ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค.แจงล็อกดาวน์ 10 จังหวัด-งดเดินทางโดยไม่จำเป็น-ห้ามออกนอกบ้าน 3 ทุ่ม-ตี 4

ศบค.แจงล็อกดาวน์ 10 จังหวัด-งดเดินทางโดยไม่จำเป็น-ห้ามออกนอกบ้าน 3 ทุ่ม-ตี 4

9 กรกฎาคม 2021


แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด(2019) (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7042

ศบค.แจง “ล็อกดาวน์” พื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด “งดเดินทาง-ห้ามออกนอกบ้าน 3 ทุ่มถึงตี 4 -ห้างสรรพสินค้าเปิดเฉพาะร้านขายยา-ซูเปอร์มาร์เก็ต” เริ่ม 12 ก.ค.นี้ พร้อมเห็นชอบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 2 เดือน ขณะที่นายก ฯประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน เพื่อให้นำไปใช้จ่ายในการดูแลสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.00 น. แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.มีมติเห็นชอบมาตรการ “จำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุด รวมทั้งกำหนดเวลาการออกนอกเคหะสถาน ควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยา” รวมทั้งเห็นชอบการปรับระดับพื้นที่ที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ตามที่ ศบค.เสนอ โดยกำหนดระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด (คงเดิม) , พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 19 จังหวัด) , พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 16 จังหวัด) และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด (ลดลง 39 จังหวัด)

สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด อันได้แก่ กรุงเทพมหานคร , นครปฐม , นราธิวาส , นนทบุรี , ปทุมธานี , ปัตตานี , ยะลา , สมุทรปราการ , สมุทรสาคร และสงขลา ให้ปฏิบัติตามมาตรการดังต่อไปนี้

1. จำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด

  • กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนใช้การปฏิบัติงานในลักษณะ Work From Home ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน
  • ระบบขนส่งสาธารณะ เปิดให้บริการได้ในช่วงเวลา 21.00 น. ถึง 03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
  • ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง ปิดเวลา 20.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน ทั้งนี้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้าน โดยเปีดได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค ได้แก่ นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม
  • สวนสาธารณะ สามารถปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
  • ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ หรือ กิจกรรมตามประเพณีร่วมกันเกิน 5 คน

2. ให้บุคคลงดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00 ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นยิ่ง หรือ ได้รับอนุญาตเป็นรายกรณี

3. การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของ ศบค.ที่ได้มีประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้

4.กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (DMHTTA) อย่างสูงสุด

5.ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงจัดตั้งจุดตรวจจุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ผู้ใดฝ่าฝืนให้มีบทลงโทษ ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558

6. ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ1-4 ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.64 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพ ฯและจังหวัดปริมณฑล มีรายรายละเอียดดังนี้

1. ให้กระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) และกระทรวงแรงงานในกรุงเทพ ฯและจังหวัดปริมณฑล เร่งรัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้อ อย่างเพียงพอ

2. ให้ สธ.ร่วมกับ กรุงเทพ ฯและจังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดนำระบบการแยกกักแบบการแยกกักที่บ้าน (HI : Home Isolation) และการแยกกักในชุมชน (CI : Community Isolation) รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลัก ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น มาเสริมเพิ่มมาตรการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทดแทนการขาดแคลนเตียงพยาบาลตามโรงพยาบาลต่าง ๆ

3. ให้ สธ.ร่วมกับ กรุงเทพ ฯและจังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการจัดตั้ง ICU สนาม และ โรงพยาบาลสนาม รวมถึงโรงพยาบาลสนามชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และมีจำนวนมากพอ

4. ให้ สธ. ปรับแผนการกระจายวัคซีน และเร่งการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง ในพื้นที่กรุงเทพ ฯและปริมณฑล รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

5. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ในการป้องกันส่วนบุคคล การตรวจหาเชื้อ และการรักษาพยาบาล ให้มีประสิทธิภาพ

6. ให้ ศบศ. เร่งรัดกำหนดมาตรการเยียวยาสถานประกอบการ หรือ พนักงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดมาตรการในครั้งนี้ ตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่

ส่วนในจังหวัดอื่นให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ร่วมกับ สธ.เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันรับผิดชอบในการกำหนดมาตรการคัดกรองและมาตรการติดตามสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด อันได้แก่ กรุงเทพ ฯ , นนทบุรี , ปทุมธานี , นครปฐม , สมุทรปราการ , สมุทรสาคร , สงขลา , ยะลา , ปัตตานี และนราธิวาส ทั้งนี้ “ให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป” โดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนด ฉบับที่ 25

2. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เป็นไปตามพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดตามคำสั่ง ศบค.

นอกจากนี้ ประชุม ศบค. ยังมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม-30 กันยายน 2564 ซึ่งจะมีการนำเสนอนี้เสนอที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบอีกครั้งในวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/index/1226

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ ศบค. ยกระดับมาตรการเข้มข้น ซึ่งเป็นแผนเผชิญเหตุ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างขณะนี้ โดยประกาศ “ล็อกดาวน์” พื้นที่ ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยปฏิบัติมาก่อนในช่วงเดือนเมษายน 2563 ทั้งการจำกัดการเคลื่อนย้าย การรวมกลุ่ม มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณ ร่วมกันกำหนดมาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงมาตรการที่ออกมา คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

นายกรัฐมนตรียังได้ติดตามการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ภาพรวม ทุกหน่วยงานต้องรับผิดชอบในส่วนการทำงานของตน เชื่อมโยงการดำเนินงานให้ครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ทั้งการสุ่มตรวจและการตรวจเชิงรุก การคัดกรองโรค เพื่อจัดระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดหาสถานที่ หรือ จุดตรวจคัดกรอง ให้ครบทุกเขตพื้นที่ เพื่อประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรอง ลดการรอคอย สำหรับการบริหารเตียงยกระดับเตียงผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสนาม เพิ่มขีดความสามารถให้รองรับผู้ป่วยระดับอาการสีส้ม สีแดง ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ และยารักษาโรค ขณะเดียวกันจะต้องเดินหน้าบริการฉีดวัคซีนทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ตามแผนการฉีดวัคซีน โดย ศบค.ยังคงแผนกระจายวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมาย บุคคลากรด่านหน้า กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเสี่ยง ประชาชนพื้นที่เสี่ยงสูง และคลัสเตอร์เสี่ยง

นายอนุชากล่าวต่อว่าในการประชุม ศบค.ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังให้ความสำคัญกับการสื่อสาร โดยกำชับทุกหน่วยงานต้องติดตามการเผยแพร่ Fake News และข่าวบิดเบือน เพื่อป้องกันการสับสน หากพบความผิดต้องดำเนินการตามหลักฐานและกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกัน ทีมสื่อสารต้องเน้นสร้างการรับรู้ โดยให้ สธ.ชี้แจงตามอำนาจเฉพาะเรื่อง โดย ศบค. จะเป็นผู้แถลงในภาพรวม ขณะที่ ทีมโฆษกรัฐบาล ขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์ที่เข้าใจง่าย สร้างความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความเข้าใจปฏิบัติมาตรการและคำแนะนำของสธ. และ ศบค. ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคง เข้มงวดเฝ้าระวังการลับลอบข้ามแดนผิดกฎหมายตลอดแนวชายแดน รวมทั้งให้ทำลายกระบวนการใช้แรงงานต่างด้าวและลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด เมื่อมีการมาตรการ “ล็อกดาวน์” มีผลบังคับใช้ ต้องมีชุดเฉพาะกิจ ตั้งด่านตรวจ และสุ่มตรวจสถานประกอบการให้ปฏิบัติมาตรการที่ออกมาอย่างเข้มงวด และให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุม ศบค.ว่าไม่เคยหยุดคิด โดยมีการทำงานต่อเนื่อง ตั้งแต่วันแรกที่มีการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อู่ฮั่น และมีมาตรการที่สอดคล้องกับสมมุติฐานของการแพร่ระบาด โดยมีการวางแผนและมาตรการล่วงหน้า ตั้งแต่ระดับ ปกติ/ ปานกลาง /รุนแรง /รุนแรงมาก เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ และเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การคัดกรอง การรักษา การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งเยียวยาให้ได้มากที่สุด โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละส่วนให้ปฏิบัติงานอย่างรับผิดชอบด้วย ซึ่งหลังจากประกาศใช้ไประยะเวลา 14 วันหลังจากนั้น ศบค.จะประเมินมาตรการทั้งหมดนี้อีกครั้ง

“นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลดูแลคนไทยทุกคน รวมทั้งคนต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย ให้สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งประเทศ เพราะ ทุกคน คือ ทีมประเทศไทย โดยนายก ฯประกาศในที่ประชุม ศบค. ของดรับเงินเดือน 3 เดือน เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ สิ่งของจำเป็นด้วย ฝากประชาชนทุกคน ยึดมาตรการส่วนบุคคล โดยการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข DMHTT ด้วย”โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทิ้งท้าย