ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนจากการฆ่าตัวตายของแพทย์จบใหม่ ที่กระทรวงสาธารณสุข “ไม่ควรปล่อยให้เกิดซ้ำอีก”

บทเรียนจากการฆ่าตัวตายของแพทย์จบใหม่ ที่กระทรวงสาธารณสุข “ไม่ควรปล่อยให้เกิดซ้ำอีก”

15 มิถุนายน 2021


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

บทเรียนที่กระทรวงสาธารณสุขควรหาทางป้องกันแก้ไข “ไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์เกิดซ้ำอีก” จากการฆ่าตัวตายของแพทย์จบใหม่

ก่อนที่จะเขียนบทความนี้ ผู้เขียนในฐานะแพทย์อาวุโส ในฐานะอดีตกรรมการแพทยสภาหลายสมัย ในฐานะอดีตอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตแพทย์ ในฐานะหนึ่งในกลุ่มพลังแพทย์ และแพทย์อีกมากมาย ที่พยายามผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุข แก้ไขปัญหาการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับภาระงาน ในฐานะแม่ของลูกที่เป็นหมอคนหนึ่ง และในฐานะประชาชนไทย ขอแสดงความเสียใจในความสูญเสียอันคาดไม่ถึงต่อครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ของน้องหมอที่เสียชีวิต และขอตั้งจิตอธิษฐานให้ดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของน้องไปสู่สุคติในสัมปรายภพ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 มีข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้รายงานเหตุการณ์ที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ตกจากตึกแปดชั้นและเสียชีวิต โดยมีการปิดบังชื่อของแพทย์ท่านนั้น และชื่อของโรงพยาบาลด้วย แต่ต่อมาก็มีข่าวจาก 77kaoded ว่า วันที่ 10 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับแพทย์ที่กระโดดตึก 8 ชั้นเสียชีวิต และผูกข้อมือรับเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับแพทย์หลังเกิดเหตุแพทย์จบใหม่เครียดกระโดดตึก 8 ชั้นอาคารหอพักแพทย์เสียชีวิต และในเนื้อความของข่าวบรรยายว่า นพ.สุรสิทธิ์ จิตรพิทักษ์เลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ได้ชี้แจงว่า

“จากการประชุมคณะแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ทุกคนรู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ประชุมวางแผนเพื่อปรับปรุงระบบการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั้งหมด เพื่อบรรเทาผลกระทบของความสูญเสียที่จะกระทบกับแพทย์เพิ่มพูนทักษะ และงานดูแลรักษาผู้ป่วย”

ถ้าเนื้อความในข่าวนี้ตรงกับความจริงทั้งหมด แสดงว่าแพทย์ผู้นั้นไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน แต่น่าจะเป็นความเครียดและเป็นการตัดสินใจเนื่องจากความเครียดในการทำงานที่เกิดขึ้น จากภาระการรับผิดชอบอันหนักอึ้งจากการทำงานในโรงพยาบาล และผู้เขียนมีข้อมูลว่าคุณหมอผู้นี้เพิ่งมารับงานที่โรงพยาบาลนี้ได้เพียง 1 สัปดาห์ และมีตารางการทำงานดังนี้

สรุปน้องหมอมาทำงานวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 – 8 มิถุนายน 2564 คิดเป็นจำนวนวันทำงาน 8 วัน หรือเท่ากับ 192 ชั่วโมง น้องหมอคนนี้ต้องทำงาน 139 ชั่วโมงมีเวลาพักจริงๆ ที่ไม่มีตารางเวลาทำงาน 53 ชั่วโมง

แสดงว่าการจัดตารางการทำงานให้มนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ใช่เครื่องจักรทำงานติดต่อกันแบบนี้ ถ้าไม่ป่วยทางกาย ก็ต้องป่วยทางใจแน่นอน

ผู้เขียนอยากขอถามว่า ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข จะชดใช้ครอบครัวของน้องอย่างไร อยากขอคำตอบที่จริงใจ ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์

ถึงแม้จะชดเชยอย่างไร ก็ไม่สามารถทดแทนความสูญเสียของครอบครัวได้ แต่ก็ขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขต้องปฏิรูปการทำงาน โดยเฉพาะการบริหารงานบุคคลของกระทรวงอย่างเร่งด่วน อย่าให้น้องหมอผู้นี้ต้องตายฟรี

ขอเรียกร้องให้กรรมการแพทยสภา ทำหน้าที่ในการตรวจสอบว่า แพทย์ผู้ที่ต้องประกอบวิชาชีพเวชกรรมภายใต้การควบคุมของแพทยสภาให้ถูกต้องตามจริยธรรมและมาตรฐานของแพทยสภานั้น ถ้าแพทย์มีเวลาทำงานมากจนขาดเวลาพักผ่อนนอนหลับแล้ว แพทย์ผู้นั้นจะสามารถรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้หรือไม่ และขอเรียกร้องให้แพทยสมาคม ช่วยเป็นตัวแทนเรียกร้องมาตรฐานการทำงานและการพักผ่อนของแพทย์ ไม่ให้กระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้งานเยี่ยงทาส เช่นที่ผ่านมา

จากการศึกษาข้อมูลแพทย์จบใหม่ ของ นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภา ในปี พ.ศ. 2562 ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า – แพทย์ 60 % ต้องทำงานนอกเวลาราชการมากกว่า 80 ชม. ต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ 1 สัปดาห์มี 168 ชั่วโมง แพทย์ทำงานนอกเวลาราชการ 80 ชั่วโมง และทำงานในเวลาราชการอีก 40 ชั่วโมง รวมเป็น 120 ชั่วโมง มีเวลาพักจากงานเพียงสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงเท่านั้น

สภาพการทำงานของแพทย์จบใหม่ ซึ่งถูกบังคับให้มาทำงานเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะของไทย ตามที่นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ได้สำรวจมานั้น แสดงถึงภาระงานมากมายมหาศาล ที่แพทย์จบใหม่และต้องมาเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ จะต้องเผชิญตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ถูกกำหนดให้มาทำงานเพิ่มพูนทักษะ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องถือว่าถูกบังคับให้มาทำงาน “ชดใช้ทุนในการศึกษาแพทยศาสตร์” เพราะถ้าไม่ยินยอมมาทำงานเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ก็จะต้องจ่ายเงินที่รัฐบาลไทยอ้างว่า “ต้องชดใช้ทุนการศึกษา” ตามกฎของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากที่แพทย์ผู้นั้นจะต้องจ่ายเงินชดใช้ทุนดังกล่าวแล้ว แพทย์ผู้นั้นยังไม่สามารถสมัครเข้าศึกษาฝึกอบรมเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ ตามข้อบังคับของแพทยสภา

ในวงการอนุรักษ์ป่า คุณสืบ นาคะเสถียร ได้เสียสละชีวิต โดยการฆ่าตัวตาย เพื่อให้คนในสังคมหันมาให้ความสนใจกับการอนุรักษ์ผืนป่า และทรัพยากรธรรมชาติ นับเป็นวีรบุรุษผู้พิทักษ์ผืนป่า

และหวังว่า น้องหมอคนนี้จะไม่ตายฟรี และจะเป็นเหมือนเทียนที่ยอมทำลายตัวเอง เพื่อนำพาแสงสว่างมาสู่ใจของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้ตื่นรู้ถึงปัญหาของการเพิ่มพูนทักษะของแพทย์จบใหม่ และแก้ไขปัญหาการทำทารุณกรรมแพทย์ (Doctor Abused) เพื่อยุติปัญหาการทำงานมากเกินกำลังที่มนุษย์จะทนทานได้

นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ กรรมการแพทยสภาในขณะนั้น ได้ทำการสำรวจและได้รายงานคณะกรรมการแพทยสภามาแล้วในปี พ.ศ. 2562 และแพทยสภาได้ออกคำแนะนำว่า แพทย์ไม่ควรทำงานเกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ก็เป็นเพียงคำแนะนำที่กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถปฏิบัติตามได้

โดยอ้างว่า กระทรวงขาดแคลนบุคลากรแพทย์ เท่ากับว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องการแพทย์เพิ่มพูนทักษะไปทำงาน แต่ไม่ดูแลในเรื่องสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามสมควรแก่ความเป็นมนุษย์ กลับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “Doctor Abused” แปลได้ว่า “การทำทารุณแพทย์”

จึงเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขควรที่จะปฏิรูปการบริหารงานบุคคลใหม่ ให้มีบุคลากรทุกประเภทให้เหมาะสมกับภาระงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์จบใหม่ของเรามีมากถึงปีละ 2,500 คน น่าจะจัดสรรให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้มากขึ้น เพื่อจะได้สามารถปรับปรุงระบบการทำงานของแพทย์เพิ่มพูนทักษะ และแพทย์ทั่วไปว่า ไม่ควรให้ทำงานติดต่อกันเกิน 12 ชั่วโมง และไม่ควรให้อยู่เวรกลางคืนเกินกว่า 10 คืนต่อ 1 เดือน และคืนไหนอยู่เวรแล้ว ควรให้มีเวลาพักอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนจะมาทำงานต่อ

ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยทำให้แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแพทย์ และทำให้แพทย์ยังมีใจรักที่จะทำงานเพื่อประชาชนในภาคราชการอย่างยั่งยืนด้วย