ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > เอกชนหนุน Factoy Sandbox “Bubble & Seal” สู้โควิด แนะรัฐดูแลโรงงานสายป่านสั้นก่อนไม่รอด

เอกชนหนุน Factoy Sandbox “Bubble & Seal” สู้โควิด แนะรัฐดูแลโรงงานสายป่านสั้นก่อนไม่รอด

19 สิงหาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=ZqsnMc14QzY

เอกชนหนุน Factoy Sandbox “Bubble & Seal” สู้โควิด แนะรัฐดูแลโรงงานสายป่านสั้นก่อนไม่รอด

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้รับทราบข้อเสนอมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (bubble and seal) และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (factory sandbox) ที่เสนอโดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมโรงงานที่มีพนักงานสามารถดำเนินการได้ โดยเฟสแรกจะนำร่องใน 4 จังหวัดก่อน คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นโรงงานผลิตเพื่อการส่งออก มีลูกจ้าง 500 คนขึ้นไป ต้องดำเนินการ FIA (factory accommodation isolation) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และ bubble and seal ที่ให้ลูกจ้างเดินทางกลับที่พักโดยตรงไม่แวะระหว่างทาง และอยู่แต่ในเคหะสถานเท่านั้น

นอกจากนี้ แต่ละโรงงานจะต้องมีการตรวจหาเชื้อ แบบ RT-PCR จำนวน 1 ครั้งให้กับลูกจ้างทั้งหมด และตรวจแบบ self-ATK ทุก 7 วัน มีการฉีดวัคซีนให้ลูกจ้างที่ตรวจ swap test ทุกคน ยกเว้นคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารับการรักษา ส่วนค่าบริการฉีดวัคซีนสถานประกอบการต้องเป็นผู้จ้ายให้แก่สถานพยาบาล

มาตรการดังกล่าว คาดว่าจะรักษาเสถียรภาพภาคการผลิตเพื่อส่งออก ที่มีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนชาวไทยและต่างประเทศ สามารถรักษาการจ้างงานในภาคการส่งออกสำคัญได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง

Factoy Sandbox มาถูกทาง แต่ต้นทุนสูง คาดรง.ทำได้ไม่ถึง 10%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า แนวทางดังกล่าวถือว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว ทั้งนี้โรงงานส่วนหนึ่งได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การตรวจหาเชื้อจะเป็น ATK จำนวน 5-10% ของพนักงานเท่านั้น ขณะที่มาตรการของรัฐที่ให้ตรวจ RT-PCR ให้กับพนักงาน 100% เพื่อแยกคนที่ติดเชื้อโควิดออกไปทันที และจะต้องฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ไม่ติดเชื้อใน 7 กลุ่มเสี่ยง

มาตรการดังกล่าวทำให้เอกชนมีต้นทุนเพิ่มมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ RTPCR ให้พนักงาน 100% หรือการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ในขณะที่ชุดตรวจ ATK ราคาสูงชุดละ 250-350 บาท และการเข้าถึง ATK ยังไม่มีความชัดเจน หาซื้อไม่ง่าย ส่วนการแยกผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้อยู่โรงพยาบาลสนามในแต่ละโรงงาน จากการหารือระหว่างผู้ประกอบการกัน พบว่าการตั้งโรงพยาบาลสนาม ต้นทุนเฉลี่ยเตียงละ 7,000-10,000 บาท หรือหากทำ home isolation ก็มีค่าอาหารวันละ 300 บาทต่อหัว หากใช้ hostel ก็ต้องจ่ายวันละ 1,500 บาทต่อหัว รวมทั้งต้องมีการจัดซื้อวัคซีนฉีดให้กับแรงงานที่ไม่ติดเชื้ออีก

“ต้นทุนขนาดนี้ ถ้าโรงงานไม่ใหญ่จริง สายป่านไม่ยาว โอกาสยากที่จะทำได้ตามข้อกำหนด เพราะขณะนี้โรงงานส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่อง โรงงานในเขต 4 จังหวัดนำร่อง คาดว่าจะมีไม่ถึง 10% ที่มีเงินทุนทำได้ตามข้อกำหนด โรงงานที่เหลือคงทำได้ลำบาก จึงอยากเสนอให้รัฐบาลมีตัวช่วยบ้าง เช่น ให้วัคซีนฟรี หรือจ่ายคนละครึ่ง ส่วน ATK ที่มีข่าวว่ารัฐจะปลดล็อกให้เอกชนหาซื้อได้เองนั้น ควรหาซื้อได้ง่าย มีราคาที่ถูกลง เหมือนในต่างประเทศที่หาซื้อได้ในราคาเพียงเหรียญเดียว เพื่อลดต้นทุนโรงงาน”

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กำหนดว่า หากโรงงานใดสามารถดำเนินการ factory sandbox และ bubble and seal ได้ ออกใบรับรองโรงงานสีฟ้าใหแก่โรงงานดังกล่าว แต่ใบรับรองสีฟ้านั้นจะได้ประโยชน์มาก หากสามารถเชื่อมต่อกับประเทศนำเข้าปลายทางได้ เช่น หากสามารถใช้ใบรับรองสีฟ้านี้เชื่อมให้จีนหรือประเทศปลายทางอื่นๆ อนุญาตให้สินค้าของโรงงานที่ผ่านการรับรองสามารถเข้าประเทศได้ ได้รับการตรวจรับรองที่รวดเร็ว จะทำให้ใบรับรองโรงงานสีฟ้านี้มีประโยชน์อย่างมาก สามารถช่วยการส่งออกได้จริง

ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอาหารนั้น นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ได้มีการหารือและปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้วเพื่อรักษาฐานการผลิต โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก หากโรงงานใดพบพนักงานติดเชื้อ จะแยกพนักงานกลุ่มนี้และกลุ่มเสี่ยงออกมา ส่วนกลุ่มเสี่ยงจะมีการตรวจแบบ ATK ทันที มีการแนะนำให้แต่ละโรงงานให้สำรอง ATK ไว้ 5% ของพนักงาน แต่ปัญหาด้านราคา และการเข้าถึง ATK ที่ต้องให้รัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือ

สำหรับมาตรการเมื่อพบแรงงานาติดเชื่อนั้น โรงงานขนาดใหญ่ จะแยกแรงงานกลุ่มนี้ไปอยู่ในพื้นที่กักตัวหรือโรงพยาบาลสนามที่ตั้งขึ้นในแต่ละโรงงาน โดยการจะทำได้จะต้องได้รับความร่วมมือจากสาธารณสุขจังหวัด (สจ.) ในการประสานกับโรงพยาบาลจัดทีมหมอและพยาบาลมาดูแล ส่วนอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ให้ใช้เป็น community isolation หรือโฮสพิเทลแทน โดยการเชื่อมประสานกับ สจ. ได้เป็นเรื่องสำคัญ

ส่วนการบริหารจัดการภายในโรงงาน ต้องมีการ bubble and seal เพื่อให้ทำงานได้ด้วยความปลอดภัย โดยบางโรงงานแม้จะไม่พบผู้ป่วยเลย แต่ถ้าชุมชนโดยรอบมีผู้ติดเชื้อ ก็ควรเตรียมการ หรือต้องทำ bubble and Seal เพราะมีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจากชุมชนใกล้ๆ จะเข้ามาในโรงงาน ส่วนจังหวัดพื้นที่สีเขียวหรือเหลืองอ่อนๆ จะมีการให้ความรู้ที่เข้มข้นกับโรงงาน ให้พนักงานทุกคนรู้จักการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ไม่ออกไปร่วมสังสรรค์กับคนภายนอก โดยมาตรการจะเข้ม จะมากจะน้อย ขึ้นกับพื้นที่ที่โรงงานตั้งอยู่

“bubble and seal จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ โดย bubble คือ แยกคนที่ติดเชื้อออกไป ส่วนพนักงานที่ไม่ติดเชื้อก็แยกพื้นที่การทำงานออกไปเป็นกลุ่มๆ กลุ่มที่มีคนติดเชื้อขึ้นมา พนักงานที่เหลือต้องกักตัว ก็จะมีพนักงานอีกทีมมาทำงานแทนกันได้ ส่วน seal คือล็อก ไม่ให้พนักงานออกนอกพื้นที่โรงงาน บางโรงงานเช่าตึก หรือโรงแรมให้พนักงานพัก แล้วจัดรถรับส่งโดยไม่แวะที่ไหน เพื่อล็อกไม่ให้พนักงานไปปนกับบุคคลภายนอก seal ไม่ให้ชุมชนมีปัญหาไปด้วย ถ้าทำได้แบบนี้ วงจรผลิตอาหารก็จะไม่ขาดตอน โดยโรงงานในพื้นที่เสี่ยงมีการทำ bubble and seal ไปแล้วประมาณ 80% ที่เหลือมีการเตรียมการกันแล้ว เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดครั้งนี้ทำให้ทุกคนกลัว”

นอกจากนี้ โรงงานที่เป็นห่วงโซ่การผลิต หรือซัพพลายเชน ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ส่วนผสมอาหาร บรรจุภัณฑ์ รวมถึงการซ่อมบำรุง เครื่องมือ และอะไหล่ต่างๆ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความสำคัญ ควรทำ bubble and seal ด้วย ซึ่งได้มีการพูดคุยกันแล้ว

ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=ZqsnMc14QzY

ล็อกดาวน์โรงงานต้องทำครบวงจร

ด้านนายพัฒนศักย์ ฮุ่นตระกูล ประธานบริหาร บริษัท ไท้เฮงการช่างและการหล่อ(1959)จำกัด ผู้ผลิต อุปกรณ์การเกษตรต่างๆ ที่ใช้ในโรงสีข้าว โรงน้ำตาล โรงน้ำแข็ง รถไถนา รถตัดอ้อย เป็นต้น โดยโรงงานตั้งอยู่ในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ให้ความเห็นว่าบริษัท ได้ bubble and seal ที่โรงงานใน อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และสำนักงานขายที่กรุงเทพฯ มาได้ 6 เดือนแล้ว โดยล็อกดาวน์โรงงาน ห้ามพนักงานออกไป ส่วนคนนอกห้ามเข้า ถ้าจะเข้ามาติดต่อ นอกจากต้องใส่หน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิแล้ว ต้องถูกฉีดแอลกอฮอล์โดยผ่านห้องที่จัดไว้ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีการนำเชื้อมาติดให้กับพนักงาน รวมทั้งมีการออกมาตรการอื่นๆ

“เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ยังไม่มีวัคซีนมาฉีดให้พนักงาน ทางบริษัทจึงจำเป็นต้องช่วยตัวเองกันก่อน โดยมาตรการต่างๆ ที่ทำไว้ คือ แต่ละแผนกจะถูกถือว่าเป็นคลัสเตอร์หนึ่ง ที่หัวหน้างานจะต้องมีการอัปเดตสถานการณ์ตลอดเวลา ทั้งสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นภายนอก เช่น มีโรงงานไหนมีผู้การติดเชื้อโควิด ข้อปฏิบัติที่จะต้องทำ กับสถานการณ์ภายในโรงงาน โดยหัวหน้าแต่ละแผนกต้องคอยดูว่า มีพนักงานคนไหนไอบ่อย หรือมีไข้ ต้องให้พักทันที มีการตรวจ rapid test ที่แม้ผลเป็นลบ แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าไม่ติดเชื้อ ต้องมีการสังเกตอาการ 14 วันด้วย เวลาประชุมจะใส่แมสก์ตลอด มีการรักษาระยะห่าง เป็นต้น”

นอกจากนี้ จะมีการแจกฟ้าทะลายโจรให้พนักงานทุกคน เป็นฟ้าทะลายโจรจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการผสมสารเสตียรอยด์ ถ้าพนักงานมีอาการผิดปกติ ก็ให้เริ่มกินเลย ซึ่งแรกๆ พนักงานไม่กล้ากิน แต่พอมีพนักงานบางคนที่เจ็บคอ หรือไอ กินฟ้าทะลายโจรแล้วหายจากหวัด จากอาการไอ เจ็บคอ พนักงานอื่นๆ ก็เริ่มเชื่อและยอมกิน ตอนนี้ได้เพิ่มน้ำกระชายขาวให้ผู้บริหาร ผู้จัดการแผนก ทานวันละครึ่งแก้ว เพราะน้ำกระชายขาวสามารถฆ่าเชื้อโรคในลำคอและลำไส้ ก่อนถูกถ่ายออกมา เป็นการเริ่มทดลองเพื่อดูผลก่อนที่จะให้พนักงานดื่ม

ในส่วนพนักงาน ถ้าเป็นพนักงานคนไทยที่บริษัทจัดหอพักให้อยู่ จะขอให้งดประชุม งดการสังสรรค์ ห้ามญาติพี่น้อง หรือคนภายนอก เข้ามาในโรงงานเด็ดขาด และถ้าเป็นวันหยุดจะห้ามพนักงานออกนอกโรงงาน และให้ทำงานโดยจะให้ค่าแรง 2 แรง

“ถ้าไม่มีคำสั่งนี้ วันหยุดเขาจะออกนอกโรงงาน ไปซื้อของ ไปชอปปิง สังสรรคกับเพื่อน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงอาจติดเชื้อกลับมา และแพร่ในโรงงานได้ ก็บอกกับเขาว่า ไม่ต้องออกไป ให้ทำงานเก็บเงินไว้ เราจะให้ค่าแรง 2 เท่า เพราะปีนี้เราต้องรอดให้ได้เพื่อให้ครอบครัวรอดด้วย อธิบายให้พนักงานรู้ว่าถ้าติดเชื้อขึ้นมา สันนิษฐานเลยว่าต้องมีคนตกงานอย่างน้อย 1-2 คน หรือถ้าทำการค้าก็ต้องปิดร้าน ครอบครัวจะขาดรายได้ เพราะหัวแรงหลักของครอบครัวติดเชื้อ แต่ถ้าทำโอทีในวันหยุด จะจ่ายค่าแรงให้ 2 เท่า เก็บเงินเอาไว้ และหลังจากโควิดแล้ว บริษัทอาจจะหยุดสงกรานต์หรือปีใหม่ให้สัก 1 เดือน ให้เอาเงินไปใช้ให้เต็มที่ แต่ตอนนี้ขอว่าอย่าใช้เงิน ให้ทำงาน เพื่อรักษาตัวเองให้รอดจากโควิด และสะสมเงินให้กับครอบครัว เขาก็เอาไปคิดและเห็นด้วย”

ส่วนแรงงานเมียนมา ที่พักอาศัยนอกโรงงานที่เราจัดพื้นที่ไว้ให้ ก็จะมีการเรียกประชุม และออกประกาศเป็นภาษาเมียนมา ห้ามสังสรรค์ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาโรงงานอื่น มีการแจกหน้ากาก ฟ้าทะลายโจร เหมือนกัน ข้อกำหนดเหล่านี้จะมีหัวหน้างานคอยดูแลให้พนักงานปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตาม จะถูกตักเตือน แต่ถ้าเตือนแล้วยังไม่ทำตามอีก ก็จะให้ออกจากงาน ตกงานไม่มีรายได้

ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีน มีการฉีดให้ผู้บริหารแล้ว 50 โดส และจะทยอยฉีดให้พนักงานตามวัคซีนที่จะทยอยได้มา ซึ่งมีปัญหาบ้าง เพราะพนักงานบางคนไม่อยากฉีด ด้วยหลายสาเหตุ เช่น โรงงานจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มให้ฉีด แต่พนักงานอยากฉีดวัคซีนตัวอื่นมากกว่า ก็ต้องคุยกันว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ไม่มีวัคซีนใดๆ ป้องกันการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้น ยังต้องใส่แมสก์ ล้างมือ

“แต่ถ้าฉีดวัคซีน จะได้ผล 2 ด้าน คือ ถ้าฉีดแล้วติดเชื้อ อาการหนักก็จะกลายเป็นเบา ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ไม่ต้องเข้าไอซียู อีกอย่างคือโอกาสแพร่กระชายเชื้อจะน้อยมาก เท่ากับไม่มีการเอาเชื้อไปติดพ่อ ติดแม่ ติดลูกเมีย หรือคนที่คุณรักได้ ถ้าไม่ฉีด คุณจะเป็นพาหะทันที ก็ให้ข้อคิดกับพนักงานว่า บางครั้งเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อคนที่เรารัก เพื่อให้เขายอมฉีดวัคซีน ตอนนี้มีคนที่ฉีดครบ 2 เข็มประมาณ 50 คน อีกอาทิตย์หนึ่งจะฉีดพนักงานเข็มแรก 50 คน แล้วทยอยฉีดตามวัคซีนที่จะได้มาก”

ล่าสุด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บอนแดง จ.ชลบุรี ได้ขอความร่วมมือให้โรงงานในพื้นที่ทำโรงพยาบาลสนามขึ้นเอง ซี่งเป็นโมเดลของจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อรองรับกรณีที่มีพนักงานติดโควิดขึ้นมา โดยทางบริษัทได้เตรียมพื้นที่ทำโรงพยาบาลสนาม ที่มีเตียงประมาณ 10% ของพนักงานทั้งหมด หรือประมาณ 15 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก แต่ถ้าอาการหนัก ทาง อบต. จะจัดรถมารับเพื่อส่งต่อโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน

“ตั้งแต่ bubble and seal โรงงาน ได้ 6 เดือนจนถึงตอนนี้ ที่โรงงานยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด ส่วนสำนักงานขายที่กรุงเทพฯ พบพนักงานติดเชื้อ 1 ราย เป็นพนักงานขนส่งสินค้าที่ไม่ยอมใส่แมสก์ ตอนนี้เขาไปรักษาตัวที่บ้านจังหวัดบุรีรัมย์ โดยที่ทางบริษัทคอยดูแลอยู่”

ทั้งนี้ จังหวัดชลบุรีเป็น 1 ใน 4 จังหวัดโครงการนำร่องที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอต่อ ศบค. ให้ดำเนินมาตรการ factory sandbox และ bubble and seal เนื่องจากการติดเชื้อโควิดพุ่งสูงขึ้นตลอด โดยเฉพาะการติดเชื้อในโรงงาน

ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=ZqsnMc14QzY

ยกระดับความปลอดภัย สู่มาตรการ “Bubble & Seal” เดินเครื่องธุรกิจไม่ชะงัก

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด เอสซีจีใช้มาตรการ “ไข่ขาว-ไข่แดง” ในโรงงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแยกพนักงานในสายการผลิตไม่ให้สัมผัสกับพนักงานทั่วไป ให้โรงงานสามารถเดินเครื่องผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาดโลกได้ แต่จากการประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เอสซีจีเร่งยกระดับความเข้มข้นจากมาตรการ “ไข่ขาว-ไข่แดง” สู่การทำ “bubble and seal” มีการตรวจเชิงรุกอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดที่พักให้ภายในโรงงาน ควบคู่กับแนะนำให้พนักงานที่มีอาการป่วยสีเหลืองและสีเขียวกักตัวที่บ้าน หรือที่ทำงานตามคำแนะนำของแพทย์ (home / company isolation) โดยมียาและอุปกรณ์การแพทย์ให้ รวมถึงมีการประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อให้คำแนะนำ และตรวจติดตามอาการ อีกทั้งจัดเตรียมหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (hospitel) สำหรับพนักงานที่ป่วย ให้เข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยอย่างรวดเร็วที่สุด

“โควิด-19 รอบใหม่นี้กระทบทั้งอาเซียน แต่ยังมีอีกหลายตลาดในต่างประเทศที่ยังมีความต้องการสินค้าอยู่ อยู่ที่เราจะเดินโรงงานให้ต่อเนื่องได้อย่างไร”

ดูวิดิโอ bubble and seal

ป้ายคำ :