ThaiPublica > เกาะกระแส > “ฝนทิ้งช่วง” เขื่อนใหญ่ภาคเหนือ-ตะวันตก เหลือน้ำใช้การได้ 6%

“ฝนทิ้งช่วง” เขื่อนใหญ่ภาคเหนือ-ตะวันตก เหลือน้ำใช้การได้ 6%

8 มิถุนายน 2021


ที่มาภาพ : www.egat.co.th

ปรากฎการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” เขื่อนภูมิพลเหลือน้ำใช้การได้ 4% “เขื่อนสิริกิติ์-วชิราลงกรณ” เหลือน้ำใช้การได้ 6%

หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าในปีนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป โดยคาดว่าฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปีก่อน และมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณ 5-10% ปรากฏว่าในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีฝนตกลงมาได้ไม่กี่วัน พอย่างเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2564 ก็มาเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตกหลายแห่งเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 6% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก

จากข้อมูลของฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 มีปริมาณน้ำในเขื่อนรวมกันทั้งสิ้น 32,339 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 46% ของปริมาณความจุน้ำเก็บกักในเขื่อนทั้งหมดรวมกัน 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้มีเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 8,797 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 12% ของปริมาณความจุน้ำเก็บกักในเขื่อนทั้งหมดรวมกัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 มีปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อน 1,088 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยภาพรวมจึงไม่มีปัญหามากนัก

แต่จะมีปัญหาปริมาณน้ำใช้การได้เหลือน้อยในบางพื้นที่ เช่น สภาพน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ภาคเหนือจำนวน 8 แห่ง มีปริมาณน้ำในเขื่อนรวมกัน 8,277 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 33% ของปริมาณความจุน้ำเก็บกักในเขื่อนทั้งหมดรวมกัน 24,825 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้อยู่ 1,532 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของปริมาณความจุน้ำเก็บกักในเขื่อนรวมกัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 8% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้รวมกัน 18,080 ล้านลูกบาศก์เมตร

และส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคตะวันตกจำนวน 2 แห่ง มีปริมาณน้ำในเขื่อนรวมกัน 14,890 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 56% ของปริมาณความจุน้ำเก็บกักในเขื่อนเก็บน้ำทั้งหมดรวมกัน 26,605 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้ 1,613 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 12% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้รวมกัน 13,328 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยเขื่อนศรีนครินทร์มีปริมาณน้ำในเขื่อน 11,363 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 64% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อน 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้ 1,098 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 15% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้รวมกัน 7,480 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนเขื่อนวชิราลงกรณมีปริมาณน้ำในเขื่อน 3,527 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 40% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อน 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้ 515 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้รวมกัน 5,848 ล้านลูกบาศก์เมตร

เฉพาะเขื่อนหลัก 4 แห่งในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อันได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อนรวมกัน 8,122 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 33% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อน ในจำนวนนี้มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 1,426 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 8% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้ โดยในวันนี้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน 3.68 ลูกบาศก์เมตร ส่วนปริมาณน้ำระบายวันนี้อยู่ที่ 32.93 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยเขื่อนที่มีปริมาณน้ำใช้การได้เหลือน้อยที่สุด คือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในเขื่อน 4,334 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 32% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อน 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้ 534 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 6% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้รวมกัน 9,662 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในวันนี้และเมื่อวานมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน 0 ลูกบาศก์เมตร ส่วนปริมาณน้ำระบายวันนี้อยู่ที่ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร

ถัดมาเป็นเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำในเขื่อน 3,402 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 36% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อน 9,510 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้ 552 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 8% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้รวมกัน 6,660 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในวันนี้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน 3.39 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบาย 14.02 ล้านลูกบาศก์เมตร

แต่ถ้ารวมเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อนรวมกัน 7,737 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 34% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อน 22,972 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้ 1,087 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก โดยมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนในวันนี้ 3.39 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำระบาย 26.02 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีปริมาณน้ำในเขื่อน 246 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 26% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อน 939 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้ 203 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 23% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้รวมกัน 896 ล้านลูกบาศก์เมตร

และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อน 138 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วน 14% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกักในเขื่อน 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ในจำนวนนี้เหลือน้ำใช้การได้ 135 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก หรือคิดเป็นสัดส่วน 14% ของปริมาณความจุน้ำใช้การได้รวมกัน 957 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในปีนี้กรมชลประทานได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 (1 พฤษภาคม -31 พฤษภาคม 2564 ) ปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 จำนวน 36,442 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีความต้องการใช้น้ำฤดูฝน 32,339 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการเกษตร 21,827 ล้านลูกบาศก์เมตร, เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,686 ล้านลูกบาศก์เมตร, อุตสาหกรรม 460 ล้านลูกบาศก์เมตร และ รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,366 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับความต้องการใช้น้ำบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 11,739 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็นเพื่อการเกษตร 9,642 ล้านลูกบาศก์เมตร, เพื่ออุปโภค-บริโภค 1,294 ล้านลูกบาศก์เมตร, อุตสาหกรรม 138 ล้านลูกบาศก์เมตร และรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 665 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนผลการจัดสรรน้ำทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ใช้น้ำไปแล้ว 3,211 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 10% ของแผนการจัดสรรน้ำ ส่วนในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล, สิริกิติ์, แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ใช้น้ำไปแล้ว 1,052 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 9% ของแผนจัดสรรน้ำ เฉพาะวันนี้ใช้น้ำไป 32.93 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ติดตามตรวจสอบค่าความเค็มและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 บริเวณปากคลองสำแล จังหวัดปทุมธานี ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.22 กรัมต่อลิตร, ท่าน้ำนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 0.87 กรัมต่อลิตร และท่าน้ำกรมชลประทานสามเสน จังหวัดกรุงเทพมหานคร ตรวจวัดค่าความเค็มได้ 1.75 กรัมต่อลิตร โดยกรมชลประทานกำหนดเกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร และเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตน้ำประปา 0.5 กรัมต่อลิตร

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2564 ที่สถานีอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับตลิ่งอยู่ที่ 12.80 เมตร ระดับน้ำอยู่ที่ 2.97 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 9.83 เมตร, สถานีอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ระดับตลิ่งอยู่ที่ 16.00 เมตร ระดับน้ำอยู่ที่ 5.84 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 10.16 เมตร, สถานีอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ระดับตลิ่งอยู่ที่ 12.20 เมตร ระดับน้ำอยู่ที่ 3.03 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 9.17 เมตร, สถานีอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ระดับตลิ่งอยู่ที่ 12.00 เมตร ระดับน้ำอยู่ที่ 2.79 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 9.21 เมตร, สถานีอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ระดับตลิ่งอยู่ที่ 12.50 เมตร ระดับน้ำอยู่ที่ 2.98 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 9.52 เมตร และสถานีอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับตลิ่งอยู่ที่ 14.50 เมตร ระดับน้ำอยู่ที่ 3.30 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 11.20 เมตร

อ่านรายงานสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 เพิ่มเติมที่นี่