ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: โควิด-19 รอบสัปดาห์ “ติดเชื้อต่อวันใกล้หมื่น ล็อกดาวน์ 6 จว. เริ่ม 12 ก.ค.”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: โควิด-19 รอบสัปดาห์ “ติดเชื้อต่อวันใกล้หมื่น ล็อกดาวน์ 6 จว. เริ่ม 12 ก.ค.”

10 กรกฎาคม 2021


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 ก.ค. 2564

  • โควิด-19 รอบสัปดาห์: ติดเชื้อต่อวันใกล้หมื่น นายกฯ ประกาศล็อกดาวน์ กทม.–ปริมณฑล รวม 6 จังหวัด เริ่ม 12 ก.ค.
  • ผิดจากเคยคาด ไม่ใช่อีก 3-4 เดือน “หมอยง” เผย เดลตาใน กทม. 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว
  • ศบค. ชี้ เดลตาระบาดเร็ว อาทิตย์อาจติดเชื้อถึงวันละหมื่น
  • เดือดความเห็นประชุมค้านฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ — สธ. บอกเอกสารจริง กรมควบคุมโรคบอกเอกสารปลอม
  • ครม. เคาะซื้อ ไฟเซอร์เป็นวัคซีนหลักฉีดฟรี โมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือก และซื้อซิโนแวคเพิ่ม
  • นายกฯ–รมต. บางส่วน ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน

  • โควิด-19 รอบสัปดาห์: ติดเชื้อต่อวันใกล้หมื่น ล็อกดาวน์ 6 จว.12 ก.ค.

    จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุเก้าพันคนต่อวัน
    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจ ไทยรู้สู้โควิด

    สถานการณ์รุนแรงขึ้นผู้ติดเชื้อเข้าใกล้หลักหมื่นต่อวัน

    ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา (3-9 ก.ค. 2564) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ไต่ระดับอย่างต่อเนื่องจากวันละ 5 พันกว่ารายมาตั้งแต่กลางอาทิตย์ จนในที่สุด วันที่ 9 ก.ค. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็มาถึง 9,276 ราย และวันที่ 10 ก.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,326 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นก็ขยับใกล้วันละเกือบ 100 ราย ทว่าจำนวนผู้ป่วยที่รักษาจนหายกลับยังวนเวียนอยู่ที่ 3-4 พันกว่าราย เรียกได้ว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

    มาตรการที่ไม่ได้ผล

    ก่อนจะมาถึงจุดนี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศยืนยันไม่ล็อกดาวน์ แต่ต่อมาในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย. 2564 ก็กลับมีประกาศข้อกำหนดเผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ที่นอกจากจะมีข้อกำหนดเรื่องการปิดแคมป์ก่อสร้างดังที่นายกฯ กล่าวไปก่อนหน้า ยังมาพร้อมกับคำสั่งที่ให้ร้านอาหารต่างๆ งดการรับประทานในร้าน โดยให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว โดยเริ่มมีผลในวันที่ 28 มิ.ย. 2564

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    “คำว่าล็อกดาวน์มันยิ่งใหญ่ เราใช้คำว่าควบคุมกิจการ พื้นที่ คลัสเตอร์ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ… เป็นการควบคุมโรคเป็นพื้นที่เป็นกลุ่ม ถ้าพูดว่าล็อกดาวน์มันน่าตกใจไปหมด พูดว่าล็อกดาวน์คือทุกคนอยู่บ้าน มันก็มีปัญหาอีก”

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    กล่าวในการแถลงมาตรการต่างๆ และยืนยันไม่ล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564

    แต่แล้ว ตัวเลขข้างต้นคงพอจะทำให้เห็นกันว่า มาตรการที่มาพร้อมอาการ “ศุกร์บอกไม่ล็อก–อาทิตย์ล็อกไม่บอก” ของนายกรัฐมนตรี ไม่อาจบรรลุประสิทธิภาพในการยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

    ผิดจากเคยคาด ไม่ใช่อีก 3-4 เดือน “หมอยง” เผย เดลตาใน กทม. 70 %แล้ว

    ศ. นพ.ยง ภู่วรรณ
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

    กระแสการล็อกดาวน์คุกรุ่นขึ้นพร้อมการมาถึงของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (delta variant) ที่เดิมที ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยระบุไว้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2564 ว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในการระบาดภายใน 3-4 เดือน แต่ล่าสุด ศ. นพ.ยง ระบุอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค. 2564 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันของ กทม. นั้น เมื่อศึกษากลุ่มตัวอย่าง 700 ตัวอย่างแล้ว “พบว่าอัตราส่วนในการพบสายพันธุ์เดลตาสูงขึ้นเร็วมาก จนขณะนี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยเป็นสายพันธุ์เดลตา”

    นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมายังเป็นช่วงเวลาที่โลกเริ่มกังวลต่อการอุบัติขึ้นของโควิด-19 สายพันธุ์แลมบ์ดา (lambda variant) ด้วย โดยพบผู้ป่วยด้วยสายพันธุ์นี้ในสหราชอาณาจักรแล้ว 8 ราย แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่ามีความอันตายกว่าสายพันธุ์เดลตาที่มีลักษณะหลักคือ “แพร่กระจายเร็ว ติดเชื้อง่าย หนีภูมิคุ้มกัน” ก็ตาม

    ศบค. ชี้ เดลตาระบาดเร็ว สัปดาห์หน้าอาจติดเชื้อถึงวันละหมื่น

    วันที่ 7 ก.ค. 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ได้แสดงความกังวลถึงการระบาดของสายพันธุ์เดลตาระหว่างการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน โดยระบุว่า ทางด้านแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความเป็นห่วงเรื่องของการแพร่ระบาด มีการประเมินคร่าวๆ ว่า เริ่มพบสายพันธุ์เดลตาประมาณช่วงเดือนมิถุนายน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริการายงานว่าสายพันธุ์นี้มีความสามารถแพร่กระจายเร็ว คาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์ ตอนนี้เราจะเห็นตัวเลข 1,000 ขึ้นเป็น 2,000 เป็น 4,000 ถ้าสมมติเราคาดการณ์ไปในสัปดาห์หน้าอาจจะยังขึ้นได้ถึง 10,000 รายต่อวัน

    เดือดความเห็นประชุมค้านฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ — สธ. บอกเอกสารจริง กรมควบคุมโรคบอกเอกสารปลอม

    ที่มาภาพ: บันทึก “อนุทิน ชาญวีรกูล” กับวิกฤติโควิด-19

    วันที่ 4 ก.ค. 2564 โลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่เอกสารผลการประชุมเฉพาะกิจร่วม ระหว่าง คณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อ 30 มิ.ย 2564 ณ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

    หนึ่งในความเห็นที่ถูกบันทึกไว้ในผลการประชุม และก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนักก็คือ ความเห็นที่มีต่อการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งระบุว่า “ในขณะนี้ ถ้าเอา[วัคซีนไฟเซอร์]มาฉีดกลุ่ม 3 (บุคลากรทางการแพทย์) แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนากยกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็น “ของจริง” แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารภายในจากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ เราไม่ควรที่จะไปพิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นเรื่องของวิชาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้มาเป็นขั้นตอนปฏิบัติ ก็ยังไม่มีผลอะไร

    นอกจากนี้ ในส่วนของความคิดเห็นเรื่องคัดค้านการฉีดไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ นายอนุทินกล่าวว่า ตรงนั้นต้องสอบถามไปยังอาจารย์เหล่านั้น (ผู้ออกความเห็นดังกล่าว) แต่ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์กันไปโดยที่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติหรือผลบังคับใช้

    ขณะเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของปลอม

    ครม. เคาะซื้อ ไฟเซอร์ป็นวัคซีนหลักฉีดฟรี โมเดอร์นาเป็นวัคซีนทางเลือก และซื้อซิโนแวคเพิ่ม

    วันที่ 6 ก.ค. 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้จัดหาวัคซีนไฟเซอร์มาเป็นวัคซีนหลักในการฉีดฟรีให้ประชาชนจำนวน 20 ล้านโดส รวมทั้งเห็นชอบให้จัดหาวัคซีนโมเดอร์นามาเป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนสามารถซื้อจากภาคเอกชนได้ โดยจะให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวกลางในการจัดหา จำนวนประมาณ 5-9 ล้านโดส และนำเข้าภายในไตรมาส 4

    นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบให้ซื้อวัคซีนซิโนแวค จำนวน 10.9 ล้านโดส วงเงิน 6,111 ล้านบาท ตามข้อเสนอของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ด้วย

    ล็อกดาวน์อีกครั้งตามข้อเสนอ สธ.–ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน

    วันที่ 8 ก.ค. 2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวด่วนสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขฉุกเฉินกรณีโรคโควิด-19 (EOC) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ในพื้นที่ กทม. เห็นตรงกันที่ สธ. จะเสนอ ศบค. ในการยกระดับมาตรการทางสังคม

    และในที่สุด วันที่ 9 ก.ค. 2564 ที่ประชุม ศบค. ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ก็ประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด รวมทั้งยกระดับมาตรการควบคุมโรครวม 10 จังหวัดที่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 โดยให้มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 และยังมีมติเห็นชอบให้ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ออกไปอีก 2 เดือน คือถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564

    โดยสรุปมาตรการต่างๆ ได้ดังนี้

    มาตรการ 1: จำกัดการเคลื่อนย้ายและดำเนินกิจกรรมของบุคคล
    มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ)

    • ระบบขนส่งสาธารณะปิดให้บริการ 21.00-03.00 น.
    • ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น.
    • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านขายยา ร้านขายอุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น.
    • ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามกินอาหารหรือดื่มสุราในร้าน เปิดบริการได้ถึงเวลา 20.00 น.
    • ปิดสถานที่เสี่ยงติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
    • สวนสาธารณะเปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
    • ทั้งรัฐและเอกชนทำงานที่บ้านมากที่สุด
    • ห้ามการรวมกลุ่มเกิน 5 คนขึ้นไปหากการรวมกลุ่มนั้นไม่ใช่เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบอาชีพ กิจกรรมศาสนาหรือประเพณี

    มาตรการ 2: ห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น
    มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ) และ 4 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส)

    • ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 21.00 น. – 04.00 น. ยกเว้นกรณีจำเป็น เช่น เจ็บป่วย การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณูปโภค
    • ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุมเพื่อจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ให้มีผลตั้งแต่ 10 ก.ค. 2564
    • สถานศึกษาให้จัดการเรียนออนไลน์เท่านั้น

    มาตรการ 3: ด้านการแพทย์
    มีผลบังคับใช้: กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ)

    • เร่งรัดการให้บริการตรวจหาเชื้อ ด้วยการเพิ่มจุดตรวจ เพื่อแยกคนป่วยออกจากชุมชน
    • สธ. ปรับแผนการกระจายวัคซีน โดยจะเร่งฉีดผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ตั้งเป้าหมายฉีดให้ได้ 1 ล้านโดส ภายใน 2 สัปดาห์
    • จัดสรรวัคซีนที่ได้รับบริจาคจากต่างประเทศ ทั้งไฟเซอร์และแอสตราเซนเนก้าให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ชาวต่างชาติที่อายุเกิน 60 ปีและมีโรคประจำตัว และผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต
    • ให้จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์เป็น booster dose ให้บุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุด
    • เพิ่มขีดความสามารถการรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยการจัดตั้ง รพ.สนาม ไอซียูสนาม การแยกกักในชุมชน (community isolation) และการแยกกักที่บ้าน (home isolation) รวมถึงการให้ฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงที่อยู่ระหว่างแยกกัก

    นายกฯ–รมต. บางส่วน ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน

    ท่ามกลางที่ประชุม ศคบ. วันที่ 9 ก.ค. 2563 นายกฯ ได้ประกาศว่าตนจะไม่รับเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้นำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

    ทั้งนี้ อัตราเงินเดือนประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ 75,590 บาท และอัตราเงินประจำตำแหน่ง 50,000 รวมทั้งสิ้น 125,590 บาทต่อเดือน ดังนั้น หากนำจำนวนเงิน 125,590 บาท มารวมกัน 3 เดือน ก็จะรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 376,770 บาท (อนึ่ง แม้จะนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมด้วย แต่นายกฯ ไม่รับเงินเดือนในตำแหน่งดังกล่าว)

    อนึ่ง นอกจากนายกฯ แล้ว ก็ยังมีรัฐมนตรีบางส่วนแสดงเจตจำนงแบบเดียวกันด้วย คือ

    1. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
    2. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
    3. จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
    4. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
    5. ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
    6. สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
    7. ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
    8. วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    9. จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
    10. สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
    11. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    12. อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
    13. อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
    14. สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
    15. ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    16. นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
    17. ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    18. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
    19. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
    20. วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — ล็อกดาวน์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 12 ก.ค. นายกฯ ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ WorkpointTODAY — ศบค. ชี้สายพันธุ์เดลตาระบาดเร็ว คาดสัปดาห์หน้ายอดผู้ติดเชื้อในไทยอาจถึง 10,000 รายต่อวัน เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง
    เว็บไซต์ KAPOOK — สรุปดราม่าหลุดเอกสาร ค้านฉีดไฟเซอร์หมอด่านหน้า หวั่นทำอีกยี่ห้อดูแย่ – อนุทินตอบแล้ว
    เว็บไซต์ workpointTODAY — ‘อนุทิน’ รับ เอกสารหลุดจริง ไม่ฉีดไฟเซอร์ให้แพทย์เปป็นเข็ม 3 ยังไม่ใช่มติ
    เว็บไซต์คมชัดลึก — “อธิบดีกรมควบคุมโรค” แจงปม “เอกสารหลุด” ของปลอม ไม่ชัด “ไฟเซอร์” 1.5 ล้านโดส ให้ใคร
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — ครม.เห็นชอบจัดหาไฟเซอร์ 20 ล้านโดส เป็นวัคซีนหลักฉีดให้คนไทยฟรี
    เฟซบุ๊กแฟนเพจกรุงเทพธุรกิจ — สธ. ชง ศบค. “ล็อกดาวน์” 14 วัน คุม “โควิด-19” มาตรการเท่า เม.ย. 63
    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ — ประยุทธ์-คณะรัฐมนตรี ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน
    เว็บไซต์ SANOOK — นักข่าวดังเผย “ประยุทธ์” รับเงินเดือนนายกฯ ตำแหน่งเดียว ชาวเน็ตขุดเจอควบ 57 ตำแหน่ง
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — จับตาโควิดสายพันธุ์เดลตา พบมากในแรงงาน คาด 3-4 เดือนระบาดหนักในไทย
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — “หมอยง” เผยตรวจพบโควิดสายพันธุ์เดลตาในผู้ป่วย กทม. สูงถึง 70%
    เว็บไซต์ PPTVHD36 — รวมข้อมูลโควิด-19 สายพันธุ์ “แลมบ์ดา” อันตรายกว่า “เดลตา” จริงหรือ?
    เว็บไซต์ไทยพับลิก้า — บันทึก “อนุทิน ชาญวีรกูล” กับวิกฤติโควิด-19