ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อหญิงเหล็กแห่งเยอรมนีโบกมืออำลา

เมื่อหญิงเหล็กแห่งเยอรมนีโบกมืออำลา

20 กันยายน 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นางอังเกลา โดโรเทอา แมร์เคิล (Angela Dorothea Merkel) จะอยู่ในตำแหน่งครอบ 16 ปีพอดีปลายเดือนกันยายนนี้ ที่มาภาพ : https://www.bundeskanzlerin.de/bkin-en

ปลายเดือนกันยายนนี้ เป็นเดือนสุดท้ายที่สตรีที่สื่อมวลชนตะวันตกให้เกียรติว่าเป็น “สตรีที่มีอิทธิพลมากที่สุดของโลก” เธอได้รับฉายาว่า นายกฯ หญิงเหล็ก (Eiserne Kanzlerin) ที่นักวิจารณ์จำนวนมากเปรียบเธอเป็นผู้นำแห่งโลกเสรี กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง และเยอรมนีจะมีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ และเมื่อถึงเวลานั้น นางอังเกลา โดโรเทอา แมร์เคิล (Angela Dorothea Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี จะอยู่ในตำแหน่งครอบ 16 ปีพอดี ประวัติศาสตร์จะจดจำว่า เธอคือสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ และเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมันคนแรกที่อยู่ในอำนาจนานที่สุดโดยชนะเลือกตั้งติดต่อกันถึง 4 ครั้ง

นิตยสารฟอบส์ (Forbes) ยกย่องเธอเป็นบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดในโลกมากถึง 12 ปีติดต่อกัน จัดได้ว่าเป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี โดยที่ชาวเยอรมันเรียกเธอด้วยชื่อเล่นว่ามุตติ (Mutti) หรือ “แม่” แต่สื่อมวลชนระดับโลกขนานนามเธอว่า “ราชินีแห่งการทูต” (Queen of Diplomacy) เพราะเธอสามารถทำงานกับผู้นำประเทศมหาอำนาจที่มีความเห็นแตกต่างจากเธอได้อย่างมาก และประสบความสำเร็จตลอดมา

ที่มาภาพ : https://www.forbes.com/power-women/#1d9231935e25

เธอมีเอกลักษณ์ในการประสานนิ้วมือทั้งสองข้างเป็นรูปสามเหลี่ยมหัวคว่ำซึ่งปรากฏในภาพการหาเสียงของเธอในแต่ละครั้ง… อะไรคือเบื้องหลังของความสำเร็จของสตรีผู้นี้

ในบรรดาผู้นำของโลก อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นผู้ที่ชื่นชมนางแมร์เคิลมากที่สุด แม้ว่ามีนโยบายหลายอย่างที่นางแมร์เคิลไม่เห็นด้วยกับเขาก็ตาม เป็นต้นว่า การแก้ไขปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแมร์เคิลประกาศว่าเยอรมนีจะยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสิ้นเชิงในปี ค.ศ. 2050

นางแมร์เคิลไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังทหารบุกอัฟกานิสถาน และนางเป็นผู้นำคนเดียวของประเทศในยุโรปที่ไปเยี่ยมประเทศนี้กว่าสิบครั้ง เธอได้ส่งกำลังพัฒนาสตรีและเด็กหญิง ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่กองกำลัง NATO อยู่ในอัฟกานิสถาน

นางแมร์เคิลได้เดินทางไปร่วมพิธีศพของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อ ที่มลรัฐเท็กซัส ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ขอบคุณ โดยวาดรูปของนางแมร์เคิลให้เป็นพิเศษอีกด้วย และยกย่องว่านางเป็นผู้นำที่มีความกล้าหาญทางศีลธรรม และเมื่อมีการประชุม G8 ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในรัสเซีย เขาได้นวดไหลทั้งสองข้างให้นางอีกด้วยจนเป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลก แสดงถึงความเป็นกันของของผู้นำทั้งสองชาติ

ผู้นำที่มีปัญหากับนางแมร์เคิลมากที่สุดคือประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ซึ่งไม่ยอมรับเรื่องโลกร้อน และกล่าวหากว่านางแมร์เคิลนำเยอรมนีไปเป็น “สมุน” ของรัสเซีย โดยนางปฏิเสธไม่เชื่อฟังทรัมป์ที่จะคว่ำบาตรรัสเซีย และไม่เห็นด้วยที่อเมริกาตั้งกำแพงภาษีต่อต้านจีน นางแมร์เคิลเชื่อในการค้าเสรี มีความเป็นตัวของตัวเองอย่างสูง และกล้าพอที่จะเผชิญหน้ากับทรัมป์โดยตรง จนทรัมป์ไม่ยอมจับมือเธอเป็นการประท้วง

ที่มาภาพ : https://www.bundeskanzlerin.de/bkin-en/chancellor-angela-merkel-in-afghanistan-440678

นางแมร์เคิลเกิดในนครฮัมบวร์ค ประเทศเยอรมนีตะวันตก โดยมีชื่อตอนเกิดว่า อังเกลา โดโรเทอา คันสเนอร์ (Angela Dorothea Kansner) เกิดวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1954 เป็นธิดาของบาทหลวงในคริสต์ศาสนานิกายลูเธอลัน

ต่อมาไม่นานหลังจากนั้นครอบครัวของเธอได้ย้ายไปยังประเทศเยอรมนีตะวันออก ก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะเกิดขึ้น เธอได้จบการศึกษาปริญญาเอกสาขาควอนตัมเคมี (Quantum Chemistry) และทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันทางฟิสิกส์ในเบอร์ลินตะวันออก ในยุคสงครามเย็น ซึ่งประชาชนไม่มีเสรีภาพ ทุกคนถูกรัฐบาลจับตามองตลอดเวลา ประชาชนพยายามหลบหนีออกจากเบอร์ลินตะวันออก

เนื่องจากบ้านและที่ทำงานของเธออยู่ไม่ห่างจากกำแพงเบอร์ลินเท่าใดนัก การที่เธอได้อยู่ในเบอร์ลินตะวันออกซึ่งรัฐบาลทำงานภายใต้การกำกับของสหภาพโซเวียต ทำให้เธอได้เรียนภาษารัสเซียอย่างแตกฉาน เธอเล่าว่าทุกวันเธอต้องเดินหันหลังให้กำแพงนี้ด้วยความอดสู ไม่อยากแม้เพียงจะคิดถึงมัน แต่แล้วโชคชะตาชีวิตของเธอได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในปี ค.ศ. 1989 เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลาย เธอจึงตัดสินใจเข้าเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวโดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของอดีตเยอรมันตะวันออก

ในชีวิตส่วนตัว นางแมร์เคิลได้สมรสครั้งแรกใน ค.ศ. 1977 เมื่อเธออายุได้ 23 ปี กับนายอุลริช แมร์เคิล ทั้งสองเป็นเพื่อนเรียนด้วยกันตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ต่อมาทั้งคู่หย่าร้างกันในปี ค.ศ. 1982 เมื่อเธอลงเล่นการเมือง กระนั้นนางยังคงใช้นามสกุลแมร์เคิลต่อไป เนื่องจากเป็นชื่อที่ติดตลาดเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้ว ต่อมานางแมร์เคิลได้สมรสครั้งที่สองในปี 1998 กับนายโจอาคิม เซาเออร์ (Joachim Sauer) ศาสตราจารย์วิชาควอนตัมนิวเคลียร์ฟิสิกส์

แม้ในปัจจุบันนางได้เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในอาพาร์ตเมนต์เล็กๆ ของนายเซาเออร์แทนที่จะพำนักในอาคารสำนักนายกรัฐมนตรีแทนที่ใช้สิทธิที่จะพำนักใน Federal Chancellery (Bundeskanzleramt) หรือที่ทำการของรัฐบาลเยอรมนีในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งภายในเป็นทั้งที่ทำงานและบ้านพักของผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเช่นเดียวกับทำเนียบขาวของสหรัฐอเมริกา หรือบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิงของนายกฯ อังกฤษ แมร์เคิลไม่มีลูก แต่ศาสตราจารย์เซาเออร์มีลูกชายสองคนซึ่งเกิดกับภรรยาคนเก่า แมร์เคิลเคยถูกสุนัขกัดในปี 1995 ทำให้เธอกลัวสุนัขตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นางอังเกลา โดโรเทอา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่มาภาพ : https://www.bundeskanzlerin.de/bkin-en/news/a-milestonefor-tomorrow-s-industry-442790

นางแมร์เคิลได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นรองโฆษกรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกที่มาจากการเลือกตั้งคณะแรก ต่อมาภายหลังการรวมประเทศเยอรมนีอย่างถาวร ในปี ค.ศ. 1990 นางได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาล่าง ต่อมานางได้รับแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเฮ็ลมูท โคล (Helmut Kohl) ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสตรีและเยาวชนในปี ค.ศ. 1991 และต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม-อนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ในปี ค.ศ. 1994 นายเฮ็ลมูท โคลเป็นผู้ให้การสนับสนุนนางแมร์เคิลมาตลอดยุคสมัยของเขา

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคที่เธอสังกัดพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ค.ศ. 1998 เธอก็ได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรค และก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคในอีกสองปีต่อมา และได้นำพรรคชนะการเลือกตั้ง เธอได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 2005 เธอเป็นผู้นำของพรรคนี้เรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายของเยอรมนีในปี ค.ศ. 2017 พรรคสหภาพประชาธิปไตย (Christian Democratic Union: CDU)

หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2005 พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียนของนางแมร์เคิลได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นางแมร์เคิลได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีหญิงคนแรกและเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี โดยนางได้เสียงข้างมาก 397 ต่อ 217 เสียงในสภาล่าง อย่างไรก็ตาม มีผู้แทน 51 คนในพรรคร่วมรัฐบาลที่ลงมติคัดค้าน

ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2009 พรรคของนางแมร์เคิลได้ที่นั่งในสภาล่างมากขึ้น นางได้พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party) มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และนางก็ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง เหตุการณ์สำคัญในคณะรัฐมนตรีที่สองคือการแก้วิกฤติเศรษฐกิจของ EU การเลิกเกณฑ์ทหาร จำนวนคนว่างงานลดเหลือไม่ถึง 3 ล้านคน

การเข้ารับตำแหน่งของนางแมร์เคิลได้สร้างความมั่นคงให้กับสหพันธสาธารณรัฐเยอรมันขึ้นมาทันที เพราะแม้กำแพงเบอร์ลินล่มสลายไปแล้ว แต่ประชาชนในเยอรมันทั้งตะวันตกและตะวันออกยังมีความรู้สึกแปลกแยก เพราะคิดแตกต่างกันมากในหลายประเด็น เนื่องจากนางแมร์เคิลมาจากเบอร์ลินตะวันออก และได้เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ความรู้สึกแปลกแยกนั้นจึงจางหายไปโดยปริยาย การรวมชาติจึงเกิดขึ้นอย่างมั่นคงเป็นความสำเร็จเบื้องตนของนางแมร์เคิล

ที่มาภาพ : https://www.bundeskanzlerin.de/bkin-en/news/merkel-visits-flood-hit-area-1957548

ความสำเร็จประการที่สองคือ นางได้แก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 2008 ซึ่งประเทศกรีซอยู่ในภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มจะต้องหลุดจาก EU ในฐานะที่เยอรมันเป็นแกนหลักในการใช้เงินสกุลเดียวกัน นางแมร์เคิลออกมาประกาศกร้าวที่จะเข้าไปพยุงเศรษฐกิจของกรีซ ด้วยเหตุผลที่ว่าหากกรีซหลุดออกจาก EU ประเทศอื่นๆ ก็จะหลุดตามไปด้วย นางแมร์เคิลได้มีบทบาทอย่างแข็งขันในการกู้สภาพเศรษฐกิจของกรีซด้วยมาตรการต่างๆ มากมายจนในที่สุดกรีซหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้นได้สำเร็จ ทำให้นางแมร์เคิลได้รับการยกย่องจากชาวเยอรมันและผู้นำประเทศในสหภาพยุโรปอย่างมาก

ความสำเร็จประการที่สามคือการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยชาวอาหรับ ที่หลบหนี้เข้าเมืองมาจากปรากฏการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) ซึ่งเกิดขึ้นตอนต้นปี ค.ศ. 2010 นางแมร์เคิลได้เปิดพรมแดนต้องรับผู้ลี้ภัยนับแสนเหล่านี้ ให้มีที่พึ่งพิงอย่างถูกกฎหมาย แต่ไม่ช้าคะแนนนิยมในตัวนางเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อมีข่าวที่ชายอาหรับผู้ลี้ภัยคนหนึ่งก่อคดีอาชญากรรมข่มขืนหญิงสาวชาวเยอรมัน และคดีอาชญากรรมต่างๆ ในเยอรมนีและ EU พุ่งขึ้นสูงอย่างมาก พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดจึงประณามนโยบายของเธออย่างมาก ชาวเยอรมันจำนวนนับหมื่นลงเดินถนนเพื่อประท้วงนโยบายนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมของคะแนนนิยมในตัวนางแมร์เคิล แม้กระนั้น ประเทศอื่นๆ ยังคงชื่นชมในความกล้าหาญทางจริยธรรมของนาง นางแมร์เคิลแก้ไขวิกฤตินี้ด้วยการเข้าไปเจรจากับนายกรัฐมนตรีตุรกี ให้ประเทศตุรกีรับผู้อพยพเหล่านี้โดยที่รัฐบาลของเธอจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้

พรรค CDU ของนางแมร์เคิลยังคงได้ครองชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2013 แต่ครั้งนี้พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) ได้ถอนตัวจากรัฐบาลในปี ค.ศ. 2017 อันเนื่องมากจากนโยบายรับผู้ลี้ภัย ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหลังนี้ พรรคของนางครองสัดส่วนที่นั่งในสภาน้อยกว่าที่เคยได้มาอย่างมีนัยสำคัญ นางจึงพยายามเทียบเชิญพรรคเสรีประชาธิปไตยและพรรคประชาธิปไตยสังคม (Social Democratic Party: SDP) มาร่วมรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จนประธานาธิบดีเยอรมนี นายฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (Frank-Walter Steinmeier) ต้องลงมาช่วยเจรจากับพรรคประชาธิปไตยสังคม ให้ยอมร่วมเป็นรัฐบาลผสมจนสำเร็จ

ส่วนนโยบายกับจีนนั้นนางแมร์เคิลเห็นว่าจีนเป็นเพื่อนสำคัญ และโกรธมากเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเธอไปต้อนรับนายโจชัวร์ หว่อง ถึงสนามบิน และเธอต่อต้านนโยบายการปิดล้อมจีนของสหรัฐฯ กระนั้น นางได้เชิญองค์ทะไลลามะมาเยี่ยมเธอที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในนครเบอร์ลิน เพื่อเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับจีนที่เข้าไปยึดครองทิเบต

นางแมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ประกาศแผนเตรียมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2021 โดยระบุว่าจะไม่แสวงหาตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งและจะไม่ลงชิงชัยในการเลือกตั้งหัวพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ หลังอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคมานานถึง 18 ปี นางกล่าวว่า

ขอรับผิดชอบทั้งหมดต่อผลงานที่ทำได้ไม่ดี ในฐานะนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคซีดียู และขอรับผิดชอบต่อทุกสิ่งทุกอย่างทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว

ขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องเริ่มต้นบทใหม่แล้ว ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวเยอรมันนึกต่อไปไม่ได้ว่าชายคนใดจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เนื่องจากนางแมร์เคิลอยู่ในตำแหน่งนี้นานถึง 16 ปี

แมร์เคิลผู้นำหญิงเหล็กแห่งเยอรมนีรับเงินเดือนมากกว่าประธานาธิบดีแห่งเยอรมนี โดยเงินเดือนของเธอในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้นอยู่ที่ราว 299,700 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าเงินตอบแทนของผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีซึ่งได้รับเงินเดือนอยู่ที่ราว 240,900 ดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ดี มีการคาดว่านางแมร์เคิลนั้นมีทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ราว 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะนี้นางแมร์เคิลอยู่ระหว่างการเดินทางเยี่ยมเยือนผู้นำประเทศต่างๆ ที่เธอรู้จักคุ้นเคย เริ่มตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษได้พระราชทานเลี้ยงน้ำชาแก่นางอีกด้วย ตามด้วยประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ซึ่งนางได้ใช้ทักษะภาษารัสเซียคุยกับนายปูตินอย่างคุ้นเคย ซึ่งนายปูตินเป็นคนชอบสุนัขมาก และทุกครั้งจะพาสุนัขคู่ใจมาต้อนรับนางแมร์เคิลเป็นประจำทั้งๆ ที่รู้ว่านางเกลียดสุนัขเป็นที่สุด!!

แมร์เคิลและประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ที่มาภาพ : https://www.bundeskanzlerin.de/bkin-en/angela-merkel-advocates-pluralism-442756

แมร์เคิลกล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายต่างประเทศที่สำคัญของเธอ ก็ยังจะมุ่งเน้นเรื่องการต่อต้านการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT และได้ใช้เวลาหารือในปัญหานี้กับนายกรัฐมนตรีอังกฤษอยู่นาน เนื่องจากอังกฤษยังแก้ปัญหานี้ไม่ตกในไอร์แลนด์เหนือ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ต้อนรับนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกเธอว่าเป็น “เพื่อนผู้ยิ่งใหญ่” ของสหรัฐฯ และนับเป็นการเยือนทำเนียบขาวครั้งสุดท้ายของนางแมร์เคิล ผู้นำทั้งสองยังหารือกันในประเด็นอื่นๆ ทั้งเรื่องความร่วมมือในการต่อสู้กับภัยคุกคามประชาธิปไตยทั่วโลก การตอบโต้การโจมตีไซเบอร์จากรัสเซียและการรุกรานดินแดนในยุโรปตะวันตก รวมทั้งการผลักดันของจีนเพื่อครอบงำเทคโนโลยีชั้นสูง และยังหยิบยกเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขึ้นมาพูดคุยด้วย แต่ผู้นำทั้ง 2 คนไม่ได้มีเวลามากนักในการทำงานร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดและอันดับ 4 ของโลก

การเยือนสหรัฐฯ ครั้งสุดท้ายนี้นางแมร์เคิลได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ โดยยกย่องว่าเธอเป็น “ผู้นำระดับโลกที่มีหลักการและกล้าหาญ” แต่นางแมร์เคิลกล่าวเพียงว่า เธอเป็นเพียงนักเรียนธรรมดาคนหนึ่งที่เคยศึกษาข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ระหว่างการระบาดของโควิด-19 พร้อมกับย้ำว่า

“เราต้องการชีวิตปกติกลับคืนมา และเราก็จะไม่ยอมแพ้”

ที่มาภาพ : https://www.bundeskanzlerin.de/bkin-en

สิ่งที่นางแมร์เคิลได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณการเป็นผู้นำของเธอ น่าจะมาจากสุนทรพจน์ที่เธอได้กล่าวเป็นปัจฉิมนิเทศน์แก่บัณฑิตจบใหม่ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2019 ซึ่งมีความโดยสรุปว่า

“สิ่งที่ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คือการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอก้าวเข้าไปสู่ที่โล่ง และเธอถามตนเองทุกวันว่า “นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง?” หรือ “นี่คือสิ่งที่เป็นไปได้?” ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์เธอไม่ยอมปล่อยให้อะไรผ่านไปเพราะเห็นว่าเป็น “ส่งที่เป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเองเลย” และเธอไม่ยอมให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล และตัดสินใจทุกอย่างด้วยความรอบคอบแล้วเสมอ และจำเป็นต้องหาความรู้ที่ชัดเจนก่อนว่า “ความจริง” คืออะไร?

และบัณฑิตทุกคนควรทลายกำแพงแห่งความโง่เขลาและจิตใจที่คับแคบ ที่มีอยู่ในตัวเรา ในครอบครัว ในหมู่คณะของเรา ในสังคมและในประเทศของเราให้หมดไป ไม่แบ่งแยกคนด้วยสีผิว ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง บัณฑิตทั้งหลายไม่ควรมองเห็นผู้อื่นเป็นเพียงลูกค้า แหล่งข้อมูล หรือเครื่องมือเพื่อจะได้เขาถึงเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่มาภาพ : https://www.bundeskanzlerin.de/bkin-en/news/-a-great-pleasure-and-an-honour–606608

ไม่มีอุปสรรคใดๆ แม้ดูจะยิ่งใหญ่สักเพียงใดก็ตามที่เราจะเอาชนะไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มที่จิตใจของเราก่อน ปัญหาแห่งศตวรรษที่ 21 นั้นเป็นเรื่องที่ผู้นำรุ่นใหม่ซึ่งได้แก่บัณฑิตจบใหม่ในวันนี้จะไปแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐฐานะ ปัญหาโลกร้อน ภัยก่อการร้าย และการบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นทั้งสิ้น และไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่สามารถที่จะจัดการได้ แต่ทุกคนต้องร่วมกัน

เริ่มจากการทลายกำแพงเหล่านี้ให้หมดไป แล้วเข้าไปยืนในที่โล่งแจ้ง แต่ต้องบอกก่อนว่า การไปยืนในที่โล่งนั้นเป็นการทำให้ตัวเราเองมีอันตรายมากยิ่งขึ้น การกระทำทุกอย่างมีความเสี่ยงเสมอ ขอให้บัณฑิตใหม่ทุกคนซื่อสัตย์กับตัวเอง และเริ่มเปลี่ยนแปลงที่จิตใจของแต่ละคน”

ภายในสิ้นปีนี้นางแมร์เคิลจะทิ้งตำนานไว้ให้คนรุ่นใหม่ทั่วโลกได้ศึกษา แต่ที่แน่นอนที่สุดคือเธอจะไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหญิงคนสุดท้ายของเยอรมนีแน่นอน!!