ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งทุกหน่วยเยียวยา ปชช.จากเหตุไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ฯ-มติ ครม.กู้ 6,111 ล้าน ซื้อซิโนแวค 10.9 ล้านโดส

นายกฯ สั่งทุกหน่วยเยียวยา ปชช.จากเหตุไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ฯ-มติ ครม.กู้ 6,111 ล้าน ซื้อซิโนแวค 10.9 ล้านโดส

6 กรกฎาคม 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกฯ สั่งทุกหน่วยเร่งเยียวยา ปชช.จากเหตุไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ฯ-แจงรื้อผังเมือง-แก้ กม.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ-มติ ครม.กู้ 6,111 ล้าน ซื้อซิโนแวคเพิ่ม 10.9 ล้านโดส-มอบกรมควบคุมโรคสั่งซื้อ “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดส

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธาน แม้จะยังคงกักตัวอยู่ ณ บ้านพัก ซึ่งวันนี้นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบคำถามแทนเช่นเดิม

สั่งทุกหน่วยเร่งเยียวยาปชช.จากเหตุไฟไหม้โรงงานหมิงตี้

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณี มาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบต่อเหตุโรงงานหมิงตี้เคมีคอล ที่ซอยกิ่งแก้ว 21 อย่างไร ว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเร่งพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมายทั้งหมดในการที่จะเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบ โดยให้พิจารณาด้วยความเร่งด่วนเนื่องจากท่านทราบดีถึงสิ่งที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนั้น ให้ไปดูเพิ่มเติมทางด้านวงเงินประกันที่บริษัทมีอยู่ว่ามีการดำเนินการและจะพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนนั้นอย่างไรด้วยทั้งนี้ทั้งนั้นทางรัฐบาลเองก็จะเข้าไปดำเนินการด้วยเช่นกัน

แจงรื้อผังเมือง-แก้ กม.ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

เมื่อถามถึงการรื้อระบบการวางผังเมืองใหม่ นายอนุชา กล่าวว่า ในส่วนของการจัดทำผังเมืองจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบกฎหมาย และการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งหากในอนาคตถ้าทางประชาชนไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้ เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“ในเรื่องของการที่จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้มีการเปิดกิจการกันมาก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลายาวนานแล้ว ต่อมาจึงมีที่พักอาศัยเข้ามาอยู่รายล้อม ตรงนี้ต้องให้ช่วยกันเพื่อรับฟังทั้งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็ดี หรือ ในส่วนของกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพี่ประชาชนที่ต้องเข้ามาร่วมกันพิจารณาแล้ว รัฐบาลจึงออกเป็นกฎหมายต่อเนื่องต่อไป โดยให้ทุกส่วนมีการที่จะพิจารณากันอย่างรอบคอบต่อไป”

ต่อคำถามถึงกรณีกระแสข่าวการเลือกปฏิบัติต่อแคมป์คนงานต่างชาติที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุไม่ได้รับการอพยพ นายอนุชา ระบุว่า เชื่อว่าในการปฏิบัติงานในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการรวมถึงคณะทำงานได้มีการพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วว่าควรที่จะดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรของอุบัติเหตุอย่างไร

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทงที่สามารถเข้าไปดูแลได้ในทุกๆภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นขอให้เร่งเข้าไปดูและหากมีความจำเป็นที่จะต้องยาวๆก็ขอให้เร่งดูในเรื่องของกฎหมายต่างๆที่จะเข้าไปดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

“เข้าใจว่าในการดำเนินงานได้เป็นไปอย่างเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และคิดว่าคงไม่เป็นประเด็นอะไรเพราะตอนนี้ทุกอย่างเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วและการเยียวยาการดูแลผู้อพยพต่างๆ คงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยมีทุกๆกระทรวงที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการซึ่งไม่ใช่เพราะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้นที่ต้องเข้าไปดูแลความเรียบร้อย”

เร่งจัดหาวัคซีนครบทั้ง 3 ประเภท วอน ปชช.มั่นใจ

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีที่มีกลุ่มคณะแพทย์ต้องการให้ไทยใช้วัคซีนหลักเป็นวัคซีน mRNA ว่า รัฐบาลได้มีการพูดคุยกันในวันนี้เช่นเดียวกัน โดยมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะจัดหาวัคซีนเข้ามาให้กับประชาชนคนไทย ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนอยู่หลายแพลตฟอร์ม ทั้งวัคซีนเชื้อตายที่มาจากประเทศจีน เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนที่เป็นไวรัลเวกเตอร์ อย่าง แอสตร้าเซเนกา และวันนี้ ครม.ได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงนามสัญญาจัดหาวัคซีน ไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส ซี่งมีบางส่วนจะมีการได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกาด้วย

“ตอนนี้มีถึง 3 แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนส่วนที่ทั้งเชื้อตาย ไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA หวังว่าจะช่วยให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้นในเรื่องของวัคซีนชนิดต่างๆที่มีอยู่”

ชี้ยกระดับมาตรการสกัดโควิดฯ ต้องคำนึงถึงผลกระทบเศรษฐกิจ

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นรายวันจากมาตรการตรวจเชิงรุกของภาครัฐ ณ วันนี้รัฐบาลจะยกระดับมาตรการอย่างไร เพื่อหยุดเชื้อให้ได้ภายใน 1 เดือนนับจากนี้ว่า ต้องมีการพิจารณาทั้งในส่วนของด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งในวันนี้ก็มีการพิจารณาในกรอบวงเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบล่าสุด การอนุมัติให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม เข้าถึงสินเชื่อ soft loan ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของ ศบค.ใน 6 จังหวัดแล้ว ซึ่งเพื่อความรวดเร็วรัฐบาลก็พร้อมที่จะดำเนินการไปพร้อมกันทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็จะพิจารณาในเรื่องของการเยียวยาให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน

ย้ำ รบ.ยังทำงานเต็มที่ เพื่อ ปชช.

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึงการทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคภูมิใจไทย เพื่อไม่ให้มีร้อยร้าวและกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล ว่า ในส่วนของนายกรัฐมนตรีไม่มีปัญหาใดๆ ในการทำงานที่จะพูดคุยกันด้วยความด้วยความเรียบร้อย ด้วยความเข้าใจ

ส่วนปัญหาต่างๆ ที่อาจมีการกระทบกันบ้างสุดท้ายแล้วก็สามารถที่จะสร้างความเข้าใจกันได้ด้วยดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ขอให้นึกถึงพี่น้องประชาชนเป็นหลัก เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลมีหน้าที่หลักที่จะดูแลเรื่องของสุขภาพอนามัยหยุดการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 รวมถึงในเรื่องของการที่จะต้องดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจดังนั้นแต่ละพรรคการเมืองก็สามารถดำเนินการได้ตามมาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้ผ่านกระทรวงของแต่ละพรรคการเมืองอยู่ ดังนั้นในการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกครั้งบรรยากาศของการประชุมก็ยังเป็นบรรยากาศที่ดีไม่มีการถกเถียงที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

“วันนี้มีเพิ่มเติมก็คือพูดคุยเรื่องการจัดหาวัคซีนให้ครบตามจำนวนที่จะต้องเข้ามาในปีนี้รวมถึงจำนวนที่จะต้องเข้ามาตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีให้ครบ 150 ล้านโดสด้วย นอกเหนือจากนั้นยังมีการพูดคุยถึงเรื่องที่จะต้องจัดหาเตียงเสริมให้กับประชาชนที่ตอนนี้ยังคงเดือดร้อนจากที่มีผู้ติดเชื้อรายวัน โดยได้มอบหมายให้ทุกส่วนแก้ปัญหาผู้ป่วยรอเตียงโดยเตรียมโรงพยายาลสนามให้ดี เพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยสีต่างๆ โดยเฉพาะสีเหลือง สีแดง ยืนยันว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยให้น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง”

ยัน นายก ฯกักตัวตามมาตรการ สธ. 14 วัน

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีการกักตัวของนายกรัฐมนตรีนั้นต้องกักตัวทั้งหมดกี่วัน ว่า ตอนนี้ในเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีได้มีการตรวจเชื้อแล้วซึ่งผลออกมาเป็นลบ เบื้องต้นคาดว่านายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติไปตามกฎระเบียบคือการกักตัว 14 วัน และจะมีการตรวจอย่างต่อเนื่องต่อไปภายใต้มาตรการของสาธารณสุขที่มีอยู่

ส่วนการกักตัวของคณะรัฐมนตรีท่านอื่นๆ นั้น ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตามแต่ละท่านทราบดีกันอยู่ว่าตนเองมีความเสี่ยงมากน้อยกันอย่างไรซึ่งนายกรัฐมนตรีเมื่อทราบประเด็นนี้ท่านก็ได้ดำเนินการทันที

“อย่างที่พี่น้องประชาชนได้เห็นตอนนี้นายกรัฐมนตรีก็อยู่ระหว่างการดำเนินการดูแลตัวเองเฝ้าระวังอาการอยู่ ซึ่งวันนี้นายกรัฐมนตรีได้ประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์โดยที่ไม่ได้ดำเนินการมายังทำเนียบรัฐบาลได้อย่างไร”

พร้อมจัดทำบุญออนไลน์ รับลูก ปชช หวังเยียวยาจิตใจ

นายอนุชา ตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีกรณีการทำบุญประเทศ เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายแล้วควรมีการทำบุญเกิดขึ้น ว่า ในส่วนนี้นายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาถึงวิธีการที่เหมาะสมอยู่ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดฯ ในปัจจุบัน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา

“ที่ผ่านมาเราได้มีการดำเนินการโดยใช้วิธีการออนไลน์ ไม่ต้องการให้ประชาชนมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เพราะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ แต่หากเป็นกรณีที่จะทำให้จิตใจดี มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นนายกรัฐมนตรีก็พร้อมจะดำเนินการสิ่งเหล่านั้นด้วย”

มติ ครม.มีดังนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

อนุมัติ 2,500 ล้าน อุ้มนายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบอนุมัติโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร)  กรอบวงเงินจำนวน 2,519.38 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆที่ได้รับผลกระทบ

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ ดังนี้

  • นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง
  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท

สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยานั้น กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 และโอนเงินซ้ำทุกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เร่งลงทะเบียนนายจ้าง และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างของนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ในช่วงวันที่ 29 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2564 เพื่อยืนยันว่ามีการประกอบธุรกิจและมีการจ้างงานตามจำนวนที่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้จริง  รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างรายใหม่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้นด้วย

กู้ 6,111 ล้าน ซื้อซิโนแวคเพิ่ม 10.9 ล้านโดส

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 10.9 ล้านโดส  (Sinovac) กรอบวงเงินกู้ 6,111.412 ล้านบาท   โดยจะจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีอื่นและสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สูงกว่าควบคู่ไปด้วยในจำนวนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 10.9 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน ตามแผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในส่วนที่เหลือเพื่อให้สามารถจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชนให้ครบ 150 ล้านโดส ภายในไม่เกินไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2565

รูปแบบโครงการฯ เป็นการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่บุคลากรและประชาชนกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 2) ประชาชนที่มีโรคประจำตัวตามที่กำหนด 3) ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 4) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด -19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย  ระยะเวลาดำเนินการ 2 เดือน (กรกฎาคม-สิงหาคม)

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคกำหนดจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในเดือนกรกรกฎาคม จำนวน 3,894.80  ล้านบาท และเดือนสิงหาคมจำนวน 2,169.96 ล้านบาท โดยมีค่าบริการจัดการวัคซีนโควิด-19 และในส่วนที่เกี่ยวข้องอีก 46.65ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 6,111.41 ล้านบาท

“สำหรับวัคซีนจากบริษัท Sinovac จำนวน 10.9 ล้านโดส เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19  ตามนโยบายรัฐบาล สร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่ประชาชน ลดอัตราการป่วย/เสียชีวิต รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วย” นายอนุชา กล่าว

มอบกรมควบคุมโรคสั่งซื้อ “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดส

นายอนุชา กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆเพิ่มเติม คือ

  1. วัคซีนไฟเซอร์ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ลงนามในสัญญาจัดซื้อวัคซีน พร้อมให้นำข้อสังเกตของอัยการสูงสุดไปดำเนินการเจรจาและหารือกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ด้วย ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเจรจาจัดหาวัคซีนจำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งในรายละเอียดในขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่กรมควบคุมโรคจะต้องไปเจรจาเพิ่มเติมกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอีกครั้งหนึ่ง
  2. ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปทำความตกลงกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมอบความช่วยเหลือทางด้านวัคซีน หรือ รับมอบวัคซีนที่บริจาคมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์เช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องไปดำเนินการเพิ่มเติม

“สรุปในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์จะมีอยู่ 2 ส่วน คือในส่วนที่รัฐบาลจัดซื้อเอง กับรับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา”

  1. วัคซีนยี่ห้อโมเดอร์นา ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้องค์การเภสัชเป็นตัวกลางในการจัดหาวัคซีนทางเลือก ยี่ห้อโมเดอร์นา และมอบหมายให้ผู้อำนวยการองค์การเภสัชเป็นผู้ลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งไม่ใช่วัคซีนหลักเหมือนกับวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ คำว่า “วัคซีนหลัก” หมายถึง วัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนโมเดอร์นา ประชาชนจะต้องจ่ายค่าฉีดวัคซีนให้กับโรงพยาบาลเอกชน

เห็นชอบออมสินลุยปล่อยกู้ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม 2,000 ล้าน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการสินเชื่ออิ่มใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือ เครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ  ผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือ เครื่องดื่มที่เป็นร้านจำหน่ายแบบถาวร เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่เปิดในห้องแถว หรือ อาคารพาณิชย์ ภัตตาคาร ร้านที่มีลักษณะเป็นบูธ ซึ่งไม่ใช่เป็นร้านแบบเคลื่อนที่ได้ เช่น หาบเร่ แผงลอย รถเข็น เป็นต้น  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มมีสภาพคล่องเพียงพอ ลดการพึ่งพาสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง หรือ สินเชื่อนอกระบบ

หลักเกณฑ์โครงการ ฯ คือ  ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุด 100,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน (Clean Loan) คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี  ทั้งนี้ รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินจะเริ่มดำเนินการให้บริการสินเชื่อตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการจนถึงอนุมัติเต็มวงเงินสินเชื่อหรือถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ ฯ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการสินเชื่ออิ่มใจจะช่วยเหลือผู้ประกอบร้านอาหาร และเครื่องดื่มได้ไม่น้อยกว่า 40,000 ราย เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท ซึ่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากที่ผู้บริโภคมีการหลีกเลี่ยงใช้บริการภายในร้านหรือเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเป็นการซื้ออาหารกับ รวมทั้งที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนที่กำหนดให้ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม เปิดดำเนินการเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่อื่น ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้และป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้

มอบกองทัพเรือนำสายไฟลงดินในพื้นที่เมืองการบินฯวงเงิน 451 ล้าน

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่าที่ประชุม ครม.มีมติมอบหมายให้กองทัพเรือดำเนินโครงการนำสายไฟลงใต้ดินเพื่อส่งเสริมสภาพพื้นที่สำหรับเมืองการบินภาคตะวันออก 3 เส้นทาง รวมระยะทาง 5.2 กิโลเมตร วงเงิน 451.36 ล้านบาท สำหรับงานจ้างนำสายไฟลงใต้ดิน 3 เส้นทาง

ได้แก่  1. ปากทางเข้าสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา- แยกวงเวียนอู่ตะเภาระยะทาง 2.2 กิโลเมตร 2. แยกวงเวียนอู่ตะเภา-หน้าอาคารจอดรถอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2  ระยะทาง 1.0 กิโลเมตร และ 3. แยกอู่ราชนาวีมหิดล-ท่าเรือจุกเสม็ด ระยะทาง 2.0 กิโลเมตร

โดยเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการติดตั้งสายไฟฟ้า จากระบบเดินอากาศ (ปักเสาพาดสาย) เป็นแบบร้อยท่อฝังดินในพื้นที่ของกองทัพเรือ บริเวณฐานทัพเรือสัตหีบ ตามแผนแม่บทโครงการปรับปรุงระบบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารในพื้นที่สัตหีบเป็นระบบท่อร้อยสาย จำนวน 8 เส้นทาง  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้สามารถดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายตามระยะเวลา

เพิ่มสินบน-รางวัลนำจับยาเสพติดให้ จนท.-ผู้แจ้งเบาแส 1 เท่าตัว

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้แจ้งความนำจับ เงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และเงินช่วยเหลือในการปฏิบัติงานยาเสพติด พ.ศ.2561 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

โดยแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานยาเสพติด กรณียึดได้แต่ยาเสพติด รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมระยะเวลาการยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทน เพื่อให้การจ่ายค่าตอบแทนเกิดความเหมาะสมกับภารกิจ ส่งผลให้การปราบปรามยาเสพติดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งเน้นให้เกิดการสืบสวนขยายผลไปยังเจ้าของยาเสพติด เครือข่ายนายทุน หรือผู้สั่งการที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งร่างระเบียบมีสาระสำคัญดังนี้

  1. กำหนดให้จ่ายเงินค่าตอบแทน เมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการจนสามารถจับกุมผู้กระทำผิดและพนักงานอัยการสั่งฟ้อง หรือศาลออกหมายจับและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท โดยให้จ่ายค่าตอบแทนร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด จากเดิมที่กำหนดให้จ่ายเงินค่าตอบแทนร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด เมื่อพนักงานอัยการสั่งงดการสอบสวน สั่งไม่ฟ้อง หรือมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง
  2. กำหนดระยะเวลาการยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทนภายใน 180 วัน เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งเกี่ยวกับคดี หากเป็นกรณีศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดและเลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ยื่นคำขอภายใน 180 วัน นับแต่ศาลออกหมายจับและเลขาธิการ ป.ป.ส. มีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จากเดิมที่ให้ยื่นคำขอเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งเกี่ยวกับคดี หรือภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา

อนุมัติงบกลาง 824 ล้าน สกัดโรคอหิวาต์ฯหมู-ส่งซื้อวัคซีน “ลัมปี สกิน”

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) วงเงิน 140 ล้านบาท และเพื่อควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ วงเงิน 684 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า วงเงิน 140 ล้านบาท ใช้เป็น 1)ค่าชดเชยสุกรที่ถูกทำลาย ซึ่งเป็นสุกรที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรค โดยผลตรวจเลือดสุกรที่ถูกทำลายนั้นไม่พบการติดเชื้อโรค ASF แต่อย่างใด 2)ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรค ตรวจวินิจฉัย และทำลายเชื้อโรคหรือซากสัตว์

ในภาพรวมสถานการณ์ของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในปัจจุบัน มีการระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นวงกว้างในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งพบการระบาดในทวีปเอเชียครั้งแรกที่ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2561 และล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 พบการระบาดในประเทศมาเลเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เป็นต้น แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพราะรัฐบาลสนับสนุนให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยง และปฏิบัติตามแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยจัดสรรงบกลางปี 2563 จำนวน 523 ล้านบาท และงบกลางปี 2564 จำนวน 279 ล้านบาท

  • การควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ วงเงิน 684 ล้านบาท แบ่งเป็น 1)ค่าตอบแทนอาสาปศุสัตว์ 2)ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน จำนวน 5 ล้านโด๊ส เพิ่มเติมจากที่นำเข้าก่อนหน้านี้ 3)ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อในฟาร์มและพาหนะในการเคลื่อนย้ายสัตว์ 4)ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อรักษาและฟื้นฟูบำรุงสุขภาพโคกระบือ 200,000 ตัว และ5)ค่าวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ สำหรับการเก็บตัวอย่างฉีดวัคซีนและรักษา

“เนื่องจากโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ เป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ขณะนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน จากพืช คาดว่าอีกประมาณสองอาทิตย์ จะมีการรายงานผลการพัฒนาวัคซีนจากพืชอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะถือเป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีนจากพืชสำหรับการป้องกันโรคอื่นๆ ต่อไป”

เห็นชอบ “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทย

นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.เห็นชอบให้ชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทยแบบที่ 14 ตามที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เสนอ เพื่อเป็นการจารึกพระนามและเนื่องในวโรกาสครบรอบ 64 พรรษา ของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ตลอดจนเผยแผ่พระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณในฐานะเจ้าหญิงของปวงประชา และองค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อย่างกว้างไกลและยิ่งยืนนานและเผยแพร่ต่อประชาชนชาวไทย และใช้ในราชการ รวมถึงผู้คนทั่วโลก สามารถนำชุดแบบอักษรไปใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภาษาและตัวอักษรไทย รวมถึงเป็นการจารึกพระนามขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์บนโลกดิจิทัล

สำหรับชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” ได้รับการออกแบบให้มีความคล้ายคลึงกับยอดอ่อนของดอกกล้วยไม้พันธุ์ Phalaenopsis Princess Chulabhorn  เพื่อเผยแผ่เกียรติคุณและรางวัลระดับนานาชาติที่ทรงได้รับอันเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยตัวอักษรไทยซึ่งมีโครงสร้างถูกต้องตามมาตรฐานโดยมีลักษณะเป็นตัว มีหัว มีปาก มีส่วนประกอบถูกต้องตามอักขรวิธี ไม่มีการประดับลวดลาย รายละเอียดมากจนเกินไป  สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายลักษณะ จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในราชการ

โดยครม.เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานดำเนินการติดตั้งชุดแบบอักษรพระราชทาน “จุฬาภรณ์ลิขิต” เป็นชุดแบบอักษรมาตรฐานราชการไทย แบบที่ 14 เพิ่มเข้าไปในระบบปฏิบัติการ Thai OS และให้ถือเป็นมาตรฐานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ภายในปี 2564

ผ่านร่าง กม.มาตรฐานชีวอนามัย คุมแหล่งกำเนิดรังสี

นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับรังสี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้างมากขึ้น โดยได้กำหนดให้นายจ้างที่มีไว้ในครอบครองซึ่งต้นกำเนิดรังสี และได้ขออนุญาตหรือได้แจ้งการครอบครองตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ให้ส่งสำเนาการแจ้งนั้นต่ออธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 7 วัน นับแต่วันที่แจ้งตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้นายจ้างกำหนดพื้นที่ควบคุมโดยจัดทำรั้ว คอกกั้น หรือเส้นแสดงแนวเขต หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม และจัดให้มีป้ายสัญลักษณ์ทางรังสี ควบคุมดูแลไม่ให้ลูกจ้างซึ่งไม่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสี หรือบุคคลภายนออกเข้าไปในพื้นที่ควบคุม และกำหนดให้มีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีได้รับปริมาณรังสีสะสมเกินปริมาณที่กำหนด โดยลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับรังสีต้องใช้อุปกรณ์บันทึกปริมาณรังสีประจำตัวบุคคลตลอดเวลาที่มีการปฏิบัติงาน และจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณรังสีสะสมที่ลูกจ้างได้รับ

ขณะเดียวกันยังกำหนดให้นายจ้างจัดให้มีแผนป้องกันและระงับอันตรายจากรังสี ในกรณีที่ต้นกำเนิดรังสีมีการรั่วไหล หก หล่น หรือฟุ้งกระจาย เกิดอัคคีภัย หรือเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสีอันอาจเป็นเหตุให้ลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ให้นายจ้างสั่งให้ลูกน้องทุกคนหยุดการทำงานและออกไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยทันที และให้นายจ้างดำเนินการตามแผนป้องกันและระงับอันตรายจากรังสีในกรณีเกิดเกตุฉุกเฉินทางรังสีโดยทันที พร้อมกำหนดให้มีสัญลักษณ์ทางรังสีและข้อความเตือนภัยจากรังสีแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนบริเวณพื้นที่ควบคุม  โดยจัดให้มีสัญญาณไฟสีแดงหรือป้ายสัญลักษณ์เตือนภัยขณะที่มีการใช้งานต้นกำเนิดรังสี และจัดให้มีระบบสัญญาณฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสี

พร้อมทั้งกำหนดให้นายจ้างจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล เช่น หมวกพลาสติก ถุงมือผ้าหรือยาง รองเท้า  เสื้อคลุมที่ทำด้วยฝ้ายหรือยาง แว่นตา ที่กรองอากาศ เครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์อื่นที่จำเป็น จัดทำคู่มือหรือเอกสาร สาธิต และกำหนดมาตรการหรือข้อบังคับเกี่ยวกับประโยชน์  วิธีการใช้ และวิธีการบำรุงรักษาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม สธ.มีความเห็นเพิ่มเติม ว่าควรให้สตรีมีครรภ์งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ให้ปฏิบัติหน้าที่อื่นจนกว่าจะคลอด และให้อยู่ห่างจากบริเวณรังสี เนื่องจากการได้รับปริมาณรังสีสะสมจะมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์

เห็นชอบ MOU ตำรวจไทย-รัสเซีย ต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการพัฒนาความร่วมมือในกิจการตำรวจ พร้อมมอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติโดยใช้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือ

สำหรับขอบเขตของความร่วมมือนั้น ทั้งสองฝ่ายจะสร้างความร่วมมือในการป้องกัน การค้นหา  การปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ดังนี้ คือ อาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร, ภาพอนาจารเด็กและการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ, การก่อการร้ายและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย, การทุจริตและการฟอกเงิน, อาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติ, การค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก รวมทั้งอวัยวะและเนื้อเยื่อของมนุษย์, องค์กรเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานโดยผิดกฎหมาย, การลักลอบค้าอาวุธ เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด, การลักลอบค้ายาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และสารตั้งต้น, อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์ การลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรม, อาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ,การปลอมแปลงอัตลักษณ์ และอาชญากรรมอื่นๆที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน

ทั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนาม และจะสิ้นสุดในเวลา 6  เดือน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงเจตนาให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้สิ้นสุดผลบังคับใช้จากอีกฝ่ายหนึ่ง

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2564เพิ่มเติม