ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > กระทรวงบัวแก้วแจงไทม์ไลน์การทูต หนุน “การจัดหาวัคซีน” จากต่างประเทศ

กระทรวงบัวแก้วแจงไทม์ไลน์การทูต หนุน “การจัดหาวัคซีน” จากต่างประเทศ

16 กรกฎาคม 2021


นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
ที่มาภาพ : www.facebook.com/ThaiMFA/

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนไทยเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล พร้อมสรุปผลการดำเนินการสนับสนุนทางการทูตเพื่อการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

1. กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ช่องทางการทูตอย่างต่อเนื่องในการแสวงหาวัคซีนเพิ่มเติมจากต่างประเทศผ่านวิธีการต่าง ๆ ทั้งการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยน (vaccine swap) และการรับความช่วยเหลือ โดยได้ติดต่อประสานงานเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากประเทศต่าง ๆ ทั้งจากจีน (Sinovac, Sinopharm, CanSino) สหรัฐอเมริกา (Pfizer, Moderna, Johnson & Johnson, Novavax) รัสเซีย (Sputnik V) และอินเดีย (Covishield, Covaxin)

2. สำหรับจีน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือฝ่ายจีนเพื่อผลักดันการจัดหาวัคซีนให้ไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ระหว่างการเยือนไทยของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน โดยฝ่ายจีนประกาศมอบวัคซีน Sinovac จำนวน 1 ล้านโดสให้ไทยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 และได้ส่งมอบให้ไทยครบถ้วนแล้ว 2 ครั้งๆ ละ 500,000 โดส เมื่อ 14 พฤษภาคม และ 5 มิถุนายน 2564 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมด้วย

3. ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันการทำ vaccine swap เพื่อเตรียมการให้แลกเปลี่ยนหยิบยืมวัคซีนกันใช้ก่อนกับหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และสหรัฐฯ เชื่อว่าอาจจะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ตามสถานการณ์ตั้งแต่กันยายน 2564 เป็นต้นไป

4.ด้านญี่ปุ่นได้มอบวัคซีน AstraZeneca จำนวน 1,053,090 โดสให้ไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานมาโดยตลอด สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ ญี่ปุ่นได้จัดส่งวัคซีนฯ มาถึงไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ได้ร่วมพิธีรับมอบวัคซีนเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564

5. ในส่วนสหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือเรื่องวัคซีนมาโดยตลอด เช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กับผู้ช่วยประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 กับนางเวนดี้ เชอร์แมน รัฐมนตรีข่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในการเยือนไทย ซึ่งต่อมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศมอบความช่วยเหลือวัคซีนรวม 80 ล้านโดสให้มิตรประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างประสานงานในรายละเอียดกับหน่วยงานของสหรัฐฯ และกระทรวงสาธารณสุขก็กำลังเตรียมความพร้อมด้านการขนส่งและรับมอบวัคซีน รวมทั้งแผนบริหารจัดการและจัดสรรวัคซีนดังกล่าว

6. กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับรัสเซียเพื่อขอจัดหาวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) โดยนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากประธานาธิบดีรัสเซีย และเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกได้ติดตามเรื่องนี้ ปัจจุบัน บริษัทผู้แทนนำเข้าวัคซีนสปุตนิก วี ในไทย อยู่ระหว่างยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงการต่างประเทศและสถาบันวัคซีนแห่งชาติอยู่ในขั้นตอนการประสานงานกับหน่วยงาน Russian Direct Investment Fund (RDIF) ให้มีการประชุมหารือระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยและรัสเซีย เพื่อหารือรายละเอียดเพิ่มเติม

7. แม้ว่าไทยจะไม่ได้เข้าเป็นโครงการแบ่งปันวัคซีน COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ได้ร่วมบริจาคให้ WHO เป็นจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับกลไก COVAX จึงทำให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยน จำหน่าย หรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตได้เองในอนาคตข้างหน้าให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ไทยประกาศไว้ว่า วัคซีนคือสินค้าสาธารณะของโลก (global public goods) ที่ประเทศต่าง ๆ ควรเข้าถึงได้ทั่วกันเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสิ่งท้าทายที่ประชาคมระหว่างประเทศมีร่วมกัน

8. กระทรวงการต่างประเทศโดยกรมการกงสุลได้สนับสนุนการใช้และเพิ่มคุณค่าของสมุนไพรไทยในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยได้จัดส่งสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว จำนวนกว่า 290,000 เม็ด ให้กับสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยครบทั้ง 95 แห่งทั่วโลกแล้วตั้งแต่วันที่ 24พฤษภาคม 2564 เพื่อแจกจ่ายให้แก่ชุมชนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทย