ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯสั่ง พณ.คุมราคา “ฟ้าทะลายโจร”-มติ ครม.เยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท-ลดค่าเทอมนิสิต-นศ. 10-50%

นายกฯสั่ง พณ.คุมราคา “ฟ้าทะลายโจร”-มติ ครม.เยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท-ลดค่าเทอมนิสิต-นศ. 10-50%

27 กรกฎาคม 2021


นายกฯสั่ง พณ.คุมราคา “ฟ้าทะลายโจร” หลังราคาพุ่ง กระปุกละ 500 บาท-เผยสิ้นปี 64 ได้วัคซีน 110 ล้านโดส – มติ ครม.เยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท-ลดค่าเทอมนิสิต-นศ. 10-50% – ไฟเขียว “ฟ้าทะลายโจร” รักษาผู้ป่วยโควิด ฯสีเขียว

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยการประชุมในวันนี้นายกรัฐมนตรียังคงมอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

สั่ง พณ.คุมราคา“ฟ้าทะลายโจร”หลังราคาพุ่ง กระปุกละ 500 บาท

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึง มาตรการของรัฐบาลในการควบคุม กำกับดูแลยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นถึงกระปุกละ 500 บาท ในปัจจุบันว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูในประเด็นดังกล่าว รวมถึงเรื่องของการจดลิขสิทธิ์ด้วย

และในวันนี้ ครม. ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องของการศึกษาจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ได้ใช้สมุนไพรฟ้าทะลายโจรรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดฯ ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่ามีผลดี สามารถที่จะลดอาการและดูแลผู้ป่วยได้อย่างดี

โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะมีนโยบายที่ชัดเจนต่อไปในการที่จะดูแลเรื่องของฟ้าทะลายโจรไม่ว่าจะเป็นการผลิตก็ดีหรือว่าในเรื่องของราคาต่างๆ ทั้งหมด

สั่ง ทหาร-ตร. สละสโมสรฯ ทำ รพ.สนาม

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีถึง มาตรการในการรับมือผู้ติดเชื้อโควิดฯ ที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการติดเชื้อในครอบครัว สถานที่ทำงาน และผู้ป่วยที่ยังติดค้างในบ้านหรือชุมชน ว่า เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน โดยต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรบุคลากรการจัดสรรสถานที่พักคอยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เรื่องของการจัดให้มีโรงพยาบาลสนาม การให้คณะแพทย์ และพยาบาลเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม ตลอดจนการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ตามที่ประชุมหารือไปในสัปดาห์ก่อน

“เรื่องที่สำคัญก็จะเป็นเรื่องของการที่จะให้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้มีการสั่งการไปกับทางด้านหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ สังกัดกระทรวงกลาโหม หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ดีให้กับสโมสรต่างๆ ที่เป็นเรียกว่าปัจจุบันซึ่งไม่สามารถดำเนินการใช้ประโยชน์อะไรอยู่ตอนนี้ให้นำมาเป็นโรงพยาบาลสนาม”

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เพิ่มขีดความสามารถของโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลสนามที่ดูแลผู้ป่วยสีเขียว โดยให้ปรับให้สามารถที่จะดูแลผู้ป่วยเกณฑ์สีเหลืองและสีแดงได้มากขึ้น

นายอนุชากล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรียังได้ให้แนวทางในการที่จะให้ประชาชนได้ทราบการปฎิบัติตนที่ชัดเจนสำรับกรณีที่ต้องรักษาตัวเองที่บ้าน (home isolation) หรือหากไม่สามารถที่จะดูแลตัวเองที่บ้านเนื่องด้วยปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก็ให้มีความชัดเจนในการที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการกักตัวในชุมชน (community isolations) เพื่อลดการแพร่ระบาดในครอบครัวและในชุมชนด้วย

เร่งแก้ปัญหาสายด่วน-จัดทีม “ซีอาร์ที” ช่วยผู้ป่วยเชิงรุก

นายอนุชากล่าวต่อไปว่า ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดฯ ได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเจ้า อาสาสมัครต่างๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีอยู่สำหรับในการที่จะช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงการที่จะจัดส่งยาฟ้าทะลายโจรสมุนไพรไทย หรือจยาฟาวิพิราเวียร์ ตลอดจนดูแลอาหารการกินของผู้ป่วย ควบคู่ไปกับทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิดฯ เชิงรุก (Comprehensive Covid-19 Response Team หรือ CRT)

โดยทีมดังกล่าวจะลงไปในพื้นที่ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อในชุมชน เพื่อให้สามารถยับยั้งการติดเชื้อในครอบครัวและชุมชนเพิ่มขึ้น และให้มีการปรับปรุงสายด่วนต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันด้วย

“สิ่งที่สำคัญที่เป็นปัญหามาโดยตลอดก็คือ เรื่องของการรับเรื่องผู้ป่วยผ่านทางด้านโทรศัพท์สายด่วนต่างๆ วันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็มีมาตรการให้ไปปรับปรุง ให้มีความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย หรือญาติที่กำลังหาเตียงให้กับผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการที่จะต้องโทรเข้ามาในสายด่วนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็ได้ดำเนินการให้สามารถติดต่อสายด่วนต่างๆ ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแล้ว”

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

วอน ปชช. มั่นใจส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนามีแพทย์ดูแลใกล้ชิด

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีต่อกรณีการส่งผู้ป่วยหรือว่าผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนา ว่า มาตรการดังกล่าวนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขที่ได้กำกับไว้ ในเรื่องของการคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีขั้นตอนอะไรอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะลดปัญหาการที่จะต้องเข้ารับการรักษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีข้อจำกัดเรื่องเตียงเรื่องบุคลากรต่างๆ

โดยกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการร่วมกับทางด้านสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขในการที่จะดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อที่มีความประสงค์ที่จะกลับภูมิลำเนา โดยปัจจุบันก็ได้มีการจัดขบวนรถไฟในการที่จะจัดส่งผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิดฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับไปรักษาตัวในจังหวัดภูมิลำเนา 7 จังหวัดทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

“ได้มีการจัดรถไฟขบวนพิเศษโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย มีต้นทางที่สถานีรถไฟรังสิตและจะไปที่ปลายทางที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยขบวนแรกและออกเดินทางไปแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เมื่อช่วง 9.00 น ซึ่งรถไฟขบวนที่เดินทางในระบบปิด หมายความว่า การส่งผู้ป่วยลงตามพื้นที่ต่างๆ แต่ละสถานี ตั้งแต่กรุงเทพฯไปจนกระทั่งถึงปลายทาง เมื่อหยุดส่งผู้ป่วยจะมีรถพยาบาลของแต่ละจังหวัดมารับตัวผู้ป่วยต่อไปตามโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่ต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้โดยทันที โดยที่ไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องของการที่จะเกิดการแพร่เชื้อ ซึ่งจะไม่มีการปะปนกับประชาชนทั่วไป และในขบวนก็จะมีคณะแพทย์พยาบาลอยู่บนขบวนรถเพื่อดูแลผู้ป่วยด้วย”

นายอนุชาตอบคำถามถึงกรณีมาตรการในการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อว่า ตัวเลขผู้ป่วยที่สูงขึ้นนั้นมาจากการตรวจเชิงรุก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญ โดยต่อไปจะให้ประชาชนได้คัดกรองโดยมีแอนติเจนเทสต์คิต (ATK)

“ตรงนี้ก็จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในระดับหนึ่งในการที่จะคัดกรอง และหลังจากนั้นเรื่องของ home isolation เรื่องของ community isolation เรื่องของการที่จะรับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา เรื่องของการเพิ่มโรงพยาบาลสนาม เรื่องของการที่จะมีทีมงานต่างๆ ที่ผมได้เรียนไปทั้งหมดก็สามารถที่จะช่วยให้การแพร่ระบาดกลับมาในระดับที่สามารถควบคุมได้”

เผยสิ้นปี 64 ได้วัคซีน 110 ล้านโดส

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี ถึงการจัดหาและการกระจายวัคซีนของรัฐบาลว่า ตอนนี้ก็มีการดำเนินการจัดหาวัคซีนอย่างต่อเนื่องอยู่ เบื้องต้นจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาในประเทศไทยได้มีการรายงานใน ครม. เมื่อช่วงเช้าว่าจะมีการดำเนินการเข้ามาอย่างเพียงพอกับการฉีดให้ประชาชนโดย ซึ่งจากนี้ไปจะมีวัคซีนเข้ามาอีก 80 ล้านโดส ภายในปี 2564 นี้ หากรวมกับที่วัคซีนที่เข้ามาแล้วประมาณ 30 ล้านโดส ก็จะทำให้วัคซีนที่จะเข้ามาภายในสิ้นปี 2564 มีจำนวน 110 ล้านโดส

“ก็มีจำนวน 20 ล้านโดสในนี้จะเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งได้มีการสั่งซื้อไปแล้วด้วย นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นวัคซีนที่เป็นวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมเข้ามาไม่ว่าจะเป็น โมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม ที่จะมาเพิ่มในกรณีของวัคซีนที่ให้ประชาชนเลือกเพิ่มเติมด้วยนายกรัฐมนตรีได้รับทราบ และได้รับการยืนยันว่าจำนวนวัคซีนไฟเซอร์ที่จะนำเข้ามาจากการบริจาคจะเป็นวัคซีนที่จะให้กับทางด้านบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก หลังจากนั้นก็จะเป็นเรื่องของบุคลากรด้านหน้าบางส่วน ตรงนี้ก็ขอให้ประชาชนได้มั่นใจในเรื่องของความโปร่งใส”

แจง ตร.บุรีรัมย์ฉีดแอสตร้าฯเข็ม 3 เป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้า

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนกา เข็มที่ 3 นั้นจะถูกมองว่าเป็นการใช้อภิสิทธิ์หรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าวนั้น ตรวจสอบแล้วเป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องดำเนินการส่งผู้ป่วยไปมา เพราะฉะนั้นการที่ถือว่าเป็นบุคลากรด้านหน้าส่วนหนึ่ง

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีคนติดเชื้อมากขึ้นๆ ทุกวัน ประชาชนวิตกกังวล มาฉีดวัคซีนกันแน่นขนัดที่สถานีกลางบางซื่อ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564

เปิดแอปฯ “วัคซีนบางซื่อ”-งดตรวจความดัน ลดความแออัด

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีต่อกรณีปัญหาความแออัดที่จุดฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อว่า ในเย็นวันนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้มีการประชุม เพื่อที่จะให้นโยบายในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่สถานีกลางบางซื่อ

สำหรับปัญหาต่างๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่จะมีการจัดระยะห่างสำหรับผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนซึ่งเจ้าหน้าที่พยายามดำเนินการให้มีการเว้นระยะห่างให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดแถว การจัดเก้าอี้ การจัดจราจร การปรับช่วงเวลาสำหรับกลุ่มต่างๆ ให้ชัดเจน และอาจมีการไม่ต้องวัดความดันโลหิตก่อนการฉีดวัคซีน หรือจะมีการเปิดแอปพลิเคชันวัคซีนบางซื่อ ที่จะทำให้ลดความแออัดในเรื่องของการนับเวลาที่ชัดเจนด้วย

“ในเบื้องต้นก็อาจจะมีการปรับในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายในเรื่องของอายุกับกลุ่มที่จะมาฉีด ไม่ว่าจะเป็นการปรับในเรื่องของผู้สูงอายุจำนวนที่จะมาฉีดว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุสูง 75 ปีขึ้นไป หรือว่าในส่วนของกลุ่มที่มีโรคเสี่ยงอยู่ หรือเป็นสตรีมีครรภ์ต่างๆ เหล่านี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะปรับ ซึ่งหลังจากการประชุมได้เสร็จสิ้นลงแล้วก็คงจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงในรายละเอียดให้ทราบถึงนโยบายการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่ออีกครั้งหนึ่ง”

รับ 4 ข้อเสนอภาคเอกชน จับมือแก้โควิดฯ

นอกจากนี้ นายอนุชากล่าวว่า ก่อนประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้แจ้งที่ประชุม ครม. ให้ทราบถึงการประชุมร่วมกันสภาหอการค้าไทย และผู้บริหารของภาคเอกชน ในแนวความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการที่จะ แก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน

ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนเสนอคือ 1. เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ 2. เป็นเรื่องของการที่มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของการเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน 3. เป็นเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในส่วนของแผนระยะสั้นและระยะกลาง และ 4. เป็นเรื่องของการฟื้นฟูประเทศไทย

นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ ซึ่งมีสาระสำคัญในการเห็นชอบโครงการหลายโครงการนำร่อง เพื่อที่จะเป็นการนำนวัตกรรมหรือว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ เข้ามาพัฒนาด้านการเกษตรการ แพทย์ ด้านการเดินทาง การท่องเที่ยว และการบริหาร อื่นๆ ด้วย

จี้หน่วยงานใช้ ประกาศ ฉ.27 คุมเฟกนิวส์

นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุม ครม. เพิ่มเติม ที่ให้แต่ละกระทรวงที่มีภารกิจในการติดตามเฝ้าระวังข่าวบิดเบือน ข่าวเฟกนิวส์ ข่าวปลอมต่างๆ อยู่แล้ว ดำเนินการอย่างแข็งขันขึ้น ในการที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องข้อมูลที่สามารถทำให้ประชาชนได้มีความชัดเจนในเรื่องของข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับในปัจจุบัน และให้นำมาตรการตามประกาศ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27  ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ที่มีการควบคุมการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอยู่แล้ว มาใช้ให้มีประสิทธิภาพและให้เกิดผลโดยเร็วที่สุดด้วย

“การที่บางกระทรวงจัดตั้งศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์หรือว่าศูนย์ชี้แจงข่าวต่างๆ แล้วบางกระทรวงอาจจะยังไม่ได้มีการตั้งศูนย์แต่มีภารกิจนี้อยู่แล้วท่านนายกรัฐมนตรีก็ขอให้ทุกกระทรวงได้ดำเนินการอย่างแข็งขัน เพราะว่าปัจจุบันในเรื่องของข่าวปลอมเป็นสิ่งที่รัฐบาลค่อนข้างที่จะมีความกังวลที่ออกมาเป็นจำนวนมาก”

ปลื้ม “แก่งกระจาน” มรดกโลก ยันดูแลสิทธิคนในพื้นที่

นายอนุชาตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี กรณีที่ผืนป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งที่ 3 ของไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 แล้วรัฐบาลมีนโยบายให้กับทางด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกรณีนี้อย่างไรบ้างว่า โดยประเทศไทยจะต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ขึ้นทะเบียนไว้ ไม่ว่าจะเป็นการที่จะดูแลชุมชนกะเหรี่ยง เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มต่างๆ ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ที่ป่าแก่งกระจานนี้ก็จะได้ดูแลเพื่อที่จะให้เกิดความเรียบร้อยในการบริหารจัดการต่อไป

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีก็ได้ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกระทรวงต่างๆ หน่วยงานต่างๆ รวมถึงผู้แทนไทยที่อยู่ในคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ด้วย

อนึ่ง ผื่นป่าแก่งกระจานตั้งอยู่ในเขตทั้งสิ้น 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีมีพื้นที่รวมทั้งหมดเกือบ 3 ล้านไร่

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

เพิ่มงบฯ 1,522 ล้าน เยียวยานายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 อีก 3 จังหวัด

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. วันนี้ อนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวน 15,027.686 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,522.99 ล้านบาท จากเดิม 13,504.696 ล้านบาท โดยเพิ่มจากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดที่เพิ่มขึ้น ได้แก่  ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา พร้อมมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเร่งประมาณการจำนวนนายจ้างและผู้ประกันนมาตรา 33 กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะขี้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ด้วย

ทั้งนี้ กรอบวงเงิน 15,027.686 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินช่วยเหลือให้แก่นายจ้างในระบบประกันสังคมใน 9 ประเภทกิจการ ใน 13 จังหวัดกลุ่มเป้าหมาย 7,238.631 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทยที่เป็นลูกจ้างในกิจการของนายจ้างตามคุณสมบัติ จำนวน 7,789.055 ล้านบาท ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ยังจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้

อนุมัติ 13,026 ล้านบาท ให้ สปสช.ดูแลผู้ป่วยโควิดฯ-เยียวยาผู้เสียหายจากวัคซีนฯ

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติกรอบวงเงิน 13,026.12 ล้านบาท ให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ สถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนทุกสิทธิ ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 สำหรับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 3,508,060 ราย ประกอบด้วย

  • กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสโควิด-19 จำนวน 3,392,800 ราย
  • ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับบริการสาธารณสุข จำนวน 114,500 ราย และ
  • ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 760 ราย

ทั้งนี้  โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสปสช. จะเป็นการช่วยลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในภาพรวม เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนให้เกิดการบริการตรวจคัดกรองหรือป้องกันไม่ให้เกิดการติดโรค ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษาเมื่อป่วยแล้ว ทั้งยังเป็นหลักประกันทางสังคมด้านสุขภาพสำหรับประชาชนไทยที่ได้รับผลกระ ทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย

โดย สปสช. จะได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อภายใต้สวัสดิการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาแนวทางการจัดบริการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน เพื่อสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนสามารถจัดบริการป้องกันการติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพต่อไปด้วย

เยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาท-ลดค่าเทอมนิสิต-นศ. 10-50%

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา ภาครัฐและเอกชน ดังนี้

  • มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ) กรอบวงเงิน 23,000 ล้านบาท สำหรับนักเรียนในระบบการศึกษาไทย ภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2564  ดังนี้
    • สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 2,000 บาท/นักเรียน 1 คน
    • จัดสรรค่าใช้จ่ายให้แก่สถานศึกษาเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้
    • ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนเอกชนให้เท่ากับปีการศึกษา 63
  • มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว) กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต/นักศึกษาชาวไทย ระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ระยะเวลา  ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
    • สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6:4  โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50  / 50,001 – 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และเกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10  โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50
    • สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน ค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษา รัฐสนับสนุนในอัตรา 5,000 บาท/คน

นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังขอให้พิจารณาเพิ่มเติม ทั้งขยายเวลาผ่อนชำระ จัดหาอุปกรณ์/โปรแกรมสำหรับยืมเรียนออนไลน์ รวมทั้งลดค่าหอพักด้วย

“ศธ. และ อว. จะได้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงิน ตามขั้นตอนของ พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมทั้ง จะมีการกำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคาร  พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนต่อไป”นายอนุชา กล่าว

  • ครม. เคาะเยียวยาผู้ปกครองนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา
  • จัดงบกลาง 3,493 ล้าน ดูแลเด็กแรกเกิดกว่า 2 ล้านคน

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,493.19 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จำนวน  2,227,029 คน อย่างต่อเนื่อง

    อนึ่ง ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูที่มีคุณภาพและมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย เพื่อเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต โดยให้เงินอุดหนุนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 600 บาท แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย

    สำหรับปีงบประมาณ 2564 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้มีสิทธิ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนมิถุนายน 2564 แล้ว จำนวน 1,966,093 คน แต่ด้วยในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 มีสิทธิผู้ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดสูงถึง 2,227,029 คน เพื่อให้การจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปอย่างต่อเนื่องจึงมีมติในครั้งนี้

    ไฟเขียว “ฟ้าทะลายโจร” รักษาผู้ป่วยโควิดฯ สีเขียว

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักการส่งเสริมการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการ เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาและลดภาระระบบสาธารณสุข ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ซึ่งที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการมาตรการเชิงป้องกันความรุนแรงของโรคโควิด-19 ด้วยการใช้ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่มีศักยภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์และลดการแบ่งตัวของไวรัส ใช้รักษาในกลุ่มผู้ต้องขังที่มีอาการไม่รุนแรง จำนวน 1.18 หมื่นคน

    ซึ่งพบว่าได้ผลดีสามารถรักษาผู้ต้องขังหายแล้ว ร้อยละ 99.02 จากยอดผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด19  ซึ่งปัจจุบันกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้เรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศปลูกสมุนไพรประเภทต่างๆ โดยเน้นการปลูกฟ้าทะลายโจรและกระชายขาวเป็นหลักในพื้นที่ 141 ไร่ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นเพื่อช่วยผู้ต้องขังในเรือนจำที่ติดเชื้อโควิค-19 และโรคอื่นๆ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไปด้วย

    ทั้งนี้  ที่ประชุมยังได้กำชับถึงการส่งเสริมใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่มีอาการ จะต้องชี้แจงแนวทางให้ชัดเจน เช่น แนวทางการรักษา ปริมาณยาที่เหมาะสมต่ออาการของผู้ป่วย ข้อควรระวัง อาการข้างเคียง แนวทางการผลิตและจัดจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปริมาณยาฟ้าทะลายโจรที่เหมาะสม จะต้องมีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่ผู้ป่วยควรได้รับปริมาณ 180 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งเป็น 60 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร จึงจะได้ผลชัดเจน

    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์พิจารณาหาแนวทางมาตรการป้องกัน เพื่อไม่ให้มีการกักตุนสินค้ายาฟ้าทะลายโจร ตลอดจนควบคุมราคาของยาฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

  • ครม. เห็นชอบใช้ “ฟ้าทะลายโจร” รักษาผู้ป่วยโควิดฯ ที่ยังไม่มีอาการ
  • รับลูก กสม. พิจารณาคุ้มครองสิทธิผู้ชุมนุม

    นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า   ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เสนอแนะไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

    สำหรับข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ของกสม.มีดังนี้

    • ครม. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรแสดงออกที่ชัดเจนถึงการเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และควรคำนึงถึงหลักความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ถือว่า “การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น” อย่างเคร่งครัด การบังคับใช้กฎหมายหรือปฏิบัติการใดๆ จึงควรเป็นไปในแนวทางการเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นหลัก

    ทั้งนี้อาจนำหลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ  ซึ่งจัดทำโดยผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสันติมาเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

    • ครม. ควรมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม ระหว่างการชุมนุมและที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งให้ความคุ้มครองเสรีภาพ

    โดยอาจบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลักแทนการใช้กฎหมายอื่นๆ  เช่น กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

    • ครม. ควรดำเนินการให้สังคมโดยรวมเชื่อมั่นว่า ความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ล่าช้า รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่และช่องทางในการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
    • กสม.ขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของ ครม. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะให้รับทราบและเข้าใจอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการดูแลความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยควรให้ความสำคัญกับการชี้แจงโดยระบุเหตุผลความจำเป็น และความได้สัดส่วนที่ต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และขอสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด

    ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุย รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างทั่วถึง โดยมีคนกลางที่ได้รับการยอมรับทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการรับฟัง เพื่อเป็นหลักประกันว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและทุกฝ่ายจะได้รับการรับฟังและร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธีโดยเร็ว

    ไฟเขียว มท.พัฒนาระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้า

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบแนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service – FVS) และอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการพัฒนา และจัดให้มีระบบ FVS และดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบ FVS ที่กระทรวงมหาดไทยพัฒนา มีความมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ สอดคล้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

    พร้อมทั้งให้สำนักงบประมาณให้การสนับสนุนงบประมาณกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและจัดทำระบบFVS โดยครอบคลุมการพัฒนาและติดตั้งซอฟแวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การจัดหาอุปกรณ์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับการให้บริการและการทดสอบประสิทธิภาพและความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ตลอดจนการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน และข้อตกลงการให้บริการของระบบ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับการบริหารงานและการให้บริการ และให้กระทรวงมหาดไทย หรือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  รายงานการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในส่วนของการพัฒนาระบบ Digital ID ให้ ครม. ทราบเป็นระยะ

    สำหรับการพัฒนาและจัดให้มีระบบ FVS เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการพัฒนาระบบ Digital ID ของประเทศ ในส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสนับสนุนบริการภาครัฐ สำหรับประชาชนและธุรกิจในการเข้าถึงบริการภาครัฐในรูปแบบของการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จโดยระบบDigital ID  ซึ่งรวมถึงระบบFVS จะสามารถนำมาทดแทนกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางกายภาพ โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางไปพิสูจน์ตัวตนยังที่ทำการหรือสาขาของหน่วยงานที่ต้องการทำธุรกรรมทุกครั้งได้

    ส่วนระบบFVS ที่กระทรวงมหาดไทยจะพัฒนาขึ้น  เป็นระบบที่จะใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Digital ID) ของผู้รับบริการระบบหนึ่ง โดยมีกลไกการทำงานที่ใช้เทคโนโลยีในการระบุตัวบุคคลด้วยการเปรียบเทียบภาพใบหน้าที่ผู้รับบริการถ่ายส่งเข้าระบบกับฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ โดยใช้AI ที่มีความแม่นยำตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และแจ้งผลในรูปแบบร้อยละของความถูกต้องของภาพถ่ายกับฐานข้อมูลภาพใบหน้า

    กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย กิจการที่มีลูกจ้างเกิน 50 คน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรฐานที่สถานประกอบกิจการสมควรจะต้องมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และมีการทบทวน ปรับปรุง  แก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างมีความปลอดภัยในการทำงานยิ่งขึ้น  เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานปี 2554

    สำหรับร่างกฎกระทรวงฯฉบับนี้จะกำหนดให้ใช้บังคับแก่ สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยให้นายจ้างต้องจัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน นับตั้งแต่วันที่มีลูกจ้างครบ 50 คน และดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมกำหนดให้นายจ้างจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และพร้อมให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ

    นอกจากนี้ในร่างกฎกระทรวงฯยังได้กำหนดรายละเอียดของนโยบาย โครงสร้างการบริหารระบบ และแผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและการนำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งการประเมินผล และการทบทวนระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน และการดำเนินการปรับปรุงด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

    เห็นชอบกำหนดพื้นที่-สิทธิประโยชน์ ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ซึ่งประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญ คือ กพศ.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการกำหนดพื้นที่และแนวทางการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ประกอบด้วย

    • ภาคเหนือได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย
    • ภาคกลาง-ตะวันตกได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
    • ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

    โดยได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ แล้วนำเสนอกพศ.ต่อไป

    ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้จังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ พิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ เพื่อประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของกพศ.ต่อไป

    นอกจากนี้กพศ.ยังได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ได้แก่  เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สงขลา สระแก้ว ตราด หนองคาย นครพนม มุกดาหาร เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยแนวทางการดำเนินงานจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ การจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและการบริหารจัดการแรงงานและผู้ประกอบการ โดยจะจัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น ด้านสิทธิประโยชน์ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

    ทั้งนี้ที่ประชุม กพศ. ได้เห็นชอบให้เทศบาลตำบลสำนักขาม ใช้พื้นที่ประมาณ 19 ไร่  ในที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาของแปลงที่จะจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เช่า(แปลงที่ 2) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2  พร้อมทั้งเห็นชอบให้เปิดประมูลสรรหาผู้ได้รับสิทธิพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    คลังปรับแผนกู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน ดันหนี้ต่อจีดีพีแตะ 58.88%

    มีรายงานเพิ่มเติมว่า ครม. ได้อนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ปรับปรุงครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่จากกรอบวงเงินเดิม 1,647,131.74 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,797,131.74 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นสุทธิ 150,000 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับความต้องการในการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลเพื่อดำเนินแผนงาน หรือโครงการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม) เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้สำหรับดำเนินมาตรการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 2564

    ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวเป็นการเปิดกรอบวงเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ การกู้เงินตาม พ.ร.ก.โควิด-19 เพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงการคลังยังไม่ได้ดำเนินการกู้เงินแต่อย่างใดและจะกู้เงินเมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้พิจารณาและเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติแล้วเท่านั้น โดยกระทรวงการคลังยังไม่ได้กู้เงินทั้งจำนวน แต่จะทยอยกู้เงินตามความจำเป็นของแผนการใช้จ่ายเงิน

    ทั้งนี้ เมื่อปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 3 ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นงบประมาณปี 2564 เท่ากับร้อยละ 58.88 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2564เพิ่มเติม