ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 6

ASEAN Roundup มาเลเซียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 6

21 มีนาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 14-21 มีนาคม 2564

  • มาเลเซียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 6
  • อินโดนีเซียคาดเมืองหลวงใหม่สร้างเสร็จภายในปี 2024
  • อินโดนีเซียเปิดบริการเฮลิคอปเตอร์แท็กซี่
  • เวียดนามเปิดใช้รถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางปี 2030
  • วัคซีนโควิดที่ผลิตในเวียดนามจะวางจำหน่ายภายในสิ้นปี 2021
  • มาเลเซียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดที่ 6

    ที่มาภาพ: https://www.imf.org/en/News/Articles/2018/03/07/NA030718-Malaysias-Economy-Getting-Closer-to-High-Income-Status

    นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มุห์ยิดดิน ฮัสซิน แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่วงเงิน 20 พันล้านริงกิต หรือ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2021 หนึ่งปีหลังจากมาเลเซียประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19

    มาตรการนี้เป็นมาตรการชุดที่ 6 นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด -19

    “เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผมยินดีที่จะประกาศว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชนและเศรษฐกิจหรือ Pemerkasa มูลค่า 20,000 ล้านริงกิต ด้วยการอัดฉีดงบประมาณใหม่จากรัฐบาล 11 พันล้านริงกิตมาเลเซีย” นายมูห์ยิดดินแถลง

    โครงการนี้ประกอบด้วยการริเริ่มเชิงกลยุทธ์ 20 ข้อ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนธุรกิจและขยายความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งประชาชนและภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ

    “ขณะนี้ประเทศอยู่ในระยะที่ 5 ของแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ซึ่งก็คือ “ฟื้นฟู” เพื่อเริ่มต้นเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด”

    วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม 2021 เป็นวันครบรอบหนึ่งปีเต็มนับตั้งแต่มาเลเซียออกมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกที่มีชื่อว่า คำสั่งควบคุมการสัญจร (Movement Control Order: MCO) เพื่อสกัดการวงจรการติดเชื้อ

    มาเลเซียได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนเมื่อเดือนที่แล้วและนายมูห์ยิดดินซึ่งได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สองในปุตราจายาในวันพุธกล่าวว่า ชาวมาเลเซียมากกว่า 300,000 คนได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว

    รัฐบาลอาจจะอนุญาตให้เดินทางได้หลังจากที่มีผู้รับวัคซีนมากขึ้น

    ในการแถลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายมูห์ยิดดินได้ประกาศว่า การจัดสรรเงินสำหรับโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านริงกิตเป็น 5 พันล้านริงกิต เพื่อสร้างการมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วขึ้นภายในเดือนธันวาคมแทนที่จะเป็นไตรมาสแรกของปี 2022 และการที่มีแผนการฉีดวัคซีน ก็อาจไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ทั่วประเทศหรือ MCO อีกต่อไป

    รัฐบาลอาจไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการ MCO ที่ครอบคลุมทั้งประเทศหรือแต่ละรัฐอีกต่อไป แต่การควบคุมการสัญจรจะดำเนินการตามพื้นที่และเน้นเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องเท่านั้น”

    นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อมีคนที่มีภูมิคุ้มกันจำนวนมากขึ้น รัฐบาลก็พร้อมที่จะอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างรัฐเป็นระยะๆ และเปิดช่องทาง green lane สำหรับการเดินทางข้ามพรมแดนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศ

    “ให้เวลารัฐบาลในการตรวจสอบความเสี่ยงทั้งหมดก่อนที่จะมีการตัดสินใจ” เขากล่าว

    ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ 5 ชุด ได้แก่ Prihatin มูลค่า 250 พันล้านริงกิต, Prihatin SMEs 10,000 ล้านริงกิต, Penjana 35 พันล้านริงกิต, Kita Prihatin วงเงิน 10,000 ล้านริงกิต และ Permai วงเงิน 15 พันล้านริงกิต

    การประกาศมาตรการ Pemerkasa ล่าสุดส่งผลให้มูลค่ารวมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเป็น 340 พันล้านริงกิต

    สำหรับประเด็นสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต ได้แก่

    – การจัดสรรงบประมาณเพื่อโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กสำหรับผู้รับเหมา G1 ถึง G4 เพิ่มจาก 2.5 พันล้านริงกิต เป็น 5 พันล้านริงกิต
    – รัฐบาลให้ความช่วยเหลือรายเดือน 200 ริงกิตแก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 แห่งชาติ
    – รัฐบาลจะเพิ่มการจัดสรรให้กับโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 แห่งชาติเป็น 5 พันล้านริงกิตจาก 3 พันล้านริงกิตก่อนหน้านี้
    – รัฐบาลจะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้กับผู้ที่ขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, ตลาด ACE และตลาด LEAP เป็นเวลา 12 เดือน
    – รัฐบาลจัดสรรเงิน 700 ล้านริงกิตสำหรับการขยายการอุดหนุนค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือนให้กับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจาก MCO รวมถึงการท่องเที่ยว
    – รัฐบาลให้การลดหย่อนภาษีพิเศษสำหรับสถานที่ทำงานและที่พักของคนงานให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิต โดยจำกัดการลดหย่อนไว้ที่ 50,000 ริงกิตต่อบริษัท แต่บริษัทต้องจดทะเบียนกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MITI) และผ่านการตรวจสอบการปฏิบัติตามภายใต้มาตรการ Safe @ Work โดยจะให้ยื่นได้ในวันที่ 1 เมษายน
    – รัฐบาลเพิ่มเงินอุดหนุนอุปกรณ์อัจฉริยะให้กับครัวเรือนกลุ่ม B40 หรือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ (3,885 ริงกิตหรือต่ำกว่า) ที่มีเด็กอย่างน้อย 1 คนในโรงเรียนเป็น 300 ริงกิต เพื่อสำหรับการซื้อสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆ
    – จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนภายใต้ Companies Commission of Malaysia สำหรับกลุ่ม B40 และนักศึกษาเต็มเวลาในสถาบันการศึกษาระดับสูง
    – ขยายเวลาลดค่าไฟฟ้า 10% เป็นเวลา 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการโรงแรม สวนสนุก ศูนย์การประชุม ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน สายการบินในประเทศและ บริษัททัวร์และการท่องเที่ยวจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะรับภาระค่าใช้จ่าย 135 ล้านริงกิต
    – จัดสรรเงิน 300 ล้านริงกิตผ่าน BSN เพื่อปล่อยเงินกู้เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ริงกิต โดยลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3% จาก 3.5% และให้กู้เป็นเวลา 5 ปี โดยจะเริ่มชำระเงินในเดือนที่ 6
    – รัฐบาลมอบเงินช่วยเหลือพิเศษเพียงครั้งเดียวจำนวน 3,000 ริงกิตสำหรับตัวแทนท่องเที่ยวกว่า 5,000 แห่งที่ลงทะเบียนกับกระทรวงท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม (MOTAC)
    – นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความช่วยเหลือเงินสดเพียงครั้งเดียวจำนวน 600 ริงกิตสำหรับเจ้าของโฮมสเตย์ที่ลงทะเบียนกับ MOTAC
    – รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้คำสั่ง MCO เต็มรูปแบบอีกต่อไป และจะเน้นไปที่ MCO ในพื้นที่แทนและพื้นที่มีการติดเชื้อแบบกลุ่ม
    – จะมีการลดภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองโควิด-19 ของพนักงาน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
    – รัฐบาลจัดสรร 1.2 พันล้านริงกิตเพื่อช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียรายได้ ซึ่งประกอบด้วยการจ่ายเงินครั้งเดียว 500 ริงกิต ให้แก่กลุ่ม B40 และสำหรับผู้เข้าโครงการช่วยเหลือดูแลประชาชน (Bantuan Prihatin Rakyat) ที่มีรายได้ 1,000 ริงกิต หรือต่ำกว่า
    – โครงการ TEKUN MobilePreneur จะขยายไปถึงการซื้อหรือซ่อมรถจักรยานยนต์ ในวงเงินไม่เกิน 10,000 ริงกิต การซื้อรถจักรยานยนต์นำเข้า ขนาด 150 ซีซี และต่ำกว่า จะได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนถึง 31 ธันวาคม 2021
    – รัฐบาลจัดสรรเงิน 30 ล้านริงกิตมาเลเซียเพื่อช่วยผู้ประกอบการสตรียกระดับธุรกิจมาสู่ออนไลน์
    – โครงการ TEKUN Pos-Preneur จะนำไปให้กับกลุ่มคนขับรถส่งของ โดยมีเงินทุนสูงถึง 20,000 ริงกิตสำหรับการซ่อมแซมยานพาหนะ และ 50,000 ริงกิตสำหรับการซื้อรถตู้หรือรถบรรทุก
    – เพิ่มวงเงินโครงการ eBelia จาก 100 ล้านริงกิต เป็น 150 ล้านริงกิต เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมแบบไม่ใช้เงินสดในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18-20 ปีและนักศึกษาระดับอุดมศึกษา
    – กำหนดเพดานราคา เบนซิน RON95 และดีเซลแบบคงที่ที่ 2.05 ริงกิต และ 2.15 ริงกิตต่อลิตรตามลำดับ

    อินโดนีเซียคาดเมืองหลวงใหม่สร้างเสร็จภายในปี 2024

    ที่มาภาพ: https://www.forbes.com/sites/jimdobson/2020/01/20/as-jakarta-sinks-a-new-futuristic-capital-city-will-be-built-on-borneo/?sh=3c8a9b30527b

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนของอินโดนีเซียเปิดเผยว่า อินโดนีเซียมั่นใจว่าโครงการเมืองหลวงใหม่จะดำเนินต่อไปในปีนี้และการก่อสร้างในส่วนของทำเนียบรัฐบาลจะเริ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2024

    ซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา รัฐมนตรีกระทรวงวางแผน ให้สัมภาษณ์กับ Anadolu Agency ว่า ประมาณการงบประมาณเบื้องต้นสำหรับการก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่อยู่ที่ 466 ล้านล้านรูเปียะห์ หรือราว 32.3 พันล้านดอลลาร์

    “ตัวเลขนี้ยังคงมีการปรับให้เข้ากับกลยุทธ์และขั้นตอนของการพัฒนา ตามการวิเคราะห์ในแผนแม่บทสำหรับเงินทุนของรัฐ”

    โมโนอาร์ฟากล่าวว่า การวิเคราะห์รวมถึงการศึกษาเกี่ยวกับสัดส่วนที่เหมาะสมที่สุดของงบประมาณรายรับและรายจ่ายของรัฐ (State Revenue and Expenditure Budget: APBN) กับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) และภาคเอกชนเพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนาเมืองหลวงใหม่จะสอดประสานกับโครงการสำคัญระดับชาติอื่นๆ

    นอกจากนี้ยังระบุว่า แหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่งบประมาณถูกออกแบบมาเพื่อดึงดูดโอกาสในการลงทุนและสร้างงานใหม่ ที่สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนยังให้ความมั่นใจว่า การสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่จะยังคงปกป้องชุมชนในท้องถิ่นต่อไป โดยการสร้างความมั่นใจว่าการโยกย้ายไปที่ใหม่มีการจัดการ มีการวางแผนและสอดคล้องกับกับการพัฒนาเป็นอย่างดี

    โมโนอาร์ฟาระบุว่า หลักการพัฒนาและตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลัก (KPI) ได้จัดทำขึ้นเป็นแนวทาง เพื่อให้แน่ใจว่างานพัฒนาจะดำเนินไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

    “เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม เมืองหลวงแห่งใหม่สร้างขึ้นตามหลักการของการออกแบบที่สอดคล้องกับสภาพทางธรรมชาติ’ ด้วยการจัดสรรพื้นที่สีเขียวไว้ 75%”

    โมโนอาร์ฟากล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมีแผนที่จะกำหนดเกณฑ์การทดแทนพื้นที่สีเขียว 100% สำหรับการก่อสร้างอาคารสถาบัน อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย

    ก่อนหน้าองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่งรวมถึง Mining Advocacy Network (JATAM) และ Indonesia Forum for Environment (WALHI) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองหลวงแห่งใหม่ โดยระบุว่า มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความเสียหายต่อระบบนิเวศ และไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถปกป้องชุมชนในท้องถิ่นได้

    อินโดนีเซียเปิดบริการเฮลิคอปเตอร์แท็กซี่

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/new-jakarta-airport-taxi-helicopter-service-beats-traffic-14420280

    กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ที่ขึ้นชื่อเรื่องปัญหารถติด จราจรติดขัด มากที่สุดในโลก ได้เปิดให้บริการเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปสนามบินเป็นแห่งแรก โดยมีเป้าหมายตลาดเฉพาะกลุ่ม

    โดยปกติแล้วการเดินทางด้วยรถในจาการ์ตาเพื่อไปสนามบินซูการ์โน-ฮัตตาที่อยู่ชานเมืองจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือบางครั้งก็มากกว่านั้น

    ปัญหานี้เป็นสิ่งที่เดนอน ปราวิราตมาดจา ซีอีโอของบริษัทการบิน Whitesky Aviation พยายามแก้ไข โดยการเปิดตัวบริการเดินทางไปหรือออกจากสนามบินด้วยเฮลิคอปเตอร์

    “ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการเข้าถึง ซึ่งเป็นประเด็นหลัก การใช้บริการแท้กซี่เฮลิคอปเตอร์คือการเข้าไปในสนามบินได้”

    ด้วยบริการแท็กซี่เฮลิปคอปเตอร์ ลูกค้าสามารถบินจากสนามบินไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ทั่วกรุงจาการ์ตา หรือเดินจากตัวเมืองจาการ์ตามายังสนามบิน โดยใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้นตั้งแต่เวลา 6.00-18.00 น. ทุกวัน

    นอกจากนี้ยังให้บริการแก่ผู้ที่อาศัยในชวาตะวันตก เช่น บันดุงและซิเรบอน

    ผู้ที่ต้องการใช้บริการต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วันผ่านแอปพลิเคชัน และต้องชำระค่าบริการในอัตรา 8-20 ล้านรูเปียะห์ หรือ 555-1,387 ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับระยะทาง ราคานี้ไม่รวมค่าธรรมเนียมการนำเครื่องขึ้นหรือลงจอดอีกประมาณ 5 ล้านรูเปียะห์ ดังนั้นการใช้บริการจากสนามบินซูการ์โน-ฮัตตาไปยังชานเมืองทางใต้ของกรุงจาการ์ต้าจะมีค่าใช้จ่ายราว 30 ล้านรูเปียะห์สำหรับการบินด้วยเฮลิคอปเตอร์ Bell 505 และจำนวนผู้โดยสาร 3 คน

    ส่วนเฮลิคอปเตอร์รุ่น Bell 429 สามารถรองรับบริการได้มากถึง 6 คนต่อเที่ยว มีค่าใช้จ่ายราว 80 ล้านรูเปียะห์

    บริการนี้ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกในอินโดนีเซีย และนับตั้งแต่เปิดตัวในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มีลูกค้าใช้บริการราว 2-10 คนต่อเดือน แม้การจราจรในจาร์การ์ตา ดีขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19

    ปราวิราตมาดจา เปิดเผยว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือคนที่ต้องการความยืดหยุ่นและความเร็ว และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ การเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไม่ถือว่าเป็นการเดินทางแบบหรูหรา แต่สำหรับอินโดนีเซียราคาสูงเพราะนอกจากอะไหล่ต้องนำเข้าแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

    นอกจากนี้ กลุ่มมหาเศรษฐีของอินโดนีเซียกำลังเพิ่มขึ้นและจะเติบโตแซงหน้าจีน จากการคาดการณ์ของบริษัทที่ปรึกษาไนท์แฟรงก์ ในรายงาน Wealth Report ซึ่งคาดว่า คนรวยของอินโดนีเซียที่วัดจากรายได้ 30 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นปีละ 67% ไปจนถึงปี 2025

    ปราวิราตมาดจาเปิดเผยว่า ลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และต้องการบริการแบบส่วนตัวมากกว่าบริการสาธารณะเพื่อเลี่ยงโอกาสการติดเชื้อโควิด-19

    เวียดนามเปิดใช้รถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางปี 2030

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/news/high-speed-trains-proposed-to-link-hanoi-hcmc-with-central-region-4251118.html
    เวียดนามคาดว่าจะเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ ระหว่างฮานอยกับวินห์ และโฮจิมินห์และญาจางภายในปี 2030 โดยเป็นรถไฟที่จะเดินทางด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามร่างแผนปี 2021-2030 ของกระทรวงคมนาคม

    วินห์เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเหงะอานทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือ และญาจางเป็นเมืองชายหาดในจังหวัดทางตอนใต้ของ คั้ญฮหว่า หากความต้องการยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งสองเส้นทางอาจเริ่มต้นในปี 2032 ตามแผนเดิม

    ทั้งสองเส้นทางมีความยาวรวมกัน 651 กิโลเมตร (404 ไมล์) จะต้องใช้เงินในการก่อสร้างและดำเนินการทั้งหมด 5,61.6 ล้านล้านด่อง (24.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

    เมื่อเปิดใช้งานแล้ว จะเริ่มดำเนินการในเส้นทางอื่นๆ เพื่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้หรือทรานส์เวียดนาม

    โครงการรถไฟคาดว่าจะต้องใช้เงินทุนมากกว่า 665 ล้านล้านด่อง (28.82 พันล้านดอลลาร์) ภายในปี 2030 รวมถึงการปรับปรุงเส้นทางที่มีอยู่

    ในปี 2018 กระทรวงฯได้รื้อฟื้นเส้นทางความเร็วสูงเหนือ-ใต้ หลังจากที่ถูกตีกลับในที่ประชุมแห่งชาติในปี 2010 เนื่องจากมีมูลค่าถึง 56 พันล้านดอลลาร์ หรือราวครึ่งหนึ่งของ GDP ของเวียดนามในขณะนั้น

    ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลอีกครั้งเกี่ยวกับการเพิ่มเงินจำนวนมหาศาล ทั้งนี้กระทรวงเสนอก่อสร้างในเส้นทาง 1,600 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในมูลค่า 58,700 ล้านดอลลาร์

    ลา ง็อค เคว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่เห็นด้วยกับแผนพัฒนารถไฟด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะมีค่าใช้จ่ายมหาศาลเนื่องจากเวียดนามจะต้องนำเข้าอุปกรณ์และวิศวกร และแนะนำให้พัฒนาที่ความเร็วสูงสุด 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแทนเพื่อให้มั่นใจว่ามีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค

    ดัง ฮุย ดอง ผู้บริหารสถาบันการวางแผนและพัฒนากล่าวว่า ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงควรต่ำกว่าตั๋วเครื่องบินเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะมีประสิทธิภาพมากกว่า และหลีกเลี่ยงการที่จะต้องรับประกันการขาดทุนของนักลงทุนของรัฐบาล

    เวียดนามมีเส้นทางรถไฟในระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร แต่ไม่ใช้รถไฟความเร็วสูง

    ปีที่แล้วรถไฟขนส่งผู้โดยสาร 8 ล้านคนลดลง 6.9% เปอร์เซ็นต์จากปี 2019 เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และน้ำท่วมในภาคกลางส่งผลกระทบต่อการเดินทาง

    วัคซีนโควิดที่ผลิตในเวียดนามจะวางจำหน่ายภายในสิ้นปี 2021

    กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามประกาศว่า วัคซีนป้องกันโควิดที่ผลิตในประเทศ ที่ชื่อ Nanocovax จะวางจำหน่ายภายในสิ้นปี 2021 โดยรัฐบาลมีแผนที่จะเริ่มแจกจ่ายในปีหน้า

    บริษัทเวียดนาม 4 แห่งกำลังดำเนินการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด โดยที่ 2 รายคือ Nanocovax และ Covivac อยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์

    ในแถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า “การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีนเป็นหลัก”

    ในขณะที่เวียดนามกำลังวางแผนที่จะใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศเพื่อช่วยเร่งการฉีดวัคซีน แต่รัฐบาลก็ประกาศชัดเจนว่าจะยังคงใช้วัคซีนอื่นๆ ต่อไป โดยได้รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งมอบวัคซีนรายหลักของประเทศ

    ประชาชนเวียดนามกว่า 20,000 คนในเวียดนามได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว และกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อไป แม้หลายประเทศอื่นๆ จะกังวลเกี่ยวกับการเกิดอาการเลือดอุดตัน

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังเปิดเผยว่า เวียดนามกำลังเจรจากับหลายบริษัทในต่างประเทศ เพื่อที่จะจัดหาวัคซีนได้ครบ 150 ล้านโดสตามเป้าหมาย และกำลังจะซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุตนิก วี

    เวียดนามเป็นสมาชิกโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนระหว่างประเทศที่ดำเนินการโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อให้แน่ใจว่าทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ในเดือนที่แล้วคาดว่าเวียดนามจะได้รับวัคซีน 30 ล้านโดสจากโครงการนี้

    นับตั้งแต่เริ่มระบาดเวียดนามได้รายงานผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้ว 2,559 รายและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 35 รายและมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีนี้