ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์วางโรดแมปยืนหยัดศูนย์กลางธุรกิจ การท่องเที่ยว คนเก่ง ในยุคที่ต้องอยู่กับโควิด-19

ASEAN Roundup สิงคโปร์วางโรดแมปยืนหยัดศูนย์กลางธุรกิจ การท่องเที่ยว คนเก่ง ในยุคที่ต้องอยู่กับโควิด-19

1 สิงหาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25-31 กรกฎาคม 2564

  • สิงคโปร์วางโรดแมปยืนหยัดศูนย์กลางธุรกิจ การท่องเที่ยว คนเก่ง ในยุคที่ต้องอยู่กับโควิด-19
  • เวียดนามบุกลงทุนสหรัฐฯ
  • FDI ในอินโดนีเซียไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 19.6%
  • อียูหนุนอาเซียนใช้ HPC
  • รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนประชุม 18 กรอบหารือ 4 หัวข้อ
  • สิงคโปร์วางโรดแมปยืนหยัดศูนย์กลางธุรกิจ การท่องเที่ยว คนเก่ง ในยุคที่ต้องอยู่กับโควิด-19

    นายกัน กิม หยง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ที่มาภาพ: https://www.pap.org.sg/news/parliament/singapores-strategy-to-fight-covid-19-gan-kim-yong/
    นายกัน กิม หยง รัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฉายภาพโรดแมปสำหรับภาคธุรกิจในสิงคโปร์ในการกลับมาดำเนินการตามปกติ และเตรียมใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ตลอดไป (New Normal) โดยวางแนวทางที่จะมีการยกเลิกการจำกัดทางสังคมและสถานที่ทำงานเกือบทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศ

    “แม้ในขณะที่เราวางแผนไว้ล่วงหน้า เรารู้ว่าธุรกิจต่างกังวลว่า การที่โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นมีผลอย่างไรต่อการดำเนินงานประจำวัน และการปรับเปลี่ยนที่อาจจำเป็นต้องทำ เมื่อโควิดเป็นโรคประจำถิ่นขึ้นมาจริง ผมขอฉายภาพเส้นทางไปข้างหน้าและเพื่อให้ธุรกิจสามารถคาดได้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้พวกเขาวางแผนล่วงหน้า แต่รายละเอียดบางส่วนยังอยู่ระหว่างการสรุปและจะมาเล่าให้ฟังในระยะต่อไป” นายกัน แถลงการณ์ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564

    เมื่อการฉีดวัคซีนของเราครอบคลุมมากขึ้น เราจะอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งขึ้นมากในการผ่อนคลายมาตรการโควิด -19 ของเราอย่างปลอดภัยและมั่นใจ เราจะเริ่มปรับมาตรการการจัดการความปลอดภัยของเราเป็นระยะ โดยติดตามจำนวนการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น ข้อจำกัดในการรวมกลุ่มทางสังคมจะผ่อนคลายลง และเราคาดว่าขนาดกลุ่มที่รับประทานอาหารร่วมกันได้จะขยายได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดลง และการจัดกิจกรรมต่างๆจะรับคนได้มากขึ้น

    เราจะใช้แนวทางที่หลากหลาย ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมที่หลากหลายและเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆต้องมีผลการทดสอบหาเชื้อก่อนเข้าร่วมกิจกรรม (Pre-Event Test PET) ที่เป็นลบเท่านั้น

    ธุรกิจอาหาร ค้าปลีก และธุรกิจอื่นๆ ที่ให้บริการกับบุคคล เช่น ยิมและบริการด้านความงาม จะมีความต้องการมากขึ้น ส่วนภาคอื่น เช่น การท่องเที่ยว การล่องเรือ และการประชุมจะดีขึ้นจากการผ่อนคลายจำนวนคนเข้าร่วมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้ยังต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมา นอกจากนี้จะมีผ่อนคลายข้อจำกัดในสถานที่ทำงาน จำนวนพนักงานที่จะกลับเข้าที่ทำงานมากขึ้น ธุรกิจจะสามารถจัดการประชุมสำคัญแบบเจอหน้ากัน หรือจัดกิจกรรมสำคัญต่อการสร้างเครือข่ายหรือการสร้างความสัมพันธ์แบบทีมในที่ทำงานได้

    สำหรับแนวปฏิบัติของธุรกิจเพื่อเตรียมกลับไปสู่การเปิดเศรษฐกิจได้แก่

      1. ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้พนักงานที่มีสิทธิ์ทางการแพทย์ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมที่มีการสัมผัสสูง ได้รับการฉีดวัคซีน และปรับใช้ผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ

      2.นำการทดสอบหาเชื้อด้วยตัวเอง(Antigen Rapid Test (ART) Self-Test ) ไปใช้ในกระบวนการทำงาน โดยเฉพาะธุรกิจที่ให้บริการที่มีการสัมผัสสูง หรือต้องใช้คนงานจากกลุ่มที่มีการสับเปลี่ยนบ่อย ส่งเสริมให้พนักงานกักตัวเองและทดสอบหาเชื้อหารู้สึกไม่สบาย หรือหากสงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 แนวทางสามารถช่วยตรวจหาผู้ติดเชื้อ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และมีผลให้ธุรกิหยุดชะงักน้อย

      3.ยังต้องมีแนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่นต่อเนื่องและจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน

    “เรากำลังพิจารณาที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดด้านพรมแดนอย่างปลอดภัย ในฐานะเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิดกว้าง เราไม่สามารถปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก หลายพื้นที่ของเศรษฐกิจของเราต้องการการกระแสคนเข้าและออกจากสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคนงานหรือนักท่องเที่ยว ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจ ผู้บริหารของเราหลายคนต้องเดินทางเพื่อจัดการและขยายธุรกิจในภูมิภาค อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการประชุมของเรา รวมทั้งสถานะศูนย์กลางการบินของเรานั้น ยังต้องพึ่งพาการเชื่อมโยงระหว่างประเทศอย่างมากอีกด้วย”

    “เราต้องไม่ลืมว่าที่นี่มีชุมชนนานาชาติ หลายคนไม่สามารถกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัวได้ตั้งแต่เริ่มระบาด เพราะถ้ากลับบ้านไปอาจจะกลับสิงคโปร์ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีชาวสิงคโปร์ที่ยังมีคนที่รักและห่วงใยยังติดอยู่ต่างประเทศ”

    ดังนั้น เมื่อการฉีดวัคซีนของเรามีความครอบคลุมเพิ่มขึ้น และผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันจากโควิด -19 เราจะค่อยๆ อำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศกับประเทศที่มีการจัดการโควิด -19 เป็นอย่างดี และอนุญาตให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนสามารถเดินทางและทำธุรกิจได้มากขึ้น ได้อย่างอิสระ นี่เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้เราตอกย้ำสถานะของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางธุรกิจ การเดินทาง และคนมีความสามารถ เรากำลังดำเนินการอย่างรอบคอบและมีส่วนร่วมกับประเทศคู่ค้าของเรา”

    เราจะยังคงผลักดันให้วัคซีนครอบคลุมมากขึ้น และหากการป่วยที่รุนแรงจากโควิด -19 อยู่ในระดับต่ำ แม้มีการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในที่สุดแล้วโควิดก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นอย่างแท้จริงได้ ในทางปฏิบัติ แทบทุกข้อจำกัดทางสังคมและสถานที่ทำงานสามารถยกเลิกได้ แม้มาตรการที่สำคัญบางอย่าง เช่น การสวมหน้ากากและข้อควรระวังสำหรับงานใหญ่ๆ ยังบังคับใช้อยู่ ซึ่งหมายความว่า การติดเชื้อในประเทศจะมีผลต่อการหยุดชะงักน้อยกว่าปัจจุบัน และธุรกิจก็จะสามารถกลับไปดำเนินการตามปกติได้เป็นส่วนใหญ่

    สำหรับการติดเชื้อส่วนใหญ่ ธุรกิจไม่ต้องปิดสถานที่เพื่อทำความสะอาดอย่างละเอียด และเราไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการสอบสวนโรค ในทางกลับกัน ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยอาจฟื้นตัวจากที่บ้านได้ และผู้สัมผัสใกล้ชิดอาจจำเป็นต้องตรวจสุขภาพของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องกักกันหรือแยกตัวออกจากกัน ซึ่งคล้ายกับการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน

    สิงคโปร์น่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก เราจะสามารถฟื้นการเชื่อมโยงทางอากาศและทางทะเลที่แข็งแกร่งไปยังหลายประเทศ จำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ทำให้มั่นใจว่าระบบการดูแลสุขภาพของเราทำงานได้ดีและยังรับมือการติดเชื้อโควิด -19 ได้ ทั้งหมดจะทำให้เราเป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานและใช้ชีวิตที่ดีที่สุดในภูมิภาคและทั่วโลก

    อันที่จริงแล้ว ธุรกิจ ยังมั่นใจในพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเราในช่วงการระบาดใหญ่ แม้มีสภาพแวดล้อมที่ท้าทายในปี 2020 นักลงทุนได้ลงทุน 17.2 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2020 ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 12 ปี เมื่อเร็วๆนี้ เรายังดึงดูดการลงทุนที่สำคัญจากบริษัทการแพทย์ชีวภาพและอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ เช่น Sanofi ในเดือนเมษายน BioNTech ในเดือนพฤษภาคม และ GlobalFoundries ในเดือนมิถุนายน แต่ไม่ได้หมายความเราไม่ดิ้นรนหรือไม่ต้องทำอะไรเลย เราจะทำงานอย่างหนักต่อไป เพื่อช่วยให้บริษัทเติบโต และสร้างงานที่ดีและอาชีพที่มีความหมายสำหรับชาวสิงคโปร์

    เวียดนามบุกลงทุนสหรัฐฯ

    ที่มาภาพ: https://vsib2021.sciencesconf.org/resource/page/id/8
    การลงทุนในต่างประเทศของเวียดนามมีมูลค่า 570.1 ล้านดอลลาร์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 2.3 เท่า โดยได้ไหลเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯมากที่สุด จากการเปิดเผยของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ

    ในช่วงระยะเวลา 7 เดือน มี 28 โครงการใหม่ที่ได้รับใบอนุญาต โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 145.3 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 70.4% ของช่วงเดียวกันในปีก่อน และ 11 โครงการที่เพิ่มทุนจำนวน 424.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.1 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
    นักลงทุนเวียดนามทุ่มเงินลงทุนใน 12 ด้าน โดยมีการลงทุนสูงที่สุด 270.8 ล้านดอลลาร์ในด้านวิชาชีพกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิดเป็น 47.5% ของการลงทุนทั้งหมด

    การค้าส่งและการค้าปลีกติดอันดับสองด้วยการลงทุนรวม 148.6 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 26.1% ของการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของเวียดนาม รองลงมาคือเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง กิจกรรมการบริหาร และบริการสนับสนุน

    เวียดนามลงทุนใน 18 ประเทศและเขตปกครองในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็น 53.1% ของจำนวนเงินทั้งหมดเข้าสู่สหรัฐฯ โดยโครงการใหม่ได้รับใบอนุญาต 3 โครงการ ขณะที่ 2 โครงการเดิมได้จดทะเบียนเพื่อเพิ่มทุนในตลาดสหรัฐอเมริกา โดยมีทุนจดทะเบียนใหม่ทั้งหมดและการเพิ่มทุนรวม 302.8 ล้านดอลลาร์

    กัมพูชาติดอันดับสองของการลงทุนในต่างประเทศของเวียดนามด้วยเงินลงทุน 89.2 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 15.6% ของเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาคือลาวและแคนาดาด้วยเงินลงทุน 47.8 ล้านดอลลาร์ และ 32.1 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ
    ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เวียดนามมีโครงการที่ดำเนินการในต่างประเทศ 1,423 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 21,800 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการทำเหมือง เกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมง ประเทศที่ได้รับการลงทุนมากที่สุดจากเวียดนาม ได้แก่ ลาว กัมพูชา และรัสเซีย

    FDI ในอินโดนีเซียไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 19.6%

    ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/indonesia-q2-foreign-direct-investment-rise-196-y-o-y

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ในอินโดนีเซียในสกุลเงินรูเปียะห์ในไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้น 19.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเดือนเมษายนถึงมิถุนายนมีจำนวน 116.8 ล้านล้านรู ไม่รวม FDI ในภาคการธนาคารและภาคน้ำมันและก๊าซ

    ข้อมูลของ Refinitiv ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของ FDI ในไตรมาสสองสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2015

    เมื่อรวมการลงทุนในประเทศ การลงทุนโดยตรงทั้งหมดในไตรมาส 2 มีจำนวน 223 ล้านล้านรูเปียะห์ เพิ่มขึ้น 16.2% จากระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

    นายบาห์ลิล ลาฮาดาลีอะ รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนกล่าวว่า ธุรกิจปรับตัวกับการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสได้แล้ว ซึ่งช่วยให้กระแสการลงทุนไหลเข้าสู่ประเทศ

    อย่างไรก็ตาม นายบาห์ลิลยอมรับว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นและการควบคุมการระบาด ที่เข้มงวดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจะส่งผลกระทบต่อตัวเลข FDI ในไตรมาส 3

    “ความท้าทายในไตรมาส 3 จะมีมาก เพราะเรามีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น” พร้อมเสริมว่า กระทรวงกำลังกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้แน่ใจว่าจะบรรลุเป้าหมายการลงทุนในปี 2021

    นายบาห์ลิลกล่าววากระทรวงมีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงรวม 900 ล้านล้านรูเปียะห์ในปีนี้จากแหล่งในประเทศและต่างประเทศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้บรรลุเป้าหมาย 49%

    นายบาห์ลิลกล่าวว่า นักลงทุนได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุนในปลายปีนี้ ซึ่งรวมถึงการลงทุน 5.2 ล้านล้านรูเปียะห์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตรของสหรัฐอย่างคาร์กิลล์ ซึ่งคาดว่าจะมีการดำเนินการในเดือนตุลาคมหรือกันยายน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม คาร์กิลล์ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะลงทุน 200 ล้านดอลลาร์ในโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม

    ในไตรมาส 2 สิงคโปร์ จีน และฮ่องกงยังคงติด 5 อันดับแรกนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด เนเธอร์แลนด์ไต่อันดับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ซึ่งนายบาห์ลิล กล่าวว่าเป็นเพราะอินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางการลงทุนจากสหภาพยุโรปหลัง Brexit

    ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับประโยชน์สุด ได้แก่ ภาคการแปรรูปโลหะและเหมืองแร่ รองลงมาคือภาคการขนส่ง คลังสินค้าและการสื่อสาร และสาธารณูปโภค

    อียูหนุนอาเซียนใช้ HPC

    โลกปัจจุบัน มีการสร้างข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 33 เซตตะไบต์ทั่วโลกในปี 2018 เป็น 175 เซตตะไบต์ในปี 2025 (1 เซตตะไบต์เท่ากับ 1 ล้านล้าน กิกะไบต์) ส่งผลให้รูปแบบการคำนวณเปลี่ยนแปลงไป ด้วยข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นจากการใช้แอปพลิเคชันอย่างมาก HPC ประกอบด้วยตัวประมวลผล(processor)หลายพันตัวทำงานแบบคู่ขนาน และให้พลังประมวลผลมากกว่าแล็ปท็อปทั่วไปถึงหนึ่งล้านเท่า

    เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 Communication and Visibility for EU Cooperation ASEAN ได้จัดให้มีการบรรยายเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง (HPC) ผ่านระบบออนไลน์ ให้กับสื่อในอาเซียน โดยมีดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และประธานร่วมของคณะทำงานเฉพาะกิจ HPC ของอาเซียน ร่วมกับ โปรเฟสเซอร์ ดวิโกริตา การ์นาวตี(Dwikorita Karnawati) Director of the Indonesian Agency for Meteorology, Climatology and Geophysics จากอินโดนีเซีย

    High performance computing (HPC) หมายถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงมาก มีพลังในการการคำนวณที่สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนอย่างมหาศาลซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก ตัวอย่างเช่น การพัฒนาอย่างรวดเร็วของวัคซีนโควิด-19 จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มี HPC

    ดร.ปิยวุฒิ กล่าวว่า HPC มีความสำคัญมากขึ้นในโลกปัจจุบันในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากการใช้ HPC ในกระบวนการ ทั้งในด้านความเร็วและขนาด ทำให้บางคนเรียกว่าว่า Super computer ตัวอย่างของการใช้ HPC ที่เห็นชัดเจน คือ ใช้ในช่วงการระบาดของโควิด

    นักวิทยาศาสตร์เข้าใจและมีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสมากขึ้นเร็วขึ้นจากหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการใช้ HPC ส่งผลสามารถมีแนวทางการควบคุมและตรวจหาเชื้อได้ดีขึ้นเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับการระบาดของโรคอุบัติอื่นๆ รวมไปถึงรู้จักไวรัสกลายพันธ์มากขึ้น เป็นการนำ HPC มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติ

    ในช่วงการระบาดสหภาพยุโรปซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำและเทคโนโลยีระดับสูงได้ใช้ HPC พร้อมกับการสนับสนุนทางการจึงได้นำไปสู่โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง ที่ศูนย์วิจัย ในอิตาลี เยอรมนี สเปน รวมทั้งบริษัทยา เพื่อหาแนวทางในการรักษาโรคโควิดและพัฒนาวัคซีน ซึ่งมี 33 สถาบันและพันธมิตรเข้าร่วม และใช้คอมพิวเตอร์ที่มีสมรรถนะสูงนี้มาสแกนหา 5 แสนล้านโมเลกุลเพื่อต่อสู้กับโควิด หากเทียบกับสิบปีก่อนแล้ว การหาโมเลกุลนี้ต้องใช้เวลานานหลายปี แต่ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ โดยใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงขอยุโปในการสร้างนวัตกรรม

    ความสามารถของ HPC เกี่ยวข้องกับ 3 ปัจจัยคือ 1) โครงสร้างพื้นฐาน คือคอมพิวตอร์ที่มีขนาดใหญ่และประมวลได้เร็ว ที่มีไว้เพื่อบริการ ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นของตนเอง 2) แอปพลิเคชันและ3) คนทั่วไป ที่เป็นผู้ใช้

    ดร.ปิยวุฒิให้ข้อมูลว่า ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มักจะมีศูนย์ HPC ขนาดใหญ่ แต่ในอาเซียนยังไม่ไปถึงจุดนั้น ดังนั้นความร่วมมือระหว่างกันของประเทศอาเซียนจึงมีความสำคัญ และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การร่วมกับประเทศที่มีประสบกาณณ์ด้าน HPC มาแล้วจนมีความสามารถด้าน HPC เพื่อที่จะเรียนรู้ได้เร็ว และก้าวกระโดด

    ในแง่โครงสร้างพื้นฐาน HPC ของยุโรปแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับระดับแรก Tier-0 ศูนย์ HPC ที่สามารถให้บริการได้ทั้งทวีป ระดับที่สอง Tier -1 มีศูนย์ HPC ระดับชาติ และระดับที่สาม Tier-2 ศูนย์ HPC ภูมิภาคหรือมหาวิทยาลัย

    ในอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับ Tier -2 แต่ยังไม่มีศูนย์ HPC ที่จะรองรับได้แบบข้ามประเทศหรือหลายประเทศ

    “ในอนาคตอันใกล้นี้เราจะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อสร้างกลไก สร้างสถาบันเพื่อการเข้าถึง HPC ในลักษณะเดียวกับ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปที่มี เป็นความร่วมือระหว่างยุโรปกับอาเซียน

    ความร่วมมือด้าน HPC ระหว่างยุโรปอาเซียนอีกด้านหนึ่ง คือ ได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ EU ASEAN High-Performance Computing (HPC) Virtual School 2021: System Design and HPC Application ซึ่งจัดโดย ASEAN HPC Task Force ในระหว่างวันที่ 5 – 9 กรกฎาคม 2564

    EU ASEAN High-Performance Computing (HPC) Virtual School 2021 เป็นหลักสูตรเสมือนจริงแบบลงมือปฏิบัติที่สอนโดยผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าระดับนานาชาติในด้านเทคโนโลยี HPC ซึ่งได้รับความร่วมมือจากยุโรปในการจัดหาวิทยากรที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถ และจะดำเนินการโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นโครงการประจำ

    ดร.ปิยวุฒิกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างยุโรปและอาเซียนในเรื่อง HPC ยังมีโอกาสใน 4 กลุ่ม คือ

      1)Climate and Earth Sciences ความร่วมมือด้านนี้มีความสำคัญมากกว่าด้านอื่นๆ เพราะ การเตรียมการระบบเตือนภัยพิบัติ ต้องอาศัยความสามารถของ HPC เพื่อการคำนวณในแบบจำลอง ทั้งการเตือนภัย สึนามิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
      2)Bio-informatics ตัวอย่างที่เห็นมาแล้ว คือ การใช้ HPC ในการแก้ไขและรับมือกับการระบาดของโควิด
      3)Material Science &Computational Chemistry เป็นความร่วมมือใช้ HPC ในด้านพลังงานหมุนเวียน
      4)Energy Building, Traffic and Smart city solution เป็นความร่วมมือใช้ HPC ในด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การจัดการจราจร

    โปรเฟสเซอร์ ดวิโกริตา การ์นาวตี ให้ข้อมูลบทบาทของ HPC ในการป้องกันภัยพิบัติในอินโดนีเซีย โดยระบุว่า “เราสามารถเห็นได้ว่าสภาพเปลือกโลกในอินโดนีเซียถูกควบคุมโดยการเคลื่อนที่ของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังยูเรเซีย เช่นเดียวกับการเคลื่อนที่ของมหาสมุทรอินโด-ออสเตรเลียไปยังยูเรเซีย การเคลื่อนที่ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและการระเบิดของภูเขาไฟ”

    “ดังนั้น HPC จึงมีความสำคัญมากในการปกป้องประเทศและชุมชนของเราจากภัยพิบัติจากเปลือกโลกและภูเขาไฟ”

    โปรเฟสเซอร์ ดวิโกริตา กล่าวถึงความร่วมมือที่เป็นไปได้ 5 ด้านระหว่าง อาเซียน-สหภาพยุโรปในการป้องกันภัยพิบัติ ด้วยการใช้ HPC
    ด้านแรก โปรแกรม Remote Utilities การเข้าถึง HPC รยะทางไกล เพื่อใช้แบบจำลองสึนามิที่คำนวณไว้ล่วงหน้า ด้านที่สอง ได้แก่ การใช้งานแอปพลิเคชันการประมวลผลแผ่นดินไหวและระดับน้ำทะเลแบบเรียลไทม์ ด้านที่สามการใช้แอปพลิเคชันประเมินผลกระทบสึนามิ ด้านที่สี่การใช้แบบจำลองพยากรณ์อากาศแบบเรียลไทม์ และด้านที่ห้า HPC สำหรับการใช้แบบจำลองการทำนายสภาพภูมิอากาศ

    รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนประชุม 18 กรอบหารือ 4 หัวข้อ

    นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ
    วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีการบรรยายสรุป เรื่องการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (AMM/PMC) ระหว่างวันที่ 2- 7 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยนางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน โดยนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการรายการ

    นางสาวอุศณากล่าวว่า การประชุมทั้งหมดจะมีทั้งสิ้น 18 กรอบการประชุม ตั้งแต่การประชุมของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง การประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน โดยรวมเป็นการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 10 ประเทศ รวมทั้งการประชุมร่วมกับกลุ่มอาเซียนบวก 3 และการประชุมอาเซียนกับญี่ปุ่นซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยจะรับหน้าที่ผู้ประสานงานสำคัญร่วมกับญี่ปุ่นต่อจากเวียดนามในช่วง 3 ปีข้างหน้า

    นอกจากนี้ยังมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาซียนกับสหรัฐฯ กับรัสเซีย อาเซียนกับนิวซีแลนด์ อาเซียนกับแคนาดา อาเซียนกับสหภาพยุโรปและปิดท้ายด้วยการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ASEAN Regional Forum ที่มีประเทศเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วม 28 ประเทศ

    สำหรับประเด็นที่จะหารือมี 4 ด้านหลัก ด้านแรก การรับมือกับสถานการณ์การแรพ่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการฟื้นฟูหลังโควิด ซึ่งครอบคลุมสถานการณ์ของแต่ละประเทศ และความช่วยเหลือที่แต่ละประเทศจะให้กับอาเซียน ตลอดจนการฟื้นฟูหลังโควิด ซึ่งอาเซียนได้มีการจัดทำกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework : ACRF)ไว้ เพื่อให้อาเซียนฟื้นตัวโดยเร็ว โดยเฉพาะการมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพในด้านดิจิทัล สำหรับประเทศไทยได้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่ประกอบด้วยศรษฐกิจชีวภาพ(Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการฟื้นตัวของอาเซียน

    ด้านที่สอง เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific:AOIP)ที่ระบุความร่วมมือไว้ 4 สาขา
    คือ ความร่วมมือทางทะเล ความเชื่อมโยง การพัฒนาที่ยั่งยืนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเป็นโอกาสให้อาเซียนหารือแนวทางที่ความร่วมมือเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เนื่องจากแต่ละประเทศก็มียุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิก เป็นของตนเอง

    ด้านที่สาม การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) อาเซียนได้ให้ความสำคัญกับ Climate Change ค่อนข้างมากในช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังจากสหรัฐฯที่ได้มีการเปลี่ยนคณะผู้บริหารใหม่และกลับเข้ามาในข้อตกลงปารีสอีกครั้ง รวมทั้งมีการให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหลังการระบาดของโควิด และมุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    ด้านที่สี่ การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ สถานการณ์ในภูมิภาคที่สำคัญคือ เรื่องทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในเมียนมา และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งละด้านมีพัฒนาการที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

    เอกสารผลลัพธ์การประชุมครั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว 5 ฉบับ ได้แก่
    1. Joint Communique ปฏิญญาการประชมุรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เป็นเอกสารหลักสะท้อนผลลัพธ์การประชุมในทุกกรอบการประชุม ประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อภูมิภาคทั้ง 3 เสา ทั้งการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงความสัมพันธ์ของอาเซียนกับภายนอกภูมิภาค

    2. ASEAN Travel Corridor Arrangement Framework เป็นเอกสารที่มีการเจรจากันมาตั้งแต่ในปีที่แล้ว เป็นกรอบความตกลงที่เกี่ยวกับการเดินทางภายในอาเซียนในช่วงหลังโควิด

    3. Joint Statement on Promoting the Youth, Peace and Security การส่งเสริม วาระเยาวชน สันติภาพและความมั่นคง ในปีที่แล้วอาเซียนรับรองเอกสารที่คล้ายกันในวาระสตรี สันติภาพและความมั่นคง ปีนี้บรูไนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในการเข้ามามีบทบาทในการช่วยส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ด้วยความกังวลว่าเยาวชนถูกล่อลวงในโซเชียลมีเดียเข้าร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรงค่อนข้างมาก หลายประเทศจึงร่วมมือกันเพื่อป้องกันไม่ได้เยาวชนถูกล่อลวงจากโซเชียลมีเดีย

    4. ARF Statement on Preventing and Combating Cybercrime เป็นเรื่องการป้องกันอาชญกรรมทางไซเบอร์ หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะมีการล่อลวงทางไซเบอร์ในช่วงโควิดจากการใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

    5. ARF Work Plan for Disaster Relief (2021-2023)เป็นแผนงานฉบับใหม่ในกรอบ ARF ในการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติครอบคลุมปี 2021-2023