย่างไร จากการสอบถามบริษัทผู้นำเข้า ทราบว่ารัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และยุโรปหลายประเทศให้การสนับสนุน เพราะอยากจะให้ประชาชนเข้าถึง ATK ได้ง่าย ทุกคนสามารถหาซื้อ ATK มาทดสอบได้ด้วยตัวเองในราคา 1 ยูโร

    นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ สอท.ได้สำรวจความต้องการของสมาชิกโรงงานอุตสาหกรรม และดำเนินการเจรจาจัดหาชุดตรวจโควิดที่มีคุณภาพดีมาบริการสมาชิก ซึ่งจัดหามาได้ในราคาถูกกว่าท้องตลาดเกือบเท่าตัว ทำให้โรงงานทั้งขนาดเล็ก, กลาง, ใหญ่และประเภทส่งออก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร, ชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์, สิ่งทอ, อุปกรณ์การแพทย์ นำไปใช้ในการตรวจคัดกรองคนงานก่อนเข้าโรงงานแทน Termo Scan โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งกำหนดเป็นตารางตรวจ คือ ทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ วันอาทิตย์หยุด เปิดมาวันจันทร์ก่อนเข้าโรงงาน ก็จะใช้ ATK ตรวจคัดกรองทุกคน โดยเฉพาะพนักงานบางแผนกที่มีความอ่อนไหว เสี่ยงที่จะติดโควิดฯสูง เช่น ต้องออกไปติดต่อพบปะลูกค้า หรือ พนักงานในแผนกที่เป็นหัวใจสำคัญต่อผลิตสินค้า กลุ่มนี้มีประมาณ 10-20% ของพนักงาน ทางโรงงานขอความร่วมมือให้ใช้ ATK ตรวจคัดกรองทุกวันก่อนเข้าโรงงาน

    “แต่อย่างไรก็ตาม แม้ สอท.จะจัดหา ATK มาได้ ชุดละ 180-200 บาท ก็ยังถือว่าแพงอยู่ดี สมมติ โรงงานขนาดใหญ่มีพนักงาน 1,000-2,000 คน การใช้ ATK ตรวจพนักงานทุกคนแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่าย 180,000 – 400,000 บาท หากรัฐบาลช่วยทำให้ราคาชุดตรวจโควิด ฯ ลดลงมาเหลือชุดละไม่เกิน 50 บาท ต้นทุนของผู้ประกอบการในการตรวจคัดกรองแต่ละครั้งจะลดลงมาเหลือ 1 ใน 4 ซึ่งจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเล็ก กลาง และใหญ่ ตรวจได้บ่อยครั้งขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว

    ประเด็นนี้ ขอฝากให้รัฐบาลพิจารณา ทำอย่างไรให้ชุด ATK มีราคาถูกลง ใกล้เคียงกับยุโรป ราคาไม่ควรเกินชุดละ 50 บาท ทั้งนี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงชุดตรวจโควิด ฯและทำการตรวจคัดกรองโควิด ฯ ได้บ่อยครั้งมายิ่งขึ้น

    บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ บริษัทในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป

    นอกจากเรื่องการจัดหาชุด ATK แล้ว นายเกรียงไกร กล่าวว่า การจัดทำ Factory Sandbox ยังมีประเด็นเรื่องการลงทุนทำ Bubble & Seal ในโรงงาน ช่วงที่หารือกับประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ก็มีการนำเสนอการจัดทำ Bubble & Seal ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ บริษัทในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สร้างโรงพยาบาลสนามใช้พื้นที่คลังสินค้าจำนวน 1,300 เตียง ใช้เงินลงทุนกว่า 10 ล้านบาท เฉลี่ยเตียงละเกือบ 10,000 บาท ไม่รวมค่าอาหาร 3 มื้อ ค่ายารักษาโรค อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา บอกว่าทำไม่ไหว แพง ต้นทุนสูง ไม่มีพื้นที่ ขอทำเป็นแบบ Community Isolation กล่าวคือ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็ก รวมตัวกันไปเช่าสถานที่ร่วมกันนอกโรงงาน แชร์ค่าใช้จ่ายกัน มีรถรับ-ส่งคนงานที่ไปยังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ Seal ไม่ให้ออกนอกเส้นทาง ซึ่งในส่วนนี้โรงงานขนาดเล็กอยากจะให้รัฐจัดงบประมาณมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำ Bubble & Seal เช่น ค่าอาหาร 3 มื้อ , ค่ายารักษาโรค , ค่าจ้างแรงงาน และค่ารถรับส่งพนักงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้อยากจะให้นำมาหักลดหย่อยภาษีได้ เป็นต้น

    อีกตัวอย่าง เป็นการทำ Factory Isolation ของบริษัท Eason Urai Paint เป็นบริษัทคนไทยที่ไปลงทุนตั้งโรงงานอยู่ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนามใช้เงินลงทุนในการทำ Bubble & Seal ไม่มาก เหมาะกับโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไทย

  • ครม.ไฟเขียวให้บริษัทซื้อ ATK หักภาษีนิติบุคคล 1.5 เท่า