ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > อาเซียนใช้เงินกองทุนโควิด 10 ล้านดอลล์ซื้อวัคซีนผ่าน COVAX ให้ประเทศสมาชิก

อาเซียนใช้เงินกองทุนโควิด 10 ล้านดอลล์ซื้อวัคซีนผ่าน COVAX ให้ประเทศสมาชิก

30 กรกฎาคม 2021


นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดให้มีการบรรยายสรุป เรื่องการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 54 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (AMM/PMC) ระหว่างวันที่ 2- 7 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยนางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน โดยนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการรายการ

นางสาวอุศณาเปิดเผยว่า หนึ่งประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะหารือในการประชุมได้แก่ การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 โดยครอบคลุมสถานการณ์ของแต่ละประเทศ รวมทั้งความช่วยเหลือที่จะให้กับประเทศอาเซียน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการอาเซียนจะรายงานต่อที่ประชุม รวมทั้งการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศสมาชิก

“อาเซียนได้ตกลงกันว่าจะดึงเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์จากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 มาใช้เพื่อจัดซื้อวัคซีนให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศละ 1 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ โดยผ่าน โครงการ COVAX (COVAX Facility) และมีองค์การยูนิเซฟเป็นตัวกลางในการดำเนินการ”นางสาวอุศณากล่าว

นางสาวอุศณากล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการและคาดว่าจะสามารถลงนามกับองค์กรยูนิเซฟได้ในเร็วๆนี้ โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนได้รายงานว่า กำลังสรุปข้อสัญญา เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ก็จะพยายามเร่งให้เร็ว ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้ว ยูนิเซฟจะดำเนินการจัดซื้อและารจัดส่ง ที่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งประมาณ 2-3 เดือน

ทั้งนี้ในการเจรจาที่มีขึ้นในช่วงต้นปีคาดว่าจะได้รับวัคซีนช่วงเดือนมิถุนายน แต่ล่าช้าออกไป เพราะมีข้อจำกัดในการจัดส่งวัคซีน อย่างไรก็ตามเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะได้รับวัคซีน

กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 (ASEAN Covid-19 Response Fund) ที่ก่อตั้งในปีที่แล้วจากความริเริ่มของไทยด้วยการโยกเงินจากกองทุนความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และประเทศในอาเซียน และจากการบริจาคสมทบของประเทศต่างๆ ปัจจุบันกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 มีเงินทุนประมาณ 20 ล้านดอลลาร์

ไทยช่วยพม่ารับมือโควิดบริเวณชายแดน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือพม่าในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดว่า ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ตั้งแต่การถ่ายทอดความรู้ การฝึกอบรม การศึกษาและการแพทย์ออนไลน์ และการเพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์ บุคลากรและห้องปฏิบัติการ

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้มอบเครื่องตรวจ RT-PCR และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ National Health Laboratory ที่กรุงย่างกุ้ง ก่อนหน้านี้ได้ส่งมอบเครื่องตรวจ RT-PCR ให้แก่โรงพยาบาลที่เมียวดี และสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ได้แก่ ชุด PPE และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆให้กับโรงพยาบาลของพม่าตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทั้งที่เมียวดี ที่เกาะสอง ท่าขี้เหล็ก

นอกจากนี้ยังมีแผนงานที่จะสนับสนุนเพิ่มเติมในพื้นที่ใหม่เช่น พญาตองซู เพื่อช่วยในการป้องกันการระบาดบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดน ที่มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนและของแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งมีแผนที่จะจัดส่งเครื่องตรวจ RT-PCR ให้แก่โรงพยาบาลที่ท่าขี้เหล็กและทะวาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของห้องปฏิบัติการในพม่า ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระกิจของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยในบริเวณแนวชายแดน

“ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เมียนมาต้องการอยู่ในวงเงิน 5 ล้านบาท เป็นการดำเนินการบนหลักการทางการทูตและความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อป้องกันและลดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งพม่า เราคำนึงและตระหนักว่าโรคระบาดในชุมชนและเป็นพื้นที่ติดต่อกัน ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ทั้งภายนอกและภายในประเทศ และมีการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันโรคโควิด-19” นายธานีกล่าว

นายธานีกล่าวว่า มูลค่าของการให้ความช่วยเหลือทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศประมาณ 24 ล้านบาท

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ในกรอบทวิภาคีได้ร่วมกับกรมอาเซียนในการจัดการตามกรอบอาเซียนผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ หรือ ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management (AHA Centre) และคลังสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียน (Disaster Emergency Logistic System for ASEAN : DELSA)