ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม 3 อันดับแรกจุดหมายขยายธุรกิจในอาเซียน

ASEAN Roundup สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม 3 อันดับแรกจุดหมายขยายธุรกิจในอาเซียน

11 กรกฎาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2564

  • สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ติด 3 อันดับแรกจุดหมายขยายธุรกิจในอาเซียน
  • สิงคโปร์จะเพิ่มงานดิจิทัล 20,000 ตำแหน่ง
  • เวียดนามรั้งตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน
  • การโอนเงินกลับจากต่างประเทศมาโฮจิมินห์ซิตี 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น
  • ลาวทำโรดแมปใหม่ส่งออกกาแฟไปสหภาพยุโรป
  • กัมพูชาอนุมัติกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่
  • อินโดนีเซียตั้งราคาถ่านหินสูงสุดในรอบทศวรรษ
  • อินโดนีเซียอนุญาตต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้นเข้าประเทศ
  • สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ติด 3 อันดับแรกจุดหมายขยายธุรกิจในอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/
    จากการสำรวจล่าสุดโดยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด พบว่า สิงคโปร์ ไทย และเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับบริษัทต่างๆ ที่จะขยายการผลิตและธุรกิจ

    ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าองค์กรส่วนใหญ่ในอาเซียนกำลังมองไปที่โอกาสทางธุรกิจในภูมิภาค โดยคาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอีก 12 เดือนข้างหน้า

    สิงคโปร์กลายเป็นจุดหมายปลายทางในการขยายธุรกิจที่น่าดึงดูดที่สุด โดย 80% ของบริษัทที่ทำการสำรวจระบุว่า กำลังมุ่งเป้าไปที่การผลิตและการขยายธุรกิจในสิงคโปร์ รองลงมาคือประเทศไทยที่ 60% และเวียดนามที่ 50%

    บริษัทหลายแห่งเลือกที่จะให้สิงคโปร์เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ สำนักงานขายและการตลาด ศูนย์วิจัยและพัฒนา หรือศูนย์นวัตกรรมในระดับภูมิภาค

    ผู้นำองค์กรระบุว่า มีแรงผลักดัน 3 ข้อในการขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ การเข้าถึงตลาดผู้บริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในภูมิภาค การเข้าถึงตลาดต่างประเทศผ่านข้อตกลงการค้าเสรี และแรงงานที่มีทักษะจำนวนมาก

    นอกจากนี้ คาดว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) จะดึงการลงทุนเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น บริษัทที่ร่วมในการสำรวจทั้งหมดระบุว่ามีแผนขยายการลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

    อย่างไรก็ตาม องค์กรต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงและความท้าทายมากมาย ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุด 3 ประการ ได้แก่ โควิด-19 และความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องอื่นๆ สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศกับความขัดแย้งทางการค้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ซบเซากับการบริโภคที่อ่อนแอ

    นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า ความท้าทายใหญ่ที่สุดในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า ได้แก่ การเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์จริงในแต่ละด้านของการผลิตและธุรกิจ การสร้างความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์และการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการด้านโลจิสติกส์ของห่วงโซ่อุปทาน ทำความเข้าใจกฎกติการะดับประเทศด้านการชำระเงินและโครงสร้างพื้นฐาน

    สิงคโปร์จะเพิ่มงานดิจิทัล 20,000 ตำแหน่ง

    ที่มาภาพ: https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/digital-sector-to-grow-economy-add-20000-jobs-josephine-teo
    นางโจเซฟิน เตียว รัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ ประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ภาคเศรษฐกิจ infocomm media (ICM) มีแนวโน้มที่จะมีส่วนแบ่งที่มากขึ้นในระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในอนาคต จากการที่จะมีการจ้างงานดิจิทัลประมาณ 20,000 ตำแหน่ง ตามการลงทุนที่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจได้อนุมัติในปี 2019 และ 2020 หรือ 2 ใน 5 ของการสร้างงานจากการลงทุนเหล่านี้

    infocomm media คือ การรวมภาคสื่อสารสนเทศ (infocomm) และสื่อ (media) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งสิงคโปร์ ได้ระบุไว้ใน Infocomm Media 2025 ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติฉบับแรก

    “ขณะที่ภาคส่วนต่างๆ เริ่มดำเนินการสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ความต้องการทั้งด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก การเติบโตของภาคส่วนนี้ส่งผลให้มีอาชีพที่น่าดึงดูดใจสำหรับชาวสิงคโปร์” นางเตียวกล่าว

    จึงคาดหวังว่าภาค ICM จะเติบโตจากที่มีสัดส่วน 10% ในระบบเศรษฐกิจ

    ภาค ICM ได้มีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 4.8% ในปี 2020 ขณะที่การจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น 8,100 ตำแหน่ง

    “ภาคส่วนนี้จะมีความสำคัญต่อการสร้างความสามารถด้านนวัตกรรมดิจิทัลของสิงคโปร์ และการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่ซับซ้อนซึ่งมีศักยภาพในการเข้าถึงตลาดทั่วโลก” นางเตียว กล่าว “และจะมีผลทวีคูณในการเติบโตสำหรับเศรษฐกิจในวงกว้าง

    นางเตียวยังย้ำถึงกลยุทธ์สำคัญหลายประการเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความสามารถด้านดิจิทัลขององค์กร เช่น การดูแลบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงในฐานะ “ผู้นำด้านดิจิทัล” และการทำข้อตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อยกระดับการเชื่อมต่อกับพันธมิตรในต่างประเทศ

    “เราจะพยายามเพิ่มเป็นสองเท่าเพื่อช่วยให้ชาวสิงคโปร์มีส่วนร่วมในแรงงานดิจิทัลของเรามากขึ้น” นางเตียวกล่าวและให้คำมั่นที่จะรักษาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสิงคโปร์ให้ “ปลอดภัยและเชื่อถือได้”

    เวียดนามรั้งตำแหน่งเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-to-surpass-singapores-by-2030-dbs-bank/204457.vnp
    ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของเวียดนามในปี 2020 สูงถึง 343 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าสิงคโปร์ (ประมาณ 337.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นเป็นอันดับ 4 ในอาเซียนและติดอันดับ 40 ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    เวียดนามยังมี GDP ต่อหัวที่ 3,521 ดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 6 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

    จากข้อมูลของ DBS Bank ธนาคารข้ามชาติของสิงคโปร์ เศรษฐกิจของเวียดนามมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้ 6–6.5% ในทศวรรษหน้า เนื่องมาจากการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่แข็งแกร่งและผลิตภาพที่สูงขึ้น

    หากเวียดนามสามารถรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีไว้ได้ที่ 6–6.5% เศรษฐกิจของประเทศก็จะใหญ่กว่าสิงคโปร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า คือราวปี 2029–2030

    อย่างไรก็ตาม เวียดนามคงใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี เนื่องจากเวียดนามแซงหน้าสิงคโปร์มาแล้วในปี 2020

    แม้มีการระบาดของโควิด-19 แต่เศรษฐกิจของเวียดนามยังเติบโตเป็นเชิงบวกและมีมูลค่าสูงเกิน 337.5 พันล้านดอลลาร์ของสิงคโปร์ และ 336.3 พันล้านดอลลาร์ของมาเลเซีย ส่งผลให้รั้งอันดับ 4 ของประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

    การคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ยังระบุด้วยว่า ขนาดของเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2021จะแซงหน้าสิงคโปร์และมาเลเซีย

    ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เวียดนามยังคงรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ และเพียงพอที่จะรักษาอันดับ 4 ของขนาดเศรษฐกิจในอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์

    จากข้อมูลของธนาคารโลก คาดว่าการเติบโตของ GDP ของเวียดนามจะสูงถึง 6.6% ในปี 2021 ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน

    การโอนเงินกลับจากต่างประเทศมาโฮจิมินห์ซิตี 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/remittance-to-hcm-rise-despite-covid-19-pandemic/204416.vnp

    การส่งเงินกลับจากต่างประเทศไปยังนครโฮจิมินห์มีมูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ แม้การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก

    นายเหงียน ฮวง มินห์ รองผู้อำนวยการธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam) สาขาโฮจิมินห์ซิตี กล่าวว่า เงินโอนกลับประเทศเพิ่มขึ้น 22.34% เมื่อเทียบเป็นรายปีและนับเป็นการเติบโตในเชิงบวกในช่วงเวลาที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก เงินที่ส่งกลับส่วนใหญ่นำไปใช้ในการผลิตและกิจกรรมทางธุรกิจ

    เงินที่ไหลกลับไม่เพียงแต่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเท่านั้น แต่ยังมีส่วนทำให้ปริมาณเงินตราต่างประเทศในเมืองและเวียดนามโดยรวมมีเสถียรภาพอีกด้วย

    มีการคาดการณ์ว่า การโอนเงินกลับไปยังโฮจิมินห์ซิตีจะสูงถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้น 6.5% จาก 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว

    ชาวเวียดนามในต่างประเทศส่งเงินกลับบ้าน 17.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ทำให้เวียดนามเป็นผู้รับการโอนเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จากรายงานสรุปการย้ายถิ่นและการพัฒนาที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม โดยธนาคารโลกและ Global Knowledge Partnership on Migration and Development (KNOMAD)

    โดยเพิ่มขึ้นเกือบ 3% จากปี 2019 ซึ่งนับว่าดีมากเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ครั้งก่อนภายใต้การระบาดใหญ่ของโควิด-19

    สำหรับการโอนเงินกลับในปีที่แล้ว เวียดนามมีอันดับรองจากจีน ซึ่งได้รับเงินโอน 59.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ฟิลิปปินส์ได้รับเงินโอน 34.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    การโอนเงินกลับที่มีสัดส่วน 5% ของ GDP ของประเทศเวียดนามจึงเป็น 1 ใน 10 อันดับแรกในภูมิภาคเมื่อวัดจากสัดส่วนใน GDP

    ลาวทำโรดแมปใหม่ส่งออกกาแฟไปสหภาพยุโรป

    ที่มาภาพ: http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=60598

    สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้เปิดตัวโรดแมปการส่งออกกาแฟเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยครอบคลุมผลผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความยั่งยืนในการผลิตและการแปรรูป ขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถของผู้ส่งออกลาว สนับสนุนเศรษฐกิจลาว และยกระดับชีวิตที่ดีขึ้นของชาวชนบท

    อุตสาหกรรมกาแฟใน สปป.ลาวมีศักยภาพสูงในแง่มูลค่า เป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก กาแฟเป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ สปป.ลาว ปัจจุบันส่งออกไปกว่า 26 ประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

    อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมกาแฟเผชิญกับความท้าทายเร่งด่วนที่เป็นอุปสรรคความพยายามในการซื้อขายกาแฟในระดับภูมิภาคและระดับโลก

    ข้อจำกัดเหล่านี้แตกต่างกันไปตั้งแต่การเข้าถึงผู้ซื้อในตลาดที่มีศักยภาพสูง การปรับปรุงการจัดการคุณภาพอย่างเป็นระบบ การเพิ่มผลิตภาพและความยั่งยืนของภาคส่วน

    นอกจากนี้ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ปัญหาที่มีอยู่ทวีความรุนแรงขึ้นและทำให้อนาคตของเกษตรกรและผู้ประกอบการกาแฟลาวยุ่งยากมากขึ้น

    แผนงานการส่งออกภาคกาแฟมีแนวทางในการเสริมสร้างคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ส่งเสริมพลวัตในภาคธุรกิจ และเชื่อมโยงกับโอกาสระดับโลก ผู้ผลิตและบริษัทขนาดเล็กยังได้รับประโยชน์จากการเสริมสร้างศักยภาพ องค์กร ข้อมูลการค้า และอื่นๆ

    การเปิดตัวโรดแมปมีผู้เข้าร่วม 80 คนทั้งเข้าประชุมด้วยตนเองและทางออนไลน์ กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของประเทศ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและป่าไม้ เป็นผู้นำในการพัฒนาแผนงาน ศูนย์การค้าระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรป (ARISE Plus) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยเน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาความเปราะบาง และการสร้างงานใน สปป.ลาว

    “แผนงานการส่งออกภาคกาแฟสอดคล้องกับการให้ความสำคัญของรัฐบาลและการริเริ่มอย่างต่อเนื่องในภาคนี้ รวมถึงการผ่านการสนับสนุนเป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคกาแฟของลาวภายในปี 2025 ในช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ จึงมีความสำคัญที่เราจะยังคงความร่วมมือที่ดีต่อไป ในการดำเนินการตามแผนงาน” นายคำเพ็ง ไซสมเพ็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าว

    “เราเห็นศักยภาพในการส่งออกกาแฟไปยังสหภาพยุโรปได้มากขึ้น โดยเฉพาะกาแฟออร์แกนิกและกาแฟที่ได้รับตรารับรองจากการค้าที่เป็นธรรม ผู้บริโภคชาวยุโรปพร้อมที่จะจ่ายราคากาแฟที่สูงขึ้นหากกาแฟออร์แกนิกและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และหากกาแฟมีการจ้างงานและสร้างผลกระทบทางสังคมเชิงบวกในชุมชน” นายวิไลวง พูดาคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดจำปาศักดิ์ กล่าว

    กัมพูชาอนุมัติกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่

    ที่มาภาพ: https://en.khmerpostasia.com/2021/01/05/nbc-projects-growth-rate-of-4-percent-for-2021/
    กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชามีความน่าสนใจและมีน้ำใจต่อนักลงทุนมากขึ้น

    ร่างกฎหมายว่าด้วยการลงทุนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในการประชุมใหญ่ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเป็นประธาน

    ร่างกฎหมายว่าด้วยการลงทุนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาที่จัดทำขึ้นใหม่จะใช้แทนกฎหมายการลงทุนฉบับเก่าของราชอาณาจักรกัมพูชาซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 1994 และ 2003 เพื่อให้น่าดึงดูดยิ่งขึ้นและดีขึ้นในการลงทุนในกัมพูชา บนพื้นฐานด้านความเป็นอิสระ ความเป็นเจ้าของ สถานการณ์จริงของนักลงทุนและเศรษฐกิจ ซึ่งจะสร้างกรอบกฎหมายที่เปิดกว้าง โปร่งใส คาดเดาได้ ตลอดจนเสริมสร้างความน่าดึงดูด การพิจารณาให้สิ่งจูงใจแก่ภาคส่วนสำคัญ เทคโนโลยีและระดับเทคนิค การสร้างงาน การฝึกทักษะ การวิจัย การพัฒนาและนวัตกรรม และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

    นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังได้ปรับปรุงและแก้ไขขั้นตอนการบริหารที่เกี่ยวข้องกับกลไกของสถาบันและขั้นตอนการยื่นขอจดทะเบียนโครงการลงทุนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

    ขณะเดียวกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความน่าดึงดูดใจให้กับนักลงทุนกัมพูชา ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงได้ย่นระยะเวลาในการออกใบสำคัญการจดทะเบียนจาก 31 วันเป็น 20 วัน และการขอจดทะเบียนสามารถทำได้โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

    นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังเสริมสร้างกลไกการติดตามและควบคุมของกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้องผ่านการตรวจสอบพร้อมกันและร่วมกัน ตลอดจนกำหนดสิ่งจูงใจสำหรับโครงการทั้งด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อดึงดูดกระแสการลงทุนไปยังภาคส่วนต่างๆ ที่กัมพูชาต้องการ เพื่อการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

    เพื่อความสะดวกของนักลงทุน ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รวมพันธกรณีระหว่างประเทศของกัมพูชาเพื่อแสดงต่อนักลงทุนทุกคน ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลกัมพูชาในการปกป้องการลงทุนและการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ การไม่เลือกปฏิบัติ และบริการบำรุงรักษาการลงทุน

    ร่างกฎหมายว่าด้วยการลงทุนของราชอาณาจักรกัมพูชามี 12 บท และ 42 มาตรา

    อินโดนีเซียตั้งราคาถ่านหินสูงสุดในรอบทศวรรษ

    ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/business/energy/indonesia-sets-coal-benchmark-price-highest-decade-2021-07-05/

    เอกสารอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่โดยกระทรวงพลังงานและแร่ธาตุของอินโดนีเซียเปิดเผยว่า อินโดนีเซียตั้งราคาถ่านหินสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์จากจีนที่ยังคงขยายตัว

    ข้อมูล Refinitiv เผยว่า กระทรวงฯ กำหนดราคาถ่านหินอ้างอิงที่ 115.35 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนกรกฎาคม สูงกว่า 100.33 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนมิถุนายน และสูงที่สุดนับตั้งแต่ 117.6 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนพฤษภาคม 2554

    อากุง พรีบัด โฆษกกระทรวงทรัพยากรพลังงานและแร่ของจีน กล่าวในแถลงการณ์ว่า “กำลังการผลิตถ่านหินในประเทศของจีนยังคงลดลง ขณะที่กิจกรรมการผลิตไฟฟ้ากลับมาดำเนินการ” และว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน “สิ่งนี้มีผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของราคาถ่านหินทั่วโลก”

    จีนสั่งห้ามการนำเข้าอย่างไม่เป็นทางการจากซัพพลายเออร์ชั้นนำของออสเตรเลียในปีที่แล้ว โดยผู้ซื้อชาวจีนได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรว่า อย่าซื้อถ่านหินของออสเตรเลีย

    ส่งผลให้จีนมองหาแหล่งถ่านหินจากที่อื่น ทำให้อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุด จีนลงนามข้อตกลงมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อถ่านหินที่ให้พลังงานความร้อนของชาวอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว

    อินโดนีเซียอนุญาตต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้นเข้าประเทศ

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/178294/only-vaccinated-foreigners-can-enter-indonesia-starting-july-6-2021

    อินโดนีเซียอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้วเท่านั้นเข้าประเทศได้ มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม จากการเปิดเผยของโจดี มาฮาร์ดี โฆษกกระทรวงประสานงานกิจการการเดินเรือและการลงทุน ประเทศอินโดนีเซีย

    “ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2021 ชาวต่างชาติทุกคน จะต้องแสดงบัตรวัคซีน (แสดงว่าเขาหรือเธอได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว) และผลการตรวจโควิด-19 ด้วย PCR ที่เป็นลบ ก่อนเข้าอินโดนีเซีย” โจดีระบุในแถลงการณ์

    ขณะเดียวกัน ได้มีการยกเว้นใบรับรองการฉีดวัคซีนให้กับนักการทูตต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีตามแนวทางความสัมพันธ์ทางการทูตที่ใช้ในประเทศอื่นๆ

    พลเมืองชาวอินโดนีเซียที่จะเข้าประเทศแต่ไม่มีใบรับรองวัคซีน จะต้องแสดงผลการตรวจ PCR ของไวรัสโควิด-19 เป็นลบ และหลังจากกักตัวและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีเชื้อโควิด-19 จะได้รับการฉีดวัคซีนทันที

    “กฎกักกันมีผลกับทั้งชาวต่างชาติและชาวอินโดนีเซีย โดยต้องกักตัวเป็นเวลา 8 วัน และตรวจ PCR สองครั้ง คือ เมื่อเดินทางมาถึงและในวันที่ 7” สำหรับการจำกัดการกักตัว 8 วัน ให้เป็นไปตามคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข

    นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2020 อินโดนีเซียมียอดผู้ติดเชื้อสะสมมีจำนวนถึง 2,256,851 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตแตะ 60,027 ราย

    การระบาดรอบที่สองนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาการ์ตาและเมืองอื่นๆ บนเกาะชวา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ใช้มาตรควบคุมกิจกรรมสาธารณะตั้งแต่ 3-20กรกฎาคม 2021