ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ผลสำรวจ DHL เผยเวียดนามเชื่อมโยงกับทั่วโลกมากขึ้น

ASEAN Roundup ผลสำรวจ DHL เผยเวียดนามเชื่อมโยงกับทั่วโลกมากขึ้น

5 ธันวาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม 2564

  • ผลสำรวจ DHL เผยเวียดนามเชื่อมโยงกับทั่วโลกมากขึ้น
  • โฮจิมินห์ซิตี้ติดอันดับ 6 ใน 10 เมืองชั้นนำสำหรับชาวต่างชาติ
  • เวียดนามปรับแก้แผนพลังงานรับ Net Zero ปี 2050
  • มาเลเซียจับมือจีนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน
  • สิงคโปร์กำหนดต่างชาติผ่าน VTL ตรวจ ATK ตั้งแต่ 7 ธ.ค.
  • อินโดนีเซียขยายระยะกักตัวชาวต่างชาติเป็น 10 วัน
  • ผลสำรวจ DHL เผยเวียดนามเชื่อมโยงกับโลกมากขึ้น

    ท่าเรือกั๊กไล ท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ในโฮจิมินห์ ซิตี้ ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/major-hcmc-ports-require-negative-covid-19-tests-on-entry-4346707.html
    ด้วยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ประกอบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและความเป็นมิตรกับการค้าต่างประเทศ เวียดนามได้รับเสียงชื่นชมจากความสามารถในการเชื่อมโยงกับทั่วโลก

    DHL บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโลจิสติกส์ของโลก เปิดเผยรายงานผลการสำรวจดัชนีวัดความเชื่อมโยงข้ามชาติระดับโลกล่าสุด( DHL Global Connectedness Index 2021 Update) ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศยกย่องเวียดนามในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการเมืองที่มั่นคง รวมทั้งการสนับสนุนการค้าและธุรกิจอย่างเต็มที่

    รายงานของ DHL’s ที่จัดทำร่วมกับ NYU Stern School of Business ฉบับปีที่ 10 ให้มุมมองใหม่เกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่มีต่อโลกาภิวัตน์ จากการวิเคราะห์กระแสการค้า เงินทุน ระหว่างประเทศ รวมทั้งข้อมูล และประชาชน

    ในปี 2020 เวียดนามติดอันดับที่ 38 จาก 139 ประเทศในดัชนี DHL Global Connectedness รายงานยังอ้างข้อมูลจากบุคคลที่สาม โดยระบุว่าเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 1 ด้านการสนับสนุนการค้าและธุรกิจจาก 48 ประเทศที่ประเมิน

    ในรายงาน “The 10 Year Lessons of the DHL Global Connectedness Index ” นักวิจัยเลือกเวียดนามร่วมกับเนเธอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เซียร์ราลีโอน และเม็กซิโกเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างสำหรับการดำเนินการที่โดดเด่นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

    ในการจัดอันดับ GCI ปี2020 เนเธอร์แลนด์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการเชื่อมโยงมากที่สุดในโลก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ติดอันดับ 4 ขณะที่เซียร์ราลีโอน มีความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเม็กซิโก ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเชื่อมโยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน

    ด้านเวียดนามและเนเธอร์แลนด์ก็เป็นหนึ่งในประเทศนั้นที่ความเชื่อมโยงกับโลกเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และเกินกว่าที่คาดอย่างมาก

    การวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่ช่วยให้เวียดนามมีอันดับที่ดีมากในดัชนี DHL Global Connectedness เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจและเป็นมิตรกับตลาดต่างประเทศเกินความคาดหมาย

    ในปี 1985 รายได้ประชากรต่อหัว(GDP per capita)ของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ และจัดว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ด้วยนโยบายเปิดกว้าง ทำให้เวียดนามขึ้นมาอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง โดยมี GDP ต่อหัวอยู่ที่ 2,715 ดอลลาร์สหรัฐฯ

    เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 58 ใน Global Peace Index 2019 ซึ่งช่วยให้คะแนนใน CGI ของเวียดนามเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศเวียดนามดีขึ้นอย่างน่าประทับใจ เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 67 จาก 138 ประเทศในรายงาน DHL Global Competitiveness Index และเป็นประเทศที่มีการพัฒนามากที่สุด โดยเฉพาะการปรับปรุง ในด้านไอทีและระบบการเงินเด่นชัดที่สุด

    เวียดนามยังได้มีนโยบายเพื่อส่งเสริมการไหลเวียนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเน้นการค้าสินค้าซึ่งมีส่วนผลักดันให้เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 5 ในด้านการค้า ซึ่งเป็นผลจากการลงนามและการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของเวียดนามในองค์กรการค้าระดับภูมิภาคและระดับโลก

    แม้เวียดนามจะมีคะแนนด้านการค้าสูง แต่ก็มีคะแนนต่ำกว่าในด้านอื่นๆ ตัวอย่างเช่น เวียดนามยกเว้นวีซ๋าให้กับ 24 ประเทศเท่านั้น ส่วนพลเมืองของประเทศอื่น ๆ ที่เหลือต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าเวียดนาม พลเมืองของเวียดนามก็จะต้องมีวีซ่าเพื่อเดินทางไปต่างประเทศส่วนใหญ่ (มีเพียง 54 ประเทศที่ยกเว้นวีซ่าให้กับเวียดนาม)

    นอกจากนี้ เวียดนามเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แต่ทางการค้า ทุน การไหลเวียนของข้อมูลและคน เชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนเพียง 12% ทำให้เป็นประเทศที่มีความเป็นภูมิภาคน้อยที่สุดในกลุ่ม เมื่อเปรียบเทียบกับ ไทยที่เชื่อมโยง 28% กัมพูชา 35% และลาว 61%

    อย่างไรก็ตาม เวียดนามโดดเด่นระดับโลกในแง่ของการสนับสนุนการค้าและความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ในการสำรวจของ สถาบัน Pew พบว่า 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามยกย่องเวียดนามในด้านนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในบรรดาประเทศที่ทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2014

    ขณะเดียวกัน 88% ของผู้ตอบแบบสำรวจของ Pew ที่เป็นชาวเวียดนามกล่าวว่า ชีวิตทุกวันนี้ดีขึ้นกว่า 50 ปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในบรรดา 37 ประเทศที่ทำการสำรวจ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่า

    โฮจิมินห์ซิตี้ติดอันดับ 6 ใน 10 เมืองชั้นนำสำหรับชาวต่างชาติ

    ที่มาภาพ: https://vietnaminsider.vn/expats-believe-hcmc-is-back-to-normal/
    นครโฮจิมินห์ซิตี้ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของเมืองที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ จากการสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นชาวต่างชาติมากกว่า 12,000 คนจากทั่วโลก

    การจัดอันดับ Expat City Ranking ปี 2021 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ(1 ธ.ค.) เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจ Expat Insider 2021 ที่เปิดตัวโดยชุมชนชาวต่างชาติออนไลน์ระดับนานาชาติ หรือ InterNations ในเดือนมกราคม

    จากข้อมูลของ InterNations ผู้ตอบแบบสอบถาม Expat Insider 2021 ได้รับเชิญให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเมืองที่พำนักในปัจจุบันผ่านคำถามเช่น ‘มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกหรือไม่’ ‘ตลาดในย่านที่พักเป็นอย่างไร’ และ ‘พวกเขามองอย่างไร ต่อโอกาสในการทำงานของพวกเขา และพวกเขาจะให้คะแนนชีวิตทางสังคมของพวกเขาอย่างไร’

    จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้ Expat City Ranking 2021 นำเสนอภาพรวมของเมือง 57 เมืองที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดสำหรับชาวต่างชาติทั่วโลก

    การจัดอันดับเมืองโดยรวมแบ่งออกเป็น 5 ดัชนี ได้แก่ คุณภาพชีวิตในเมือง การตั้งรกราก ชีวิตการทำงานในเมือง การเงินและที่อยู่อาศัย และค่าครองชีพในประเทศ โดยแต่ละดัชนีประกอบด้วยหมวดหมู่ย่อยที่แตกต่างกัน

    โฮจิมินห์ซิตี้อยู่ในอันดับที่ 6 จาก 57 เมือง ติดอันดับท็อป 10 ใน 4 ดัชนี และติด 10 อันดับท้ายสุดในดัชนีที่ 5 คือ คุณภาพชีวิตคนเมือง
    ในดัชนีการเงินและที่อยู่อาศัย โฮจิมินห์ ซิตี้ติดอันดับต้น ๆ ในหมวดหมู่ย่อยด้านการเงิน โดย 75% ของชาวต่างชาติบอกว่ารายได้ครัวเรือนที่ใช้ได้จริงมากเกินพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่าย ในขณะที่ 77% พอใจกับสถานการณ์ทางการเงินของพวกเขา

    ในแง่ของชีวิตการทำงานในเมือง โฮจิมินห์ ซิตี้ได้รับการโหวตว่าดีที่สุดในแง่ของความพึงพอใจในงานโดยรวม โดย 88% ของชาวต่างชาติพอใจกับอาชีพของตัวเองโดยทั่วไป

    ในการตั้งรกราก 77%พบว่าการหาเพื่อนใหม่เป็นเรื่องง่าย 74%เปอร์เซ็นต์มีความสุขกับชีวิตทางสังคมในโฮจิมินห์ซิตี้ ในขณะที่ 93% บอกว่าคนในท้องถิ่นโดยทั่วไปเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ

    แม้ 80% พบว่าการเรียนรู้ภาษาท้องถิ่นนั้นยาก แต่ 77% บอกว่าการอยู่โฮจิมินห์ ซิตี้เป็นเรื่องง่ายโดยไม่ต้องพูด โดยทั่วไปแล้ว 89% ของชาวต่างชาติกล่าวว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในนครโฮจิมินห์

    ปีที่แล้ว เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 19 จาก 66 เมืองที่อยู่ในอันดับเมืองต่างชาติในปี 2020

    กัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียอยู่ในอันดับต้น ๆ ในปีนี้ ขณะที่มาลากาของสเปน ติดอันดับ 2 และดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อันดับ 3 ส่วนซิดนีย์ของออสเตรเลียติดอันดับ 4 สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 5 ส่วนอีก 4 ประเทศใน 10 อันดับแรก ได้แก่ ปรากของสาธารณรัฐเช็ก เม็กซิโกซิตี้ของเม็กซิโก บาเซิลของสวิตเซอร์แลนด์ และมาดริดของสเปน ตามลำดับสูงไปต่ำ

    เวียดนามปรับแก้แผนพลังงานรับ Net Zero ปี 2050

    ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/industries/offshore-wind-power-capacity-to-reach-36-gw-by-2045-4391897.html
    เวียดนามจะปรับแก้แผนพัฒนาพลังงานเพื่อให้สอดคล้องกับ ความมุ่งมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

    ร่างแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติปี 2021-2030 (PDP VIII) ที่วางวิสัยทัศน์ไปถึงปี 2045 จะได้รับการปรับแก้เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของเวียดนามในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตามที่ประกาศในการประชุมภาคีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 ( COP26)

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ากำลังประเมินแหล่งผลิตไฟฟ้าของประเทศใหม่ ภายใต้แผนงานที่กระทรวงประกาศในเดือนพฤศจิกายน การผลิตเต็มกำลังผลิตติดตั้งพลังงานไฟฟ้ารวม จะมี155,722 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 ลดลง 24,305 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับฉากทัศน์ที่เผยแพร่ในเดือนมีนาคม

    ภายใต้ฉากทัศน์ที่ประเมินล่าสุด พลังงานถ่านหินและไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG จะลดลง 6,694 เมกะวัตต์ และ 18,550 เมกะวัตต์ตามลำดับ ขณะที่จะส่งเสริมการผลิตจากพลังงานลม โดยเฉพาะการผลิตพลังงานลมบนบกที่คาดว่าจะสูงถึง 17,338 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 เพิ่มขึ้น 1,258 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับที่ประเมินเดือนมีนาคม ด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งจะเพิ่มขึ้น 1,000 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030

    สัดส่วนของพลังงานถ่านหินจะลดลงเล็กน้อย คิดเป็น 25.49% ของแหล่งไฟฟ้าทั้งหมด เทียบกับ 26.7% ในแผนเดือนมีนาคม

    ไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ LNG จะคิดเป็น 9.49% ในขณะที่พลังงานลมบนบก 11.13% และพลังงานลมนอกชายฝั่ง 2.57% เมื่อเทียบกับ 9.9% ,10.7% และ 2% ตามลำดับ ภายใต้แผนงานที่เปิดเผยในเดือนมีนาคม

    มาร์ค ฮัทชิสัน ประธานคณะทำงานเฉพาะกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Global Wind Energy Council กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเวียดนามในการปล่อยมลพิษให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 รวมถึงการพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งในร่าง PDP VIII ว่า เป็นสัญญาณเชิงบวกที่รัฐบาลให้ความสนใจและเชื่อมั่นในการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง

    ฮัทชิสันกล่าวว่า การใช้พลังงานลมนอกชายฝั่งในระยะแรกจะทำให้เกิดแรงผลักดันสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการลงทุนในอนาคต

    ในบริบทที่พลังงานถ่านหินมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก พลังงานลมจะเป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อชดเชยการลดใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ การพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งจะปกป้องอุตสาหกรรมพลังงานของเวียดนามจากความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก

    มาเลเซียจับมือจีนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ที่มาภาพ: https://www.nst.com.my/news/nation/2021/12/751334/malaysia-china-collaborate-vaccine-rd-and-production

    เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่เมืองเจ้อเจียงของจีน ได้มีการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการระดับสูงของมาเลเซีย – จีน (Malaysia-China High-Level Committee:HLC) ว่าด้วยความร่วมมือในยุคหลังโควิด-19 โดยบรรลุข้อตกลงที่จะร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนรวมไปถึงการผลิต

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย และนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ร่วมเป็นประธานการประชุม

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดินกล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเติมเต็มความปรารถนาของมาเลเซียที่จะสามารถผลิตวัคซีนของตนเองได้ตามที่ระบุไว้ในแผนงานการพัฒนาวัคซีนแห่งชาติของมาเลเซียที่นายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อไม่นานนี้

    “มาเลเซียยินดีต้อนรับบริษัทวัคซีนชื่อดังจากประเทศจีนเพื่อตั้งโรงงานผลิตในมาเลเซีย ซึ่งรวมถึงศูนย์วิจัยข้อมูลและศูนย์วิจัยและพัฒนา” ดาโต๊ะ ไซฟุดดินกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับนายหวัง อี้ หลังการประชุม

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดินยังประกาศว่า จีนได้บริจาควัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 2 ล้านโดสให้มาเลเซีย นอกเหนือจาก 1 ล้านโดสที่ประกาศในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

    ด้านความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับจีน ดาโต๊ะ ไซฟุดดินชี้ว่า การหารือในวันนี้ยังเป็นโอกาสให้ได้รับทราบและมีแนวทางใหม่ๆ ในการขยายความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดินกล่าวว่า จีนตอบรับคำขอของมาเลเซียเพื่อให้นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะ สรี อิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ เดินทางเยือนจีนโดยเร็วที่สุดในปีหน้า

    “เราให้ความสำคัญกับจีนเป็นอย่างมาก โดยปกติแล้วเป็นหนึ่งในประเทศแรกสุดที่ผู้นำของเราจะไปเยือนหลังจากเพื่อนบ้านของเราในอาเซียน”

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดินยังชี้ว่า ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในแง่มุมต่างๆ ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวมถึงการค้าและการลงทุน โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ความร่วมมือในนิคมอุตสาหกรรม โครงการขนาดใหญ่ และการค้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดินกล่าวว่า มาเลเซียยินดีที่จีนพร้อมที่จะเจรจาเรื่องการเปิดให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพของมาเลเซียเข้าสู่ตลาดจีน

    นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำในบันทึกความเข้าใจ (MoUs) เรื่อง Digital Telecommunications Cooperation and Film Co-Production Agreement ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการสรุปผล

    “เรารู้สึกตื่นเต้นกับศักยภาพในการเติบโตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างสองประเทศ เมื่อพูดถึงการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล นี่คือสิ่งที่เรากำลังตั้งตารอที่จะได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนหรือบริษัทจากประเทศจีน” ดาโต๊ะ ไซฟุดดินกล่าว

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดินกล่าวว่า มาเลเซียต้องการชักชวนให้มีการลงทุนเพิ่มในด้านดิจิทัล ผ่านสำนักงานการลงทุนดิจิทัล ภายใต้หน่วยวางแผนเศรษฐกิจและยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการต่ออายุความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านอวกาศและการใช้อวกาศอย่างสันติระหว่างสำนักงานอวกาศมาเลเซีย (MYSA) และองค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดินกล่าวว่า การหารือของ MoU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการแพทย์แผนโบราณได้ข้อสรุป ในขณะที่หนังสือแสดงเจตจำนงสำหรับความร่วมมือบาสเกตบอลจีน-มาเลเซียก็พร้อมที่จะลงนาม

    ด้านวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ดาโต๊ะ ไซฟุดดิน ชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองประเทศตกลงที่จะหารือเกี่ยวกับการขยายการสอนภาษามาลายู ในจีน ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่จะเชื่อมโยงความเข้าใจของประชาชนระหว่างมาเลเซียและจีน

    “ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย 15 แห่งที่สอนภาษามาเลย์และมีศูนย์ศึกษามาเลย์ และเราจะพยายามช่วยเหลือในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ด้วยการส่งหนังสือ ผู้สอน และอื่นๆ”

    การประชุม HLC จัดขึ้นในรูปแบบผสมผสาน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมจากปุตราจายาและปักกิ่งผ่านระบบประชุมทางไกล

    ดาโต๊ะ ไซฟุดดินอย่ระหว่างการเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วันตั้งแต่วันศุกร์ตามคำเชิญของ นายหวัง อี้

    สิงคโปร์กำหนดต่างชาติผ่าน VTL ตรวจ ATK ตั้งแต่ 7 ธ.ค.

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/transport/daily-art-tests-for-all-vtl-travellers-seven-more-countries-added-to-high-risk

    สิงคโปร์กำหนดให้ ผู้เดินทางทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศโดยใช้ช่องทาง (vaccinated travel lanes: VTL) ต้องตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดด้วยชุดตรวจแบบเร็ว(Antigen Rapid Tests:ARTs หรือATK) ทุกวันเป็นเวลา 7 วัน โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 23.59 น. ในวันที่ 6 ธันวาคม

    กระทรวงสาธารณสุข ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ (3 ธ.ค.)ว่า ผู้เดินทางต้องตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง

    ผู้เดินทางจะต้องส่งผลตรวจด้วย ART ที่จัดการด้วยตนเองทางออนไลน์โดยใช้ลิงก์ที่จะถูกส่งไปให้ตามรายละเอียดที่อยู่และการติดต่อที่แจ้งไว้เมื่อเดินทางมาถึงสิงคโปร์

    มาตรการที่เข้มงวดขึ้น เป็นผลจากการเกิดขึ้นของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ Omicron ในหลายส่วนของโลก

    กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าในวันที่ 3 และ 7 การตรวจหาเชื้อจะต้องดำเนินการภายใต้การดูแลของศูนย์ทดสอบแบบรวม หรือศูนย์ทดสอบด่วน

    ตลอดระยะเวลา 7 วันนี้ นอกจากวันที่ต้องออกไปทำการตรวจภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ ผู้เดินทางต้องมีผลตรวจ ART ที่จัดการด้วยตนเองเป็นลบก่อนที่จะออกไป

    มาตรการล่าสุด ซึ่งใช้ควบคู่กับการตรวจหาเชื้อก่อนออกเดินทางและเมื่อเดินทางมาถึงที่บังคับใช้อยู่สำหรับ VTL ก็จะนำไปใช้กับผู้เดินทางที่เดินทางมาจากมาเลเซีย โดยใช้ VTL ทางบกตั้งแต่เวลา 23.59 น. ในวันที่ 6 ธันวาคม

    กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ข้อกำหนดให้ตรวจหาเชื้อที่เพิ่มเติมใหม่จะบังคับใช้อย่างน้อย 4 สัปดาห์ จนถึง 23.59 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2022

    นอกจากนี้ ผู้เดินทางจากอีก 7 ประเทศ บัลแกเรีย ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ที่เดินทางมายังสิงคโปร์จะจัดอยู่ในหมวดหมู่ที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับการเดินทางตั้งแต่เวลา 23.59 น. ในวันที่ 6 ธันวาคม

    กระทรวงสาธารณสุขยังกล่าวด้วยว่า ผู้ที่ถือบัตรพำนักระยะยาวและผู้เดินทางบัตรระยะสั้นทั้งหมดที่มีประวัติการเดินทางล่าสุดไปยังกานา มาลาวี และไนจีเรียภายใน 14 วันที่ผ่านมา จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า เปลี่ยนเครื่อง ผ่านสิงคโปร์ตั้งแต่เวลา 23.59 น. ในวันที่ 4 ธันวาคม

    กระทรวงสาธารณสุขกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อจำกัดนี้จะมีผลกับผู้ที่ได้รับอนุมัติล่วงหน้าให้เข้าสู่สิงคโปร์ และจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีการทบทวนและขยายเวลาหากจำเป็น

    ไวรัสสายพันธุ์ Omicron พบครั้งแรกโดยแอฟริกาใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วและมีพบในหลายสิบประเทศในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

    กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงในวันพฤหัสบดีว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ติดเชื้อจากต่างประเทศที่เดินทางเข้า 2 รายมีผลตรวจเป็นบวกของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ และทั้งสองรายถูกแยกออกจากกันเมื่อมาถึงสิงคโปร์ในวันพุธ และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครในชุมชน

    เมื่อวันศุกร์ กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า มาตรการที่เข้มงวดชายแดนจะช่วยจำกัดผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศและการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์ Omicron ในขณะที่ยังคงศึกษาไวรัสสายพันธุ์นี้ แต่สายพันธุ์นี้สามารถแพร่เชื้อได้สูงและแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของโลก และคาดว่าสิงคโปร์น่าจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มที่พรมแดน และในชุมชนในเร็วๆ นี้

    อินโดนีเซียขยายระยะกักตัวชาวต่างชาติ

    ที่มาภาพ:https://jakartaglobe.id/news/indonesia-requires-negative-covid-test-and-fiveday-quarantine-for-foreign-visitors/
    รัฐบาลอินโดนีเซียได้ขยายระยะเวลากักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวอินโดนีเซียที่เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นเวลา 10 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายใหม่ Omicron

    นอกจากนี้ยังกำหนดขั้นตอนและแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพิ่มเติม จากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิดโดยมีผลตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม และใช้บังคับจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม

    สำหรับแนวปฏิบัติใหม่ที่กำหนดให้ ผู้เดินทางระหว่างประเทศทุกคน ทั้งชาวอินโดนีเซีย และชาวต่างชาติพลเมืองต่างประเทศ (WNA) ต้องปฏิบัติ คือ เมื่อเดินทางมาถึง ผู้เดินทางระหว่างประเทศจะต้องตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR อีกครั้ง และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 10 วันตลอด 24 ชั่วโมง

    สำหรับหัวหน้าตัวแทนชาวต่างชาติและครอบครัวที่ปฏิบัติหน้าที่ในอินโดนีเซียสามารถกักตัวใน ที่พักของตนได้เป็นเวลา 10 วันตลอด 24 ชั่วโมง

    ส่วนชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติ การตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ครั้งที่ 2 จะดำเนินการโดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ ในวันที่ 9 ของการกักตัวสำหรับผู้เดินทางต่างชาติที่กักกันเป็นเวลา 10 วันตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ในวันที่ 13 ของการกักกันสำหรับผู้เดินทางต่างชาติที่กักกันในเวลา 14 วันตลอด 24 ชั่วโมง