ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่14) : แร่ใยหินอันตราย ก่อให้เกิดโรคร้ายที่รักษาไม่หาย

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่14) : แร่ใยหินอันตราย ก่อให้เกิดโรคร้ายที่รักษาไม่หาย

2 พฤษภาคม 2015


แพทย์ยืนยันแร่ใยหินอันตราย เป็นสารก่อมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบหายใจในมนุษย์ ส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ไม่นานและไม่มียารักษาโดยตรง ส่วนการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย

นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล อายุรแพทย์ระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จากข้อมูลต่างประเทศรายงานไว้ โรคสำคัญที่เป็นอันตรายร้ายแรงกับมนุษย์ซึ่งเกิดจากแร่ใยหินคือ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด และปอดเป็นพังผืด

ในประเทศไทยเท่าที่ทราบพบผู้ป่วยที่แพทย์ระบุสาเหตุว่าเกิดจากแร่ใยหินไม่ถึง 10 ราย ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและปอดเป็นพังผืด เนื่องจากพบเส้นใยหินในชิ้นเนื้อและมีประวัติการทำงานสัมผัสแร่ใยหินนานเพียงพอ ส่วนโรคมะเร็งปอดนั้นยังไม่มีการพิสูจน์ที่ชัดเจน

สำหรับอาการของปอดเป็นพังผืด คือ หอบ เหนื่อย เพราะปอดมีพื้นที่แลกเปลี่ยนก๊าซน้อยลง ซึ่งกว่าผู้ป่วยจะอาการแย่ต้องใช้เวลานานนับปีและกว่าจะเสียชีวิตใช้เวลาอีก 5-10 ปี ในขณะที่โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจะลุกลามเร็วกว่า โดยหลังจากเป็นมะเร็งแล้ว เพียง 1-2 ปีก็อาจเสียชีวิตได้

ส่วนระดับความสูญเสียที่เกิดจากแร่ใยหินจะร้ายแรงมากน้อยแค่ไหนนั้นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญไปเปรียบเทียบเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข แต่ในฐานะแพทย์มองว่าโรคที่เกิดจากแร่ใยหินนั้นมีความอันตรายมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน และทั้ง 3 โรคนี้ก็รักษาให้หายขาดไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการรักษาที่จำเพาะ อีกทั้ง 3 โรคนี้โดยธรรมชาติแล้วผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ในระยะที่ลุกลามแล้วจึงทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี

จากความน่ากลัวของแร่ใยหินดังกล่าว นายแพทย์นิธิพัฒน์กล่าวว่า ตอบไม่ได้ว่ามากพอที่จะยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายบริหารหลังจากชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียในทุกด้าน แต่ในมุมมองเชิงสุขภาพ สิ่งใดที่คุกคามสุขภาวะของมนุษย์แพทย์มีหน้าที่ต้องทำให้สังคมเข้าใจ เพื่อที่สังคมจะได้เคร่งครัดการใช้ เช่น ยาเสพติด หรือควบคุมการใช้และแจ้งเตือนผู้บริโภค เช่น สุรา หรือบุหรี่ แต่ต้องอย่าลืมว่า สุราและบุหรี่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อคนงานที่ผลิตเหมือนใยหิน อีกทั้งประชาชนทั่วไปมีความรู้เรื่องผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสุราและบุหรี่เป็นอย่างดี ในขณะที่ใยหินนั้นเป็นอันตรายร้ายแรงต่อคนงานในสถานประกอบการที่ใช้ใยหินโดยตรง ประกอบกับมีประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้หรือสัมผัสกับใยหินโดยที่ไม่รู้ถึงอันตรายเลย

“ระยะการฟักตัวของโรคมะเร็ง หากเปรียบเทียบระหว่างแร่ใยหินกับบุหรี่แล้วก็ใกล้เคียงกัน คือ 10 ปีขึ้นไป ส่วนมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้นมีหลายชนิด และเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สำหรับมะเร็งเยื่อหุ้มปอดชนิดที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหินถ้ามีประวัติการทำงานกับใยหินนานพอก็เชื่อได้ว่าน่าจะเกิดจากแร่ใยหิน สำหรับตัวอย่างโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากแร่ใยหิน พบในประเทศไทยประปราย โดยมะเร็งชนิดนี้รักษายากอยู่แล้ว ประกอบกับเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์อาการก็ลุกลามไปมากแล้ว และโดยทั่วไปการรักษามะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้นได้ผลไม่ดี ไม่ว่าจะเกี่ยวกับแร่ใยหินหรือไม่ก็ตาม” นพ.นิธิพัฒน์กล่าว

ส่วนโรคมะเร็งปอด ในประเทศไทยยังไม่มีบทพิสูจน์ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน เพราะประวัติการทำงานของผู้ป่วยไม่ได้บันทึกไว้ชัดเจนว่าทำงานสัมผัสแร่ใยหิน แต่ในต่างประเทศพบว่ามะเร็งปอดที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหินนั้นผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีโรคปอดเป็นพังผืดร่วมด้วย จึงทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเพราะปอดผู้ป่วยไม่แข็งแรงหรือเนื้อปอดถูกทำลายอยู่ก่อนแล้วจากพังผืด แตกต่างจากมะเร็งปอดที่เกิดจากบุหรี่ที่การรักษาจะได้ผลดีกว่า เนื่องจากไม่มีอาการปอดเป็นพังผืดร่วมด้วย ดังนั้นปอดจึงยังแข็งแรงดี

นพ.นิธิพัฒน์กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปมะเร็งปอดที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด พบว่าร้อยละ 75 โรคอยู่ในระยะลุกลามแล้ว ส่วนวิธีการรักษามะเร็งปอดไม่ต่างกันไม่ว่าจะเกิดจากแร่ใยหินหรือสาเหตุอื่นๆ

ด้านการคัดกรองโรคในเบื้องต้นส่วนใหญ่แพทย์จะวิเคราะห์จากฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิธีคัดกรองที่ได้ผลดีที่สุดเท่าที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฝ้าระวังโรคด้วยการเอ็กซเรย์ปอดปีละครั้ง ทั้งนี้ความผิดปกติของปอดที่พบอาจเกิดจากสาเหตุใดก็ได้ ซึ่งบางส่วนอาจเกิดจากปอดสัมผัสแร่ใยหิน ซึ่งแพทย์มีกระบวนการตรวจสอบและติดตามโรคต่อไป

สำหรับประเด็นที่ว่า แพทย์สามารถสันนิษฐานสาเหตุของโรคจากประวัติการทำงานโดยไม่ต้องพบเส้นใยหินในปอดได้หรือไม่นั้น นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การวินิจฉัยของแต่ละประเทศว่าผู้เชี่ยวชาญกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างไร ซึ่งบางประเทศใช้เฉพาะประวัติการทำงานเพราะว่าฐานข้อมูลดังกล่าวละเอียดและชัดเจน แต่บางประเทศต้องพบเส้นใยหินร่วมด้วย

“แน่นอนว่าคนที่เกิดโรคต้องสัมผัสกับอะไรมาบางอย่าง แต่สำหรับในประเทศไทยก็ตอบไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากยังไม่เคยมีการตรวจชิ้นเนื้อปอดโดยละเอียดสำหรับผู้ป่วยในข่ายโรคที่สงสัยในประเทศไทย โรคเหตุแร่ใยหินที่เกิดขึ้นระบุไม่ได้หรือมีความยากลำบากที่จะระบุว่าเกิดจากแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลหรือไครโซไทล์ต้องใช้ข้อสันนิษฐานจากประวัติการทำงานว่าสัมผัสแร่ใยหินชนิดใด ส่วนการนำเส้นใยที่ค้างอยู่ในปอดไปพิสูจน์นั้นต้องใช้ห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถสูงมากๆ ซึ่งหาได้ยากในบ้านเรา สาเหตุหนึ่งเพราะรูปร่างของเส้นใยเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าไปในตัวคนแล้ว” นพ.นิธิพัฒน์กล่าว

ด้านสารกำหนดชีวภาพ (Bioindicator) ที่จะเป็นตัวบ่งชี้โรคที่เกิดจากแร่ใยหินเพื่อให้คัดกรองโรคได้เร็วขึ้นนั้น ปัจจุบันมีคนพยายามตรวจหาสารบางอย่างในเลือดแต่ยังไม่สำเร็จทั้งงานวิจัยในไทยและต่างประเทศ ฉะนั้น ข้อมูลหลักที่ใช้คัดกรองอยู่ในปัจจุบันคือการเอ็กซเรย์ปอด(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

info-แร่ใยหินแยกส่วน4-1

ในวงการแพทย์ไทยสนใจโรคเหตุแร่ใยหินมากว่า 10 ปีแล้ว เพียงแต่ระบบในการค้นหาและระบบการเก็บข้อมูลผู้ป่วยยังไม่ดีพอทั้งๆ ที่มีปริมาณการใช้แร่ใยหินเยอะพอสมควรในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากใช้แบบจำลองกำหนดกลุ่มเสี่ยงแล้ว พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยเหตุแร่ใยหินมากกว่าที่พบในปัจจุบัน

ในวงการแพทย์โลกทราบกันมานานกว่า 50 ปีแล้วว่าแร่ใยหินนั้นก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้และเป็นโรคที่ร้ายแรง โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้แร่ใยหินปริมาณมากๆ เช่น แคนาดา สหรัฐฯ ยุโรป ซึ่งต่อมาก็พบผู้ป่วยในประเทศฝั่งตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี

แต่ความสนใจเรื่องโรคเหตุแร่ใยหินในประเทศไทยยังคงจำกัดอยู่ในแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรคปอด อาชีวอนามัย และยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง ส่วนแพทย์ทั่วไปก็พอทราบจากการเรียนตามหลักสูตร แต่เนื่องจากการวินิจฉัยโรคแน่นอนทำได้ยาก จึงอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก

ทั้งนี้ หลังจากที่มีวิวาทะการยกเลิกการใช้แร่ใยหินเป็นกระแสในสังคมไทย วงการแพทย์โดยกลุ่มแพทย์ที่สนใจได้เผยแพร่ข้อมูลออกสู่สาธารณะมากขึ้น แพทย์ก็ตื่นตัวที่จะค้นหาผู้ป่วยมากขึ้นทำให้พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น หรืออาจเป็นเพราะมีระยะฟักตัวเพียงพอแล้วจึงถึงช่วงเวลาที่โรคจะแสดงอาการออกมาให้พบได้

ด้าน รศ. ดร. พญ.พิชญา พรรคทองสุข อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน สาขาอาชีวเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า แร่ใยหินก่อให้เกิดโรค 2 ประเภท คือ กลุ่มโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด และกลุ่มโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น เยื่อบุปอดหนา เยื่อหุ้มปอดเป็นพังผืด แต่สาเหตุที่แพทย์มักพูดถึงโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมากกว่าโรคอื่นๆ ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน เนื่องจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดมีความจำเพาะกับแร่ใยหินมากเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล ซึ่งในประเทศไทยก็พบความเชื่อมโยงของแร่ใยหินกับมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเช่นเดียวกัน

สำหรับเหตุผลที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยจากแร่ใยหินน้อยนั้น ในกรณีโรคมะเร็ง ประเทศไทยมีทะเบียนมะเร็งประมาณ 10 ฐานข้อมูลจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งตามธรรมชาติของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดก็พบได้น้อยด้วย ส่วนมะเร็งปอดถ้าจะบอกว่ามีสาเหตุมาจากแร่ใยหินในต่างประเทศต้องพิสูจน์ก่อนโดยการนำปอดทั้งหมดไปเผาแล้วนับเส้นใยหินที่หลงเหลืออยู่ว่ามีจำนวนมากอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้ามีจำนวนมากตามเกณฑ์ถึงจะสรุปได้ว่าเป็นมะเร็งปอดเหตุแร่ใยหิน ในขณะที่มะเร็งเยื่อหุ้มปอดไม่ต้องพิสูจน์โดยการเผาเนื่องจากทางวิชาการยอมรับแล้วว่า หากมีประวัติการสัมผัสแร่ใยหินและเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ก็สรุปได้แล้วว่ามีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน

“มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยอาจมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดสูงถึงปีละกว่า 20 ราย แต่ไม่มีการวินิจฉัยที่จำเพาะเจาะจง และผู้ป่วยมะเร็งปอดอีกปีละกว่า 20,000 ราย และถึงแม้ว่ามะเร็งปอดส่วนใหญ่จะเกิดจากควันบุหรี่แต่ก็อย่าลืมว่าเกิดจากแร่ใยหินได้เหมือนกัน ซึ่งตอบไม่ได้ว่าจาก 20,000 รายนี้มีสาเหตุจากแร่ใยหินกี่ราย เพราะประเทศไทยใช้แร่ใยหินกันมานานแล้ว” รศ. ดร.พิชญากล่าว

ในกรณีที่ฝ่ายสนับสนุนการใช้แร่ใยหินอ้างว่าประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหินนั้น รศ. ดร.พิชญากล่าวว่า เพราะที่ผ่านมา 10-15 ปี แพทย์ไทยยังไม่ตื่นตัวกับโรคเหตุแร่ใยหิน และไม่ได้ซักประวัติการทำงานของผู้ป่วย ทำให้ไม่มีการระบุสาเหตุของโรคตามความเป็นจริง

แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์ของไทยตื่นตัวเรื่องโรคเหตุแร่ใยหินมากขึ้น จึงมีการซักประวัติการทำงานของผู้ป่วยแล้วก็พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหิน แต่เนื่องจากผู้ป่วยอายุกว่า 70 ปีแล้ว จึงไม่ต้องการเงินชดเชยใดๆ ทางสุขภาพ ทำให้ไม่มีบันทึกการขอเงินชดเชยจากกองทุนทดแทน ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ก็มีชีวิตอยู่ไม่ถึง 6 เดือน ทั้งนี้ในเวลาต่อมาก็พบผู้ป่วยมะเร็งอีก 2-3 รายที่พบความเชื่อมโยงสาเหตุของโรคจากแร่ใยหิน

นอกจากนี้ยังพบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเยื่อบุปอดหนาหลายราย โดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานในโรงงานที่ใช้แร่ใยหิน แต่เนื่องจากข้อมูลสุขภาพของพนักงานเป็นสิทธิของโรงงานที่ผู้ประกอบการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล จึงทำให้ไม่มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ มีเพียงข้อมูลบางส่วนที่แพทย์บางคนรับทราบจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมส่งฟิล์มหรือข้อมูลสุขภาพอื่นๆ มาให้แพทย์วินิจฉัย

“ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบโรคเยื่อบุปอดหนามานานแล้ว และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบโรคเอสเบสโตซิส (Asbestosis) หรือปอดอักเสบจากใยหินและมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในระยะแรกประเทศไทยจะพบผู้ป่วยปีละ 500 ราย” รศ. ดร.พิชญากล่าว

สำหรับปัญหาด้านการวินิจฉัยโรคเหตุแร่ใยหินที่ผ่านมาโดยเฉพาะมะเร็งเยื่อหุ้มปอด คือ 1. ชิ้นเนื้อปอดที่ตัดไปตรวจนั้นมีขนาดเล็กเกินไปเนื่องจากผ่าตัดผ่านกล้องและมีความหนาของชั้นเยื่อหุ้มปอดไม่เพียงพอที่จะนำไปวินิจฉัยได้ 2. ประเทศไทยไม่มีสีย้อมพิเศษสำหรับมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ซึ่งต้องใช้สีย้อม 3-4 ชนิด อีกทั้งยังมีราคาแพงด้วย รวมถึงขาดเทคโนโลยีหรือการพัฒนาเพื่อการวินิจฉัยในประเทศด้วย

“ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขรู้เรื่องอันตรายของแร่ใยหินและเตรียมการที่จะพัฒนาอยู่ ทั้งระบบเฝ้าระวังและการพัฒนาแพทย์ไทย โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมที่ต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งการอบรมนี้ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยล้าหลัง เพราะแพทย์ไทยมีศักยภาพมากและอยู่ในมาตรฐานโลก สามารถเรียนรู้และนำมาต่อยอดได้ อยู่ที่ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะจัดตั้งระบบขึ้นมาใช้งานเมื่อไหร่เท่านั้น” รศ. ดร.พิชญากล่าว