ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตามไปดู “ยอดมนุษย์ นายกฯตู่” 7 ปี นั่งประธานคณะกรรมการชุดไหนบ้าง?

ตามไปดู “ยอดมนุษย์ นายกฯตู่” 7 ปี นั่งประธานคณะกรรมการชุดไหนบ้าง?

10 กรกฎาคม 2021


ตามไปดู “ยอดมนุษย์ นายกฯตู่” 7 ปี นั่งประธาน’หัวโต๊ะ’ – หัวหน้าคณะทำงานกี่ชุด ลุยแก้ปัญหาอะไรบ้าง

จากการที่ระบบราชการ รวมทั้งกฎหมายไทยหลายฉบับ กำหนดให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการ” ขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล และขับเคลื่อนภารกิจ รวมแล้วเกือบ 100 คณะ การตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ใช้รูปแบบของ “องค์คณะ” ร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งบางครั้งก็อาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดและปัญหาต่าง ๆตามมา กลายเป็นคอขวดในการบริหารจัดการ เพราะคณะกรรมการหลายๆชุด กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งมาโดยตำแหน่ง ซึ่งแต่ละตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆมากมาย อาทิ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ฯลฯ ไม่นับตำแหน่งที่ไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจต่างๆอีก

คำถามว่า…แล้วจะมีเวลาคิด ตรึกตรองมากน้อยแต่ไหนในการทำหน้าที่กรรมการแต่ละชุด แค่ใช้เวลาประชุมกับคณะกรรมการชุดต่างๆในแต่ละเดือน ก็หมดเวลาแล้ว แล้วจะมีเวลาไปบริหารจัดการงานประจำตำแหน่งได้อย่างไร

จะว่าไปแล้วคณะกรรมการชุดต่างๆที่แต่งตั้งมาแก้ปัญหา มาตรวจสอบ มากำกับดูแล ฯลฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่เสือกระดาษ และเพื่อซื้อเวลา ผ่านไปสักระยะเรื่องนั้นๆก็เงียบหายไป…

ท่ามกลางวิกฤติปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ชัดถึงความล้มเหลวของผู้นำ ที่พยายามทำตนเป็น “ยอดมนุษย์” รู้ทุกเรื่อง เก่งทุกเรื่อง บางครั้งการบริหารจัดการต้องให้ผู้ที่เชี่ยวชาญ ผู้รู้ เป็นผู้บัญชาการในการตัดสินใจ

นับเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ฯ แม้จะออกมาแสดงสปิริต ประกาศไม่รับเงินเดือนละ 125,590 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อนำเงินไปใช้แก้ปัญหาโควิดฯ แต่ปัญหามันบานปลายไปไกลแล้ว แค่ประชาชนมารอคิวเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยังต้องเข้าคิวกันข้ามคืน นอนบนสะพานลอย วัด ข้างถนน…

  • ศบค.แจงล็อกดาวน์ 10 จังหวัด-งดเดินทางโดยไม่จำเป็น-ห้ามออกนอกบ้าน 3 ทุ่ม-ตี 4
  • หากนับเฉพาะช่วงเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่สมัย คสช.ในช่วงปี 2557-2564 นับเป็นเวลากว่า 7 ปีที่พลเอกประยุทธ์นั่งเป็นประธาน ‘หัวโต๊ะ’ ลุยแก้ปัญหาสารพัดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ , สังคม , การเมืองการปกครอง , การค้าการลงทุน , การคมนาคมขนส่ง , การศึกษา , เทคโนโลยีดิจิทัล , ไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาท , แก้ปัญหาคอร์รัปชัน , สิ่งแวดล้อม , การท่องเที่ยว และสาธารณสุข

    เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมวัคซีนและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    เกือบทุกเรื่องตามที่กล่าวข้างต้น ต้องมีนายกฯ นั่งเป็นประธาน ‘หัวโต๊ะ’ หรือ หัวหน้าคณะทำงานคอยแก้ปัญหาทุกเรื่อง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ เพราะไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง นายก ฯไม่ใช่ “ยอดมนุษย์” แม้แต่ยอดมนุษย์เอง ก็ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง

    เนื่องจากมีพระราชบัญญัติหลายฉบับกำหนดให้นายก ฯ ต้องไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการอยู่หลายคณะ 7 ปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ ต้องไปนั่งเป็นประธานหัวโต๊ะ อาทิ

    • พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 : มาตรา 17 ให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ
    • พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 : มาตรา 4 ให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
    • พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 : มาตรา 5 ให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
    • พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 : มาตรา 6 ให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

    นอกจากนี้ในช่วงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการใช้อำนาจแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกมากมาย โดยอาศัยอำนาจจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ตัวอย่างเช่น พลเอกประยุทธ์แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย (คำสั่งนายกฯ ที่ 52/2558) หรือ ตั้งตัวเองเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารข้าวแห่งชาติ (คำสั่งนายกฯ ที่ 194/2562)

    อีกทั้งนายกฯ ยังมีอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งปกติไม่ค่อยถูกหยิบมาใช้ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้พลเอกประยุทธ์ออกคำสั่งนายก ฯ ที่ 5/2563 จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจในชื่อ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยมีพลเอกประยุทธ์เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ซึ่งมีอำนาจสูงที่สุด

    จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พบว่าตั้งแต่ปี 2557 มีคณะทำงานที่พลเอกประยุทธ์ แต่งตั้งตนเองเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการไม่ต่ำกว่า 70 คณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี 2557 – 2562 สมัยที่เป็นนายก ฯ จากการรัฐประหารรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของประเทศ และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายคณะ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (คำสั่งคสช.ที่ 72/2557), คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คำสั่งคสช.ที่ 127/2557 และ 3/2561), คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (คำสั่งคสช.ที่ 3/2560)

    อย่างไรก็ตาม ยังมีตราพระราชบัญญัติอีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยที่พลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ฯลฯ

    แต่ด้วยภาระหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวคนเดียว เนื่องจากต้องกำกับดูแลงานต่าง ๆมากมาย อีกทั้งยังไปนั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการหลายคณะ และแทบเป็นไปไม่ได้ที่นายกรัฐมนตรีจะสามารถเข้าประชุมทุกวาระ นายก ฯ จึงต้องถ่ายโอน – กระจายอำนาจการบริหารไปให้รองนายกรัฐมนตรี ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์สมัยที่ 2 นายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกอย่างน้อย 15 คณะ พลเอกประยุทธ์ถ่ายโอนอำนาจให้รองนายกฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ได้แก่

    1. คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน – พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน
    2. คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ – พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน
    3. คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ – วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน
    4. คณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์แห่งชาติ – วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน
    5. คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ – วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน
    6. คณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน – วิษณุ เครืองาม เป็นประธาน
    7. คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ – นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน
    8. คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน 
    9. คณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานเพื่อการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน
    10. คณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน
    11. คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ – นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นประธาน
    12. คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ – นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นประธาน
    13. คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธาน
    14. คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินคัาและบริการของประเทศ – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธาน
    15. คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ – นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธาน

    นอกจากนี้ กฎหมายไทยหลายฉบับ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงานโดยนิตินัย ทว่าความเป็นจริงแล้วพลเอกประยุทธ์ยังได้มอบหมายให้รองนายกฯ รับผิดชอบคณะกรรมการต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนี้

    พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะการ ดังนี้

    1. คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
    2. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
    3. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
    4. คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก
    5. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
    6. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ
    7. คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

    นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานคณะกรรมการ ดังนี้

    1. คณะกรรมการกฤษฎีกา
    2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
    3. คณะกรรมการคดีพิเศษ
    4. คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ
    5. คณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
    6. สภาลูกเสือกไทย

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานคณะกรรมการ ดังนี้

    1. คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
    2. คณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี
    3. คณะกรรมการป้องกันและแก่ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
    4. คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ
    5. คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ

    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ดังนี้

    1. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ
    2. คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
    3. คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
    4. คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

    นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นประธานคณะกรรมการ ดังนี้

    1. คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ
    2. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
    3. คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

    นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นประธานคณะกรรมการ ดังนี้

    1. คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ
    2. คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

    แนวคิดการถ่ายโอนอำนาจจะถูกใช้ยามพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง จึงมีตัวสำรองอันดับ 1 อย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณมาทำหน้าที่แทน โดยเฉพาะด้านการรักษาราชการแทน แต่กรณีที่พลเอกประวิตรไม่อยู่ กฎหมายก็จะส่งมอบหน้าที่ให้รองนายกฯ เป็นลำดับขั้น เรียงตามลำดับคือ นายวิษณุ เครืองาม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ และสุดท้ายนายดอน ปรมัตถ์วินัย

    เช่นเดียวกันกับการ ‘กำกับบริหารราชการ’ ที่พลเอกประยุทธ์มักจะเลือกมือขวาและมือซ้ายให้ป็นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายวิษณุ เครืองาม เป็นลำดับแรกๆ ทำให้รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายแทนสามารถให้ส่วนราชการชี้แจงหรือรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน และอนุมัติให้เสนอเรื่องต่อครม.แทนได้จากเดิมที่มีรัฐมนตรีประจำกระทรวงจะขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์มอบหมายการกำกับบริหารราชการ หมายความว่ารองนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจในการสั่งการเทียบเท่านายกฯ

    • พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รับผิดชอบ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน
    • นายวิษณุ เครืองาม รับผิดชอบ 8 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ), กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา
    • นายอนุทิน ชาญวีรกูล รับผิดชอบ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข
    • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รับผิดชอบ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์
    • นายดอน ปรมัตถ์วินัย รับผิดชอบ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนานวัตกรรม
    • นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รับผิดชอบ 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน

    ส่วนพลเอกประยุทธ์เองก็มีอำนาจกำหนดดูแล 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

    นอกจากการกำกับบริหารราชการแล้ว ยังมีอำนาจ ‘กำกับ ฯ สั่งและปฏิบัติราชการ’ และ ‘สั่งและปฏิบัติราชการ’ ซึ่งเป็นอำนาจรองมาจากการกำกับบริหารราชการ ตามลำดับ

    1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำกับฯ สั่งและปฏิบัติราชการ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, สำนักงานประมาณ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
    2. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กำกับฯ สั่งและปฏิบัติราชการ 1 หน่วยงาน คือสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ทั้งยังมีอำนาจสั่งและปฏิบัติราชการ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
    3. นายวิษณุ เครืองาม กำกับฯ สั่งและปฏิบัติราชการ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
    4. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ กำกับฯ สั่งและปฏิบัติราชการ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย

    การกระจายอำนาจในสมัยพลเอกประยุทธ์ ยังครอบคลุมไปถึงรายจังหวัด ดังนี้

    พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

    • ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง
    • ภาคเหนือ 4 จังหวัด เชียงราย พะเยา น่าน แพร่
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์
    • ภาคใต้ 3 จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา

    นายวิษณุ เครืองาม

    • ภาคกลาง 4 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร (ภาคกลางตอนล่าง)
    • ภาคเหนือ 4 จังหวัด กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี
    • ภาคใต้ 5 จังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงชลา พัทลุง

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล

    • ภาคกลาง 3 จังหวัด กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี 
    • ภาคเหนือ 4 จังหวัด เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด นครพนม มุกดาหาร สกลนคร

    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี 
    • ภาคตะวันออก 5 จังหวัด จันทบุรี ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก
    • ภาคใต้ 6 จังหวัด กระบี่ ภูเก็ต ตรัง ระนอง สตูล พังงา

    นายดอน ปรมัตถ์วินัย

    • ภาคเหนือ 5 จังหวัด ตาก พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด

    นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

    • ภาคกลาง 4 จังหวัด นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ
    • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด บึงกาฬ หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี หนองคาย
    • ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง

    ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ ที่ต้องปฏิบัติงานทั้งในสถานการณ์ปกติ และในช่วงวิกฤติโควิด ฯกิจวัตรประจำวัน คือ เดินออกจากห้องโน้น มาประชุมต่อห้องนี้ นั่งเป็นประธานหัวโต๊ะวันละ 2-3 คณะ สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง ปีละ 780 ครั้ง ต่อให้เป็นยอดมนุษย์ ก็ไม่ได้รู้และเก่งทุกเรื่อง…