ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สถาบันวัคซีนแห่งชาติเจรจาคู่ขนาน “เข้าโครงการ COVAX – บริษัทผู้ผลิต” เร่งจัดหาวัคซีน

สถาบันวัคซีนแห่งชาติเจรจาคู่ขนาน “เข้าโครงการ COVAX – บริษัทผู้ผลิต” เร่งจัดหาวัคซีน

23 กรกฎาคม 2021


วัคซีน “ซิโนฟาร์ม” จำนวน 1 ล้านโดส น้ำหนักรวม 45.5 ตัน จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาถึงไทยวันที่ 18 กรกฎาคม 2564

การจัดหาและจัดซื้อวัคซีนที่เป็นปมปัญหาคาใจประชาชนมาต่อเนื่อง ไม่มีคำตอบว่าขั้นตอนการจัดหา การจัดซื้อ มีกระบวนการอย่างไร มีใครเป็นผู้เกี่ยวข้อง รับผิดชอบในการจัดบริหารจัดการและตัดสินใจ รวมทั้งไม่มีการการเปิดเผยข้อมูลใดๆในการจัดซื้อจัดจ้างว่าซื้อไปแล้วเท่าไหร่ ใช้เงินประมาณเท่าไหร่ จึงเป็นปมร้อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 โดยมีนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันชี้แจง ซึ่งในวันนั้นนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ “ขอโทษ” ประชาชน ปมจัดหาวัคซีนไม่เพียงพอ-ไม่ทัน (ดูรายละเอียดการแถลงข่าวที่นี่)

ขณะที่นพ.ศุภกิจ ได้กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ซึ่งหากมีข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่เป็นธรรมกับคนทำงาน ทั้งนี้ ยืนยันว่าภายใต้การกำกับดูแลของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุขสามารถตรวจสอบได้ ไม่มีเรื่องของการทุจริต

ส่วนที่ไม่สามารถเปิดเผยผลการเจรจากับบริษัทวัคซีนทุกนัด เนื่องจากมีการลงนามสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล หากเปิดเผยอาจส่งผลเสีย เช่น ถูกยกเลิกการเจรจา หรือกรณีการขอให้แอสตร้าเซนเนก้าจัดหาวัคซีนจากแหล่งผลิตอื่นให้ประเทศไทยในช่วงที่มีการระบาด เมื่อมีข้อมูลออกไปทางยุโรปก็สั่งห้ามโรงงานไม่ให้จัดส่ง เป็นต้น

ทั้งนี้ กลไกการจัดหาวัคซีนมี 2 ส่วน คือ 1.กลไกตามกฎหมาย คือ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และ 2.กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อประชาชนไทย ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีกรรมการจากผู้แทนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เลขาธิการ สปสช. ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นต้น โดยตั้งคณะทำงานเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้าและโคแวกซ์ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน

“วัคซีนไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่จัดหาโดยง่าย ตลาดยังเป็นของผู้ขาย แม้กระทั่งโครงการโคแวกซ์ยังซัพพลายวัคซีนได้ไม่มากเท่าที่วางแผนไว้ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีการกลายพันธุ์ สิ่งที่วางแผนไว้จึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและเจรจากับหลายฝ่ายตลอดเวลา แต่เราจะดำเนินการให้ได้วัคซีนมาถึงคนไทยมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.นครกล่าวว่า “การจัดหาวัคซีนใดๆ ก็ตาม เป็นการดำเนินการร่วมกัน เมื่อเรามีข้อมูล จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนฯ ที่มีปลัดกระทรวงสาธาณสุขเป็นประธาน เป็นกลไกบริหารที่มีอยู่ เพราะไม่สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องมีการปรึกษาหารือ เป็นการทำงานรูปแบบคณะกรรมการ ถึงแม้ว่ากรมควบคุมโรคกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะทำงานร่วมกัน แต่การตัดสินใจจะต้องเข้าสู่การประชุมในคณะกรรมการและคณะทำงานแต่ละชุด เพราะมีความเกี่ยวพันเรื่องภาระงบประมาณ และสัญญา เพราะก่อนการลงนาม จะมีการปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศ”

“วัคซีนจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่รับรู้ว่าการจัดหาวัคซีนอาจ ‘ไม่ทัน’ ตามจำนวนที่ควรจะเป็น กราบขออภัย แม้ว่าจะพยายามอย่างเต็มที่แต่ก็จัดหาวัคซีนได้ ‘ไม่เพียงพอ’ ต่อสถานการณ์ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ไม่เคยประสบพบเจอกันมาก่อน รวมทั้งการกลายพันธุ์ของไวรัส เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรง ทำให้การจัดหาวัคซีนไม่ทัน ก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้

“การจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งปีนี้ (2564) และปีหน้า (2565) เร่งรัดการจัดหาวัคซีน พิจารณากับผู้ผลิตวัคซีนที่พัฒนาวัคซีนรุ่นสอง หรือสามารถตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ได้ มีเป้าหมายคือให้เกิดการส่งมอบตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565 เป็นเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการ ไม่สามารถรอเวลาได้”

นพ.นครกล่าวต่อว่า “เรายังอยู่ในการเข้าร่วมกับโครงการโคแวกซ์เพียงแต่ยังไม่ได้มีการลงนามทำความร่วมมือจัดหาวัคซีนร่วมกัน ส่วนนี้สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้เตรียมการเจรจาและส่งข้อความประสานงานไปที่หน่วยงานชื่อ GAVI ในการขอเจรจาจัดหาวัคซีน เพื่อให้ได้รับวัคซีนในปี 2565 เป็นขั้นตอนเพิ่มเติมนอกจากเจรจากับขโดยลำพัง เมื่อได้มีข้อสรุปชัดเจนก็จะเสนอผ่านคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง”

ส่วนข้อแนะนำเรื่องการวิจัยและพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการหาเทคโนโลยีความร่วมมือ จะมีการแสวงหาความร่วมมือผู้ผลิตวัคซีนต่างประเทศที่มีความประสงค์การขยายกำลังการผลิตในการผลิตแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Inactivated Platform หรือ mRNA Platform อยู่ในช่วงดำเนินการเร่งรัดแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ส่วนนี้กระทรวงการต่างประเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญ ประสานงานดูทิศทางการดำเนินงานกับต่างประเทศ

  • กระทรวงบัวแก้วแจงไทม์ไลน์การทูต หนุน “การจัดหาวัคซีน” จากต่างประเทศ
  • COVAX โครงการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก ช่วยประเทศยากจนได้อย่างไร
  • โฆษกรัฐบาล แจงเหตุไทยไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนฟรีจากโครงการ COVAX
  • นพ.นครกล่าวต่อว่าส่วนการวิจัยและพัฒนารูปแบบในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น mRNA คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ วัคซีนขององค์การเภสัชกรรม หรือ Bionet Asia โดยวัคซีนขององค์การเภสัชกรรมและจุฬาฯ ได้เริ่มทำการทดสอบในคนไปแล้ว อยู่ระหว่างการรอผล ส่วนนี้จะดำเนินการสนับสนุนการวิจัยอย่างเต็มที่ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาข้อความรู้อื่นๆ เพื่อมาดำเนินการต่อไป

    “ที่ได้เจรจา(ต่างประเทศ)มีหลายส่วน ทั้งในรูปแบบ mRNA หรือซับยูนิตโปรตีน แต่เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปว่าจะได้เมื่อไร ก็ขอเวลาในการทำงาน เพื่อให้ป้องกันและควบคุมโรคได้ แต่ถ้าถามว่าจะได้เท่าไร ณ เวลานี้ยังตอบไม่ได้ เพราะยังอยู่ระหว่างการจัดหา ไม่ได้เริ่มจัดหานะครับ เราจัดหามาตลอด จะเห็นได้ว่ากรมควบคุมโรคก็สามารถจัดหาวัคซีนได้เพิ่มเติมคือ Pfizerซึ่งเราดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2564(ลงนามสั่งซื้อ 20 กรกฎาคม 2564) ”

    จากข้อมูลโครงการ COVAX (ย่อมาจาก Covid-19 Vaccines Global Access Facility )หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก โครงการ COVAX เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI), องค์กรกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และองค์การอนามัยโลก ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน มีประเทศขอเข้าโครงการ COVAX มีจำนวน 172 ประเทศและเขตปกครอง ขณะนี้มีการส่งมอบวัคซีนไปแล้ว 136 ล้านโดส ให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ 136 ราย ประเทศไหนได้รับไปแล้วเท่าไหร่ ดูรายละเอียด…