ThaiPublica > เกาะกระแส > “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมต.คลัง แนะทุกภาคส่วนต้องปรับตัว-ร่วมมือกัน รับมือกระแสเทคโนโลยี

“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมต.คลัง แนะทุกภาคส่วนต้องปรับตัว-ร่วมมือกัน รับมือกระแสเทคโนโลยี

9 สิงหาคม 2017


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ตลาดทุนไทย จะเป็นยังไงในยุคดิจิทัล” ในงาน Thailand Investment Fest 2017 ด้วยแนวคิด “Smart Investor in Digital Era” ว่า ในประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันต่างเป็นจุดเปลี่ยนของโลกและโอกาสเสมอมา นับตั้งแต่ยุคของเกษตรกรรมที่เมื่อเกิดเครื่องจักรไอน้ำก็ได้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ขณะที่ในยุคปัจจุบัน การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตได้นำความเปลี่ยนแปลงของการเข้าถึงความรู้และการสื่อสารอย่างสื่อสังคมต่างๆ เทียบกับในยุคก่อนที่ต้องอาศัยห้องสมุด ซึ่งมีทั้งต้นทุนการเดินทางและบางครั้งไม่สามารถค้นเจอ

นายอภิศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในสมัยใด สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือผู้เล่นเดิมจะได้รับผลกระทบและคนที่ปรับตัวไม่ได้จะต้องถูกทำให้หายไป อย่างเช่นการผลิตในครัวเรือนในยุคเกษตรกรรมที่ถูกการผลิตเชิงอุตสาหกรรมทำให้หายไปในที่สุด ขณะที่ปัจจุบัน การเกิดขึ้นของสื่อสังคมอย่าง Facebook ทำให้รายได้บริษัทโฆษณาหดหายไป และทางเดียวที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงคือต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะหาจุดแข็งของการบริการในมุมใหม่ๆ หรือนำเสนอการบริการที่ดีกว่าด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรในท้ายที่สุดหากทุกคนสามารถปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้สังคมโดยรวมย่อมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ขณะที่คนที่ปรับตัวไม่ได้จะต้องเผชิญกับผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่เข้ามาแข่งขัน

เช่นเดียวกับภาคการเงิน ซึ่งสำหรับธนาคารพาณิชย์ถือว่ามีการปรับตัวได้ค่อนข้างดี นับตั้งแต่สมัยที่เริ่มก่อตั้งประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา การฝาก-ถอน-กู้ยืม จะใช้วิธีจดลงสมุดบันทึกเล่มใหญ่ ต่อมาเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์เข้ามารูปแบบก็เปลี่ยนไปเป็นสมุดบัญชีคู่ฝาก แต่ยังฝาก-ถอนได้เฉพาะสาขาที่เปิดสมุดบัญชีไว้ ต่อมาเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนามากขึ้นก็สามารถทำธุรกรรมได้ทุกสาขา และปัจจุบันการเข้ามาของสมาร์ทโฟนทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมการเงินเปลี่ยนไปทั้งหมด ทำให้เราไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาธนาคารอีกต่อไปและสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่

“จะเห็นว่าธนาคารที่ไม่ทำเรื่องพวกนี้ต่อไปก็จะถูกทิ้งอยู่ข้างหลังและล้าหลังไปเรื่อยๆ การปรับตัวต่างๆ ถูกบังคับให้ปรับ ถ้าไม่ปรับก็มีคนเล่นใหม่ๆ เข้ามา แต่ท้ายที่สุดผลลัพธ์ที่ได้ ผู้รับบริการทุกคน ประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ แต่ตัวกลางจะต้องปรับตัว ดังนั้น ถามว่าคำว่าเทคโนโลยีทางการเงินหรือ FinTech เพิ่งเกิดหรือไม่ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เทคโนโลยีการเงินได้วิวัฒนาการขึ้นมาตลอดเวลา แต่ที่ระยะหลังถูกพูดถึงกันมากก็เพราะเกิดขึ้นรวดเร็วมาก มีแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากจนทำให้คนเริ่มคิดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า แล้วตัวกลางยังจำเป็นต้องมีต่อไปหรือไม่ อาจจะไม่” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์ยกตัวอย่างถึงเทคโนโลยีต่างๆ และทำให้ผู้เล่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวว่า อย่างเช่น Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยให้ธนาคารและภาคการเงินสามารถตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งต่างๆ อย่างไม่ผิดพลาด หากนำไปเชื่อมโยงกับการโอนเงินหรือการซื้อขายหลักทรัพย์ ต่อไปธนาคารหรือแม้แต่ตลาดหลักทรัพย์อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป โดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ที่ปัจจุบันทำหน้าที่ตรวจสอบการฉ้อโกงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นให้สามารถตรวจสอบผ่านระบบของตลาดฯ ได้ แทนที่จะให้ประชาชนทั่วไปซื้อขายหลักทรัพย์กันเอง หรืออย่างระบบใบอนุญาตตั้งธนาคารของประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในปัจจุบันของการเชื่อมโยงระบบการเงินโลก ก็อาจจะหมดไปหลังจากที่นำระบบ Blockchain มารวมกับเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบ Bitcoin หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่อาจจะทำหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ละเอียด แม่นยำ และน่าเชื่อถือกว่านักวิเคราะห์ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีบางครั้งยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการยอมรับของคนในสังคมที่จะต้องมองไปข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานรัฐบางแห่งยังต้องทำความเข้าใจเทคโนโลยีต่างๆ ให้มากกว่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้านี้ และสิ่งที่หน่วยงานรัฐควรมองคือผลประโยชน์ของประชาชน หากได้ประโยชน์ภาครัฐควรจะเดินไปทางนั้น

“แต่ระบบหลายอย่างอาจจะยังไม่ได้จบสมบูรณ์ สิ่งสำคัญคือทุกหน่วยงาน ทุกวงการ จะต้องยอมรับด้วย ในแง่กฎหมาย ก็มีว่าบางครั้งกฎหมายรองรับแล้ว แต่ของจริงเวลาไปถามเอกชน กฎหมายมีจริง แต่เวลาไปขึ้นศาล ศาลบอกขอเอกสารเป็นกระดาษ เอกชนเหนื่อยเลย เรายกระดับทำงานเป็นอิเล็กทรอนิกส์หมดแล้ว มาขอแบบนี้ไม่รู้จะไปเอาที่ไหน เอกชนก็ต้องเก็บกระดาษเหล่านั้นต่อไปอย่างน้อย 10 ปี เผื่อศาลขอ ไม่มี ยุ่งเลย ก็ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนกันไป ทำอย่างไรให้ทุกวงการ ทุกหน่วยงานเข้าใจว่าสิ่งนี้ สิ่งที่กำลังเปลี่ยน หรือในแง่กฎหมายโดยตรงเหมือนกัน บางครั้งเราทำกฎหมายเข้าไปแล้วแต่บางคนบอกไม่ได้ ไม่ได้เพราะไม่เคยเห็น กังวลว่าเราไปจำกัดสิทธิเขาหรือไม่ จะอะไรหรือไม่ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็ต้องมองข้ามไปข้างหน้ากัน มองว่าอะไรจะเกิดขึ้น เตรียมการดูแลตัวเองสักหน่อย อย่าให้เรื่องเทคโนโลยีที่จะเป็นผลดีของประชาชนทำให้องค์กรของตนเองเกิดปัญหา หากทำได้ เราจะสามารถแข่งกับทั่วโลกได้ เหมือนที่อังกฤษคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำและขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมและผู้นำโลกอยู่ช่วงหนึ่ง อันนี้ก็เหมือนกัน” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวต่อไปถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันว่าเน้นไปที่ 3 ประเด็น 1) โครงการ National e-Payment ซึ่งประกอบด้วยหลายโครงการย่อย เช่น พร้อมเพย์ที่เปิดใช้งานเกี่ยวกับการโอนเงิน ที่เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน, ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดขั้นตอนเกี่ยวกับภาษี ในอนาคตเอกชนจะได้ประโยชน์อย่างมาก, การพัฒนาระบบตรวจสอบตัวบุคคล (KYC) 2) การนำฐานข้อมูล Big Data มาวิเคราะห์และกำหนดนโยบายของประเทศ และ 3) การเปิดสนามทดลองเทคโนโลยี (Sandbox) ซึ่งทำให้ภาครัฐสามารถเปิดกว้างร่วมทำงานกับเอกชนได้ง่ายขึ้น