ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > โควิด-19 : วิกฤติผู้ป่วยสีแดงไร้เตียง – ผู้เสียชีวิตเดือนมิ.ย.ทะลุ 700 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์

โควิด-19 : วิกฤติผู้ป่วยสีแดงไร้เตียง – ผู้เสียชีวิตเดือนมิ.ย.ทะลุ 700 ราย สูงสุดเป็นประวัติการณ์

24 มิถุนายน 2021


สถานการณ์เตียง ภายใต้วิกฤติโควิด-19 นับว่า ‘วิกฤติ’ เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2,000 คนต่อวัน และวันที่มียอดติดเชื้อสูงสุดคือวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 4,108 คน

ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเดือนมิถุนายน 2564 ถึง 744 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดนับตั้งแต่ปี 2563 อยู่ที่ 1,775 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2564 เพียงเดือนเดียว คิดเป็น 42%

  • วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ผู้เสียชีวิตรวม 61 ราย
  • วันที่ 31 มกราคม 2564 ผู้เสียชีวิตรวม 77 ราย
  • วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้เสียชีวิตรวม 83 ราย
  • วันที่ 31 มีนาคม 2564 ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 94 ราย
  • วันที่ 30 เมษายน 2564 ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 203 ราย
  • วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,031 ราย
  • วันที่ 24 มิถุนายน 2564 ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,775 ราย

ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่มีจำนวนผู้ป่วยใหม่มากกว่า 1,000 รายต่อวัน เป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 2 เดือน ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะ ‘ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง’ และ ‘กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอาการปานกลางหรือมีปัจจัยเสี่ยงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติม ทำให้มีความต้องการเตียงในกลุ่มนี้สูงขึ้น

แม้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตั้ง ‘โรงพยาบาลสนาม’ ทั่วประเทศ แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อเฉพาะเดือนมิถุนายน (1-24 มิ.ย.2564) ก็ทะลุไปถึง 72,855 ราย ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) รายงานว่า ณ วันที่ 23 มิ.ย. 2564 ประเทศไทยมีเตียงในโรงพยาบาลสนามที่รองรับได้เพียง 10,732 เตียง และขยายเพิ่มได้เป็น 12,822 เตียงเท่านั้น

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า จำนวนเตียงในสถานพยาบาลภาครัฐ ผู้ป่วยโควิดสีแดงมีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 409 ราย เหลือเตียงสำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิดสีแดงเพียงประมาณ 20 เตียงเท่านั้น และต้องเก็บไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะฉุกเฉินหรือต้องรับการผ่าตัดหรือการช่วยเหลือเร่งด่วน

ส่วนผู้ป่วยโควิดสีเหลืองมีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 3,937 ราย และเหลือเตียงสำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลืองอีกประมาณ 300 ราย

นี่ยังไม่นับผู้ป่วยตกค้างที่ไม่สามารถหาเตียงได้ โดยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า การติดต่อประสานงานผ่านระบบจัดหาเตียง 1668 มีความล่าช้า และเข้าถึงเตียงได้ยาก เนื่องจากต้องบริหารเตียงที่เหลืออยู่ก่อนจึงจะสามารถรับผู้ป่วยรายใหม่ได้

ชงรพ.เอกชน เปิดเตียงรองรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่ม 50 เตียง

วันที่ 24 มิถุนายน 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือและมีข้อเสนอให้ยกระดับโรงพบาบาลบางขุนเทียน และโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ให้สามารถรองรับผู้ป่วยในระดับที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งหารือกับโรงพยาบาลเอกชน โดยเบื้องต้นได้หารือกับโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะและโรงพยาบาลธนบุรี รวมถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามาธิบดี และมหาวิทยาลัยวชิระพยาบาล โดยคาดว่าจะสามารถเปิดเตียงรองรับกลุ่มผู้ป่วยสีแดงได้ 50 เตียงภายในเดือนมิถุนายน 2564

ส่วนการจัดการบุคลากร ศบค.จะระดมบุคลากรจากทุกภาคส่วน ทั้งทางทหาร บุคลากรสาธารณสุขต่างจังหวัด และแพทย์จบใหม่ จะมาช่วยดูแลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และเพิ่มทีมสอบสวนโรค เพื่อค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุมฯ ยังได้หารือกันถึงความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้ผู้ป่วยโควิดที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย สามารถจะเลือกดูแลตัวเองอยู่ที่บ้านได้ แต่อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาในหลายจุด การประเมินอาการต้องมีความแม่นยำ ขณะเดียวกันต้องคำนึงด้วยว่าผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองได้อย่างปลอดภัยมากน้อยเพียงใด การกักตัวที่จะต้องไม่นำเชื้อไปแพร่สู่ชุมชน รวมทั้งการติดตามอาการป่วยที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่อาการที่มากขึ้น เป็นต้น

สธ.หารือกทม. ดึงสถานที่ราชการ เป็นเตียงรองรับผู้ป่วย

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์เตียงว่า สธ.ได้หารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อหา ‘สถานที่ราชการ’ มาจัดทำเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยต้องเป็นสถานที่ที่มีพื้นที่กว้างขวางและมีระบบสาธารณูปโภคที่เหมาะสม เพราะไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะสามารถจัดเป็นโรงพยาบาลสนามได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังต้องขอใช้สถานที่เมืองทองธานี เพื่อเป็นโรงพยาบาลสนาม ‘บุษราคัม’ ต่ออีก 2-3 เดือน เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล อีกทั้งโรงพยาบาลบุษราคัมสามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มอีกราว 1,200 เตียง นอกจากนี้ยังมีแผนยกระดับจากศูนย์นิมิบุตร หรืออินดอร์สเตเดียม เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลือง ส่วนบุคลากรก็อาจต้องใช้บุคลากรจากรพ.บุษราคัม

“หมอนิธิพัฒน์ เจียรกุล” มุมมอง(คนนอก)กับการจัดการโควิด-19 หวั่นระบบ “สาสุข” ล้มได้

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กนิธิพัฒน์ เจียรกุล ว่า “คณิตคิดสนุก…ระลอกแรกกรุงเทพมีไอซียูโควิดที่ใช้งานจริงได้ 200 เตียง ระลอกสองขยายขึ้นมาได้เป็น 300 เตียง ระลอกสามจนถึงขณะนี้เบ่งมาเกือบเต็มที่แล้วเป็น 500 เตียง ใช้ไปแล้ว 475 จึงเหลือว่าง 25 เตียง ใน 475 เตียงนี้ เป็นผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 300 เตียง ใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น 175 เตียง ในอีก 10 วันข้างหน้าอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ คือ 50% จะมีผู้เสียชีวิต 150 คน ส่วนอีก 150 คนที่เหลือจะย้ายออกจากไอซียูได้หนึ่งในสาม คือ 50 คนจะมีผู้ป่วยใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่นอาการทุเลาออกจากไอซียูโควิดได้ร้อยละ 80 คือ 140 คน จึงเหลือเตียงว่างเป็น 25+150+50+140 = 365 เตียง”

“หากมีผู้ป่วยใหม่วันละ 1,000 คน รวม 10 วัน คิดเป็น 10,000 คน ผู้ป่วยโควิดใหม่ทุกๆ 100 คน โรคจะลุกลามจนต้องใช้ไอซียูโควิด 5 คน จะต้องเตรียม 500 เตียง ดังนั้นเตียงที่ยังขาดอยู่คือ 500-365 = 135 เตียง จะได้จากไหน เราคงเพิ่มได้อีกเพียง 35 เตียง ที่เหลือ 100 เตียงจะต้องไปดึงมาจากผู้ป่วยโรคอื่นที่ไม่ใช่โควิด
ถามว่าเราจะยอมให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่าไร หรือต้องรออิตาลีเป็นแชมป์ยูโร 2020 ในอีกกว่าสองสัปดาห์ข้างหน้าจึงเริ่มคิดเรื่องนี้”

และก่อนหน้านี้ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ดูเหมือนเราจะจนตรอกมีทางเลือกไม่มากแล้ว ลองพิจารณาสถานการณ์โควิดในกทม.ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนี้”

    1. ยอดผู้ป่วยใหม่รายวันไม่ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปเกินสี่หลัก
    2. อัตราการตรวจพบเชื้อรายใหม่ในการตรวจเชิงรับ คือ ตรวจผู้ที่เข้ารับการตรวจในโรงพยาบาลทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งรัฐและเอกชน สูงกว่า 10% ทั้งๆ ที่แต่ละโรงพยายามตรวจให้น้อยเพราะไม่มีเตียงรับผู้ป่วยถ้าผลเป็นบวก
    3. มีสัดส่วนผู้ป่วยเด็กมากขึ้นกว่าระลอกก่อนๆ แสดงว่าโรคระบาดซึมลึกเข้าไปในครอบครัวและชุมชน โชคดีว่ากลุ่มนี้อาการไม่รุนแรง แต่สร้างปัญหาการจัดเตรียมเตียงดูแลทั้งในรพ.หลักและรพ.สนามสำหรับเด็กอายุน้อย
    4. มีสัดส่วนผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรังเสี่ยงมากขึ้น แสดงว่าโรคระบาดซึมลึกเข้าไปในครอบครัวและชุมชนอีกเช่นกัน ทำให้การใช้เตียงในรพ.หลักติดขัด จำนวนเตียงระดับ 2 และ 3 ที่ขยายศักยภาพมาหลายรอบเหลือไม่ถึง 5% ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต กลับมาเพิ่มขึ้นใหม่และอาจทำนิวไฮ

“ผมได้รับคำถามจากผู้ใหญ่ที่เคารพและจากสื่อมวลชนหลายแขนงว่า แล้วภาคการแพทย์จะทำอย่างไรได้บ้าง ผมตอบว่าถึงตรงนี้เราไม่สามารถเพิ่มเตียงระดับ 2 และ 3 ไปมากกว่านี้ได้แล้ว เพราะติดขัดเรื่องกำลังคน ถ้าปล่อยให้มีผู้ป่วยใหม่ที่จำเป็นต้องอยู่รพ.หลักเพิ่มขึ้นเร็ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะต้องนำไปดูแลรักษาในพื้นที่ทั่วไปที่ไม่ได้เตรียมไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด ทำให้ผู้ป่วยอื่นได้รับการบริการลดกว่ามาตรฐานมาก (เดิมลดบ้างพอรับได้) ทำให้ผู้ป่วยโควิดไม่ได้รับการดูแลเต็มที่เพราะคนและเครื่องมือติดตามไม่พอ และท้ายสุดทำให้บุคลากรและผู้ป่วยอื่นเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล”

“สำหรับผมแล้วคำตอบสุดท้ายสำหรับวิกฤติโควิดระลอกสี่ คือ การล็อคดาวน์กรุงเทพอย่างน้อย 7 วัน เพื่อเร่งจัดการปัญหาค้างคา และลดปัญหาใหม่ที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าที่กว่ามาตรเด็ดขาดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนจะเห็นผล และที่สำคัญถ้าจะทำตามที่เสนอนี้ ต้องห้ามไม่ให้คนกรุงเทพแตกรังออกต่างจังหวัดเหมือนที่เราทำพลาดมาแล้วช่วงสงกรานต์”